วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

นักการเมืองไทย นิยมแห่ตั้งนอมินี..ไปเปิดบริษัทเมืองนอก เพื่อเข้ามาซื้อหุ้นไทย

เปิดพอร์ต จดทะเบียนตั้งบริษัทเมืองนอกไว้เป็นนอมินีเพื่อตนเอง 'นอมินีต่างชาติ' 3แสนล้านฮุบหุ้นบลูชิพ (ฝรั่งหัวดำ คือ ไปจดเปิดบริษัทตั้งขึ้นเป็นชื่อภาษาอังกฤษ หรือไปตั้งบริษัทที่เมืองนอก  แต่เจ้าของบริษัทเป็นคนไทย)








(19ก.พ.)ก.ล.ต.คุมเข้มสั่งโบรกเกอร์ตรวจสอบลูกค้าใกล้ชิด เน้นความมีตัวตนที่แท้จริง เตรียมออกเป็นกฎบังคับใช้กลางปีนี้ หวังป้องกันใช้ตลาดหุ้นฟอกเงิน โบรกเกอร์ให้จับตานักการเมือง-นักธุรกิจไทย แฝงตัวเข้ามาในนอมินีต่างชาติ พบ STATE STREET ทุ่มมูลค่าสูงสุด 8.2 หมื่นล้านบาท ถือหุ้นบลูชิพ 22 บริษัท ขณะที่ HSBC ถือหุ้น 24 บริษัท มูลค่าพอร์ต 5.4 หมื่นล้านบาท 

นักการเมืองไทยนิยมตั้งนอมินี 

"นอมินี" (NOMINEES) หมายถึงตัวแทนการถือหุ้น คนในสังคมไทยเริ่มรู้จักและกล่าวถึงมากขึ้น หลังเกิดดีลประวัติศาสตร์ กลุ่มเทมาเส็ก จากสิงคโปร์ เข้ามาซื้อหุ้นชินคอร์ป จากผู้ถือหุ้นใหญ่ ตระกูลชินวัตร และดามาพงศ์ นำมาซึ่งโจทย์ใหญ่ระดับประเทศ ณ วันนี้ ที่เป็นภารกิจที่รัฐบาลต้องขบคิดปิดช่องโหว่ทางกฎหมาย เพื่อไม่ให้ "ต่างชาติ" เข้ามากุมกิจการของไทยโดยใช้วิธีการ "นอมินี" 

นอกรูปแบบนอมินี ที่คนไทยรู้จักผ่านดีลชินคอร์ปแล้ว นอมินีที่คู่มากับตลาดหุ้นไทย และมีบทบาทสำคัญอย่างมากในวันนี้ คือ นอมินีที่เข้ามาในรูปแบบของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ แต่หากเจาะลึกอย่างแท้จริงแล้ว จะพบว่านอมินีดังกล่าว "บริหารเงินให้นักการเมืองและนักธุรกิจไทย" ซึ่งกำลังนิยมปฏิบัติกันอย่างมาก โดยเฉพาะนอมินีจากประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากปกปิดบัญชีลูกค้า ไม่แตกต่างกับหมู่เกาะบริติช เวอร์จิน อีกทั้งไทยกับสิงคโปร์ มีอนุสัญญาภาษีซ้ำซ้อน สามารถลดต้นทุนทางภาษีได้อีกทางหนึ่งด้วย 

จากการรวบรวมข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้นล่าสุด ของบริษัทจดทะเบียนที่มีมูลค่าตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) ใหญ่สุด 30 อันดับแรก ซึ่งมีรายชื่อสถาบันลงทุนที่เปิดเผยระบุการเป็นนอมินีของกลุ่มนักลงทุนต่างชาตินั้น จากข้อมูลพบว่า มีกลุ่มนอมินีที่เข้ามาลงทุนประมาณ 17 แห่ง คิดเป็นมูลค่ารวม 3 แสนล้านบาท 

ที่สำคัญ แม้จะไม่มีหลักฐาน "เอกสาร" ที่ชัดเจน แต่ในแวดวงการเงินต่างทราบกันดีว่า นอมินีที่เข้ามาอยู่ในรูปของลงทุนต่างชาติและเข้ามาลงทุนในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยนั้น "แท้จริงแล้วเป็นเม็ดเงินของกลุ่มคนไทย" ร่วมอยู่จำนวนมาก หรือที่รู้จักดีว่า "ฝรั่งหัวดำ" 

แหล่งข่าวโบรกเกอร์รายหนึ่งเปิดเผยว่า ในตลาดหุ้นไทยมีการใช้นอมินีเข้ามาลงทุนหลายประเภท มีทั้งนอมินีที่เป็นสถาบันต่างชาติ และเป็นนอมินีบุคคล 

นักการเมืองไทยนิยมตั้งนอมินี 

"ปัจจุบันมีนักการเมืองไทยบางคน ได้จัดตั้งบริษัทนอมินีในต่างประเทศ และใช้นอมินีที่จัดตั้งขึ้นมากลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งหากจะตรวจสอบว่าเป็นนอมินีใคร สามารถทำได้ แต่ขึ้นอยู่กับทางการจะตรวจสอบอย่างจริงจังหรือไม่ และนอมินีที่นักการเมืองจัดตั้งขึ้นนั้น จะเป็นนิติบุคคลที่มีชื่อแปลกๆ เพราะตรวจสอบได้ยาก ส่วนนอมินีที่เป็นสถาบันต่างชาติที่มีชื่อเสียง มักมีหลักฐานและสามารถตรวจสอบได้ง่าย นักการเมืองไทยจึงไม่นิยมให้ดูแลเงินตัวเอง" แหล่งข่าวกล่าว 



ใครถือหุ้นบ้าง ชาวบ้านคงสืบเสาะอะไรๆ ยาก

ดังนั้นปรากฏการณ์ นอมินี ที่เกิดขึ้นวันนี้ บอกให้ทราบว่าสัดส่วนหุ้นที่ระบุว่าต่างชาติถือหุ้นอยู่ในบริษัทจดทะเบียน บางรายนั้น ในความจริง อาจจะเป็น "คนไทย" ที่แฝงเข้ามาในรูปนอมินี และอาจจะบอกได้อีกอย่างหนึ่งว่า บางบริษัทที่สาธารณชนกำลังเข้าใจว่า "ตระกูล" ตัวเองได้ขายหุ้นออกหมดแล้วนั้น "ความจริง" อาจจะไม่ใช่ เพราะยังถือหุ้นบริษัทผ่านนอมินีต่างชาติอยู่อีกจำนวนหนึ่ง 

รายงานข่าวแจ้งว่า รูปแบบที่นักการเมืองหรือนักธุรกิจไทยนำเงินออกไปต่างประเทศ เพื่อจัดตั้งนอมินีนั้น ส่วนใหญ่จะใช้วิธีขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำเงินออกไปซื้อสินทรัพย์ ในต่างประเทศ เช่นบ้านหรืออาคารต่างๆ หลังจากนั้นระยะหนึ่ง จะขายออกมา แล้วนำเงินดังกล่าว มาตั้งนอมินี เพื่อลงทุนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทย ซึ่งจะปรากฏในชื่อของนักลงทุนต่างประเทศ โดยในบางนอมินีตั้งขึ้นมา เพื่อพยุงหุ้นบริษัทตัวเอง หรือสร้างราคาในหุ้นบางตัวได้ หลอกรายย่อย" หลงผิด" คิดว่าต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุน สามารถที่จะทำกำไรจากหุ้นดังกล่าวได้ 

สำรวจพบ 17 นอมินีถือหุ้นบลูชิพ 

ทั้งนี้ จากการสำรวจของ "กรุงเทพธุรกิจ" เฉพาะหุ้นบลูชิพ 30 อันดับแรก พบว่า มีกลุ่มนอมินีที่เข้ามาลงทุนประมาณ 17 แห่ง ประกอบด้วย 
1.HSBC (SINGAPORE) NOMINEES PTE LTD 
2.NORTRUST NOMINEES LTD.
3.CHASE NOMINEES 
4.THE BANK OF NEW YORK (NOMINEES)LIMITED 
5.STATE STREET BANK AND TRUST COMPANY 
6.LITTLEDOWN NOMINEES LIMITED 
7.BOSTON SAFE (NOMINEES) LIMITED 
8.CLEARSTREAM NOMINEES 
9.CITIBANK NOMINEES SINGAPORE 
10.UBS AG,SINGAPORE BRANCH-FOR A/C AMPLE RI 
11.UBS AG, LONDON BRANCH-ASIA EQUITY 
12.UBS AG SINGAPORE,BRANCH-PB SECURITIES 
13.SOMERS (U.K.) 
14.UBS AG HONG KONG BRANCH 
15.CHASE MANHATTAN (SINGAPORE) NOMINEES PTE 
16.ALBOUYS NOMINEES LIMITED 
17.RAFFLES NOMINEES (PTE) LIMITED 

'STATE STREET'ลงทุนมากสุด 

ทั้งนี้ 17 บริษัทมีมูลค่าเงินลงทุนอยู่ที่ 3.11 แสนล้านบาท โดยบริษัทที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุดคือ STATE STREET BANK AND TRUST COMPANY มีมูลค่าเงินลงทุน 8.20 หมื่นล้านบาท ลงทุนใน 22 บริษัท โดยมีมูลค่าเงินลงทุนในหุ้นปตท.(PTT) มากสุด มูลค่า 2.01 หมื่นล้านบาท รองลงมาเป็นหุ้นปตท.สผ.(PTTEP) มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท และหุ้นธนาคารกรุงเทพ (BBL) มูลค่า 1.34 หมื่นล้าน บาท 

รองลงมาเป็น HSBC (SINGAPORE) NOMINEES PTE LTD มีมูลค่าเงินลงทุน 5.49 ล้านบาท ลงทุนใน 24 บริษัท มูลค่าเงินลงทุนสูงสุดอยู่ที่หุ้น ปตท.มูลค่า 8.20 พันล้านบาท รองลงมา หุ้นแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) มูลค่า 5.71 พันล้านบาท และธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มูลค่า 3.82 พันล้านบาท 

บริษัท CHASE NOMINEES มีมูลค่าเงินลงทุน 4.94 หมื่นล้านบาท ลงทุน 19 บริษัท มูลค่าการลงทุนมากสุดอยู่ที่หุ้นปูนซิเมนต์ไทย (SCC) มูลค่า 9.95 พันล้านบาท หุ้นกสิกรไทย 8.53 พันล้านบาท และหุ้นแอดวานซ์ มูลค่า 5.55 พันล้านบาท 

บริษัท THE BANK OF NEW YORK (NOMINEES)LIMITED มูลค่าเงินลงทุน 3.02 หมื่นล้านบาทใน 16 บริษัท และมูลค่าเงินลงทุนมากสุดที่หุ้นปตท.สผ. 6.43 พันล้านบาท หุ้นธนาคารกรุงเทพ 5.03 พันล้านบาท และปตท.4.02 พันล้านบาท 

บริษัท NORTRUST NOMINEES LTD. มูลค่ารวม 2.39 หมื่นล้านบาทใน 13 บริษัท และมีเงินลงทุนมากที่สุดในหุ้นปตท.6.75 พันล้านบาท หุ้นธนาคารกรุงเทพ 3.46 พันล้านบาท และแอดวานซ์ มูลค่า 3.27 พันล้านบาท 

บริษัท LITTLEDOWN NOMINEES LIMITED มูลค่าเงินลงทุน 2.25 หมื่นล้านบาท ลงทุนใน 11 บริษัท บริษัท BOSTON SAFE (NOMINEES) LIMITED มูลค่าเงินลงทุน 1.28 หมื่นล้านบาท ลงทุนใน 8 บริษัท 

บริษัท CLEARSTREAM NOMINEES มูลค่า 5.39 พันล้านบาท ใน 7 บริษัท บริษัท CITIBANK NOMINEES SINGAPORE มูลค่าเงินลงทุน 2.86 พันล้านบาท ใน 5 บริษัท 

ขณะที่ UBS AG,SINGAPORE BRANCH-FOR A/C AMPLE RICH ซึ่งเป็นบริษัทของตระกูล ชินวัตรนั้น มีมูลค่าเงินลงทุน 1.58 พันล้านบาท ใน 1 บริษัท ส่วนบริษัท UBS AG SINGAPORE,BRANCH-PB SECURITIES ที่เกี่ยวโยงกับแอมเพิล ริช มีมูลค่าเงินลงทุน 2.98 พันล้านบาท ลงทุนใน 1 บริษัท 

ก.ล.ต.ผุดเกณฑ์ใหม่คุมโบรกฯ 

นายประเวช องอาจสิทธิกุล ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า กฎเกณฑ์ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลนอมินีนั้น ก.ล.ต.ยังไม่ได้ร่างกฎหมายขึ้นมาอย่างที่บางฝ่ายเข้าใจ แต่สิ่งที่ก.ล.ต.อยู่ระหว่างร่างกฎเกณฑ์ควบคุมเพิ่มเติม และอาจจะเกี่ยวข้องอยู่บ้าง คือในเรื่องการตรวจสอบ "ความมีตัวตนที่แท้จริงของนักลงทุน" ที่มาขอเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นกับโบรกเกอร์ ซึ่งร่างกฎเกณฑ์ใหม่นี้คาดว่าจะสรุปและสามารถนำมาปฏิบัติใช้กับโบรกเกอร์ทุกแห่งได้ภายในกลางปีนี้ 

ทั้งนี้สาเหตุที่ ก.ล.ต. ต้องหยิบยกประเด็นดังกล่าวนำมาร่างเป็นกฎเกณฑ์เพิ่มเติมใหม่นั้น สืบเนื่องจากทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ต้องการยกระดับการทำงานให้เทียบชั้นกับสากลมากขึ้น ทาง ปปง.จึงได้กำชับมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนทุกแห่ง โดยขอให้ตรวจสอบโบรกเกอร์ โดยเฉพาะในเรื่องความมีตัวตนของลูกค้ามากขึ้น เพราะหาก ปปง.พบว่าลูกค้ารายใดที่เข้าข่ายกระทำผิดฐานฟอกเงินหรือทุจริตในด้านต่างๆ แล้ว ทาง ปปง.จะดำเนินการลงโทษถึงที่สุด และโบรกเกอร์ที่ให้บริการอาจมีความผิดตามไปด้วย

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : http://www.bangkokbiznews.com/2006/special/shincorp/news.php?news=news59.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น