วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2558

มายาภาพของนิติธรรมในกฎหมาย : ความตายของ(สิทธิ)ชุมชนในเมืองอุตสาหกรรม

มายาภาพของนิติธรรมในกฎหมาย : ความตายของ(สิทธิ)ชุมชนในเมืองอุตสาหกรรม
(Illusion in Rule of law : Death of Environment and Community Right in Industrial Community)
กมลวรรณ ชื่นชูใจ

สาขาวิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี 34190

*E-mail: kamolwan45@gmail.com




บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญภายใต้หลักการสิทธิชุมชนในการปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของขบวนการอนุรักษ์ของชุมชนในเขตเมืองอุตสาหกรรม หรือที่เรียกว่าภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษาพบว่า

๑.การปฏิบัติการสิทธิภายใต้รัฐธรรมนูญไม่สามารถทำได้เนื่องจากมีการใช้กฎหมายระดับพระราชบัญญัติแจ้งจับแกนนำการคัดค้าน การถูกจับกุมโดย “กฎหมาย” ที่มีบทลงโทษทางอาญาส่งผลให้ขบวนการอนุรักษ์ขาดแนวร่วม อ่อนแรงและยุติการเคลื่อนไหวไปโดยปริยาย

๒.กฎหมายในลำดับชั้นที่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ เป็นอุปสรรคขัดขวางการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน  นั่นหมายความว่ากฎหมายที่มีฐานะต่ำว่ารัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้มากกว่า สภาพการบังคับใช้กฎหมายเช่นนี้เป็นการทำลายหลักการสิทธิชุมชน อันเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของการมีชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ดี

๓.พระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับปัญหา คือ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕ มิได้คุ้มครองผลประโยชน์ของชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมดังเจตนารมย์ของกฎหมาย แต่เป็นเครื่องมือในการรักษาผลประโยชน์ของนายทุน ปรากฏการณ์นี้คือสิ่งที่ยืนยันว่า กฎหมายตามตัวอักษรและกฎหมายในทางปฏิบัติมีความแตกต่างกัน เจตนารมย์และนิติธรรมอันสวยหรูจึงเป็นเพียงมายาภาพในกฎหมาย

ดังนั้น ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม อำนาจการจัดการ กลไกและเครื่องมือที่ซับซ้อนจนไม่มีผลในทางปฏิบัติจึงทำให้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นอุปสรรคต่อการกระจายอำนาจ

การศึกษาครั้งนี้มีข้อเสนอแนะดังนี้

๑.แก้ไขพระราชบัญญัติฯ ให้มีเนื้อหาที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นสำคัญ

๒.ให้มีการตีความพระราชบัญญัติฯ ว่ามีเนื้อหาที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่.

คำสำคัญ : พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕, นิติธรรม, สิทธิชุมชน,

Abstract

This article aims to study the exercise of constitutional right of environmental protecting communities in industrial urban zones in compliance with the principle of community right to protect the resource and environment. The results of the study show:

The exercise of constitutional right is impossible due to the enforcement of related statutes leading to multiple arrests of many environmental protecting group leaders. The “legally justifiable” arrest is a part of enforcement of criminal offenses that enfeeble the environmental protecting groups and block its supporters. The groups consequently have to stop their active roles.
Constitutional by-laws are important obstacles for environmental and natural resource protection as well as community protection. It means that subordinate legislations are enforced more frequently, and even sometimes overshadow the Constitution itself.  Such enforcement is a key factor leading to community right suppression despite the fact that the community right is an efficient safeguard of good living condition and environment.
The statute directly relating to this problem is the Environmental Quality Protection and Promotion Act B.E.2535. Contrary to its spirit, the actual enforcement of this act is not to protect the public interest and the environment. In fact, its enforcement becomes a tool to secure entrepreneurs’ advantages. This assertion is then to confirm that the statute and the practicality are on a parallel. The highly respectable legal spirit as well as rule of law is downgraded to a legal illusion.
In conclusion, the Environmental Quality Protection and Promotion Act B.E.2535 is an important obstacle for decentralization due to the general public’s insufficient knowledge on environment, management power, impractical tools and mechanisms provided by the statute itself.

Recommendations of this study are as follows:

Amending the Act with tremendous emphasis on the actual conditions and dynamism of environmental problems with top priority on public participation.
Deciding the constitutionality of the Act.
Keywords: the Environmental Quality Protection and Promotion Act B.E.2535., Rule of law, Community Right


๑. บทนำ

“ปี ๒๕๔๔ เราขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกับนายอำเภอมาดู แต่มีแค่ปลัดจังหวัดฝ่ายทะเบียนมา เขาบอกให้ทำใจ…หลายหน่วยงานก็ปฏิเสธที่จะช่วย กรีนพีซ[1] ก็บอก เขาตัวเล็กเกินกว่าจะสู้ เพราะมันเกี่ยวโยงไปถึงนักการเมืองและทหาร”

(คำบอกเล่าความเดือดร้อนจากปัญหาบ่อฝังกลบขยะพิษ ที่ ต.หนองปลาไหล อ.เมือง จ.สระบุรี)[2]

ในสถานการณ์ปัจจุบัน มิอาจปฏิเสธได้ว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้นตามการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจโลก และส่งผลกระทบต่อทรัพย์สินและชีวิตมนุษย์อย่างใหญ่หลวงโดยไม่จำกัดเส้นแบ่งพรมแดนของรัฐชาติ และมิใช่ความเดือนร้อนของพลเมืองเพียงชาติใดชาติหนึ่ง หากต่างรับผลกระทบร่วมกันทั้งทางตรงและทางอ้อม  นั่นหมายความว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาของสังคมโลกาภิวัตน์ ดังที่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเปรียบเทียบอย่างไพเราะว่า “เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว” นั่นหมายความถึงการเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวของระบบนิเวศน์วิทยาที่ห่อหุ้มชีวิตมนุษย์อยู่บนโลกใบนี้

นับตั้งแต่โลกมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม มนุษย์ค้นพบเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ควบคุมโลก ควบคุมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความรู้ทางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้านั้นตอบสนองชีวิตมนุษย์จำนวนหนึ่ง และสร้างความเสียหายให้แก่มนุษย์จำนวนหนึ่งอยู่เสมอ ความรู้ที่ก้าวหน้านั้นรับใช้มนุษย์ในนามของการพัฒนา และสร้างความเสียหายให้แก่มนุษย์ในนามของการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพียงแต่ว่าเสียงของผู้ได้รับผลบวกจากการพัฒนาจะดังกว่าเสียงของผู้ได้รับผลลบจากการพัฒนาอยู่เสมอ สำหรับสังคมไทย การพัฒนาอาจเริ่มต้นอย่างแท้จริงเมื่อมีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑ ในปี พ.ศ.๒๕๐๔ จวบจนปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๕๔ อาจสรุปได้ว่าด้านหนึ่งของการพัฒนาตลอดเวลา ๕๐ ปีที่ผ่านมานั้นก่อให้เกิดการทำลายและทำร้ายมนุษย์และสิ่งแวดล้อมในหลายด้าน ดิน น้ำ ลม ฟ้า อากาศ ความซับซ้อนและความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้นั้น หลายปัญหาเป็นเรื่องที่มนุษย์ยังไม่มีองค์ความรู้ที่จะจัดการปัญหาได้อย่างฉับพลัน มนุษย์ทำได้เพียงการเยียวยาปัญหา เช่น การเกิดคลื่นสึนามิทั้งในไทยเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๗ และในญี่ปุ่นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๔ ที่ผ่านมารวมถึงที่อื่น ๆ เช่นชิลี สวิตเซอร์แลนด์ หรือพม่า กระทั่งเรือน้ำตาลล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งใช้เวลากู้ซากเรือถึง ๑๓ วัน โดยท้ายที่สุดถึงกับต้องพึ่งองค์ความรู้ด้านโหราศาสตร์เข้ามาช่วย[3] การยอมพ่ายแพ้ต่อธรรมชาติหรือการไม่สามารถจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ ดังกรณีภัยพิบัติสึนามิในญี่ปุ่น หรือไครซ์เชิร์สที่รัฐบาลต้องประกาศละทิ้งพื้นที่บริเวณแผ่นดินไหว เนื่องจากองค์ความรู้อันก้าวหน้าของมนุษย์ไม่ส่ามารถรับมือกับปัญหาอันซับซ้อนที่รุนแรงเพิ่มขึ้นได้

เมื่อปัญหามีความรุนแรงมากขึ้น องค์ความรู้ในทางวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองหรือเยียวยาปัญหาสิ่งแวดล้อม มนุษย์จึงสร้างมาตรการทางกฎหมายขึ้นมาด้วย ดังการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อ “มาตรการควบคุมและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างพอเพียง”[4] หลังจากนั้น ในปี พ.ศ.๒๕๔๐ ได้มีการบรรจุหลักการสิทธิชุมชนไว้ในรัฐธรรมนูญ นั่นหมายความว่าความพยายามในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมยังปรากฏในกฎหมาย ๒ ระดับ คือกฎหมายปกติและกฎหมายรัฐธรรมนูญ

แต่การสร้าง “กฎหมาย” ขึ้นในสังคมนั้นมิได้ทำให้สถานการณ์ปัญหาคลี่คลาย หรือทำให้“สิ่งแวดล้อม” ที่อยู่รอบกายมนุษย์จะฟื้นคืนสภาพดังเดิม การเคลื่อนไหวเรียกร้องของนักอนุรักษ์ หรือเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เช่นปัญหามลพิษที่มาบตาพุด ปัญหาหมอกควันที่เมืองท่องเที่ยวติดอันดับโลกอย่างเชียงใหม่  การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่เพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม เช่น โครงการท่อก๊าซไทย-มาเลย์  ปัญหาของคนในจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งล้วนสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ การลงทุนจากต่างชาติ การท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งรัฐบาลมิอาจนิ่งดูดาย รวมทั้งปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศ สำหรับปัญหาที่เกิดจากภัยธรรมชาตินั้นสร้างความสูญเสียหรือก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง หากปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากภาคอุตสาหกรรมนั้นไม่มีวันหยุดพัก ตราบเท่าที่ระบบเศรษฐกิจยังคงดำเนินต่อไป นั่นจึงหมายความว่าการมี “กฎหมาย” เพียงอย่างเดียวมิได้เป็นการทำให้ “สิ่งแวดล้อม” คืนสภาพได้อย่างแน่นอน รูปธรรมปัญหาสะท้อนชัดเจนในชุมชนอุตสาหกรรมทั่วประเทศที่สภาพนั้นวิกฤติล่วงหน้าไปก่อนที่จะมีการตรากฎหมายแล้ว เช่นปัญหาที่ชุมชนแก่งคอย จังหวัดสระบุรีและชุมชนมาบตาพุด จังหวัดระยอง ที่เป็นตัวอย่างของชุมชนที่สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรม

อำเภอแก่งคอย มีพื้นที่จำนวน ๘๐๑.๑ ตารางกิโลเมตร 3 เป็นพื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมอยู่อย่างหนาแน่น  ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๓ ที่มีการก่อตั้งโรงงานผลิตปูนซิเมนต์ขนาดใหญ่ “เพราะแก่งคอยเป็นแหล่งหินปูนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ หินปูนที่นี่ถูกระเบิดเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๕ เพื่อเอาเศษหินปูนโรยตามรางรถไฟสายอีสาน” 4 สุเจน กรรพฤทธิ์  อธิบายว่า 5 ทรัพยากรหินปูนในแก่งคอยถูกนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศเป็นสำคัญ โดยพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ ในปี ๒๕๐๔ ได้เน้นลงทุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบคมนาคม สร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า และในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๒ กำหนดว่า ภายในปี ๒๕๑๔ ไทยต้องผลิตปูนซีเมนต์ให้ได้ ๒.๕ ล้านตัน  ความต้องการปูนซิเมนต์เพื่อใช้ในการพัฒนามีมากขึ้นในสมัยรัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ (ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๑-๒๕๓๔) ที่มีนโยบาย เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า สุเจน กรรพฤทธิ์ สรุปว่า “ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการเอื้อให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่พากันเข้ามารับสัมปทานระเบิดภูเขาหินปูนในแก่งคอยเป็นจำนวนมาก และมีการตั้งโรงโม่หินกระจายอยู่ใกล้ภูเขาทุกลูก” 6 เหตุที่จังหวัดสระบุรีซึ่งมีแม่น้ำป่าสักไหลผ่านมีความอุดมสมบูรณ์  จึงมิได้มีเพียงแต่พื้นที่อำเภอแก่งคอยเท่านั้นที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ ยังมีพื้นที่อื่น ๆ ที่มีโรงงานเข้าไปก่อตั้ง เช่น โรงไฟฟ้าที่อำเภอหนองแซง บ่อฝังกลบขยะพิษที่อำเภอเมือง โรงงานเซรามิคขนาดใหญ่ที่อำเภอหนองแค ตลอดจนโรงโม่หินที่อำเภอพระพุทธบาท  อุตสาหกรรมในลักษณะต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วไปในจังหวัดสระบุรีเช่นนี้ส่งผลให้สภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมในจังหวัดสระบุรีอยู่ในสภาพวิกฤต และรุนแรงมาอย่างยาวนานในบางพื้นที่ โดยเฉพาะอำเภอแก่งคอย

การพัฒนาเศรษฐกิจในสมัยรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มิได้ส่งผลกระทบเฉพาะชุมชนแก่งคอยเท่านั้น การมีโครงการขนาดใหญ่ คือโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออกที่สะสมความขัดแย้งอันเนื่องมาจากปัญหามลพิษเช่นเดียวกัน ดังความขัดแย้งในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่ทำให้ประชาสังคมภาคตะวันออกต้องเคลื่อนไหว ดังปรากฏในหนึ่งใน ร่างรายงานข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต่อข้อเรียกร้องของเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก” ประการหนึ่ง ว่า “ควรสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดและดำเนินโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ของตนเอง”[5]

เหตุที่ปัญหาทรัพยากรของชุมชนถูกใช้โดยที่ชุมชนไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจนับแต่เริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ ๑ นั้นก่อให้เกิดการสะสมปัญหาความขัดแย้งอยู่ในชุมชน ซึ่งในอดีตความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิของตนนั้นยังไม่เป็นที่รับรู้กันอย่างแพร่หลาย ท่ามกลางรูปธรรมปัญหาที่ชุมชนต้องรับภาระ จึงก่อให้เกิดการผลักดันแนวเรื่องการมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรโดยชุมชน โดยขบวนการประชาชนได้ผลักดันให้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐ ภายใต้หลักการสิทธิชุมชน

นับตั้งแต่ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ๒๕๓๕ และกฎหมายรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้  แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนแก่งคอยมิได้บรรเทาเบาบาง สถิติจากสาธารณสุขอำเภอแก่งคอยในปี ๒๕๕๐ ระบุว่ามีคนป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจไม่น้อยกว่า ๒ หมื่นคน จากประชาชนราว ๘ หมื่นคน7 การมีกฎหมายมิได้เป็นหลักประกันว่าเสรีภาพนั้นจะได้รับการคุ้มครองเสมอไป

จากสภาพปัญหาดังกล่าวข้างหน้า สามารถอธิบายได้ว่าปัญหาของการมี “กฎหมาย” คุ้มครองสิ่งแวดล้อมหรือคุ้มครองสิทธิของชุมชน จึงไม่สำคัญเท่ากับ “การบังคับใช้กฎหมาย” หรือทำให้กฎหมายมีผลในทางปฏิบัติ

เนื่องจากบทความชิ้นนี้เป็นการศึกษาปัญหาการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรของชุมชน จึงกำหนดขอบเขตการศึกษาดังต่อไปนี้

๑.คัมภีร์สิทธิชุมชนของนักอนุรักษ์ : ความหวังที่สูญสลายในสายลม

๒.การจับกุมโดยมิชอบ : พระราชบัญญัติที่มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ

๓.เจตนารมณ์ของกฎหมาย : ภาคปฏิบัติการวาทกรรมนิติธรรมและข้อเท็จจริงเรื่องสิ่งแวดล้อม

๒. วิธีดำเนินการศึกษา

การศึกษาเรื่องนี้ใช้วิธีการค้นคว้าเอกสาร (Documentary Research) จากตัวบทกฎหมาย จากการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง บทความที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อมูลสารสนเทศ (Internet) โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อนำข้อมูลมาสรุปเพื่อใช้ในการอ้างอิง และเรียบเรียงเป็นบทความเรื่องนี้


๓. ผลการศึกษา

การตราพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕ ของรัฐ ย่อมเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ทรัพยากร สภาพแวดล้อมที่มนุษย์อาศัยอยู่นั้นอยู่ในภาวะวิกฤติจนไม่เหมาะสมสำหรับมนุษย์ สังคมจำต้องมีมาตรการทางกฎหมายออกมาคุ้มครอง กฎหมายซึ่งเป็นกฎระเบียบของการอยู่ร่วมกันในสังคม การมีกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมหมายถึงหลักประกันที่มนุษย์จะได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ  เพื่อชี้ให้เห็นถึงสภาพปัญหาของการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม ได้แก่ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕ บทความชิ้นนี้จึงได้นำเสนอเนื้อหาภายใต้หัวข้อ ดังต่อไปนี้

๓.๑ คัมภีร์สิทธิชุมชนของนักอนุรักษ์ : ความหวังที่สูญสลายในสายลม


“บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

(รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ มาตรา ๔๖)

ต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมดังกล่าวอาจกล่าวได้ว่า ในระยะ ๑๐ ปีที่ผ่านนั้น มีขบวนการภาคประชาสังคมด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทำการเคลื่อนไหว ต่อต้าน คัดค้าน ตลอดจนเรียกร้องให้รัฐลงมาแก้ปัญหาในหลายพื้นที่ที่มีความขัดแย้งอย่างรุนแรง ดังกรณีมาบตาพุด จังหวัดระยอง โรงฟ้าที่จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ เหมืองถ่านหินที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ฯลฯ ความขัดแย้งในหลายกรณีกำลังอยู่ในชั้นศาล แม้ว่าขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดังกล่าวดำเนินไปบนหลักการเรื่องสิทธิชุมชนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ  แต่ผู้นำของขบวนการอนุรักษ์กลับถูกจับกุมด้วย “ข้อหา” หรือ “ฐานความผิด” ตาม พระราชบัญญัติซึ่งมีฐานะที่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ

สภาพปัญหาในพื้นที่อุตสาหกรรมบ่มเพาะตัวเองจนวิกฤตเกินกว่ามนุษย์จะแก้ไขเยียวยาและสร้างความขัดแย้งระหว่างคนนอกชุมชนหรือเจ้าของกิจการและคนในชุมชน การออกมาปฏิบัติการสิทธิชุมชนของขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้นมักประสบความพ่ายแพ้และถูกดำเนินคดี หรือหากประสบชัยชนะเช่น การคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของชาวบ้านกูด-บ่อนอก จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ แกนนำการคัดค้านก็ต้องแลกกับการถูกดำเนินคดีในชั้นศาลในหลายคดี  นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายชุมชนที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษบ่มเพาะตนเองจนก่อให้เกิดอันตราย และมีการคัดค้านจากกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรในพื้นที่ แต่ก็ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับนักอนุรักษ์ในโครงการอื่น ๆ  โดยเฉพาะชุมชนในเขตอุตสาหกรรม เช่น จังหวัดสระบุรี

จังหวัดสระบุรีมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรหินปูน จึงเป็นพื้นที่มีที่การให้สัมปทานหินเพื่อส่งต่อวัตถุดิบไปยังภาคอุตสาหกรรม หินปูนยังเป็นวัตถุดิบพื้นฐานสำคัญในอุตสาหกรรมก่อสร้างเพื่อตอบสนองการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างครบวงจร[6] แก่งคอยถูกกำหนดให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๗[7] ในปี ๒๕๕๒ แก่งคอยมีโรงงานขนาดใหญ่จำนวน ๒๒ โรงงาน รวมโรงงานทั้งสิ้น ๑๔๘ โรงงาน โดยจำแนกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมดังนี้

-อุตสาหกรรมปูนซิเมนต์

-อุตสาหกรรมการเกษตร

-อุตสาหกรรมสิ่งทอ

-อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร

-อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์

-อุตสาหกรรมเคมี

เนื่องจากภูมิประเทศเป็นภูเขาหินปูน แก่งคอยจึงเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมซีเมนต์ที่สำคัญของประเทศ มีโรงงานปูนซิเมนต์ดังนี้

1.โรงปูนซิเมนต์ไทย (ต.บ้านป่า)

2.โรงปูนทีพีไอโพลีน (ต.ทับกวาง)

3.โรงปูนนครหลวง (ต.ทับกวาง)

4.โรงปูนภูมิใจไทยทำ (ต.หินซ้อน)

5.โรงงานปูนซิเมนต์เอเชีย

สภาพชุมชนแก่งคอยที่อัดแน่นไปด้วยโรงงานเช่นนี้ย่อมส่งผลต่อชีวิตของคนในชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประสิทธิ์ อินทะโชติ[8] หนึ่งในแกนนำผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าแก่คอย ๒ เล่าว่า แต่ละบริษัทนั้นมีโรงงานผลิตอยู่หลายโรง โรงงานมิได้ผลิตปูนซิเมนต์ที่ก่อปัญหาหมอกควันเพียงอย่างเดียว หากเตาเผาปูนนั้นยังรับจ้างเผาขยะอีกด้วย โรงปูนเหล่านี้ใช้ถ่านหินซึ่งเป็นพลังงานสกปรกเป็นตัวเผาทำลาย เนื่องจากแก่งคอยเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม จึงมิได้มีเพียงโรงงานปูนซิเมนต์ ๕ บริษัทที่ปล่อยหมอกควันจากการเผาหินปูนเท่านั้น หากยังมีโรงงานที่เป็นลักษณะอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกจำนวนมาก โรงงานเซรามิค ผลิตสุขภัณฑ์ส่งออกที่สร้างขยะโดยการทิ้งเซรามิคที่แตกหักเสียหาย และไม่ได้มาตรฐานจำนวนมาก ทั้งยังไม่มีอายุการย่อยสลาย โรงงานที่ส่งกลิ่นรบกวนระบบทางเดินหายใจด้วย อย่าง โรงงานอินโดรามา เคมิคอล (ประเทศไทย) [9] ซึ่งเป็นบรรษัทข้ามชาติ ที่ปล่อยกลิ่นคล้ายกาแฟ[10]

สภาพความรุนแรงที่สะสมมาเช่นนี้ส่งผลให้โรงเรียนในตำบลสองคอน อำเภอแก่งคอย ต้องย้ายออกในปี ๒๕๕๐ หลังจากที่ต้องทนมาเป็นเวลา ๑๑ ปี โดยย้ายห่างอออกไปจากที่เดิม ๕ กิโลเมตร สภาพภูมิศาสตร์ที่อยู่ในหุบเขาหินปูน จึงทำให้แก่งคอยมีมลพิษในเกือบทุก ๆ ด้าน ทั้งฝุ่น กลิ่น ขยะที่ไม่มีวันย่อยสลาย เหล่านี้เพิ่มปริมาณขึ้นตามความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ

กระแสการอนุรักษ์เกิดขึ้นโดยการรวมตัวของคนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นเมื่อมีข่าวการสร้างโรงไฟฟ้าแก่งคอย ๒ ซึ่งมีกำลังการผลิต ๑,๔๖๘ เมกกะวัตต์ เพิ่มขึ้น ๑ เท่าตัว จากเดิม ๗๓๔ เมกกะวัตต์ เพื่อชดเชยความเสียหายมูลค่า ๔ พันล้านที่รัฐต้องจ่ายเนื่องจากไม่สามารถสร้างที่บ่อนอก หินกูด จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ได้ การรวมตัวของประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อมนั้นใช้ชื่อว่า ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่งคอย ได้ทำการศึกษาความเป็นมาของโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงแห่งนี้ พบว่านอกจากจะเกิดการแย่งชิงแม่น้ำป่าสักแล้ว ยังปล่อยสารพิษสะสมในแม่น้ำอีก[11] ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาสร้างความวิตกกังวลให้แก่ขบวนการประชาสังคมด้านอนุรักษ์ที่อำเภอแก่งคอยไม่น้อย การรวมตัวกันนามของชมรมอนุรักษ์ฯ เกิดขึ้นบนความเชื่อมั่นในสิทธิของชุมชนที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ข้อมูลที่ได้จากจากรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโรงไฟฟ้าถูกนำมาเผยแพร่รณรงค์ว่า ในปีหนึ่ง ๆ จะมีโลหะหนักถูกปล่อยลงแม่น้ำป่าสักเท่าใด โลหะหนักนั้นส่งผลอย่างไรต่อห่วงโซ่อาหารและชีวิตมนุษย์บ้าง

การเข้ามาของโรงไฟฟ้าแก่งคอย ๒ มิได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนแก่งคอยเท่านั้น หากส่งผลกระทบต่อชาวบ้านใน ๒ จังหวัด คืออำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก อำเภอหนองแค อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังก๊าซแห่งนี้เชื่อมต่อจากโรงไฟฟ้าวังน้อย ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานก๊าซจากโรงไฟฟ้าราชบุรี ที่ซื้อพลังงานก๊าซมาจากประเทศพม่า ในอนาคตคาดการณ์ว่าอาจมีการเชื่อมต่อโรงไฟฟ้านี้มาในเขตภาคอิสาน

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ดังกล่าวคือ การที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะต้องเวนคืนที่ดินเพื่อวางท่อก๊าซ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะต้องเดินสายไฟฟ้าแรงสูงเชื่อมต่อมายังโรงไฟฟ้าแห่งนี้ด้วย จึงต้องมีการเวนคืนที่ดินตลอดแนวสายไฟและท่อก๊าซผ่านชุมชนต่าง  ๆ ในพื้นที่ที่กล่าวมา ซึ่ง ทั้ง ปตท. และ กฟผ.สามารถทำได้โดยมีพระราชบัญญัติรองรับ [12] เป็นที่รับรู้กันดีว่าที่ดินที่มีสายไฟฟ้าแรงสูงและท่อก๊าซพาดผ่านไม่มีศักยภาพในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ชุมชนจึงสูญเสียโอกาสในการพัฒนาที่ดินของตนในทางเศรษฐกิจ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเวนคืนคือการได้ค่าชดเชยที่ไม่เป็นธรรม เป็นปัญหาการรอนสิทธิในที่ดิน ซึ่งชาวบ้านขาดความรู้ความเข้าใจและไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ เช่น หากชาวบ้านไม่พอใจในค่าชดเชย สามารถใช้สิทธิฟ้องศาลปกครองได้ เขตอำนาจศาลปกครองในจังหวัดสระบุรีคือศาลปกครองจังหวัดลพบุรี ณ ขณะนั้นศาลปกครองลพบุรียังไม่จัดตั้ง เมื่อรู้ข้อเท็จจริงเช่นนั้น คดีก็ขาดอายุความเสียแล้ว [13]

ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่งคอย ได้ขยายแนวร่วมในการอนุรักษ์ไปยังพื้นที่อื่นที่มีปัญหา เช่น ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ กลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านบ่อฝังกลบขยะเคมีในตำบลหนองปลาไหล อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี หรือกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อำเภอเสาไห้ ซึ่งมีอาชีพเลี้ยงปลาในกระชังริมแม่น้ำป่าสัก ได้รับผลกระทบจากความเน่าเสียในแม่น้ำป่าสัก และก่อให้เกิดความเสียหายในทางเศรษฐกิจ

อำเภอหนองแซง เป็นเขตเกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำป่าสัก เป็นแหล่งผลิตมะม่วงอันมีชื่อ การมีโรงงานไฟฟ้าพลังก๊าซ จึงก่อให้เกิดการตื่นตัวเพื่ออนุรักษ์พื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งผลจากการมีโรงไฟฟ้าที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้นส่งผลให้สวนส้มนับแสนไร่ต้องล้มละลาย เพราะไม่สามารถผลิตส้มได้ ชาวสวนเชื่อว่าเป็นเพราะควันพิษจากโรงงานและคลื่นกระแสไฟฟ้าแรงสูงรบกวนต้นส้ม สวนส้มรังสิตจึงกลายเป็นเพียงตำนานของชาวสวนส้ม

การเชื่อมต่อเครือข่ายการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในจังหวัดสระบุรี ดูเหมือนว่าจะทำให้พลังการคัดค้านการเข้ามาของอุตสาหกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพนั้นแข็งแกร่งมากขึ้น แต่มิได้เป็นเช่นนั้นไม่ ขณะนี้โรงไฟฟ้าแก่งคอย ๒ เปิดดำเนินการแล้ว โรงไฟฟ้าหนองแซงเปิดดำเนินการแล้ว และบ่อขยะพิษยังคงส่งกลิ่นรบกวนชาวบ้านจนครูและนักเรียนต้องใช้ผ้าปิดจมูก  ผลกระทบต่อเด็กนั้นเคยเกิดขึ้นที่มาบตาพุด ปัญหามลพิษในจังหวัดระยองเป็นที่รับรู้ของสาธารณชนเมื่อ ปี ๒๕๔๕ ที่นักเรียนโรงเรียนมาบตาพุดวิทยาคมสูดดมอากาศเป็นพิษเข้าไป เกิดอาการหน้ามืดเป็นลมจำนวนมาก จนต้องต้องนำส่งโรงพยาบาล และแก้ปัญหาโดยการย้ายโรงเรียนไปตั้งในสถานที่แห่งใหม่ [14] การหนีโรงงานอุตสาหกรรมของนักเรียนนั้น หมายความว่า “มนุษย์” มิได้เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา การพัฒนาไม่มีพื้นที่สำหรับ “มนุษย์”

การใช้สิทธิชุมชนของชาวบ้านไม่สามารถคุ้มครองตนเองและชุมชนได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ  เหตุที่เป็นเช่นนั้นอาจเป็นเพราะถ้อยคำในท้ายมาตราที่บัญญัติว่า “ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ” อิทธิพลของกฎหมายลายลักษณ์อักษร ทำให้ถ้อยคำดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาการตีความการใช้กฎหมายในชั้นศาล

การเคลื่อนไหวของชมรมอนุรักษ์ฯก็คงไม่ต่างจากหน่ออ่อนประชาสังคมทั่วไป คือการคัดค้านอย่างเป็นทางการไปยังเจ้าหน้าที่รัฐ  โดยการทำหนังสือคัดค้านการก่อสร้างไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีครั้งแรกในเดือนธันวาคม  ๒๕๔๗ และอีก ๓ ฉบับระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน-พฤษภาคม ๒๕๔๘ รวมถึงอธิบดีกรมชลประทาน  อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม  ในหนังสือฉบับที่ ๔ ที่ส่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นได้นัดพบผู้ว่าฯ ในวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๘ เพื่อรับฟังคำชี้แจงและผลการร้องเรียน ในวันนัดหมายมีประชาชนประมาณ ๒๐๐ คนเข้าร่วมกิจกรรม  การเคลื่อนขบวนจากวัดเพียว ใจกลางเมือง ไปศาลากลางจังหวัดในวันนั้นเป็นเหตุให้แกนนำและแนวร่วมจำนวน ๑ คนถูก และ ๔ คนถูกออกหมายจับ[15] อันเป็นเหตุให้ขบวนการเคลื่อนไหว(โดยวิธีการทางการเมือง)จำต้องหยุดลงโดยปริยาย  ด้วยข้อหาไขข่าวอันเป็นเท็จตาม มาตรา ๑๐๑ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕

แม้ปัจจุบันหลักการนี้จะถูกนำมาบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ แต่ชาวบ้านที่ทำงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติจังหวัดสระบุรียังคงถูกดำเนินคดีในชั้นศาลในหลายฐานความผิด เนื่องจากว่ากลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าอำเภอแก่งคอย หนองแซง และบ่อฝังกลบขยะพิษร่วมมือกันปิดถนนมิให้รถขยะวิ่งเข้าไปในหมู่บ้านทำให้แกนนำถูกดำเนินคดีในข้อหากีดขวางทางจราจร

ในขณะที่ชาวบ้านที่ปกป้องสิ่งแวดล้อมถูกดำเนินคดี  เจ้าของโรงงานกลับได้รับรางวัลจากกระทรวงอุตสาหกรรม โดยนายอาลก โลเฮีย (Aloke Lohia) รองประธานกรรมการบริษัทอินโดรามา จำกัด (มหาชน) เศรษฐีอันดับที่ 6 ของประเทศไทย มูลค่า 36,000 ล้าน[16] ได้รับแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากิตติมศักดิ์การลงทุนคนที่ ๑๖ โดยการเสนอของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) [17] และยังได้รับรางวัล “ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม” จากกรมโรงงานอุตสาหกรรมอีกด้วย [18]

๓.๒ การจับกุมโดยมิชอบ : พระราชบัญญัติที่มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ

“ผู้ใดแพร่หรือไขข่าวที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับอันตรายจากแหล่งกำเนิดมลพิษโดยมีเจตนาที่จะทำลายชื่อเสียงหรือความไว้วางใจของสาธารณชนต่อการดำเนินกิจการโดยชอบด้วยกฎหมายของแหล่งกำเนิดมลพิษนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ” [19]

ข้อความข้างต้น คือการกำหนดโทษความผิดมาตรา ๑๐๑ ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕  ที่ถูกนำมาบังคับใช้ครั้งแรกเพื่อจับกุมแกนนำผู้คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าแก่งคอย ๒ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เมื่อปี ๒๕๔๗ จนเป็นเหตุให้การเคลื่อนไหวคัดค้านต้องยุติลงโดยปริยาย  คดียืดเยื้อมาจนกระทั่งโรงไฟฟ้าสร้างเสร็จ อัยการจึงไม่สั่งฟ้อง[20]

เย็นวันหนึ่งในเดือน พฤษภาคม ๒๕๔๗ ขณะประสิทธิ์ ดวงแก้ว สมาชิกชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่งคอย กำลังพักผ่อนอยู่ในบ้านของพี่ชายซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มอนุรักษ์ฯ ในเขตเทศบาลตำบลแก่งคอย มีชายฉกรรจ์จำนวนหนึ่งตรงเข้ามาจับกุมโดยมิได้แจ้งข้อกล่าวหา และนำตัวไปโรงพักแก่งคอย

หลังจากนั้นได้มีหมายจับของสถานีตำรวจแก่งคอยออกมาอีก ๔ คน รวม ๕ คน ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้มีบทบาทในการรณรงค์คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าแก่งคอย ๒ ศาสตราจารย์พนัส ทัศนียานนท์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดตาก ผู้มีบทบาทสำคัญในการร่างพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อม ๒๕๓๕ อธิบายว่า[21] การจับกุมครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการใช้มาตรา ๑๐๑

ในสภาพที่สิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อทั้งประชาคมในชุมชนท้องถิ่นไปจนถึงประชาคมสิ่งแวดล้อมระดับโลก เราจะเข้าใจบทบาทการเคลื่อนไหวของขบวนการรณรงค์เคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไร เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการถกเถียงและตีความเพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน  การรณรงค์เพื่อให้ชาวบ้านตระหนักถึงพิษภัยของโรงไฟฟ้าโดยการนำข้อมูลจากรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) มาเผยแพร่นั้นถูกตีความจากนักกฎหมายว่าเป็นการ “แพร่หรือไขข่าวที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับอันตรายจากแหล่งกำเนิดมลพิษโดยมีเจตนาที่จะทำลายชื่อเสียงหรือความไว้วางใจของสาธารณชนต่อการดำเนินกิจการโดยชอบด้วยกฎหมายของแหล่งกำเนิดมลพิษนั้น”

การจับกุมชาวบ้านทำงานด้านสิ่งแวดล้อมโดยใช้มาตรา ๑๐๑ แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ๒๕๓๕ เป็นครั้งแรกนั้นอยู่ในความสนใจของนักกฎหมาย โดยมีการจัดเสวนา เรื่องมาตรา ๑๐๑ ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ[22]

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหัวใจของการศึกษากฎหมายประการหนึ่งคือการตีความ คำอธิบายง่าย ๆ ของตีความคือการทำความเข้าใจพื้นฐานที่ถูกต้องร่วมกัน โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นสำคัญ ในกรณีนี้มาตรา ๑๐๑ ถูกตีความใน ๒ ระดับ คือ ๑.ตำรวจที่รับแจ้งความ ๒.อัยการที่รับฟ้องคดี  การรับฟ้องของอัยการจังหวัดสระบุรีนั้นย่อมมีการตีความแล้วว่า “มีเจตนา” การตีความโดยขาดความเข้าใจบริบทของเรื่องนั้นๆ อนุมานได้ว่า “เห็นพฤกษ์แต่ไม่เห็นไพร”[23]

แนวโน้มของการตีความกฎหมายแบบ “เห็นพฤกษ์แต่ไม่เห็นไพร” คือไม่ได้วางอยู่บนบรรทัดฐานของรัฐธรรมนูญว่าด้วยหลักการเรื่องสิทธิชุมชนนั้นทำให้การรณรงค์คัดค้านต้องยุติลง นั่นหมายความว่าพลังของกฎหมายระดับพระราชบัญญัติเพียงมาตราเดียวนั้นสามารถทำลายความเชื่อมั่นต่อสิทธิของตนตามระบอบรัฐธรรมนูญได้ ภายหลังแกนนำถูกจับกุม กิจกรรมการรณรงค์มีผู้เข้าร่วมน้อยลง ด้วยมีการปล่อยข่าวว่าจะมีการจับกุมเพิ่ม การบังคับใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเช่นนี้กลับเป็นการทำร้ายขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เพิ่งบ่มเพาะตนเองท่ามกลางปัญหา

การจับกุมในฐานความผิดตามมาตรา ๑๐๑ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕ เกิดขึ้นขณะที่ รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ได้คุ้มครองสิทธิของบุคคลมิให้ถูกจับกุมโดยมิชอบดังนี้ [24]

“มาตรา ๒๓๗ ในคดีอาญา การจับและคุมขังบุคคลใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยผู้ถูกจับจะต้องได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดแห่งการจับโดยไม่ชักช้า กับจะต้องได้รับโอกาสแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งถูกจับไว้วางใจทราบในโอกาสแรก และผู้ถูกจับซึ่งยังถูกควบคุมอยู่ต้องถูกนำตัวไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อศาลพิจารณาว่ามีเหตุที่จะขังผู้ถูกจับไว้ตามกฎหมายหรือไม่ เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

หมายจับหรือหมายขังบุคคลจะออกได้ต่อเมื่อ

(๑) มีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นน่าจะได้กระทำความผิดอาญาร้ายแรงที่มีอัตราโทษตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือ

(๒) มีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นน่าจะได้กระทำความผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้นั้นจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่นด้วย”

การจับกุมแนวร่วมกลุ่มอนุรักษ์แก่งคอยจึงเป็นการจับกุมที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญเนื่องจากมิได้มีความผิดซึ่งหน้า ทั้งมิได้มีการออกหมายจับ แม้ภายหลังจะออกหมายจับเพิ่มอีก ๔ คนให้ถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว แต่เหตุในการออกหมายจับนั้นก็ไม่มีเหตุผลตามกฎหมายรองรับ คือหลักฐานการกระทำความผิดร้ายแรง หรือหลักฐานการทำความผิดในทางอาญา หรือมีพฤติกรรมที่หลบหนี

การที่ มาตรา ๒๓๗ ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐ เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนต่อการถูกจับกุมที่ละเมิดหลักนิติธรรมนั้น มิใช่เรื่องใหม่ เพราะหลักการนี้ได้บรรจุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๗๘ ไว้แล้ว โดยมีเนื้อหามิให้เจ้าพนักงานตำรวจทำการจับกุมโดยมิชอบ[25]

๓.๓ เจตนารมณ์ของกฎหมาย: ภาคปฏิบัติการวาทกรรมนิติธรรมและข้อเท็จจริงเรื่องสิ่งแวดล้อม

ดังได้กล่าวในตอนต้นแล้วว่า เหตุผลในการตรากฎหมายฉบับนี้คือ สังคมไทยยังไม่มีมาตรการควบคุมและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเพียงพอ โดยมุ่งหวังให้ทำหน้าที่ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างครอบคลุมและกว้างขวาง [26] ทั้งยังกำหนดนิยามความหมายที่ชัดเจน [27]

การพิจารณาว่าการมี “กฎหมาย” นั้นทำให้มนุษย์ สังคม สิ่งแวดล้อมได้รับการคุ้มครองหรือไม่ จำต้องเปรียบเทียบกับข้อเท็จจริงเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น จะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความคาดหวังของการบังคับใช้กฎหมาย เช่นกฎหมายมีอำนาจในการคุ้มครอง “เหตุรำคาญตามกฎหมายสาธารณสุข” สภาพความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นคือสิ่งที่ยืนยันว่า กฎหมายไม่สามารถคุ้มครอง “เหตุรำคาญ” แก่สุขภาพที่เกิดจาก “ภาวะที่สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงหรือปนเปื้อนโดยมลพิษซึ่งทำให้คุณภาพของสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลง..” มลพิษยังคงสร้างความรำคาญแก่สุขภาพของคนในชุมชนอย่างต่อเนื่องยาวนาน


๓.๓.๑ “การมีส่วนร่วม” ภายใต้กฎหมายสิ่งแวดล้อม


ในท้ายพระราชบัญญัติ ได้หมายเหตุถึงเหตุผลในการประกาศใช้กฎหมาย เจตนารมณ์ลำดับ ๑ ของ พระราชบัญญัติฯ คือ “ส่งเสริมประชาชนและองค์กรเอกชนให้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม” [28] พระราชบัญญัติฯ กำหนดให้องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม “มีสิทธิขอจดทะเบียนเป็นองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ฯ ต่อกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ” [29] โดย “อาจได้รับความช่วยเหลือหรือได้รับการสนับสนุนจากทางราชการ….ในกรณีที่องค์กรเอกชนใดที่ได้จดทะเบียนแล้วดำเนินกิจการโดยก่อความวุ่นวายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือไม่เหมาะสม ให้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนขององค์กรเอกชนได้” [30]

ข้อกำหนดดังกล่าวหมายความว่าองค์กรเอกชนจะต้องอยู่ภายใต้อาณัติของกระทรวงฯ ทำให้ “การมีส่วนร่วม” เป็นเพียงกลไกที่แบ่งเบาภาระหน้าที่ของกระทรวงเท่านั้น  และการนิยามความหมาย “การมีส่วนร่วม” เพียงแคบ ๆ ไม่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนได้อย่างแท้จริง เพราะ “การมีส่วนร่วม” ของประชาชนด้านสิ่งแวดล้อม คือการกำหนดชะตากรรมของตนเอง

สิ่งที่จะต้องพิจารณาคือ คู่ความขัดแย้งเรื่องสิ่งแวดล้อมของประชาชนในขณะนี้คือใคร โครงการขนาดใหญ่ของรัฐ โครงการขนาดใหญ่ของบรรษัทข้ามชาติที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ทั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและกระทรวงฯ เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่ประกอบได้ด้วย นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีอีก ๙ กระทรวง เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ [31] ในขณะที่กิจกรรมเรื่องสิ่งแวดล้อมขององค์กรประชาชนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้นเป็นเรื่องที่ต้องปะทะ/ขัดแย้ง กับอำนาจรัฐอยู่เสมอ เมื่อพิจารณาการนิยามความหมายเช่นนี้ จะมีองค์กรสิ่งแวดล้อมจำนวนหนึ่งที่ถูกกีดกันออกไปด้วยนิยามความหมายที่ถูกกำหนดขึ้น องค์กรเหล่านี้เป็นที่รับรู้กันดีว่ามีบทบาทอย่างแข็งขัน (active citizen) ต่อการขับเคลื่อนให้ขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตื่นตัวอย่างกว้างขวาง

๓.๓.๒ โครงสร้างการจัดการที่รวมศูนย์


การที่จะสร้างให้เกิด “การมีส่วนร่วม” ของประชาชนได้นั้น อำนาจการจัดการปัญหาต้องกระจายมาสู่ประชาชน แต่เมื่อพิจารณาโครงสร้างการบริหารจัดการแล้วจะพบว่ามีลักษณะรวมศูนย์ในระดับต่าง ๆ ๒ ระดับคือระดับคณะกรรมการ และระดับบุคคล มีรายละเอียดดังนี้


1.ระดับคณะกรรมการ ประกอบด้วย


-คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ[32] : โครงสร้างของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกอบด้วย  นายกรัฐมนตรี รองนายกฯ รัฐมนตรีจาก ๙ กระทรวง ได้แก่ วิทยาศาสตร์ฯ, กลาโหม, คลัง, เกษตรฯ, คมนาคม, มหาดไทย, ศึกษาฯ, สาธารณสุข, อุตสาหกรรม, เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ, คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง ๘ คน  ซึ่งจะต้องมีผู้แทนองค์กรเอกชนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง (๔ คน)  การวินิจฉัยปัญหาให้ใช้หลักเสียงข้างมาก ดังนั้น กรรมการจากภาคเอกชนจึงเป็นเพียงการสร้างภาพอันชอบธรรมของการมีส่วนร่วมเท่านั้น

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการมีขอบเขตกว้างขวาง รวมถึง “…กำกับดูแลและเร่งรัดให้มีการตราพระราชกฤษฎีกา ออกกฎกระทรวง ข้อบังคับ ข้อบัญญัติท้องถิ่น ประกาศ ระเบียบและคำสั่งที่จำเป็นเพื่อให้กฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมมีความเป็นระบบโดยสมบูรณ์….”[33] เป็นที่น่าตั้งคำถามว่าขอบเขตอำนาจอันกว้างขวางเช่นนี้ส่งผลให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้รับการแก้ไขจริงหรือไม่


-คณะกรรมการควบคุมมลพิษ[34] : ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธานกรรมการระดับอธิบดีอีก ๑๐ กรม


2.ระดับบุคคล ประกอบด้วย


-นายกรัฐมนตรี [35] : “เมื่อมีเหตุฉุกเฉินหรือภยันตรายต่อสาธารณะอันเนื่องมาจากการแพร่กระจายของมลพิษ ซึ่งหากปล่อยไว้จะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อ ร่างกาย สุขภาพ อนามัย… ให้นายกมีอำนาจสั่งบุคคลนั้นไม่ให้กระทำการใดอันจะมีผลเป็นการเพิ่มความรุนแรงแก่มลพิษ…อำนาจตามวรรคหนึ่งนายกรัฐมนตรีจะมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการ…แทนนายกฯได้”

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าแหล่งกำเนิดมลพิษที่อันตรายอย่างร้ายแรงที่เกิดขึ้นในเมืองไทยนั้นมีความเกี่ยวโยงกับผลประโยชน์ทางการเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างแยกไม่ออก ดังกรณีรองประธานกรรมการบริษัทอินโดรามาที่ได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรีให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากิตติศักดิ์ด้านการลงทุน[36] หรือกรณีบ่อฝังกลบขยะมีพิษที่ชาวบ้านระบุว่ามีนักการเมืองและทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือหากสั่งการอาจมีผลกระทบต่อการลงทุน ดังกรณีมาบตาพุด คำถามคือ นายกรัฐมนตรีมีอำนาจที่จะดำเนินการเช่นนั้นจริงหรือไม่ อำนาจเช่นนี้เกิดขึ้นได้ยากภายใต้เสรีนิยมประชาธิปไตย บทเรียนปัญหามาบตาพุดเป็นสิ่งที่ยืนยันสภาพความไร้อำนาจของนายกรัฐมนตรีตามความในมาตรานี้


-ผู้ว่าราชการจังหวัด : รับโอนอำนาจมาจากนายกตามมาตรา ๙ คือสั่งให้บุคคลหยุดการกระทำที่ก่อให้เกิดมลพิษอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชน

นอกจากอำนาจที่ถูกโอนมาจากนายกรัฐมนตรีแล้ว กฎหมายยังกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในจัดทำ “แผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด” เพื่อให้พื้นที่นั้นเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมหรือเขตควบคุมมลพิษ[37]

สมมติฐานในกฎหมายดังกล่าว วางอยู่บนความคิดที่ว่าผู้ว่าฯ และเจ้าของแหล่งมลพิษไม่มีความสัมพันธ์เชิงผลประโยชน์ต่อกัน สิ่งนี้เป็นความเข้าใจความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐและทุนที่คลาดเคลื่อน ในจังหวัดเขตอุตสาหกรรม ทุนเป็นผู้อุปถัมภ์สังคมรายใหญ่แทนรัฐ เช่น โต๊ะหินอ่อนในโรงอาหารของศูนย์ราชการจังหวัดสระบุรีที่บริจาคโดยบริษัทสัมปทานหิน ภาพการอุปถัมภ์เช่นนี้พบได้ทั่วไปในเมืองอุตสาหกรรม

การกำหนดให้บุคคลในระดับต่าง ๆ เข้าไปอยู่ในโครงสร้างของพระราชบัญญัติเพื่อจะเป็นหลักประกันว่าการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมจะสามารถดำเนินไปได้อย่างสมบูรณ์ตามเจตนารมณ์

๓.๓.๓ เครื่องมือของการปฏิบัติงาน

นอกจากจะวางบุคคลไว้ในโครงสร้างส่วนต่าง ๆ แล้ว พระราชบัญญัติยังกำหนดให้บุคคลสร้างเครื่องมือในการทำงาน โดยมุ่งหวังว่าเครื่องมือเหล่านี้จะช่วยให้การบังคับใช้กฎหมายมีความสมบูรณ์ เครื่องมือประกอบด้วย


-นโยบายและแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ : คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจะต้องจัดทำขึ้นเพื่อขอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี[38]


-แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม : รัฐมนตรีฯจัดทำ และขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ[39] โดยระบุชัดเจนว่า “แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม…ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม และเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปโดยบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนด ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีหน้าที่ให้คำแนะนำแก่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผนงานหรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมนั้น”[40] แนวทางสำคัญของแผนประการหนึ่งคือ “…(๖) การตรากฎหมายและออกกฎข้อบังคับ ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ คำสั่งและประกาศที่จำเป็นสำหรับการดำเนินงานตามแผน (๗) การตรวจสอบ ติดตาม และวิเคราะห์คุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อประโยชน์ในการประเมินผลการดำเนินงานตามแผนและการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง”[41] รวมถึงพื้นที่อุทยาและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าด้วย


-แผนปฏิบัติการเพื่อจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด : จัดทำโดยผู้ว่าฯ เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กำหนดให้มีสาระสำคัญประการหนึ่งคือ “…(๕) แผนการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการละเมิด และฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมมลพิษ การอนุรักษ์ธรรมชาติ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม[42]

การออกแบบเครื่องมือและโครงสร้างที่ซับซ้อนยืนยันถึงความไร้สภาพบังคับในกฎหมาย เป็นอำนาจที่เลือนราง จับต้องไม่ได้ นอกจากเครื่องมือในรูปแบบที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว พระราชบัญญัติยังมีเครื่องมือสำคัญที่ถือว่าก้าวหน้ามากในขณะนั้นได้แก่


-การทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการอนุมัติโครงการ เสนอต่อสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม และกำหนดให้มีคณะกรรมการผู้ชำนาญการให้ความเห็นชอบซึ่งให้พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน ๔๕ วัน “ถ้าคณะกรรมการผู้ชำนาญการมิได้พิจารณาให้แล้วภายในเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าคณะกรรมการผู้ชำนาญการให้ความเห็นชอบแล้ว” [43]

มาตรการเรื่องการจัดทำรายการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเพียงการสร้างภาพให้เห็นว่าได้ผ่านการะบวนการตรวจสอบทางวิชาการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ข้อยืนยันว่าพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้มีปัญหาในการบังคับใช้ คือการที่ศาลแพ่งเปิดพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุผลว่า  “ปัจจุบันคดีสิ่งแวดล้อมเช่นมลพิษทางอากาศ กลิ่น เสียง รังสี น้ำ แรงสั่นสะเทือน สารเคมีปนเปื้อนเกิดขึ้นจำนวนมากมีความเสียหายรุนแรงทุนทรัพย์สูง มีได้ผลกระทบกว้างขวาง จึงอาศัยอำนาจตามกฎหมายพระธรรมนูญศาลยุติธรรมและประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม” [44]โดยคดีแรกที่ศาลแพ่งจะพิจารณาคือคดีบ่อฝังกลบขยะที่อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี


๔.สรุป

การศึกษาเรื่องมายาภาพของนิติธรรมในกฎหมาย : ความตายของ(สิทธิ)ชุมชนในเมืองอุตสาหกรรม อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี พบว่า

๑.ความพยายามใช้รัฐธรรมนูญว่าด้วยหลักการสิทธิชุมชนเพื่อปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมขององค์กรประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อมไม่สามารถเป็นจริงได้เนื่องจากว่า หลักการสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญไม่มีกฎหมายรองรับ ในขณะที่พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕ กลับเป็นเครื่องมือของนายทุนเพื่อทำให้ขบวนการประชาสังคมสิ่งแวดล้อมหยุดการเคลื่อนไหว และทำให้หน่ออ่อนของขบวนการประชาสังคมสิ่งแวดล้อมในเขตอุตสาหกรรมหนาแน่นไม่อาจเกิดขึ้นได้  สิทธิชุมชนซึ่งเป็นดังคัมภีร์ของนักอนุรักษ์จึงเป็นเพียงความหวังที่สูญสลายในสายลม

๒.กฎหมายในลำดับชั้นที่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ เป็นอุปสรรคขัดขวางการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน  พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕ ที่มีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมมีโครงสร้างและกลไกที่ซับซ้อนไม่มีผลในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะการขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน

ปรากฏการณ์นี้คือสิ่งที่ยืนยันว่า กฎหมายตามตัวอักษรและกฎหมายในทางปฏิบัติมีความแตกต่างกัน เจตนารมณ์และนิติธรรมอันสวยหรูจึงเป็นเพียงมายาภาพในกฎหมาย

๓.ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม อำนาจการจัดการ กลไกและเครื่องมือที่ซับซ้อนจนไม่มีผลในทางปฏิบัติจึงทำให้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นอุปสรรคต่อการกระจายอำนาจ

๕.ข้อเสนอแนะ


๑.แก้ไขพระราชบัญญัติฯ ให้มีเนื้อหาที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นสำคัญ

๒.ให้มีการตีความพระราชบัญญัติฯ ว่ามีเนื้อหาที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

ภาคผนวก

๑.ลำดับการก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในอำเภอแก่งคอย

ประสิทธิ์ อินทโชติ และสมคิด ดวงแก้ว สมาชิกผู้ก่อตั้งชมรมฯ ได้ลำดับเหตุการณ์การเกิดโรงงานอุตสาหกรรมในอำเภอแก่งคอยดังนี้

พ.ศ.๒๕๐๐ กว่าๆ : มีโรงทอกระสอบของกระทรวงการคลัง ตั้งอยู่ที่บ้านขอนหอม ตำบลตาลเดี่ยว โดยใช้ปอจากภาคอีสานเป็นวัตถุดิบ กระทรวงการคลังขายให้เอกชนดำเนินการ ปัจจุบันโรงทอกระสอบไม่มีแล้ว แต่เปลี่ยนกิจการเป็นโรงทอพรม ต่อมามีโรงทอผ้า สหสันต์การทอ อยู่ในเขตตำบลบ้านป่า

พ.ศ.๒๕๑๓ : บริษัทปูนซิเมนต์ไทย เข้ามาสำรวจซื้อที่ดิน มาประชาสัมพันธ์กับชาวบ้านว่าจะมาปลูกป่า มีนายหน้ามากว้านซื้อที่ เมื่อซื้อหมดแล้วชาวบ้านจึงรู้ว่าเป็นโรงปูน

ปลายปี ๒๕๑๓-๒๕๑๕ : ทำการก่อสร้าง เดินเครื่องประมาณปี 15 ในช่วงแรกนำคนงานมาจากโรงปูนท่าหลวง (โรงที่สองของประเทศไทย ย้ายมาจากบางซื่อ)

๒๕๑๗ : โรงปูนนครหลวงก่อสร้าง และดำเนินการผลิตประมาณปี ๒๗๑๗-๒๕๑๗

๒๕๒๔-๒๕๒๕ โรงอินโดรามาสร้าง ไทยอคีริค กะรัต โรงงานตะกั่วเบิร์กโซ่เข้ามา ประมาณเป็นรัฐมนตรีอุตสาหกรรม

ประมาณ ๒๕๒๖-๒๕๒๗: โรงผ้าไหม มีโรงงานกระเบื้องและท่อ ต่อเนื่องจากโรงปูนนครหลวง เซรามิคเป็นอุตสาหกรรมจากโรงปูน ในเครือนครหลวง

พ.ศ.๒๕๒๔-๒๕๒๕ ถนนมิตรภาพขยายเป็นถนนสี่เลนส์เริ่มสร้าง และยังไม่แล้วเสร็จ ประสิทธิ์ อินทโชติ คาดว่าโรงงานฟูรูกาว่า (ทองแดง) สร้างขึ้นระหว่างนั้น

2540 บ่อฝังกลบอุตสาหกรรม บอกชาวบ้านว่าจะมาทำโรงงานปุ๋ยหมัก

๒.บริษัท อินโดรามา เคมีคัล จำกัด ที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เป็นบริษัทย่อยของ อินโดรามา  เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน)  ที่มีอยู่ ๔ บริษัทในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครปฐม ๑ แห่ง จังหวัดระยอง ๒ แห่ง โรงงานแห่งนี้มีหน้าที่ผลิตแอลกอฮอล์เฟอร์ฟรัส และเฟอร์ฟูรัล ซึ่งใช้ในผลิตภัณฑ์ยาส่วนหนึ่งของ บริษัทมีสินทรัพย์รวมในไตรมาสที่ ๑/๒๕๕๔ จำนวน ๑๔๗,๒๑๒.๖๖ ล้านบาท ในปี ๒๕๓๓ มีรายได้รวม๑๐๑,๖๕๑.๗๐ ล้านบาทและ  มีกำไรจากการดำเนินงาน จำนวน ๑๐,๕๖๐.๔๔ ล้านบาท มีธุรกิจเกี่ยวกับปิโตรเคมี ผลิตเส้นใยสังเคราะห์ โพลีไธลีน เทเรฟธาเลท (พีอีที), บริสุทธิ์กรด terphthalic (PTA) และขนแกะ อินโดรามาเวนเจอร์ส เป็นหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในแนวตั้งโซ่ผลิตโพลีเอสเตอร์รวมของโลกและผู้ผลิตชั้นนำของโลกเส้นด้ายขนสัตว์ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน http://www.set.or.th และ  http://th.wikipedia.org

๓.ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๗๘ :  พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ จะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับนั้นไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้

(๑) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้าดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา ๘๐

(๒) เมื่อพบบุคคลนั้น กำลังพยายามกระทำความผิดหรือพบโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่า ผู้นั้นจะ

กระทำความผิด โดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่น อันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด

(๓) เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นได้กระทำความผิดมาแล้ว และจะหลบหนี

(๔) เมื่อมีผู้ขอให้จับ โดยแจ้งว่าบุคคลนั้น ได้กระทำความผิด และแจ้งด้วยว่าได้ร้องทุกข์ไว้ตามระเบียบ

แล้ว

เมื่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่จับด้วยตนเองไม่ต้องมีหมาย แต่ต้องเป็นในกรณีที่ออก

หมายจับได้ หรือจับได้ตามประมวลกฎหมายนี้

๔.นิยามความหมาย

“สิ่งแวดล้อม : ลักษณะทางกายภาพและชีวภาพที่อยู่รอบตัวมนุษย์”

“คุณภาพสิ่งแวดล้อม : คุณภาพของธรรมชาติอันได้แก่สัตว์พืชและทรัพยากรธรรมชาติ…และสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ต่อการดำรงชีพของประชาชนและความสมบูรณ์สืบไปของมนุษยชาติ”

“มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม : ค่ามาตรฐานคุณภาพ…ซึ่งกำหนดเป็นเกณฑ์ทั่วไปสำหรับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพ”

“มลพิษ : ของเสีย วัตถุอันตราย แลมลสารอื่น ๆ รวมทั้งกากตะกอนหรือสิ่งตกค้างจากสิ่งเหล่านั้นที่ถูกปล่อยทิ้งจากแหล่งกำเนินมลพิษหรือที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อม….ซึ่งก่อให้เกิดหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือภาวะที่เป็นพิษภัยอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนได้ และให้หมายรวมถึง รังสี ความร้อน แสง เสียง กลิ่น ความสั่นสะเทือน หรือเหตุรำคาญอื่น ๆ ที่เกิดหรือถูกปล่อยจากแหล่งกำเนิดมลพิษ”

“ภาวะมลพิษ : ภาวะที่สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงหรือปนเปื้อนโดยมลพิษซึ่งทำให้คุณภาพของสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลง เช่นมลพิษทางน้ำ อากาศ ดิน”

“แหล่งกำเนิดมลพิษ : ชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม อาคาร สิ่งก่อสร้าง ยานพาหนะ….ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของมลพิษ”

“ของเสีย : ขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล น้ำเสีย อากาศเสีย มลสาร หรือวัตถุอันตรายใด ๆ ซึ่งถูกปล่อยหรือทิ้งหรือมีที่มาจากแหล่งกำเนินมลพิษ รวมทั้งกากตะกอน หรือสิ่งตกค้างจากสิ่งเหล่านั้นที่อยู่ในสภาพของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ”

“น้ำเสีย : ของเสียที่อยู่ในสภาพเป็นของเหลว รวมทั้งมวลสารที่ปนเปื้อนอยู่ในของเหลวนั้น”

“อากาศเสีย : ของเสียที่อยู่ในสภาพเป็นไอเสีย กลิ่นควัน ก๊าซ เขม่า ฝุ่นลอออง เถ้าถ่าน หรือมลสารอื่นที่มีสภาละเอียด บางเบาจนสามารถรวมอยู่ในอากาศได้”

“วัตถุอันตราย : วัตถุระเบิดได้ วัตถุไวไฟ วัตถุออกซิไดซ์และวัตถุเปอร์ออกไซด์ วัตถุมีพิษ วัตถุที่ทำให้เกิดโรค วัตถุ กัมมันตภาพรังสี วัตถุที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม วัตถุกัดกร่อน วัตถุที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง….หรือสิ่งอื่นใดที่ก่อให้เกิดอันตายแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม”

“เหตุรำคาญ : เหตุรำคาญตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข”

5. เจตนารมณ์ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 ระบุไว้ท้ายพระราชบัญญัติ ดังนี้

“หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังไม่มีมาตรการควบคุมและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างพอเพียงสมควรปรับปรุงใหม่โดย

(1) ส่งเสริมประชาชนและองค์กรเอกชนให้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

(2) จัดระบบการบริหารงานด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามหลักการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม

(3) กำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และราชการส่วนท้องถิ่นให้เกิดการประสานงาน และมีหน้าที่ร่วมกันในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและกำหนดแนวทางปฏิบัติในส่วนที่ไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบโดยตรง

(4) กำหนดมาตรการควบคุมมลพิษด้วยการจัดให้มีระบบบำบัดอากาศเสีย ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบกำจัดของเสีย และเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับมลพิษ

(5) กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อให้เกิดมลพิษให้เป็นไปโดยชัดเจน

(6) กำหนดให้มีมาตรการส่งเสริมด้านกองทุนและความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นการจูงใจให้มีการยอมรับที่จะปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

บรรณานุกรม

เอกสาร


กองวิชาการและแผน งานวิเคราะห์นโยบายและแผน. “ยุทธศาสตร์การพัฒนาเทศบาลตำบลแก่งคอย” .สำนักงานเทศบาลตำบลแก่งคอย.ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์

แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ” “กฎหมายสิ่งแวดล้อม’ 35 อย่าตัดตอนกระบวนการยุติธรรม” สืบค้นจาก www.prachatai.com Thu, 2005-06-23 /

ประวัติองค์กรเครือข่ายประชาชนตะวันออก http://www.easternnetwork.blogspot.com สืบค้นเมื่อ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๔

พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕

มหาเศรษฐีไทย 40 อันดับ ประจำปี 2553 http://www.exteen.com/signup สืบค้นเมื่อ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๔

ย้อนรอยปัญหามาบตาพุด กว่าจะมาถึงเขตควบคุมมลพิษ http://www.inau.mnre.go.th สืบค้นเมื่อ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๔

สุเจน กรรพฤทธิ์  “แก่งคอย : ผู้คน สายน้ำ ขุนเขา ใต้เงาหมอกควัน” นิตยสารสารคดี ฉบับที่ ๒๖๖ ปีที่ ๒๓ ฉบับเดือนเมษายน ๒๕๕๐ สืบค้นจาก www.sarakadee.com เมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๔

อภิณพ จันทวิทัน.“ตำนานเมืองแก่งคอย”. ๒๕๔๗ สระบุรี

http://www.set.or.th สืบค้นเมื่อ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๔

http://www.indoramaventures.com สืบค้นเมื่อ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๔

http://www.khaosod.co.th สืบค้น ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๔

ศาลแพ่งเปิด “แผนกคดีสิ่งแวดล้อม” ประเดิมคดีชาวบ้านสระบุรีฟ้องบ่อขยะ http://prachatai.com สืบค้น 1 กันยายน 2554

สัมภาษณ์

ประสิทธิ์ ดวงแก้ว ผู้ถูกจับกุมตามมาตรา ๑๐๑ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ๒๕๓๕

ประสิทธิ์ – สำลี อินทะโชติ  เจ้าของที่ดินในอำเภอแก่งคอยที่มีสายไฟฟ้าแรงสูง ของ กฟผ.และท่อก๊าซ ของ บริษัท ปตท.จำกัด พาดผ่าน ทั้งสองมีบ้านพักติดโรงไฟฟ้าแก่งคอย ๒

วัชรี เผ่าเหลืองทอง นักพัฒนาองค์กรเอกชน เมื่อ เมษายน ๒๕๕๔

สมคิด ดวงแก้ว แกนนำชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่งคอย เมื่อ เมษายน ๒๕๕๔

[1] องค์กรพัฒนาเอกชนสิ่งแวดล้อมที่ทำงานระดับสากล
[2] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน สุเจน กรรพฤทธิ์ “แก่งคอย : ผู้คน : สายน้ำ : ขุนเขา : ใต้เงาหมอกควัน” ใน www.sarakadee.com

[3] การกู้เรือเริ่มต้นโดยการบวงสรวงของผู้ว่าราชการจังหวัดอยุธยา

[4] ดูภาคผนวกที่ 5

[5] http://www.khaosod.co.th สืบค้น ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๔

[6] ดูลำดับการเข้ามาของโรงงานอุตสาหกรรมได้ในภาคผนวกที่ ๑

[7] กองวิชาการและแผน

[8] สัมภาษณ์เมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๔

[9] ดูภาคผนวกที่ ๒

[10] สุเจน กรรพฤทธิ์อธิบายในบทความ เรื่อง แก่งคอย : ผู้คน สายน้ำ ขุนเขา ใต้เงาหมอกควัน ว่า “โรงงานอินโดรามาเป็นโรงงานผลิตแอลกอฮอล์ ซึ่งปีหนึ่งใช้ซังข้าวโพดในการผลิตถึง ๖,๐๐๐ ตัน กรดซัลฟิวริก (กำมะถัน) ๒,๐๐๐ ตัน แคลเซียมไฮดรอกไซด์ (น้ำปูนใส) ๑,๕๕๐ ตัน เมทานอล ๒,๕๐๐ ตัน คะตะไลท์ (สารเร่งปฏิกิริยา) ๑๐ ตัน เพื่อผลิตเฟอฟูรัล เฟอฟูริลแอลกอฮอล์ กรดแอซีติก (น้ำส้มสายชู) และกรดฟอร์มิก (กรดกัดยาง) ซึ่งแน่นอนว่าสารเคมีบางตัวที่กล่าวไปนั้นมีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม”

[11] กำลังการผลิต นมา็ ๑,๔๖๘ เมกกะวัตต์ นั้นต้องใช้น้ำในแม่น้ำป่าสักวันละ ๕๔,๔๐๐ ลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ปล่อยน้ำเสียวันละ ๑๔,๔๐๐ ลูกบาศก์เมตร ปริมาณการใช้น้ำขนาดนั้นหมายความว่าการใช้น้ำของภาคเกษตรย่อมได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ในขณะที่ปริมาณน้ำเสียจะสมทบกับน้ำเสียจากโรงงานต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว  ในรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมยังระบุว่า โรงไฟฟ้านี้มีการปล่อยของเสียลงสู่แม่น้ำป่าสักปริมาณมากเช่น โลหะหนักอย่างสังกะสี โครเมียม ทองแดง แมงกานีส เมื่อคำนวณจากรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ชมรมอนุรักษ์ฯ พบว่า โลหะหนักเหล่านี้จะถูกปล่อยลงแม่น้ำป่าสักวันละ ๑๘๖ กิโลกรัม หรือปีละ ๖๖,๙๖๐ กิโลกรัม

[12] พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ ๒๕๔๒ และ พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 2511

[13] สัมภาษณ์สำลี อินทะโชติ เจ้าของที่ดินอำเภอแก่งคอยที่โดยแนวสายไฟแรงสูงและท่อก๊าซพาดผ่าน  สัมภาษณ์เมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๔

[14] ดูรายละเอียดใน “ย้อนรอยปัญหามาบตาพุด กว่าจะมาถึงเขตควบคุมมลพิษ” www.inau.mnre.go.th สืบค้นเมื่อ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๔

[15] สัมภาษณ์ ประสิทธิ์ ดวงแก้ว หนึ่งในผู้ต้องที่ถูกจับกุมด้วย มาตรา ๑๐๑ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.

15 มหาเศรษฐีไทย 40 อันดับ ประจำปี 2553 สืบค้นจาก http://www.exteen.com/signup

[17] www.paidoo.net/article สืบค้นเมื่อ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๔

[18] www.indoramaventures.com สืบค้นเมื่อ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๔

[19] มาตรา ๑๐๑ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ๒๕๓๕

[20] สัมภาษณ์สมคิด ดวงแก้ว หนึ่งในแกนนำที่ถูกออกหมายจับ

[21] สัมภาษณ์ วัชรี เผ่าเหลืองทอง องค์กรพัฒนาเอกชนด้านพลังงานทางเลือก ผู้มีบทบาทในการทำงานของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในจังหวัดสระบุรี เมื่อ  ๒๑มีนาคม ๒๕๕๔  และได้นำชาวบ้านเข้าปรึกษาข้อกฎหมายกับ ศ.พนัส ทัศนียานนท์ ที่บ้านพักภายหลังที่ชาวบ้านถูกจับกุม  ศ.มนัส ทัศนียานนท์ อธิบายว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ๒๕๓๕ เขียนขึ้นเนื่องจากมีปัญหาเรื่องการคัดค้านการก่อสร้างโรงงานแทนทาลัม ที่จังหวัดภูเก็ต

[22] ผู้เขียนเข้าร่วมการเสวนาเมื่อ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๘ วิทยากรผู้เข้าร่วมการเสวนา วสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ รศ.ณรงค์ ใจหาญ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประพจน์ คล้ายสุบรรณ ตุลาการศาลปกครอง ดำเนินการโดย สุรชัย ตรงงาม ทนายความสำนักงานกฎหมายมีสิทธิ์ ดูรายละเอียดในบทความเรื่อง “กฎหมายสิ่งแวดล้อม ๓๕ อย่าตัดตอนกระบวนการยุติธรรม”

[23] คำอธิบายของ รศ.จรัญ โฆษณานันท์ นักนิติปรัชญา ต่อการตีความที่คำนึงถึงลายลักษณ์อักษรในกฎหมายแต่ละฉบับมากกว่าจะคำนึงถึงเจตนารมย์ของกฎหมาย ดูรายละเอียดใน นิติปรัชญา

[24] ดูรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐

[25] ดูมาตรา ๗๘ ในภาคผนวกที่ ๓

[26] ๑.ส่งเสริมประชาชนและองค์กรเอกชนให้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

๒.จัดระบบการบริหารงานด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามหลักการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม

๓.กำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และราชการส่วนท้องถิ่นให้เกิดการประสาน และมีหน้าที่ร่วมกันในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและแนวทางปฏิบัติในส่วนที่ไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบโดยตรง

๔.กำหนดมาตรการควบคุมมลพิษด้วยการจัดให้มีระบบบำบัดอากาศเสีย ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบกำจัดของเสีย และเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับมลพิษ

๕.กำหนดให้มีมาตรการส่งเสริมด้านกองทุนและความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นการจูงใจให้มีการยอมรับที่จะปฏิบัติหน้าที่ในการักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงจำต้องตราพระราชบัญญัตินี้

[27] ดูภาคผนวกที่ ๔

[28] ดูเชิงอรรถที่ ๒๑

[29] ดูมาตรา ๗

[30] ดูมาตรา ๘ ข้อความขีดเส้นใต้โดยผู้เขียน

[31] ดูมาตรา ๑๒

[32] ดูมาตรา ๑๒

[33] ดูมาตรา ๑๓

[34] มาตรา ๕๒

[35] ดูมาตรา ๙

[36] ดูเชิงอรรถที่ ๑๔ และ ๑๕

[37] ดูมาตรา ๓๗

[38] มาตรา ๑๓ วรรค ๑

[39] มาตรา ๑๓(๓)

[40] มาตรา ๓๕

[41] มาตรา ๓๖ (๖)(๗)

[42] มาตรา ๓๘ (๕)

[43] มาตรา ๔๘

[44] ดูรายละเอียดในศาลแพ่งเปิดพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม  http://prachatai.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น