วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2554

ชำแหละกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องมือสร้างคะแนนเสียงทางการเมือง

ชำแหละกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องมือสร้างคะแนนเสียงทางการเมืองของ “มาร์ค” ไม่แตกต่างจาก “แม้ว” ขณะเดียวกันยังเป็นแหล่งผลประโยชน์ของ ปตท.ฟันค่าชดเชยนำเข้าก๊าซฯ ร่วม 30,000 ล้านบาท ป้อนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในเครือ เอาเปรียบประชาชนผู้จ่ายเงินเข้ากองทุนโดยเฉพาะผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินที่ถูกรีดหนัก

นโยบายการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร โดยการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ เข้าไปอุ้มของรัฐบาลอภิสิทธิ์ในเวลานี้ เป็นประเด็นข้อถกเถียงอย่างกว้างขวาง มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยฝ่ายเห็นด้วยมีเหตุผลว่า การตรึงราคาดีเซลจะช่วยลดค่าครองชีพ ลดต้นทุนการขนส่งและการผลิตสินค้า

ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยชี้ว่า ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกการตลาด เพื่อให้เกิดการปรับตัวและประหยัดการใช้พลังงาน ไม่เป็นภาระต่อกองทุนน้ำมัน หากจะตรึงควรทำแค่ช่วงสั้นๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน แต่หากแนวโน้มระยะยาวราคาน้ำมันสูงขึ้นต่อเนื่อง จนไม่สามารถอุ้มต่อไปได้ต้องปรับราคาขึ้นในอัตราที่สูง ประชาชนจะรับไม่ได้และมีปัญหาตามมา

แต่ไม่ว่าจะมีฝ่ายเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร รัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งเคยขายฝัน 99 วันเราทำได้ หนึ่งในนั้นคือการยกเลิกกองทุนน้ำมันฯ กลับกลืนน้ำลาย หันมาใช้กองทุนนี้เพื่อสร้างคะแนนเสียงทางการเมือง ไม่แตกต่างไปจากรัฐบาลชุดที่ผ่านๆ มา โดยช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ นับจากปี 2552-2554 กองทุนน้ำมันฯ ได้ถูกล้วงเอาไปตรึงราคาก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวี โดยจ่ายชดเชยให้กับ บมจ.ปตท.กระทั่งกลายเป็นภาระหนี้ผูกพันมาจนถึงปัจจุบัน

กองทุนน้ำมันฯ จึงกลายเป็นกองทุนทางการเมือง ถูกล้วงเอาไปใช้เพื่อสร้างคะแนนนิยม อีกทั้งยังมีการนำเงินกองทุนฯ ไปใช้สนองนโยบายของรัฐบาลอย่างผิดเพี้ยนไปจากวัตถุประสงค์เดิมของการตั้งกองทุนน้ำมัน ตัวอย่างเช่น โครงการส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมัน ส่งเสริมรถยนต์ FFVเป็นต้น

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ผู้ซึ่งเคยประกาศเลิกกองทุนน้ำมันเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อประชาชนเมื่อคราวหาเสียงตามนโยบาย 99 วันเราทำได้ แต่ถึงวันนี้เขากลับมาใช้กองทุนน้ำมันฯ หาคะแนนนิยมทางการเมืองไม่แตกต่างไปจากรัฐบาลทักษิณ
หากมองย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น กองทุนน้ำมันฯ จัดตั้งขึ้นเพื่อใช้กลไกของรัฐในการป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง และใช้ในการรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศในกรณีที่มีปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกสูงขึ้น เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเดือดร้อนของประชาชนให้น้อยที่สุด

แหล่งที่มาของเงินกองทุนน้ำมันฯ จัดเก็บมาจากผู้ใช้น้ำมันโดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันเบนซินเป็นหลัก ดังนั้นกองทุนนี้จึงเป็นของผู้บริโภคน้ำมัน การที่รัฐบาลนำมาใช้เป็นกลไกของรัฐในการรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จึงเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ

แต่ในขณะเดียวกัน การที่นักการเมืองฉวยใช้กองทุนน้ำมันฯ เป็นเครื่องมือในการหาคะแนนเสียง เอาดีใส่ตัว ดังเช่นที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงใกล้ฤดูกาลเลือกตั้งนี้ การกระทำของรัฐบาลอภิสิทธิ์ จึงไม่ได้แตกต่างไปจากรัฐบาลทักษิณ ที่ใช้กองทุนน้ำมันฯ สร้างคะแนนนิยมโดยตรึงราคาน้ำมันทั้งเบนซินและดีเซล ในช่วงระหว่างปี 2546 -2547 จนกองทุนน้ำมันฯ มีภาระหนี้กว่า 92,000 ล้านบาท

ข้อถกเถียงเรื่องกองทุนน้ำมันว่าถูกใช้ไปในลักษณะใด เหมาะสมหรือไม่นั้น อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องตามไปดูพร้อมๆ กันก็คือ ใครเป็นผู้บริหารกองทุนน้ำมัน บริหารเพื่อประโยชน์ของใคร ซึ่งคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 2/2546 กำหนดให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เป็นผู้บริหารกองทุนฯ

คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน (ปัจจุบันคือ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล) ปลัดกระทรวงพลังงาน (นายณอคุณ สิทธิพงศ์) เป็นกรรมการและผู้จัดการกองทุนน้ำมันฯ (มีอำนาจหน้าที่จ่ายเงินกองทุนน้ำมันฯ) โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เป็นกรรมการและเลขานุการ

กบง. มีอำนาจหน้าที่บริการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และกำหนดอัตราเงินนำเข้ากองทุนน้ำมัน จ่ายเงินกองทุน และหน้าที่อื่นๆ อีกหลายประการ เช่น กำหนดราคาน้ำมัน กำหนดค่าการตลาด ค่าขนส่ง กำหนดราคาขายก๊าซฯ กำหนดราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นและคำนวณราคาขายปลีก น้ำมันเชื้อเพลิงที่ส่งออก ฯลฯ อาจกล่าวว่า กบง.มีอำนาจพิเศษ ให้คุณให้โทษแก่บริษัทธุรกิจน้ำมันและก๊าซฯ อย่างล้นเหลือก็คงไม่ผิด

ดังนั้น การที่ กบง.บางคนนั่งควบอยู่ในหลายหน้าที่หลายตำแหน่ง ทั้งอยู่ใน กบง. อยู่ในคณะบริหารกองทุนน้ำมัน และกรรมการ บมจ.ปตท.และบริษัทในเครือ จึงทำให้เกิดข้อกังขาไม่สิ้น ไม่เว้นแม้แต่นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.กระทรวงพลังงาน ประธาน กบง. ที่มักมีมติออกมาในทางที่เอื้อประโยชน์ต่อ ปตท.

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน ในฐานะประธานกบง.ผู้บริหารกองทุนน้ำมันที่มีข้อกังขาจากคณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภาว่าพิจารณาทางเลือกใช้กองทุนน้ำมันที่เอื้อประโยชน์ให้ ปตท.
ภาพสะท้อนล่าสุด จากการตรวจสอบสถานะของกองทุนน้ำมัน เพื่อนำมาพยุงดีเซล ไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ตามคำบัญชาของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นั้น เห็นได้ชัดถึงการนำเอากองทุนน้ำมันฯ ที่อยู่ภายใต้การบริหารของ กบง. มาเล่นแร่แปรธาตุ มีการนำเงินกองทุนฯ ไปชดใช้หนี้ค้างชำระเงินชดเชยต่างๆ และหนึ่งในผู้ได้รับการชดเชยมากสุดเกือบหมื่นล้านคือ ปตท.

สถานะของกองทุนน้ำมันฯ ตามที่ สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) (สบพณ.) รายงาน ณ วันที่ 28 ก.พ. 54 ปรากฏว่า กองทุนน้ำมันฯ มีเงินสดสุทธิ 36,029 ล้านบาท นำไปฝากธนาคารออมสินและส่งเสริมปลูกปาล์ม เหลือเงินในบัญชี 30,529 ล้านบาท หักหนี้สินกองทุนที่เป็นหนี้ค้างชำระเงินชดเชยก๊าซแอลพีจี เอ็นจีวี ชดเชยน้ำมันดีเซลบี 2, ดีเซลบี 5 แก๊สโซฮอล์ ฯลฯ รวมๆ แล้ว 14,075 ล้านบาท เหลือเงินในกองทุนสุทธิ 21,684 ล้านบาท

เงินกองทุนสุทธิข้างต้น ยังไม่ได้รวมการชดเชยตามมติ กพช.และมติ ครม. คือ1) การเปลี่ยนเครื่องยนต์รถแท็กซี่ จำนวนเงิน 1,200 ล้านบาท 2) การอุดหนุนราคาก๊าซ NGV จำนวนเงิน 4,500 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการเบิกจ่าย รวมทั้งสิ้น5,700 ล้านบาาท หากรวมเอาการชดเชยในส่วนนี้รวมเข้าไปกองทุนน้ำมันฯ จะเหลือเงินสุทธิอยู่เพียง 15,984 ล้านบาท

ส่วนเงินไหลเข้า ล่าสุดวันที่ 5 มี.ค. 54 การเก็บเงินเข้ากองทุน อาทิ เบนซิน 95 ที่ 7.50 บาท เบนซิน 91 ที่ 6.70 บาท แก๊สโซฮอล์ 95 ที่ 2.40 บาท แก๊สโซฮอล์ 91 ที่ 0.10 บาท

กรณีการพิจารณาจ่ายเงินชดเชยราคาก๊าซแอลพีจีที่นำเข้าให้กับ ปตท. โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันของ กบง. นั้น คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่มีนางสาวรสนา โตสิตระกูล เป็นประธาน ได้สรุปไว้ในรายงานพิจารณาศึกษาเรื่อง ธรรมาภิบาลในระบบพลังงานของประเทศ ภาคที่สอง (พ.ค. 2552 - ธ.ค. 2553) กบง. เลือกพิจารณาจ่ายเงินชดเชยให้แก่ ปตท. ในการนำเข้าแอลพีจี โดยนำเงินกองทุนน้ำมัน ไปชดเชยส่วนต่างราคานำเข้าก๊าซแอลพีจี ในปี 2552 จำนวน 5,818 ล้านบาท และในปี 2553 กว่า 20,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับปี 2554 ที่ขออีกประมาณ 2,000 กว่าล้าน รวมๆ แล้วเกือบ 30,000 ล้านบาท

การจ่ายชดเชยส่วนต่างก๊าซแอลพีจี ให้ปตท. กบง.ไม่สนใจข้อมูลที่แท้จริงว่า ปริมาณก๊าซแอลพีจีที่ผลิตได้นประเทศเพียงพอต่อความต้องการใช้ของประชาชนทั้งภาคครัวเรือนและยานยนต์ แต่เหตุที่ต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจีจำนวนมหาศาลเป็นเพราะความต้องการของของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด และอุตสาหกรรมปิโตรเคมีส่วนใหญ่เป็นบริษัทในเครือ บมจ.ปตท. ซึ่งไม่ต้องรับผิดชอบกับภาระส่วนต่างของราคาที่เกิดขึ้นเลย

คณะกรรมาธิการฯ มีข้อเสนอเพื่อความเป็นธรรมกับประชาชนอย่างแท้จริง กบง.ไม่ควรให้มีการจ่ายเงินชดเชยการนำเข้าก๊าซแอลพีจี และให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นผู้รับผิดชอบในราคาก๊าซแอลพีจีที่นำเข้าจากต่างประเทศโดยตรง ซึ่งข้อเสนอนี้ดูเหมือนนายกรัฐมนตรี จะเห็นพ้องและเห็นควรให้แยกราคาแอลพีจีเป็นสองตลาด คือ ภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือนกับขนส่ง

แต่อย่างไรก็ตาม จนบัดนี้ การนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปชดเชยก๊าซแอลพีจีที่นำเข้าจากต่างประเทศ ก็ยังมีอยู่เช่นเดิม โดย สบพณ. โชว์ตัวเลขในรายงานสถานะกองทุนน้ำมัน เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 54 ว่า มีหนี้เงินชดเชยก๊าซ LPG กรณีนำเข้าจากต่างประเทศ ปี 2554 เป็นตัวเลขจาก สนพ. ที่อยู่ระหว่างดำเนินการขอชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 2,050 ล้านบาท

ดูท่า “อภิสิทธิ์” จะเป็นอย่างที่ “จิตรา คชเดช” สาวฉันทนาอดีตพนักงานบริษัทไทรอัมพ์ ที่ชูป้าย “ดีแต่พูด” จริงๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น