วันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ภาพเก่า “เขาพระวิหาร” - 2

วันศุกร์ ที่ 13 มิถุนายน 2551
Posted by ศุภศรุต , ผู้อ่าน : 10595 , 15:40:57 น.
หมวด : ศิลปะ/วัฒนธรรม

พิมพ์หน้านี้
โหวต 0 คน

เมื่อเจ้านโรดมสีหนุเสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อจาก " พระเจ้าศรีสวัสดิ์มุนีวงศ์ " เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2484

.

พระองค์คงจะได้เก็บ ความทรงจำ ที่ปวดร้าวของพระอัยกา ต่อการสูญเสียแผ่นดินกัมพูชาอันไพศาล อันได้แก่ จังหวัดเสียมเรียบ จังหวัดอุดรมีชัย จังหวัดสตึงแตร็ง - รัตนคีรี จังหวัดโพธิสัตว์ (สวาย) จังหวัดกัมปงธม รวมทั้งจังหวัดพระวิหาร อันเป็นที่ตั้งของ ปราสาทเขาพระวิหาร ให้แก่ประเทศไทยในปี พ.ศ.2483 ในสภาพการณ์ของสงครามมหาเอเชียบูรพาและการบีบบังคับของกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งพระองค์ได้บันทึกเรื่องราวนี้ไว้ว่า

.

......จากการสูญเสียดินแดนเขมรอันศักดิ์สิทธิ์ในครั้งนั้น คุณตาของฉัน คือ สมเด็จศรีสวัสดิ์มุนีวงศ์ทรงตรอมตรมพระราชหฤทัยและเสด็จสวรรคตด้วยความเศร้าโศก .......

.

.

ประวัติศาสตร์กัมพูชาบันทึกไว้ว่า พระเจ้าศรีสวัสดิ์มุนีวงศ์ กษัตริย์ในอารักขาของฝรั่งเศส เสด็จสวรรคตในปีเดียวกันกับที่ทรงสละราชสมบัติ ณ เมืองท่ากำปอด

.

.....แต่เพราะด้วยชัยชนะของฝรั่งเศสในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ฉันได้มีโอกาสทางประวัติศาสตร์ในการกอบกู้ดินแดนคืนให้แก่มาตุภูมิของฉันอีกครั้ง นั่นคือดินแดนของชาวกัมพูชาที่เคยสูญเสียให้แก่ประเทศไทยและได้ยอมรับที่จะคืนให้แก่พวกเรา.. ....พวกเรา กัมพูชา ชาติเขมรและประชาชนชาวกัมพูชาทุกคน

.
ความฝังใจในการสูญเสียแผ่นดินให้กับประเทศไทยของสมเด็จเจ้านโรดมสีหนุ ยังคงเป็นแรงผลักดันให้พระองค์ตั้งตัวของพระองค์เป็นปรปักษ์กับรัฐบาลไทยมาตลอดเวลา และด้วยบุคลิกภาพและรูปร่างหน้าตาที่เป็นแรงดึงดูด ประกอบกับความเป็น "
ผู้นำ" ในการฟื้นฟู ลัทธิชาตินิยม ของกัมพูชายุคใหม่ พระองค์ทรงวางเกมการเมืองอย่างชาญฉลาด ยอมเป็นลูกแมวน้อยที่ไม่เชื่องนักของฝรั่งเศส แต่ก็หันไปคบกับคอมมิวนิสต์จีนและเวียดนาม รวมทั้งยอมรับการช่วยเหลือและเปิดพื้นที่ให้อเมริกาเข้ามาในภูมิภาคเป็นครั้งเป็นคราว

.

ซึ่งความสำเร็จจากการวางตัวแบบ หลายหัวหลายด้าน นี้ นำมาซึ่งความสำเร็จในการประกาศเอกราชของประเทศกัมพูชาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497

.

แต่เมื่อการเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่มีข้อจำกัดมากมาย พระองค์จึงเปลี่ยนสถานะ กระโดดลงมาเล่นการเมืองอย่างเต็มตัว โดยทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2498 และถวายราชบัลลังก์กษัตริย์ที่ไร้อำนาจนั้นให้แก่พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สุรามฤต พระราชบิดาของพระองค์เอง

.

และ นายกรัฐมนตรีสีหนุ ได้ยื่นฟ้องศาลโลก เพื่อขอทวงคืนอธิปไตยบนปราสาทเขาพระวิหาร ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของชาวกัมพูชาในทันที !!!

.

เดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2505 ศาลโลกได้พิจารณาตามหลักฐานที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างถึงแผนที่ที่จัดทำขึ้นตามสนธิสัญญาพุทธศักราช 2447 ที่มี พลเอกหม่อมชาติเดชอุดม เป็นประธานฝ่ายไทย และ พันโทแบร์นารด์ เป็นประธานฝ่ายฝรั่งเศส ซึ่งได้มีการส่งแผนที่ดังกล่าวให้รัฐบาลสยามจำนวน 50 ฉบับโดย "พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ" เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยทรง "ตอบรับ" ในปี พ.ศ. 2451 พร้อมทั้งทรงขอแผนที่ดังกล่าวเพิ่มเติมอีก 15 ชุดเพื่อไปแจกจ่ายให้กับข้าราชการในท้องถิ่น

.

ข้อวินิจฉัยของศาลโลก ก็คือ ให้ถือว่า ราชอาณาจักรไทยยอมรับแผนที่ดังกล่าว เพราะเหตุนิ่งเฉยและมิได้ประท้วงแผนที่นั้นในอดีต จึงมีมติ 9 ต่อ 3 ให้พื้นที่150 ไร่ รูปห้าเหลี่ยมคางหมู ตกเป็นของประเทศกัมพูชา ( ดูจากแผนที่นะครับ)

.

.

แผนที่ซ้อนทับ แรงเงาสีแดงคืนพื้นที่ซ้อนทับ

.

คำตัดสินดังกล่าว นำมาสู่ความยินดีอย่างที่สุดของเจ้านโรดมสีหนุและชาวกัมพูชา พระองค์ทรงถือเป็นชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศ ในยุคสังคมประชาชาติหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

.

และดูเหมือนว่า ชัยชนะในปี พ.ศ. 2505 ดูจะยิ่งใหญ่และถูกนำมาสร้างเป็นสัญลักษณ์ แห่งความภาคภูมิใจให้กับชาวกัมพูชา มาตลอด 50 กว่าปี

.

สัญลักษณ์ เขาพระวิหาร จึงไม่ใช่เป็นเพียง "ศาสนบรรพตที่มีภูมิทัศน์โดดเด่นที่สุดในเอเชียอาคเนย์" อีกต่อไป มันได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งชาตินิยม ที่ฝังใจชาวกัมพูชา ไม่ว่าในยุคสมัยใด

.

.

.

ภาพ ภาพแกะสลักพระนารายณ์ พระนางลักษมีและนางภูมิเทวี ที่ผามออีแดง

.

.

ภาพ สถูปคู่

.

ชัยชนะของเขาพระวิหารในครั้งนั้น คือชัยชนะเหนือประเทศเพื่อนบ้านที่ยิ่งใหญ่อย่าง "ประเทศไทย" ที่ชาวกัมพูชาถือว่า คอยเหยียบย่ำ รุกรานและแสวงหาประโยชน์จากแผ่นดินกัมพูชามาโดยตลอด

.

ในมุมกลับกัน ชาวไทยจำนวนมากต่างก็ร่ำไห้เสียใจ ต่อการสูญเสียอธิปไตยของเขาพระวิหารให้กับประเทศกัมพูชา ที่ดูจะยิ่งใหญ่กว่าการร่ำร้องแผ่นดินอื่น ๆ ที่ถูกแย่งชิงไปโดยจักรวรรดินิยมอังกฤษและฝรั่งเศส

.

เพราะมันหมายถึง ความพ่ายแพ้ ของ ชาตินิยม ในไทย ต่อประเทศเล็ก ๆ อย่างกัมพูชาในเวทีโลกปัจจุบันหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

.

ส่วน เส้นกั้นพรมแดนไทย - กัมพูชา หลังจากปี พ.ศ. 2505 ก็ยังไม่มีการปักปันอย่างชัดเจนแต่อย่างใด เพราะในประเทศกัมพูชาเองก็เกิดสงครามกลางเมืองมาตลอด

.

และเมื่อมีเสถียรภาพหลังปี พ.ศ. 2537 ปัญหาการปักปันเส้นกั้นพรมแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะชัดเจนแต่อย่างใด

.

เส้นกั้นพรมแดนทั้งตลอดแนวชายแดนก็ยังคงเป็นปัญหาไม่รู้จบมาจนถึงปัจจุบัน ฝ่ายกัมพูชายังคงถือแผนที่ของฝรั่งเศส ที่อ้างว่ายึดตามแนวสันปันน้ำ (แต่ความเป็นจริงก็ขีดเส้นเองในแผนที่)ในขณะที่ฝ่ายไทย ยึดแผนที่ของสหรัฐอเมริกาที่ปรับปรุงใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

.

.

ภาพ ประตูทางขึ้นใหม่ที่ร่นลงมาจากด้านบน รุกล้ำโดยเปิดเผย ?

.

ชายแดนไทย- กัมพูชาในปัจจุบัน จึงมีลักษณะ ทั้ง No Man's Land และทั้งแบบการจัดหมู่บ้านอาสาเข้าไปตั้งที่บริเวณเส้นเขตแดนเสมือน มีการแข่งขันกันทางกายภาพเพื่อครอบครองแผ่นดิน มากกว่าจะมีหลักเขตที่ชัดเจน

.

วิกฤตการณ์เขาพระวิหาร ก็เช่นกันครับ เมื่อปัญหาของ เส้นแบ่งเขตแดนที่มองไม่เห็น ยังไม่ได้รับการเจรจาปักปัน พื้นที่ใดใครเข้าครอบครอง ก็จะถือว่าเป็นดินแดนของตน

.

เขาพระวิหารจึงเกิดการซ้อนทับแผนที่และเกิดการตั้งถิ่นฐานเข้ามาครอบครองพื้นที่เชิงเขา เมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว เพราะในก่อนหน้านั้นประมาณปี 2534 ผมได้มีโอกาสขึ้นไปเที่ยวชมปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งในเวลานั้น ประตูเหล็กของฝ่ายไทยในครั้งเสียเขาพระวิหารในปี 2505 ก็ยังคงอยู่ ซึ่งในรายละเอียดในคำตัดสินของศาลโลกยังคงให้ประเทศไทยเป็นเจ้าของ บันได ทางขึ้นจนถึงชั้น บันไดนาคราช

.

.

.

ภาพ บันไดทางขึ้น ซึ่งแต่เดิมจะมี "ประตูเหล็ก" และ "แนวลวดหนาม"กั้นแบ่งเขตบนชั้นที่ 162 (ตรงป้อมขาวจะเห็นประตูรั้วลวดหนาม) ซึ่งตามคำสั่งศาลโลกและมติคณะรัฐมนตรีในยุคนั้น "บันได" ทางขึ้นชั้นล่างจะเป็นของไทย !!!

(ภาพขาวดำ จากหนังสือ"เขาพระวิหาร: ระเบิดเวลาจากยุคอาณานิคม" (หน้า 52) ของ ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม)

.

.

.

ภาพ ชั้นนาค(ราวบันได) จุดเริ่มต้นเขตของกัมพูชาตามคำสั่งศาลโลก

.

แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้เองครับ เกิดการรุกเข้ามาตั้งบ้านเรือน ฐานที่มั่นทางทหาร ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ และลานร้านค้า ขยายตัวออกจากฐานบันไดลงมาเชิงเขา

.

ประมาณ ปี พ.ศ. 2544 มีการย้ายประตูเหล็กมายังร่องน้ำเล็ก ๆ เชิงทางขึ้นเขาพระวิหาร ตามตำแหน่งการแบ่งเขตแดนในแผนที่ของประเทศฝรั่งเศสที่ยึดเรื่องของ ร่องน้ำลึก เป็นสำคัญ ร่องน้ำเล็ก ๆ ที่ไหลออกจากสระตราวลงไปที่หน้าผาตะวันออก จึงกลายมาเป็นพรมแดนใหม่ในทันที

.

ตรงนี้จึงถือได้ว่า มีการรุกล้ำอธิปไตยและเข้ามายึดครองอย่างถาวร โดยไม่มีการผลักดันทางทหารจากฝ่ายไทยเลย !!!

.

.

.

แต่ก็เพราะบริเวณฝั่งประเทศไทยเองก็ไม่มีชุมชนตั้งอยู่ เป็นเขตป่าเขาพนมดงรัก ซึ่งในปีพ.ศ. 2541 ได้มีการประกาศเป็น "เขตอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร" ประชิดกับตัวปราสาท จึงไม่มีหมู่บ้านของคนไทยไปอยู่อาศัยในพื้นที่อุทยาน นอกจากฐานที่มั่นของตชด.และทหารพราน ซึ่งในเวลานั้น ก็ไม่ได้รับคำสั่งให้เข้าผลักดันการรุกล้ำดินแดน ด้วยเพราะเหตุผลสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่กำลังเติบโตขึ้น

.

เฮ้อ....(ถอนหายใจ)

.

.

.

ภาพ บารายชั้นล่าง

.

เดิมฝ่ายกัมพูชาสามารถขึ้นเขาพระวิหารได้เพียงทางเดียว คือ ช่องบันไดหัก ที่อยู่ห่างจากผนังปราสาทประมาณ 100 เมตร แต่เมื่อไร้การทักท้วงจากฝั่งไทย พลมด กัมพูชา ก็หลั่งไหลขึ้นมาตั้งถิ่นฐานจนสามารถตั้ง หมู่บ้าน เพื่อทำธุรกิจบริการท่องเที่ยวบนเขาพระวิหารขึ้นในเขตทับซ้อนได้มาเป็นนานหลายปี

.

ฝ่ายทหารกัมพูชาแต่ละฝ่าย จนถึงยุคปัจจุบันก็ติดตาม พลมดเข้ามาตั้งค่ายพักในพื้นที่ทับซ้อนและควบคุมแนวชายแดนได้อย่างถาวร !!!

.

.

ภาพ สุขาชั่วคราวบนลานชั้นที่สอง

.

การอ้างสิทธิในดินแดน "ทับซ้อน" ของประเทศกัมพูชา ตามเอกสารแนบท้ายการขอขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม จึงกลายมาเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาวิกฤตการณ์เขาพระวิหาร ในปี พ.ศ. 2551

.

เพราะเอกสารได้ใช้แนวเขตแดน ตามแผนที่ฝรั่งเศสและใช้การอ้างอิงจากการตั้งถิ่นฐานของชาวกัมพูชาเชิงเขาพระวิหารที่มีอยู่จริง ให้กับ UNESCO

.

อีกทั้งยังปฏิเสธความร่วมมือในการขอมรดกโลกร่วมกัน ระหว่างเขาพระวิหารของกัมพูชาและโบราณสถาน วัฒนธรรม ในภูมิภาคเดียวกับเขาพระวิหาร ในลักษณะเป็น พหุภูมิภาค (Multiregional) อันได้แก่ "สระตราว" บารายโบราณขนาดมหึมาของเขาพระวิหาร, มออีแดง แหล่งพำนักของเหล่าช่างและครัวเรือน กัลปนา ครัวเรือนที่อุทิศถวายแก่เทพเจ้า, สถูปคู่ สถูปหินที่เชื่อว่าเป็นที่เก็บอัฐิของ "วรกมรเตงอัญ ตปัสวีนทรบัณฑิต" และ ภควัตบาท กมรเตงอัญ ตะ คุรุศรีทิวากรบัณฑิต ผู้ดูแลครัวเรือนของหมู่บ้านศัมภูกรมและภวกรม, ถ้ำและน้ำตกขุนศรี ถ้ำที่หลวงศรี นักบวชนุ่มขาวห่มขาว ผู้เฝ้าปราสาทเขาพระวิหาร รับเงินเดือนจากรัฐบาลไทย ในช่วงรัชกาลที่ 5 – 6 ,น้ำตกตานีหรือน้ำตกห้วยตา น้ำตกขนาดเล็กใกล้กับมออีแดง ,“ถ้ำฤๅษี เพิงถ้ำขนาดใหญ่ใกล้กับสระตราว และ แหล่งตัดหินสร้างปราสาท บริเวณสระตราว ขึ้นทะเบียนเป็นมรดโลกทางวัฒนธรรมร่วมกัน

.

.

ภาพ ประตูหลอกสลักลายตามอย่างประตูไม้ ที่หายไปหมดแล้ว ศิลปะแบบบาปวนและเกลียง ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 16

.

การแก้ปัญหาพื้นที่ซ้อนทับ จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข ทั้งในแผนที่ซึ่งก็มีข่าวว่าทางประเทศกัมพูชารับข้อเสนอที่จะแก้ไขแผนที่แนบท้ายแล้ว

.

อีกทั้งทาง กายภาพ ที่ปรากฏการรุกล้ำ ครอบครองดินแดนเชิงเขาพระวิหารอย่างเปิดเผยของชาวกัมพูชา จนนำไปสู่การปลุกสำนึกชาตินิยมในจังหวัดศรีสะเกษ ที่มีเป้าหมายจะทวงคืนดินแดนเล็ก ๆ เพียง 8 ตารางกิโลเมตรนั้นคืนจากการครอบครองของกัมพูชา

.

.

.

ภาพ ปราสาทประธานเขาพระวิหาร ส่วนเรือนปราสาทพังลงมา เหลือแต่มณฑป

.

ซึ่งดินแดนซ้อนทับเล็ก ๆ นี้ อาจกลายมาเป็นวิกฤตร้อน ปะทุระอุขึ้นเป็น"ข้อพิพาท" จนลามไปกระทบชิ่ง ประวัติศาสตร์แห่งความอัปยศของชาวไทย ที่ต้องพ่ายแพ้และสูญเสียเขาพระวิหารในอดีต ซึ่งมันจะไม่มีผลดีกับประเทศใดเลย มันจะสร้างแต่รอยร้าวและความสูญเสีย

.

ทางออกของปัญหา ประเทศไทยต้องยอมรับว่า มีการปล่อยปะละเลยเพื่อผลทางการท่องเที่ยวและแนวอุทยานแห่งชาติ ได้ทำให้เกิดการรุกล้ำแนวเขตแดน ซ้อนทับ ครั้งใหญ่ที่เขาพระวิหาร เป็นความผิดพลาดของเราเองในส่วนหนึ่ง !!!

.

.

ภาพ ระเบียงคด ที่ตั้งของฐานทัพต่อต้านเวียนามของเขมรเสรีในอดีต

.

ในขณะที่ประเทศกัมพูชา ควรจะเข้าใจและยึดมั่นในคำตัดสินของศาลโลก ให้ดินแดนบริเวณบันไดและพื้นที่ห่างจากกำแพง 100 เมตร กลับคืนมาเป็นของไทย และควรดำเนินการถอนผู้คนออกจากเขตซ้อนทับ ให้เขตซ้อนทับนั้นเป็นเขต“No Man's Land” เสียก่อน

.

อย่าฉีกคำตัดสินของศาลโลกเอง เพราะยังมีคนไทย คลั่งชาติ จำนวนมาก ที่อยากจะใช้ประเด็นนี้ นำไปสู่การฟ้องร้องศาลโลกอีกครั้ง เพื่อทวงปราสาทเขาพระวิหาร คืนจากกัมพูชา

.

.

.

.

ภาพ "พลมด" และร้านค้าของที่ระลึก บนส่วนยอดสุดของปราสาท

.

หากปรัชญา มรดกโลกทางวัฒนธรรม คือสมบัติของชาวโลกทุกคน ชาวกัมพูชาก็ควรจะประสานความร่วมมือให้เกิดการขึ้นทะเบียนมรดกโลกร่วมกันบนพื้นฐานของ สันติภาพ และ ความเป็นบ้านพี่เมืองน้อง ในสายเลือดของชาวไทยและกัมพูชากว่า 2,000 ปี

.

มากกว่าจะไปนำประวัติศาสตร์ที่เจ็บแค้น แต่ไม่มี คุณค่า ในโลกปัจจุบัน มาตั้ง ธงแห่งอคติ ใส่ชาวไทย

.

โปรดอย่านำความเจ็บปวดของเจ้าสีหนุ และลัทธิ ชาตินิยม เห่ย ๆ กลับมาเลย

.

มรดโลก ที่เริ่มต้นด้วยสันติภาพ จะเป็นมรดกที่มีคุณค่าและยืนยาว!!!

.

อย่างไรซะ เขาพระวิหาร ก็ยังเป็น "ศาสนบรรพต" สัญลักษณ์แห่งชัยชนะของชาวกัมพูชาเสมอ

.

.....แต่ บันไดทางขึ้นน่ะ ของไทยชัวร์ ๆ นะครับ เอาคืนมาเสียเถิด ผมมีภาพฟ้องศาลโลกนะ !!!

.

หุหุ.....

.

.
.

.

.

.

.

.

.

.

.

แถมท้ายเที่ยวชม "ประติมานวิทยา" ที่ปราสาทหินเขาพระวิหารกันซักหน่อยละกัน จะได้ไม่เสียเที่ยวเอนทรี่เขาพระวิหารนี้

.

ปราสาทหินเขาพระวิหาร สร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยบูชาพระศิวะ ในลัทธิ"ไศวะนิกาย" ที่กษัตริย์เขมรในสมัยโบราณจะผ่านพิธีกรรมเพื่อจุดมุ่งหมายนำดวงวิญญาณเมืองสวรรคตขึ้นไปรวมกับสกลกษัตริย์หรือเทพเจ้า เกิดเป็นลัทธิ"เทวราชา"

.

ตามจารึกกล่าวถึงเขาพระวิหารครั้งแรก ในสมัยของพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ผู้สถาปนา "ยโศธรปุระ" ในปลายพุทธศตวรรษที่ 14 พระองค์สุถาปนามหาปราสาท "ศรียโศธรคีรี" หรือ "พนมบาเค็ง - พนมกังดาล" ขึ้นเป็นศูนย์กลางจักรวาลแห่งใหม่ รวมทั้งสถาปนาปราสาทบนยอดเขาหลายแห่งเช่นที่พนมบก พนมกรอม และปราสาทเขาพระวิหาร

.

แต่หลักฐานของอาคารในยุค"พนมบาแค็ง" ในต้นพุทธศตวรรษที่ 15 นั้น กลับไม่ปรากฏอยู่บนปราสาทเขาพระวิหารเลย ? จึงเชื่อว่า อาจมีการรื้ออาคารอิฐรุ่นเก่าออก หรือ ปราสาทพระวิหารที่ปรากฏชื่อในจารึกนั้นอาจจะเป็น"ปราสาทโดนตวน" ปราสาทหลังเดี่ยวขนาดย่อม ที่อยู่ในเขตประเทศไทยในปัจจุบันก็เป็นได้........ที่ปราสาทโดนตวนนี้มีร่องรอยการต่อเติมและปรับปรุงมุขยื่นด้านหน้าเป็นศิลปะแบบเกะแกร์ - เกลียง ซึ่งเป็นศิลปะเดียวกันกับปราสาทเขาพระวิหาร

.

ปราสาทหินเขาพระวิหารถูกสร้างขึ้นบนเชิงผาขนาดใหญ่ลูกใหม่ ที่มีภูมิทัศน์ที่โดดเด่น ห่างจากปราสาทโดนตวนมาทางทิศตะวันตก 3 ช่วงหน้าผา สร้างขึ้นในช่วงสมัยของ "พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1" เป็นการสร้างเพียงยุคสมัยเดียวครับ .....สร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 16 ในศิลปะผสมผสานทั้งแบบ บาแค็ง เกาะแกร์ บันทายสรี เกลียงและบาปวน

.

.

.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น