วันพุธที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2558

ก.พลังงานเมินเสียงค้าน สปช. ยันเดินหน้าสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21



กระทรวงพลังงานรอ “สปช.” ส่งรายงานอย่างเป็นทางการพร้อมรับฟังแต่หลักการยังคงเดินหน้าเปิดให้ยื่นสิทธิ์สำรวจตามเดิมภายใน 18 ก.พ.นี้ ยืนยันไม่ได้รีบเหตุแผนงานดังกล่าวได้วางไว้ตั้งแต่ปี 2553 เหตุสำรองก๊าซฯ ในไทยเริ่มถดถอย ย้ำผลประโยชน์สัมปทานไม่ต่างจากระบบแบ่งปัน
       
       นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงานและสมาชิกสภาปฏิรูปด้านพลังงาน หรือ สปช. เปิดเผยว่า ได้หารือและรายงานถึงกรณีมติ สปช. 130 ต่อ 79 คะแนนที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สปช.เสียงข้างมาก ให้เดินหน้าสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ต่อนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน ในช่วงเช้าวันนี้ (14 ม.ค.) ซึ่ง รมว.ยังไม่มีนโยบายเปลี่ยนแปลงใด กระทรวงพลังงานจึงพร้อมที่จะเดินหน้าตามกรอบเดิม
       
       “คงต้องรอให้ สปช.ส่งรายงานผลสรุปอย่างเป็นทางการมาก่อนหลังจากนั้นจะดูข้อเสนอต่างๆ แต่หลักการปัจจุบันยังไม่เปลี่ยนแปลงใดๆ เพราะกระทรวงพลังงานมีหน้าที่บริหารและมีหน้าที่รับฟังจาก สปช. ทางกระทรวงพลังงานพร้อมเดินหน้าตามรัฐบาล โดยการศึกษาเรื่องนี้เป็นไปตามที่รัฐบาลส่งมาให้ สปช.ศึกษาหลังประกาศปิดสัมปทานรอบ 21 ไปเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 57 และเห็นว่าสัมปทานรอบ 21 ควรเปิดตามที่ประกาศไปแล้วเพราะเป็นเรื่องจำเป็น” นายคุรุจิตกล่าว
       
       นายคุรุจิตกล่าวว่า ทาง สปช.พลังงานศึกษา 3 ประเด็น คือ 1. ให้เปิดสัมปทานรอบ 21 ใช้ระบบสัมปทานประเทศระบบที่ 3 หรือไทยแลนด์ทรี 2. ยกเลิกสัมปทาน 21 แล้วให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต หรือพีเอสซี และ 3. เปิดสัมปทานรอบ 21 ใช้ระบบสัมปทานไทยแลนด์ทรีพลัส หรือระบบที่ 3 พิเศษ และให้ศึกษาระบบพีเอสซีว่าสมควรจะใช้ในการประกาศเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบต่อไปหรือไม่ ซึ่ง สปช.พลังงานได้เลือกข้อสรุปที่ 3 ส่งต่อให้รัฐบาล
       
       นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ขณะนี้การเปิดสัมปทานรอบ 21 ก็ยังเป็นไปตามมติ ครม. โดยจะปิดรับข้อเสนอในวันที่ 18 ก.พ. 2558 เช่นเดิม โดยมีผู้สนใจมาขอดูข้อมูลทั้งรายเก่าและรายใหม่นับสิบราย ซึ่งจะมีการยื่นขอมากน้อยแค่ไหนคงจะต้องรอดูช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนปิดรับข้อเสนอ
       
       ทั้งนี้ ยืนยันว่าการดำเนินการทั้งหมดไม่ได้เป็นการเร่งรีบเพราะได้เตรียมการเปิดมาตั้งแต่ปี 2553 ด้วยเหตุที่ไทยต้องการก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นแต่การจัดหาในประเทศเริ่มน้อยลง ดังนั้นการเปิดสัมปทานฯ ครั้งนี้จึงเป็นการเพิ่มปริมาณสำรองก๊าซฯ ภายในประเทศเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศที่ปัจจุบันไทยก็ต้องพึ่งพิงการนำเข้าพลังงานกว่า 50% ของความต้องการใช้ภาพรวมหรือคิดเป็นมูลค่าปีละกว่า 1.44 ล้านล้านบาท
       
       นอกจากนี้ ระบบสัมปทานรอบ 21 ผลประโยชน์ของรัฐไม่น้อยกว่าพีเอสซี โดยแบ่งปันผลประโยชน์ของรัฐและเอกชนในสัดส่วน 72% ต่อ 28% หลังหักจากค่าใช้จ่ายไปแล้ว และการดำเนินการไม่ซ้ำซ้อน โปร่งใสกว่าเพราะทุกอย่างเป็นไปตามที่รัฐประกาศ แต่พีเอสซีต้องแก้กฎหมายตั้งองค์กรใหม่มาเจรจารายสัญญากับเอกชน หลังอนุมัติโครงการแล้วทุกสัญญาของเอกชนที่จะไปว่าจ้างต่อต้องขอความเห็นชอบจากองค์กรใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น ซึ่งทำให้การทำงานล่าช้าและอาจเป็นช่องโหว่ของการแสวงหาผลประโยชน์ได้

“วิษณุ” รับรัฐเมินมติ สปช.ลุยสัมปทานปิโตรเลียมได้ แต่โดยมารยาทควรให้เกียรติ



รองนายกฯ รับตาม รธน.ชั่วคราว รัฐบาลเมินเสียง สปช. เดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบ 21 ได้ แต่โดยมารยาทควรให้เกียรติ อ้าง ปธ.ต่อต้านคอร์รัปชัน ระบุ สปช.ไม่ได้ตีตกทั้งหมด แค่ท้วงติงบางส่วน หากปรับวิธีการ เดินหน้าต่อคงไม่มีปัญหา โยน ก.พลังงานแก้ไข ส่วน รธน.ใหม่ให้สิทธิ ปชช.ฟ้องศาล รธน. เชื่อไม่ทำให้วุ่น แนะเพิ่มจำนวนตุลาการศาลฯ บอก 9 คนน้อยไป ปัดวิจารณ์อำนาจถอดถอน สนช. ชี้เรื่องไปไกลแล้ว 
       
       นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สปช. ในการพิจารณาเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ว่า เรื่องนี้นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ในฐานะสมาชิก สปช.ได้ชี้แจงในระหว่างการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ร่วมกับนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่ามติของ สปช.ไม่ถึงขนาดตีตกทั้งหมด เพียงแต่เป็นการท้วงติงในเรื่องวิธีการเท่านั้น หากมีการปรับวิธีการคาดว่าจะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด รายละเอียดในส่วนนี้คงต้องให้กระทรวงพลังงานเป็นผู้ชี้แจง ทั้งนี้ ในวันที่ 15 ม.ค.นี้ ตนได้มีนัดหารือกับทางประธานคณะกรรมาธิการ 18 คณะของ สปช.เกี่ยวกับการประสานงานกับรัฐบาลอยู่แล้วก็จะได้มีการพูดคุยในเรื่องนี้ด้วย
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อ สปช.มีมติในลักษณะนี้ รัฐบาลจำเป็นจะต้องชะลอหรือทบทวนโครงการหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ขอตั้งหลักก่อน เพราะยังไม่เห็นรายละเอียดของมติและข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปพลังงาน ทาง สปช.จะต้องส่งมติไปให้กระทรวงพลังงานในฐานะผู้รับผิดชอบเสียก่อน
       
       ต่อข้อถามว่า รัฐบาลสามารถตัดสินใจดำเนินโครงการต่อไปได้โดยไม่ต้องฟังมติ สปช.หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตรงนี้คือหลักการตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ระบุว่า รัฐบาลมีความรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อ สปช.มีข้อเสนอแนะมา รัฐบาลก็สามารถที่จะพิจารณาได้ว่าจะรับทำหรือไม่ ยกตัวอย่าง สปช.เสนอให้ออกกฎหมาย หากรัฐบาลเห็นว่าไม่จำเป็นก็อาจจะไม่เสนอ ซึ่งกรณีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 นั้น นางจุรี วิจิตรวาทการ สมาชิก สปช.เองก็บอกว่า เมื่อข้อเสนอแนะของ สปช.เป็นเช่นนี้ แต่ที่สุดแล้วอยู่ที่รัฐบาลจะทำอย่างไร จะไม่ทำตามก็ได้ เพราะมองว่า สปช.อาจจะขาดข้อมูลบางอย่าง หรือไม่ทราบว่ารัฐบาลได้เริ่มดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง หากจะยกเลิกหรือทบทวนก็อาจจะทำไม่ได้แล้ว ซึ่งส่วนตัวไม่ทราบรายละเอียดเรื่องนี้ ต้องสอบถามนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน โดยตรง
       
       “โดยมารยาทรัฐบาลควรจะให้เกียรติ รับฟังข้อเสนอของ สปช. ทำได้ก็ทำ ทำได้บางส่วนก็ทำบางส่วน หรือจะไม่ทำตามก็ต้องชี้แจงกลับไปว่า ขอบคุณสำหรับคำแนะนำ แต่ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้เพราะอะไร และเปิดเผยให้สาธารณชนรู้ด้วย อันนี้เป็นการพูดตามกฎหมาย ไม่ใช่จะไปต่อล้อต่อเถียงกับ สปช.”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น