
สมาคมต่อต้านโลกร้อน ยื่นฟ้องศาลปกครอง เพิกถอนสัมปทาน 26 โครงการขุดเจาะสำรวจผลิตปิโตรเลียมของ 4 บริษัท พร้อมให้ประกาศพื้นที่ 120 ไมล์ทะเลโดยเป็นเขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ชี้ 26 โครงการ ไม่ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นตาม รธน.มาตรา 67 แถมอาจสร้างผลกระทบทำลายสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ขณะเดียวกันหวั่นทะเลสวย เจอน้ำมั่นรั่วซ้ำรอยอ่าวเม็กซิโก และทะเลติมอร์ ที่แท่นเจาะของ ปตท. ไฟไหม้ระเบิด จนมีปัญหากับสภาวะแวดล้อม


วานนี้ (16 พ.ย.) สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ร่วมกับสมาคมอนุรักษ์ส่งเสริมท่องเที่ยวเกาะสมุย เกาะพะงัน สมาคมสปาเกาะสมุย และมูลนิธิเกาะสีเขียว พร้อมด้วยชาวบ้านรวม 309 คน ได้ยื่นฟ้องกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ รมว.กระทรวงพลังงาน คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม และเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนประทานบัตร ใบอนุญาตการประกอบกิจการที่เกี่ยวกับการขุดเจาะสำรวจ หรือผลิตปิโตรเลียม ในพื้นที่อ่าวไทยรวม 26 โครงการ ของ 4 บริษัท รวมทั้งให้สั่งเพิกถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอของโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจากเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มีผลบังคับใช้ จนถึงวันที่ศาลมีคำพิพากษา และขอให้ศาลสั่งให้รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประกาศให้พื้นที่เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า และพื้นที่ใกล้เคียงในรัศมี 120 ไมล์ทะเลเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 43 และ 44
ทั้งนี้ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า ที่ต้องมีการฟ้องคดีดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสำรวจหรือขุดเจาะปิโตรเลียมเข้ามาดำเนินโครงการในพื้นที่อ่าวไทย หรือใกล้พื้นที่ท่องเที่ยวของชาวบ้าน โดยไม่ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นการมีส่วนร่วมของชาวบ้านอย่างแท้จริงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ทำให้ชาวบ้านและผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวได้รับความเดือดร้อนและเสียหาย ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เมื่อทักทวงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็กับนิ่งเฉยไม่มีการดำเนินการให้ถูกต้องจนพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งในส่วนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า ทั้ง 3 หมู่เกาะเป็นตลาดการท่องเที่ยวทางทะเลระดับแนวหน้าของโลก จนสามารถสร้างดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต้องเดินทางมาเยือน สร้างงานสร้างเงิน สร้างอาชีพในคนในชุมชนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยจากตัวเลของศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวเกาะสมุยพบว่า ปี 52 มีนักท่องเที่ยวมาเยือน 3 หมู่เกาะจำนวน 1,148,906 คน ซึ่งสร้างรายได้เฉพาะช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย.52 สูงถึง 18,492 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน บริเวณ 3 หมู่ และหมู่เกาะใกล้เคียงมีความสมบูรณ์ของแนวปะการังที่เป็นที่ยอมรับของนักท่องเที่ยวรอบโลก โดยเฉพาะอ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี รายงานของสำนักงานประมงจำหวัด ระบุว่า เป็นแหล่งที่เหมาะกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยมีกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์ เช่น กุ้ง หอยแครง หอยนางรม ปลากะพง ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้จังหวัดไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี และบางพื้นที่สัมปทานและพื้นที่ขุดเจาะของผู้ประกอบการบางราย อาทิ ของบริษัท เซฟรอนฯ ยังตั้งอยู่ในพื้นที่วางไข่ของปลาทูแขกและปลาโอ โดยในรายงานการประเมินผลประทบสิ่งแวดล้อมของบริษัทเซฟรอนฯ ยังระบุว่า ในพื้นที่ที่บริษัทได้รับสัมปทานมีรายงานของศูนย์วิจัยทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง ระบุว่า พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ เช่น โลมาหัวบาตรหลังเรียบ โลมาเผือกหลังโหนก และเต่าทะเล ซึ่งในบริเวณใกล้เคียงยังพบสัตว์ทะเลหายากและสัตว์ทะเลไทยหลายชนิด เช่น ฉลามวาฬ พะยูน โลมา เต่าทะเล รวมทั้งมีหญ้าทะเลที่เป็นอาหารของพะยูนขึ้นอยู่ประมาณ 3,663 ไร่ ซึ่งทั้งหมดเป็นจุดขายที่สำคัญอย่างยิ่งของหมู่เกาะทั้ง 3 และพื้นที่โดยรอบ นอกเหนือจากชายหาดที่ขาวสะอาด และอากาศที่บริสุทธิ์ จนทำให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกเดินทางมาเยือน ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องทั้งหมดอนุญาตให้มีการประกอบกิจกรรมการขุดเจาะสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าว นอกจากจะไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และทิศทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ว่า จะผลักดันให้พื้นที่เกาะสมุยมีการบริหารเมืองในรูปแบบพิเศษเหมือนกทม.และพัทยาแล้ว ยังอาจเป็นการทำลายโครงการที่ผ่านมาในอดีตและในอนาคตอีกด้วย
นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า การคัดค้านจนนำมาสู่การฟ้องคดี เนื่องมาจากมีข้อมุลการศึกษาวิจัยของหน่วยงานหลายแห่งทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา นักวิชาการอิสระที่ยืนยันสอดคล้องกันว่า โครงการสำรวจหรือขุดเจาะปิโตรเลียมนั้น มีความเสี่ยงสูงที่จะกระทบกับสภาพแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน ประกอบกับรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของบริษัท นิวคอสตรอล ประเทศไทย จำกัด หนึ่งในผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการก็ยังระบุผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นไว้อย่างชัดเจนว่า กิจกรรมตามปกติระหว่างการพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมของโครงการ อาจมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ สิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์หรือคุณภาพชีวิตได้ นอกจากเหตุการณ์ที่ผิดปกติ เช่น ความผิดพลาดในการดำเนินการตามปกติประจำวัน อุปกรณ์เกิดความเสียหาย ภัยธรรมชาติ การพุ่งของน้ำมันดิบระหว่างการขุดเจาะ การหกรั่วไหลของน้ำมันและสภาพอากาศที่เลวร้ายและพายุใต้ฝุ่นอาจมีผลกระทบได้เช่นกัน ซึ่งแม้ขณะนี้บริษัทที่ได้รับสัมปทานจะยังอยู่ระหว่างการเริ่มขุดเจาะและบางแห่งกำลังเริ่มผลิต แต่ก็พบว่า บริเวณหาดตลิ่งงาม เกาะสมุย ปรากฏคราบน้ำมันปกคุลมผิวน้ำและชายฝั่ง เมื่อมีการติดต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็อ้างว่า เป็นคราบน้ำมันที่รั่วไหลจากเรือเดินทะเล โดยไม่มีการตรวจสอบลงลึกแต่อย่างใด จึงทำให้ชาวบ้านและผู้ประกอบการในพื้นที่ เกรงว่า การสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมอาจก่อให้เกิดการแพร่กระจายของมลพิษหลายประเภทที่ส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของชาวบ้าน เหมือนกับกรณีวิกฤตการรั่วไหลของน้ำมันบริเวณอ่าวเม็กซิโกของบริษัทน้ำมันบีพีฯ จึงต้องนำคดีที่ฟ้องต่อศาล และในอีก 1-2 วันนี้ ก็จะมายื่นขอให้ศาลกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาโดยขอให้สั่งให้ทั้ง 26 โครงการระงับการดำเนินการไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ด้าน นายเรืองนาม ใจกว้าง นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ฝั่งตะวันออก กล่าวว่า สาเหตุที่สมาคมร่วมยื่นฟ้องฯ เนื่องจากเกรงว่า โครงการดังกล่าวอาจทำให้เกิดน้ำมันรั่วไหลเหมือนที่เกิดในอ่าวเม็กซิโก อีกทั้งที่ผ่านทางในการเข้ามารับฟังความเห็นชาวบ้าน ๆ ก็คัดค้านทุกครั้ง แต่โครงการก็ยังกลับเดินหน้าต่อ โดยอ้างว่าตอนรับฟังความเห็นคนที่คัดค้านมีส่วนน้อย ซึ่งทางสมาคมก็ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอด แต่ไม่ได้รับคำตอบชัดเจน เกรงว่าถ้ายังดำเนินโครงการต่อไปจะกระทบธุรกิจการท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม “กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ อ้างว่าจำเป็นต้องขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม เพราะน้ำมันมีราคาสูง แต่คงไม่คุ้มกับการที่ธุรกิจโรงแรมลงทุนไปแล้วกว่า 2 แสนล้านบาท”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อโครงการขุดเจาะสำรวจ ผลิตปิโตรเลียมในพื้นทีอ่าวไทยที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ซึ่งไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย แต่กลับได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 บังคับใช้ประกอบด้วย 1.โครงการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม แปลงสัมปทานปิโตรเลียม หมายเลข G4/43 ตั้งที่บริเวณอ่าวไทย ของ บริษัท เซฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่ง คชก.เห็นชอบเมื่อก.ย. 50 2.โครงการผลิตปิโตรเลียมพื้นที่ผลิตลันตาปิโตรเลียม แปลงสัมปทานปิโตรเลียมหมายเลข G4/43 ตั้งที่บริเวณอ่าวไทย ของบริษัท เซฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่ง คชก.เห็นชอบเมื่อ ก.ย.50 3.โครงการสำรวจ โดยวิธีวัดความไหวสะเทือนในทะเลแบบ 2 มิติ แปลงสัมปทานปิโตรเลียม หมายเลข G11/48 ตั้งที่บริเวณอ่าวไทย ของบริษัท เพิร์ล ออย บางกอก จำกัด ซึ่ง คชก.เห็นชอบเมื่อ ต.ค.50
4.โครงการผลิตปิโตรเลียม แปลงสัมปทานปิโตรเลียม หมายเลข B8/38 พื้นที่บังหลวง ตั้งที่บริเวณอ่าวไทย ของบริษัท โชโค เอ็กซ์พลอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่ง คชก.เห็นชอบเมื่อ พ.ย.50 5.โครงการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมพื้นที่ชบาและพื้นที่จามจุรีใต้ แปลงสัมปทานปิโตรเลียมหมายเลข BB/32 ตั้งที่บริเวณอ่าวไทย ของบริษัท เซฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่ง คชก.เห็นชอบเมื่อ ม.ค.51 6.โครงการผลิตปิโตรเลียมพื้นที่ชบาและพื้นที่จามจุรีใต้ แปลงสัมปทานปิโตรเลียมหมายเลข B8/32 ตั้งที่บริเวณอ่าวไทย ของบริษัท เซฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่ง คชก.เห็นชอบเมื่อ เม.ย.51 7.โครงการสำรวจปิโตรเลียม โดยวิธีวัดคลื่นไหวสะเทือนในทะเล แบบ 3 มิติ แปลงสัมปทานปิโตรเลียม หมายเลข G1/48 ตั้งที่อ่าวไทย ของบริษัท เพิร์ล ออย (อมตะ) จำกัด ซึ่ง คชก.เห็นชอบเมื่อ มิ.ย. 51
8.โครงการสำรวจปิโตรเลียม โดยวิธีวัดคลื่นไหวสะเทือนในทะเล แบบ 2 มิติ แปลงสัมปทานปิโตรเลียม หมายเลข G6/48 ตั้งที่อ่าวไทย ของบริษัท เพิร์ล ออย (อมตะ) จำกัด ซึ่ง คชก.เห็นชอบเมื่อ มิ.ย.51 9.โครงการสำรวจปิโตรเลียม โดยวิธีวัดคลื่นไหวสะเทือนในทะเล แบบ 2 มิติ แปลงสัมปทานปิโตรเลียม หมายเลข G2/48 ตั้งที่อ่าวไทย ของบริษัท เพิร์ล ออย (อมตะ) จำกัด ซึ่ง คชก.เห็นชอบเมื่อ มิ.ย.51 10.การขอเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียมในแหล่งแร่ไพลิน บริเวณอ่าวไทย ของบริษัท เซฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด ซึ่ง คชก.ให้ความเห็นชอบเมื่อพ.ย.51 11.โครงการพัฒนาปิโตรเลียมแหล่งสงขลา แปลงสัมปทานปิโตรเลียมหมายเลข G5/43 และ G5/50 บริเวณอ่าวไทย ของบริษัทนิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่ง คชก.เห็นชอบเมื่อ พ.ย.51
12.โครงการผลิตปิโตรเลียมพื้นที่ผลิตมะลิวัลย์ ระยะที่ 2 แปลงสัมปทานปิโตรเลียม หมายเลข B8/32 บริเวณอ่าวไทย ของบริษัท เซฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่ง คชก.เห็นชอบเมื่อ พ.ย.51 13.โครงการผลิตปิโตรเลียมพื้นที่ผลิตยูงทอง แปลงสัมปทานปิโตรเลียม หมายเลข G4/48 บริเวณอ่าวไทย ของบริษัท เซฟรอน ปัตตานี จำกัด ซึ่ง คชก.เห็นชอบเมื่อธ.ค.51 14.โครงการพัฒนาก๊าซธรรมชาติแหล่งปลาทองระยะที่ 2 แปลงสัมปทานปิโตรเลียมหมายเลข 10, 10A, 11 และ 11A บริเวณอ่าวไทย ของบริษัท เซฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด ซึ่ง คชก.เห็นชอบเมื่อ ธ.ค.51 15.โครงการสำรวจปิโตรเลียมโดยวิธีวัดคลื่นไหวสะเทือนแบบ 3 มิติ แปลงสัมปทานหมายเลข G4/50 บริเวณอ่าวไทย ของบริษัท เซฟรอน ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่ง คชก.เห็นชอบเมื่อ ธ.ค.51
16.โครงการผลิตก๊าซธรรมชาติแหล่งมรกตและอุบลตะวันตก แปลงสัมปทานปิโตรเลียมหมายเลข B12/27 บริเวณอ่าวไทย ของบริษัท เซฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด ซึ่ง คชก.เห็นชอบเมื่อ ม.ค.52 17.การขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการสำรวจปิโตรเลียมด้วยวิธีวัดคลื่นไหวสะเทือน 3 มิติ แปลงสัมปทานหมายเลข G4/50 บริเวณอ่าวไทย ของ บริษัท เซฟรอน ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่ง คชก.เห็นชอบเมื่อ ก.พ.52 18.การของเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการผลิตปิโตรเลียม แปลงสัมปทานหมายเลข B8/38 พื้นที่บัวหลวง บริเวณอ่าวไทย ของบริษัท โซโคเอ็กซ์พลอเรชั่น (ประเทศไทย)จำกัด ซึ่ง คชก.เห็นชอบเมื่อมี.ค.52 19.โครงการขุดเจาะหลุมสำรวจปิโตรเลียมแปลงสำรวจปิโตรเลียมหมายเลขG10/48 บริเวณอ่าวไทย ของบริษัท เพิร์ล ออย (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่ง คชก.เห็นชอบเมื่อ เม.ย.52 20.โครงการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมในทะเล แปลงสัมปทานหมายเลข G11/48 บริเวณอ่าวไทย ของบริษัท เพิร์ล ออย บางกอก จำกัด ซึ่ง คชก.เห็นชอบเมื่อ มิ.ย.52
21.โครงการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมในทะเล แปลงสัมปทานหมายเลข G2/48 หลุมkaew-1 บริเวณอ่าวไทย ของบริษัท เพิร์ล ออย ออฟชอร์ จำกัด ซึ่ง คชก.เห็นชอบเมื่อมิ.ย.52 22.โครงการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมในทะเล แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข G6/48 ของบริษัท เพิร์ล ออย (อมตะ) จำกัด ซึ่ง คชก.เห็นชอบเมื่อต.ค.52 23.โครงการปิโตรเลียมของบริษัท โซโคเอ็กซ์พลอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ของบริษัทโซโคเอ็กซ์พลอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่ง คชก.เห็นชอบเมื่อ ต.ค.52 24.โครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมG4/50 อ่าวไทย ของบริษัท เซฟรอน ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่ง คชก.เห็นชอบเมื่อต.ค.52 25.โครงการจัดการน้ำจากกระบวนการผลิตพื้นที่แหล่งผลิตแหล่งจัสมิน แปลงสัมปทานปิโตรเลียม หมายเลข B5/27 อ่าวไทย ของบริษัท เพิร์ล ออย (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่ง คชก.เห็นชอบเมื่อ ต.ค.52 26.โครงการขุด เจาะ สำรวจ ปิโตรเลียมอื่นใดในบริเวณพื้นที่อ่าวไทย ที่ได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมาจนถึงปัจจุบัน ของทุกบริษัทที่เกี่ยวข้อง ที่คชก.เห็นชอบ ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.50- ปัจจุบัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น