วันอังคารที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2557

“รสนา” แฉเล่ห์เขมือบพลังงานไทย กำลังโรดแมปเข้าสู่โหมดถ่ายโอนเป็นของเอกชน 100%


“รสนา” ส่งสัญญาณอันตราย โรดแมปผูกขาดทรัพยากรปิโตรเลียมกำลังเบ็ดเสร็จ ชี้ทุกอย่างเชื่อมโยง ปตท. แยกท่อก๊าซตั้งบริษัทใหม่ให้เป็นของเอกชน 100% และกำลังเร่งเร้าให้เปิดสัมปทานรอบใหม่ ขณะที่บิ๊ก ก.พลัง เล็งสมนาคุณแก้กฎหมายต่ออายุบ่อน้ำมัน 2 แหล่งใหญ่ให้กอบโกยต่อ 
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์1 ตุลาคม 2557 05:36 น.
      
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (1 ต.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว รสนา โตสิตระกูล หัวข้อ “โรดแมปการปฏิรูปพลังงานของกลุ่มทุนคือการถ่ายโอนโครงข่ายท่อส่งก๊าซและทรัพยากรปิโตรเลียมให้เป็นของเอกชน 100%” ตามข้อความดังนี้..
      
       “การมีน้ำมันในประเทศมากหรือน้อยไม่เกี่ยวกับ “ระบบ” ที่รัฐจะนำมาใช้ในการให้สิทธิสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมแก่เอกชน ว่าควรเป็น “ระบบสัมปทาน” หรือ “ระบบแบ่งปันผลผลิต” แต่เวลานี้การพูดว่าประเทศไทยมีปริมาณปิโตรเลียมมาก เกือบจะกลายเป็น “อาชญากรรม” ร้ายแรง ชนิดที่เอามาดิสเครดิตว่าใครพูดคือพวกไสยศาสตร์ จนไม่สมควรรับฟังประเด็นอื่นๆ ทั้งหมด
      
       สิ่งที่ภาครัฐให้ข่าวว่าประเทศไทยมีปิโตรเลียมน้อยมาก จุดมุ่งหมายของคนพูดคือ เพื่อสื่อสารไปสู่ประเด็นว่า “ระบบสัมปทาน” เหมาะสมกับประเทศไทยที่สุดเท่านั้นเอง หรือกล่าวอ้างไปในทำนองว่า การที่เรามีน้อย จึงไม่ควรใช้ “ระบบแบ่งปันผลผลิต” และทำให้สาธารณชนเข้าใจว่าการใช้ “ระบบแบ่งปันผลผลิต” รัฐต้องลงทุน ทำให้มีความเสี่ยง ซึ่งเป็นการจงใจให้ข้อมูลเท็จโดยสิ้นเชิง
      
       ขอให้ดูเอกสารที่กระทรวงพลังงานใช้ประกอบการประชุมครั้งที่ 4 เรื่อง เปิดสัมปทานรอบ 21 ใน 3 ช่องที่วงไว้ 2 ข้อแรกคือ 1) ความเสี่ยงในการสำรวจ 2) การลงทุน กระทรวงพลังงานระบุว่าเป็นภาระของบริษัทน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นระบบสัมปทาน หรือระบบแบ่งปันผลผลิต ส่วนข้อ 3) ระบุไว้ชัดเจนว่ากรรมสิทธิ์ปิโตรเลียม ในระบบสัมปทานเป็นของผู้รับสัมปทาน ส่วนในระบบแบ่งปันผลผลิต ปิโตรเลียมเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ นี่เป็นข้อมูลของกระทรวงพลังงานเอง แต่เวลาพูดด้วยวาจาจะพูดอีกอย่าง
       



       

      
       การรีบร้อนจะเปิดสัมปทานรอบ 21 โดยไม่รอสภาปฏิรูปนั้น ทราบมาว่าจะผนวกเอาสัมปทานเก่าคือแหล่งบงกช กับแหล่งอาทิตย์ ที่จะหมดสัมปทานในปี 2565-2566 เอาไว้ในการเปิดสัมปทานรอบ 21 ด้วย ซึ่งตามกฎหมายแล้ว สัมปทาน 2 แหล่งนั้นเมื่อหมดอายุลง ตามกฎหมายจะต่อสัมปทานอีกไม่ได้ ต้องตกเป็นของรัฐ แม้แต่นักวิชาการในกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ก็ยังเสนอว่า รัฐควรใช้ระะบบจ้างผลิต เพราะประโยชน์จะตกเป็นของรัฐเต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากเป็นแหล่งที่ไม่มีความเสี่ยงแล้ว แต่ในระดับผู้บริหารของ ก.พลังงาน กลับคิดจะแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สัมปทาน 2 แหล่งนี้แก่เอกชนเจ้าเดิมต่อไปอีก ซึ่งเป็นการไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเลย
      
       การอ้างว่าถ้าไม่รีบเปิดสัมปทานรอบ 21 ก๊าซจะหมดใน 8 ปี ค่าไฟจะแพงขึ้น และประเทศจะขาดรายได้ปีละ 2 แสนล้านบาท (ซึ่งหมายถึงรายได้จากค่าภาคหลวง และภาษีเงินได้จากสัมปทานที่จะหมดอายุในปี 2565-2566) ทั้งที่ถ้ารัฐจ้างผลิตในแหล่งที่สัมปทานหมดอายุแล้ว แต่ยังมีปิโตรเลียมเหลืออยู่ ผลประโยชน์จะเป็นของรัฐทั้งหมด เชื่อว่ารัฐจะได้รายได้มากกว่าปีละ 2 แสนล้านบาท เพราะแต่ละปีมูลค่าปิโตรเลียมที่ได้ปีละ 4-5 แสนล้านบาทนั้น รัฐได้ส่วนแบ่งเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น
      
       ดังตัวอย่างส่วนแบ่งรายได้จากปิโตรเลียมในปี 2554 มูลค่าปิโตรเลียมจากแผ่นดินไทย มีมูลค่า 421,627 ล้านบาท รัฐได้ค่าภาคหลวงและภาษี 136,808 ล้านบาท ส่วนเอกชนที่รับสัมปทานได้รับค่าใช้จ่ายในการลงทุนคืน 144,878 ล้านบาท และได้ส่วนแบ่งกำไรไปอีก 139,941 ล้านบาท เท่ากับเอกชนที่ได้รับสัมปทานในประเทศไทย ได้กำไรจากเงินที่ลงทุนใน 1 ปี ถึง 97%
      
       มูลค่าปิโตรเลียมในปี 2555 เพิ่มเป็น 524,858 ล้านบาท รัฐได้ค่าภาคหลวง, ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษและภาษี 177,645 ล้านบาท ส่วนเอกชนลงทุนในปีนั้น 159,870 ล้านบาท และได้รับคืนบวกกำไรอีก 187,343 ล้านบาท เท่ากับเอกชนได้รับกำไรจากการลงทุนใน 1 ปี ถึง 117.2% สูงกว่าปี 2554 ส่วนรัฐได้ผลตอบแทนต่อมูลค่าทรัพยากรเพียง 33.85% เท่านั้น
      
       ทางภาคประชาชนขอให้มีการเปลี่ยนระบบการให้สิทธิเอกชนในการสำรวจ ขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียมจาก “ระบบสัมปทาน” เป็น “ระบบแบ่งปันผลผลิต” หรือ “จ้างผลิต” ในแหล่งที่หมดสัมปทานและไม่มีความเสี่ยงแล้ว เพราะระบบแบ่งปันผลผลิต ปิโตรเลียมเป็นกรรมสิทธิของรัฐ เหมือนเจ้าของสวนยาง ให้คนมารับจ้างกรีดยาง น้ำยางทั้งหมดที่กรีดได้ ต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของก่อน และเจ้าของสวนยางเป็นคนแบ่งให้ตามข้อตกลง ไม่ใช่ยกน้ำยางให้คนกรีดยาง แล้วให้คนกรีดยางจ่ายส่วนแบ่งให้เจ้าของสวน ฉันใดก็ฉันนั้น กรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมจะเป็นของรัฐจะเป็นความมั่นคงทางพลังงานของประเทศมากกว่า
      
       แต่กระทรวงพลังงานไม่ยอม การยืนหยัดจะเปิดสัมปทานรอบ 21 ให้ได้โดยไม่แก้ไขกฎหมายเพื่อเปลี่ยนมาใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต และการจ้างผลิตเสียก่อน แต่กลับจะไปแก้กฎหมายต่ออายุสัมปทานให้อีก จึงเป็นการไม่รักษาผลประโยชน์ของชาติและประชาชน
      
       การเปิดสัมปทานรอบ 21 เป็นการเชื่อมโรดแมปของเอกชน ที่ต้องการถ่ายโอนทั้งระบบท่อส่งก๊าซที่กำลังจะแยกไปตั้งบริษัทใหม่ให้เป็นของเอกชน 100% และเมื่อยืนหยัดใช้ระบบสัมปทานต่อไป ก็คือยืนหยัดให้ทรัพยากรปิโตรเลียมในประเทศ ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนผู้รับสัมปทานต่อไป เมื่อทั้งระบบท่อส่งก๊าซ และทรัพยากรปิโตรเลียมที่เป็นกิจการต้นน้ำตกเป็นของเอกชนโดยสมบูรณ์ ในสภาพที่โครงข่ายท่อส่งก๊าซมีสภาพผูกขาดตามธรรมชาติ เอกชนก็จะผูกขาดทรัพยากรปิโตรเลียมได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ต่อไปประชาชนต้องซื้อทรัพยากรในบ้านของตนเองในราคาตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นราคาก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้า ก๊าซ LPG, ก๊าซ NGV ในราคาที่พูดเสมอว่าต้องสะท้อนต้นทุนตลาดโลก ไม่ว่าจะขายแพงแค่ไหน ประชาชนจะไม่สามารถต่อรองได้อีก ถ้าเป็นธุรกิจของเอกชน 100%
      
       ที่จะหวังพึ่งรัฐบาลมาคุ้มครองให้ประชาชนได้ใช้ราคาพลังงานที่เป็นธรรม คงยากจะหวังได้ เพราะตอนที่รัฐยังถือหุ้น 51%อยู่นี้ ก็ยังกำกับไม่ดีเท่าที่ควรเพื่อให้ราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้มมีราคาที่เป็นธรรมต่อประชาชน ดูได้จากที่รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานคนปัจจุบันประกาศขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี เอ็นจีวี ต้นเดือนตุลาคม 2557 นี้โดยไม่พิจารณาโครงสร้างราคาที่เป็นธรรมต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรเสียก่อน
      
       การประกาศขึ้นราคาดีเซลอีก 2.40 บาทต่อลิตร เพื่อไปใส่กองทุนน้ำมัน ที่ติดลบอยู่ แต่ไม่เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจากปิโตรเคมีให้เท่ากับที่เก็บจากอุตสาหกรรมอื่น ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติของทุกรัฐบาลแม้แต่รัฐบาล คสช. เอง เป็นการเพิ่มกำไรให้ธุรกิจเอกชน แต่ให้ประชาชนแบกรับภาระแอลพีจีราคาตลาดโลกแทนธุรกิจปิโตรเคมี และธุรกิจปิโตรเคมีไม่ต้องจ่ายภาษีใดๆ ทั้งที่เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างขยะพลาสติกจำนวนมากซึ่เป็นภาระทางงบประมาณของประเทศในการกำจัด อีกทั้งบริษัทปิโตรเคมีของ ปตท. ยังได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ 100% เป็นเวลา 8 ปี และลดภาษีเงินได้เหลือ 50% อีก 5 ปี หลังจากนั้น การดำเนินนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาล คสช. ในขณะนี้ก็ไม่ต่างจากรัฐบาลที่ผ่านๆมา ที่มักจะอุ้มคนรวย แต่ทิ้งภาระไว้บนหลังของคนจน
      
       ถ้าธุรกิจพลังงานเป็นของเอกชน 100% ก็ลองคิดดูก็แล้วกันว่าใครจะปกป้องประชาชนได้
      
       ที่อ้างว่าแหล่งปิโตรเลียมของไทยเป็นกะเปาะเล็ก ต้นทุนสูง ขุดเจาะยาก ลองดูกำไรจากธุรกิจต้นน้ำของ ปตท. ดูก็ได้ว่าเท็จจริงเป็นอย่างไร กิจการสำรวจ ผลิตปิโตรเลียมของ บมจ.ปตท. ในปี 2556 มีสัดส่วนรายได้เพียง 7% ของรายได้รวม แต่ทำกำไรให้ บมจ.ปตท. ในสัดส่วน 74% ของกำไรทั้งหมดของ ปตท. ธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีสัดส่วนรายได้ 17% แต่ทำกำไรในสัดส่วน 21% รวมแล้วกำไรจากธุรกิจสำรวจผลิตปิโตรเลียม และธุรกิจก๊าซ ถือได้ว่าเป็นกำไรเนื้อๆ ของ บมจ.ปตท กำไรจาก 2 กิจการนี้ รวมเป็นกำไรถึง 95% ของกำไรทั้งหมดของ บมจ.ปตท. ส่วนรายได้จากการค้าระหว่างประเทศมียอดรวมถึง 53% มากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมดของ บมจ.ปตท. ในปี 2556 แต่แทบไม่มีกำไรเลยเหมือนตำน้ำพริกละะลายแม่น้ำให้ต่างประเทศ (แต่กำไรก้อนโตล้วนได้จากภายในประเทศ) ในขณะที่การลงทุนในกิจการสำรวจและผลิต ลงทุนต่ำแต่ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ และกำไรส่วนใหญ่ก็มาจากการลงทุนอยู่ในประเทศไทยนี่เอง


      
       

      
       ดิฉันเห็นว่าโรดแมปของกลุ่มทุนพลังงาน และข้าราชการในกระทรวงพลังงาน คือ มุ่งไปสู่การถ่ายโอนทั้งเครื่องมือคือระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรปิโตรเลียมไปเป็นของเอกชน 100% เริ่มด้วยการแยกท่อก๊าซมาตั้งบริษัทใหม่ให้เป็นของเอกชน 100% และยืนหยัดจะต้องเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ให้ได้โดยผนวกพื้นที่สัมปทาน 2 แหล่งใหญ่ที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานไปในการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ด้วย
      
       ดังนั้น เรื่องดิสเครดิตประชาชนด้วยการชวนทะเลาะเรื่องปริมาณมากน้อยของปิโตรเลียมในประเทศไทย อาจเป็นการเบี่ยงเบนจุดสนใจ จากการที่กลุ่มทุนกำลังจะเขมือบผลประโยชน์ใหญ่ของประชาชนกระมัง”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น