วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ศาลโลก บรรยาย “ชะง่อนผา” เขาพระวิหารเกินขอบเขต

 “ฟิฟทีนมูฟ” แฉนิยามวรรค 98 คำตัดสินศาลโลก บรรยาย “ชะง่อนผา” เขาพระวิหารเกินขอบเขต รวมเอาพลาญอินทรีย์ สถูปคู่ เข้าไปด้วย พบไทยต้องเสียให้กัมพูชาเกือบครึ่งหนึ่งของ 4.6 ตร.กม.แถมเขมรอาจตีความเอาภาพสลักนูนต่ำบนผามออีแดง ซ้ำยังให้ใช้แผนที่ 1 ต่อ 2 แสนกำหนดแนวทิศเหนือของชะง่อนผา เท่ากับศาลให้ใช้เส้นนี้กำหนดเขตแดนไทย-กัมพูชา
      


เขาพระวิหาร ที่สื่อไทย นักการเมือง ทหารใหญ่ ทำให้คนไทย เข้าใจอะไรผิดๆ ไม่มีพื้นที่ทับซ้อน บนเขาพระวิหาร มีแต่ พื้นที่ ที่ถูกเขมรยึดไว้!!!

       หลังจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลก ได้อ่านคำพิพากษาคดีการตีความคำตัดสินคดีปราสาทพระวิหารปี 2505 เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาสรุปได้ว่า พื้นที่บริเวณชะง่อนผา หรือ ยอดเขา (promontory) ตามที่ศาลได้อธิบายไว้ในวรรคที่ 98 ของคำตัดสินนี้ เป็นพื้นที่ของกัมพูชา และไทยมีพันธกรณีที่จะถอนกำลังทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาจากบริเวณนั้นทั้งหมด ซึ่งทำให้เกิดการถกเถียงว่า ชะง่อนผา หรือ ยอดเขา ตามวรรค 98 กินพื้นที่แค่ไหนกันแน่ ล่าสุดเว็บไซต์ “ฟิฟทีนมูฟ” ซึ่งได้เกาะติดการเสียดินแดนบริเวณปราสาทพระวิหารมาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องยาวนาน ได้นำเสนอรายงานพิเศษเรื่อง คำตัดสินคดีพระวิหาร “เล็ก แคบ จำกัด” แค่ไหนโดยการแปลคำนิยามของวรรคที่ 98 ของคำตัดสินศาลโลกวันที่ 11 พ.ย.56 แล้วนำไปวางจุดบนแผนที่จริงและคำนวณพื้นที่ ซึ่งพบว่าขอบเขตของชะง่อนผาพระวิหาร ตามคำนิยามวรรค 98 มีพื้นที่ใกล้เคียงครึ่งหนึ่ของพื้นที่ 4.6 ตร.กม.และบรรยายขอบเขตกินความไกลเกินกว่าคำว่าชะง่อนผา คือรวมเอาพื้นที่หุบเขาพลาญอินทรีย์ เนินที่ตั้งของสถูปคู่และธงชาติไทย เข้าไว้ด้วย ทั้งนี้ ไม่นับรวมว่าอาจมีการตีความกินพื้นที่ผามออีแดงที่มีรูปสลักนูนต่ำและอื่นๆ เข้าไปด้วย
      
       นอกจากนี้ แม้ศาลโลกจะพยายามบอกว่าไม่ได้ตีความเรื่องเขตแดน แต่การให้ใช้เส้นในแผนที่ภาคผนวก 1 (มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000) กำหนดขอบเขตล่วงเลยไปไกลกว่าสภาพทางภูมิศาสตร์ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะบอกว่าศาลโลกให้ใช้เส้นนี้แบ่งเขตระหว่างไทย-กัมพูชา
      
       คำตัดสินคดีพระวิหาร “เล็ก แคบ จำกัด” แค่ไหน 
       (โดย เว็บไซต์ “ฟิฟทีนมูฟ”)
      
       จากคำตัดสินของศาลโลกเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ในคดีที่กัมพูชาขอให้ตีความคำตัดสินเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๖ ศาลโลกได้มีมติเป็นเอกฉันท์ รวมผู้พิพากษาสมทบ (Judge ad hoc) ชาวฝรั่งเศสที่ไทยแต่งตั้งด้วย มีสาระคัญ ๒ เรื่อง คือ ส่วนแรกศาลคิดว่าศาลมีอำนาจในการตีความ และส่วนที่สอง ตีความว่า คำตัดสินเมื่อ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๐๕ ได้ตัดสินว่ากัมพูชามีอธิปไตยเหนือพื้นที่ทั้งหมดของชะง่อนผาหรือยอดเขา (promontory) พระวิหาร ดังกำหนดไว้ในวรรค ๙๘ ของคำตัดสินปัจจุบัน
      
       คำตัดสินที่ “เป็นคุณแก่ไทย” ตามที่นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะหัวหน้าทีมกฎหมายต่อสู้คดีปราสาทพระวิหาร ระบุว่า “เล็ก แคบ จำกัด” นั้นกินพื้นที่แค่ไหน จำเป็นต้องไปดูการบรรยายขอบเขตที่วรรค ๙๘ ซึ่งระบุไว้ดังนี้
      
       98. From the reasoning in the 1962 Judgment, seen in the light of the pleadings in the original proceedings, it appears that the limits of the promontory of Preah Vihear, to the south of the Annex I map line, consist of natural features. To the east, south and south-west, the promontory drops in a steep escarpment to the Cambodian plain. The Parties were in agreement in 1962 that this escarpment, and the land at its foot, were under Cambodian sovereignty in any event. To the west and north-west, the land drops in a slope, less steep than the escarpment but nonetheless pronounced, into the valley which separates Preah Vihear from the neighbouring hill of Phnom Trap, a valley which itself drops away in the south to the Cambodian plain (see paragraph 89 above). For the reasons already given (see paragraphs 92-97 above), the Court considers that Phnom Trap lay outside the disputed area and the 1962 Judgment did not address the question whether it was located in Thai or Cambodian territory. Accordingly, the Court considers that the promontory of Preah Vihear ends at the foot of the hill of Phnom Trap, that is to say: where the ground begins to rise from the valley.
      
       In the north, the limit of the promontory is the Annex I map line, from a point to the north-east of the Temple where that line abuts the escarpment to a point in the north-west where the ground begins to rise from the valley, at the foot of the hill of Phnom Trap.
      
       The Court considers that the second operative paragraph of the 1962 Judgment required Thailand to withdraw from the whole territory of the promontory, thus defined, to Thai territory any Thai personnel stationed on that promontory.
      
       การบรรยายขอบเขตของชะง่อนผาพระวิหารตามวรรค ๙๘ แจกแจงได้ดังนี้
      
       (๑) ทิศตะวันออก ทิศใต้ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ ชะง่อนผาชันดิ่งจากขอบผาลงไปยังตีนเขาและพื้นราบของกัมพูชา (ซึ่งขอบผาที่ว่าก็คือเส้นสันปันน้ำที่เป็นเส้นเขตแดนอย่างที่ควรจะเป็น)
      
       (๒) ทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือ พื้นดินลาดต่ำแต่ไม่สูงชันลงไปยังหุบเขา (พลาญอินทรีย์) ที่แยกพระวิหารออกจากภูมะเขือ (Phnom Trap) ซึ่งเป็นเนินเขาใกล้เคียง หุบเขาที่ว่าลาดต่ำไปทางทิศใต้ลงไปยังพื้นราบของกัมพูชา ขอบเขตตามทิศนี้ศาลโลกชี้ว่าชะง่อนผาพระวิหารสิ้นสุดที่ตีนเขาของภูมะเขือ และเจาะจงว่าคือแนวที่พื้นดินเริ่มยกตัวสูงขึ้นจากหุบเขา (ฝั่งภูมะเขือ)
      
       (๓) ทิศเหนือ ขอบเขตของชะง่อนผาคือเส้นในแผนที่ภาคผนวกหนึ่ง (Annex I map line) โดยบรรยายว่าเริ่มต้นจากจุดทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวปราสาทคือจุดที่เส้นจรดกับที่ลาดชัน/หน้าผา (escarpment) ไล่แนวไปยังจุดในทิศตะวันตกเฉียงเหนือที่พื้นดินเริ่มยกตัวจากหุบเขา (พลาญอินทรีย์) ที่ตีนเขาภูมะเขือ
      
       คำบรรยายขอบเขตชะง่อนผาหรือยอดเขาพระวิหาร ศาลโลกได้ใช้แผนที่ภาคผนวก ๑ และเส้นในแผนที่ภาคผนวก ๑ เป็นเส้นแบ่ง ส่วนที่เหลือใช้ลักษณะทางภูมิศาสตร์และระดับสูงต่ำของพื้นที่ ประเด็นที่ต้องพิจารณาหลักคือ เส้นในแผนที่ภาคผนวก ๑ อยู่ตรงไหนของภูมิศาสตร์จริงหรือในแผนที่ปัจจุบัน เป็นที่ทราบว่าแผนที่ดังกล่าวคือแผนที่ต่อท้ายคำฟ้องคดีปราสาทพระวิหารเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตราส่วน ๑ ต่อ ๒๐๐,๐๐๐ ระวางดงรัก จัดทำขึ้นตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.๒๔๕๐ (ค.ศ. ๑๙๐๗) ที่มีความคลาดเคลื่อนทางภูมิศาสตร์อย่างมาก และไม่สามารถมาวางทาบในแผนที่ปัจจุบันได้ การกำหนดพิกัดให้ใกล้เคียงเป็นเรื่องยาก ภายหลังกัมพูชาได้มีการนำแผนที่ภาคผนวก ๑ มาขยาย เช่น Map sheet 3 attached to annex 49 (มาตราส่วน ๑ ต่อ ๕๐,๐๐๐) หรือในรูปแบบอื่นที่อ้างว่าเป็นส่วนขยายของแผนนี้ เช่น ที่ยื่นต่อคณะกรรมการมรดกโลกและเอกสารตอบโต้คำชี้แจงของฝ่ายไทยที่ส่งไปยังศาลโลก เป็นต้น ไทยก็ได้มีการจัดทำแผนที่ลักษณะคล้ายกัน คือ แผนที่เขาพระวิหาร มาตราส่วน ๑ ต่อ ๑๕,๐๐๐ (ปรากฎในเอกสารที่กัมพูชายื่นขอจดทะเบียนปราสาทพระวิหาร)
      
       จากแผนที่ส่วนขยายของแผนที่ภาคผนวก ๑ เท่าที่รวบรวบได้ พอที่จะกำหนด “เส้นในแผนที่ภาคผนวก ๑” ที่มีความเป็นไปได้ และขอบเขตของพื้นที่ “เล็ก แคบ จำกัด” ของชะง่อนผาหรือยอดเขาพระวิหาร ได้ดังนี้
ภาพแผนที่ทางภูมิศาสตร์แสดงความสูงของพื้นที่แสดงขอบเขตชะง่อนผาพระวิหารตามการตีความของศาลโลก ๑๑ พ.ย. ๕๖
      
ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงขอบเขตชะง่อนผาพระวิหารตามการตีความของศาลโลก เมื่อ ๑๑ พ.ย. ๕๖
       แผนที่ทั้งสองแสดงขอบเขตของชะง่อนผาหรือยอดเขาพระวิหารตามแต่จะเรียก ด้วยเส้นประสีแดงและสุดที่ขอบผาเขาพระวิหารเนื่องจากเป็นเขตของไทยแต่เดิมก่อนการตีความ โดยมีข้อสังเกตเพิ่มเติม
     
       (๑) ศาลโลกให้นับรวมหุบเขาซึ่งคือส่วนที่เป็นพลาญอินทรีย์ เข้าเป็นส่วนเดียวกับชะง่อนผาเขาพระวิหาร (ดูคำอธิบายที่ส่วนแจกแจง ทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือ) บริเวณนี้เป็นจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่มีการปะทะเกิดขึ้นหลายครั้ง
     
       (๒) จุดทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (บริเวณผามออีแดง) ที่อธิบายจุดเริ่มของเส้นในแผนที่ภาคผนวก ๑ มีความเป็นไปได้ ๒ แนวทาง คือ จุดแดงที่อยู่เหนือศูนย์วัฒนธรรมขึ้นไปซึ่งเป็นบริเวณจุดบรรจบที่พบในแผนที่ต่างๆ กับ จุดสีเหลืองอยู่บริเวณขอบผาของศาลาจุดชมวิว ซึ่งสอดคล้องกับการบรรยายของศาลโลก
     
       จากการคำนวณเบื้องต้นขอบเขตของชะง่อนผาพระวิหารมีพื้นที่ใกล้เคียง ๑/๒ ของพื้นที่ ๔.๖ ตร.กม.ที่เขมรรุกล้ำเข้ามา นอกจากนี้มีความชัดเจนว่าการบรรยายขอบเขตกินความไกลเกินกว่าคำว่าชะง่อนผา คือรวมเอา (๑) พื้นที่หุบเขาพลาญอินทรีย์ (๒) เนินที่ตั้งของสถูปคู่และธงชาติไทย เข้าไว้ด้วย ทั้งนี้ ไม่นับรวมว่าอาจมีการตีความกินพื้นที่ผามออีแดงที่มีรูปสลักนูนต่ำและอื่นๆ เข้าไปด้วย
     
       หากจะจำกัดพื้นที่ของชะง่อนผาให้ตรงตามภูมิศาสตร์จริง เส้นแบ่งสำคัญทางทิศเหนือควรเป็นห้วยตานี และใช้ห้วยนี้เป็นแนวเริ่มจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปยังทิศตะวันตกเฉียงเหนือสิ้นสุดที่หุบซึ่งอยู่ใต้สมบกคะมุม (ทิศเหนือของวัดแก้วฯ)
     
       แม้ศาลโลกจะพยายามบอกว่าไม่ได้ตีความเขตแดน แต่การใช้เส้นในแผนที่ภาคผนวก ๑ กำหนดขอบเขตล่วงเลยไปไกลกว่าสภาพทางภูมิศาสตร์ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเอ่ยว่าศาลโลกให้ใช้เส้นนี้แบ่งเขตระหว่างไทย-กัมพูชา คือการชี้เขตแดนโดยนัย ส่วนที่ศาลขอให้ทั้งสองประเทศร่วมกันดูแลมรดกโลกนั้น เห็นว่าศาลโลกทะลึ่งพูดเลยเถิดไปไกลเกินกว่าคำขอของกัมพูชาและเกินขอบเขตหน้าที่ของตัวเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น