วันจันทร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ผูกโบดำสัมปทานรอบที่ 21 - วิวัฒน์ชัย อัตถากร

อังคารที่ 28 ตุลาคม 2557 00:00:55 น.
วิวัฒน์ชัย อัตถากร
http://www.ryt9.com/s/tpd/2016379





พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะนายกรัฐมนตรี ผู้นำรัฐบาล
ชั่วคราว ได้กล่าวยืนยันหลายครั้งหลายคราหลายโอกาส ว่าจะบริหารประเทศด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต  ตามหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยยึดเอาประโยชน์ประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก ปราศจากการทุจริต คอร์รัปชัน ฉ้อราษฎร์บังหลวง ผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะของประเทศ ประชาชนไทยที่เบื่อหน่ายความขัดแย้งและการทุจริตคอร์รัปชันในทุกวงการ ต่างมีความหวังว่าจะมีการยกเครื่องประเทศไทยในนาม "ปฏิรูปประเทศไทย" อย่างจริงจังเสียทีการปฏิรูปพลังงานเป็น 1 ในการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ตามที่ผู้นำรัฐบาลกำหนดไว้ นโยบายพลังงานของไทยที่ดำเนินมากว่า 40 ปี จนกระทั่งปัจจุบัน ยังไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมต่อประเทศชาติและประชาชนไทยผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรตัวจริง แต่กลับสร้างความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชนในสังคมไทย เพราะการจัดสรรทรัพยากรไม่ได้ให้ประโยชน์สูงสุดเพื่อประชาชน แต่ประโยชน์กลับไปตกอยู่กับกลุ่มทุนพลังงานและเครือข่ายเป็นสำคัญ สามารถครอบครองและผูกขาดพลังงานจนประเทศชาติและประชาชนสูญเสียอธิปไตยด้านพลังงาน ไม่มีกรรมสิทธิ์ในการจัดการปัญหาพลังงานใดๆ ดังนั้น การ "ปฏิรูป" พลังงานจึงต้องวางแนวทางกำหนดทิศทางนโยบายพลังงานและกติกาที่สร้างสรรค์ต่อการแก้ไขปัญหาพลังงานชาติให้ถูกต้องและเป็นธรรม นำอธิปไตยด้านพลังงานของชาติจากกลุ่มทุนพลังงานคืนสู่รัฐและประชาชน

ในการดำเนินการปฏิรูปพลังงาน รัฐบาลได้มีคำสั่งให้สรรหาสมาชิก สปช. (สภาปฏิรูปแห่งชาติ) เพื่อแต่งตั้งให้ไปปฏิบัติหน้าที่แนะนำและรวบรวมข้อมูลหลากหลายเพื่อเป็นประโยชน์ในการปฏิรูปพลังงาน เป็นที่น่าสังเกตว่าทั้งการแต่งตั้งกรรมการสรรหา สปช. ด้านพลังงาน และผู้สมัครที่ผ่านการสรรหาได้รับการแต่งตั้งเป็น สปช. ด้านพลังงานจำนวนมาก เป็นบุคคลที่อยู่ในแวดวงหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวพันกับกระทรวงพลังงานและ ปตท. ทั้งอดีตและปัจจุบัน ตัวแทนภาคประชาชนมีน้อยมาก


x

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประชาชนตื่นตัวเรื่องพลังงานมากขึ้นกว่าอดีตมาก ทำให้เห็นว่าพลังงานไม่ใช่เรื่องไกลตัวจากชีวิตประจำวันของประชาชนอีกแล้ว แต่การเรียกร้องอธิปไตยพลังงานและการจัดการพลังงานให้ถูกต้องและเป็นธรรม ถูกทำให้เบี่ยงเบนและมองแบบมักง่ายว่าเป็นการเรียกร้องคัดค้านเพื่อให้น้ำมันราคาถูกลง ภาคประชาชนพยายามตะโกนบอกให้ภาครัฐตระหนักถึงแนวทางส่งเสริมธุรกิจพลังงานเอกชน และการดำเนินนโยบายพลังงานของรัฐมีผลกระทบเสียหายระยะยาวต่อทรัพยากรธรรมชาติ สภาพแวดล้อม และวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ยิ่งไปกว่านั้นคือ อธิปไตยด้านพลังงานของชาติ ภาคประชาชนพยายามให้ข้อมูลเกี่ยวกับพลังงานในหลายด้าน  หลายมิติ ให้รอบด้าน เพื่อเป็นประโยชน์ในการเรียกร้องให้เปลี่ยน "ระบบสัมปทาน" ที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนพลังงานมากกว่าการรักษาประโยชน์ชาติและประชาชนมาเป็น "ระบบแบ่งปันผลผลิต" จะดีกว่า มีการตั้งคำถามถึงข้อดี-ข้อเสียของทั้ง 2 ระบบนี้ แต่ภาครัฐก็ไม่เคยตอบคำถามอธิบายให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ชัด อ้างลอยๆ แต่เพียงว่า สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้เคยศึกษามาอย่างรอบด้านแล้ว ปรากฏว่าระบบสัมปทานเป็นระบบดีเหมาะสำหรับประเทศไทยแล้ว ก็น่าจะเอาผลงานวิจัยมาตีแผ่ให้ภาคประชาชน นักวิชาการและสื่อมวลชนได้อ่านศึกษากันบ้าง อย่างไรก็ดี การอ้างงานวิจัยของหน่วยงานในเครือข่ายพลังงานด้วยกันเองมาสนับสนุนระบบสัมปทานว่าเหมาะกับสังคมไทย จะเป็นที่ยอมรับได้ในมาตรฐานวิชาการสากลหรือไม่ ดูเหมือนภาครัฐมีสูตรสำเร็จในการตอบคำถามเกี่ยวกับพลังงานและการให้สัมปทานรอบที่ 21 วนเวียนอยู่แค่พลังงานในมิติการบริหารจัดการแต่เพียงมิติเดียว ในขณะที่คำถามของภาคประชาชนที่มองพลังงานปิโตรเลียมในหลากหลายมิติกว่าบิ๊กข้าราชการพลังงานและผู้เชี่ยวชาญจึงไม่สามารถชี้แจงให้ชัดเจน ไม่สามารถอธิบายแก้ต่างข้อกล่าวหาของภาคประชาชนอย่างมีเหตุผลได้ มองพลังงานเป็นธุรกิจ จึงพูดวนเวียนอยู่แค่ตัวเลข และขอเพิ่มส่วนแบ่งเข้ารัฐเป็นเท่านั้นเท่านี้เปอร์เซ็นต์ ปัญหาพลังงานในสายตาภาครัฐมีอยู่แค่นี้จริงๆ




ภาคประชาชนและภาครัฐถกเถียงแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องเดียวกันคือ "พลังงาน" แต่มองพลังงานเป็นคนละกระบวนทัศน์ คนละกรอบอ้างอิง หากจะมองอย่างเข้าใจกันได้ต้องเปิดใจให้กว้างหักล้างกันด้วยเหตุผลจึงจะมีข้อยุติ พลังงานเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อนเพราะมีผลประโยชน์เป็นล้านล้านบาท จะทำให้พลังงานเป็นเรื่องที่สามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยากนัก หากเอาประโยชน์ชาติและประชาชนเป็นหลักจริงๆ ไม่ใช่ประโยชน์บริษัทพลังงานเป็นใหญ่
ทำไมการเดินเครื่องอย่างรีบเร่งดันทุรังเปิดสัมปทานพลังงานรอบที่ 21 โดยไม่ฟังคำสั่งผู้นำรัฐบาลให้  สปช.ปฏิบัติหน้าที่ก่อน ไม่แยแสกระแสคัดค้านของประชาชน และไม่มีการให้ข้อมูลที่ครบถ้วนแก่ประชาชน   การคัดค้านของบรรดากลุ่มพลังงานต่างๆ จึงเปรียบเสมือนการผูกโบดำสัมปทานพลังงานรอบที่ 21  ว่าไปแล้วเซ็นอนุมัติได้รีบเร่งรวดเร็วรวบรัดพอๆ กับกฎหมายลักหลับของรัฐบาลชุดที่ผ่านมาหรือไม่ เราจึงเห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นดังนี้
20 ตุลาคม 2557 รัฐมนตรีพลังงานเซ็นเงียบแทบไม่เป็นข่าวลงนามอนุมัติเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ครั้งที่ 21
21 ตุลาคม 2557 สถานทูตสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยเพิ่งนำคลิปวิดีโอที่นางคริสตี เคนนีย์ เอกอัครราชทูตอเมริกันประจำประเทศไทยไปเยือนแท่นผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของบริษัทเชฟรอนที่ฐานผลิตปลาทอง ห่างจากชายฝั่งทะเลจังหวัดนครศรีธรรมราชเพียง 200 เมตร เมื่อ 15 ตุลาคม 2557 มาเปิดเผย นับเป็นครั้งแรกที่คนระดับเอกอัครราชทูตซึ่งหมายถึงตัวแทนรัฐบาลสหรัฐอเมริกาไปเหยียบแท่นปิโตรเลียม จะเป็นการแสดงสัญลักษณ์ตอกย้ำอธิปไตยในปิโตรเลียมเหนือดินแดนไทยหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็มีผลทางการเมือง ถือเป็นการทำพีอาร์เสียเองให้สอดคล้องกับสถานการณ์
22 ตุลาคม 2557 มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา เป็นประธาน รับทราบเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ครั้งที่ 21
สัมปทานรอบใหม่ครั้งที่ 21 มีรวม 29 แปลง  ประกอบด้วยภาคเหนือ-ภาคกลาง 6 แปลง ภาคอีสาน 17 แปลง อ่าวไทย 6 แปลง นี่แค่รอบใหม่ที่ 21 ยังขนาดนี้ ถ้านับรวมทั้ง 20 รอบที่ผ่านมา บริษัทพลังงานปักธงขุดค้นปิโตรเลียมทั่วแคว้นแดนสยามแล้ว
เป็นที่น่าสังเกตว่า การเซ็นเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ในครั้งนี้ อาจไม่สอดคล้องกับหลักกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ  สังคม วัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social, and Cultural Rights, 1976) ขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2539 และมีผลบังคับใช้กับไทยเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2540 เนื้อหาของกฎหมายปิโตรเลียมของไทยไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศดังกล่าว
สัมปทานครั้งนี้จึงขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ  เพราะออกกฎหมายไม่นำไปสู่ Mutual Benefits หรือผลประโยชน์ร่วมกัน โดยที่การจัดการโภคทรัพย์และทรัพยากรธรรมชาติรวมถึงปิโตรเลียม ประชาชาติจะไม่ถูกลิดรอนวิถีชีวิตของตนไม่ว่ากรณีใดตามมาตรา 1 (2) ดังนั้น ระบบสัมปทานรอบที่ 21 ที่เพิ่งอนุมัติ จึงขาดความชอบธรรมด้านกฎหมาย
ตามหลักขององค์การสหประชาชาติ ประชาชนเป็นเจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียม รัฐมีหน้าที่ต้องบริหารจัดการปิโตรเลียมให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน การที่บริษัทรับสัมปทานปิโตรเลียมสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อพื้นที่การเกษตร และต่อการท่องเที่ยวทั่วประเทศไทย ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ทำมาหาเลี้ยงชีพลำบาก  ถึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนชัดเจน
คำถามพลังงานปิโตรเลียมในมิติสิทธิมนุษยชนนั้นรัฐไทยไม่เคยพูดถึง ไม่เคยตอบคำถามสาธารณะดังกล่าวนี้เลย
ผลการศึกษาวิจัยยืนยันชัดเจนระบบแบ่งปันผลผลิตมีข้อได้เปรียบกว่าและมีความเหมาะสมมากกว่าระบบสัมปทาน
จากผลการศึกษาวิจัย (วิทยานิพนธ์ปริญญาโทนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เรื่อง "การนำระบบแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing) มาใช้ในการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย" โดยสมบัติ     พฤฒิพงศ์ภัค (ตาราง) ได้วิเคราะห์เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างระบบสัมปทานปิโตรเลียมของไทย (Concession) กับระบบแบ่งปันผลผลิตของมาเลเซีย (Production Sharing) พบว่า ข้อได้เปรียบของระบบแบ่งปันผลผลิตเหนือกว่าอย่างเห็นได้ชัด เพราะรัฐมีอำนาจสูงในหลักอำนาจอธิปไตย (Sovereignty) และกรรมสิทธิ์ของรัฐ (State Ownership) ผ่านการควบคุม (Control) การมีส่วนร่วมของรัฐ (State Participation) โดยที่ระบบแบ่งปันผลผลิตมีความยืดหยุ่น (Flexibility) สามารถตกลงเจรจาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมได้ทันเหตุการณ์ การศึกษาพบว่าลักษณะผลประโยชน์ด้านการเงิน (ค่าภาคหลวง, ภาษี, ผลประโยชน์พิเศษ) ซึ่งโดยรวมใกล้เคียงกัน แต่จุดอ่อนของระบบสัมปทานคือไม่มีการแบ่งผลผลิต ส่วนระบบแบ่งปันผลผลิตให้ความสำคัญต้องมีการแบ่งปันผลผลิต ซึ่งตรงนี้คือข้อได้เปรียบของระบบแบ่งปันผลผลิตชัดเจน
จุดอ่อนเชิงโครงสร้างซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดที่ประเทศไทยเสียเปรียบมากที่สุดจากระบบสัมปทานปิโตรเลียมคือ เรื่องการยกกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมของแผ่นดินของประชาชนไทยให้แก่บริษัทผู้รับสัมปทาน โดยเฉพาะเอกชนต่างชาติ เป็นการสูญเสียอธิปไตยทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันบริษัทต่างชาติได้สิทธิสัมปทานปิโตรเลียมมากกว่าครึ่งของพื้นที่สัมปทานทั้งหมดในประเทศไทย เงื่อนไขที่ไทยต้องเสียเปรียบรวมถึงสัญญาข้อผูกมัดในระบบสัมปทานหลายด้านยิ่งแสดงถึงการให้สัมปทานเป็นการสูญเสียอธิปไตยเบ็ดเสร็จ (ตาราง)  ยิ่งบริษัทปิโตรเลียมต่างชาติที่มีมหาอำนาจหนุนหลังเมื่อครอบงำเศรษฐกิจชาติสาขาพลังงาน ยิ่งจะเพิ่มอำนาจการต่อรองทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศของเขาเหนือรัฐไทย โดยระบบสัมปทานจะเพิ่มความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ จะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติทั้งสองด้านคือ ความมั่นคงด้านการทหาร การป้องกันประเทศ และความมั่นคงด้านเศรษฐกิจเรื่องปากท้องชีวิตของประชาชน จุดอ่อนของระบบสัมปทานปิโตรเลียม เปิดทางให้ละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน ทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งทางทะเลและบนบก กระทบต่อการประมง การท่องเที่ยว การทำนา การทำไร่ การทำสวน ทั่วพื้นที่สัมปทานดังที่เกิดขึ้นในภาคใต้และภาคอีสานของไทย
การสูญเสียอธิปไตยทางเศรษฐกิจของชาติไทยจากระบบสัมปทานปิโตรเลียม ได้ตัดขาดคนไทยจากความเป็นเจ้าของทรัพยา กรปิโตรเลียม ขัดต่อหลักสากลขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุประชาชนเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรปิโตรเลียม การตัดขาดคนไทยออกจากความเป็นเจ้าของเท่ากับลิดรอนสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนไทย เมื่อให้สัมปทานบริษัทต่างชาติไปแล้วรัฐไทยไม่สามารถควบคุมการผลิตได้ บริษัทรับสัมปทานอาจบิดเบือนกฎหมายปริมาณการผลิตและปริมาณสำรองที่มีอยู่แท้จริง (จริงๆ) หรือไม่ อาจถูกโกงค่าภาคหลวงหรือไม่ มีการลักลอบขนน้ำมันเถื่อนส่งใส่เรือไปขายหรือไม่ ที่บอกว่าคนของภาคราชการไปตรวจดูมาตรวัดปิโตรเลียม ถามว่าทำไมไม่เอาคนนอก นักวิชาการ สื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชนไปเป็นกรรมการร่วมด้วยเพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ตามหลักธรรมาภิบาลแท้จริง  ระบบสัมปทานปิดกั้นการตรวจสอบ เพราะรัฐไทยได้ยกอธิปไตยในปิโตรเลียมให้เป็นของบริษัทผู้รับสัมปทาน ซึ่งรวมต่างชาติด้วยแล้ว มีข่าวการลักลอบประมูลน้ำมันนอกระบบกลางทะเล เข้าทำธุรกรรมในตลาดโภคภัณฑ์  ทำกำไรรายวัน  หนีภาษี  เป็นความจริงหรือไม่
ดังนั้น รัฐไทยและประชาชนไทยไม่มีอำนาจการต่อรองกับบริษัทต่างชาติ เหมือนถูกมัดมือชกทั้งที่เป็นอาณาเขตแผ่นดินไทยของพวกเราเอง สัมปทานที่ให้สิทธิบริษัทปิโตรเลียมยาวนานเกือบ 40 ปี นั่นคือผูกขาดกินรวบได้ยาวนาน  อาจถลุงดูดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจนเกลี้ยงบ่อ
ยกตัวอย่างที่ไทยเสียเปรียบกรณีพื้นที่สัมปทาน 2 แปลงที่แหล่งสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีพื้นที่นครศรีธรรมราชและกระบี่รวมอยู่ด้วย บริษัทต่างชาติผู้รับสัมปทานสามารถถือครองกรรมสิทธิ์ในแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมในแผ่นดินไทยของคนไทยในพื้นที่ 4 ล้าน 3 แสนไร่ โดยจ่ายค่าธรรมเนียมในการขอยื่นสำรวจเพียงสองหมื่นบาทเท่านั้น  ตรงแหล่งสัมปทานแหล่งสุราษฎร์ธานี L52/50 และ L53/50 บริษัทพลังงานต่างชาติระบุให้ข้อมูลผู้ถือหุ้นในตลาดหุ้นว่า การลงทุนในเมืองไทยได้สัมปทานระยะยาว-ราคาถูก-ความเสี่ยงต่ำ (Long Life-Low CostLow Risk)  ขณะที่บริษัทพลังงานจากออสเตรเลียรายงานการค้นพบปิโตรเลียมแหล่งสุราษฎร์ธานีมีมูลค่าสูงถึง 288,100 ล้านบาท (ศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร หรือ ศวพท. มหาวิทยาลัยรังสิต 2557)
มิหนำซ้ำ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514  ระบุแบบเข้าข้างบริษัทปิโตรเลียมต่างชาติว่า รัฐบาลไทยจะไม่จำกัดการส่งออกปิโตรเลียมออกนอกราชอาณาจักร  ดังนั้น เป็นข้อเสียเปรียบของระบบสัมปทานปิโตรเลียมเป็นอย่างยิ่ง เพราะสวนทางและขัดกันกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงพึ่งตนเอง ที่ต้องให้คนไทยใช้ภายในประเทศ สามารถพึ่งตนเองให้ได้ก่อน ต้องสนองประโยชน์คนไทยก่อนกำไรของบริษัทต่างชาติ
ดังนั้น ตามที่ภาคราชการและพวกเทคโนแครตพลังงานพร่ำพูดเน้นที่ตัวเลขพลังงานจะขาดแคลนแหล่งพลังงานไทยกระเปาะเล็ก อย่าปรับส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น เกรงบริษัทต่างชาติจะไม่ขอสัมปทาน เอาแต่ชูประเด็นสิทธิประโยชน์เงินทองจะได้เพิ่มจากไทยแลนด์ทรีพลัส การชูเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านการเงินนั้นทำให้กลบเกลื่อนเรื่องและเบี่ยงเบนประเด็นหลักสำคัญที่ใหญ่กว่าที่ประเทศไทยต้องเสียเปรียบ นั่นคือการสูญเสียอธิปไตยปิโตรเลียมและผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติมากกว่าหรือไม่ เป็นทัศนะตัดตอนแยกส่วนที่นำมากล่าวอ้างทำให้สังคมอาจเข้าใจผิดทำให้หลงประเด็นได้ ทำให้ละเลยเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องความมั่นคงทางทหาร ซึ่งเป็นเรื่องคอขาดบาดตายของชาติ และความไม่ถูกต้องและความไม่เป็นธรรมพื้นฐานที่มีสาเหตุมาจากพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และระบบสัมปทานปิโตรเลียมที่ต้องยกเลิก
การอนุมัติให้เปิดสัมปทานรอบที่ 21 อาจทำให้การปฏิรูปพลังงานบิดเบี้ยวไปจากการวางทิศทางปฏิรูปพลังงานใหม่ที่ภาคประชาชนมุ่งหวังและฝากความหวังไว้กับรัฐบาลนี้ หากการปฏิรูปพลังงานของรัฐบาลจะต้องเดินไปตามเส้นทางการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 การแก้ไขปัญหาพลังงานของชาติที่ต้นตอจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ขณะนี้ประชาชนถูกกีดกันไม่ให้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายพลังงาน ซึ่งเป็นนโยบายสาธารณะที่มีผลต่อวิถีชีวิตของประชาชนในสังคมหรือไม่
ผู้เขียนใคร่วิงวอนให้นายกรัฐมนตรีชะลอการให้สัมปทานรอบ 21 ไว้ก่อน ลองทบทวนไตร่ตรองถึงข้อดี-ข้อเสียในระยะยาวของระบบสัมปทานและระบบแบ่งปันผลผลิตให้ลึกซึ้งอย่างรอบด้าน ให้ชัดเจน  เพราะพลังงานเป็นเรื่องใหญ่ มีหลายมิติ โดยเฉพาะพลังงานในมิติสิทธิมนุษยชนและพลังงานในมิติความมั่นคงแห่งชาติ มิใช่มองพลังงานในมิติบริหารจัดการเพียงมิติเดียว ยิ่งไปกว่านั้น ความหมายของคำว่า "ความมั่นคงด้านพลังงาน" แตกต่างเทียบไม่ได้กับ "ความมั่นคงแห่งชาติ".

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น