วันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ผัวเมียดันเปิดสัมปทาน"ปิยสวัสดิ์-อานิก"แทกทีมสู้-"บิ๊กตู่"จ่อถกพลังงาน"ฮุนเซน"

ASTVผู้จัดการรายวัน-"ประยุทธ์"ยอมรับเยือนกัมพูชา จ่อถกพลังงานกับ "ฮุนเซน" จริง แต่มีเรื่องสำคัญอื่นที่จะพูดคุยด้วย ภรรยา "ปิยสวัสดิ์" เขียนบทความแก้ต่างหนุนสัมปทานรอบ 21 อ้างนำเข้าก๊าซเพิ่มจะทำค่าไฟแพง หลังสามีจ้อก่อนหน้าหนุนสุดตัวไปแล้ว กลุ่มปฏิรูปพลังงาน ยื่น คสช. ขออนุญาตทำกิจกรรมด้านพลังงาน พร้อมยื่นผู้ตรวจแผ่นดิน ฟัน "ณรงค์ชัย-อารีพงศ์-คุรุจิต" ผิดขั้นตอน เอื้อเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 และขึ้นราคาก๊าซ
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9570000124714



       
       พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยถึงการเดินทางเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาอย่างเป็นการ ระหว่างวันที่ 30-31 ต.ค.2557 ที่มีกระแสข่าวว่าจะมีการหารือผลประโยชน์ด้านพลังงานในพื้นที่อ่าวไทยว่า จะไปคุยทุกเรื่อง รวมถึงเรื่องพลังงาน ซึ่งไม่อยากให้พูดว่า คุยกันถึงผลประโยชน์ เดี๋ยวจะเป็นเรื่องอีก เป็นการคุยกันถึงความร่วมมือในทุกมิติ ทั้งด้านการค้า การส่งเสริมการลงทุน การท่องเที่ยว ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมถึงปัญหาการลักลอบตัดไม้พยุง ที่เกิดการปะทะกันอะไรต่างๆ ต้องเคลียร์กัน ตั้งคณะกรรมการพูดคุยให้ชัดเจนขึ้น
       
       ส่วนเรื่องพลังงาน จะพูดถึงพื้นที่ทับซ้อน จะทำกันอย่างไร แต่ต้องคุยกันในรูปแบบของคณะกรรมการ แต่ที่ไปครั้งนี้ เป็นการพูดคุยระดับผู้นำว่าเห็นชอบร่วมกันหรือไม่ ถ้าจะคุยกันต่อ ก็ไปคุยกัน
       
       "ถ้าเราเอาเส้นเขตแดนมาเป็นปัญหาทั้งหมด มันไม่ได้ การที่ยังไม่ปักปันเขตแดน ไม่ได้หมายความว่า ใครยอมรับใคร แต่ตอนนี้ ต่างฝ่ายต่างอ้างเป็นของตัวเองนั่นแหละ คือพื้นที่ทับซ้อน ยังไม่ใช่พื้นที่ของใคร หากเรายังรอเรื่องปักปันเขตแดน ตรงนี้ก็ทำอะไรไม่ได้เหมือนเดิม อีก 10 ชาติ ก็ทำอะไรไม่ได้ และถามว่าพลังงานจะมาจากไหน ก็ไม่รู้เหมือนกัน" นายกฯ กล่าว
       
       ** ไม่คุยเรื่องปราสาทพระวิหาร 
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการพูดคุยถึงข้อพิพาทปราสาทพระวิหาร หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จะไม่มีการพูดคุยถึงเรื่องนี้ เพราะเคยคุยกันมาหลายครั้งแล้วกับฮุนเซน กับ พล.อ.เตียบัน เราจะไม่เอาประเด็นความขัดแย้งเดิมมาพูดคุยกันในตอนนี้ เพราะเวลานี้เป็นช่วงที่ดีที่สุดของสองรัฐบาลในการที่จะพูดคุยกัน ทุกประเทศพูดแบบนี้หมด ตนพูดทั้งเมียนมาร์ และทุกประเทศว่า อย่าเอาเส้นเขตแดนเป็นเส้นแห่งความขัดแย้ง หรือก่อสงครามระหว่างกัน เราเป็นประเทศที่รายได้น้อยกันอยู่แล้ว ฉะนั้นวันนี้ต้องหาทางดูแลคนอย่างไร วันนี้ไม่ใช่ตนพูดว่า จะดูแลคนไทยอย่างไร แต่เราต้องพูดว่าจะดูแลเพื่อนบ้านอย่างไรด้วย ตามแนวชายแดน เพราะมันอยู่ด้วยกัน นั่นคือภาระของเรา และเราก็เป็นประเทศที่ถือว่าค่อนข้างจะใหญ่ และมีความสมบูรณ์มากกว่ากัมพูชา ดังนั้น เราต้องยกระดับให้เท่าเทียมกัน และเข้มแข็งไปด้วยกัน เพื่อจะทำให้อาเซียนเข้มแข็ง จึงจะไปประชาคมโลกได้ เป็นการเน้นความร่วมมือเศรษฐกิจร่วมกัน
       
       เมื่อถามว่า จะคุยถึงผู้ต้องหาที่หลบหนีคดีเข้าไปอยู่ในกัมพูชาด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าเรื่องนี้เคยพูดไปแล้ว ซึ่งทางฮุนเซน บอกว่า ยินดีจะดูแลให้ ไม่มีปัญหา เรื่องอะไรที่ผ่านมา เป็นความขัดแย้งคุยกันอยู่แล้ว ไม่ต้องกลัว ที่ผ่านมา ก็มีการพระราชทานอภัยโทษ และกลับมาไทยแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ตนบอกไปว่า ต่างฝ่ายต่างก็ไม่สนับสนุนซึ่งกันและกัน กับคนที่มีปัญหา ทางนั้นก็รับปาก ขณะเดียวกันเราก็ต้องช่วยเขา เพราะมีคนของเขามาเคลื่อนไหวในประเทศเราเหมือนกัน เราต้องคบกันแบบนี้ ต้องคบระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลด้วยความจริงใจ และไว้วางใจต่อกัน ถ้าจะดิสเครดิตไปเรื่อยๆ ก็ทะเลาะกันอยู่ดี ประชาชนก็เดือดร้อน
       

       **ภาคประชาชนขออนุญาตเคลื่อนไหว 
       
       เมื่อเวลา 10.30 น. วานนี้ (29 ต.ค.) ที่บริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพบก กลุ่มเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย นำโดย พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี นำคณะมายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เพื่อขออนุญาตเคลื่อนไหวทำกิจกรรมการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ด้านพลังงาน โดยไม่ผิดกฎอัยการศึก เพราะเป็นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ให้ประชาชนได้รับทราบ พร้อมทั้งเรียกร้อง ให้ยกเลิกประกาศ ให้สัมปทาน ครั้งที่ 21 ในราชกิจจานุเบกษา และปลดกลุ่มทุนพลังงาน ทั้งชุด พร้อมทั้ง ยกเลิก พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ทั้งหมด
       




       ทั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนมาดูแลความปลอดภัย และ พ.อ.อภิชิต ภิญโญชีพ หัวหน้าส่วนปฎิบัติการศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบก ได้ออกมารับมอบหนังสือ
       
       **ร้องผู้ตรวจฯสอบรมว.-ปลัดพลังงาน
       
       หลังจากนั้น พ.ท.พญ.กมลพรรณ และคณะ ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายสงัด ปัถวี รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบจริยธรรม และการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน และนายคุรุจิต นาครทรรพ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรณีประกาศให้สัมปทานปิโตรเลียม ครั้งที่ 21 โดยอ้างว่าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะหมดไป พร้อมประกาศขึ้นราคาก๊าซโดยอ้างต้นทุนก๊าซหุงต้มที่มีราคาสูงขึ้น ถือเป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนและลัดขั้นตอน ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เอื้อประโยชน์แก่คนบางกลุ่มบางพวก ขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 4 มาตรา 5 และ มาตรา 27 จัดกฎหมายอาญามาตรา 152 และมาตรา 157 รวมถึงจริยธรรมเจ้าหน้าที่รัฐในการบิดเบือนข้อมูลเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง
       
       พญ.กมลพรรณ กล่าวว่า จากรายงานของบริษัทเชฟรอน พบว่า การขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย เป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ และจากรายงานกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ พบว่า ยังมีพื้นที่ที่ยังไม่ขุดเจาะอีก 84% ซึ่งตรงกันข้ามกับการให้ข้อมูลของบุคคลทั้งสาม
       
       นอกจากนี้ ยังพบว่า เอกสารผลประกอบการของบริษัทผู้รับสัมปทานระบุว่า ลงทุนไป 2 แสนล้าน แต่มีกำไรเฉพาะปีแรก ถึงแสนกว่าล้านบาท อีกทั้งเห็นว่า การให้สัมปทานครั้งนี้ ถือเป็นกรรมสิทธิของบริษัทผู้รับสัมปทาน ที่จะรายงานข้อเท็จจริงของเชื้อเพลิงว่ามีปริมาณเท่าใดก็ได้ โดยรัฐไม่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งรัฐควรจะใช้วิธีการแบ่งปันกรรมสิทธิ์ เพื่อที่จะสามารถตรวจสอบได้ เพราะทั่วโลกก็ใช้วิธีการดังกล่าว
       
       ส่วนในเรื่องของการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม ก็พบว่า มีการให้ข้อมูลที่บิดเบือนโดยระบุว่า ต้นทุนสูงถึง 20 บาทต่อกิโลกรัม แต่จากรายงานกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ พบว่ามีการแจ้งราคาต้นทุนอยู่ที่ 9.5 บาทต่อกิโลกรัม และพบว่าภายในประเทศผลิตได้ 79% นำเข้าเพียง 21% อีกทั้งยังให้บริษัทลูกของ ปตท. ซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่าที่ประชาชนซื้อ ถือเป็นการหมกเม็ดในการใช้แอลพีจี เอาเงินของประชาชนไปอุ้มธุรกิจปิโตรเคมี ซึ่งไม่ถูกต้อง
       
       ด้านนายสงัด กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ผู้ตรวจฯ ได้ตั้งคณะทำงานด้านพลังงานขึ้นมาตรวจสอบโดยเฉพาะ ตั้งแต่รัฐบาลที่ผ่านมา โดยได้มีการข้อเสนอในเรื่องของการกองทุนน้ำมันไปแล้ว และหากคำร้องนี้ ตรวจสอบพบว่าขัดรัฐธรรมนูญจริง ก็จะพิจารณาว่าจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไปหรือไม่
       
       **"รสนา"แนะ"บิ๊กตู่"ชะลอให้สัมปทาน 
       
       ที่รัฐสภา น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จะพิจารณาเรื่องการต่อสัมปทานปิโตรเลียม ครั้งที่ 21 ว่า ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ในการเปิดรับฟังความเห็นต่าง โดยเฉพาะปัญหาเรื่องโครงสร้าง ที่ยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องการให้รับสัมปทาน หรือการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นหลักสากล
       
       "เมื่อนำเรื่องนี้เข้ามาหารือในที่ประชุม สปช. ก็จะทำงานอย่างเต็มที่ และจะเสนอข้อมูลที่เหมาะสมต่อรัฐบาลว่าจะต้องมีวิธีการทำงานอย่างไร ซึ่งเห็นว่าอาจจะใช้ระยะเวลาเกิน 2 เดือน แต่จะทำให้ดีที่สุด เห็นว่าควรชะลอการต่อสัมปทานครั้งที่ 21 ออกไปก่อน เพราะหากดำเนินการไปแล้ว จะมีผลผูกพันนานถึง 39 ปี เป็นผลผูกพันบ้านเมืองในระยะยาว จึงควรทำอย่างรอบคอบ"
       
       เมื่อถามว่า ถ้ารัฐบาลยืนยันที่จะไม่ชะลอการต่อสัมปทานดังกล่าว โดยอ้างถึงความจำเป็น น.ส.รสนา กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ที่ขัดแย้ง ก็ยังเคลื่อนไหวอยู่ ซึ่งนายกฯ คงได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนว่าน้ำมันภายในประเทศจะหมดภายใน 8 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะความจริง คือ 2 แหล่งพลังงาน จะหมดอายุไปเท่านั้น ดังนั้น เราคงจะนำข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นตัวเลขมาจากกระทรวงพลังงาน เพื่อเปิดออกมาให้ได้รับทราบกันอย่างแท้จริง
       
       ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง สปช.ด้านสังคม กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่จะชะลอเรืองนี้ออกไปก่อน เพราะหากอนุญาตให้ทำสัญญาสัมปทานครั้งที่ 21 ไปแล้ว เรามาเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ควรจะเป็นความเห็นพ้องของคนส่วนใหญ่ ที่เห็นไปในทิศทางเดียวกัน ถือเป็นความคาดหวังของคนที่เห็นขัดแย้งในขณะนี้ ทุกฝ่ายจึงควรหารือพูดคุยถึงข้อเท็จจริงก่อน เพื่อให้ได้ข้อยุติ
       
       ***หลวงปู่ขอปิณฑบาตรชะลอเปิดสัมปทาน 
       
       หลวงปู่พุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หลวงปู่พุทธะอิสระ (Buddha Isara) เมื่อวานนี้ (29 ต.ค.) โดยขอให้ชะลอการให้สัมปทานออกไปก่อน จนกว่ากระบวนการทางกฎหมายที่ภาคประชาชนเรียกร้องให้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจะได้รับการแก้ไข หรือจะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและตัวแทนภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาหลักการและข้อตกลง ที่จะทำแก่บริษัทที่ได้รับการสำรวจพร้อมรับสัมปทาน และเพื่อความโปร่งใส รัฐควรเผยแผ่ข้อมูลการตกลงเรื่องผลประโยชน์ที่รัฐควรจะได้รับ ให้ภาคประชาชนได้รู้ข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อยุติข้อกังขาว่ารัฐเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มผลประโยชน์พลังงาน พร้อมทั้งสกัดพวกหวังยุให้รำตำให้รั่ว จักได้ไม่มีข้ออ้างมาปลุกระดมประชาชนได้อีก
       
       ส่วนกระบวนการสำรวจ หากจำเป็น เพื่อใช้เวลาที่มีให้คุ้มค่า รัฐควรประกาศออกมาให้ชัดว่า ทุกบริษัทที่เข้ามาสำรวจจะไม่มีข้อผูกพันในการที่จะได้รับสัมปทาน หากข้อเสนอที่รัฐได้รับผลประโยชน์ไม่ดีพอ ไม่เป็นประโยชน์แก่แผ่นดินอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยสรุป การจะให้สัมปทานหรือไม่ให้ ไม่ใช่อยู่ที่บริษัทเข้ามาสำรวจเท่านั้น แต่มันขึ้นกับผลประโยชน์ของชาติที่จะได้รับ
       
       "คุณประยุทธ์ รัฐบาล ต้องชี้แจงให้ประชาชนได้รู้ว่ามีหลักคิดอย่างไรในเรื่องนี้ ไม่ใช่เก็บเอาไว้ในใจ คิดว่าบริสุทธิ์ใจ จริงใจ ไม่โกงใคร ไม่จำเป็นต้องพูดต้องชี้แจง ดังคำที่ว่าทำดี ฟ้ารู้ ดินรู้ นั่นก็ถูก แต่ถ้าสมัยนี้ประชาชนไม่รู้ว่าคุณดีอย่างไร ดีพึ่งได้หรือไม่ คุณนั่นแหละจะอยู่ไม่ได้ เหตุเพราะมันมีคนจ้องทำให้ดีของคุณ กลายเป็นอัปรีย์ในสายตาชาวบ้านอยู่ อันนี้ฉันเจอมากับตัวเองจึงอยากเตือน"
       
       ***ติงสติ "มนูญ"อย่าพูดอะไรไม่คิด 
       
       หลวงปู่ระบุอีกว่า เรื่องที่สมาชิก สปช. คุณมนูญ สิริวรรณ ออกมาพูดว่า ต้องรีบเปิดเพราะจะไม่ทันต่อการใช้ภายในประเทศ หากจะรอให้กฎหมายคลอดออกมาก่อนเดี๋ยวประชาชนเขาจะเดือดร้อน เมื่อพลังงานภายในประเทศขาดแคลน รัฐต้องไปซื้อจากต่างประเทศเข้ามาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ค่าไฟจะแพงขึ้นอีกหลายเท่าตัว
       
       "ฉันอยากบอกคุณมนูญว่า ประเทศนี้ไม่ใช่มีประชาชนชื่อคุณมนูญคนเดียว ก็ในเมื่อประชาชนเขารับได้ แล้วคุณจะเดือดร้อนอะไร ลองให้ประชาชนเขาตัดสินใจเองบ้าง ทีตอนที่ประชาชนเขาไปกิน ไปนอน ไปเจ็บ ไปตายอยู่กลางถนนเป็นแรมเดือน ฉันไม่เห็นคุณมนูญเป็นห่วงเลย แล้วตอนนี้ทำไมถึงอยากจะมาแสดงความรักความห่วงใยประชาชนขึ้นมาล่ะ ฉันล่ะงงจริงๆ หากเป็นไปได้ พวกผลประโยชน์พลังงานควรพูดให้น้อยหน่อย เพราะยิ่งพูดก็ยิ่งเติมเชื้อลงในกองไฟเผารัฐบาล คงต้องรบกวนท่านนายกรัฐมนตรีช่วยกระแอมกระไอ ห้ามๆ ปากพวกนี้เอาไว้บ้าง ขืนปล่อยให้พูดมากแม้มันจะเป็นเรื่องจริง รัฐบาลก็จะยิ่งซวย"
       
       ***"อานิก"หนุนเปิดสัมปทานอ้างค่าไฟจะแพง
       
       หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วานนี้ (29 ต.ค.) ได้ตีพิมพ์บทความของ นางอานิก อมระนันทน์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในหัวข้อ “ทำไมต่อต้านสัมปทานรอบ 21" ระบุถึงการเปิดให้ยื่นขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 21 ทำให้เกิดปฏิกิริยาค่อนข้างรุนแรงจากคนบางกลุ่ม ทั้งที่มีแผนจะเปิดตั้งแต่กลางปี 2555 แต่เสียงคัดค้านรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สมัยที่แล้ว จึงไม่ได้ดำเนินการ แต่ก็ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง กระทั่งหลังรัฐประหาร ผู้มีอำนาจได้จัดรับฟังความคิดเห็นจาก 2 ฝ่าย เช่น ที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน 2 รอบ อีกทั้งมีเวทีทิศทางพลังงาน ที่กระทรวงพลังงานจัดใน 4 ภาค และเวทีของหลวงปู่พุทธะอิสระ 4 รอบ
       
       ทั้งนี้ ตนเชื่อว่า คสช. ก็เกรงเสียงคัดค้าน แต่จำต้องเดินหน้า เพราะการผลิตปิโตรเลียมในประเทศไม่สามารถสนองการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น ต้องนำเข้าแพง และผลกระทบสะสมของการเลื่อนรอบ 21 มีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวมากขึ้น เพื่อผลิตไฟฟ้า ทำให้ค่าไฟเริ่มแพงขึ้น เพราะแอลเอ็นจีแพงกว่าก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยราวเท่าตัว ในฐานะรัฐบาลที่มีความมั่นคงกว่าที่มาจากการเลือกตั้ง คสช. ต้องกล้าทำเพื่อรักษาความมั่นคงทางพลังงาน และปกป้องประชาชนจากค่าไฟฟ้าที่จะแพงยิ่งขึ้น เราพึ่งพาก๊าซในการผลิตไฟฟ้าสูงมากถึงเกือบ 70% ซึ่งหากคนไทยยอมรับเชื้อเพลิงอย่างถ่านหินสะอาดมากขึ้น นอกจากค่าไฟจะถูกลงแล้ว ความเร่งด่วนของรอบ 21 ก็จะลดน้อยลง
       
       นางอานิก เห็นว่า การเปลี่ยนมาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตแทนระบบสัมปทาน ไม่ได้แปลว่าจะเปิดให้สำรวจได้ทันที เพราะจะต้องมีกระบวนการทำกฎหมายใหม่และจัดตั้งองค์กรที่จะบริหารระบบใหม่ ซึ่งใช้เวลาอย่างน้อยเป็นปี อีกทั้งไม่ได้ทำให้รัฐได้ส่วนแบ่งมากขึ้น เพราะเป็นเรื่องของศักยภาพทางปิโตรเลียม
       
       ส่วนข้อกังวลกลุ่มทุนต่างชาติจะเข้ามาผูกขาด นางอานิก กล่าวว่า ต้องชั่งน้ำหนักด้วยความเป็นจริงทางกายภาพและข้อกฎหมายต่างๆ อาทิ ผู้ผลิตต้องพยายามขายในประเทศก่อนส่งออก รัฐสั่งห้ามส่งออกน้ำมันดิบชั่วคราวได้ หรือสั่งการอื่นตามอำนาจ พ.ร.ก.แก้ไขและป้องกันภาวการณ์ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ปี 2516 รัฐสามารถควบคุมป้องกันการใช้อำนาจเหนือตลาดด้วย พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ซึ่งก็กำลังมีการปฏิรูป อีกทั้งปริมาณสำรองอยู่ใต้พิภพไทย ก๊าซที่ขุดได้ต้องส่งทางท่อขึ้นฝั่งไทย และบุคลากรที่ดำเนินการผลิตก็เป็นคนไทยแทบทั้งสิ้น
       
       นางอานิก กล่าวทิ้งท้ายว่า ในขณะที่กระบวนการประมูลสัมปทานจะใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าจะเสร็จสิ้น รัฐบาลสงวนสิทธิที่จะยกเลิกประกาศนี้ได้ เช่น หากคาดการณ์ราคาน้ำมันเพิ่มสูงกว่าปัจจุบันมาก หรือหากมีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงระบบจริงๆ แต่ผู้บริหารประเทศต้องรับผิดชอบผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงาน และค่าไฟฟ้าที่จะแพงขึ้นเพราะการสำรวจล่าช้า รวมทั้งต้นทุนแฝงที่อาจจะเกิดขึ้นในระบบแบ่งปันผลผลิต โดยไม่มีการเพิ่มกำไรให้รัฐ
       
       ***"ปิยสวัสดิ์"ดันขึ้นสรรพสามิตดีเซล4บาท
       
       นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในงาน IRPC Business Forum 2014 “เปิดโลกเศรษฐกิจ ปรับแนวคิดสู่ความยั่งยืน” ซึ่งจัดขึ้นโดย บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ที่ห้องเพลนนารี่ ฮอลล์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันก่อนว่า การดำเนินนโยบายราคาพลังงานที่ผ่านมา เป็นช่วงที่บิดเบือนราคามากที่สุด เพราะมีการใช้นโยบายประชานิยม เพื่ออุดหนุนราคาพลังงานจนไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและได้ใช้เงินเพื่อนโยบายประชานิยมด้านพลังงานในแต่ละด้านจนเสียหายปีละ 1.8 แสนล้านบาท
       
       ทั้งนี้ ตลอด 3 ปีของรัฐบาลที่ผ่านมาใช้เงินไปกว่า 5.4 แสนล้านบาท เป็นการอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจี 2.92 หมื่นล้านบาท อุดหนุนราคาเอ็นจีวีปีละ 1.76 หมื่นล้านบาท ขณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องรับภาระจ่ายค่านำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าปีละ 2 หมื่นล้านบาท ผ่านต้นทุนค่าไฟที่เพิ่มขึ้น 10 สตางค์ต่อหน่วย และการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลทำให้รายได้หายไป 1.14 แสนล้านบาท
       
       "สิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการจากนี้ไป คือ เร่งปรับโครงสร้างราคาพลังงาน โดยอาศัยจังหวะที่ราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงอยู่ที่ระดับ 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มาเป็นโอกาสในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจากปัจจุบัน 0.005 บาทต่อลิตร เป็น 4 บาทต่อลิตร โดยเป็นวิธีการโยกการเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันดีเซลที่ถูกเรียกเก็บเข้าไปสะสมในกองทุนน้ำมันฯ ในอัตรา 3.70 บาทต่อลิตรหรือเรียกเก็บเพิ่ม 30 สตางค์ต่อลิตร และต้องเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 จัดทำแผนพลังงานทดแทนเพื่อลดการนำเข้าปีละ 1 ล้านล้านบาท" นายปิยสวัสดิ์กล่าว
       
       ***กรมเชื้อเพลิงฯ ยันไทยจำเป็นต้องสำรวจ
       
       รายงานข่าวแจ้งว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ออกหนังสือแถลงการณ์ ยืนยันประเทศจำเป็นต้องเปิดให้ยื่นขอสิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ เนื่องจากสถานการณ์ด้านพลังงานของประเทศไทยในปัจจุบันที่จำเป็นต้องนำเข้าพลังงานเกินกว่า 55% ของความต้องการใช้ในภาพรวม คิดมูลค่าปีละกว่า 1.44 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าถึง 70% ก็นับวันจะมีความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ปริมาณสำรองที่มีอยู่กลับลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง
       
       "กว่า 50 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีพลังงานทั้งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติใช้จวบจนปัจจุบันนี้ เพราะเราได้สร้างโอกาสในการสำรวจและนำไปสู่การพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมจากการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมมาแล้ว 20 รอบ แต่มิได้หมายความว่าเรามีทรัพยากรปิโตรเลียมอย่างมหาศาลแต่อย่างใด"รายงานข่าวระบุ
       
       รายงานข่าวแจ้งอีกว่า หากไม่มีการดำเนินการสำรวจหาปิโตรเลียม โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่มีมูลค่ากว่า 34,000 ล้านบาท ซึ่งจะกระทบกับภาคผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก และจะทำให้ค่าไฟฟ้าสูงเกือบเท่าตัว อันจะส่งต่อชีวิตประจำวันของทุกภาคส่วนในสังคม รวมถึงจะมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกด้วย 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น