วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ถ้าศาล หมดความน่าเชื่อถือ ... ประเทศนี้สิ้นสุดความเป็นนิติรัฐ


แนวความคิดเรื่อง
หลักนิติรัฐ(Rule of law)หรือหลักนิติธรรม
ความคิดในเรื่องนิติรัฐ เป็นความคิดของประชาชนที่ศรัทธาในลัทธิปัจเจกนิยม (Individualism) และรัฐธรรมนูญของรัฐที่จะเป็นนิติรัฐได้นั้น จำต้องมีบทบัญญัติในประการสำคัญกล่าวถึงหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของราษฎรด้วย เช่น เสรีภาพในร่างกาย ในทรัพย์สิน ในการทำสัญญา และในการประกอบอาชีพ ในฐานะนี้ รัฐจึงมีสภาพเป็นคนรับใช้ของสังคมโดยถูกควบคุมอย่างเคร่งครัด จะเห็นได้ว่า การที่รัฐจะเคารพต่อเสรีภาพต่างๆ ของราษฎรได้นั้น ย่อมมีอยู่วิธีเดียว ก็คือ การที่รัฐยอมตนอยู่ใต้บังคับแห่งกฎหมายโดยเคร่งครัดเท่านั้น และตราบใดที่กฎหมายยังใช้อยู่กฎหมายนั้นก็ผูกมัดรัฐอยู่เสมอ
ความคิดเรื่องนิติรัฐ ย่อมเกิดขึ้นโดยการที่ราษฎรต่อสู้กับ
การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยราษฎรเริ่มเรียกร้องเสรีภาพขึ้นก่อน
ดังที่กล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่า การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะเป็นนิติรัฐได้นั้น ต้องมีลักษณะดังนี้
1) ในประเทศนั้นกฎหมายจะต้องเป็นไปตามกฎหมายและชอบด้วยกฎหมายหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของราษฎรอยู่ที่กฎหมาย ถ้าเจ้าพนักงานของรัฐเข้ามากล้ำกรายสิทธิเสรีภาพของรัฐโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ เจ้าพนักงานก็ย่อมจะมีความผิดทางอาญา
2) ในประเทศที่เป็นนิติรัฐ ขอบเขตแห่งอำนาจหน้าที่ของรัฐย่อมกำหนดไว้แน่นอน เริ่มแต่การแบ่งแยกอำนาจออกเป็นสามอำนาจ คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยมีขอบเขตในการใช้อำนาจของรัฐ อำนาจของเจ้าพนักงานของรัฐที่ลดหลั่นลงมาก็เป็นอำนาจที่วัดได้ คือ เป็นอำนาจที่มีขอบเขตเช่นเดียวกัน และต้องมีการควบคุมให้มีการใช้อำนาจภายในขอบเขตเท่านั้น เช่น ในประเทศไทยบุคคลย่อมทราบได้จากกฎหมายว่า ตำรวจ มีอำนาจหน้าที่เพียงใด จะใช้อำนาจจากราษฎรได้หรือไม่เพียงใด
3) ในประเทศที่เป็นนิติรัฐ ผู้พิพากษาจะต้องมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี โดยจะต้องมีหลักประกันดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญ และเพียงแต่รัฐใดจะจัดให้ผู้พิพากษาเป็นอิสระ สำหรับพิจารณาคดีแพ่งและคดีอาญาเท่านั้น ก็มีศาลแพ่งและศาลอาญาประกอบด้วยผู้พิพากษาที่มีอิสระสำหรับพิจารณาคดีแพ่งคดีอาญา ความสำคัญอยู่ที่จะต้องให้ศาลยุติธรรมควบคุมฝ่ายปกครอง กล่าวคือ ให้ศาลยุติะรรมวินิจฉัยการกระทำของเจ้าพนักงานได้ว่าพนักงานได้กระทำผิดในทางอาญาต่อราษฎรหรือกระทำการละเมิดในทางแพ่งหรือไม่ โดยในนี้นิติรัฐจึงเป็นรัฐยุติธรรม กล่าวคือ ศาลยุติธรรมควบคุมการกระทำของเจ้าพนักงานในทางอรรถคดี ปัญหามีว่าการที่รัฐบางรัฐได้จัดตั้งศาลปกครองขึ้นโดยเฉพาะนั้น จะยังคงเป็นนิติรัฐอยู่อีกหรือไม่ มีคำตอบข้อนี้ก็คือแล้วแต่ผู้พิพากษาศาลปกครองจะเป็นอิสระหรือไม่ ถ้าเป็นอิสระรัฐนั้นก็เป็นนิติรัฐ ทั้งนี้เพราะความสำคัญอยู่ที่หลักประกันสิทธิและเสรีภาพของราษฎร ซึ่งจะมีได้ต่อเมื่อผู้พิพากษาที่วินิจฉัยข้อพิพากษาเป็นอิสระอย่างแท้จริง แต่การที่จัดตั้งศาลโดยเฉพาะขึ้น เช่น ศาลปกครองประกอบด้วยผู้พิพากษาที่รอบรู้ในวิชาปกครอง ย่อมจะอำนวยประโยชน์ เพราะทำให้ศาลที่จัดตั้งขึ้นไว้ สามารถพิพากษาคดีได้ถูกต้องขึ้น และเมื่อผู้พิพากษาในศาลดังกล่าวเป็นอิสระ ก็เป็นหลักประกันอันพอเพียงสำหรับราษฎร
แนวความคิดเรื่องนิติรัฐนี้เองก่อให้เกิด หลักนิติธรรม (The Rule of law) ขึ้นในระบบกฎหมายต่างๆ อันมีที่มาจากแนวคิดของ
อริสโตเติลที่ว่า การปกครองที่ดีไม่ใช่การปกครองโดยปุถุชน หากแต่เป็นการปกครองโดยกฎหมาย เพราะการปกครองโดยปุถุชนย่อมเสี่ยงต่อการปกครองตามอำเภอใจ ขณะที่การปกครองโดยกฎหมายเอื้ออำนวยต่อการที่จะมีความเสมอภาค (equality) และเสรีภาพ (liberty) มากกว่า เพราะหากมีการปกครองโดยหลักนิติธรรมอยู่จริง ทุกคนก็จะมีความเสมอภาคกันในสายตาของกฎหมาย และมีเสรีภาพ คือ ปราศจากความหวาดกลัวว่าจะมีการใช้อำนาจตามอำเภอใจโดยผู้ปกครอง แนวความคิดนี้จึงเป็นที่มาของลัทธิรัฐธรรมนูญนิยม(constitutionalism) ซึ่งในอีกแง่หนึ่งมีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า Law and Order หรือ บ้านเมืองมีขื่อมีแป นั่นเอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอังกฤษ Albert Venn Dicey (1835-1922) นักกฎหมายรัฐธรรมนูญผู้เรืองนามได้สรุปว่าหลักนิติธรรมนั้นจะต้องประกอบด้วยลักษณะ 3 ประการดังนี้คือ

Albert Venn Dicey
1) ฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจตามอำเภอใจ ซึ่งหมายถึงบุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษนั้นต้องเป็นโทษตามกฎหมายอันแสดงให้เห็นว่าบุคคลจะถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยกฎหมายเท่านั้น เจ้าพนักงานของรัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจมิได้
2)บุคคลทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันและศาลเดียวกันจะเป็นผู้พิจารณาพิพากษาซึ่งหมายถึง บุคคลทุกคนต้องถูกกฎหมายบังคคับโดยเท่าเทียมกันไม่เลือกฐานะและตำแหน่งหน้าที่และเมื่อมีข้อพิพากษาเกิดขึ้นในระหว่างเอกชน หรือ เอกชนกับรัฐทั้งตามกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา และกฎหมายอื่น เช่น กฎหมายปกครองศาลยุติธรรม เท่านั้นที่จะทำหน้าที่พิจารณาคดีเหล่านี้ได้ และการพิจารณาพิพากษานี้ถ้าเป็นไปโดยอิสระปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายของฝ่ายใดฝ่ายใดทั้งสิ้น
3) หลักทั่วไปของกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นผลมาจากกฎหมายธรรมดา ของประเทศ กล่าวคือ ศาลนั่นเองเป็นผู้พิพากษาคดีเกี่ยวด้วยสิทธิเสรีภาพของเอกชนทำให้เกิดการยอมรับสิทธิเสรีภาพขึ้น
ในทางการปกครอง การปกครองโดยหลักนิติธรรมก็คือ หลักการที่ว่า บรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นโดยการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งต้องกระทำการภายใต้กฎหมาย และธรรมนูญการปกครอง ใช้อำนาจภายในขอบเขตซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ให้ ดังนั้น การปกครองโดยหลักนิติธรรมในนัยที่จะให้เกิดความเป็นธรรมนั้น จะต้องมีการออกกฎหมายที่เป็นธรรมด้วย
สรุปได้ว่า หลักนิติธรรม ก็คือ “การปกครองประเทศโดยกฎหมาย กล่าวคือ บุคคลเสมอกันในกฎหมาย บุคคลจะต้องรับโทษเพื่อการกระทำผิดอันใด ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้ว่า การกระทำนั้นเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และจะต้องได้รับการพิจารณาคดีจากศาลยุติธรรม ที่มีความเป็นอิสระในการชี้ขาดตัดสินคดีไม่ว่าจะเป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างเอกชนด้วยกันเองก็ดี หรือระหว่างเอกชนกับรัฐก็ดี” อาจถือได้ว่าหลักนิติธรรมนั้น เป็นหลักสำคัญของนิติรัฐ ตลอดจนเป็นรากแก้วของระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยแท้


จาก หนังสือพิมพ์ บ้านเมือง 2 พ.ย.2553
2 กระแสความเคลื่อนไหวนี้น่าจะตีคู่ขนานกันไปจนกว่าจะมีคำตัดสิน ซึ่งก็เข้าใจว่า ศาลรัฐธรรมนูญในอีก 1 เดือนข้างหน้าจะบอบช้ำมากไปกว่านี้
แล้วถ้าศาลต้องพิจารณาคดีไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ด้วยเหตุผลเกรงว่า บ้านเมืองจะวุ่นวาย ปัญหาก็คือประเทศนี้จะ "มั่ว" กันไปอีกนานแค่ไหน
อาการ "ลืมตัว" เพราะมุ่งหวังชัยชนะเวลานี้ ทำให้ลืมกระทั่งพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ซึ่งพระราชทานแก่ผู้พิพากษาประจำศาลสำนักงานศาลยุติธรรม
"...ปกครองประเทศมั่วไม่ได้ ที่จะคิดอะไรแบบ แบบว่าทำปัดๆ ไปให้เสร็จๆ ไป ถ้าไม่ได้เขาก็โยนให้พระมหากษัตริย์ทำ ซึ่งยิ่งร้ายกว่าทำมั่วอย่างอื่น เพราะพระมหากษัตริย์ ไม่ ไม่มีหน้าที่ที่จะไปมั่ว.."
คำสั่ง "ยุบพรรค" มีบทเรียนสำคัญมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง คือ กรณี พรรคไทยรักไทยจ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 เพื่อหนีเกณฑ์ 20 เปอร์เซ็นต์ และกรณียุบพรรคชาติไทย มัชฌิมา และพลังประชาชน หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550
เมื่อครั้งก่อนการตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย เวลานั้นก็มีการสร้างกระแสว่า บ้านเมืองจะลุกเป็นไฟหากคำตัดสินไม่ออกมาตามความคาดหวังของกองเชียร์
เวลานั้นพระองค์ท่านทรงมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2550 ต่อคณะตุลาการศาลปกครองที่เข้าเฝ้าฯ ว่า ศาลต้องกล้าหาญและสุจริตในการตัดสินและเมื่อตัดสินแล้วต้องใช้สติปัญญาของทุกคนอธิบายผลที่เกิดขึ้นให้กับประชาชนทุกระดับได้เข้าใจในผลการตัดสิน
ความกล้าหาญและสุจริตในการทำหน้าที่ของศาล และอธิบายต่อประชาชนก็ทำให้วิกฤติทั้ง 2 ครั้งผ่านมาได้
แรงปะทะที่ฝ่ายการเมืองต่อสู้ชิงอำนาจ ส่งผลสะเทือนถึงศาลรัฐธรรมนูญอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง วิกฤตินี้ส่งผลให้เกิดข้อเรียกร้องต่อการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งนั่นย่อมเป็นสิ่งดี แต่การปฏิรูปศาลกับการพิจารณาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ เป็นคนละเรื่อง
"กล้าหาญและสุจริตในการทำหน้าที่" ตามแนวพระราชดำรัสที่ทรงพระราชทานต่างหากผิดถูกว่ากันไปตามข้อเท็จจริง
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเปลี่ยนได้ นัก การเมือง ขั้วรัฐบาลเปลี่ยนได้ แต่ความเป็น "นิติรัฐ" ของประเทศเปลี่ยนไม่ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น