วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

มหากาพย์พลังงานไทยโกงไทย (1) ตอนรบเถิดประชาชน

นับจากนี้เหตุการณ์ประชาชนรวมกันคัดค้านบริษัทสำรวจ-หรือขุดเจาะน้ำมัน-แก๊สธรรมชาติอย่างที่สมุย-เกาะเต่า สุราษฎร์ธานีหรือที่บ้านกลาย ท่าศาลา นครศรีธรรมราชจะต้องเกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอนด้วยพล็อตเรื่องที่ซ้ำ ๆ จำเจเพียงแต่เปลี่ยนฉากเปลี่ยนตัวละครบริษัทน้ำมันชื่อต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ เนื่องจากประเทศไทยพบแหล่งก๊าซและน้ำมันดิบแหล่งใหม่มากขึ้นกว่าทศวรรษที่แล้วมากมายและก็มีสัมปทานแบบที่เป็นอยู่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
      
       เมื่อปี 2524 ในยุค พล.อ.เปรมที่เราเจอแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งแรกเราประกาศว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุค “โชติช่วงชัชวาล” แต่ในทางปฏิบัติจริงของการพลังงานไทยเมื่อ 30 ปีก่อนยังทำได้แค่เชื่อมท่อก๊าซเข้าสู่โรงผลิตไฟฟ้า ใช้ก๊าซแทนน้ำมันเตาที่แพงกว่ากัน หาได้ใช้ก๊าซพื่อประโยชน์ด้านอื่นอย่างคุ้มค่าและครบวงจรแต่อย่างใด
      
       แม้กระทั่งเมื่อ 10 ปีก่อน-หลังจากเราประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มคิดเรื่องการผลักดันให้ใช้ก๊าซ NGV เพื่อการขนส่งโดยตรงทำให้ 10 ปีหลังมีรถ NGV วิ่งบนถนนมากมายแม้รถยนต์ของเรายังไม่ได้เป็น FFV (Flexible-fuel vehicle) เหมือนต่างประเทศที่สามารถเลือกเติมเชื้อเพลิงแบบไหนก็ได้ลงไป(ตามแต่สถานการณ์และราคาแล้วเจ้าเครื่องอัจฉริยะจะแยกแยะนำไปใช้เอง) เอาแค่ NGV กับ LPG รถติดก๊าซก็ได้เป็นหนึ่งในทางเลือกของพลังงานเพื่อการขนส่งไปแล้วเต็มตัว
      
       เราเคยมีความคิดแบบดั้งเดิมว่า ก๊าซธรรมชาติหรือจะสู้น้ำมันดิบที่ทั้งราคาแพง และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่าต่อให้เราเป็นเจ้าแห่งก๊าซธรรมชาติก็คงสู้ประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบไม่ได้ ฐานคิดดังกล่าวควรจะปรับปรุงใหม่เพราะด้วยพลานุภาพของเทคโนโลยีในปัจจุบันจะเป็นน้ำมัน เป็นก๊าซหรือเป็นไฟฟ้าล้วนแต่สามารถแปลงมาใช้ประโยชน์ในฐานะ “พลังงานในชีวิตประจำวัน” ของคนระดับชาวบ้านทั่ว ๆ ไปได้ไม่แตกต่างกัน
      
       พี่น้องคนไทยทราบหรือไม่ว่าเทคโนโลยีปัจจุบันมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดเล็กแค่มีท่อก๊าซเสียบเข้าไปก็ปั่นไฟฟ้าใช้ได้ในชุมชนได้เลย ภาพจินตนาการสวย ๆ ที่ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากพลังงานของเราเองอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการรื้อปรับนโยบายพลังงานของประเทศกันเสียก่อน
      
       ปริมาณที่เพิ่มขึ้นของบริษัทน้ำมันที่พาเหรดเข้ามาสัมปทานขุดเจาะสำรวจและผลิตน้ำมัน-ก๊าซทั้งบนบกและในน้ำยืนยันความล้ำค่าของทรัพยากรน้ำมัน-ก๊าซที่ประเทศไทยมีอยู่เป็นอย่างดี...ถ้าทำแล้วขายไม่ได้ไม่มีคนต้องการมีหรือที่บริษัทเหล่านี้จะพาเหรดเข้ามาแบบหัวกะไดไม่แห้งอย่างที่เป็นอยู่
      
       ถ้ายังจำกรณีที่บริษัทขุดเจาะสำรวจน้ำมันยุคแรกอย่างยูโนแคลประกาศขายกิจการซึ่งครอบคลุมพื้นที่ไทยพม่าและเอเชียอาคเนย์มีบริษัทจีนมาซื้อที่สุดอเมริกาไม่ยอมขายถึงขั้นต้องเอาเข้าสภาคองเกรสและให้เชฟรอนมาซื้อกิจการนี้แทนจนเชฟรอนกลายเป็นยักษ์ใหญ่ในอ่าวไทยที่กำลังมีปัญหากับคนสมุย-คนบ้านกลายในเวลานี้
      
       นอกเหนือจากยุทธศาสตร์พลังงานในเอเชียอาคเนย์ที่เป็นเหตุผลต้องซื้อยูโนแคลแล้ว อเมริกายังทราบเรื่องปริมาณน้ำมันและก๊าซสำรองของไทยเป็นอย่างดี ข้อมูลของอเมริกานี่เองที่บอกว่าปริมาณพลังงานของไทยนั้นติดอันดับโลก เอาเฉพาะหมวดก๊าซธรรมชาติยังเหนือกว่าประเทศในกลุ่มโอเปคบางประเทศเสียอีก
      
       มาดูตารางของสถาบัน Energy Information Administration - EIA ของสหรัฐอเมริกา ตารางนี้ผุ้เชี่ยวชาญที่เกาะติดสถานการณ์น้ำมันชาวไทยท่านหนึ่งที่ไม่อยากเปิดเผยตัวปรับมาเป็นภาษาไทยเพื่อให้ง่ายต่อการเปรียบเทียบและทำความเข้าใจนำมาจากสถาบัน EIAสหรัฐอเมริกาเพื่อบอกว่า อเมริการู้ดีว่าประเทศไทยมีก๊าซธรรมชาติเป็นลำดับ 27 ของโลก อยู่ท่ามกลางประเทศกลุ่มโอเปคและประเทศที่เราเชื่อว่ามีทรัพยากรเยอะ(ที่วงกลมไว้) ไม่เฉพาะก๊าซธรรมชาติเท่านั้นแม้กระทั่งการผลิตน้ำมันดิบก็อยู่ลำดับ 33 ของโลกเหนือกว่าบรูไนหรืออดีตโอเปคอย่างกาบองเสียอีก
มหากาพย์พลังงานไทยโกงไทย (1) ตอนรบเถิดประชาชน
       
มหากาพย์พลังงานไทยโกงไทย (1) ตอนรบเถิดประชาชน
(ที่มา-ปรับปรุงจากhttp://www.eia.doe.gov/)
        นี่จึงเป็นเครื่องยืนยันเชิงตัวเลขที่มาของการเปิดแปลงสัมปทานขุดเจาะและผลิตน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติอย่างคึกคักทั้งบนบกและในอ่าวไทยไม่แพ้อเมริกายุคตื่นทองและนี่จึงเป็นที่มาของเหตุการณ์คนสมุยออกมาจับมือล้อมเกาะ รวมทั้งคนบ้านกลายและคนนครศรีธรรมราชออกมาคัดค้านโครงการกลุ่มเชฟรอนอย่างที่เห็นกันอยู่ในหน้าข่าวหนังสือพิมพ์
      
       ทรัพยากรพลังงานของไทยแม้จะไม่มากเท่ากับยักษ์ใหญ่ซาอุดิอาระเบีย รัสเซีย หรือประเทศตะวันออกกลางอื่น ๆ แต่มันก็มากเพียงพอจะให้ไทยอยู่ในแผนที่พลังงานโลกไม่ว่าจะด้วยปริมาณสำรองหรือด้านภูมิรัฐศาสตร์
      
       สิ่งที่ต้องย้ำเป็นหลักคิดพื้นฐานจากภาวการณ์นี้ก็คือประชาชนคนไทยมีสิทธิ์เต็ม 100% ในทรัพยากรพลังงานเหล่านี้ น้ำมันและก๊าซเหล่านี้ไม่ใช่เป็นของรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ผู้บริหารปตท. หรือกระทั่งนายทุนจมูกไว
      
       หลักคิดที่สอง-ทรัพยากรพลังงานที่เรามีอยู่จะต้องสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศชาติและประชาชน
      
       หลักคิดข้อสุดท้ายก็คือเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเป็นประเทศที่ถูกจัดในแผนที่แหล่งพลังงานโลก จะดีร้ายยังไงเราก็ต้องเจอกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพลังงานไม่ทางใดทางหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ดังนั้นน่าจะเปลี่ยนกรอบคิดในทำนอง “มึงมาข้าเผา” หรือปฏิเสธไม่เอาสถานเดียว เพราะเทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถวางใจได้มากกว่ายุคก่อนหน้าแต่สิ่งที่ต้องเร่งกระทำก็คือการทำความเข้าใจกับสิ่งเปลี่ยนแปลงในบ้านของเราอย่างลึกซึ้งและรอบด้าน เลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดให้กับบ้านเมืองและชุมชนของเราเอง อย่างน้อย ๆ ไม่ใช่แค่ค่าภาคหลวงให้อบต.ปีละไม่กี่สตางค์เมื่อเทียบกับกำไรที่เขาสูบได้ไป
      
       ฐานคิดของประชาชนจึงไม่ควรคิดแต่ผลกระทบกับเราเท่านั้น เพราะทุกอย่างที่มีทั้งบวกลบ อย่างเช่นเทคนิคการขุดเจาะสำรวจแบบน้ำตื้นย่อมวางใจได้มากกว่าแบบที่ BP ทำในอ่าวเม็กซิโก หรือแม้แต่ระบบท่อแก๊ซมาตรฐานโลกก็สามารถวางใจได้ในทางทฤษฎีมิฉะนั้นเขาไม่มีการวางท่อแก๊ซเหมือนท่อประปาไปตามบ้านเรือนในหลายประเทศ
      
       เรื่องเหล่านี้จะเป็นเรื่องใกล้ตัวคนไทยมากขึ้น ๆ ที่สุดแล้วเรายังสามารถไว้วางใจเทคโนโลยีและระบบที่ดีได้เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นของตาย.. แต่ที่ไม่ควรวางใจนั่นคือคน-โดยเฉพาะคนไทยด้วยกันเอง !
      
       ท่านทราบหรือไม่ว่าในขณะที่ประเทศไทยเริ่มกลายเป็นเป้าหมายในแผนที่พลังงานโลก และคนไทยเป็นเจ้าของทรัพยากรที่คนทั้งโลกต่างต้องใช้แต่ไทยยังเก็บภาษีขุดเจาะน้ำมันและพลังงานเพียงเฉลี่ย 10-11% เท่านั้น ขณะที่บางประเทศเขาต่อรองกับบริษัทน้ำมันรัฐบาลเก็บไป 80% บริษัทน้ำมัน 20% และโดยส่วนใหญ่หลาย ๆ ประเทศเขาแบ่งผลประโยชน์กันครึ่ง ๆ
      
       คนที่อื่นเขาได้ 50-80% แต่คนไทยเจ้าของน้ำมันได้แค่เฉลี่ย 10% เท่านั้น ! 
      
       ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยเก็บภาษีขุดเจาะน้ำมันและก๊าซที่อัตรา 12.58% อัตราดังกล่าวกำหนดในยุคที่ประเทศไทยเราไม่มีเทคโนโลยีและทักษะเรื่องการขุดเจาะมากเพียงพอต้องอาศัยการลงทุนจากภายนอกทั้งหมด อัตราดังกล่าวจึงตั้งขึ้นให้จูงใจดึงคนมาลงทุนสำรวจและลงทุนขุดเจาะนำมาใช้ แต่พอถึงยุคปลายรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรต่อเนื่อง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้แก้กฎหมายใหม่อ้างสวยหรูว่าเป็นอัตราภาษีก้าวหน้า อยู่ในช่วง 5-15% ตามแต่ปริมาณการขุดขึ้นมา
      
       อัตราก้าวหน้าจึงทำให้เราเก็บภาษีน้ำมันได้เฉลี่ยแค่ 10% กว่า ๆ ลดจากเดิมลงไปอีก !!!
      
       น่าแค้นใจไหมคนไทยเจ้าของบ่อก๊าซบ่อน้ำมัน .. ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่เราปรับภาษีขุดเจาะน้ำมันให้ไทยได้รับน้อยลง ประธานาธิบดีฮูโก้ ชาเวซ ของเวเนซุเอล่ากลับเป็นเป้าหมายสนใจของคนทั้งโลกเพราะปฏิวัติระบบรายได้ส่วนแบ่งน้ำมันจากบริษัทต่างชาติให้ประเทศชาติและประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด
      
       อยากให้พี่น้องคนไทยอ่านงานของกมล กมลตระกูลเรื่อง ฮูโก ชาเวซ : เส้นทางสู่การเมืองภาคประชาชน ว่าเขามีแนวทางทำให้ทรัพยากรธรรมชาติยังประโยชน์ให้กับประชาชนเจ้าของทรัพยากรอย่างไร เอาแค่ตัวอย่างเดียวก่อนหน้านี้เวเนซูเอล่าถูกสูบน้ำมันโดยนักการเมืองร่วมกับทุนต่างชาติ โดยผ่านองค์กรรัฐวิสาหกิจชื่อPDVSA (Petroleos de Venezuela, S.A.) แต่ผลกำไรของบริษัทที่ตั้งขึ้นตกอยู่ในกลุ่มพวกพ้องทั้งสิ้นแทบไม่เหลือกลับเข้าประเทศเลย
      
       กรณีประเทศเขา PDVSA ที่ไม่แยแสประชาชนไปสนแต่นักลงทุนเหตุไฉนจึงเหมือนกับ ปตท.บ้านเราได้ถึงเพียงนี้
      
       มีหลักฐานมากมายหลายประการยืนยันว่านโยบายการพลังงานที่เอื้อต่อทุนไม่สนประชาชน การแปรรูปปตท.และการทำมาหากินในเครือข่ายขุนนางพลังงานกับทุน การพาเหรดเข้ามาของต่างชาติบนพื้นฐานนโยบายไม่แยแสประชาชน ฯลฯ ล้วนเป็นเรื่องเดียวกันทั้งสิ้นนั่นก็คือปัญหาโครงสร้างการพลังงานไทยที่อัปลักษณ์ ไม่วางบนผลประโยชน์ชาติและประชาชนจริง ๆ
      
       ในฐานะเจ้าของทรัพยากรแทบไม่ได้อะไร
      
       ในฐานะผู้บริโภคยังถูกเปรียบในทุกขั้นตอน
      
       ถ้านโยบายและการปฏิบัติในเรื่องพลังงานยังไม่ได้ยืนบนประโยชน์ประชาชนจริง ๆ ก็รบเถิดประชาชน !! นี่ไม่ใช่เป็นการยุเอามันแบบมึงมาข้าเผา หากแต่ต้องการให้ประชาชนคนไทยรบเพื่อเรียกร้องสิทธิพื้นฐานและสิทธิของความเป็นเจ้าของทรัพยากรมากขึ้น
      
       ระหว่างที่พี่น้องสมุยออกมาเคลื่อนไหว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเทคโนโลยีขุดเจาะไม่เป็นอันตรายไม่เหมือนอ่าวเม็กซิโกอย่างแน่นอน ส่วนกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติซึ่งมีหน้าที่ให้สัมปทานและกำกับดูแลสัมปทานต่าง ๆ ก็ออกมาแถลงแบบเดียวกันไม่เพียงเท่านั้นยังซื้อหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์รายวันโฆษณาความปลอดภัยในประเด็นดังกล่าว
      
       ทั้งนักการเมืองและข้าราชการ รวมทั้งขุนนางพลังงานเทคโนแครตทั้งหลายคงจะคิดว่าประชาชนไม่เข้าใจข้อมูลตื่นกลัวไปเอง.. ฐานคิดคือ “ประชาชนไม่รู้ข้อมูล !!?”
      
       แต่ขอโทษเถิดอยากจะใช้คำแรง ๆ เช่นบัดซบหรืออะไรก็ได้ที่ใกล้เคียงกันมาประกอบนั่นเพราะว่ารัฐที่หมายถึงนักการเมืองและขุนนางพลังงานต่างหากที่ปิดบังข้อมูลอันเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน
      
       แค่เริ่มต้นกระบวนการแรกก็ละเมิดสิทธิ์ประชาชนแล้ว -จะไม่ให้ประกาศรบยังไงไหว !!
      
       พรบ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ 2540 กำหนดว่า สัญญาในการดำเนินการต่าง ๆ ของรัฐย่อมไม่เป็นความลับ มาตรา 9(6) จึงกำหนดให้หน่วยงานจัดสัญญาดังต่อไปนี้ให้ประชาชนตรวจดู นั่นคือ ก.สัญญาสัมปทาน ข.สัญญาผูกขาดตัดตอน ค.สัญญาร่วมทุนกับเอกชนในการจัดทำบริการสาธารณะ
      
       แต่กระทรวงพลังงานโดยเฉพาะกรมเชื้อเพลิงพลังงานไม่ได้เปิดสัมปทานสำรวจ-ขุดเจาะน้ำมันใด ๆ ออกสู่สาธารณะ เรื่องนี้เป็นที่รับรู้กันในแวดวงผู้สนใจปัญหาพลังงานมานานแล้ว
      
       และเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคมเวลาบ่ายผมทดสอบเพื่อยืนยันเรื่องนี้อีกครั้งโดยได้โทรฯไปที่เบอร์ซึ่งเว็บไซต์กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติระบุให้โทรฯไปสอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านสัมปทานปิโตรเลียม มติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับสัมปทานปิโตรเลียม และมติคณะกรรมการปิโตรเลียม
      
       ผมไม่ทะเลาะกับเจ้าหน้าที่หรอก พูดดีด้วยสุภาพเพราะรู้ว่าคนผิดคือฝ่ายนโยบายและข้าราชการระดับสูงเพียงแต่ได้รับการยืนยันว่าให้ไปหาข้อมูลแปลงสัมปทานต่าง ๆ ได้ในรายงานประจำปี ซึ่งเมื่อไปดูแล้วมันเป็นคนละเรื่องกับสัญญาสัมปทานที่กฎหมายกำหนดให้หน่วยงานต้องเปิดให้คนทั่วไปเข้าดูได้ทันที
      
       สัญญาสัมปทานสำรวจน้ำมันหรือก๊าซเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนต้องรู้และเข้าถึงได้ทันที แต่เพราะว่ามันมีผลประโยชน์ในระหว่างทุน-ขุนนางพลังงานและนักการเมืองร่วมกันกำอยู่ดังนั้นเรื่องพื้น ๆ ดังกล่าวจึงกลายเป็นความลับงี่เง่าประจานตัวเองรัฐบาลไทย
      
       ปากหนึ่งบอกประชาชนไม่ศึกษาข้อมูล แต่อีกทางหนึ่งก็ปิดข้อมูลพื้นฐานเอาไว้ !! 
      
       ตัวอย่างสัมปทานที่เอกชนไม่ทำ..ปล่อยคาราคาซังไม่ทำตามสัญญาถ้าเป็นประเทศที่เขาโปร่งใสประชาชนจะไม่ยอมให้บริษัทดังกล่าวได้สัญญาอีก แต่เชื่อไหมว่าต่อมาได้มีพลังลึกลับอุ้มชูบริษัทดังกล่าวเข้ามาฮุบพื้นที่แปลงสัมปทานทั่วอ่าวไทยก็คือ กรณี “Harrods Energy” ที่ต่อมาแปลงร่างเป็น “Pearl Oil”
      
       เพื่อนพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรที่ชื่อโมฮัมหมัด อัล ฟาเยดตั้งบริษัท แฮร์รอดส์ เอ็นเนอร์ยี่ (Harrods Energy) ก็ได้สิทธิสำรวจน้ำมันใน 4 แปลงขุดเจาะในอ่าวไทยอีกบริษัทหนึ่งไปสำรวจแหล่งแร่ที่ชายฝั่งพังงาซึ่งคนในวงการรู้ว่าไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ต่อมาแฮรอดส์ก็ไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็น “Pearl Oil” เมื่อ 2547 คราวนี้มีเป้าหมายใหม่ใหญ่กว่าเดิมเพราะต้องการแปลงสัมปทานในประเทศไทยมากขึ้นจนกลายเป็นยักษ์ใหญ่คู่กับ เชฟรอน-ปตท.
      
       เรื่องแฮรอดส์-เพิร์ลออยล์มีรายละเอียดเยอะจะค้างไว้วันหลังเพียงรอบนี้อยากบอกว่าเงื่อนไขสัมปทานทั้งหลายแหล่นั้นไม่ได้มีไว้เพื่อการประกอบการพิจารณาให้สัมปทานใหม่หรือเพื่อรักษาผลประโยชน์ชาติ จึงเป็นช่องให้ทุนบางรายมีไว้เพื่อรักษาสิทธิ์และทำมาหากินได้ต่อไป
      
       และถ้าหากเปิดสัญญาสัมปทานดูดี ๆ ไม่แน่จะพบบริษัทน้ำมันที่จดทะเบียนที่เกาะเคย์แมน หรือเกาะฟอกเงินอื่น ๆ ก็ได้เพราะครั้งหนึ่งบริษัทในกลุ่มเพิร์ลออยล์ก็เคยจดทะเบียนที่เกาะฟอกเงินนี้มาแล้ว -นี่กระมังที่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ขุนนางพลังงานไม่อยากเปิดข้อมูลส่วนนี้ให้คนไทยรับรู้
      
       นโยบายการพลังงานไทยปัจจุบันยังเป็นกรอบนโยบายที่ถูกกำหนดโดยขุนนางพลังงานร่วมกับทุนใหญ่ โดยมีปตท.ผู้สวมหมวกสองใบเอกชนก็เป็นรัฐวิสาหกิจก็ใช่เป็นกลไกควบคุม มหากาพย์เรื่องการพลังงานหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องกล่าวถึงปัญหาของปตท. ที่เดินห่างจากคำว่าผลประโยชน์ชาติและประชาชนมากขึ้นทุกขณะ เอาง่าย ๆ ราคาขายปลีกน้ำมันที่ขายให้คนไทยห่างจากราคาน้ำมันดิบมาตรฐานมากขึ้นเรื่อย ๆ นับจากปี 2544 เป็นต้นมา
      
       ยกตัวอย่างราคาขายปลีกหน้าปั๊มน้ำมันเบนซิน 91 เมื่อปี 2546 ปตท.คิดเพิ่มจากราคาน้ำมันดิบดูไบแค่ลิตรละ 10 บาทโดยเฉลี่ย มาปีนี้การคิดบวกเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 20 บาท จะเอากำไรมากมายไปทำไมคำตอบก็คือเขาต้องกำไรเพราะเข้าตลาดหุ้น ต้องปันผลและต้องสร้างผลงาน นี่เป็นตัวอย่างเล็ก ๆ ตัวอย่างหนึ่งในหลายร้อยตัวอย่างที่บ่งบอกว่า ปตท. ไม่ได้ยืนบนผลประโยชน์ประชาชนตามความคาดหวัง
      
       จะเรื่องสมุย เรื่องเชฟรอนที่บ้านกลาย หรือเรื่อง ปตท. ล้วนแต่เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะนี่เป็นปัญหาทั้งใหม่และใหญ่ที่กำลังเผชิญหน้าคนไทย
      
       เชื่อเถอะครับนโยบายพลังงานที่มองเห็นหัวประชาชนสามารถเติมเงินในกระเป๋าคนไทยได้จริงแต่ปรากฏว่ามีคนกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากความมั่งคั่งดังกล่าวมิหนำซ้ำยังสูบเงินจากกระเป๋าคผู้บริโภคคนไทยไปอีก
      
       ทั้งนักการเมือง ทั้งทุน และทั้งขุนนางพลังงานที่เบาะ ๆก็รับเงินค่าตำแหน่งเพิ่มปีละ 5 ล้าน 10 ล้านล้วนแต่ปกปิดกีดกันประโยชน์ดังกล่าวนี้
      
       การปกป้องสิทธิ์ของตัวเองทั้งในฐานะเจ้าของทรัพยากรและในฐานะผู้บริโภค- อันดับแรกชาวสมุยและชาวนครศรีฯ ควรจะทวงสิทธิ์การรับรู้ข่าวสารพื้นฐานจากกระทรวงพลังงานซึ่งดีแต่โฆษณาในมุมเดียว หลังจากนั้นถึงคราวคนไทยต้องมาทวงสิทธิ์รับรู้ขั้นตอนการทำกำไรเกินควรจากผู้บริโภคพลังงาน และที่สุดคือสิทธิ์ที่จะร่วมคิดร่วมจัดการทรัพยากรของประเทศซึ่งที่สุดแล้วคนไทยทุกคนมีสิทธิ์ในทรัพยากรนั้นอย่างเท่าเทียม
      
       เรื่องพลังงานไทยโกงไทยมีอีกหลายประเด็น นี่แค่ตอนแรกเป็นบทเกริ่น เชื่อเถอะครับว่าทุกประเด็นเป็นประโยชน์กับประชาชนเจ้าของประเทศอย่างแน่นอน !
      
       (หมายเหตุ-พื้นที่ตรงนี้จะทยอยนำเสนอ มหากาพย์พลังงานไทยโกงไทย ในตอนต่อ ๆ ไป ผู้สนใจติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสามารถติดต่อได้ที่ bunnaroth@gmail.com) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น