วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ระลึก 14 ตุลา 16 ท่ามกลางบ้านเมือง ที่มีหลายก๊ก ในปี 53


เรื่องราว ของคนรุ่นปู่ ที่ไม่ใช่เจ้าคุณปู่

จากเวบผู้จัดการ - 14 ต.ค. 53

เหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 เวียนมาบรรจบครบรอบ 37 ปีในวันนี้ เหตุการณ์ในครั้งนั้น มีจุดเริ่มต้นมาจาก ความไม่พอใจต่อ บรรยากาศทางการเมืองในขณะนั้น ที่อยู่ภายใต้อำนาจของทหารตระกูลเดียวมานาน 10 กว่าปี คือ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร

บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 ซึ่งใช้เวลาร่างเกือบ 10 ปี ประกาศใช้เพียง 3 ปีกว่า ก็ถูกฉีกทิ้ง เมื่อ จอมพลถนอม เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ ยึดอำนาจจาก จอมพลถนอม ที่เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514

ก่อนหน้านั้น ในเดือนเมษายน ปี 2516 มีเหตุการณ์นายทหาร ใช้เฮลิคอปเตอร์ กองทัพบก ไปล่าสัตว์ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ขากลับเครื่องตกที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม พบซากกะทิงจำนวนมาก ในที่เกิดเหตุ สร้างกระแสควาไม่พอใจในหมู่นักศึกษา ประชาชน เป็นจำนวนมาก

นักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิมพ์ หนังสือ "บันทึกลับจากทุ่งใหญ่" เพื่อเปิดโปงเหตุการณ์นี้ ซึ่งได้รับการต้อนรับจากประชาชนอย่างกว้างขวาง ต่อมา นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง พิมพ์หนังสือชื่อ "มหาวิทยาลัยที่ไม่มีคำตอบ" วิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษา และการเมืองในขณะนั้น ทำให้ ดร. ศักดิ์ ผาสุกนิรันดร์อธิบการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงในขณะนั้น สั่งลบชื่อนักศึกษา 9 คนที่ทำหนังสือออกจากการเป็นนักศึกษา

วันที่ 21 และ 22 มิถุนายน2514 นักศึกษาหลายพันคนชุมนุมกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เรียกร้องให้ ดร.ศักดิ์ ยกเลิกคำสั่งลบชื่อนักศึกษา 9 คน นับเป็นครั้งแรก ที่มีการชุมนุมกันข้ามคืน ในที่ชุมนุม มีการอภิปรายถึง การเมืองไทยที่เป็นเผด็จการ และมีการเรียกร้องประชาธิปไตย ขอรัฐธรรมนูญ

เมื่อดร.ศักดิ์ ยอมยกเลิกคำสั่งลบชื่อนักศึกษา 9 คน การชุมนุมก็สลายตัวไป แต่การชุมนุมนี้ ทำให้นักศึกษาตระหนักในพลัง และบทบาทของตัวเอง หัวข้อที่มีการปราศรัยกันในการชุมนุม ในเรื่องประชาธิปไตย เป็นหัวเชื้อ ของการเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ในอีก 3 เดือนต่อมา

วันที่ 6 ตุลาคม 2516 ตำรวจจับกุมนักวิชาการ นักศึกษา 13 คน ที่แจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ โดยตั้งข้อหาว่า เป็น คอมมิวนิสต์ ทำให้ในวันที่ 9 ตุลาคม นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นัดชุมนุมที่ลานโพธิ์ เรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัว 13 กบฏรัฐธรรมนูญ

การชุมนุมที่เริ่มต้นด้วยนักศึกษากลุ่มเล็กๆ ค่อยๆก่อตัว เป็นกระแสที่แรงกล้าอย่างรวดเร็ว มีนักศึกษาประชาชน เข้าร่วมการชุมนุม มากขึ้นเรื่อยๆ จนต้องย้ายที่ชุมนุมไปที่สนามฟุตบอล

ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นแกนนำในการชุมนุม ขีดเส้นตายให้รัฐบาลปล่อย 12 กบฏ ภายในเที่ยงวันที่ 13 ตุลาคม และมีข้อเรียกร้องอื่นคือ ให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป

ไม่มีคำตอบจากรัฐบาล เที่ยงวันที่ 13 ตุลาคม ขบวนแถวนักศึกษาประชาชน 5 แสนคน หลั่งไหลออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปตามถนนราชดำเนิน เหมือนสายน้ำ มองไปทางไหนก็มีแต่คน เป็นการชุมนุมครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย พลังของมวลมหาประชาชน ทำให้รัฐบาลยอมปล่อยตัว 13 กบฏ และสัญญาว่า จะให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และจัดให้มีการเลือกตั้ง

เช้าวันที่ 14 ตุลาคม ขณะที่นักศึกษา ประชาชนที่ไปขอพึ่งพระบารมีที่ พระตำตำหนักจิตรลดา รโหฐาน กำลังทอยเดินทางกลับ หลังรับทราบว่า รัฐบาลยอมรับเงื่อนไขแล้ว เกิดเหตุชุลมุนวุ่นวาย เมื่อตำรวจยิงแก๊สน้ำตา และยิงปืนใส่ประชาชน จนมีผู้บาดเจ็บ หลังจากนั้น ข่าวลือก็แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วว่า ตำรวจฆ่าประชาชน 13 กบฏถูกฆ่าตายแล้ว ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ใช้วิทยุ โทรทัศน์เป็นเครื่องมือกล่าวหาว่า ผู้ชุมนุม เป็นผู้ก่อความไม่สงบ และสั่งให้สลายตัว สร้างความโกรธแค้นให้กับผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่ทียังอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ชวนกันไปเผากรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ที่ถนนราชดำเนินกลาง เผากองสลาก และอาคารของทางราชการบนถนนราชดำเนิน

รัฐบาลประกาศกฎอัยการศึก ส่งกำลังทหารอออกปราบปราม มีการใช้กระสุนจริงยิงใส่ประชาชน ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ในตอนค่ำจอมพลถนอม ประกาศลาออกจากนายกรัฐมนตรี แต่ยังคงเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด และเตรียมส่งกำลังเข้าปราบปรามประชาชนอีก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัส ทางสถานีวิทยุ และโทรทัศน์ ความตอนหนึ่งว่า วันนี้เป็นวันมหาวิปโยค เกิดการปะทะกัน และมีคนได้รับบาดเจ็บ ความรุนแรงได้ทวีขึ้นทั้งพระนคร ถึงขั้นจลาจล มีคนไทยด้วยกันต้องเสียชีวิต ทรงขอให้ทุกฝ่ายระงับเหตุแหง่ความรุนแรง และทรงแต่งตั้ง นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

เหตุการณ์ 14 ตุลา ยุติลงในวันที่ 16 ตุลาคม หลังจากจอมพลถนอม จอมพลประภาส และพันเอกณรงค์เดินทางออกนอกประเทศ และนายสัญญา สัญญาว่า จะให้มีรัฐธรมนูญ และมีการเลือกตั้ง ทำให้นักศึกษายอมสลายตัว

เหตุการณ์ 14 ตุลา นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของประเทศไทย ที่ทำให้สังคมไทยหลุดพ้นจากระบบเผด็จการ ทหาร เป็นฟ้าใหม่ที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ อย่างที่สังคมประชาธิปไตยพึงมี

ประเทศไทยมาถึงวันนี้ได้ ก็เพราะ 14 ตุลา

แม้ว่า การรำลึกถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ในช่วงหลังๆ จะมีผู้ไปร่วมพิธีที่อนุสรณ์สถาน วีรชน 14 ตุลาที่สี่แยกคอกวัว ไม่มากนัก แต่ทุกๆปี เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมเวียนมาถึง ผู้ที่เคยร่วมในเหตุการณ์ครั้งนั้ แม้จะไม่ได้มาร่วมรำลึก แต่เชื่อได้ว่า ในใจของทุกคนต่างระลึกถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาอย่างแน่นอน

ปีนี้ 14 ตุลาคม กำลังจะมัวหมองเพราะคนเสื้อแดง จะฉวยโอกาส แอบอ้างใช้วันที่ 14 ตุลาคม มาบิดเบือนความจริง ปบุกปั่นประชาชนด้วยความเท็จ

การต่อสู้ของคนเสื้อแดงนั้น ไม่มีสิทธิถูกนำไปเปรียบเทียบกับ การต่อสู้ของนักศึกษา ประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาได้เลย ไม่ว่าจะเปรียบเทียบในมุมไหน เพราะการต่อสู้ของคนเสื้อแดง เป็นการต่อสู้เพื่อนช. ทักษิณ ชินวัตร เพียงคนเดียว เป็นการเคลื่อนไหว ที่ผู้ชุมนุมจำนวนมากถูกว่าจ้าง ถูกหลอกใช้ไว้วาน ให้มา เป็นการต่อสู้ที่ใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการโค่นล้มรัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งฆ่า ทั้งเผา อย่างโหดเหี้ยม

ในขณะที่การต่อสู้ของนักศึกษาประชาชน ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของสังคมไทยโดยรวม ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง คนไทยทุกคนได้อานิสงค์จากการเปลี่ยนแปลง 14 ตุลา เป็นการต่อสู้ที่ประชาชนมาร่วมด้วยความสมัครใจ และมาร่วมการชุมนุมด้วยมือเปล่า ไม่มีอาวุธร้ายแรง และไม่มีการใช้ความรุนแรง เป็นเครื่องมือ ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เป็นผลจากการถูกกระทำด้วยความรุนแรงจากอำนาจรัฐก่อน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น