วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

มหากาพย์พลังงานไทยโกงไทย (2) เงื่อนงำกระจายหุ้น ปตท.

จาก http://www.parent-youth.net/index.php?lay=show&ac=article&Id=539153054
ถ้าทุนทักษิณและพวกแปรรูปปตท.เมื่อปี 2544 แบบเนียน ๆ ไม่โลภเกินเหตุ กระแสข้อสงสัยคลางแคลงใจต่อการเข้ามาแบ่งผลประโยชน์มหาศาลในกิจการพลังงานคงไม่เกิดอย่างกว้างขวางและต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันทั้ง ๆ ที่เวลาได้ผ่านไปร่วม 9 ปีแล้ว

       
        ถ้าพวกเขาฮุบหุ้นแบบเนียน ๆ ผ่านกองทุนต่างประเทศ และผ่านโบรกเกอร์ไม่หน้ามืดตามัวไปแย่งเอาจากส่วนจัดสรรของประชาชนรายย่อยที่มีสัดส่วนน้อยกว่าเยอะ การค้นหาหลักฐานบ่งชี้ว่ามี “ผู้มีอำนาจเหนือระบบ” กำหนดและบงการการจัดสรรหุ้นคงจะยากขึ้นอีกมากเพราะเป็นหุ้นที่ผ่านกองทุนต่างประเทศ
       
       ความโลภเกินพิกัดตัวเดียวนี่เองที่ทำให้เกิดหลักฐานผูกมัดปรากฏในประวัติศาสตร์การพลังงานไทยให้จดจำชั่วลูกหลานว่าการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เป็นบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เมื่อพ.ศ.2544 นั้นสกปรกโสมมที่สุดอีกครั้งหนึ่ง และต้องบันทึกว่าการแปรรูป ปตท.เนื้อแท้มาจากทุนและอำนาจทางการเมืองหวังผลประโยชน์และความมั่งคั่งจากกลไกควบคุมพลังงานของไทย
       
        ปตท. แปลงร่างเป็น Super Enterprise ปากหนึ่งบอกว่าการแปรรูปเดินตามปรัชญาการแข่งขันเสรี ทำให้เป็นเอกชนปราศจากการครอบงำของรัฐซึ่งฐานของปรัชญานี้เชื่อว่าทำให้การประกอบการมีประสิทธิภาพขึ้น แต่อีกทางหนึ่งเจ้าบริษัทมหาชนแห่งนี้ก็คงอำนาจหน้าที่ของความเป็นรัฐวิสาหกิจเอาไว้คงเดิม
       
        ปตท.กระจายหุ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2544 รวม 800 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 35 บาท(ปัจจุบันประมาณ 260 บาท) แบ่งเป็น 4 กลุ่มซึ่งแต่ละกลุ่มล้วนมีปัญหาทั้งสิ้น
       
        กลุ่มแรก-หุ้นผู้มีอุปการะคุณ 25 ล้านหุ้น ซึ่งกรรมการปตท.สามารถตัดสินใจที่จะให้ใครก็ได้ในนามของผู้มีอุปการะคุณคำถามตัวโต ๆ ก็คือหุ้นปตท.ตีค่าเป็นทรัพย์สินของส่วนรวมไม่ใช่หุ้นบริษัทเอกชนที่เจ้าของนึกพิศวาสใครก็ยกให้ได้ในราคาถูก ถ้าปตท.ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจจะไม่มีคำครหาใด ๆ สำหรับประเด็นนี้ มูลค่าส่วนต่างของผู้ที่ได้หุ้นกลุ่มนี้ ถ้าคิดจาก 260-35= 225 บาท/หุ้น จะเป็นเม็ดเงินถึง 5,625 ล้านบาทซึ่งบรรดาผู้มีอุปการะคุณใครก็ไม่รู้ได้ไปสบาย ๆ จากกิจการที่เป็นทรัพย์สมบัติชาติ
       
        นี่เป็นความไม่ชอบประการแรกในการกระจายหุ้นครั้งนั้น และที่สำคัญสังคมไทยยังไม่เคยทราบข้อมูลจากปตท.เลยว่าบรรดาผู้มีอุปการะคุณที่ได้รับแจกหุ้นไปมีใครบ้างและได้ไปคนละเท่าไหร่ ทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้เป็นธรรมาภิบาลพื้นฐาน
       
        กลุ่มที่สอง-หุ้นขายให้ผู้ลงทุนต่างประเทศ 320 ล้านหุ้น มูลค่าส่วนต่างประมาณ 7.2 หมื่นล้านบาทไม่นับรวมเงินปันผลและสิทธิอื่น ๆ หุ้นกลุ่มนี้เชื่อว่ามีฝรั่งหัวดำที่เป็นคนไทยและทุนไทยโดยเฉพาะทุนการเมืองคว้าไปโดยจนบัดนี้ก็ไม่เคยปรากฏจะสืบสาวได้ต่อ
       
        กลุ่มที่สาม-เป็นหุ้นสำหรับบุคคลทั่วไปในประเทศ 235 ล้านหุ้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเล่นหุ้นที่มีบัญชีกับโบรกเกอร์อยู่แล้ว
       
        และกลุ่มสุดท้าย-คือหุ้นที่จัดสรรให้ผู้จองซื้อรายย่อยในประเทศ 220 ล้านหุ้น กลุ่มนี้เขาบอกว่าเป็นประชาชนทั่วไปที่พอมีเงินเก็บอยากลงทุนระยะยาว อยู่ตามต่างจังหวัด และเป็นหุ้นแต่งหน้าเค้ก- ก็คือกระจายให้ทั่ว ๆ ลงไปสู่ประชาชนจริง ๆ ให้เกิดภาพลักษณ์ที่สวยงามว่าการแปรรูปครั้งนี้กว้างขวางและลึกไปถึงมือคนไทยอย่างหลากหลาย
       
        อย่างที่บอก-คนที่มีเงินมีอำนาจ สามารถจะหาช่องเก็บหุ้นจาก 3 ส่วนแรกได้สบาย ๆ แค่ 600 ล้านหุ้นก็เป็นสัดส่วนที่โขอยู่ หากต้องการเพิ่มค่อยตามไล่เก็บในตลาดหุ้นภายหลังก็น่าจะไหวอยู่เพราะรายย่อยนั้นพอมีกำไรนิดหน่อยก็คงปล่อยแล้ว
       
        แต่นั่นเองคนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต การจัดสรรให้รายย่อยคุณป้าคุณอาอาซิ้มอาซ้อก็ยังมีปัญหา !
       
        หุ้นที่จัดสรรให้กับรายย่อย 220 ล้านหุ้น(ซึ่งที่จริงในครั้งนั้นกระทรวงการคลังจะเจียดเพิ่มให้อีก 120 ล้านหุ้นรวมแล้วที่จัดสรรผ่านรายย่อยจำนวน 340 ล้านหุ้น)ต้องไปจองซื้อผ่านธนาคารพาณิชย์ 5 แห่งโดยมีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นแม่ข่ายศูนย์ข้อมูลรับจองซื้อหุ้นจากสาขาธนาคารต่าง ๆ ทั่วประเทศ
       
        การขายหุ้นครั้งประวัติศาสตร์เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2544 หมดเกลี้ยงในพริบตา
       
        หุ้นล็อตแรก 220 ล้านหุ้นหมดใน 1.25 นาที !!
       
        หุ้นเพิ่มเติมที่กระทรวงการคลังตัดมาให้อีก 120 ล้านหุ้นก็หมดไปด้วยรวมแล้ว 340 ล้านหุ้นรวมแล้วขายหมดเกลี้ยงในเวลาเพียง 4.4 นาทีเท่านั้น
       
        ถึงขนาดว่าบางธนาคารผู้ลงทุนรายย่อยบางคนยังไม่ทันกรอกรายละเอียดในใบจองเลยหุ้นก็หมดแล้ว
       
        ข่าวสารที่ออกไปก่อนหน้าเขาบอกประชาชนรายย่อยซื้อได้ไม่เกินแสนหุ้น แต่ปรากฏว่ามีคนได้เป็นหลายแสนถึงล้านหุ้นก็มี
       
        หลักฐานหนังสือชี้ชวนเขียนไว้ชัดเจนว่า “ผู้จองซื้อรายย่อยจะต้องจองซื้อขั้นต่ำจำนวน 1,000 หุ้น และจะต้องเป็นทวีคูณของ 100 หุ้นแต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 100,000 หุ้นต่อใบจองซื้อ”
       
        และหากไม่ชัดเจนให้ดูข่าวเก่าที่นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ให้ข่าวกับสื่อมวลชน 5 วันก่อนหน้าวันขายหุ้นเพื่อยืนยันกันอีกครั้งว่าการกระจายหุ้นรอบนี้มีเป้าหมายกระจายให้ชาวบ้านมาประกอบว่ามีเป้าหมายจัดสรรไม่เกินคนละแสนหุ้น
       
       

ปตท.เลื่อนรับใบจองหุ้น / 9 พ.ย. 44
ผู้จัดการรายวัน - นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการประเมินผลหลังจากการเดินสายชี้แจงข้อมูลบริษัทให้แก่นักลงทุนในภูมิภาครวม 5 จังหวัดที่เสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ผลปรากฏว่า นักลงทุนรายย่อยและผู้ที่มีเงินออม ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ให้ความสนใจสูงมาก นอกจากนั้นผลสำรวจความต้องการหุ้นของ นักลงทุนสถาบันก็มีสูงมากเช่นกัน อีกทั้งเพื่อให้สามารถกระจายหุ้นไปสู่ประชาชนผู้สนใจได้จำนวนมาก จึงได้มีการ ปรับลดยอดการสั่งจองหุ้นต่อ 1 ใบจองจากเดิม สามารถจองได้ตั้งแต่ 1,000 หุ้น สูงสุดไม่เกิน 500,000 หุ้น มาเป็นตั้งแต่ 1,000 หุ้น สูงสุดไม่เกิน 100,000 หุ้น ดังนั้น เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการในการสั่งจองหุ้น ปตท.ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด บริษัทฯ จึงได้วางมาตรการอย่างรัดกุมให้การแจกใบจองหุ้นพร้อมเอกสารและขั้นตอนการจองหุ้นมี ความสมบูรณ์ ครบถ้วนและพร้อมเพรียงกันทุกสาขาธนาคารทั่วประเทศ มาตรการดังกล่าวส่งผล ให้บริษัทจำเป็นต้องเลื่อนการเปิดให้ประชาชนมา รับใบจองหุ้นจากเดิมวันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2544 เป็นวันที่ 14 พฤศจิกายน 2544

        
       เรื่องนี้เป็นข่าววิพากษ์วิจารณ์คึกโครมเพราะมีข่าวว่ามีแต่นักการเมือง ญาติมิตรพวกพ้องและคนรวยเท่านั้นที่ได้หุ้นปตท.ไป เสียงวิจารณ์มากขึ้นเพราะมีผู้ครองหุ้นเป็นล้านหุ้น ในตอนนั้นฝ่ายประชาสัมพันธ์ของปตท.จะพยายามแก้ต่างว่ารายชื่อญาติพี่น้องนักการเมืองที่ปรากฏตามสื่อเขาได้หุ้นจากหลายแหล่งทั้งหุ้นอุปการะคุณหุ้นซื้อจากโบรกเกอร์มารวมกันทำให้มีจำนวนมาก
       
       ปตท.ให้ข่าวได้ถูก-แต่ถูกเพียงส่วนเดียวเพราะไม่ได้บอกว่า หากจะหยิบเอามาเฉพาะกลุ่มที่จองซื้อจากธนาคารซึ่งเป็นสัดส่วนรายย่อยล้วน ๆ ก็มีบุคคลที่กวาดหุ้นเป็นล้านหรือหลายแสนหุ้นเช่นเดียวกัน
       
        เสียงวิจารณ์ที่ดังไม่หยุดเพราะคนไทยไม่ได้โง่ขนาดที่ไม่รู้ว่าขาย 220 ล้านหุ้นในเวลาแค่ 1.25 นาที(75วินาที) มันผิดปกติอย่างแน่นอนจนที่สุด ก.ล.ต. ในฐานะในฐานะองค์กรผู้รักษากติกาและธรรมาภิบาลตลาดทุนอยู่ไม่ติดได้มีการสอบตรวจสอบการขายหุ้นครั้งนั้นซึ่งดูเผิน ๆ เหมือนจะทำให้เรื่องจบลงแบบง่าย ๆ
       
        ก.ล.ต.ตรวจสอบการกระจายหุ้นซึ่งมีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) เป็นแม่ข่ายคอมพิวเตอร์ร่วมกับธนาคารอีก 4 แห่งในที่สุดผลการตรวจสอบก็ออกมาเมื่อมกราคม 2545 ผลสอบระบุว่า การจัดสรรหุ้นครั้งนั้น “ผิดปกติจริง” เพราะธนาคารไทยพาณิชย์ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า web server ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขข้อชี้ชวน
       
        พูดเป็นภาษาชาวบ้านง่าย ๆ คือธนาคารแห่งนี้และลูกค้าในกลุ่มนี้เอาเปรียบชาวบ้านเขา เล่นกรอกรายการล่วงหน้าแล้วกดปุ่มรอบเดียว ชื่อที่ล็อกไว้ก็จะเข้าไปในบัญชีรายการจองได้เร็วกว่าคนอื่น นำมาสู่มติของก.ล.ต.ที่ลงโทษธนาคารไทยพาณิชย์ด้วยการพักการเป็นตัวแทนจำหน่ายหุ้นในประเทศเป็นเวลา 6 เดือน
       
        การสั่งสอบของ ก.ล.ต.ดูเผิน ๆ เหมือนจะธำรงความยุติธรรมให้กับสังคมโดยเฉพาะประชาชนรายย่อยแต่แท้จริงแล้วกลับไม่มีผลใด ๆ เลยเพราะมีแค่ลงโทษด้วยการไม่ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ไม่ต้องขายหุ้นในประเทศแค่ 6 เดือน ส่วนหุ้นที่ได้มาโดยเอาเปรียบชาวบ้านเขาผลสอบบอกว่ามีสัดส่วนน้อยมากไม่มีผลกระทบต่อภาพรวม กลุ่มที่ได้มาแบบไม่ปกติก็ยังคงได้สิทธิ์นั้นต่อไป
       
        เรื่องจึงเหมือนเจ๊า ๆ กันไป...กลายเป็นน้ำกระทบฝั่ง คนที่รวยหุ้นปตท. ก็รวยไปเพราะหลังจากนั้น ปตท.ก็โตเอา ๆ ทำกำไรหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ราคาหุ้นทะลุ 300 บาทจากราคาที่ซื้อมาตอนแรก 35 บาทร่ำรวยกันใหญ่โต ทั้งกลุ่มที่ได้มาโดยจองได้จริง และกลุ่มที่ได้โดยการโกงชาวบ้านมา !
       
       ข้อแคลงใจ-ผู้สอบกับผู้ถูกสอบเป็นพี่น้องกัน ?
       
       



       
       ที่มาของภาพ : คุณหญิง ชฎา วัฒนศิริธรรมจากเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยhttp://www.set.or.th และศาสตราจารย์กิตติคุณ เติมศักดิ์ กฤษณามระ จากเว็บไซต์สมาคมศิษย์เก่าจุฬาลงกรณ์ฯ http://www.shicu.com
       อธิบายภาพ : คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการ ใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (ในเวลานั้น) ซึ่งถูกชี้ว่ากระจายหุ้นโดยขัดข้อชี้ชวนและถูกก.ล.ต.สั่งลงโทษ กับ ศ.กิตติคุณเติมศักดิ์ กฤษณามระ ตำแหน่งผู้สอบบัญชี รับอนุญาตบริษัทดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด ซึ่งก.ล.ต.ให้เข้ามาตรวจสอบการขายหุ้นที่ผิดปกติ(เป็นพี่น้องกัน ทั้งสองท่านเป็นพี่น้องกัน โดยต่างเป็นบุตรของพระยาไชยยศสมบัติ(เสริม กฤษณามระ) และคุณหญิงดารา ไชยยศสมบัติ
       
        การตรวจสอบการจองและจัดสรรหุ้นปตท. โดยก.ล.ต.ได้ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือนมกราคม 2545 จนเมื่อเดือนเมษายน 2553 ที่ผ่านมากองบรรณาธิการเอเอสทีวีผู้จัดการรายวันรื้อฟื้น-ศึกษากรณีการขายหุ้นปตท.ขึ้นมาดูอีกรอบ
       
       เอกสารรายงานการตรวจสอบดังกล่าวจากก.ล.ต. ซึ่งเป็นชุดที่เผยแพร่ให้นักลงทุนทราบมีจำนวน21 หน้าและได้เอกสารบัญชีผู้ได้รับการจัดสรรหุ้นปตท.ในครั้งนั้นอีกปึกใหญ่
       
       เอกสารผลการตรวจสอบระบุว่า ก.ล.ต.ได้อ้างอิงการตรวจสอบที่เรียกว่า “รายงานการสอบทานระบบที่ใช้ในการรับจองซื้อหุ้น” โดยบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัสสุ ไชยยศ จำกัด
       
       เอกสารชิ้นนี้อธิบายวิธีการตรวจสอบในขั้นตอนต่าง ๆ จนได้ข้อสรุปสุดท้ายว่า.. “เกิดจากการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงการรับจองซื้อหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ทำให้สิทธิของผู้จองซื้อหุ้นที่จะได้รับการจัดสรรไม่เท่าเทียมกันและไม่เป็นไปตามเจตนาของหนังสือชี้ชวน”
       
       ถ้าตัดเฉพาะถ้อยคำนี้เหมือนจะชัดเจนตรงตัวว่า การกระทำความผิดย่อมไม่สามารถจะปิดบังได้เพราะยังไงหลักฐานที่ปรากฏมันชัดเจนว่าธนาคารไทยพาณิชย์ในฐานะแม่ข่ายคอมพิวเตอร์ใช้เทคนิคทำให้คนบางกลุ่มได้เปรียบ
       
       แต่เมื่ออ่านบรรทัดต่อมา.....ที่ระบุว่า
       
       “อย่างไรก็ดีรายการจองซื้อที่เข้าข่ายว่ามีความผิดปกติดังกล่าวมีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับรายการทั้งหมด........จึงเห็นว่าความผิดปกติดังกล่าวไม่มีผลกระทบกับภาพรวมของการเสนอขายหุ้นของ บมจ.ปตท.ในครั้งนี้จนทำให้ต้องมีการเปิดรับจองใหม่”
       
       เอกสารบอกว่ารายการที่ผิดปกติที่ดีลอยท์ ทู้ช โธมัสสุ ไชยยศตรวจพบมีจำนวน 859 รายการหรือคิดเป็น 7.73% ของจำนวนรายการที่ได้รับการจัดสรร
       
       และจึงเป็นที่มาของการที่ก.ล.ต.สั่งลงโทษธนาคารไทยพาณิชย์ ไม่ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายหุ้นในประเทศ 6 เดือน (แต่ไม่ทำอย่างอื่นใดนอกเหนือจากเรื่องนี้รวมถึงเรื่องหุ้นผิดปกติที่ตรวจพบ 859 รายการ)
       
       การที่ได้เอกสารชิ้นดังกล่าวมาศึกษาอีกครั้งทำให้พบเงื่อนงำที่น่าสนใจอย่างหนึ่งนั่นคือ ผู้บริหารของกิจการตรวจสอบ กับ ผู้บริหารของกิจการที่ถูกสอบมีความสัมพันธ์เป็นพี่น้องกันโดยทั้งสองท่านต่างเป็นบุตรของพระยาไชยยศสมบัติ(เสริม กฤษณามระ) และคุณหญิงดารา ไชยยศสมบัติ ผู้มีคุณูปการต่อวงการบัญชีไทยอย่างเอกอุ โดยศ.เติมศักดิ์ นั้นเป็นพี่ชายคนโต
       
       นี่เป็นความบังเอิญที่ ก.ล.ต. หรือ ปตท. กำหนดสคริปต์ไว้ก่อนหรือไม่ ? ไม่สามารถตอบได้แต่แน่นอนว่าความบังเอิญนี้ก่อให้เกิดความคลางแคลงใจตามมา
       
       ผมไม่บังอาจตั้งข้อกล่าวหาใด ๆ กับทั้งท่านศ.เติมศักดิ์ กฤษณามระ และทั้งท่านคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม เพราะทั้งสอนท่านต่างเป็นผู้มีชื่อเสียงได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางในความเป็นมืออาชีพ
       
       หากมองในมุมบวก-ผลการตรวจสอบของดีลอยท์ฯ ได้ชี้ความผิดปกติที่ธนาคารไทยพาณิชย์กระทำจนกระทั่งถูกลงโทษเอาแค่ประเด็นนี้ก็ยากจะลุกขึ้นกล่าวหาว่า ดีลอยท์ฯ หรือผู้บริหารท่านใดไม่เป็นมืออาชีพได้อย่างเต็มปาก
       
       แต่อย่างไรความแคลงใจมันห้ามกันไม่ได้..เพราะตามปกติของระบบราชการไทยทั่วไป การตั้งเรื่องสอบแล้วเอาพวกเดียวกันมาสอบนั้นเป็นวิชามารของระบบราชการไทยที่เป็นที่ทราบกันดี
       
       เรื่องร้ายแรงที่ไม่สามารถปิดฟ้าด้วยฝ่ามือก็ทำให้เบาลงเสีย
       
       จากลงโทษหนัก ก็มาเป็นลงโทษเบา ๆ จนแทบไม่ต้องเปลี่ยนแปลงผลใด ๆ
       
       ความคลางแคลงใจในเรื่องผลการตรวจสอบการกระจายหุ้นในครั้งนั้นจึงไม่สามารถจะปัดเป่าได้ด้วยการสั่งลงโทษพักงาน 6 เดือนแล้วจบไป
       
        ด้วยเหตุดังกล่าวกองบรรณาธิการเอเอสทีวีผู้จัดการรายวันจึงทำหนังสือขอข้อมูลข่าวสารตามพรบ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ 2540 ไปยังคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อจะขอเอกสารหลักฐานการตรวจสอบครั้งดังกล่าวฉบับสมบูรณ์ ที่มิใช่เอกสารสรุป 21 หน้าที่เผยแพร่ทั่วไป ทั้งเพื่อเพื่อจะพิสูจน์เพื่อลบความคลางแคลงใจทั้งมวลที่มีอยู่
       
        ความคลางแคลงใจต่อเอกสารผลการตรวจสอบจำนวน 21 หน้าที่ก.ล.ต.พยายามชี้แจงต่อสังคมและเพื่อ “ปิดคดี” ยังมีอยู่มากมายหลายประเด็น
       
       1. ก.ล.ต.ตั้งประเด็นสอบเฉพาะระบบและเทคนิคการจัดสรรหุ้น และก็ได้ผลสรุปออกมาว่าใช้เทคนิคที่ผิดจากข้อตกลงทำให้มีการเอาเปรียบชาวบ้านจริงพร้อม ๆ กันนั้นก็ข้ามประเด็นปัญหาการจัดสรรหุ้นเกินโควตา 1 แสนหุ้นที่ปรากฏในหนังสือชี้ชวน โดยก.ล.ต.ยกประโยชน์ให้กับถ้อยคำที่คลุมเครือตีความได้หลายแบบ ทำให้บางรายยื่นจองหลายฉบับและได้รับจัดสรรหลายแสนหรือเป็นล้านหุ้น หากมีการสอบลึกลงไปถึงมติคณะกรรมการเตรียมการจัดสรรหุ้น และเป้าหมายของการจัดสรรให้รายย่อยดั่งที่นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนนั่นแสดงว่าการจัดสรรหุ้นครั้งนี้ผิดจากเป้าหมายเดิม สมควรจะถูกยกเลิกและจัดสรรใหม่
       
       2. ก.ล.ต.เปิดเผยข้อมูลเพียง 21 หน้ากระดาษที่เน้นไปที่การอธิบายภาพรวมของระบบจองและจัดสรรในเอกสารอ้างอิงผลการตรวจสอบของบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัสสุ ไชยยศ จำกัด ซึ่งมีหน้าที่ทำรายงานการสอบทานระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการรับจองหุ้นรายงานเป็นหลัก แต่ไม่ได้พยายามตรวจสอบความผิดปกติอื่น ๆ ที่ปรากฏโดยเฉพาะการสอบย้อนเส้นทางการจองและได้รับจัดสรรของผู้ได้รับจัดสรรเกิน 3 แสน-1 ล้านหุ้น เพราะบางรายใช้ธนาคารคนและแห่ง และคนละสาขาแยกใบจองแต่ได้รับการจัดสรรมากมายอย่างน่าทึ่ง ขณะที่ชาวบ้านซึ่งจองคนละไม่เกิน 1 แสนหุ้นถูกปฏิเสธไปมากกว่า นี่เป็นความผิดปกติที่ชัดเจนที่สุดแต่ไม่ได้ถูกกล่าวถึงเหมือนจะจงใจละเลยประเด็นความผิดปกตินี้
       
       3. ในเอกสารการตรวจสอบระบุว่าธนาคารอีก 4 แห่งปฏิเสธจะลงนามในข้อตกลงการรับจองซื้อหุ้นสามัญของบริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) แม้กระทั่งวันเปิดจองหุ้นธนาคารอีก 4 แห่งก็ยังไม่ลงนาม..นี่จึงเป็นไปได้หรือไม่ที่มีข่าวที่นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ออกมาแถลงว่าต้องเลื่อนวันจองออกไป แต่ที่สุดธนาคารที่เหลือก็ไม่ลงนาม นี่เป็นความผิดปกติที่ก.ล.ต.ไม่พยายามจะหารายละเอียดข้อปัญหา แต่สรุปไปเลยว่า ธนาคารทุกแห่งเข้าใจระบบตรงกันดี
       
       4. รายงานฉบับเต็มสมควรมีรายชื่อผู้ได้รับการจัดสรรหุ้นที่ระบุในรายงานว่ามีความผิดปกติ หรือพูดง่าย ๆ โกงเพื่อนมาจำนวน 859 รายการนั้นเป็นใครบ้าง ?
       
       5. จากรายงานที่สรุปออกมา 21 หน้า แสดงให้เห็นว่า ก.ล.ต.น่าจะมีรายงานฉบับเต็มและมีข้อมูลการตรวจสอบฉบับเต็ม ซึ่งควรจะเป็นเอกสารที่เปิดเผยต่อสาธารณะได้เพื่อแสดงความโปร่งใสของระบบตลาดทุนไทย และเพื่อความโปร่งใสของการขายสมบัติแผ่นดินในนามของการแปรรูป
       
       ด้วยเหตุนี้กองบรรณาธิการเอเอสทีวีผู้จัดการรายวันจึงได้ยื่นหนังสือขอข้อมูลข่าวสารจากคณะกรรมการก.ล.ต.ไปแต่ทว่าเวลาผ่านไป 3 เดือนยังไม่ได้คำตอบใด ๆ จากก.ล.ต. ทำให้กองบรรณาธิการเอเอสทีวีผู้จัดการรายวันได้ยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการไปแล้ว เรื่องนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาและพิสูจน์ว่าสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนในประเทศนี้มีจริงแท้แค่ไหน-เพียงไร ?
       
       ปัญหาการกระจายหุ้นป.ต.ท.ในครั้งนั้นยังคงเป็นปมปริศนาอีกมากมาย นักลงทุนรายใหญ่มาก ๆ ระดับนักการเมืองนั้นไม่ใช้วิธีไล่ซื้อแข่งกับรายย่อยในประเทศหรอกเพราะมีหุ้นที่กระจายผ่านโบรกเกอร์ต่างประเทศถึง 320 ล้านหุ้น แต่เท่าที่ปรากฏเป็นหลักฐานต่อสาธารณะการมีหุ้นอุปการะคุณมันก็น่าเกลียดเกินบรรยายแล้ว จนบัดนี้ปตท.ก็ยังไม่กล้าเปิดข้อมูลคนกลุ่มนี้ออกมา และที่น่าเกลียดหนักไปกว่านั้นก็คือยังมีช่องทางซิกแซ็กแย่งหุ้นจากประชาชนรายย่อยอีก
       
        ปัญหาการกระจายหุ้นรายย่อยแม้เป็นเพียงส่วนยอดภูเขาน้ำแข็งที่เพิ่งโผล่แพลมขึ้นมาเหนือผิวน้ำ แต่ก็สามารถบ่งบอกว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ทำกำไรปีละแสนสองแสนล้านแห่งนี้ไม่ได้เป็นไปตามธรรมาภิบาลดั่งที่ประกาศไว้ทั้งหมด
       
       หมายเหตุก่อนปิดเรื่อง – มีผู้ทักท้วงความผิดพลาดในข้อเขียนตอนที่ 1 เกี่ยวกับอัตราภาษีน้ำมันที่ผู้เขียนระบุว่าเก็บเฉลี่ยเพียง 10% จึงขออธิบายความว่าเป็นความไม่รอบคอบของผู้เขียนที่ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ ขอยืนยันว่าการทำงานเรื่องนี้จะไม่ตะแบง ไม่บิดเบือนใด ๆ กอดยึดหลักการเดียวคือสิทธิของประชาชนและสิทธิของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ขออธิบายว่าภาษี 10%ที่กล่าวถึงมีภาษาทางการว่า ค่าภาคหลวงเป็นไปตาม พรบ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ส่วนที่ไม่ได้กล่าวถึงก็คือ ภาษีรายได้น้ำมันตามพรบ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 2514 ที่กำหนดให้เก็บ 50% แต่ไม่เกิน 60%
       
       อย่างไรก็ตามมีผู้อ้างว่าเมื่อรวมภาษีทั้ง 2 ตัวแล้วทำให้ไทยเก็บภาษีปิโตรเลียมถึง 60% ไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติแต่อย่างใด เพราะว่าภาษีรายได้น้ำมันกำหนดให้คำนวณเก็บตามกำไรสุทธิที่หักค่าใช้จ่ายแล้ว ค่าใช้จ่ายที่หักยังครอบคลุมไปถึงค่าภาคหลวงที่บริษัทน้ำมันจ่ายไปก่อนล่วงหน้า และยังมีปัญหาเทคนิคการคำนวณราคาปิโตรเลียมที่ขุดเจาะได้ เมื่อปี 2552 ที่น้ำมันโลกแพงมาก หากคิดเฉลี่ยต่ำสุด ๆ น้ำมันดิบดูไบที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐแต่น้ำมันดิบที่ตีราคา ณ แท่นขุดเจาะบ้านเรากลับไม่ถึงตามนั้น (ไม่รู้ว่าด้วยสาเหตุใด)
       
       ผมนั้นไม่ใช่ผู้รู้หรือผู้ชำนาญการ..แต่ที่สามารถหยิบมาเขียนเล่าเรื่องเพราะเข้าไปร่วมวงศึกษา นั่งฟังบรรดาผู้เชี่ยวชาญบรรยายสรุปอยู่หลายรอบจึงนำความรู้นั้นมาเรียบเรียงใหม่ มีผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งคำนวณว่ารวมภาษีทุกชนิดแล้วประเทศไทยเก็บจากบริษัทน้ำมันจริง ๆ ได้สูงสุดแค่ประมาณ 30% ของมูลค่าและปริมาณน้ำมันที่ได้ไป
       
       ปัญหาของการพลังงานของไทยจึงไม่ใช่การนั่งงอมืองอเท้าคร่ำครวญว่ายังไง ๆ เราก็ขุดเองได้ 30-40% ที่เหลือต้องนำเข้า เขามาลงทุนให้ก็บุญโขแล้ว อุปมาอุปไมยกรอบคิดใหม่ของคนไทยเหมือนต้องนำเข้าข้าวทั้งหมดซื้อในราคาต่างประเทศ วันดีคืนดีก็ปลูกได้เอง 40% ของที่เคยกิน แต่คนไทยไม่รู้เรื่องราวของข้าวที่เราปลูกได้เองเลยว่า มีคุณภาพแบบไหน ปลูกเสร็จมีคนผูกขาดเอาไปสีแล้วจำหน่ายราคาเดียวกับที่เราเคยซื้อๆ มา แล้วโรงสีก็รวยเอา ๆ ในนามของความมั่นคงอาหารไทยหรือไม่?
       
       มีเรื่องเล่าในวงการพลังงานว่าคุณภาพของน้ำมันและก๊าซไทยสูงมาก ราคาดี ปรากฏมีมือดีเอาน้ำมันและก๊าซคุณภาพสูงจากแท่นไปขายทำกำไรรอบแรก จากนั้นก็นำเข้าของคุณภาพต่ำมากลั่นขายคนไทย คิดกำไรทุกขั้นตอนตั้งแต่การขนส่งยันจำหน่าย ความโปร่งใสเหล่านี้เรายังไม่เห็นจริงในวงการพลังงานไทย มีแต่ธรรมาภิบาลครึ่งๆ กลาง ๆ เท่านั้น
       
       หมายเหตุ 2- ท่านที่สนใจรายงานการตรวจสอบการเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) มกราคม 2545 สามารถติดต่อถามได้จากศูนย์สารสนเทศตลาดทุน สนง.คณะกรรมการ ก.ล.ต.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น