วันนี้ (6 มิ.ย.) ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะอดีตทนายความผู้ทำคดีปราสาทพระวิหารปี พ.ศ.2502-2505 อดีตหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำยูเนสโก และอดีตที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของยูเนสโกเรื่องมรดกโลก ได้นำเสนอบทความในเว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ ในหัวข้อ “ศาลโลกกับคดีปราสาทพระวิหาร” โดยได้ตั้งข้อสังเกตถึงข้อโต้แย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาว่า ในชั้นนี้ซึ่งเพิ่งเป็นการเริ่มกระบวนการตามคำร้องขอของกัมพูชาให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ตีความคำพิพากษาของศาล ในคดีปราสาทพระวิหาร วันที่ 15 มิ.ย.2505 นั้น ดร.สมปอง เห็นว่า ข้อโต้แย้งและเหตุผลของไทยที่อ้างว่าศาลไม่มีอำนาจออกคำสั่งเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองชั่วคราวตามคำขอของกัมพูชานั้น ยังขาดเหตุผลอันเป็นสารสำคัญ คือ ข้อเท็จจริงที่ประเทศไทยมิได้รับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศโดยบังคับเป็นการล่วงหน้าโดยปฏิญญา การรับอำนาจดังกล่าวมิได้มีการต่ออายุมาตั้งแต่ปี 2492 และหมดอายุไปตั้งแต่ปี 2502 ไม่กี่เดือนหลังจากที่กัมพูชายื่นคำร้องเพื่อฟ้องไทยในคดีปราสาทพระวิหาร
ประการต่อมา คือ คำแถลงสรุปผลการเจรจาของคณะผู้แทนไทย หลังจากเดินทางกลับจากกรุงเฮกนั้น มีความคล้ายคลึงกับหนังสือของ นายถนัด คอมันตร์ รมว.ต่างประเทศ ในข้อที่ว่า ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ซึ่งมีพันธกรณีตามข้อ 94 ของกฎบัตรสหประชาชาติ ที่จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล ทั้งๆ ที่ไทยมีความเห็นว่าคำพิพากษาดังกล่าวขาดความชอบธรรมเนื่องจากขัดต่ออนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1904 และสนธิสัญญากับพิธีสาร ค.ศ.1907
อีกประการหนึ่ง ในครั้งนั้นเป็นขั้นตอนที่ศาล ได้วินิจฉัยแล้วว่า ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาโดยบังคับ เนื่องจากไทยได้มีปฏิญญารับอำนาจศาล แล้วเมื่อ ค.ศ.1949 ซึ่งขณะนั้นยังไม่ขาดอายุ ต่อมาในปีเดียวกันนั้นเอง เมื่อกัมพูชาขอขยายคำฟ้องอีกสองข้อ คือ สถานภาพของแผนที่ผนวกหนึ่ง มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 และความถูกต้องของเส้นเขตแดนตามแผนที่ผนวกหนึ่ง ซึ่งทั้งสองข้อนี้ ศาลได้ระบุชัดเจนว่าปฏิเสธและไม่พิจารณา
ถึงกระนั้นก็ตาม บัดนี้ กัมพูชาก็ยังอ้างว่า ศาลให้ความเห็นชอบข้อโต้แย้งและเหตุผลของไทยที่อ้างว่าศาลไม่มีอำนาจออกคำสั่งเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองชั่วคราวตามคำขอของกัมพูชา กับคำแถลงสรุปผลการเจรจาของคณะผู้แทนไทยหลังจากเดินทางกลับจากกรุงเฮก ซึ่งไม่เป็นความจริง อีกทั้งสิ่งที่น่าวิตก คือ ฝ่ายไทยยังไม่เข้าใจข้อแอบอ้างของกัมพูชาอันเป็นเท็จ
ศ.ดร.สมปอง ยังระบุอีกว่า กัมพูชากำลังฉวยโอกาสที่ไทยโต้แย้งอย่างสับสน และไม่ชัดเจนโดยมิได้ศึกษาข้อเท็จจริงอย่างละเอียดและรอบคอบ นอกจากนั้น ยังสำคัญผิดคิดว่าได้โต้แย้งไปแล้วอย่างครบถ้วนและพอเพียง แท้ที่จริงนั้น ศาลอาจสันนิษฐานได้ว่าไทยมิได้คัดค้านอำนาจศาลโดยตรง เพราะไทยเพียงแต่อ้างว่าศาลไม่มีอำนาจพิจารณาคำขอของกัมพูชา ทั้งยังขอให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีโดยมิได้ยื่นคำคัดค้านอำนาจศาล และมิได้แม้แต่อ้างข้อสงวนของฝ่ายไทยตามหนังสือของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2505 ที่มีไปถึงเลขาธิการสหประชาชาติ
ฉะนั้น อันตรายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ คือ การที่ไทยจะส่งหลักฐานความเสียหายจากการปะทะกับกัมพูชาไปให้ศาล ซึ่งศาลอาจเข้าใจว่าไทยสละสิทธิ์ในการคัดค้านอำนาจศาล เพราะไทยได้แถลงอย่างอ้อมค้อมว่าศาลไม่มีเขตอำนาจพิจารณา แทนที่จะอ้างอย่างชัดเจนตามกฎหมายว่า ไทยคัดค้านอำนาจพิจารณาของศาล เบื้องต้น (Preliminary objection to the jurisdiction) ไทยต้องยืนยันอย่างชัดเจนตั้งแต่บัดนี้ ก่อนที่จะสายจนเกินแก้
“เพราะศาลอาจสันนิษฐานว่า การที่ไทยได้เดินทางไปให้การโดยมิได้ยื่นคำคัดค้านอำนาจของศาลอย่างชัดเจนเป็นทางการ อีกทั้งยินยอมส่งหลักฐานให้ศาลตามคำขอของศาลนั้น เป็นการยอมรับอำนาจศาลโดยปริยาย ทั้งเป็นการเสี่ยงที่จะถูกศาลสั่ง ว่า ในเมื่อไทยมีโอกาสคัดค้าน เหตุใดจึงประพฤติปฏิบัติเสมือนไม่คัดค้านอำนาจศาล” ศ.ดร.สมปอง ระบุ
ทั้งนี้ ศาลอาจใช้กฎหมายปิดปากไทยอีกเช่นในอดีต ฉะนั้น ไทยชอบที่จะใช้เหตุผลที่ได้ให้ข้อคิดเห็นไปแล้ว กล่าวคือแถลงการของศาล ใน Press Release (เอกสารข่าว) ได้ระบุว่า คดีนี้เป็นคดีใหม่ ไทยควรที่จะยืนยันว่าศาลขาดอำนาจพิจารณาพิพากษาโดยบังคับ เพราะไทยมิได้ต่ออายุคำรับอำนาจศาล ซึ่งขาดอายุไปแล้วกว่า 50 ปี หากศาลจะอ้างว่าเป็นคดีเดิม คือ เป็นเพียงขอให้ศาลตีความคำพิพากษาเดิมเมื่อปี 2505 ไทยก็ชอบที่จะโต้แย้งว่า ในหลายคดีที่ผ่านมาดังปรากฏในรายงานของศาล การขอให้ศาลตีความ คู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดควรกระทำการร้องขอโดยไม่ชักช้า ซึ่งในทางปฏิบัติไม่เคยเกิน 2 ปี
นอกจากนี้ การที่กัมพูชามิได้ร้องขอให้มีการตีความภายในกำหนดเวลาดังกล่าว เนื่องจากไทยได้ปฏิบัติตามพันธกรณีอย่างถูกต้องโดยกัมพูชามิได้โต้แย้งแต่ประการใด ไทยต่างหากที่เป็นฝ่ายประท้วงและตั้งข้อสงวนไว้ และมอบหมายให้ผู้แทนฝ่ายไทยในคณะกรรมการกฎหมาย (กรรมการที่หก) ชี้แจงและให้เหตุผลว่าศาลฯ ตัดสินผิดต่อสนธิสัญญา ผิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และผิดต่อหลักความยุติธรรม ดังปรากฎในรายงานสรุปของคณะกรรมการที่หก ของสมัชชาสหประชาชาติ สมัยประชุมที่ 17 ปี 1962 เป็นที่น่าเสียดายที่ฝ่ายไทยมิได้เคยนำเรื่องนี้มาใช้ในการโต้แย้งในกรณีปัจจุบัน
“การต่อสู้ครั้งนี้ ไทยจำเป็นต้องศึกษาจุดยืนของเราเองให้เข้าใจอย่างถ่องแท้และแม่นยำ ยึดมั่นกับจุดยืนของตนโดยไม่หวั่นไหวกับคำให้การของคู่กรณีอันก่อให้เกิดความสับสนและสำคัญผิดในเนื้อหาและข้อเท็จจริง จุดสำคัญที่พึงกระทำในชั้นนี้ คือ ไทยต้องคัดค้านอำนาจศาลฯ ในโอกาสแรกที่สามารถทำได้ การกล่าวแต่เพียงว่าเขตอำนาจของศาล ไม่ครอบคลุมถึงคำขอของกัมพูชานั้นยังไม่เพียงพอ ไทยต้องยืนยันอย่างเป็นทางการ ว่า ไทยคัดค้านอำนาจศาลฯ เพราะไทยมิได้ยินยอมรับอำนาจศาลฯ อีกเลยหลังจากขาดอายุไปแล้วเป็นเวลากว่า 50 ปี การไปปรากฏตัวที่ศาลฯ แต่ละครั้ง ก็ด้วยวัตถุประสงค์หลักเพียงอย่างเดียว คือ คัดค้านอำนาจศาล มิใช่เพียงโต้แย้งว่าคำขอของกัมพูชาไม่อยู่ในเขตอำนาจพิจารณา” ศ.ดร.สมปอง ระบุ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น