อาจเป็นเพราะเพิ่งผ่านชัยชนะอย่างถล่มทลายจากศึกเลือกตั้งมาหมาดๆ ทำให้เกิดความคิดแบบ “เหิมเกริม” หลุดโลก จนเหมือนกับเป็นการขาดสติ สำคัญผิดไปว่าเสียงฉันทานุมัติที่ชาวบ้านมอบให้นั้นสามารถไปทำอะไรได้ตามอำเภอใจ
ความเหิมเกริมแบบนี้ก็มักเกิดขึ้นเสมอ นับตั้งแต่ที่ ทักษิณ ชินวัตร ใช้เล่ห์เหลี่ยมชูนโยบาย “ประชานิยม” ขายฝันจนทำให้พรรคไทยรักไทยในยุคนั้นชนะการเลือกตั้งจนควบคุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ เมื่อปี 2544 ที่ผ่านมา แต่ในที่สุดทุกอย่างก็พังทลายลงตามมาอย่างไม่น่าเชื่อเช่นเดียวกัน
ล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา อารมณ์ความเหิมเกริมในลักษณะเดิมๆ ก็เริ่มหวนกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่เปลี่ยนมาเป็นพรรคเพื่อไทย และ “น้องสาว” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายอีกรอบ
ความคิดเหิมเกริมดังกล่าวได้หวนกลับมาในลักษณะซ้ำรอยเดิมก่อนปี 2549 ก่อนที่ถูกรัฐประหาร ซึ่งในตอนนั้นตัว ทักษิณ และลิ่วล้อรอบตัวต่างเหิมเกริมกันอย่างหนักถึงขั้นเคลื่อนไหวในลักษณะทำให้เข้าใจว่าเป็นการเดินเครื่องชน “สถาบัน” อย่างเต็มตัว เว็บไซต์ “จาบจ้วง” ผุดขึ้นมาราวดอกเห็ด ความเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกันนี้ ทั้งนาย-บ่าว ล้วนแสดงออกไม่ได้แตกต่างกัน
อารมณ์ความรู้สึกดังกล่าวหลายคนวิเคราะห์ว่าน่าจะมาจากความเข้าใจผิดว่าตัวเองได้รับการเลือกตั้งมาด้วยเสียงท้วมท้น ชาวบ้านให้ความนิยมยกย่อง คิดจะทำอะไรก็ได้ตามใจปรารถนา จนสามารถเข้าไปแทรกแซงระบบราชการ องค์กรอิสระแทบทั้งหมด อย่างไรก็ดีด้วยอาการของความ “ลืมตัว” แบบนี้อีกมุมหนึ่งมันก็ทำให้เกิดกระแส “หมั่นไส้” มี “ชมรมคนรู้ทัน” เกิดขึ้นมากมายเป็นเงาตามตัวเหมือนกัน มีการต่อต้านขยายวงออกไป โดยเฉพาะในช่วงท้ายๆที่ ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี และในที่สุดก็เป็นเงื่อนไขให้ทหารออกมารัฐประหารโค่นล้มลง
อย่างไรก็ดี แม้จะต้องคดีคอร์รัปชันมากมายและต้องหลบหนีในต่างประเทศมานานหลายปี และเครือข่ายแวดล้อมรอบตัว โดยเฉพาะ “พวกฝ่ายซ้าย” ที่ต่อต้านสถาบันมานานและหาประโยชน์ร่วมกันกับเขาก็ยังจับมือกันเคลื่อนไหวไม่หยุด โดยเฉพาะใน “โลกไซเบอร์” รวมไปถึงยังเคลื่อนไหวด้านมวลชนอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมาพวกเขาก็กลับมาอีกครั้ง
หลายคนประเมินตรงกันว่า มาเที่ยวนี้พวกเครือข่ายทักษิณ คงจะมีการ “สรุปบทเรียน” โดยเฉพาะคงไม่ไปแตะต้องยุ่งเกี่ยว หรือกระทำการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นชนวนให้เกิดอารมณ์เกลียดชังขึ้นมาในใจของชาวบ้านทั่วไป ซึ่งไม่เว้นแม้แต่คนเสื้อแดงไม่น้อยที่เชื่อว่าพวกเขาหลงไหลได้ปลื้มก็แต่เฉพาะนโยบายประชานิยมเท่านั้น ไม่ใช่ไห้ “เลยเถิด” ถึงเรื่อง “ขบวนการล้มเจ้า” ไปทั้งหมด
การจัดงาน “วัน 62 ปี ทักษิณมหาราษฎร์” แม้ว่าจะมีการออกมาปฏิเสธอย่างรวดเร็วของ ทักษิณ ชินวัตร ผ่านทาง นพดล ปัทมะ ทนายความส่วนตัวว่าไม่เกี่ยวข้อง และอ้างว่าไม่มีประโยชน์ที่จะทำเรื่องแบบนี้ รวมไปถึงคนเสื้อแดงก็ไม่ได้ เพราะสร้างแรงกระเพื่อมโดยไม่จำเป็นนั้นมันก็มองได้สองมุม มุมหนึ่งเป็นเพราะอารมณ์เหิมเกริมของบรรดาลิ่วล้อที่คึกคะนองเลยเถิดและมีความคิดแบบนี้จริงๆ แต่ระงับอารมณ์ไม่อยู่จึงต้องรีบแสดงออกมาโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ อีกมุมหนึ่งมองได้ว่าการรีบออกมาสลัดออกมาอย่างรวดเร็วของ ทักษิณ เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลกระทบในวงกว้างเกิดความเสี่ยง ก่อนที่อำนาจรัฐจะอยู่ในมือ หลังจากประเมินแล้วว่า “พลาด” จึงต้องรีบ “ตัดเกม” เอาไว้ก่อน
ขณะเดียวกัน ในความเป็นจริงก็มองแบบนั้นได้ เนื่องจากเวลานี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ได้รับรอง ส.ส.ครบ 95 เปอร์เซ็นต์ ยังเปิดสภาไม่ได้ นั่นก็หมายความว่ายังโหวตเลือก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ยังค้างเติ่ง แม้ว่าดูแนวโน้มแล้วไม่น่ามีปัญหา แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ มันก็ไม่สมควรเพิ่มความเสี่ยง และสร้างความเกลียดชังโดยไม่จำเป็น
ที่สำคัญแม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้รับการเลือกตั้งมากมาย แต่ก็ต้องยอมรับเช่นเดียวกันว่าบรรยากาศไม่เหมือนเดิม เพราะมีคนรู้ทันคอยจ้องอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในโยบายประชานิยมประเภทสัญญาว่าจะให้สารพัดรอการปฏิบัติ และเที่ยวนี้มันน่าจะเป็น “งานหิน” กว่าครั้งก่อน เพราะต้องไปเกี่ยวข้องกับภาคเอกชน จะไปบังคับหักด้ามพร้าด้วยเข่าไม่ได้ สิ่งเหล่านี้กำลังเป็นระเบิดเวลาย้อนกลับมาหาตัว คำว่า “ดีแต่พูด” ดีไม่ดีคนที่ต้องรับไปเต็มๆอาจเป็น ยิ่งลักษณ์ กับ ทักษิณ ก็เป็นได้ หลังจากประกาศหราว่า “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ถ้าทำไม่ได้ หรือไม่ได้อย่างที่พูดมันก็ต้องกระอักแน่
ดังนั้น ถ้าให้สรุปอีกทีก็ต้องบอกว่าสาเหตุที่ ทักษิณต้องรีบตัดเกมโดยส่งลิ่วล้อออกมาเคลียร์ตัวเองให้สะอาด แสดงให้เห็นว่าแรงกระแทกกลับมานั้นทำท่าแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่เช่นนั้นโอกาสพังก่อนกำหนดมีความเสี่ยงสูงยิ่ง!!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น