วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2558

ตลาดหลักทรัพย์ละเว้น แต่ไม่ใช่ ปตท.ไม่มีความผิดแจงเท็จตลาดหลักทรัพย์ คดีมันก็ใช่หมดอายุความนะครับ!!!



ปตท. อย่าแค่ข่มขู่ รีบฟ้องทันที อย่าช้า !


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์  
22 ตุลาคม 2556 11:29 น.

        การออกมาข่มขู่ ฟ้องร้อง เพื่อปิดปากสื่ออย่าง “ASTV ผู้จัดการ” ของกลุ่มปตท.บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศ เพื่อไม่ให้นำเสนอข่าวคราวความไม่ชอบมาพากล ไม่โปร่งใส ที่กลุ่มปตท.ปกปิดซ่อนเร้นเอาไว้ภายใต้ภาพลักษณ์อันสวยหรูคู่รางวัลธรรมาภิบาลดีเด่นระดับโลก ต้องขอบอกว่าวิธีการข่มขู่ ปิดปากแบบนี้ใช้ไม่ได้ผลกับสื่อ “ASTV ผู้จัดการ” เป็นอันขาด !! 
       
       กลุ่มปตท.ที่สังคมตั้งข้อกังขามาตลอดว่ามีอิทธิพลเหนือรัฐ ได้แสดงอำนาจบาตรใหญ่ในการควบคุมสื่ออีกครั้ง โดยการมอบหมายให้นายไตรรงค์ ตันทสุข ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) บริษัท พีทีทีอีพี ออสตราเลเซีย (แอชมอร์คาร์เทียร์) พีทีวาย จำกัด หรือ PTTEPAA ส่งหนังสือข่มขู่ ฟ้องร้องเอาผิดทั้งแพ่งและอาญา หลังจาก “ASTVผู้จัดการ” นำเสนอข่าวเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของกลุ่มปตท.
       
       โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วสู่ท้องทะเลจ.ระยอง เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 56 ที่ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตชาวประมง ฯลฯ กระทั่งเกิดการตื่นตัวลงชื่อรณรงค์เรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบยักษ์ใหญ่พลังงานแห่งนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน รวมไปถึงการนำเสนอข่าวความอื้อฉาวของกลุ่มปตท.ที่เข้าไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่กลุ่มปตท.รับความจริงที่มีข้อครหาถึงธรรมาภิบาลจอมปลอมไม่ได้
       
       เนื้อความในหนังสือที่นายไตรรงค์ ส่งมายังกองบรรณาธิการ ASTVผู้จัดการ ได้อ้างการนำเสนอข่าวของ “ASTVผู้จัดการ” ในช่วงที่ผ่านมา นับตั้งแต่การเสนอข่าว 1) แฉสัมปทาน “ปตท.” ชนวนเด้ง รมต.พม่า 2) รัฐอุ้ม PTTGC หนีความผิด แบไต๋ส่อไม่ฟ้อง 3) สุดฉาว! เครือปตท.พัวพันสินบนสัมปทานปิโตรเลียมพม่า 4) 3 หมื่นชื่อจี้รัฐ ตั้ง กก.อิสระสอบ ติดตามน้ำมันปตท.รั่ว 5) ตามน้ำมันรั่ว ยื่น 3.2 หมื่นชื่อ 6) คราบน้ำมันที่ “เสม็ด” บทพิสูจน์ความสามารถในการจัดการสิ่งแวดล้อม
       
       โดยระบุว่า ตามที่ “ASTVผู้จัดการ” ได้เผยแพร่ข่าวรัฐบาลออสเตรเลียได้เรียกร้องค่าเสียหายจาก บริษัท พีทีทีอีพี ออสตราเลเซีย เป็นจำนวนเงินกว่า 9 พันล้านบาท และค่าปรับเป็นจำนวนเงินถึง 8,946 ล้านบาท จากเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่มอนทาราโดยปริมาณน้ำมันรั่วถึง 34 ล้านลิตร จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศน์ทางทะเลของประเทศอินโดนีเซีย แต่กลับปฏิเสธความรับผิดชอบจากผลกระทบที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้สินบนในลักษณะให้เงินสนับสนุนผลงานทางวิชาการแก่นักวิชาการและเจ้าหน้าที่ของประเทศอินโดนีเซีย และเจ้าหน้าที่ของประเทศอินโดนีเซีย เพื่อเป็นการปกปิดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าว
       
       นอกจากนี้ ยังนำเสนอข่าวอีกว่า บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้สินบนรัฐมนตรีและข้าราชการของประเทศพม่า เพื่อให้ได้มาซึ่งสัญญาสัมปทานแหล่งน้ำมันและก๊าชธรรมชาติของประเทศพม่า ซึ่งต่อมา ปตท.สผ. ก็ได้มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำนวนเงินค่าปรับที่ถูกต้อง เป็นเงินจำนวนเพียง 510,000 เหรียญออสเตรเลียหรือ 15.3 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าปรับด้านความปลอดภัยไม่ใช่ค่าปรับด้านสิ่งแวดล้อม และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อหาติดสนบนนักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ของประเทศอินโดนีเซีย ตลอดจน ปตท.สผ.ได้รับสัมปทานจากประเทศพม่าอย่างถูกต้องและตามกฎหมาย
       
       ดังนั้น การเสนอข่าวที่ 1-6 ดังกล่าวส่งผลทำให้บริษัท พีทีทีอีพี ออสตราเลเซีย และ ปตท.สผ.ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียงที่ได้รับการดูถูก ดูหมิ่น และถูกเกลียดชังจากประชาชนผู้เข้าถึงข้อมูลดังกล่าว นายไตรรงค์ ในฐานะทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก ปตท.สผ.และ PTTEP AA จึงขอให้ “ASTVผู้จัดการ” ระงับการเผยแพร่ข่าวที่อ้างถึง 1-6 และดำเนินการเผยแพร่ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องครบถ้วน ภายในกำหนด 7 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ และหากเพิกเฉยจำเป็นจะต้องดำเนินคดีตามกฎหมายต่อ “ASTVผู้จัดการ” ทั้งทางแพ่ง และทางอาญาต่อไป
       
       ความจริงแล้ว ข่าว “แฉสัมปทาน “ปตท.” ชนวนเด้ง รมต.พม่า” และข่าว “สุดฉาว! เครือปตท.พัวพันสินบนสัมปทานปิโตรเลียมพม่า” นั้นเป็นการรายงานข่าวที่อ้างอิงแหล่งที่มาจาก “เมียนมาร์ไทม์ส” สื่อกึ่งทางการของพม่า ลองคิดตรองดูถ้าหากเรื่องนี้ไม่มีมูลความจริงสื่อของพม่าที่อยู่ภายใต้กฎหมายเซ็นเซอร์อย่างเข้มงวด จะกล้านำเสนอข่าวเช่นนี้หรือไม่ อีกทั้งในข่าวเดียวกัน “ASTV” ก็ได้นำเสนอคำชี้แจงของปตท.สผ.ที่ปฏิเสธถึงการให้สินบนเพื่อให้ได้สิทธิในแปลงสำรวจ MD-7 และ MD-8 ในอ่าวเมาะตะมะ สหภาพเมียนมาร์ ไว้อย่างครบถ้วนด้วยแล้ว
       
       ส่วนประเด็นเรื่องการติดสินบนที่อินโดนีเซีย เป็นการอ้างอิงจากรายงานข่าวของเว็บไซต์หนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ของอินโดนีเซีย ที่รายงานว่า ปตท.สผ.ออสตราเลเซีย ของไทย ปฏิเสธข้อกล่าวหาของกลุ่มสิ่งแวดล้อมอินโดนีเซียเรื่องติดสินบนนักวิชาการและเจ้าหน้าที่อินโดนีเซียให้ปกปิดผลกระทบจากเหตุน้ำมันรั่วที่บ่อมอนทาราในทะเลติมอร์ เมื่อปี 2552 โดยจ่ายสินบนให้มหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งของอินโดนีเซีย จัดทำรายงานว่า ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าเหตุน้ำมันรั่วที่บ่อมอนทานา ทำให้น่านน้ำอินโดนีเซียเกิดความเสื่อมโทรม
       
       ชัดเจนว่าไม่ใช่เรื่องที่ “ASTVผู้จัดการ” จะบิดเบือนเสแสร้งแกล้งปั้นแต่งเรื่องขึ้นมาเอง เหตุไฉน ปตท.สผ. จึงร้อนรน ส่งหนังสือข่มขู่ ปิดปาก ไม่ให้สื่อขุ้ยแคะไปมากกว่านี้ เพราะกลัวสังคมไทยจะรู้ว่า วีรเวรวีรกรรมที่เกิดขึ้นจากกรณีน้ำมันรั่วของ ปตท.สผ. ที่แหล่งมอนทารา ประเทศออสเตรเลีย มันเป็นเรื่องงามหน้าระดับโลกสำหรับกลุ่มปตท.เจ้าของรางวัลธรรมาภิบาลดีเด่นที่มากมายจนล้นเข่ง ใช่หรือไม่ ?
       
       ย้อนกลับไปหลังเหตุการณ์ที่ มอนทารา ปตท.สผ. แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อย่างรวบรัดว่า เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 55 บริษัท พีทีทีอีพี ออสตราเลเซียฯ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของปตท.สผ. ได้เข้ารับฟังและยอมรับผิดตามข้อกล่าวหาของหน่วยงานกำกับดูแลด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมของออสเตรเลีย ในเรื่องการปฏิบัติงานในโครงการมอนทาราที่ไม่เป็นไปตามกฎข้อบังคับใน 4 ประเด็น ที่ศาลเมืองดาร์วิน ประเทศออสเตรเลีย โดยศาลได้ตัดสินในวันที่ 31 ส.ค.2555 ให้ PTTEPAA ชำระค่าปรับตามกฎหมาย เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 510,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ซึ่งอยู่ภายในวงเงินสำรองที่ได้ถูกบันทึกแล้วในงบการเงินปี 2552 และ PTTEPAA ได้ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐบาลออสเตรเลียอย่างใกล้ชิด และเสนอเพื่อรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขจัดคราบน้ำมัน นอกจากนี้ PTTEPAA ยังได้ให้การสนับสนุนเงินทุนในการศึกษาวิจัย และเฝ้าระวังผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาวในทะเลติมอร์ด้วย โดยคาดว่าแหล่งมอนทารา จะสามารถกลับมาเริ่มการผลิตได้ในปลายปี 2555
       
       การชี้แจงของ ปตท.สผ.ข้างต้น ไม่ชัดเจนว่าแท้จริงแล้ว ปตท.สผ. ต้องจ่ายค่าความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่มอนทารารวมทั้งหมดแล้วเท่าไหร่กันแน่เพราะไม่ใช่มีแค่ค่าปรับที่ศาลสั่งเท่านั้น ที่ผ่านมา ปตท.สผ. และทนายความที่ออกหน้ามาข่มขู่ “ASTVผู้จัดการ” ครั้งนี้ ต่างเน้นย้ำว่า น้ำมันรั่วที่มอนทารา ปตท.สผ. เสียเงินค่าปรับตามคำสั่งศาลแค่ 510,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือ 15.3 ล้านบาท เป็นค่าปรับด้านความปลอดภัย ไม่ใช่ค่าปรับด้านสิ่งแวดล้อม ถามต่อว่าแล้วค่าใช้จ่ายด้านการขจัดคราบน้ำมัน ค่าการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ค่าสนับสนุนการศึกษาวิจัย เฝ้าระวังผลกระทบในระยะยาว อีกเท่าไหร่? และความผิดใน 4 ประเด็นหลักที่ PTTEPAA ต้องยอมรับผิดคืออะไร เป็นเรื่องที่ ปตท.สผ.ไม่อยากให้สาธารณะได้รับรู้
       
       ทำไม ปตท.สผ.จึงปกปิด บิดเบือน หรือพูดความจริงเพียงครึ่งเดียว หากไม่ใช่เพราะต้องการให้สาธารณชนทั่วไปเข้าใจว่า น้ำมันรั่วที่มอนทารานั้นมีปัญหาแค่เล็กน้อย ดูจากที่เสียค่าปรับแค่ไม่กี่ตังค์ และที่ระยองก็เป็นเช่นเดียวกัน จะมาเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบอีกทำไม ชาวประมงและกลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบที่ได้ค่าชดเชยไปแล้วก็ควรจบเพียงเท่านั้น
       
       ทั้งที่ความจริง กรณีเกิดเหตุระเบิดที่แท่นขุดเจาะน้ำมันในแหล่งมอนทารา ทางเหนือของประเทศออสเตรเลีย วันที่ 21 ส.ค. 52 ส่งผลให้น้ำมันรั่วนานกว่า 10 สัปดาห์ ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 200 กม. เป็นอุบัติเหตุน้ำมันรั่วที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ออสเตรเลีย และรายงานของคณะกรรมการสอบสวนเหตุการณ์มอนทารา ชี้ว่า เป็นความผิดพลาดและบกพร่องอย่างใหญ่หลวงของ PTTEPAA
       
       กรณีดังกล่าว ทำให้ ปตท.สผ. ต้องจ่ายค่าความเสียหายเกือบหมื่นล้านบาทแล้ว ดังที่เวปไซต์ THAI PUBLICA ระบุไว้ในเรื่องบทเรียนมอนทารา ที่อ้างถึงรายงานประจำปีของ ปตท.สผ. นับตั้งแต่ปี 2552 - 2555 ว่า ปตท.สผ.จ่ายค่าความเสียหายเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่มอนทาราไปแล้ว รวมวงเงิน 9,724 ล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายในการควบคุมสถานการณ์และค่าใช้จ่ายในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนค่าชดเชยความเสียหายนั้น บริษัทได้ซื้อประกันภัยไว้ 9,000 ล้านบาท และที่ผ่านมาได้รับรู้ค่าสินไหมทดแทนแล้วในไตรมาส 4 ปี 52 จำนวน 1,341 ล้านบาท และไตรมาส 3 ปี 2553 อีก 1,369 ล้านบาท และยังอยู่ระหว่างเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อนำมาชดเชยความเสียหายเพิ่ม
       
       นายมาร์ติน เฟอร์ฟิวสัน รมว.ทรัพยากรและพลังงานของออสเตรเลีย ให้สัมภาษณ์กับไฟแนนซ์เชียล ไทมส์ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 53 ว่าค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดและหยุดเหตุรั่วไหลของน้ำมัน จนถึงขณะนั้นคือ 319 ล้านเหรียญออสเตรเลีย หรือประมาณ 9,000 กว่าล้านบาท
       
       การปกปิด บิดเบือน เฉไฉ ไม่ยอมรับผิด เป็นพฤติกรรมด้านมืดคู่องค์กรซ่อนเงื่อนแห่งนี้ ซึ่งใครที่ติดตามการดำเนินธุรกิจของกลุ่มปตท.ก็รู้ทันกันดี และพฤติกรรมเช่นนี้ก็เป็นวัฒนธรรมองค์กรที่โดดเด่น ดังเช่นที่ปรากฏในรายงานของคณะกรรมการสอบสวนเหตุการณ์มอนทารา ที่ฉีกหน้ากลุ่มปตท.เป็นริ้วๆ ให้ได้อับอายกันทั่วโลก
       
       เรื่องนี้ สฤณี อาชวานันทกุล นักวิเคราะห์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เขียนไว้ในคอลัมน์ รู้ทันตลาดทุน ตีพิมพ์ใน “กรุงเทพธุรกิจ” ฉบับวันจันทร์ที่ 13 ธ.ค. 53 เรื่อง “ความจริงและความโปร่งใส : กรณี ปตท.สผ. ในออสเตรเลีย” ว่าในรายงานของคณะกรรมการฯ ตอนหนึ่ง ระบุว่า “คณะกรรมการยังพบหลักฐานว่าบริษัทพร้อมที่จะให้ข้อมูลก็ต่อเมื่อข้อมูลนั้นเป็นประโยชน์ต่อบริษัท และปิดบังข้อมูลด้วยเหตุผลเดียวกัน (Finding 99) .... และข้อค้นพบข้อสุดท้ายของคณะกรรมการสรุปอย่างชัดเจนว่า “ตลอดระยะเวลาการทำงานของคณะกรรมการ พีทีทีอีพี เอเอ “โดยมากมีท่าทีต่อล้อต่อเถียงและชี้นิ้วปรักปรำผู้อื่น บริษัทยอมรับลักษณะและขอบเขตข้อบกพร่องของบริษัทก็ต่อเมื่อบริษัทไม่มีทางเลือกอื่นใดแล้วนอกจากยอมรับทั้งในเชิงปฏิบัติและในทางกฎหมาย”
       
       การรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ของ PTTEPAA ที่เป็นเพียงข้อความสั้นๆ ที่ไม่ได้ระบุสาระสำคัญใดๆ ของรายงานเลย ไม่มีทางที่นักลงทุนจะรู้ว่าคณะกรรมการมีข้อค้นพบที่สำคัญอะไรบ้าง การปกปิดข้อมูลที่สำคัญ เธอเห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่แย่และละเมิดต่อประกาศของตลท.ที่กำหนดให้เนื้อหาของสารสนเทศจะต้องตรงไปตรงมา ข้อวิจารณ์ของเธอ ทำให้ปตท.สผ. แก้เกี้ยวว่าเป็นเพราะข่าวส่วนใหญ่ออกมาว่ารายงานดังกล่าวชี้ข้อบกพร่อง PTTEPAA แต่แทบไม่มีเรื่องการพิจารณาใบอนุญาตและการดำเนินการแก้ไขปรับปรุงของ PTTEPAA ดังนั้น ปตท.สผ.จึงอยากให้ข้อมูลด้านดีต่อนักลงทุนเพื่อให้เกิดความสมดุลและเสมอภาคในการได้รับข่าวสารของสาธารณชน
       
       การต่อล้อต่อเถียง ชี้นิ้วปรักปรำผู้อื่น หรือข่มขู่ ปิดปากอย่างที่กลุ่มปตท. กำลังทำกับสื่อเครือ “ASTVผู้จัดการ” นั้น ไม่ใช่วิธีการที่ฉลาดสำหรับองค์กรที่มีศักดิ์ศรีระดับยักษ์ใหญ่พลังงานอันดับหนึ่งของประเทศ มีแต่ต้องพร้อมให้ตรวจสอบ จริงจังและจริงใจในการแก้ไขปัญหาและความผิดพลาดเท่านั้นที่จะทำให้กลุ่มปตท.ได้รับความไว้วางใจจากสังคม เอาง่ายๆ แรกสุดกลุ่มปตท.ควรเป็นผู้สนับสนุนอย่างแข็งขันในการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบอิสระกรณีน้ำมันรั่วที่ระยองก่อนเป็นอันดับแรก










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น