วันพุธที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ปิโตรเลียมไทย : จากฝรั่งครอบงำสู่ขูดรีดกันเอง โดย บัณรส บัวคลี่





คนไทยเพิ่งรู้จักน้ำมันที่มาจากปิโตรเลียมในสมัยรัชกาลที่ 5 พร้อมๆ กับการนำเข้ารถยนต์ในยุคแรก แต่น้ำมันที่มีบทบาทในวิถีชีวิตประจำวันในยุคนั้นสืบต่อมาอีกหลายสิบปีกลับไม่ใช่เบนซิน ดีเซลหรือน้ำมันเตา หากแต่เป็นน้ำมันก๊าดที่ใช้ได้เอนกประสงค์กว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้แสงสว่างในยามค่ำคืน
     
        แม้มนุษย์จะรู้จักและใช้ประโยชน์จากน้ำมันดิบมาตั้งแต่สมัยโบราณแต่โลกก็เพิ่งจะรู้จักอุตสาหกรรมน้ำมัน ที่หมายถึงการขุดเจาะเอาน้ำมันดิบมาเข้ากระบวนการกลั่นในศตวรรษที่ผ่านมานี่เอง การขุดเจาะน้ำมันเพื่อการพาณิชย์ครั้งแรกเกิดในโปแลนด์ เมื่อปีค.ศ. 1853 (2396)* และขยายตัวอย่างรวดเร็วในต้นศตวรรษที่ 20 (*วิกิพีเดีย) การขยายตัวของมันสอดคล้องกับการค้นพบและพัฒนากระบวนการกลั่นน้ำมันดิบซึ่งเริ่มครั้งแรกเมื่อปี 1851(2394) ที่สก๊อตแลนด์**และเริ่มขยายตัวในยุโรปโดยเฉพาะหลังจากการประดิษฐ์ตะเกียงน้ำมันก๊าด( Kerosene lamp) ขึ้นมาใช้ (**วิกิพีเดีย)
     
       การขุดเจาะน้ำมันและอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันของโลกยุคนี้เริ่มอย่างจริงจังในต้นศตวรรษที่ 20 คือประมาณค.ศ.1860 (ตรงกับพ.ศ.2403-รัชกาลที่4) แม้สยามจะไม่ได้ตกเป็นประเทศอาณานิคมเหมือนกับอีกหลายๆ ประเทศ แต่ทว่าโลกทั้งใบในขณะนั้นอยู่ในยุคอาณานิคมอันเป็นผลพวงมาจากเทคโนโลยีดาราศาสตร์และการเดินเรือผนวกกับดินปืนและการปฏิวัติอุตสาหกรรม ดังนั้นโลกที่สามจึงเป็นเป้าหมายของการกอบโกยทรัพยากรแร่ธาตุวัตถุดิบและเครื่องอุปโภคบริโภคไปยังตะวันตก ขณะเดียวกันโลกที่สามก็มีสถานะเป็นตลาดรองรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมของยุโรปพร้อมกันไป
     
       สยามก็เป็นประเทศแรกๆ ที่นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปโดยเฉพาะน้ำมันก๊าดมาใช้ และเริ่มนำเข้ากิจการที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันมากขึ้นๆ เช่น โรงไฟฟ้าและรถราง นำเข้ารถยนต์ และมีตะเกียงน้ำมันก๊าดใช้แพร่หลายในยุคต่อมา แม้สยามจะเริ่มโครงการสำรวจบ่อน้ำมันที่ฝาง โดยกรมพระกำแพงเพชรฯ กรมรถไฟหลวงเมื่อพ.ศ.2464 (1921) แต่ก็ไม่คืบหน้านักเพิ่งจะมาขุดเจาะนำมาใช้ได้จริงในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในมิติของการพลังงานสถานะของสยามจึงเป็นประเทศปลายทางของอุตสาหกรรมน้ำมันที่กำลังเริ่มเติบโตขึ้นทั้งในยุโรปและอเมริกา
     
       เว็บไซต์ของบริษัทเชลล์ (ประเทศไทย)จำกัด( http://www.shell.co.th/home/content/tha-th/aboutshell/who_we_are/history/country/ ) ระบุว่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปของไทยเกิดเมื่อพ.ศ.2435 (ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5) โดยส่วนใหญ่เป็นน้ำมันก๊าดประวัติศาสตร์ฉบับดังกล่าวทำให้เรารู้ว่า เชลล์ เป็นตัวแบบของบริษัทน้ำมันตะวันตกยุคแรก ๆ ที่ ส่งออกพลังงานชนิดใหม่ออกไปสู่โลกที่สามถึงขนาดที่มีเรือบรรทุกน้ำมันสำเร็จรูปไว้ส่งขายโดยเฉพาะ จากนั้นก็พัฒนาสินค้าเป็น “น้ำมันก๊าดตรามงกุฎ” บรรจุปี๊บที่คนไทยยุคก่อนรู้จักคุ้นเคยกันดี จัดจำหน่ายผ่านบริษัทตัวแทนคือบริษัท บอร์เนียว จำกัด และต่อมาไม่นานกลุ่มเชลล์จึงค่อยตั้งบริษัทเอเชียติคปิโตรเลียม (สยาม) จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายเองพัฒนา “น้ำมันตราหอย” ขึ้นมาอีกแบรนด์หนึ่ง
     
        เช่นกันกับทางฝั่งอเมริกาซึ่งมีการพัฒนาอุตสาหกรรมขุดเจาะและโรงกลั่นน้ำมันไล่เรี่ยกับทางยุโรป และมีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเพื่อค้าขายกับสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยกลุ่มธุรกิจน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกที่ชื่อว่า Exxon Mobil เจ้าของตราสินค้า Exxon Esso และ Mobil ที่คนไทยรู้จักดี เว็บไซต์ของ www.esso.co.th บอกว่าบริษัทในกลุ่ม คือบริษัทสแตนดาร์ดออยล์แห่ง นิวยอร์กได้เริ่มดำเนินการในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2437 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 แต่นั่นก็เป็นแค่ตัวแทนจำหน่ายเล็กๆ ที่มียอดขายไม่มากนักตามสภาพของยุคสมัย
     
        สยามประเทศค่อยๆ รู้จักสิ่งที่เรียกว่าน้ำมันสำเร็จรูปในมากขึ้นๆ ตามลำดับที่มีการขยายตัวในการใช้ ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองตอนนั้นไม่เฉพาะเรือยนต์เท่านั้น รถยนต์ก็เริ่มมีมากขึ้นบนท้องถนนทั้งแบบเบนเซินและดีเซล คนไทยในชนบทใช้ตะเกียงเจ้าพายุซึ่งต้องใช้น้ำมันก๊าดเป็นเชื้อเพลิง เริ่มมีการเก็บสต๊อก ขนส่งและจัดจำหน่ายน้ำมันไปยังต่างจังหวัดนอกกรุงเทพฯ ออกไป จึงได้มีการตราพรบ.ว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง 2474 (ปลายสมัยรัชกาลที่ 7) ว่าด้วยการออกใบอนุญาตสถานที่จัดเก็บ จัดจำหน่าย
     
       นี่เป็นครั้งแรกที่มีการใช้ศัพท์ “น้ำมันเชื้อเพลิง” อย่างเป็นทางการเพื่อใช้เรียกผลิตภัณฑ์จากไฮโดรคาร์บอนจัดแบ่งน้ำมันเชื้อเพลิงเป็น 3 ชนิด (สะกดตามต้นฉบับ) คือ 1.ชะนิดไม่น่ากลัวอันตราย ที่มีขั้นเกิดไฟสูงกว่า 66 ดีกรีเซนติกราดขึ้นไป 2.ชะนิดธรรมดา หมายว่า ที่มีขั้นเกิดไฟในระวางตั้งแต่ 66 ลงมาถึง 23 ดีกรีเซนติกราด และ 3. ชะนิดน่ากลัวอันตราย หมายความว่าที่มีขั้นเกิดไฟต่ำกว่า 23 ดีกรีเซนติกราด
     
       พรบ.ว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง 2474 คือการเริ่มเข้ามาควบคุมกำกับดูแลกิจกรรมเกี่ยวข้องกับน้ำมันเชื้อเพลิงและปิโตรเลียมของไทยในยุคแรก กำหนดปริมาณที่ต้องขออนุญาตเก็บรักษา กำหนดพื้นที่เหมาะสมสำหรับจัดเก็บให้ห่างไกลผู้คน แม้กระทั่งการขนย้ายต้องมีสัญลักษณ์และป้าย “ไวไฟ” ติดไว้ (จนถึงวันนี้คำว่า-ไวไฟ-ที่ติดไว้ข้างรถขนน้ำมันได้ใช้มาเกิน 80 ปีแล้ว)
     
       แต่กฏหมายดังกล่าวก็แค่การกำกับป้องกันมิให้เกิดอันตรายต่อผู้คนและทรัพย์สินสาธารณะเป็นหลักใหญแต่ไม่ได้คลุมไปถึงราคา น้ำมันเชื้อเพลิงจึงถูกบริษัทฝรั่งที่นำเข้า 2 รายใหญ่จากฝั่งอเมริกา และจากฝั่งยุโรปรวมหัวกันกำหนดราคาขาย
     
        เอกสารประวัตินโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการเปิดเสรีด้านพลังงาน โครงการศึกษาวิจัยและจัดทำประวัติการพัฒนาพลังงาน ของประเทศไทย : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (มรกต ลิ้มตระกูล – เรียบเรียง เทียนไชย จงพีร์เพียร – บรรณาธิการ) ได้กล่าวถึงการที่ไทยถูกเอาเปรียบโดยรวมหัวกันกำหนดราคาของบริษัทต่างชาติช่วงดังกล่าวว่า
     
        “ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยต้องสั่งซื้อน้ำมันจากต่างประเทศ ผ่านบริษัทต่างประเทศซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายอยู่ในประเทศไทย ในขณะนั้นมีอยู่ 2 บริษัท คือ บริษัทแสตนดาร์ดแวคคัมออยล์ของอเมริกา (ปัจจุบัน คือ บริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด) และบริษัทรอยัลดัทช์ปิโตรเลียมของอังกฤษกับฮอลแลนด์ (ปัจจุบัน คือ บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด)
     
        บริษัททั้งสองมีสัญญาส่วนแบ่งการตลาดต่อกัน คือบริษัทของอเมริกามีส่วนแบ่งการตลาดในประเทศจีนและญี่ปุ่นร้อยละ 80 บริษัทของอังกฤษกับฮอลแลนด์มีส่วนแบ่งร้อยละ 20 แต่บริษัทอังกฤษกับฮอลแลนด์มีส่วนแบ่งในประเทศแถบอินโดจีน คือ ไทย แหลมมลายู พม่า และอินเดีย ร้อยละ 80 ส่วนบริษัทของอเมริกามีส่วนแบ่งร้อยละ 20 บริษัททั้งสองจึงรักษาระดับราคาเพื่อให้เป็นไปตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ ทำให้บริษัทของคนจีน หรือของคนไทยที่ตั้งขึ้นต้องล้มไปเพราะ ไม่สามารถสู้สองบริษัทดังกล่าวนี้ได้ ดังนั้น ราคาน้ำมันในประเทศไทยจึงถูกผูกขาดโดยบริษัท ดังกล่าวที่จะตั้งราคาขายเท่าใด ทางราชการและประชาชนก็ต้องซื้อในราคานั้น ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศในช่วงนั้นแพงมากเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันในตลาดโลก”

     
        (เรื่องราวการผูกขาดของ Standard Vacuum Oil Company ของสหรัฐอเมริกากับ Royal Dutch Petroleum รวมหัวกันกำหนดราคาในเอเชียถูกกล่าวถึงในหนังสือ Japanese Industrial Governance: Protectionism and licensing state เขียนโดย Yul Sohn สำนักพิมพ์ Routledge ได้กล่าวไว้ในบทที่ 4 Politics for protection-Petroleum ถึงบทบาทการผูกขาดรวมหัวกันของสองบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ดังกล่าวต่อญี่ปุ่นในต้นศตวรรษที่ 19และการพยายามปลดแอกของญี่ปุ่นจากการครอบงำดังกล่าว)
     
       บทเรียนของบรรพชน: จะปลดแอกฝรั่ง
     
        ในยุคนั้นประเทศสยามไม่เคยมีจินตนาการนึกถึงการเป็นผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงเอง เพราะบ่อน้ำมันฝางที่มีก็ยังไม่คืบหน้าใดๆ ในการขุดเจาะ เทคโนโลยีการกลั่นก็ไม่มีจึงต้องอาศัยการ “นำเข้า” น้ำมันสำเร็จรูปมาจำหน่ายปลีก ซึ่งมีบริษัทต่างชาติ 2 เจ้าคือ กลุ่มเอสโซ่ กับ กลุ่มเชลล์ รวมหัวกันขาย จึงเป็นโครงสร้างที่ขาดความมั่นคงเพราะในยุคนั้น น้ำมันเริ่มกลายเป็นปัจจัยสำคัญไม่เฉพาะต่อด้านเศรษฐกิจหรือการคมนาคมเท่านั้นหากยังมีความสำคัญต่อการทหารและความมั่นคงด้วย
     
        หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 รัฐบาลในยุคนั้นมีหลักการสำคัญประการหนึ่งคือหลักประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เริ่มมีสำนึกความเป็นชาตินิยม รวมถึงเห็นความสำคัญของน้ำมันในฐานะยุทธปัจจัยจึงได้ตราพ.ร.บ.น้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2481 ที่มีเนื้อหาก้าวหน้าไปจากพรบ.ว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง 2474 ไปไกลโขเพราะมุ่งปลดแอกการผูกขาดราคาของบริษัทต่างชาติ โดยระบุในมาตรา 14 เรื่องการกำหนดราคาให้รัฐมนตรี(ว่าการกระทรวงเศรษฐการ)กำหนดราคาขายน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งส่งและปลีกรวมทั้งขายเฉพาะท้องถิ่นไว้ด้วย และยังกำหนดให้บริษัทนำเข้าสำรองน้ำมันไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของที่ได้รับอนุญาต (มาตรา11)
     
        กฎหมายฉบับนี้จึง“เป็นเรื่อง” ขึ้นมาเพราะทั้งสแตนดาร์ดวาคัมออยล์ (เอสโซ่) และรอยัลดัทช์ปิโตรเลียม (เชลล์) รับไม่ได้กับเงื่อนไขชาตินิยม ไม่เสรีอะไรเช่นนี้ (แต่การรวมหัวกำหนดราคาถือว่าเป็นเสรี-ฮา) จึงถอนตัวจากตลาดเมืองไทยไปในเวลาต่อมา
     
        มองย้อนกลับไปเมื่อครั้งนั้น (2481) จะพบว่า รัฐบาลคณะราษฏร์ที่มีหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เริ่มได้กลิ่นสงครามโลกครั้งใหม่และมีการเตรียมความพร้อมหลายประการเพื่อรับมือเช่น การสำรองทองคำแท่งแทนเงินตราต่างประเทศ รวมไปถึงความสนิทสนมกับทางญี่ปุ่นมากขึ้นเป็นลำดับโดยจนกระทั่งช่วงเกิดสงครามอินโดจีน (พิพาทไทย-ฝรั่งเศสที่มาของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูม พ.ศ.2483-84)
     
        เอกสารประวัตินโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการเปิดเสรีด้านพลังงาน สะท้อนออกมาได้ชัดเจนถึงความพยายามของคนในยุคก่อนที่พยายามจะปลดแอกตนเองจากการผูกขาดครอบงำ พยายามจะยืนบนขาตัวเองในเรื่องการพลังงานให้จงได้เพราะรู้ดีว่ากิจการด้านนี้มีความสำคัญโยงไปถึงความมั่นคงแห่งรัฐด้วย
     
       “หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองรัฐบาลยุคนั้นให้ความสำคัญกับการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากเห็นว่าเป็นยุทธปัจจัยที่สำคัญของประเทศ จึงมอบหมายให้ นายวนิช ปานะนนท์ (คณะราษฏรสายพลเรือน) เป็นผู้ดำเนินการจัดการเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิง ...จากนั้น ได้ตั้ง"แผนกเชื้อเพลิง" ขึ้นในกระทรวงกลาโหม ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2476 และกระทรวงกลาโหมได้มอบหมายให้นายวนิช ปานะนนท์ เป็นผู้ดำเนินการสั่งซื้อน้ำมันจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่าย ให้แก่ส่วนราชการ ทำให้สามารถซื้อน้ำมันได้ถูกลงและประเทศสามารถประหยัดเงินได้ประมาณปีละแสนเศษและต่อมาคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ยกฐานะแผนกเชื้อเพลิงขึ้นเป็น "กรมเชื้อเพลิง" เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2480”
     
       ก็น่าสังเกตว่าอธิบดีกรมเชื้อเพลิงคือ นายวนิช ปานะนนท์ ผู้ซึ่งดูแลเรื่องน้ำมันมาตั้งแต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งสองนายวนิชคนดังกล่าวก็ถูกมองว่าสนิทสนมกับฝ่ายญี่ปุ่นมากเป็นพิเศษ การตราพรบ.น้ำมันเชื้อเพลิง 2481 เพื่อดัดหลังบริษัทต่างชาติสร้างความมั่นคงทางพลังงานสำรองให้กับประเทศก็มีผลมาจากการดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นของตัวแทนรัฐบาลไทย ขณะที่ในยุคนั้นญี่ปุ่นมีนโยบายชัดเจนเรื่องความเป็นจักรวรรดินิยมปลดแอกการเอาเปรียบของต่างชาติ และที่สำคัญญี่ปุ่นเป็นชาติที่เผชิญกับการเอาเปรียบรวมหัวกำหนดราคาของบริษัทต่างชาติมาก่อน
     
       พัฒนาการต่อเนื่องหลังจากที่ออกกฎหมายน้ำมันเชื้อเพลิงแล้วรัฐบาลยุคนั้นยังได้จัดตั้งโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกของประเทศ มีกำลังการกลั่น 1,000 บาร์เรล/วัน ตั้งอยู่ที่ช่องนนทรี...เป้าหมายก็เพื่อหยั่งขายืนได้ด้วยตนเองไม่ต้องยืมจมูกฝรั่งหายใจ แต่ก็ไม่วายที่จะเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันเพราะหลายปัจจัยแวดล้อมโดยเฉพาะเกิดสงครามในยุโรปจนรัฐบาลพิบูลสงครามต้องตราพรบ.ปันส่วนน้ำมันเชื้อเพลิง 2483 ขึ้นมาบังคับใช้ ประชาชนจะซื้อต้องมีใบคำร้อง (ถ้าเพื่อใช้เองใบละ 5 สตางค์ ถ้ายื่นคำร้องเพื่อขายใบละ 10 สตางค์) และยื่นใบคำร้องเสร็จแล้วจะได้ใบอนุญาตซื้อน้ำมันเชื้อเพลิง ต้องจ่ายค่าใบอนุญาต 20 สตางค์ แต่ถ้าเป็นใบอนุญาตขายจ่ายใบละ 1 บาท)
     
       พรบ.ปันส่วนน้ำมันถูกใช้ยาวนานจากพ.ศ. 2483 มาตลอดจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทางหนึ่งสะท้อนความเป็นปกติที่ยุคสงครามทุกอย่างต้องขาดแคลน แต่อีกทางหนึ่งกลับสะท้อนถึงความมั่นคงของชาติที่ไม่มีแหล่งน้ำมันเป็นของตนเองต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก และคงจะมีผลต่อการใช้ชีวิตของประชาชนอยู่ไม่น้อยดังปรากฏในกระทู้ถามที่ 28/2485 ของส.ส.จังหวัดระยอง นายเสกล เจตสมมา ต่อการปันส่วนน้ำมันที่ดูเหมือนไม่เท่าเทียมระหว่างผู้มีรถยนต์ส่วนตัวกับประชาชนธรรมดาว่า 1.หากงดการปันให้กับรถยนต์เอกชนจะได้หรือไม่ ? และ 2.ตัดการจ่ายน้ำมันให้รถส่วนตัวมาเพิ่มให้รถยนต์โดยสารจะได้หรือไม่ ?
     
       ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (จอมพลป.ควบตำแหน่งนายกฯ กลาโหม และต่างประเทศในยุคสงคราม) ได้ลุกขึ้นตอบว่า ทำไม่ได้ เพราะที่คณะกรรมการปันให้รถส่วนตัวเดือนละ 10 ลิตรถือว่าน้อยอยู่แล้วเผื่อกรณีฉุกเฉินและการเดินเครื่องยนต์ไม่ให้รถเสียหาย ส่วนการปันให้กับรถโดยสารเพิ่ม ตอบว่าถ้างดกลุ่มเอกชนมาปันให้รถโดยสารจะเพิ่มได้ไม่มาก ยังไม่คุ้มที่จะทำ
     
       จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองจบลงพร้อมกับการพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น 2 ตัวแทนบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ค่ายยุโรป และอเมริกาคือเชลล์และเอสโซ่เดินทางมาพร้อมกับเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ
     
       เหตุการณ์ตรงขุดนี้เอกสาร “ประวัตินโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการเปิดเสรีด้านพลังงาน” ระบุว่าผู้บริหารของบริษัทน้ำมันดังกล่าวมีสถานะเป็น “เป็นเจ้าหน้าที่น้ำมันเชื้อเพลิงของสหประชาชาติ” ทำให้นึกถึงบริษัทน้ำมันเครือข่ายจอร์จ บุช-ดิก เชนีย์ เดินทางเข้าอิรักพร้อมกับกองทหารเพื่อทำมาหากินในนามของผู้รับชัยชนะ เช่นเดียวกันเลย...เชลล์และเอสโซ่ยื่นข้อเสนอถึงรัฐบาลไทยให้ปลดพันธนาการพรบ.น้ำมันเชื้อเพลิง 2481 ที่ควบคุมผู้นำเข้าเข้มงวด บังคับสำรองน้ำมันและบังคับกำหนดราคาขาย
     
       ในที่สุดรัฐบาลไทยในยุคนั้นก็ต้องยอมตามคำขอของบริษัทน้ำมันตะวันตก ที่เข้ามาพร้อมกับผู้ชนะคือกองกำลังทหารสหประชาชาติในนามของการเรียกร้องการค้าเสรี
     
       1 เมษายน 2489 รัฐบาลไทยได้ออกพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายว่าด้วยน้ำมันเชื้อเพลิง มีเนื้อหาแค่ 3 มาตรา ผู้รับสนองพระบรมราชโองการคือ นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
     
       เอกสาร “ประวัติศาสตร์การพลังงานไทยเอกสารนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการเปิดเสรีด้านพลังงานโครงการศึกษาวิจัยและจัดทำประวัติการพัฒนาพลังงาน :สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน” (ที่ผู้เขียนใช้อ้างอิงบ่อยครั้ง) มีความคลาดเคลื่อนเล็กน้อยในจุดนี้ เพราะระบุว่า การยกเลิกกฎหมายเกิดในสมัยนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีตามปรากฏที่เขียนว่า
     
        “นาย เจ.เอ.อีแวน ผู้ช่วยผู้จัดการบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด และนายอี.พี.เจ. ผู้จัดการบริษัทแสตนดาร์ดแวคคัมออยล์ จำกัด เป็นเจ้าหน้าที่น้ำมันเชื้อเพลิงของสหประชาชาติร่วมเดินทางมาด้วย และได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เพื่อเจรจาเรื่องการค้าน้ำมันเสรี จนมาถึงปี พ.ศ. 2489 สมัยที่นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี บริษัทน้ำมันต่างชาติได้ขอเข้ามาทำการค้าในประเทศและขอให้รัฐบาลยกเลิกพระราชบัญญัติ น้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2481 โดยอ้างว่าไม่เป็นการค้าเสรีในที่สุดก็มีการตกลงยกเลิกพระราชบัญญัติดังกล่าว”
       

       เพราะข้อเท็จจริงที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษาระบุว่าผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการคือ นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งดำรงตำแหน่งต่อจากนายควง อภัยวงศ์ ที่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแค่ระยะสั้นๆ ประมาณ 3 เดือนเท่านั้น (จุดตรงนี้น่าที่สนพ.น่าจะปรับแก้ต่อไป)
     
        โดยที่สุดแล้ว บริษัทน้ำมันตะวันตกอาศัยจังหวะที่ฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นผู้ชนะสงครามกลับเข้ามาสู่ตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงและกดดันรัฐบาลไทยให้ยกเลิกกฎหมายควบคุมผู้นำเข้า ควบคุมราคาจำหน่าย (ส่ง ปลีก และพื้นที่เฉพาะ) ทำให้รัฐบาลต้องหันไปใช้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันการค้ากำไรเกินควรมาควบคุมราคาขายปลีกตามต่างจังหวัดแทน ซึ่งเนื้อแท้ก็คือการควบคุมคนไทยที่อยู่ปลายทางของสินค้าในฐานะผู้ค้าปลีกรายย่อย ไม่สามารถเข้าไปควบคุมบริษัทฝรั่งผู้นำเข้า ผู้เก็บกักสำรองน้ำมันดังที่เคยทำมา
     
        ประวัติศาสตร์น้ำมันเชื้อเพลิงในยุคต้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงยุคที่ประเทศไทยเริ่มค้นพบหลุมก๊าซธรรมชาติสมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประมาณพ.ศ. 2524 จึงเป็นช่วงเวลาของบริษัทน้ำมันต่างชาติมีบทบาทและอิทธิพลครอบงำตลาด ขณะที่รัฐบาลไทยแต่ละยุคก็พยายามจะดิ้นรนขยับขยายเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานเชื้อเพลิงไปทีละขั้นทีละเล็กละน้อย ใช้เวลาร่วม 50 ปีกว่าที่กิจการสัญชาติไทยจะมีบทบาทและอิทธิพลครอบตลาดบนพื้นฐานของการค้นพบแหล่งก๊าซและปิโตรเลียมจำนวนมากบนผืนแผ่นดินไทย
     
       แต่น่าเสียดายที่กิจการรัฐวิสาหกิจสัญชาติไทยกลับกดขี่ขูดรีดเสียยิ่งกว่ายุคฝรั่งครอบงำ !น้ำมันเชื้อเพลิง กลายเป็นปัญหาความมั่นคงระดับโลกหลังวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งแรก ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากสงครามระหว่างยิว-อาหรับ ความขัดแย้งเรื่องนี้กับตะวันตกทำให้ประเทศอาหรับในกลุ่มโอเปคประกาศงดส่งน้ำมันให้ชาติตะวันตกและลดปริมาณการผลิตลง 25% ในค.ศ.1973 (2516) ต่อจากนั้นอีกแค่ 6 ปีก็เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่สองขึ้นเมื่อ ค.ศ.1979 (2522) เมื่อเกิดการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน ต่อเนื่องสงครามอิรัค-อิหร่านทำให้กำลังการผลิตโลกหายไปเกิดการชะงักงันและขาดแคลนตามมา (หมายเหตุ-มีการวิเคราะห์จากฝ่ายจับผิดมาเฟียพลังงานโลกว่าวิกฤตรอบหลังเป็นการสร้างสถานการณ์ ดันราคาของยักษ์ใหญ่ค้าน้ำมันโลกต่างหาก)
     
       น้ำมันเชื้อเพลิงได้ยกระดับกลายเป็นปัญหาระดับโลกที่เกิดผลกระทบต่อการผลิต การดำรงชีวิต และความมั่นคงยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก วิกฤตการณ์น้ำมันในยุคนั้นมาจากทั้งระดับราคาที่ไต่ขึ้นไม่หยุดและปัญหาด้านการจัดหาให้เพียงพอ มีผลต่อวิถีชีวิตประชาชนในไทยด้วยสะท้อนผ่านบทเพลง “น้ำมันแพง” ที่มีเนื้อเริ่มต้นว่า “น้ำมันขาดแคลนคุยกับแฟนก็ต้องดับไฟ ...” แต่งและร้องโดย สรวง สันติ (งานของสรวง สันติ โด่งดังในช่วงปี 2522-2525 ก่อนที่เจ้าตัวเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุรถยนต์)
     
       ระหว่างที่เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันโลก เป็นช่วงคาบเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานด้านน้ำมันเชื้อเพลิงของไทยเพราะเป็นระยะเวลาที่เริ่มก่อตั้ง ปตท. โดยรัฐบาลยุคนั้นคือรัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ยุบรวมหน่วยงานเกี่ยวข้องสองหน่วยคือ องค์การเชื้อเพลิงสังกัดกรมการพลังงานทหาร และองค์การก๊าซธรรมชาติ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ไปเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือเรียกโดยย่อว่า "ปตท." ที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ ตามพรบ.การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521
     
       หมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติก่อตั้งปตท. เขียนไว้อย่างน่าสนใจว่า “เนื่องจากการประกอบธุรกิจปิโตรเลียมเป็นกิจการอุตสาหกรรมด้านสาธารณูปโภคประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ แต่หน่วยปฏิบัติงานเกี่ยวกับการผลิต สำรวจ ขนส่งและจำหน่ายปิโตรเลียมที่เป็นของทางราชการยังมีขนาดไม่เหมาะสม โดยกระจัดกระจายขึ้นอยู่กับส่วนราชการและองค์การของรัฐหลายแห่ง เป็นเหตุให้การประกอบธุรกิจปิโตรเลียมเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพสมควรรวมหน่วยปฏิบัติขึ้นเป็นรัฐวิสาหกิจเพื่อดำเนินการ ฯ”
     
       กล่าวได้ว่าวิกฤตการณ์น้ำมันระดับโลกที่มีผลกระทบต่อประเทศเป็นตัวเร่งผลักดันให้เกิด ปตท.ขึ้นมาเมื่อปี 2521 เพื่อแก้ปัญหาให้กับประเทศ เพราะแม้ประเทศไทยจะเริ่มตั้งไข่ในกิจการด้านปิโตรเลียมมาก่อนหน้าแต่มันก็ยังคงเป็นการตั้งไข่เตาะแตะที่ขาดความมั่นคงอย่างสิ้นเชิงโดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์วิกฤตน้ำมันโลก
     
       นับจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านมาถึงวิกฤตการณ์น้ำมันโอเปค-อิรัค-อิหร่าน(2516-2523) อันนำมาสู่ตั้งปตท.ขึ้นโดยควบหน่วยงานเกี่ยวข้องมาไว้รวมกัน เหตุผลหลักของประเทศไทยยุคนั้นคือ “ปัญหาการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิง” ให้เพียงพอ ให้ถ่วงดุลบริษัทต่างชาติ เป็นความพยายามของประเทศเล็กๆ ที่ไม่มีทรัพยากรและเทคโนโลยีของตนเอง ไม่ได้คิดไกลไปถึงบริษัทน้ำมันแห่งชาติหรือกิจการน้ำมันระดับโลกแบบที่เป็นอยู่ในยุคปัจจุบัน
     
       องค์การเชื้อเพลิง-ตำนานการต่อสู้กับต่างชาติก่อนยุบรวมกับ ปตท.
     
       หน่วยงานหนึ่งที่ถูกยุบรวมกับปตท. ก็คือองค์การเชื้อเพลิง กรมพลังงานทหาร ซึ่งเป็นชื่อที่หลายๆ คนอาจลืมเลือนไปแล้วแต่หากบอกว่าคือ “ปั๊มน้ำมันตราสามทหาร” ที่มีภาพครึ่งท่อนของทหารสามนายเป็นตราสัญลักษณ์ผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปีน่าจะรื้อฟื้นความทรงจำได้
     
       องค์การเชื้อเพลิง กรมพลังงานทหาร ซึ่งเป็นรากฐานหนึ่งของปตท.ในปัจจุบันกำเนิดมาจากความต้องการเป็นอิสระทางด้านพลังงานจากการครอบงำของต่างชาติ เกิดบนฐานความคิดเรื่องความมั่นคงและถือว่าน้ำมันเป็นยุทธปัจจัยที่อย่างน้อยที่สุดเมื่อถึงเวลาคับขันประเทศจะได้มีพลังงานของตัวเองไว้ใช้
     
       องค์การเชื้อเพลิง กำเนิดโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเชื้อเพลิง พ.ศ.2503 ในยุครัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ วัตถุประสงค์เพื่อให้มีหน่วยงานทำหน้าที่ “อำนวยบริการแก่รัฐและประชาชนเพื่อให้มีและใช้ซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เพื่อประโยชน์ในการเศรษฐกิจของชาติและช่วยเหลือในการครองชีพของประชาชน” มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐยังไม่ได้เป็นนิติบุคคล สังกัดกับกรมพลังงานทหาร
     
       การถือกำเนิดของหน่วยงานนี้มีผลสืบเนื่องโดยตรงจากความพยายามเป็นอิสระในการจัดหาพลังงานเชื้อเพลิงจากการผูกขาดครอบงำของบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาประเทศไทยถูกกดดันไม่ให้ดำเนินการกิจการแข่งขันกับบริษัทตะวันตก เพราะสำหรับการทหารแล้วน้ำมันเชื้อเพลิงถือเป็นยุทธปัจจัยสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ
     
       ย้อนกลับไปก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลคณะราษฏร์พยายามจะสร้างหน่วยงานทำหน้าที่จัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงของตนเองขึ้นมาโดยตั้ง “แผนกเชื้อเพลิง” สังกัดกระทรวงกลาโหมเมื่อพ.ศ.2475 จากนั้นก็ยกฐานะเป็น “กรมเชื้อเพลิง” กระทรวงกลาโหม ในปีพ.ศ.2480 และหลังจากนั้นอีกปีเดียว ได้ตราพรบ.น้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2481 ขึ้นมามีเนื้อหาบังคับบริษัทต่างชาติให้สำรองน้ำมันและควบคุมราคาขายปลีกขายส่งซึ่งทำให้บริษัทตะวันตกไม่พอใจมาก ความพยายามของรัฐบาลคณะราษฏร์ในการเป็นอิสระของกิจการพลังงานยังก้าวหน้าไปถึงขึ้นตั้งโรงกลั่นน้ำมัน มีกำลังการผลิต 1,000 บาร์เรล/วัน ที่ช่องนนทรี โดยใช้ฤกษ์ 24 มิถุนายน 2483 ทำพิธีเปิด ในปีเดียวกันนั้นประเทศไทยก็ปิดฉากสงครามอินโดจีนกับฝรั่งเศสยึด 3 จังหวัดฝั่งขวาแม่น้ำโขงกลับมา
     
       แต่การพยายามจะเป็นอิสระและมั่นคงด้านพลังงานของไทยก็สะดุดลงหลังจากสิ้นสุดสงครามโลก เพราะบริษัทฝรั่งคือ ตัวแทนกลุ่มเอสโซ่และเชลล์กดดันให้รัฐบาลไทยยกเลิกกฏหมายที่บริษัทน้ำมันอ้างว่าไม่เป็นเสรีในปี พ.ศ.2489
     
       หลังจากนั้นชะตากรรมของประเทศไทยในความพยายามยืนบนลำแข้งตนเองในด้านการพลังงาน
     
       เอกสารประวัตินโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการเปิดเสรีด้านพลังงาน: สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ไทยถูกบีบบังคับจากบริษัทต่างชาติตอนนี้ว่า “ในที่สุดก็มีการตกลงยกเลิกพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ออกหนังสือรับรองให้กับบริษัทต่างชาติทั้งสองมีสาระสำคัญว่า 1) รัฐบาลจะไม่ถือว่าบริษัทหรือผู้แทนขาย น้ำมันโดยไม่มีใบอนุญาตในขณะนั้นมีความผิด 2) รัฐบาลจะไม่เข้าหุ้นส่วนค้าน้ำมันกับบริษัทค้าน้ำมันต่างประเทศ และ 3) การซื้อน้ำมันของรัฐบาลต้องให้บริษัทมีสิทธิเข้าเสนอขายด้วย ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ยุบเลิกกรมเชื้อเพลิง โดยกระทรวงกลาโหมได้ลงนามสัญญาซื้อขาย ทรัพย์สินของกรมเชื้อเพลิงที่ช่องนนทรีย์และร้านค้าของเอกชนทั้งหมดกับบริษัททั้งสองเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2489 พร้อมทั้งให้เช่าที่ดินมีกำหนด 30 ปี และเมื่อหมดสัญญาให้ต่อได้อีก 30 ปี ในปีเดียวกันนี้เองบริษัท คาลเท็กซ์ จำกัด ได้เข้ามาประกอบกิจการค้าน้ำมันเพิ่มอีก 1 ราย”
     
       เงื่อนไขทั้ง 3 ประการดังกล่าวสามารถกล่าวได้ว่าเป็นการเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทางด้านการพลังงานให้กับบริษัทจากยุโรปและอเมริกาก็ว่าได้ เพราะโดยนัยแล้วคือการยอมให้บริษัทน้ำมันต่างชาติกลุ่มดังกล่าวเข้ามาทำการค้าภายในประเทศโดยเสรี (โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตตามนัยของพรบ.น้ำมันเชื้อเพลิง2481) รัฐบาลจะไม่เข้าหุ้นกับบริษัทค้าน้ำมันต่างประเทศอื่น (เพราะจะทำให้บริษัทผูกขาดเสียเปรียบ เท่ากับกีดกันบริษัทต่างชาติกลุ่มอื่นออกไป) และยอมให้บริษัทผูกขาดการขายน้ำมันให้กับรัฐโดยปริยาย
     
       ผลจากการกดดันรัฐบาลไทยยังต้องยุบเลิก กรมเชื้อเพลิง กระทรวงกลาโหม ที่ยกฐานะขึ้นเมื่อ พ.ศ.2480 ทิ้งไป หน่วยงานดังกล่าวทำหน้าที่จัดหาน้ำมันโดยนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศเอง และต่อมามีความพยายามตั้งโรงกลั่นนำน้ำมันดิบจากฝางและที่ซื้อมามากลั่นและแจกจ่ายเอง
     
       บริษัทต่างชาติผูกขาดครอบงำกิจการน้ำมันเชื้อเพลิงของไทยจากปี 2489 ซึ่งถือเป็นช่วงหลังสงครามที่ฝรั่งมีอำนาจและอำนาจต่อรองสูงเป็นเวลา 4 ปีที่ไทยแทบไม่ได้กระดิกกระเดี้ยใดๆ มีเงื่อนไขเดียวที่ฝรั่งเปิดช่องให้ทำได้คือรัฐบาลสามารถสำรองน้ำมันเฉพาะเพื่อความมั่นคงของประเทศเท่านั้น จนถึงปี 2492 ที่รัฐบาลไทยเริ่มขยับตัวจากภาวะบีบคั้นดังกล่าวด้วยความพยายามรื้อฟื้นหน่วยงานด้านพลังงาน สังกัดกระทรวงกลาโหมขึ้นมาใหม่อีกรอบ
     
       จุดนี้เองที่เป็นต้นตอของ องค์การเชื้อเพลิง และปั๊มน้ำมันตราสามทหารในเวลาต่อมา !
     
       พ.ศ.2492 รัฐบาลในขณะนั้นมีมติ ครม. 11 มกราคม 2492 รื้อฟื้นจัดตั้งแผนกเชื้อเพลิง กระทรวงกลาโหมขึ้นมาอีกคำรบ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจนักเพราะรัฐบาลขณะนั้นคือ จอมพลป.พิบูลสงคราม ที่กลับมาสู่อำนาจหลังการรัฐประหาร 2490 แนวคิดเรื่องการมีกิจการน้ำมันคานอำนาจต่างชาติเพื่อความมั่นคงทหารเป็นแนวทางที่ดำเนินสืบเนื่องมาจากครั้งรัฐบาลคณะราษฏร์ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมถูกคัดค้านจากบริษัทน้ำมันต่างชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
     
       เอกสารศึกษาของสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (อ้างแล้ว) กล่าวถึงตอนนี้ว่า...
     
       “กระทรวงกลาโหมเห็นว่าน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงมีความจำเป็นในทางการทหาร จึงเห็นควรให้ตั้งแผนกเชื้อเพลิงขึ้นใหม่เพื่อกิจการของทหาร โดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2492 ยืมเงินทุนจากกระทรวงการคลัง 15 ล้านบาท ใช้เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับซื้อน้ำมันทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ตามความต้องการของกองทัพ และหน่วยราชการ พร้อมกันนั้นได้มีการสร้างคลังและถังเก็บน้ำมันขึ้นที่ท่าเรือริมคลองพระโขนงซึ่งมีที่ดิน ติดต่อกับท่าเรือคลองเตย และแผนกเชื้อเพลิงได้จัดซื้อน้ำมันจากบริษัทน้ำมันอิสระที่ไม่ขึ้นอยู่กับสหรัฐอเมริกา
     
       ในการจัดตั้งแผนกเชื้อเพลิง และสร้างคลังน้ำมันดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับบริษัทน้ำมันต่างชาติ ด้วยเกรงว่าแผนกเชื้อเพลิงจะขายน้ำมันให้แก่เอกชนและประชาชน บริษัทน้ำมันทั้ง 3 บริษัท จึงยื่นคำขอให้แผนกเชื้อเพลิงส่งรายชื่อผู้ซื้อน้ำมันให้บริษัททราบด้วย”

     
       ขณะที่เว็บไซต์ของกรมการพลังงานทหาร http://www.mod.go.th/ded เล่าประวัติศาสร์ก่อตั้งองค์กรตรงนี้สั้นๆ ว่า “กระทรวงกลาโหมได้ขอจัดตั้ง แผนกเชื้อเพลิง ขึ้นใหม่ เพื่อแก้ปัญหาความไม่สะดวกในการจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากท้องตลาด และป้องกันการขาดแคลนน้ำมันในภาวะสงคราม โดยสามารถซื้อน้ำมันจาก ต่างประเทศได้โดยตรง ซึ่งไม่เป็นที่พอใจและถูกคัดค้านจากบริษัทต่างชาติวันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2494 ได้มีการก่อสร้างคลังน้ำมันคลองเตย ห้องทดลองวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งถนนและทางรถไฟเข้าไปยังคลังน้ำมันในระหว่างนี้บริษัทต่างชาติพยายามขัดขวางการดำเนินงานทุกวิถีทาง” 
     
       จนที่สุดรัฐบาลไทยก็สามารถเจรจากับบริษัทน้ำมันต่างชาติลุล่วงและได้ตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาเพื่อทำกิจการด้านปิโตรเลียมคือ “องค์การเชื้อเพลิง”ซึ่งเป็นต้นธารของปตท.ในปัจจุบันในปี พ.ศ.2495 และยังยกฐานะแผนกเชื้อเพลิง กระทรวงกลาโหมที่ตั้งขึ้นมาใหม่นั้นเป็น“กรมการพลังงานทหาร”ในพ.ศ. 2496 โดยที่กรมการพลังงานทหารได้ดำเนินกิจกรรมด้านพลังงานเพื่อความมั่นคงมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนองค์การเชื้อเพลิง และสัญลักษณ์สามทหารได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว
     
       ในช่วงเวลาเดียวกันกระทรวงกลาโหมก็สร้างโรงกลั่นน้ำมันขนาด 5,000 บาเรล/วัน ในที่ดินเดียวกับคลังน้ำมันพระโขนง จุดดังกล่าวอยู่ในเขตท้องที่ตำบลบางจาก จึงเป็นที่มาของชื่อ “โรงกลั่นน้ำมันบางจาก” เว็บไซต์http://www.bangchak.co.th ยืนยันชัดเจนว่าวัตถุประสงค์การตั้งโรงกลั่นของกระทรวงกลาโหมก็เพื่อคานและดุลกับบริษัทต่างชาติ
     
       “บนพื้นที่ 485 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนงจังหวัดพระนคร โรงกลั่นน้ำมันกำลังการผลิตวันละ 5,000 บาเรล ได้รับการอนุมัติให้สร้างขึ้นโดยกระทรวงกลาโหมเล็งเห็น ความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องดำเนินกิจการเรื่อง "น้ำมัน" เองทั้งหมด เพื่อช่วยตรึงราคาน้ำมันในตลาด มิให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของบริษัทค้าน้ำมันต่างชาติแต่เพียงฝ่ายเดียวและสำรองน้ำมันไว้ใช้ในยามฉุกเฉินหลังจากโรงกลั่นน้ำมันของราชการถูกบังค้บขายให้บริษัทต่างชาติที่เป็นฝ่ายชนะสงครามโลก ครั้งที่ 2
     
       โรงกลั่นน้ำมันที่ตำบลบางจากก่อสร้างเสร็จในปี 2500 เป็นปีเดียวกับที่รัฐบาลประกาศใช้พระราชบัญญัติภาษีน้ำมันที่ผลิตในประเทศ ทางเลือกในขณะนั้นมีเพียงขยายกำลังการกลั่นเป็น 20,000 บาเรล เพื่อให้การดำเนินกิจการมีผลกำไร แต่เนื่องจากขาดเงินทุนในการขยายกิจการรัฐบาลจึงได้เปิดประมูลเช่าโรงกลั่นกำหนด 15 ปี โดยมีเงื่อนไขให้ผู้เช่าลงทุนต้องขยายกำลังการกลั่นในที่สุดบริษัท ซัมมิท อินดัสเตรียล คอร์ปอเรชั่น (ปานามา) เป็นผู้ประมูลได้ และทำการขยายโรงกลั่นแล้วเสร็จในอีก 4 ปีต่อมา”

     
       สู่ยุคโชติช่วงชัลวาลย์ (ของผู้ถือหุ้นและนายทุนการเมือง)
     
       โฆษณาที่ติดตาตรึงใจของคนวัย 40 ปีขึ้นไปชิ้นหนึ่งในประมาณปีพ.ศ.2524-2525 ยุครัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์คือโฆษณาประเทศไทยก้าวสู่ยุคโชติช่วงชัชวาลย์ เพราะตอนนั้นไทยเพิ่งขุดพบก๊าซธรรมชาติได้เป็นครั้งแรก
     
       ซึ่งหากมองย้อนกลับไปจะพบว่าไทยมีความพยายามเปิดแปลงสัมปทานขุดเจาะหาน้ำมันและก๊าซทั้งบนบกและอ่าวไทยมาก่อนหน้านานกว่า 10 ปีคือก่อนที่จะตราพรบ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ด้วยซ้ำไป โดยยุคก่อนหน้านั้นเรียกการสัมปทานขุดเจาะว่าประทานบัตรทำเหมือง ขณะที่พรบ.ปิโตรเลียม 2514 เป็นกฏหมายรองรับกิจการ “ปิโตรเลียม”อย่างเป็นทางการและทันสมัยกับสากลในห้วงเวลานั้น
     
       ต่อมามีการแก้ไขเพิ่มเติมพรบ.ปิโตรเลียม ในปี 2516 ลดหย่อนเงื่อนไขลงมาสำหรับแปลงสำรวจในเขตน้ำลึกเกิน 200 เมตร การแก้กฏหมายดังกล่าวทำมาเป็นระยะเช่นปี 2523 แต่โดยหลักใหญ่คือปรับปรุงเงื่อนไขจูงใจให้กับบริษัทเอกชนผู้สำรวจขุดเจาะเป็นสำคัญ
     
       อาจกล่าวได้ว่าการตั้ง ปตท.และการพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย เป็นเส้นแบ่ง “ยุค” ของพัฒนาการปิโตรเลียมไทยที่จะกล่าวถึงในตอนต่อไป คือ
     
       1.ยุคนำเข้า 100% - ก่อนหน้าที่ต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปผ่านบริษัทฝรั่งในก่อนสงครามโลก มาสู่การพยายามตั้งโรงกลั่นเองแล้วถูกฝรั่งกดดันบังคับขายหลังจากสงครามโลกสิ้นสุด หลังจากที่กระทรวงกลาโหมตั้งโรงกลั่นบางจาก เมื่อประมาณพ.ศ.2500 และเอสโซ่สร้างโรงกลั่นเมื่อพ.ศ.2514 ประเทศไทยเข้าสู่ยุคสั่งน้ำมันดิบมากลั่นเองแต่ที่สุดยังเป็นการนำเข้าโดยที่คนไทยแทบจะไม่มีบทบาทใดๆ เกี่ยวข้องเลย
     
       2.ยุคพัฒนาเทคนิคและขุดค้นทรัพยากรของตัวเอง – เริ่มเป็นรูปร่างเมื่อมีการตั้ง ปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจที่รวมเอาหน่วยงานเกี่ยวข้องกับปิโตรเลียมมาไว้ด้วยกัน แต่ยุคแรกคนไทยยังไม่มีประสบการณ์ในการสั่งน้ำมันจากต่างประเทศเข้ามาเลย เพราะในช่วงที่ทำโรงกลั่นบางจากก็ต้องอาศัยสัมปทานและการบริหารจากต่างชาติเช่นเดิม ยุคนี้เป็นยุคที่ประเทศไทยพยายามยืนบนลำแข้งของตัวเอง พร้อมๆ กับความคืบหน้าของการพบแหล่งก๊าซและน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
     
       3.ยุคแปรรูปเพื่อกดขี่ขูดรีดกันเอง – หลังจากแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แปลงกิจการเป็นบริษัทมหาชนกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เมื่อพ.ศ. 2544 ปตท. และฝ่ายกำกับนโยบายพลังงานของไทย ใช้ความได้เปรียบจากฐานทรัพยากรที่ผลิตได้ในอ่าวไทยควบคุมกิจการก๊าซธรรมชาติตั้งแต่ต้นทาง และยังควบคุมกิจการโรงกลั่นน้ำมัน 5 แห่งกลายเป็นเจ้าตลาด กำหนดโครงสร้างภาษีและราคาช่วยอุ้มกิจการปตท.และกลุ่มบริษัทในเครือ ผลของมันทำให้ปตท. ซึ่งเป็นกิจการรัฐวิสาหกิจของไทยเติบโตแข็งแกร่งพุ่งพรวดขึ้นมาไม่น้อยหน้าบริษัทต่างประเทศ กล่าวได้ว่าหากเกิดปัญหาทางด้านพลังงานขึ้นมาเหมือนเมื่อครั้งระหว่างสงครามโลก หรือระหว่าง 2516-2523 ประเทศไทยก็ยังจะมีพลังงานเพียงพอจะหล่อเลี้ยงกิจกรรมสำคัญๆ ได้ไม่ถึงกับขาดแคลนหรืออ้าปากรอให้ต่างชาติป้อนเหมือนเมื่อครั้งที่เคยเป็นมาในอดีต อย่างไรก็ตาม ผลทางลบของแนวทางดังกล่าวคือการกดขี่ขูดรีดคนไทยด้วยกันให้กลายเป็นเบาะรองรับและเป็นปุ๋ยให้กับการเติบโตของกิจการปิโตรเลียมรัฐบาลไทยไปในตัว

การแปรรูป ปตท.เป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยระดับโลก 2 เรื่องคือ ผลกระทบจากสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 2533 ตามมาด้วยแนวคิดเสรีนิยมใหม่ตามฉันทามติวอชิงตันว่าด้วย Privatization และเมื่อประเทศไทยเจอวิกฤตต้มยำกุ้งการเข้ามาขององค์กรโลกบาล ธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ.ทำให้แนวคิดผลักดันให้เกิดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจยิ่งถูกเร่งเร้าผลักดันยิ่งขึ้น หากจำกันได้ในยุคดังกล่าวเริ่มมีกระแสต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่อง
     
       แต่การแปรรูปครั้งนี้กลับไม่ได้มาพร้อมกับความชัดเจนเชิงนโยบาย ไม่เหมือนกับเมื่อครั้ง พ.ศ.2522 ที่มีการตั้ง การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นเสมือนบริษัทน้ำมันแห่งชาติเพื่อความมั่นคงทางพลังงานได้แก่การจัดหา สำรองและถ่วงดุลราคาขายในประเทศ
     
       1 ทศวรรษก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลง ปตท.เป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ ในปี 2544 เป็นช่วงเวลา 10 ปีที่มีการเปลี่ยนแปลงในวงการน้ำมันเชื้อเพลิงและปิโตรเลียมไทยอย่างขนานใหญ่ในแทบทุกมิติ
     
       ในมิติของนโยบายรัฐ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมันได้รับการส่งเสริมเพื่อให้ต่อยอดนโยบายอีสเทิร์นซีบอร์ดของรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ แม้รัฐบาลนี้จะถูกรัฐประหารใน พ.ศ.2534 แต่รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ก็ดำเนินต่อเช่นการเปิดโรงกลั่นน้ำมันใหม่ต่อจากโรงกลั่นไทยออยล์ ให้กับเอสโซ่ คาลเท็กซ์ เชลล์ โดย ปตท.เข้าร่วมถือหุ้น ในยุคดังกล่าวมีผู้ค้าหน้าใหม่ทยอยเข้ามาดำเนินการค้าส่งและค้าปลีก เช่น Q8 บี.พี. เจ็ท ตลอดถึงผู้ค้าท้องถิ่นอีกหลายเจ้า และยังเป็นยุคของการใช้พลังงานก๊าซจากท่อก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมายังโรงกลั่นระยอง
     
       ยุคนี้เองที่เป็น “จุดเปลี่ยน” ครั้งสำคัญของ ปตท. !
     
       เป็นการเปลี่ยนอันเกิดจากการเปลี่ยนวิสัยทัศน์ว่าด้วยการพลังงานของประเทศ ที่ต้องการให้ ปตท.กลายเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติ (แนวคิดเดิมของการตั้ง ปตท.เมื่อปี 2522 ก็คือบริษัทน้ำมันแห่งชาติแต่ไม่ชัดเจนเพราะมีแผนและการศึกษาแนวทางปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ทั้งหมดเช่นปี 2534) กลายมาเป็นองค์กรธุรกิจที่หวังผลต่อการแข่งขัน เข็มมุ่งที่ทำให้ ปตท.แข็งแกร่งเติบโตแข่งขันได้กลับขัดแย้งกับแนวคิดอุดหนุนช่วยเหลือประชาชน ละเลยการมองประโยชน์สูงสุดประชาชน
     
       ทองฉัตร หงส์ลดารมภ์ อดีตผู้ว่าการ ปตท.ให้ข้อมูลกับคณะวิจัยประวัติศาสตร์พลังงานไทยของ สนพ. กระทรวงพลังงาน ว่า “ต่อมา รัฐบาลมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้การจัดหาน้ำมันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีเสถียรภาพ รวมทั้ง ให้กิจการกลั่นน้ำมันของประเทศมีประสิทธิภาพสูง เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการจัดหาน้ำมันของประเทศให้อยู่ในระดับต่ำสุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้น จึงได้ดำเนินการปรับปรุงการขอและออกใบอนุญาตผู้ค้าน้ำมันเพื่อให้ผู้ค้าน้ำมันประกอบธุรกิจด้วยความรับผิดชอบมากขึ้น ยกเลิกการควบคุมการนำเข้าน้ำมันเบนซินและน้ำมันก๊าด รวมทั้ง ส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในกิจการกลั่นน้ำมันมากขึ้น ตลอดจน ส่งเสริมให้มีการแข่งขันในกิจการค้าน้ำมันมากขึ้นด้วย เพื่อเป็นการปูทางไปสู่การยกเลิกการควบคุมราคาน้ำมันในประเทศในที่สุด โดยเมื่อกลางปี พ.ศ.2534 รัฐบาลได้ประกาศใช้ระบบราคาน้ำมันลอยตัว ทำให้มีผู้ค้าน้ำมันรายใหม่เข้ามาลงทุนในธุรกิจน้ำมันมากขึ้น ปตท. ได้เข้ามามีบทบาทเป็นผู้คานอำนาจผู้ค้าน้ำมันเอกชนไม่ให้มีการ รวมตัวกันกำหนดราคาน้ำมันเอาเปรียบผู้บริโภค
     
       เมื่อภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมมากขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้ตลาดน้ำมันในประเทศมีการแข่งขันกันมากขึ้นและเป็นไปอย่างกว้างขวาง ทั้งในด้านการสำรวจและพัฒนาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ การขยายและเพิ่มขีดความสามารถในการกลั่น การขยายสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และการเข้าร่วมทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี บทบาทของ ปตท. ในฐานะกลไกของรัฐและการเป็นแกนนำในการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมใหม่ๆ เริ่มมีความจำเป็นน้อยลงตามลำดับ แต่กลับมีความจำเป็นต้องปรับบทบาทให้เป็นไปในเชิงธุรกิจมากขึ้น
     
       เนื่องจาก ปตท. จำเป็นต้องแข่งขันกับบริษัทน้ำมันคู่แข่ง และจะต้องสามารถตัดสินใจลงทุนได้ ในเชิงธุรกิจอย่างแท้จริง ประกอบกับแนวโน้มในหลายๆ ประเทศทั่วโลกได้พัฒนาบริษัทน้ำมันแห่งชาติให้มีบทบาทในเชิงธุรกิจ สถานการณ์ดังกล่าวได้นำมาสู่แนวคิดในการปรับเปลี่ยนบทบาทและโครงสร้างองค์กรของ ปตท. ให้มีบทบาทในเชิงพาณิชย์และมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2534 ให้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้าง ปตท. โดยให้พิจารณาว่าควรจัดโครงสร้างในรูปแบบใดจึงจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด” 
     
       แนวทางแปรรูป ปตท.ชัดเจนเป็นลำดับนับจากนั้นและยังถูกเร่งรัดจากองค์กรโลกบาลในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ดังจะเห็นจากรัฐบาลชวน หลีกภัยออกกฏหมายที่ถูกขนานนามว่า “กฏหมายขายชาติ 11ฉบับ” ตามแรงกดดันของตะวันตกและฉันทามติวอชิงตัน โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ที่บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ใช้อ้างอิงเพื่อคงสถานะรัฐวิสาหกิจและได้ใช้อำนาจมหาชนของรัฐในการดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง กฏหมายดังกล่าวทำให้ ปตท. กลายเป็นบริษัทมหาชนติดปีกเพราะได้อำนาจของรัฐ ได้สิทธิพิเศษมากมายในการแข่งขัน ตลอดถึงสิทธิดำเนินการแบบ “กึ่งผูกขาด”ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และปตท.เองก็ได้ประกาศวิสัยทัศน์องค์กรของตนว่า “เป็นบริษัทพลังงานไทยข้ามชาติชั้นนำ” ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวก็บ่งบอกชัดเจนในตัวของมันเองระดับหนึ่งว่าหลังจากการแปรรูปไปแล้ว ปตท. ยืนอยู่บนฐานคิดปรัชญาใดเป็นสำคัญ
     
       นโยบายพลังงาน-ขุนนางพลังงาน-ทุนพลังงาน

     
       ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา กิจการด้านพลังงานของไทยแบ่งเป็น 2 ขาหลักๆ คือ ด้านไฟฟ้า กับด้านน้ำมันเชื้อเพลิง(ต่อมารวมก๊าซธรรมชาติในยุคหลัง)
     
       ในยุคแรกคือหลังสงครามโลกครั้งที่สองกิจการด้านการไฟฟ้าถือเป็นหัวใจของการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศ เพราะในยุคนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่ทั่วประเทศไม่มีไฟฟ้าใช้ การพัฒนาสำคัญๆ เช่นก่อสร้างเขื่อนยันฮี และเขื่อนใหญ่อีกหลายเขื่อนตามมาล้วนเพื่อเป้าหมายด้านพลังงานไฟฟ้า ก่อนที่ กฟผ.จะถือกำเนิด (2511) กิจการด้านพลังงานทั้งหมดรวมอยู่ที่หน่วยงานเรียกว่า “การพลังงานแห่งชาติ” สังกัดกระทรวงการพัฒนาการแห่งชาติ ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.การพลังงานแห่งชาติ พ.ศ.2496 แต่ก็ดูเหมือนว่าน้ำหนักยังเทให้ไปทางไฟฟ้าซึ่งดูจะมีความจำเป็นและเกี่ยวข้องกับราษฏรส่วนใหญ่ น้ำหนักของงานไฟฟ้ามากกว่างานด้านน้ำมันเชื้อเพลิงที่หนักไปทางนำเข้าสำเร็จรูป บุคลากรในหน่วยงานนี้เป็นต้นทางให้กับ กฟผ.รวมทั้ง ปตท.ในเวลาต่อมา (* วิเศษ จูภิบาล อดีตผู้ว่าการ ปตท. ซึ่งเริ่มงานเป็นลูกหม้อของปตท.มาตั้งแต่ก่อตั้งก็มาจากการพลังงานแห่งชาติ)
     
       กิจการด้านไฟฟ้า กับ น้ำมันเริ่มแยกห่างกันชัดเจนมาขึ้นเรื่อยๆ หลังการตั้ง กฟผ.เมื่อ พ.ศ.2511 มีหน่วยงานจำหน่ายและบริการอย่างการไฟฟ้านครหลวงและส่วนภูมิภาคแยกดำเนินการออกไปขณะที่งานด้านน้ำมันมีรัฐวิสาหกิจคือ ปตท. สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม พ.ศ.2521
     
       มีการปรับปรุง พ.ร.บ.การพลังงานแห่งชาติ ในปี 2522 คณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ ในปี 2522 เมื่อมีการตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงานขึ้นมา
     
       กิจกรรมน้ำมันและปิโตรเลียมมาเกี่ยวโยงกับการผลิตไฟฟ้าอีกครั้งหนึ่งเมื่อประเทศเริ่มขุดก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ ในยุคแรกของการนำก๊าซขึ้นมาใช้ก็คือมุ่งป้อนให้กับ กฟผ.เพื่อเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าเป็นสำคัญ ระบบพลังงานก๊าซธรรมชาติของไทยที่ถูกวางไว้จากยุคนั้นทำให้ปัจจุบันก๊าซธรรมชาติที่ขุดได้จากอ่าวไทยจะถูกส่งไปยัง กฟผ.โดยตรงในสัดส่วนประมาณ 32% และหากรวมผู้ผลิตไฟฟ้ารายอื่น (ทั้งเอกชนและที่แปรรูปไปจาก กฟผ.) IPPs/SPPs รวมกันแล้วจะถูกป้อนเพื่อการผลิตไฟฟ้าถึงประมาณ 72% (ที่มา: คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน) ซึ่ง ปตท.จะคิดค่าจัดส่งก๊าซกับ กฟผ.และโรงไฟฟ้าอื่นๆ ในราคาคนละอัตรากับก๊าซที่จัดส่งไปยังโรงแยกก๊าซ
     
       กิจการโรงผลิตไฟฟ้าเป็นลูกค้ารายใหญ่ของ ปตท.ที่ต้องการให้ป้อนเชื้อเพลิงคือก๊าซธรรมชาติให้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ซึ่งจุดนี้เองที่เป็นหนึ่งในปมถกเถียงว่าด้วยการเอาเปรียบผู้บริโภคมากเกินควรเพราะ ปตท.ได้กำไรจากค่าส่งก๊าซป้อนโรงไฟฟ้าในอัตราแพงกว่าต้นทุนก๊าซเข้าโรงแยก ขณะที่ กฟผ.นำต้นทุนก๊าซดังกล่าวมาคิดเพิ่มกับกฟน/กฟภ.ซึ่งที่สุดคือประชาชนในขั้นสุดท้าย (ข้อถกเถียงหลักคือก๊าซธรรมชาติถือเป็นทรัพยากรส่วนรวมของชาติที่ควรจะมีไว้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมแต่รัฐวิสาหกิจสองหน่วยรวมกันบวกเป็นต้นทุนเพิ่มขึ้นภายใต้ความเห็นชอบจากกลไกควบคุมเจ้าหน้าที่รัฐ ข้อถกเถียงดังกล่าวเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน)
     
       โครงสร้างการกำกับควบคุมและนโยบายการพลังงานของไทยถูกปรับรื้อครั้งใหญ่ในปี 2544 ต่อเนื่อง 2545 คือนอกจากจะมีการแปรรูป ปตท.เป็นบริษัทมหาชน กระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แล้ว ยังมีการปฏิรูประบบราชการโดยการตั้งกระทรวงพลังงานขึ้นมา ยุบรวมหน่วยงานต่างๆ ที่กระจายมาไว้ด้วยกัน เช่น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากยุคสงครามโลกครั้งที่สอง มาเป็นสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เป็นต้น กระทรวงนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.รใบ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ซึ่งเป็นหัวใจในการกำกับอนุญาตสัมปทานขุดเจาะสำรวจก๊าซและน้ำมัน นอกเหนือจากควบคุมกิจกรรมด้านก๊าซธรรมชาติจากต้นธารจนถึงการขายปลีกถึงมือผู้บริโภค อย่างเช่นคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีอำนาจตัดสินเรื่องสัดส่วนการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ก็มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธานและมีสำนักนโยบายและแผนพลังงานหรือ สนพ.เป็นเลขาฯ ซึ่งในทางปฏิบัติกลับไม่ได้แยกขาดจากกิจการน้ำมันยักษ์ใหญ่ ปตท. เลยบุคลากรบางส่วนยังนั่งเป็นกรรมการบอร์ดของกิจการที่ถูกกำกับควบคุม
     
       แม้จะมีการปรับโครงสร้างใหม่กันอย่างไรแต่ ธรรมเนียมของระบบราชการมีบทบาทในรัฐวิสาหกิจในสังกัด ในลักษณะ “บ่อข้าวบ่อน้ำ” ที่เคยเป็นมา เช่น กองทัพอากาศมีบทบาทในการบินไทย กรมการปกครองจะมีบทบาทใน กฟภ.ฯลฯ จึงกลายเป็นว่าข้าราชการสังกัดกระทรวงพลังงานต้องเข้าไปมีบทบาท (และอำนาจวาสนา) ใน ปตท.และบริษัทในเครือทั้งๆ ที่กลไกราชการควรจะวางตัวเองในฐานะ “กำกับและควบคุม” เพื่อปกป้องผลประโยชน์ให้กับประชาชนมากกว่าเพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบการ ความสับสนของเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมีเอกชนภายนอกเข้ามาถือหุ้น 49% ข้าราชการจะมีข้ออ้างว่ายิ่งต้องเข้าไปนั่งเป็นกรรมการเพื่อการกำกับและปกป้องผลประโยชน์ให้รัฐ แต่ขณะดียวกันก็ได้ประโยชน์ค่าตอบแทนจำนวนมากกว่าเงินเดือนที่ได้รับ เกิดเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนและเกิดความแคลงใจว่าที่สุดแล้วข้าราชการจะตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของฝ่ายใดกันแน่ ?
     
       กรณีตัวอย่าง นายณอคุณ สิทธิพงศ์ เคยเป็นคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ช. 3 สมัย ก่อนจะโอนย้ายมาสังกัดกระทรวงพลังงานในยุค น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็น รมว.กระทรวงพลังงาน วงการเมืองรู้กันดีว่าการโอนย้ายครั้งนั้นเพราะความสนิทสนมกับนักการเมืองสายไทยรักไทย ณอคุณ เป็นบิดาของอดีตนางสาวไทยปี 2545 “น้องหน่อย” ปฏิพร สิทธิพงศ์ ซึ่งหลังจากได้รับตำแหน่งเธอยังเคยปรากฏตัวระหว่างพรรคไทยรักไทยหาเสียง หน่อย-ปฏิพร ได้เป็นผู้ประกาศและผู้ดำเนินรายการของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ยุคนิวัฒน์ บุญทรง กุมบังเหียน หลังการรัฐประหารณอคุณยังอยู่กระทรวงพลังงานและพลาดหวังตำแหน่งปลัดกระทรวงรอบแรกเมื่อพ่ายให้กับ พรชัย รุจิประภา ลูกหม้อสภาพัฒน์ฯ แต่ต่อมา พรชัย ทนแรงเสียดทานภายในกระทรวงที่มากผลประโยชน์แห่งนี้ไม่ได้ ขอย้ายตัวเองไปกระทรวงเล็กกว่าอย่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ทำให้ณอคุณขึ้นรับตำแหน่งปลัดกระทรวงในปี 2553
     
       ณอคุณเลยยื่นใบลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ด ปตท. ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ วงในทราบดีว่าเพราะรัฐบาลได้ส่งสัญญาณไม่อยากให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปนั่งในองค์กรที่มีผลประโยชน์ผูกพันจนเกิดครหาได้ แต่ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ณอคุณ ก็ได้รับการเสนอชื่อกลับมาโดยอ้างว่าไม่มีกฏหมายบังคับห้ามไว้
     
       จะเห็นได้ว่า การที่ข้าราชการระดับสูงในกระทรวงที่มีบทบาทหน้าที่กำกับดูแลและต้องรักษาผลประโยชน์ประชาชนไปรับผลประโยชน์ได้ตำแหน่งจากรัฐวิสาหกิจก่อให้เกิดครหาและความแคลงใจว่าด้วยอำนาจตัดสินใจเพื่อรักษาผลประโยชน์ประชาชนหรือของใครแน่นั้น กลับยังไม่มีบรรทัดฐาน หรือมาตรฐานกำหนดที่ชัดเจน เป็นช่องโหว่รูใหญ่ที่เกิดขึ้นในระบบราชการซึ่งแน่นอนว่าช่องโหว่ดังกล่าวย่อมเอื้อให้กับนักการเมืองด้วยเช่นกันหากนักการเมืองกับข้าราชการรวมหัวกัน
     
       จนกระทั่งได้มีการออกพรบ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เพื่อตั้งคณะกรรมการและสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือที่รู้จักกันว่า “เรกูเลเตอร์” เช่นเดียวกับในต่างประเทศ อย่างไรก็ตามดูเหมือนขอบเขตของคณะกรรมการดังกล่าวยังหนักไปด้านไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ยังไม่สามารถก่อให้เกิดความเป็นธรรมดาด้านการแข่งขัน การกำหนดราคาและปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนโดยรวมได้แท้จริง
     
       กิจการปิโตรเลียมและน้ำมันเชื้อเพลิงของไทยเริ่มต้นจากความไม่มี เป็นลูกไล่ของต่างชาติ มีจุดเปลี่ยนครั้งแรกเมื่อมีการตั้ง ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจในฐานะบริษัทน้ำมันแห่งชาติในปี 2522 พร้อมๆ กับเริ่มมีการขุดพบก๊าซและน้ำมันดิบมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอด 20 ปีต่อเนื่องจากนั้น เป้าหมายและทิศทางนโยบายพลังงานที่เคยชัดเจนมาโดยตลอดเริ่มแปรเปลี่ยนและขาดทิศทางนับจากการแปรรูป ปตท.เป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์และการตั้งกระทรวงพลังงานในปี 2545 เป็นทิศทางที่ละเลยผลประโยชน์ของชาติและประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ และดูเหมือนจะมุ่งทำให้ ปตท.กลายเป็นธุรกิจเข้มแข็งทำกำไรสูงสุดจนละเลยหลักธรรมาภิบาลด้วยซ้ำไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น