วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กระชากหน้ากากปตท. พลังงานเพื่อใคร? - ก.ค. 2551

กระชากหน้ากากปตท. พลังงานเพื่อใคร?
กองบรรณาธิการ Positioning Magazine กรกฎาคม 2551 Print
Added on: 21/7/2551

สโลแกนที่ว่า “ปตท. พลังงานไทยเพื่อไทย” อาจต้องเปลี่ยนเป็น “ปตท. พลังงานเพื่อใคร? เมื่อคนไทยกำลังต้องเดือดร้อนจากราคาน้ำมันแพงกันถ้วนหน้า แต่บิ๊กใน ปตท. กลับร่ำรวยกันถ้วนหน้า / ใครคือเจ้าของตัวจริงกันแน่ / ที่มาของสูตรราคาหายนะมาจากไหน ทำไมต้องอิงตลาดสิงคโปร์ / ทักษิณ ชินวัตร - ปตท. - ธุรกิจพลังงาน - เขาพระวิหาร และเกาะกง จึงเป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งหมดนี้...เรามีคำตอบ

“ต้นทุน” ชีวิตของคนไทยพุ่งขึ้นตลอดช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีสาเหตุชัดเจนมาจาก ปัญหา “ราคาน้ำมันแพงกระฉูด” ชนิดหยุดไม่อยู่

แต่ไม่สำคัญเท่ากับว่า ขณะที่ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่เดือดร้อนอย่างหนัก และบริษัทส่วนใหญ่ต่างต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจจากราคาน้ำมันแพง ภาวะเงินเฟ้อ ปตท. ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานที่เคยเป็นความหวังของคนไทย กลับเติบโตสวนวิกฤต ยิ่งคนไทยต้องจ่ายแพงน้ำมันมากขึ้นเท่าไหร่ “ตัวเลขกำไร” ปตท. ยิ่งเพิ่มมากขึ้นทุกไตรมาสในทุกปี

ผู้ใช้น้ำมันเบนซิน 91 สำหรับรถยนต์ เคยจ่ายลิตรละ 12.99 บาท เมื่อ 6 มกราคม 2543 ผ่านมาไม่กี่ปี วันที่ 15 มิถุนายน 2551 ต้องจ่าย 40.99 บาท น้ำมันดีเซลที่เคยจ่าย 11.02 บาท มาวันนี้ต้องจ่าย 41.84 บาท เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า สูงกว่าเบนซินอย่างไม่ไม่น่าจะเป็นไปได้ โดยเฉพาะดีเซล ซึ่งเป็นน้ำมันที่ใช้ในรถปิกอัพสำหรับขนส่ง จึงเดือดร้อนกันถ้วนหน้า กระทบไปทั้งภาคธุรกิจ ขนส่ง อุตสาหกรรม ประชาชนทั่วไป ที่ต้องแบกรับต้นทุนน้ำมันเพิ่มขึ้น จนต้องขึ้นค่าขนส่งและราคาสินค้า ไม่เว้นแม้แต่ “มาม่า”

การผูกขาดธุรกิจพลังงานอย่างครบวงจร ยังทำให้เกิดสิ่งที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในรอบ 10 ปี คือการต่อคิวเพื่อเติม “ก๊าซ LPG” (Liquefied Petroleum Gas) หลังจากรัฐบาลประกาศเตรียมลอยตัวราคาแอลพีจีที่ใช้กับรถยนต์ และราคาก๊าซแอลพีจีในตลาดโลกสูงกว่าในไทย

ภาวะความวุ่นวายในกลุ่มผู้ค้าและลูกค้าของ “LPG” เป็นสัญญาณเตือนสำหรับลูกค้า NGV (Natural Gas for Vehicles) ของ ปตท. ในอนาคต อาจต้องประสบกับเหตุการณ์นี้เช่นกัน เพราะ NGV เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ ปตท. ผูกขาด ทั้งการผลิต และเป็นเจ้าของปั๊มทั้งหมด ที่สำคัญยังโยงใยกับทุนการเมืองในเครือข่ายของ “ทักษิณ”

ในทางตรงกันข้าม ขณะที่ชาวบ้านกำลังเดือดร้อน แต่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ที่กำลังขึ้นปีที่ 30 กลับมีรายได้ กำไร และเงินปันผลสูง จนหุ้น ปตท. ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (ดูตารางประกอบ) ตลอดเกือบ 6 ปี่ผ่านมา มีผู้ที่เคยได้หุ้นไอพีโอ และซื้อขายหุ้น ปตท. ในตลาดหลักทรัพย์ฯ รับกำไรมาแล้วหลายรอบ จนมีการคาดการณ์จากบรรดานักวิเคราะห์ว่าราคาหุ้นเป้าหมายของ ปตท. ในปี 2551 ทะลุ 400 บาทอย่างแน่นอน

ด้านผลประกอบการ ปี 2540-2544 ปตท. มีกำไรปีละประมาณ 22,000 ล้านบาท แต่หลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ 3 ปี ในปี 2547 ปตท. มีรายได้ 680,650.03 ล้านบาท หรือเกือบ 7 แสนล้านบาท กำไรสุทธิ 62,666.47 ล้านบาท สิ้นปี 2550 รายได้เพิ่มขึ้นกว่า 150% อยู่ที่ 1,553,053.06 ล้านบาท หรือกว่า 1.5 ล้านล้านบาท พอๆ กับงบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศ และกำไรเกือบ 1 แสนล้านบาท หรือที่ 97,803.59 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นเพิ่งได้รับปันผลล่าสุดหุ้นละ 11.50 บาท ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ปันผลสูงสุดรวมถึง 32,000 ล้านบาท

ตัวเลขกำไรของบริษัท เป็นสิ่งธรรมดาของธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องทำตัวเลขให้มากที่สุดเพื่อผู้ถือหุ้น

แต่เป็นเรื่องไม่ธรรมดาที่กำไรเหล่านั้นมาจากการคำนวณ เพื่อนำไปสู่ตัวเลขกำไรสูงสุด ทำให้คนทั้งประเทศเดือดร้อน ยิ่งไม่ธรรมดาเมื่อผู้บริหาร ปตท. ร่ำรวยทั้งจากหุ้น เงินเดือน และโบนัสในแต่ละปี โดยเป็นผู้บริหารกลุ่มเดียวที่มีตำแหน่ง หัวโขน ทั้งเป็นผู้กำกับดูแลกิจการ และราคาพลังงานของประเทศ มาเป็นบอร์ดของ ปตท.

ปตท. ยังผูกขาดธุรกิจก๊าซ ทั้ง NGV และ LPG โดยพร้อมทุ่มลงทุนเต็มที่ 5 ปีนับจากนี้ ด้วยงบกว่า 1.7 แสนล้านบาท และยังออกแรงดันเต็มที่กับ “ไบโอดีเซล” และ “เอทานอล” ไม่ว่าจะเป็น E20 และ E85 ที่ ปตท. มีสิทธิผูกขาดรับซื้อจากผู้ผลิตแอลกอฮอล์เพียงรายเดียว โดยมีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ทั้งค่ายซีพี และค่ายแอลกอฮอล์ยักษ์ใหญ่อย่างไทยเบฟเวอเรจ เบียร์ช้าง, ตระกูลภิรมย์ภักดี ร่วมกับบุคคลและธุรกิจในเครือข่ายของอดีตนายกรัฐมนตรี อย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และค่ายน้ำตาลมิตรผล และเทมาเส็ก ทุนจากสิงคโปร์ก็พร้อมโดดเข้ามาตลาดนี้เต็มที่

ความหอมหวานของธุรกิจพลังงานยังเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับสาเหตุที่ไทยต้องเสียดินแดนเขาพระวิหารเพื่อแลกกับเกาะกง ที่เชื่อกันว่าเป็นพลังงานแหล่งใหม่ในเขมร ที่ผู้นำเขมรออกมายอมรับว่าพ.ต.ท.ทักษิณพร้อมเข้าไปลงทุนธุรกิจพลังงานในเขมร

มีการเปิดโปงข้อมูลว่า การซื้อเกาะกงของทักษิณ ทำในนาม “นิติบุคคล” หาใช่ในนามของรัฐ นั่นหมายความว่า นิติบุคคล หรือบริษัทที่ทักษิณจัดตั้งขึ้น จะได้รับการยกเว้นภาษี เนื่องจากเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ รายได้ไม่เข้ารัฐ

เกาะกง ยังได้รับสิทธิ์เป็นเขตปกครองพิเศษ นอกเหนืออธิปไตยของไทย ย่อมหมายถึงว่า นิติบุคคลที่ทักษิณเป็นเจ้าของจะมีอำนาจอย่างเต็มขั้น โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้กติกาของใคร

สิ่งที่ทักษิณมุ่งหวังตลอดเวลา คือ การสร้าง “การเมืองใหม่” ต้องใช้ทุนมหาศาล เป็นการเมืองที่อิงกับทุนนิยม คนมีเงินคือผู้มีอำนาจ รายได้จากธุรกิจพลังงานจะทำให้ความหวังเป็นจริง

นั่นคือ ปริศนาว่า ทำไม ปตท. – ทักษิณ – เกาะกง – เขมร จึงเป็น จิ๊กซอว์ ที่ต่อเชื่อมกันอย่างแยกไม่ออก

เป็นทฤษฎีทำลายล้างที่บ่งบอกว่า แท้ที่จริงแล้ว ปตท. เป็นแหล่งพลังงานเพื่อใคร ?

แม้จะมีคำถามมากมายกับธุรกิจพลังงาน และ “ปตท.” แต่ก็ต้องยอมรับว่า “ปตท.” สามารถสร้างภาพลักษณ์จนเป็นองค์กรที่ดูน่าเชื่อถือในสายตาของคนทั่วไป ได้รับรางวัลมากมายจากสถาบันและสื่อต่างชาติ เช่น นิตยสารฟอร์บส์ จัดอันดับให้ตั้งแต่ปี 2004 -2007 เป็น 1 ใน 500 บริษัทมหาชนขนาดใหญ่ของโลก อับดับดีขึ้นเรื่อยๆ จนปีล่าสุดอยู่ที่ 354 และฟอร์จูนอยู่ในอันดับที่ 207 และรางวัลด้านบริหารจัดการอื่นๆ อีกหลายรางวัล


คำถามสุดท้ายตามมาว่า กระบวนการสร้าง “ปตท.” อย่างที่เห็น มีเจตนาเพียงเพื่อสร้างธุรกิจที่มีกำไร เป็น “พลังไทย เพื่อไทย” เพื่อความแข็งแกร่งของพลังงานในประเทศ หรือ เพื่อใคร

กระชากหน้ากากปตท. พลังงานเพื่อใคร?
โครงสร้างรายได้ ปตท. ปี 2550 : น้ำมันทำยอดกว่า 70%
------------------------------------------------------------------------------------------------
ผลิตภัณฑ์ จำนวนธุรกิจ/บริษัทในเครือ มูลค่า (ล้านบาท) สัดส่วนของรายได้ทั้งหมด (%)
1. น้ำมัน 8 1,116,461.56 71.89
2. ก๊าซ 4 243,403.02 15.67
3. ปิโตรเคมี 5 124,393.92 8.01
4. สาธารณูปโภค 4 5,459.20 0.35
5. รายได้จากการให้บริการ 8 6,088.52 0.39
6. อื่นๆ - 26,166.60 1.69
7. ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้ส่วนเสีย -31,080.23 2.00
8. รวมรายได้ - 1,553,053.05 100.00
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ที่มา : รายงานประจำปี ปตท. 2550

แผนการลงทุน ปตท. ปี 2551-2555 ประมาณ 2.4 แสนล้านบาท เน้นลงทุนก๊าซกว่า 1.7 แสนล้าน
หน่วย : ล้านบาท
ธุรกิจ ปี 2551 ปี 2552 ปี 2553 ปี 2554 ปี 2555 รวม
ก๊าซธรรมชาติ 39,933 54,555 43,510 22,140 13,016 173,154
น้ำมัน 4,118 1,816 1,885 1,533 1,58710,939
บริษัทร่วมทุน
- ก๊าซฯ 15,426 9,355 9,234 3,593 1,026 38,634
- น้ำมัน 3,887 1,437 1,662 1,309 1,3639,658
- ปิโตรเคมีและการกลั่น 1,880 2,609 1,692 - - 6,181
- สำนักงานใหญ่ 1,134 203 60 68 731,538
สำนักงานใหญ่ และอื่นๆ 919 486 345 354 358 2,462
รวม 65,563 71,905 58,390 28,663 16,690241,211


ที่มา : ปตท. แบบ 56-1 ประจำปี 2550

ปตท. มีแผนการลงทุนภายในปี 2551-2555 หรือช่วง 5 ปี มูลค่ารวม 241,211 ล้านบาท โดยมีแผนลงทุนโครงการก๊าซธรรมชาติสูงสุด ทั้งการวางระบบท่อก๊าซ โครงการโรงแยกก๊าซ โดยคาดมีผลตอบแทนการลงทุนไม่ต่ำกว่า 15%

การทุ่มเทเงินกว่า 1.7 แสนล้านบาท เพื่อลงทุนโครงการเกี่ยวกับก๊าซ ทั้งแอลพีจีและเอ็นจีวี เพื่อให้ตอบสนองความต้องการบริโภคที่ต้องเลี่ยงจากการใช้น้ำมันที่มีราคาจำหน่ายสูงกว่า


Timeline ปตท.

ปี 2521 -ก่อตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจรับมือภาวะขาดแคลนน้ำมันทั่วโลก และเน้นให้ ปตท. หาแหล่งปิโตรเลียมในประเทศ

ปี 2526-2530 – สร้างคลังก๊าซแอลพีจี 6 แห่ง

ปี 2536 –เริ่มใช้เอ็นจีวีในรถเมล์

ปี 2544
- 1 ตุลาคม 2544 แปลงสภาพเป็นบริษัท จำกัด (มหาชน) รับโอนอำนาจ สิทธิ และพนักงานทั้งหมด ตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นหลังประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และรัฐบาลมีแผนแปรรูปขายหุ้นรัฐวิสาหกิจ

-6 ธันวาคม 2544 เข้าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีราคาไอพีโอที่ 35 บาท หลังถูกจองหมดภายในไม่ถึง 2 นาที หรือบางคนจับเวลาได้ว่า 77 วินาที 35 บาท เป็นการประเมินต่ำกว่าเป็นจริง เพราะมีการอ้างเรื่องหนี้สินที่ ปตท. มีอยู่เดิมนับแสนล้านบาท โดยหุ้น ปตท. ที่ถูกจองหมดภายในไม่ถึง 2 นาทีนั้น มีรายชื่อญาตินักการเมืองในยุครัฐบาลทักษิณได้หุ้นจำนวนมาก เช่น “ทวีฉัตร จุฬางกูร” หลาน “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในขณะนั้น ได้ 2.2 ล้านหุ้น มูลค่า 77 ล้านบาท

ปี 2546 - เมษายน ปตท. ร่วมทุนกับ กฟผ. และ กฟน. ตั้งบริษัทผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น ให้บริการระบบไฟฟ้าและความเย็นในสนามบินสุวรรณภูมิ

-26 กรกฎาคม 2546 คณะรัฐมนตรี (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) มีมติให้ ปตท. และบริษัทลูกได้รับสิทธิส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ และมีมติไม่ให้นำคำสั่ง ข้อบังคับที่ใช้กับรัฐวิสาหกิจอื่นมาบังคับกับ ปตท. หลังจากนั้น ปตท. มีโครงการวางท่อก๊าซอย่างต่อเนื่อง และทำให้หุ้นของ ปตท. ราคาสูงขึ้น จากก่อนหน้านี้ราคาหุ้น ปตท. มีจุดเปลี่ยนจากการที่รัฐตั้งกองทุนน้ำมัน เพื่อไปชดเชยให้โรงกลั่นที่ ปตท. เป็นเจ้าของ และการมีมติ ครม.ให้ยกเลิกแผนการแยกท่อก๊าซออกจากบัญชีทรัพย์สินของ ปตท. จากที่เคยกำหนดไว้ก่อนแปรรูปว่าให้แยกภายใน 1 ปีหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

ปี 2548 -1 มิถุนายน 2548 ลงนามในการเข้าถือหุ้นในบริษัททีพีไอ และภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นไออาร์พีซี

ปี 2549 -16 มีนาคม 2549 คณะกรรมการ ปตท. มีมติลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท เพื่อเข้าถือหุ้นใหญ่ในบริษัทบางจากปิโตรเลียม

ปี 2550
– 14 ธันวาคม2550 ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้ ปตท. คืนทรัพย์สินส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และสิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ และแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของ ปตท.
-เริ่มใช้เอ็นจีวีกันแพร่หลายมากขึ้น
-เมษายน 2550 เทกโอเวอร์ปั๊มเจ็ท ของกลุ่มบริษัทโคโนโค สหรัฐอเมริกา มูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท


ส่วนแบ่งการตลาดการจำหน่ายน้ำมัน (หน้าปั๊ม) ปี 2550 จากปริมาณรวม 42,016.351 ล้านลิตร
--------------------------------------------------------------------------------
แบรนด์ ปริมาณทุกประเภท (ล้านลิตร) สัดส่วน %
---------------------------------------------------------------------------------
ปตท. 14,277.771 34
เชลล์ 5,001.122 11.9
เอสโซ่ 5,246.883 12.5
เชฟรอน(คาลเท็กซ์) 4,752.680 11.3
บางจาก 3,010.880 7.2
อื่นๆ 9,727.014 23.2
---------------------------------------------------------------------

ที่มา : กรมธุรกิจพลังงาน

ฐานะการเงิน ปตท. (หน่วย : ล้านบาท)
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
รายการ ปี 2547 ปี 2548 ปี 2549 ปี 2550
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สินทรัพย์รวม 487,226.24 649,806.66 751,453.47 892,351.46
หนี้สินรวม 302,311.27 371,373.72 397,131.47 493,699.95
รายได้รวม 680,650.03 960,260.60 1,265,476.93 1,553,053.06
กำไรสุทธิ 62,666.4 85,521.29 95,260.60 97,803.59
กำไรต่อหุ้น (บาท) 22.40 30.57 34.02 34.82
มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแค็ป) 483,923.51 632,177.53 589,034.38 1,059,182.84

---------------------------------------------------------------------------------
ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

หมายเหตุ : ดูตารางเพิ่มเติมใน Photo

วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คอรัปชั่น 30-40 % ข้อมูลเชิงประจักษ์ ก่อนการเลือกตั้ง ว่าโกงสุดขั้ว


สาเหตุที่พรรค ปชป. แพ้อย่างหมดรูป คือ ข้อมูลจากหอการค้าที่ว่า คอรัปชั่น ยุคอภิสิทธิ์ พุ่งปรี๊ดปรอทแตก จนประชาชนเอาไปเทียบเคียงกับยุคทักษิณ ที่ข้อมูงโกงแค่ 25-30 % แต่ยุคอภิสิทธิ์ ที่บ้างก้อว่า ไปถึง 50 % และนายก อภิสิทธิ์เองก้อไม่ได้ใส่ใจแก้ปัญหา แต่ก้อมีหน้า ไปอภิปรายบนเวทีได้อีก ทั้งๆที่ ทุกฝ่ายมองว่า นี่ไง "หัวขบวนโกงกิน"


หอการค้าฯ แฉยุคคอรัปชั่นครองเมือง ทั้งสินบนส่วย-เรียกใต้โต๊ะ 50%

วันที่ 19/05/2554 16:38 (ผ่านมา 77 วัน 22 ชั่วโมง 10 นาที)

หอการค้าฯ แฉยุคคอรัปชั่นครองเมือง ทั้งสินบนส่วย-เรียกใต้โต๊ะ 50%

หอการค้าไทย แฉคอรัปชั่นไทยเข้าสู่ยุคที่เลวร้ายสุดๆ บีบภาคเอกชนต้องจ่ายใต้โต๊ะ 50% ให้ผู้มีอำนาจ แถมยังต้องส่งส่วยเพื่อให้รับงานได้แบบไม่มีปัญหา เตรียมปลุกกระแสคนไทยต่อต้าน เลิกค่านิยมโกงยอมรับได้ พร้อมเปิดตัวภาคี 21 องค์กรไทยหยุดเป็นผู้ให้ผลประโยชน์ 1 มิ.ย.นี้ เพื่อยุติการให้ และจะได้ไม่มีผู้รับ

นายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ทุจริตคอร์รับชั่นในปัจจุบันเลวร้ายมากขึ้น มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับผู้มีอำนาจ เพื่อให้ได้งานหรือสิทธิประโยชน์มากถึง 50% เพิ่มจากอดีตในช่วง 20-30 ปีที่มีการจ่ายเงินโต้โต๊ะ 2-3% และเพิ่มมาเป็น 30-40% ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

กรณีดังกล่าว ถือเป็นการปล้นชาติ เพราะงบประมาณทุกบาทที่ควรนำมาพัฒนาประเทศได้ถูกโกงกินจากโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) และที่น่าตกใจคือค่านิยมของคนไทยปัจจุบันกลับมองการโกงกินเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ อันตรายมากกว่าการคอร์รัปชั่น ถ้าปล่อยไว้อนาคตประเทศไทยคงล่มสลาย

ทั้งนี้ องค์กรภาคเอกชนถือว่าการคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาระดับชาติ จึงได้ร่วมมือกัน 21 องค์กรไทย เช่น สภาหอการค้าไทย หอการค้าต่างประเทศ สมาคมธนาคาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียน สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เป็นภาคีเครือข่ายการป้องกันและต่อต้านคอร์รัปชั้น โดยในวันที่ 1 มิถุยายน 2554 นี้ จะมีการประกาศจุดยืนของภาคเอกชนทุกคนที่อยู่ในภาคียุติการให้ เพราะการคอร์รัปชั่นมีทั้งผู้ให้และผู้รับ

ดังนั้น เมื่อผู้ให้ยุติการให้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้การคอร์รัปชั่นทำได้ยากมากขึ้น และอยากให้คนไทยทุกคนร่วมมือในการสอดส่อง เพราะหากจะหวังพึ่งกฎหมายและองค์กร เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อาจไม่ทันการณ์ เห็นได้จากการคอร์รัปชั่นที่รุนแรงเพิ่มขึ้นทุกวันนี้

พร้อมกันนี้ ยังเป็นจังหวะดีเพราะจะมีการจัดสัมมนา “ต่อต้านคอร์รัปชั่น จุดเปลี่ยนประเทศไทย” ในวันที่ 1 มิถุยายน 2554 ซึ่งอยู่ในช่วงขั้นตอนของการเลือกตั้ง ที่จะได้รัฐบาลใหม่ในอีกไม่นานนี้ ถือเป็นการเตือนนักการเมืองที่จะมาเป็นผู้แทนประชาชนให้หยุดพฤติกรรมดังกล่าว เพราะเอกชนจะเป็นผู้หยุดให้เช่นกัน

นักธุรกิจก้มหัวรับคอรัปชั่นไทยจ่ายเพิ่ม30-40%
ธุรกิจ-การค้า
Saovanee_Thairungrojม.หอการค้าไทยเผยดัชนีสถานการณ์คอรัปชั่นไทยเลวร้ายลงกว่าเดิม คาดใน 5 ปีไม่เร่งแก้ปัญหาอาจต้องจ่ายเพิ่มถึง 5 แสนล้านบาทใน 5 ปี จากปัจจุบัน 3 แสนล้านบาท แต่ประชาชนยังแอบหวังสถานการณ์จะดีขึ้น

นางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีสถานการณ์คอรัปชั่นไทย ที่สำรวจจากกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่มคือ ประชาขน ข้าราชการ และนักธุรกิจ ระหว่างเดือนพ.ค.-มิ.ย.54 ว่า ได้ สำรวจใน 3 ประเด็นคือ 1.ความรุนแรงของปัญหาทุจริตคอรัปชั่น 2.ทัศนะคติและจิตสำนึกของคนในสังคมต่อการทุจริตคอรัปชั่น และ3.ปะสิทธิภาพการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งมีทั้งการป้องกัน การปราบปราม และการปลูกจิตสำนึก

สำหรับดัชนีสถานการณ์คอรัปชั่นในเดือนมิ.ย.54 อยู่ที่ 3.4 คะแนน จากเต็ม 10 คะแนน (0 คะแนนหมายถึงการคอรัปชั่นรุนแรงมากที่สุด และ 10 คะแนน หมายถึงไม่มีการคอรัปชั่นเลย) ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนเมื่อเดือนธ.ค.53 ที่อยู่ที่ 3.5 คะแนน ส่วน ดัชนีสถานการณ์คอรัปชั่นไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 3.1 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 2.9 คะแนน และดัชนีแนวโน้มสถานการณ์คอรัปชั่นไทยอยู่ที่ 3.8 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 3.7 คะแนน

ส่วนเมื่อแยกดัชนีสถานการณ์คอรัปชั่นรวมเดือนมิ.ย.ออกเป็น 4 หมวด พบว่า ดัชนีปัญหาและความรุนแรงของการคอรัปชั่นเดือนมิ.ย.54 อยู่ที่ 2.9 คะแนน ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนที่อยู่ที่ 3.3 ดัชนีการป้องกันการคอรัปชั่นอยู่ที่ 4.1 ลดลงจาก 4.3 ดัชนีการปราบปรามการคอรัปชั่นอยู่ที่ 3.7 เท่ากับครั้งก่อน และดัชนีการสร้างจริยธรรมและจิตสำนึกอยู่ที่ 3.1 เพิ่มขึ้นจาก 2.9

ทั้งนี้ ในแต่ละดัชนีนั้น กลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มนักธุรกิจจะให้คะแนนต่ำที่สุด ส่วนกลุ่มข้าราชการจะให้คะแนนสูงสุด และกลุ่มประชาชนจะให้คะแนนระดับปานกลาง โดยในดัชนีสถานการณ์คอรัปชั่นรวมในเดือนมิ.ย.ที่ 3.4 คะแนนนั้น กลุ่มนักธุรกิจให้คะแนนต่ำสุดที่ 3.1 เพราะเห็นว่าสถานการณ์คอรัปชั่นไทยรุนแรงมากขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อน ขณะที่ข้าราชการให้คะแนนสูงสุดที่ 3.9 เพราะเป็นฝ่ายที่เกี่ยวข้องการคอรัปชั่น และยังรักษาภาพพจน์ของตนเอง ส่วนประชาชนให้คะแนน 3.3

ขณะที่ดัชนีปัญหาและความรุนแรงนั้น นักธุรกิจให้คะแนน 2.4 ข้าราชการ 3.6 ประชาชน 2.9 ดัชนีการป้องกันคอรัปชั่น นักธุรกิจให้คะแนน 3.7 ข้าราชการ 4.6 ประชาชน 4.1 ดัชนีการปราบปราม นักธุรกิจให้คะแนน 3.5 ข้าราชการ 4.2 ประชาชน 3.4 และดัชนีการสร้างจริยธรรมและจิตสำนึก นักธุรกิจให้ 3.0 ข้าราชการ 3.4 และประชาชน 2.9

นางเสาวนีย์ กล่าวต่อถึงประสิทธิภาพการทำงานในการต่อต้านการคอรัปชั่นของรัฐบาลชุด ปัจจุบันว่า ผู้ตอบแบบสอบถามตอบทั้งมี และไม่มีประสิทธิภาพในสัดส่วนใกล้เคียงกัน ส่วนประสิทธิภาพของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่วนใหญ่จะตอบมีประสิทธิภาพ และผู้ตอบให้คะแนนความเชื่อในการทำงานของป.ป.ช. และองค์กรอิสระในการปราบคอรัปชั่น ที่ 5.77 รวมถึงให้คะแนนความเชื่อมั่นในการทำงานของภาคเอกชนในการต่อต้านคอรัปชั่น ที่ 5.67 คะแนน อย่างไรก็ตาม ความสามรถที่จะทนทานต่อการทุจริตคอรัปชั่นของคนไทยอยู่ที่ 3.11 คะแนน จากเต็ม 10 คะแนน (0 หมายถึงเกลียดการทุจริตคอรัปชั่น และ 10 หมายถึงสามารถทนได้)

ด้าน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากตัวเลขสถานการณ์คอรัปชั่น แสดงให้เห็นว่า ผู้ตอบแบบสอบถามยังเห็นว่า สถานการณ์ความรุนแรงของคอรัปชั่นมีมากขึ้นกว่าการสำรวจครั้งก่อนมาก แต่ มีแนวโน้มลดลงในอนาคต เพราะภาคเอกชนรวมตัวกันเป็นภาคีเครือข่ายต่อต้านการคอรัปชั่น และมีกิจกรรมต่างๆ ที่ดำเนินการเพื่อต่อต้านการคอรัปชั่นมากขึ้น ขณะเดียวกัน ประชาชนตระหนักรู้ถึงความรุนแรงของการคอรัปชั่น และต้องการแก้ปัญหา จึงทำให้หวังว่า จะมีการแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้นได้ในอนาคต

การสำรวจครั้งก่อน นักธุรกิจตอบว่าต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะ เพื่อแลกกับการให้ได้รับงานมากถึง 25-30% ของวงเงินงบประมาณ หรือ 200,000-300,000 ล้านบาท และครั้งนี้มีการตอบเพิ่มขึ้นเป็น 30-40% แต่เป็นส่วนน้อย ภาพรวมจึงยังมีความเสียหายอยู่ที่ 200,000-300,000 ล้านบาทเท่าเดิม แต่คาดว่า วงเงินที่ต้องจ่ายจะเพิ่มขึ้นเป็น 300,000-400,000 หรืออาจจะถึง 500,000 ล้านบาทได้ภายใน 5 ปีหากไม่มีการแก้ปัญหา" นายธนวรรธน์กล่าว

อย่าง ไรก็ตาม ยอมรับว่า ต้องใช้เวลานานในการแก้ปัญหา เพราะคนในสังคมยังเห็นว่า การที่รัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น แต่มีผลงานและทำประโยชน์ให้สังคมเป็นเรื่องที่รับได้ รวมถึงการให้สินน้ำใจ เงินพิเศษเล็กๆ น้อยๆ แก่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นเรื่องไม่เสียหาย

ด้าน นายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านการคอรัปชั่น กล่าวว่า ต้องการให้ทุกภาคส่วนช่วยกันต่อต้านการคอรัปชั่น ที่สถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น แม้จะใช้เวลานานในการแก้ปัญหา แต่ต้องมีการเริ่มต้น ส่วนพรรคการเมืองที่รับการต่อต้านคอรัปชั่นไปเป็นนโยบายในการหาเสียงนั้น ถือเป็นเรื่องดี แต่เมื่อเป็นรัฐบาลแล้วต้องนำสิ่งที่หาเสียงไว้ไปปฏิบัติให้ได้ ซึ่งภาคีเครือข่ายต่อต้านการคอรัปชั่นจะติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด หากเห็นว่าไม่มีการทำจริง ก็ถือว่าไม่ทำตามคำพูด และยอมรับไม่ได้