วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เขาพระวิหาร ศาลโลก คนไทยใครจงใจขายแผ่นดิน หรือไม่อย่างไร !?


รูปเชิงประจักษ์ ที่ทำไมพื้นที่ประเทศเขมรลอยขึ้นไปอยู่บนชะง้อนหน้าผาได้

ศาลโลกอาจมีคำสั่งในวันที่ 18 ก.ค. เป็นได้ 3 แนวทาง ศาลมีคำสั่งระบุมาตรการคุ้มครองชั่วคราว หรือยกคำร้องกัมพูชาในส่วนมาตรการคุ้มครองชั่วคราว สุดท้ายศาลยกคำร้องกัมพูชาทั้งหมด ไม่ต้องตอบว่า ประเทศไทยอยากให้ศาลโลก มีคำพิพากษาออกมาในทิศทางใด นั่นคือแนวทางที่ 3 แต่จะเป็นอย่างที่ทุกคนคาดหวังกันหรือไม่ วันพรุ่งนี้ก็จะได้รู้กัน...

กรณีการแย่งกันอ้างสิทธิ์ เหนือประสาทพระวิหารและพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. ระหว่างไทย-กัมพูชา ที่ต่อเนี่องยาวนาน มาตั้งแต่ ปี 2505 ถึงขนาดเกิดความขัดแย้งบานปลาย กลายเป็นการปะทะกันตามแนวชายแดน ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่อาศัยตามแนวชายแดนของทั้ง 2ประเทศ รวมถึงสร้างความตึงเครียดให้กับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งหมดเกิดขึ้น หลังจากความพยายามของกัมพูชาประสบความสำเร็จ ในการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงผู้เดียว ในปี 2551

ต้องยอมรับว่า ฝ่ายไทยในสมัย นายนพดล ปัทมะ ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ยินยอมให้กัมพูชา ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว นับเป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชารอบใหม่ ที่ชัดเจนที่สุด

เนื่องจากภายหลังไทยไม่ยอมรับการทำหนังสือของนายนพดล โดยศาลไทยได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการทำข้อตกลงฉบับนี้ เพราะไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ผิดกฎหมาย รธน.มาตรา 190 ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาเป็นอย่างมาก และคงดึงดันที่จะเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารแต่เพียงผู้เดียว ทำให้ไทยที่ถือตัวว่าเป็นเจ้าของพื้นที่ทับซ้อน จำนวน 4.6 ตร.กม. เสี่ยงที่จะสูญเสียอธิปไตยของชาติ ความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา จึงปะทุขึ้นและลุกลามใหญ่โต จนถึงปัจจุบัน

การที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) รับขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกที่กัมพูชาเสนอ และมีการพิจารณาแผนบริหารจัดการพื้นที่ประสาทพระวิหาร โดยไม่ฟังการทัดทานจากไทยนั้น ทำให้ นายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย ต้องตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยว ประกาศถอนตัวจากสมาชิกมรดกโลกไป เพื่อเป็นการประท้วงที่องค์การยูเนสโก ไม่รับฟังคำร้องจากไทย ที่ทำให้ประเทศมีความเสี่ยงจากการสูญเสียพื้นที่ ทั้งหมดคือความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

ขณะที่ประเด็นสำคัญ ที่ต้องจับตาของการตัดสินของศาลโลกในวันจันทร์ที่ 18 ก.ค. นี้ คือเรื่อง "เขตแดน" ที่แฝงมาในคำขอของกัมพูชา ว่าศาลโลกจะแสดงจุดยืนในเรื่อง "เขตแดน" และ "ขอบเขต" อย่างไร ?

ทั้งนี้เป็นได้ 3 แนวทาง ทางแรก ศาลอาจปฏิเสธคำขอข้อแรกโดยสิ้นเชิง จะด้วยเหตุผลว่า ศาลไม่มีอำนาจวินิจฉัยเรื่องเขตแดนหรือด้วยเหตุผลอื่นที่ฝ่ายไทยอ้าง เช่น ประเด็นเขตแดนในปัจจุบัน ต้องว่าไปตาม MOU พ.ศ. 2543

การที่ศาลโลกได้ดำเนินการให้เจ้าหน้าที่แก้ไขคำแปลผิด จากคำว่า "boundary" (เขตแดน) มาเป็น "limit" (ขอบเขต) นี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดี ว่าศาลให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวที่ไทยต่อสู้ไว้

ทางที่สอง ศาลอาจมีคำสั่งเป็นการทั่วไปตามที่กัมพูชาขอ โดยอาจสั่งโดยไม่อธิบายว่า "พื้นที่ในบริเวณปราสาทพระวิหาร" ที่อยู่ในดินแดนของกัมพูชา คือพื้นที่ใด ซึ่งแม้จะไม่ชัดเจน แต่ก็เป็นความคลุมเครือ ที่กัมพูชาอาจนำมาใช้อ้างต่อได้

ทางที่สาม เป็นซึ่งน่ากังวลที่สุด และไม่น่าจะเป็น คือ ศาลอาจอ้างถึงข้อเท็จจริงหรือเอกสารบางอย่าง เช่น MOU พ.ศ. 2543 และกล่าวโดยตรงหรือโดยอ้อมในทำนองว่า "พื้นที่ในบริเวณปราสาทพระวิหาร" ที่อยู่ในดินแดนของกัมพูชา อาจเกี่ยวข้องกับเอกสารหรือแผนที่ดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นการตีความกฎหมายที่สุ่มเสี่ยงเรื่องเขตแดน

ส่วนศาลโลกอาจมีคำสั่งในวันที่ 18 ก.ค. เป็นได้ 3 แนวทาง ทางแรกศาลมีคำสั่งระบุมาตรการคุ้มครองชั่วคราว (อาจสั่งทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนตามที่กัมพูชาร้องขอ) ซึ่งไทยต้องปฏิบัติตามคำสั่งทันที และศาลยังพิจารณาต่อไปในส่วนคำร้องที่กัมพูชาขอให้ศาลตีความคำพิพากษา ซึ่งไทยอาจต้องใช้เวลาสู้คดีต่อไปถึง พ.ศ. 2555

ทางที่สอง ศาลยกคำร้องกัมพูชาในส่วนมาตรการคุ้มครองชั่วคราว คือ ศาลปฏิเสธคำขอให้ระบุมาตรการคุ้มครองชั่วคราวทั้งสามข้อ แต่ศาลยังดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปในส่วนการตีความคำพิพากษา ซึ่งอาจดำเนินต่อไปถึง พ.ศ. 2555 เช่นกัน

และทางที่สาม ศาลยกคำร้องกัมพูชาทั้งหมด คือปฏิเสธคำขอทั้งสามข้อ พร้อมทั้งมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีที่กัมพูชาขอให้ศาลตีความคำพิพากษาทั้งคดี หมายความว่าไทยประสบความสำเร็จ ส่งผลให้ไทยและกัมพูชาต้องกลับเข้าสู่กระบวนการเจรจาต่อไป

คงไม่ต้องตอบว่า ประเทศไทยอยากให้ศาลโลกมีคำพิพากษาออกมาในทิศทางใด นั่นคือแนวทางที่ 3 แต่จะเป็นอย่างที่ทุกคนคาดหวังกันหรือไม่ วันพรุ่งนี้ก็จะได้รู้กัน...

ไทยรัฐออนไลน์

  • โดย ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์
  • 17 กรกฎาคม 2554, 09:30 น.

นายฮิซาชิ โอวาดะ ประธานศาลระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก ในภาพวันที่ 30 พ.ค.2554 ขณะออกนั่งบัลลังก์เปิดการไต่สวนตามคำร้องของกัมพูชาที่ให้ไทยถอนทหารจากพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรโดยรอบปราสาทพระวิหาร และให้ไทยยุติกิจกรรมทางทหารทุกอย่างในทันที สำนักข่าวฝรั่งเศสรายงานว่า ในวันจันทร์ 18 ก.ค.นี้ ศาลโลกกำลังจะมีคำสั่งตามนั้น.

-- AFP PHOTO/Valerie Kuypers.

กรุงเฮก (เอเอฟพี) - ศาลสูงสุดของสหประชาชาติจะออกคำสั่งในวันจันทร์ (18 ก.ค.) นี้ ตามคำร้องขอของกัมพูชาให้ไทยถอนทหารจากบริเวณพิพาทชายแดนรอบๆ ปราสาทพระวิหารที่เกิดการปะทะกัน

คาดว่าประธานศาลระหว่างประเทศ นายฮิซาชิ โอวาดะ จะอ่านคำสั่งของศาลในเวลา 10.00 น. ที่พระราชวังแห่งสันติภาพ กรุงเฮก ที่ตั้งของศาลระหว่างประเทศ (International Court of Justice)

ศาลจะมีคำสั่งในวันจันทร์ตามคำร้องของของกัมพูชาที่ให้ไทยถอนทหารและยุติกิจกรรมทางทหารทุกอย่างผู้สังเกตการณ์ที่ใกล้ชิดกับ ICJ บอกกับเอเอฟพี และยังเปิดเผยอีกว่า นายโอวาดะจะขึ้นนั่งบัลลังก์พร้อมผู้พิพากษาทั้ง 14 คน กับผู้พิพากษาสมทบอีก 2 คน

กัมพูชาได้นำกรณีทางกฎหมายนี้เข้าสู่ศาลโลกในเดือน เม.ย. โดยเรียกร้องให้ตีความคำพิพากษาเมื่อปี 2505 เกี่ยวกับปราสาทพระวิหารอายุ 900 ปี ขณะเดียวกัน กัมพูชาได้ขอให้ผู้พิพากษาออกมาตรการเฉพาะหน้า รวมทั้งให้ไทยถอนทหารในทันทีและให้ยุติกิจกรรมทางทหารที่นั่น

แม้ว่าไทยจะไม่โต้แย้งการเป็นเจ้าของปราสาทพระวิหารของกัมพูชาตามคำพิพากษาปี 2505 แต่ทั้งกัมพูชาและไทยต่างกล่าวอ้างเป็นเจ้าของพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร รอบๆ บริเวณปราสาท

สองฝ่ายเข้าให้การต่อศาลในสิ้นเดือน พ.ค. รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา นายฮอร์ นัมฮง ได้ขอให้มีการ ถอนทหารไทยในทันทีและโดยไม่มีเงื่อนไขออกจากดินแดนของกัมพูชาส่วนที่อยู่ในบริเวณปราสาทพระวิหาร

ทางการพนมเปญยังขอให้ไทย ยุติการกระทำการใดๆ ที่จะแทรกแซงสิทธิของกัมพูชาหรือทำให้ความขัดแย้งในปัจจุบันขยายตัวออกไป

เอกอัครราชทูตไทยประจำเนเธอร์แลนด์ นายวีรชัย พลาศรัย ได้ตอบโต้โดยขอให้ศาลโลกยกเลิกกรณีของกัมพูชาออกจากการพิจารณาของศาล

กระตุกต่อม"ระทึกขวัญ" ลุ้น! คำตัดสินศาลโลกวันนี้

คนไทยเกิดอาการใจตุ๊มๆต่อมๆกันเป็นทิวแถว เมื่อปรากฎกระแสข่าวว่า คณะผู้พิพากษาทั้ง 15 คน กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ อาจจะตัดสินในไทยต้องถอนทหารจากปราสาทพระวิหารและพื้นที่รอบปราสาท ในช่วงบ่ายๆของวันนี้ ประมาณ 15.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย


ในคดีที่กัมพูชา ยื่นให้ศาลโลกตีความขอบเขตของคำพิพากษาปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 หากผลปรากฎออกมาว่า คำพิพากษาเป็นไปตามที่สำนักข่าวบางสำนักในต่างประเทศรายงานข่าวออกมาจริง ก็ไม่อยากคิดว่า สถานการณ์ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ด้าน อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ เรื่อยไปถึง จ.สุรินทร์ จะเกิดตึงเครียดขึ้นหรือไม่ รวมถึงไทยเองจะมีนโยบายดำเนินการอย่างไรต่อไปกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา

ทั้งนี้จะกลายเป็นงานเข้า สำหรับรัฐบาลรักษาการของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ทิ้งท้ายทันที ก่อนจะอำลาตำแหน่งอย่างเป็นทางการ และมีการส่งมอบให้กับ รัฐบาลปู1 นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิง คนแรกของไทย เพราะประชาชนไทยคงไม่ยอมรับกับคำตัดสินของศาลโลกแน่ ถึงแม้ต้องปฏิบัติก็ตาม หากปรากฎผลออกมาเป็นอย่างที่สำนักข่าวต่างประเทศอ้าง เพราะนั่นหมายถึงการสูญเสียดินแดน 4.6 ตร.กม.ของประเทศไปตลอดกาล

ขณะรัฐบาลที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่ง ของ นส.ยิ่งลักษณ์ ขณะนี้รอ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองการเป็นส.ส. อยู่ก็"งานเข้า"เช่นกัน เพราะเมื่อเข้าทำงานปุ๊ป! ก็ต้องพิสูจน์ฝีมือ ตามแก้ปัญหาใหญ่ระดับประเทศทันที

แม้มีการมองกันว่า รัฐบาลชุดใหม่เพื่อไทย มีสายสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้การเจรจาน่าจะง่ายกว่ารัฐบาลชุดเก่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องทำตามคำต้องการของกัมพูชา เพราะที่สำคัญที่สุดคือ ต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศ โดยเฉพาะนส.ยิ่งลักษณ์น้องสาวของพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเอง ยิ่งจะต้องระมัดระวัง เพราะกรณีข้อพิพาท ความขัดแย้งระหว่าง ไทย-กัมพูชา เกี่ยวพันกับข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ในอ่าวไทย ของพี่ชายสมัยดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีโดยตรง


เพราะเมื่อประมาณอาทิตย์ที่แล้ว เว็บไซต์หนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ รายงาน เอกสารลับทางการทูตใน เว็บไซต์จอมแฉ "วิกิลีกส์" นำมาเผยแพร่ กล่าวถึงรายละเอียดการไปเยือนกรุงพนมเปญของสภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน และร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงกัมพูชาว่า ผู้แทนยักษ์ใหญ่บ.เอกชน ด้านพลังงาน ได้เรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชา หาทางคลี่คลายข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย เพราะบริษัทฯ ถือสัญญาสำรวจพื้นที่ดังกล่าวเป็นเวลาเกือบสิบปี

ระหว่างการประชุมครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ระดับสูงกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ได้แจ้งต่อบริษัทฯว่า รัฐบาลไทยกับกัมพูชาเกือบได้ข้อยุติในเรื่องนี้ ไม่นานนักก่อนรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะถูกยึดอำนาจเมื่อปี 2549 โดยทั้งสองเห็นพ้องกัน ในหลักการแบ่งรายได้ในพื้นที่ใกล้ไทยมากที่สุด สัดส่วนไทย 80% กัมพูชา 20% ส่วนพื้นที่ตรงกลางแบ่ง 50-50 และสัดส่วนไทย 20% กัมพูชา 80% สำหรับพื้นที่ใกล้ฝั่งกัมพูชา


เอกสารที่รั่วอีกฉบับ ซึ่งให้รายละเอียดการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกัมพูชากับผู้บริหารระดับสูงของ บ.น้ำมันยักษ์ใหญ่เช่นกัน เอกสารระบุว่า บริษัทที่ขุดเจาะและสำรวจบ่อน้ำมันส่วนที่เรียกว่า "บล็อค เอ" นอกชายฝั่งของกัมพูชา มีความสนใจอย่างมากในการได้รับสิทธิในการสำรวจบ่อน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อน โดยผู้บริหาร บ.น้ำมันดังกล่าว ระบุว่า พื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยนั้น เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ดีที่สุดในโลกสำหรับการสำรวจ และอาจเปลี่ยนแปลงกัมพูชาแบบพลิกโฉม ส่วน"บล็อค เอ"นั้น ไม่มีความสำคัญพอที่จะสำรวจและทำกำไรได้โดยลำพัง

หลัง พ.ต.ท.ทักษิณถูกโค่นอำนาจ กรณีพิพาทน่านน้ำทับซ้อนแทบไม่มีความคืบหน้า ประกอบกับการตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจของกัมพูชาเมื่อปี 2552 ยิ่งสร้างปัญหามากขึ้น เมื่อคณะรัฐมนตรีไทยได้ยกเลิกบันทึกความเข้าใจฉบับหนึ่งที่ลงนามในปี 2544 โดยอ้างว่าบทบาทใหม่ของอดีตนายกฯทักษิณ ทำให้สถานะการเจรจาของไทยเสียเปรียบ

เอกสารสถานทูตอีกฉบับ ยังกล่าวอย่างชัดเจนในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณกับกัมพูชาระบุว่า "การไปเยือนพนมเปญของทักษิณฯ ถูกนักสังเกตการณ์ส่วนใหญ่ มองว่า เป็นความต่อเนื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณและสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในการใช้กันและกันเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว"

เมื่อมีข่าวลักษณะนี้ออกมา นส.ยิ่งลักษณ์ ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิง ที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่ง ยิ่งต้องดำเนินการให้เห็นว่า กระทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของชาติ และไม่ได้อยู่ใต้เงาหรือคำบงการของ"นายห้างตราดูไบห่่อ" แต่ถ้าศาลโลกตัดสินออกมาแนวทางเป็นคุณกับไทยเรื่องก็จบ"ยิ่งลักษณ์"ก็ลำบากใจน้อยลง เพราะมีข่าวอีกกระแสระบุว่า ศาลโลกจะตัดสินคุ้มครองชั่วคราว เฉพาะตัวปราสาท แต่จะไม่เข้าไปยุ่งในส่วนพื้นที่ทับซ้อนเจ้าปัญหา 4.6 ตร.กม.แต่อย่างใด

ผลประโยชน์มหาศาลทางทะเล เกี่ยวพันถึงเส้นเขตแดนของประเทศ นำมาซึ่งการอ้างเป็นเจ้าของพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.ระหว่างไทย-กัมพูชา และการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว เกิดปะทะกันตามแนวชายแดนนำมาซึ่งสูญเสียทั้ง 2ฝ่าย และทำให้ไทยต้องสุ่มเสี่ยงสูญเสียอธิปไตย ผลกำลังจะปรากฎออกมาในช่วงบ่ายของวันนี้ นับถอยหลัง...แล้วรอลุ้นระทึก!กันได้เลย...

ไทยรัฐออนไลน์

  • โดย ไทยรัฐออนไลน์
  • 18 กรกฎาคม 2554, 05:30 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น