วันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2554

สังคม ... ที่ต้อง เลิกคาดหวังกับ คนอาชีพสื่อมวลชน - ดร.บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา

บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา

ท่ามกลางกระแสปฏิรูปสื่อ แต่เรากล้าพูดกันจริงๆ ถึงเรื่องที่ต้องการปฏิรูปหรือไม่ หากนักวิชาการคนนี้กล้า กล้าจะบอกว่าสื่อคือ Old Media ของแท้

ดร.บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน "ฝีปากกล้า" ผู้มีผลงานด้านงานเขียนและงานวิจัยด้านสื่อมายาวนานหลายทศวรรษ เขามักจะวิพากวิจารณ์ "สื่อ" อย่างตรงไปตรงมา หากเรียกด้วยคำฮิตติดปากตามยุคสมัย ก็อาจเรียกได้ว่า "คิดนอกกรอบ" เขาเคย "โยนหิน" เมื่อครั้งวิกฤติการเมืองในเดือนพฤษคม 2535 ด้วยกระแสความคิด "ปฏิวัติแมลงวัน" แต่วันนี้ เขากระโดดเข้าร่วมกระบวนการทางความคิด ว่าด้วยกระแส "ปฏิรูปสื่อ" และปรากฏการณ์"สื่อใหม่" พร้อมกับวิพากษ์อย่างไม่เกรงใจใคร และตั้งคำถามว่าเรากำลังเข้าสู่ "ยุคหลังอารยธรรม" กันหรือเปล่า

O ระยะนี้อาจารย์มีหนังสือว่าด้วยสื่อที่ได้นิยามจุดเปลี่ยนและยุคสมัยของสื่อออกมาวางตลาดหลายเล่มนะครับ

ปีกลายมีออกมาแปดเล่ม บางเล่มก็ตีพิมพ์ซ้ำ บางเล่มตีพิมพ์ครั้งแรก ที่เกี่ยวกับสื่อแขนงต่างๆ ในมิติของการเมืองและนโยบายสาธารณะคือ ฐานันดรที่สี่ ระหว่างกระจกกับตะเกียงและ ปรากฏการณ์ทักษิณ ชินวัตร สื่อกับการเมืองทางวัฒนธรรม จุดเปลี่ยนแห่งทศวรรษที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ก็มี ศิลปะแขนงที่เจ็ด ประพันธกรภาพยนตร์ญี่ปุ่น และโรงงานแห่งความฝัน อีกสองเล่มเป็นคือ The Politics of Thaksinocracy และ Media and Politics in Thailand ที่นำเอารายงานวิจัยและผลงานประเภทอื่นๆ ของผมบางส่วนที่เป็นภาษาอังกฤษทั้งที่ตีพิมพ์ในเมืองไทยและต่างประเทศ มารวมกันเป็นครั้งแรกด้วย

O แล้วรายงานวิจัยที่อาจารย์ทำให้สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส)เรื่องปฏิรูปสื่อครบวงจร กุศโลบายสู่ประชาธิปไตย บทเรียนจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 จะวางตลาดเมื่อไรครับ เล่มนี้เข้ากับบรรยากาศของยุคสมัยนี้มากเลย

นี่เป็นบทวิเคราะห์กำเนิด พัฒนาการ และผลกระทบของโทรทัศน์ต่อชีวิตทางสังคมไทยร่วมสมัย นั่นก็คือ การสถาปนาลัทธิบริโภคนิยมทางเศรษฐกิจ นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง อีกทั้งการจัดตั้งสิ่งที่ผมเรียกว่าวารสารศาสตร์แห่งการบริภาษ” (journalism of damning) ขึ้นมาในประเทศไทยในช่วงห้าหกปีมานี้ หลังจากนำเสนอในที่ประชุมกลางๆ ปีกลาย ผมได้นำรายงานวิจัยขนาดย่อมเล่มนี้มาปรับปรุงให้สมบูรณ์ขึ้น เล่มนี้จะตีพิมพ์และวางตลาดเร็วๆ นี้แหละครับ

O ในฐานะผู้สังเกตการณ์อย่างยาวนาน นับตั้งแต่ยุคพฤษภาทมิฬจนกระทั่งถึงข้อเสนอของอาจารย์เองที่เรียกว่าการปฏิวัติแมลงวัน ครั้งที่สองอาจารย์คิดว่าที่ใครๆ เรียกกันในนามของการปฏิรูปสื่อในสถานการณ์ปัจจุบันมีที่มาที่ไปอย่างไร

คำถามข้อนี้เป็นกล่องดวงใจของความขัดแย้งทางการเมืองในยุคหลังทักษิณเลยนะครับ ห้าหกปีมานี้ สื่อในกลุ่ม ASTV เป็นผู้กำหนดคิวทางการเมืองว่า ในแต่ละช่วงเราจะทะเลาะเรื่องอะไรกันดี เริ่มต้นก็เรื่องการคอร์รัปชั่น แล้วก็ตามมาติดๆ ด้วยเรื่องความจงรักภักดี พอวันนี้ก็เรื่องเขาพระวิหาร ที่มีการเมืองข้ามชาติว่าด้วยขุมทรัพย์พลังงานในน่านน้ำไทยและเขมรติดปลายนวมมาด้วย นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องใครมีความชอบธรรมในการเป็นรัฐบาล พรรคนั้นพรรคนี้ควรยุบไหม ประโยชน์และอันตรายของลัทธิประชานิยม และจะเกิดอะไรขึ้นระหว่างและหลังการเลือกตั้งคราวต่อไปเป็นกระสาย ของร้อนๆ ทั้งนั้น

นี่คือความขัดแย้งระดับศตวรรษแท้ๆ หลังจากที่อยู่ๆ กันไปทีละวันๆ ในสังคมการเมืองที่พิกลพิการมากมานาน เราก็มาตั้งคำถามว่า ใครทำอะไรผิดเอาไว้ที่ไหนและอย่างไรบ้าง เราจะก้าวไปข้างหน้าอย่างไรดี แล้วก็ดูเหมือนว่ายังไม่มีใครมีคำตอบที่ทุกฝ่ายสามารถเห็นพ้องต้องกันได้ เพราะวิธีคิดเรื่องการแบ่งสรรอำนาจและผลประโยชน์ของหลายฝ่ายยังไม่ตรงกัน

สำหรับเรื่องสื่อ ผมชอบที่จะคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างสื่อกับการเมืองเป็นภาพสะท้อนของหลักอิทัปปัจจยตาในศาสนาพุทธ ซึ่งผมขอเรียกเป็นภาษาแบบวิชาการสมัยใหม่ว่ากฎทองคำว่าด้วยสัมพัทธภาพ” (golden rule of relativity) ก็แล้วกัน

ความหมายก็คือ ทุกปัจจัยภายในสิ่งที่ผมเรียกว่าระบบสังคมของสื่อ” (media social system) ล้วนส่งผลกระทบซึ่งกันและกันอย่างครบวงจร ในทุกทิศทาง และตลอดเวลา นั่นก็คือ จากบนไปล่าง จากขวาไปซ้าย สลับไปๆ มาๆ ได้ในทุกทิศทาง แบบไม่เคยหยุดนิ่ง ด้วย

ด้วยการคิดแบบ องค์รวมที่มีปัจจัยเชิงระบบที่ซับซ้อน มากมาย และเคลื่อนไหวอย่างสัมพันธ์กัน เช่นนี้เท่านั้น ที่จะช่วยให้เราเห็นภาพทั้งหมดอย่างสมบูรณ์และถูกต้อง การคิดเป็นจุดๆ แบบแยกส่วนแบบง่ายๆ ที่ชอบทำๆ กันอยู่ มักนำไปสู่ความเข้าใจผิดและก่อให้เกิดการวิเคราะห์และแนวนโยบายที่คลาดเคลื่อน แก้ไขปัญหาไม่ได้จริง เพราะมันเป็นผลลัพธ์จากอะไรที่ผมเคยเรียกว่าการคิดแบบลัทธิกระพี้นิยม (reductionism)

เช่น ในวันนี้ สมาชิกของปีกขวา ซึ่งผมหมายถึงคนที่ค่อนข้างมีความสุขเพราะพอใจที่ตนเองได้รับผลประโยชน์จากระบบปัจจุบันก็ชอบพูดกันว่าพวกสื่อนี่ไม่มีจริยธรรมกันเลยนะ ไม่ไหวจริงๆ ต้องปฏิรูปใหญ่เสียแล้ว

แต่สำหรับคนที่อยู่ในปีกที่ตรงกันข้าม เพราะตนไม่ค่อยได้รับผลประโยชน์อะไร หรือเพราะเขามีวิสัยทัศน์ (vision) แบบใหม่ๆด้วยความจริงใจ ก็จะบอกว่าการที่สื่อทำแรงๆ มันๆ อย่างนี้แหละดีแล้ว เพราะสื่อต้องหาทางออกให้สังคมที่กำลังพบทางตัน การแข่งขันทางความคิดในเรื่องใหญ่ๆ เช่นนี้เป็นอาการของความก้าวหน้าของสังคม

แต่การคิดแบบด้านเดียวใดๆ ก็ตาม มันไม่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างแม่นยำได้ เพราะพอแก้ไขปัญหาตรงนี้เสร็จปัญหาเก่าในรูปโฉมใหม่ๆ ก็จะไปโผล่อีกที่หนึ่ง วนเวียนไปๆ มาๆ ไม่รู้จักจบสิ้น เพราะปัญหาสังคมเดี๋ยวนี้มันซับซ้อน ทุกอย่างผูกกันเป็นมัดเดียว ความจริงในระดับบูรณการนี้ไม่ใช่เรื่องประเภทที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้เท่าๆ กัน

หลักๆ แล้ว อะไรที่เรียกกันว่าการปฏิรูปสื่อในวันนี้ดูเหมือนจะเป็นความปรารถนาของนักการเมืองเป็นหลัก ผมได้ยินว่ารัฐบาลนี้ดิ้นรนกันถึงขนาดที่จะจัดตั้งสิ่งที่เรียกว่าองค์กรอิสระขึ้นมาควบคุมจริยธรรมของสื่อ ท่านคงจะรำคาญกันกระมังครับ ทำอะไรได้ไม่ค่อยถนัด เพราะ ASTV คอยป้อนโจทย์ใหม่ๆ ใหญ่ๆ ให้เรื่อยๆ นี่เป็นภาพสะท้อนว่าระดับการพัฒนาทางวัฒนธรรมของสื่อกลุ่มนี้กับฝ่ายการเมืองมันเหลื่อมกัน วิชาการบางสายเรียกว่า “cultural lag”

นี่เป็นปัญหาคนละแบบกับกระบวนการต่อสู้เพื่อการปฏิรูปสื่อในยุคพฤษภาทมิฬอย่างสิ้นเชิง และก็ไม่ใช่อะไรที่ผมเคยเรียกว่าการปฏิวัติแมลงวัน ครั้งที่สองด้วย นี่เป็นอาการของความขัดแย้งที่ถึงพริกถึงขิง ลงลึกกว่านั้นมาก ในแง่หนึ่ง มันเป็นภาพสะท้อนของการแสวงหาระบบสังคมในอุดมคติครั้งใหม่ ที่แต่ละฝ่ายพยายามดิ้นรนที่จะหาที่ยืนให้ตนเอง ถึงขนาดที่ต้องไล่ที่ฝ่ายอื่นกันล่วงหน้าเลยแหละ เจ็บปวดและหวาดเสียวไปพร้อมๆ กัน

ตัวผมเองให้น้ำหนักกับเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอันดับแรก ผมเชื่อว่าหากใครมีอะไรที่ต้องการพูด ก็ควรจะได้พูด จริงเท็จผิดถูกชั่วดีอย่างไร เวลาจะเป็นผู้พิสูจน์เอง

เสรีภาพที่เต็มที่จะผลักดันให้สังคมเดินไปข้างหน้า เมื่อมีการสื่อสารกันมากๆ ในที่สุด มนุษย์ก็จะพัฒนาภูมิต้านทานที่สามารถแยกแยะว่าอะไรเป็นอะไรได้เอง นี่เป็นโลกทัศน์เชิงบวกที่มีความเชื่อมั่นในมนุษย์ วิธีการแบบนี้มันมีอำนาจแห่งการทรมานที่ทดสอบสติปัญญาและความอดทนสูงมาก แต่มันก็มีศักยภาพที่จะสร้างความเข้มแข็งให้มนุษย์เราสามารถเผชิญหน้ากับความจริงได้ดีขึ้นเรื่อยๆ สังคมที่เกิดขึ้นจากความปั่นป่วนจากการสื่อสารเช่นนี้จะบ่มเพาะให้มีคนไทยมีวุฒิภาวะสูงกว่าสังคมในยุคก่อนหน้าการได้มาซึ่งวุฒิภาวะระเภทนี้มันไม่มีทางลัด ต้องเรียนรู้จากความเจ็บปวดเท่านั้น

O ในสังคมประชาธิปไตย ความสัมพันธ์ระหว่างคนทำสื่อกับนักการเมืองควรจะเป็นอย่างไร ที่อาจารย์เห็นๆ ในเมืองไทยนี่มันอะไรกันแน่ครับ

ในสังคมเสรี คนทำสื่อกับนักการเมืองก็เหมือนลิ้นกับฟัน เนื่องจากแต่ละฝ่ายมีหน้าที่ต่างกันแต่ต้องเกี่ยวข้องกันตลอดเวลา ฉะนั้นตามปกติแล้ว สื่อกับการเมืองต้องเรียนรู้ที่จะต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ ไม่อย่างนั้นมันจะยุ่งมาก พูดกันคนละทาง คิดกันคนละที ก็อย่างที่เห็นๆ ในเมืองไทยมาห้าหกปีนั่นแหละครับ วันๆ มีแต่เรื่องเก่าๆ ที่ยังทะเลาะกันไม่จบ แล้วก็มีความขัดแย้งใหม่ที่ยังไม่รู้ที่มาที่ไปผุดขึ้นมาอีก

ความยุ่งยากในเมืองไทยวันนี้มันลึกล้ำจริงๆ ปัญหามันเกิดขึ้นจากการที่สื่อบางกลุ่มประกาศวิสัยทัศน์ว่าต้องปฏิรูปการวางระบบและจริยธรรมทางการเมืองกันอย่างถึงแก่นให้เกิดการเมืองใหม่สังคมถึงจะไปรอด ส่วนฝ่ายการเมืองกระแสหลักก็สวนออกมาว่า ต้องปฏิรูปจริยธรรมสื่อขนานใหญ่เสียละกระมัง ไม่เช่นนั้นสังคมคงจะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ไม่สงบสุขแน่ๆ

เรื่องมันยุ่งๆ เป็นพิเศษก็เพราะในรอบห้าหกปีมานี้ กลุ่มสื่อได้แตกหน่อออกไปหลายสายมาก สายเสื้อเหลืองแบบ ASTV และพันธมิตรก็ต่อสู้เพื่อการเมืองใหม่สายเสื้อแดงส่วนหนึ่งก็ดิ้นรนให้คุณทักษิณกลับมาในนามของประชาธิปไตยและประชานิยมของแท้ส่วนสายเสื้อแดงอีกพวกหนึ่งก็กำลังหาและสร้างอัตลักษณ์ของตนอยู่

สำหรับสายที่นิยมใส่เสื้อสีอื่นๆ สลับไปสลับมา ก็วางตัวเป็นกลางแบบหลวมๆ โดยไม่มีความลึกคือ ไม่ยอมทำอะไรเข้าประเด็นจริงๆ พอทำแบบนี้ก็สบายหน่อย เพราะสามารถตีกินไปเรื่อยๆ บางกลุ่มคงได้รับความมั่งคั่งจากความขัดแย้งในนามของความปรองดองแห่งชาติไม่น้อยเพราะในระยะหลังๆ มานี้ รัฐบาลมีงวบประมาณโฆษณาแจกจ่ายให้สื่อไม่ใช่น้อยๆ

คงจะทราบดีว่าการทำสื่อยุคนี้เป็นการไต่เส้นลวดแท้ๆ ไต่ดีๆ มีรางวัลให้ ไต่ไม่ดี ก็อาจจะต้องรับโทษทัณฑ์ เมื่อสื่อในยุคของเราเป็นเสียเช่นนี้ ผู้บริโภคสื่อต้องพัฒนาทักษะในการรู้เท่าทันสื่อให้ได้ ไม่เช่นนั้น ก็อาจจะตกเป็นฝ่ายถูกกระทำโดยไม่รู้ตัว

ในฐานะที่ค้น คิด อ่านและเขียนถึงเรื่องความรู้เท่าทันสื่อมานาน ผมขอยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นอะไรที่ยากเย็นแสนเข็ญยิ่งกว่าการรู้หนังสือมากมายหลายสิบเท่า ในขณะที่การอ่านออกเขียนได้เป็นทักษะที่ใช้การทำซ้ำๆ ความจำและการฝึกฝน การรู้เท่าทันสื่อต้องอาศัยองค์ความรู้ที่ซับซ้อนหลายๆ ชนิดพร้อมๆ กัน

อุปสรรคอย่างหนึ่งของการพัฒนาความรู้ทันสื่อก็คือ ภาวะที่วัฒนธรรมการเมืองของเราชอบสอนให้เข้าพวก ต้องเลือกเชื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง เป็นเรื่องยากมากที่ใครสักคนจะเห็นด้วยกับฝ่ายใดๆ ทั้งหมด เราไม่ค่อยสอนให้คนของเราคิดด้วยตนเองเท่าไรนัก วัฒนธรรมการเมืองที่มองข้ามปัจเจกภาพของมนุษย์เช่นนี้นำไปสู่ปัญหาอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ ระดับของการสร้างสรรค์ทางความคิดในบ้านเราค่อนข้างต่ำ คนคิดเหมือนๆ กัน พูดเหมือนๆ กันอย่างประหลาด

คุณว่ามันน่ากลัวไหม พอตกเหว ก็ตกด้วยกันทั้งโขยง ไม่มีใครสามารถดึงใครขึ้นมาจากปากเหวได้ เพราะเราไม่สนับสนุนปัจเจกภาพทางความคิด แต่ให้ความสำคัญกับการคิดแบบทำตามๆ กันไปแบบไม่ค่อยคิดหน้าคิดหลัง (herd mentality) ?

O ในโมเดลปฏิรูปสื่อครบวงจรที่นำเสนอในรายงานวิจัยที่อาจารย์ทำให้ สสส ในบรรดาลูกตุ้มที่เป็นองค์ประกอบนานาชนิดที่อาจารย์เรียกว่าระบบสังคมสื่อ” (media social system) อาจารย์ดูจะไม่ได้คิดว่าสมาคมสื่อต่างๆ มีบทบาทในอันที่จะพัฒนาสื่อได้เท่าไรนัก อาจารย์ว่าจุดคานงัด” (leverage) ที่จะทำให้สื่อดีขึ้นมันอยู่ที่ไหนครับ

ถ้าจะวิเคราะห์ตามโมเดลระดับการพัฒนาของอุตสาหกรรมของนักเศรษฐศาสตร์การเมืองแบบเจมส์ เปตราส ก็ต้องบอกว่าระดับการพัฒนาทางวิชาชีพสื่อของเรายังไม่ขึ้นถึงจุด Take Off สื่อของเราจึงยังทะเลาะกันเองในหลักการขั้นพื้นฐานที่สุดในวิชาชีพของตนอยู่ จิตสำนึกของความเป็นอุตสาหกรรมเดียวกันมันจึงยังไม่เกิดขึ้น อุดมการณ์ทางวิชาชีพยังไม่มีจุดร่วมที่ทรงพลังในการประสานประโยชน์อย่างเพียงพอ

เมื่อสื่อไม่มีเอกภาพทางวิชาชีพ ทว่าแต่ละส่วนกลับเป็นกลไกของความขัดแย้งเสียเอง ก็ไม่ลงเอยง่ายๆ ดอกครับ สงสัยจะต้องรอปัจจัยพิเศษใหม่ๆ เกิดขึ้น อะไรก็ได้ที่สามารถสร้างเอกภาพขึ้นมาในระบบอีกครั้งหนึ่งก่อน โอกาสของการประสานวิสัยทัศน์และผลประโยชน์ครั้งใหญ่จึงจะเกิดขึ้นได้

ในทางทฤษฎีลูกตุ้มของผม เราก็จะต้องปฏิรูปกันทุกเรื่องไปเรื่อยๆ นะครับ เพื่อว่าในระยะยาว ปัจจัยต่างๆ จะได้ก่อรูปขึ้นจนผสานกันได้อย่างครบวงจรจนเกิดระบบใหม่ขึ้นมาได้ในวันหนึ่ง เราทิ้งภารกิจเชิงระบบนี้ไม่ได้ ต้องทำทุกจุดไปเรื่อยๆ

แต่ถ้าจะถามว่าจุดคานงัดอยู่ที่ไหน นั่นก็คือ เราจะใช้เงินและเวลาน้อยๆ แต่ให้ได้ผลมากๆ เร็วๆ กับจุดใดดี เมื่อมาคิดอย่างรวบยอดแล้ว ผมว่าเราคงจะต้องหาวิธีช่วยคนทำสื่ออย่างจริงจังเพื่อให้เขามีความแข็งแรงขึ้น ทั้งในแง่ของเกียรติภูมิแห่งวิชาชีพ(professional integrity) ความมั่นคงทางการเงิน (financial security) และองค์ความรู้ที่เหมาะสมกับยุคสมัย (appropriate body of knowledge)

สมมุติฐานในที่นี้ก็คือ เมื่อทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นกำลังหลักของอุตสาหกรรมนี้มีความรู้และความสุขมากขึ้น เขาก็น่าจะทำตนให้เป็นประโยชน์กับตนเอง เพื่อนมนุษย์ และสังคมส่วนรวมได้มากขึ้น

นี่เป็นสถานการณ์แบบ win-win ทุกฝ่ายล้วนได้อะไรบ้างทั้งนั้น คนทำงานสื่อได้เกียรติภูมิ ความมั่นคงและความรู้ เจ้าของสื่อได้ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพสูงขึ้น สังคมส่วนรวมได้สื่อที่สามารถผลิตผลงานที่ให้เกิดประโยชน์สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกมากขึ้น ทุกคนได้หมด ไม่มีใครเสีย นอกจากคนที่กลัวว่าสื่อที่ดีขึ้นจะทำให้ตนเองลำบาก ซึ่งผมขอหวังในใจว่าคงจะไม่มีคนแบบนี้ดอกนะ

หากคนทำสื่อมีปัจจัยเหล่านี้ครบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีองค์ความรู้และเครื่องมือในการวิเคราะห์ว่าโลกในปัจจุบันและอนาคตเป็นอย่างไร สังคมของเรามีศักยภาพและปัญหาอะไรบ้าง เราจะแปรรูปสังคมของเราให้ดีขึ้นได้อย่างไร ยุทธศาสตร์ชนิดใดที่จะพาเราก้าวไปสู่เป้าหมายนั้นๆ ได้อย่างยั่งยืน สื่อก็คงจะสามารถจัดวางบทบาทของตนได้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมได้มากขึ้นเรื่อยๆ

ทุกวันนี้ โดยรวมๆ แล้ว คนทำงานสื่อที่อยู่ดีๆ กินดีๆ ยังมีน้อยมาก ส่วนมากแล้วยังถูกบีบบังคับให้ทำงานในระดับปฏิบัติการ(operations) การคิดในระดับยุทธศาสตร์จึงยังไม่ค่อยเข้มแข็งนัก เพราะไม่ค่อยมีโอกาสและทรัพยากรในการพัฒนาตนเองเท่าที่ควร โลกทัศน์ก็ค่อนข้างจำกัดเพราะไม่ค่อยมีเวลาคิด อ่าน ศึกษา และค้นคว้าเพิ่มเติม

ในบางกรณีก็ใช้ภาษาต่างประเทศที่เป็นฐานของความรู้ใหม่ไม่ค่อยถนัด จึงไม่สามารถค้นคว้าและติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆในโลกได้อย่างสะดวก จนสามารถเข้าใจความมหึมาและความซับซ้อนของรัฐสมัยใหม่ ทั้งในยุคภูมิภาคนิยมและโลกานุวัตรได้ลงท้าย เราก็ทำสื่อจากมุมมองเก่าๆ ไม่ค่อยทันความเปลี่ยนแปลงในโลก

สิ่งที่จำเป็นคือการสร้างโอกาสทุกประการในการพัฒนาตนเองให้สื่อ สำหรับคนที่ทำงานสื่อในภาษาอังกฤษ เขามีโอกาสมากกว่ามีทุนสารพัดเชิญไปเรียน อบรมและดูงานในประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ

แต่สำหรับคนที่ทำงานสื่อในภาษาไทย โอกาสเช่นนี้ยังไม่ค่อยมีนัก ที่พอมีๆ อยู่บ้าง ก็เป็นอะไรแบบไทยๆ ประเภทพบปะสังสรรค์กันแบบเผินๆ เป็นส่วนมาก ไม่ค่อยเน้นประโยชน์ด้านการพัฒนาองค์ความรู้อย่างแท้จริง ไม่มีความหนักแน่นทางวิชาการและประสบการณ์ ไม่ได้มาตรฐาน หากเรามีหลักสูตรสั้นๆ ที่เน้นทั้งเนื้อหาและวิธีวิทยาในการวิเคราะห์เรื่องราวที่สอดคล้องกับโจทย์ของประเทศและของโลกส่งมอบให้นักข่าวได้เสพเป็นระยะๆ อย่างสะดวก โอกาสที่เขาจะเกิดจิตสำนึกใหม่เพื่อสร้างสังคมที่ก้าวทันและก้าวนำสังคมคงจะมีมากขึ้น

มหาวิทยาลัยแบบไทยๆ ดูเหมือนว่าไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ เพราะเขาก็มีปัญหาของตนเองไม่ใช่น้อย ถ้าไม่อย่างนั้น เราก็คงจะไม่ได้เห็นป้ายโฆษณาในโปสเตอร์ที่ชักชวนคนไปเรียนต่อด้วยปรัชญาจ่ายครบ จบแน่นะ ในเมื่อสิ่งที่เราเรียกๆ กันว่ามหาวิทยาลัยกลายเป็นตลาดซื้อขายปริญญาบัตรไปเสียแล้ว ก็คงจะช่วยคนทำสื่อได้ไม่มาก เพราะตัวเองก็ป่วยอยู่เหมือนกัน

O ในระยะหลังมานี้ เราได้ยินเรื่องนักข่าวพลเมือง” (citizen reporter) กับสื่อสังคม” (social media) มากขึ้นเรื่อยๆ วิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นจุดคานงัดได้ไหม

สื่อใหม่เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นนะครับ เพราะในโลกไซเบอร์ ทุกอย่างมันมีเส้นทางพิเศษ อะไรๆ สามารถไปถึงไหนต่อไหนได้ไกลและเร็วมาก ดูอย่างการแสดงข้อมูลและข้อคิดเห็นอย่างเสรีทางอินเทอร์เน็ตในรอบสิบปีมานี้ก็ได้ ลงท้ายคนไทยเราด่าเก่งขึ้นเยอะ จนวัฒนธรรมแห่งการบริภาษระบาดไปทั่ว ผมก็ยังไม่ค่อยแน่ใจว่านี่เป็นพัฒนาการที่ดีไหม คงต้องดูไปอีกสักพัก จะต้องสร้างวิธีวิทยาในการประเมินที่ถูกต้องตามหลักวิชาการขึ้นมา

สำหรับสื่อสังคมถ้ามีการใช้สื่อใหม่ในการทำเครือข่ายกว้างขวางขึ้น มันก็คงจะก่อให้เกิดกลุ่มวัฒนธรรมย่อย” (sub-culture groups) มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในที่สุดก็คงจะลดทอนอิทธิพลของวัฒนธรรมกระแสหลัก (mainstream culture) ที่สื่อกระแสหลักช่วยกันประกาศอยู่ทุกๆ วันได้เหมือนกัน ในโลกปัจจุบัน เรื่องเล็กๆ อาจจะกลายเป็นเรื่องใหญ่เมื่อไรก็ได้ในแบบที่ใครคิดไม่ถึงเพราะอะไรต่างๆ มันเชื่อมโยงถึงกันเกือบหมด

ผมคิดว่านักข่าวพลเมืองที่คุณพูดถึงเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่สมควรได้รับการนำไปสานต่ออย่างเป็นระบบ เช่น เราอาจจะจัดการฝึกอบรมองค์ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับข่าวให้ใครๆ ก็ได้ที่มีความสนใจที่จะวางตัวเป็นนักข่าวสมัครเล่นแบบนี้ หากจัดการดีๆ นี่คือกลุ่มบุคคลที่อาจจะกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางบวกแก่วงการข่าวได้มากนะครับ

เพื่อความชัดเจนขึ้น ผมขอนิยามว่านักข่าวพลเมืองหมายถึงคนทั่วไปที่ไม่ได้ทำและเผยแพร่สิ่งที่เรียกว่าข่าวเป็นอาชีพ แต่ก็มีความสนใจ ทักษะ และเทคโนโลยีที่จะทำให้สิ่งที่เขาเองเห็นว่าเป็นข่าว” (ทั้งคนที่ตั้งใจจัดตั้งขึ้นมาเองอย่างจงใจ เช่นบล็อกเกอร์ต่างๆ และคนที่ไปอยู่ในสถานการณ์ข่าวโดยบังเอิญ อาทิ ในกรณีที่ไปอยู่ในเหตุการณ์สึนามิ น้ำท่วม หรืออื่นๆแล้วติดตามถ่ายภาพนิ่งและหรือภาพเคลื่อนไหวที่มีคุณค่าด้านข่าวมาเผยแพร่ในสื่อใหม่ต่างๆ ที่สามารถเข้าถึงคนจำนวนมากได้พร้อมๆ กัน เช่น ยูทิวบ์ บล็อก หรือไม่ก็ส่งต่อไปให้สื่อเก่าพิจารณาเผยแพร่ต่อด้วยก็ได้

คนพวกนี้ดีนะครับ เป็นของจริงไม่ต้องรู้ไม่ต้องเรียนอะไรมาก แต่อยากทำ และทำจากสัญชาติญาณ เป็นคนประเภทสุดยอดเขาอาจจะมีความสามารถในเชิงสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้มากก็เพราะเขาไม่ได้ทำเป็นอาชีพนี่แหละ

O อาจารย์มองปรากฏการณ์ที่นักการเมืองหันมาใช้สื่อใหม่มากขึ้น จนบางคนมีสื่อของตนเองโดยเฉพาะกันแล้วอย่างไร

ก็เป็นภาพสะท้อนอีกด้านหนึ่งของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการสื่อสารนะครับ นักการเมืองที่หัวใหม่หน่อย เขาก็สามารถใช้โอกาสนี้ได้ดีเพราะสามารถทำตนเองให้เป็นศูนย์กลางของข่าวได้ง่ายขึ้น หรือหากเขาอยากให้สื่อสนใจอะไร ก็เขียนลงเว็บไซต์ เฟซบุค หรือทวิตเตอร์ ของตนเอง นี่ก็สื่อไปถึงกลุ่มเป้าหมายของเขาได้ในระดับหนึ่ง และถ้าเขามีทักษะในการสื่อสารสูง โอกาสที่สื่อกระแสหลักจะนำข้อมูลและข้อคิดเห็นของเขาไปพัฒนาและเผยแพร่ต่อก็มีมากขึ้น เป็นข่าวมากขึ้น อิทธิพลก็มากขึ้น

ก็ดูอย่างคุณทักษิณก็ได้ เขาสามารถปั่นหัววงการเมืองและวงการข่าวด้วยทวิตเตอร์ โทรทัศน์วงจรปิด เทเลคอนเฟอร์เรนซ์ หรือแม้กระทั่งโทรศัพท์ทางไกลได้อย่างสนุกสนานใช่ไหม พอทำอะไรก็เป็นข่าว มันก็ได้เปรียบทางการเมืองแล้ว ผิดถูกไม่ค่อยสำคัญ เพราะมีคนน้อยมากที่สามารถแยกผิดแยกถูกได้นะครับ ใครแย่งพื้นที่ข่าวได้มาก มันก็เท่ากับคู่แข่งมีพื้นที่ข่าวน้อยลง ในทางการเมืองถือว่าเป็นชัยชนะชนิดหนึ่ง

แต่ในกรณีของเมืองไทย ผมคิดว่าข้อจำกัดก็คือการถือครองและการใช้คอมพิวเตอร์ยังอยู่ในหมู่ประชากรราวๆ ยี่สิบเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ฉะนั้น คงต้องรอเวลาให้การกระจายรายได้ดีกว่านี้ สื่อใหม่จึงจะมีความสำคัญในตัวมันเองมากขึ้น ตอนนี้อย่างไรๆ ก็ยังต้องอาศัยการถ่ายทอดต่อของสื่อเก่าอยู่ ไม่เช่นนั้นก็จะไปไม่ค่อยถึงประชาชนทั่วไป

O ในระยะหลังๆ มานี้ คนในวงการสื่อทะเลาะกันเรื่องโมเดลการทำสื่อแบบกระจกกับตะเกียงของอาจารย์กันมาก เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดเลย แล้วความคิดแตกต่างในเรื่องนี้มันเกี่ยวข้องกับความเป็นกลางและอคติของสื่ออย่างไรบ้างครับ

เรื่องนี้ผมยังไม่อยากจะพูดอะไรมาก เพราะมันเป็นเรื่องยากที่ต้องพูดยาวๆ ผมขอตั้งข้อสังเกตสั้นๆ เพียงว่า คนที่ทะเลาะกันเรื่องนี้เขาคงไม่ค่อยได้อ่านหนังสือ ระหว่างกระจกกับตะเกียง กุศโลบายสื่อศึกษา ของผมอย่างละเอียดเท่าไรนะครับ แต่ละท่านจึงดูจะไปนั่งเทียนตีความกันเอาเองว่ากระจกคืออะไรตะเกียงคืออะไร ในแบบฉบับที่ตนเองรู้สึกสะดวกมากกว่า ไม่ใช่ในบริบทที่ผมนิยามไว้

ความเป็นกลางนั้นเป็นอะไรที่พูดง่ายแต่ทำยากเหมือนกันนะครับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความเป็นกลางไม่มีอยู่จริง มีแน่นอน ผมเองเห็นว่าในระดับของการนำเสนอเรื่องราวใดๆ ก็ตาม หากคนข่าวมีความรู้รอบด้านมากหน่อย เขาก็จะมีความเป็นกลางมากขึ้นโดยไม่ต้องตั้งใจอยู่แล้ว เพราะต้องใช้ความรู้ทุกเรื่องที่เขามีอยู่เป็นกรอบแห่งการอ้างอิง” (frame of reference)อยู่แล้ว

ความที่จุดเด่นของจิตวิญญาณแห่งวิชาชีพข่าวก็คือ การนำเสนอความจริงที่ครบถ้วนเท่าที่มนุษย์พึงจะทำได้ในสถานการณ์ต่างๆเพื่อประโยชน์สาธารณะล้วนๆ โดยปราศจากความปรารถนาในผลประโยชน์ส่วนตัวใดๆ ด้วยเหตุนี้ การเป็นคนข่าวที่ดีจึงไม่ใช่งานง่ายนะครับ ต้องทำงานหนัก เก่ง ดี และมองการณ์ไกลด้วยจิตสำนึกสาธารณะ

ส่วนคนประเภทอื่นๆ ความเป็นกลางมันก็จะทำยากขึ้นมาก เพราะเขามักจะทำงานด้วยความเชื่อหรือแม้กระทั่งผลประโยชน์เฉพาะหน้าเป็นหลัก พอเป็นอย่างนี้ เขาจึงมักจะไม่ค่อยรู้ตัวว่าตนเองไม่ได้เป็นกลาง ใช่ไหมล่ะ

ความเป็นกลางเป็นหลักปรัชญาที่เข้าใจยากเหมือนกัน แต่มันมีอยู่แน่ๆ ไม่ใช่เป็นเพียงวาทศิลป์หรือการเล่นลิ้นล้วนๆ เพียงแต่ว่ามันทำได้ยากมาก บุคคลนั้นๆ จะต้องมีความรู้และเกียรติศักดิ์ในตัวตนอยู่แล้ว ความเป็นกลางจึงจะเกิดโดยเกือบอัตโนมัติ

แต่คนเสพข่าวส่วนมากจับไม่ค่อยถูกดอกว่า อย่างไรจึงเรียกได้ว่าเป็นกลาง จึงมีปัญหาอื่นๆ ตามมามาก เช่น ในบางสถานการณ์สื่อไทยจำนวนมากจะเล่นการเมืองด้วยการไม่ยอมเลือกข้าง ทั้งๆ ที่ในบางกรณี มันหลักฐาน เหตุผล และถึงเวลาที่สมควรเลือกข้างได้แล้ว แต่ก็ยังจงใจที่จะทำสื่อแบบลังเลและรีรอ กล้าๆ กลัวๆ อยู่นั่นแหละว่า กังวลว่าตนเองจะเลือกผิดข้าง แล้วจะโดนผลกระทบเมื่อความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริงๆ อย่างนี้ก็ไม่ใช่ความเป็นกลางนะครับ

สื่อในการเมืองไทยยุคปัจจุบันก็เป็นคล้ายๆ กับอะไรที่เกิดขึ้นในสมัย 14 ตุลาคมนั่นแหละ พอสื่อไม่แน่ใจว่าใครจะเป็นฝ่ายชนะก็ทำเป็นขอนอนหลับทับสิทธิ์เอาไว้ก่อน ไม่ยอมเข้าข้างใคร เล่นมายากลด้วยการนำเรื่องไม่เป็นเรื่องมาทำเป็นข่าว แต่หลีกเลี่ยงประเด็นที่เป็นปัญหาจริงๆ

สังเกตไหม สามสี่ปีมานี้ สถานีโทรทัศน์ที่ชักนำให้เรามีความคาดหมายสูงบางช่องแทบจะไม่ยอมเล่นข่าวการเมืองอะไรเลย มุ่งหน้าเอาดีกับการคัดเลือกหนังไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี หรือไม่ก็แปลสารคดีข่าวจากต่างประเทศมาฉายเสียแน่นจอจนเกือบหายใจไม่ออกเลย ว่างๆ ก็ทำรายการสอนวิธีการทำอาหารและรายการสอนภาษาอังกฤษระดับเด็กๆ ด้วย แต่พอเป็นเรื่องความขัดแย้งในการเมืองของต่างประเทศ บางทีก็ดูแปร่งๆ เพราะถึงกับลงทุนเดินทางไปทำข่าวเอง หรือไม่ก็นำข่าวที่ชาวต่างชาติเป็นคนทำมาเสนอต่อ ในแบบฉบับที่คนอ่านข่าวใส่อารมณ์มากๆ ราวกับว่าเป็นประเทศของตนเองก็ไม่ปาน

นี่เป็นเทคนิคในการหลบๆ ซ่อนๆ ที่ค่อนข้างแปลกประหลาด แต่ก็คงมีใครบางคนแอบภูมิใจกันว่าเป็นความเฉลียวฉลาดเสียเต็มประดา คล้ายๆ กับว่า โลกกำลังยุ่งเหยิง ฉันขอแกล้งตายดีกว่า สบายดี ไม่ต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรมอะไรดอก กล้าหาญให้โง่ไปทำไม เราคนฉลาดต้องทำเฉยๆ เอาไว้ ใจเย็นๆ หน่อย ทำบ้าใบ้ ซื้อเวลาไปเรื่อยๆ รอให้เรื่องยุ่งๆ หมดอายุขัยของมันไปเอง เดี๋ยวก็ดีเอง นี่เป็นตลกร้ายของวงการสื่อไทยทีเดียว

ผมชอบบทความของท่านอาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์) เรื่องหนี่ง ดูเหมือนท่านจะตั้งชื่อว่าสื่อในสถานการณ์วิกฤติใจความสำคัญส่วนหนึ่งบอกว่า การวางตัวเป็นกลางของสื่อมันทำได้ยากนักหนาก็ตรงที่ว่ามันต้องมีกึ๋นจริงๆ จึงจะทำได้ นอกจากกึ๋นแล้วผมว่าคงจะต้องมีอะไรที่ฝรั่งเรียกว่ากัท” (ความกล้า) ด้วยนะครับ

นี่เป็นบทความคลาสสิกว่าด้วยวัฒนธรรมทางการเมืองของสื่อแบบไทยๆ ที่ควรจะบังคับให้นักศึกษาด้านข่าวและคนข่าวทุกคนอ่าน จะได้เข้าใจตื้นลึกหนาบางของบทบาทของสื่อไทยได้ดีขึ้น ในบ้านเรา สื่อดูจะได้รับความนับถือมากเกินกว่าที่คู่ควร ทั้งๆ ที่เป็นที่มาของความผิดหวังอย่างไม่น่าเชื่อ

O ทุกวันนี้ วงการสื่อดูเหมือนจะมีการตรวจสอบกันเองมากขึ้น (แต่ไม่วิจารณ์กัน) อาจารย์มองแนวโน้มนี้อย่างไร

ที่ผมมองเห็นในระยะสองสามปีมานี้ก็คือ สื่อด่ากันเองไปๆ มาๆ ด้วยวาทศิลป์มากขึ้นเท่านั้นเอง จุดที่สำคัญกว่าคือสื่อต่างๆ ไม่ค่อยสามารถนำเสนอข่าวและข้อคิดเห็นที่แตกต่างกันในระดับที่สามารถสร้างความเข้าใจในความตื้นลึกหนาบางของปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมของเราได้อย่างแท้จริงขึ้น สังคมเต็มไปด้วยวิกฤติ แต่สื่อส่วนมากก็ทำได้แต่การเลือกเข้าร่วมกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปตามกระแส แต่กลับคิดไม่ค่อยออกว่าตนควรจะทำสื่ออย่างไรให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายให้ได้

เมื่อสื่อส่วนมากทำอะไรแบบขอไปที เฝือๆ สื่อที่ขยันคิดขยันพูดอย่าง ASTV ก็เลยกลายเป็นตักกะศิลาในการเมืองไทยไปเลย เพราะสามารถเปิดประเด็นใหม่ๆ ที่น่าติดตามได้เรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะทำให้เรารู้สึกเหน็ดเหนื่อยสักหน่อยก็ตาม จุดที่น่าสนใจมากก็คือ หลายๆ ประเด็นที่ ASTV เปิดออกมาก็เป็นความจริงที่สำคัญมาก เช่นเรื่องหายนะภัยของการคอร์รัปชั่น การเมืองเก่า/การเมืองใหม่ แต่ก็ไม่มีค่อยมีใครรับลูก สื่ออื่นๆ ก็เฉยกันเกือบหมด ราวกับว่าเป็นผู้สมยอมกับเรื่องเละเทะแบบนั้น ผมยังไม่ค่อยแน่ใจนักว่าเราจะอธิบายปรากฏการณ์เช่นนี้อย่างไรนะครับ

เสียดายนะครับ หากสื่อแต่จะค่ายผลิตข่าวและข้อคิดเห็นอย่างเป็นกลางจำนวนมากๆ อะไรๆ ในเมืองไทยอาจจะไม่เลวร้ายเท่ากับที่เราเห็นในวันนี้ก็ได้ เพราะความจริงที่แพร่กระจายในสังคมไทยจะมีความสมดุลมากขึ้น คงไม่เอียงกะเท่เร่แบบนี้

O ผมได้ยินบางคนบอกว่าสื่อใหม่จะลดบทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์ อาจารย์คิดอย่างไร

ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา เทคโนโลยีใหม่ๆ ในทุกสาขาก็ล้วนเป็นพลังที่นิยามอนาคตทั้งนั้น สื่อสิ่งพิมพ์จะต้องหาสูตรใหม่ๆ ในทำงานให้ตนเองสามารถรักษาและขยับขยายความสามารถในการแข่งขันให้ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะค่อยๆ ตกเวทีประวัติศาสตร์ไป ก็ดูอย่างสื่อในกลุ่มวรรณกรรมสิ พอปรับตัวได้ ก็ต้องยกพื้นที่ให้กับสื่อในกลุ่มที่ฟังด้วยหูดูด้วยตาจนเกือบจะหมดสิ้นแล้ว

การปรับตัวให้เข้ากับกับความเปลี่ยนแปลงคือกุญแจที่จะไขไปสู่การหาที่ทางในอนาคตใหม่ๆ ของสื่อสิ่งพิมพ์ เราไม่ควรจะนั่งดูดายให้สื่อสิ่งพิมพ์ตายไปต่อหน้าต่อตา เพราะศิลปะแห่งการเขียนหนังสือนั้นเป็นเส้นทางของการแสดงออกทางปัญญาที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่มนุษย์เราได้ค้นพบกันมา ความรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์ล้วนถูกค้นพบโดยคนเขียนหนังสือทั้งนั้น ในระหว่างที่เขียนหนังสืออย่างอิสระและโดดเดี่ยว จิตวิญญาณแห่งการสร้างสรรค์ของมนุษย์จึงพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุด

หากสื่อสิ่งพิมพ์หดหายไปเรื่อยๆ เราก็เจอกับนักบรรทัดเดียว” (one liners) ที่ทรงอิทธิพลในวงการบันเทิงอเมริกันมากขึ้นตลอดเวลา ลองคิดก็แล้วกัน เมือถึงเวลานั้นจริงๆ จะเกิดอะไรขึ้นกับขุมทรัพย์ทางปัญญาที่มนุษย์สู้อุตส่าห์สร้างและสะสมเอาไว้?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น