ชำแหละปตท.ทุ่มหมื่นล.ปลูกปาล์มอินโดฯ บริษัทร่วมทุนไล่กวาดฮุบที่ดินชาวบ้านอื้อ รุกพื้นที่ป่า-ก่อมลพิษ-ปลาหายจากแม่น้ำ
| |
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 24 กรกฏาคม 2555 | |
ปตท.ทุ่มเกือบ 1,000 ล้านบาท จดทะเบียนปตท.กรีนในสิงคโปร์ ก่อนใช้เงินอีกเกือบ 500 ล้านบาท กวาดหุ้น PT.MAR ไป 95 เปอร์เซนต์ ตั้งเป้าปลูกปาล์มให้ได้ 1 ล้านไร่ ขณะที่การขยายพื้นที่ทำลายระบบนิเวศของป่าทุกรูปแบบ ทั้งป่าดิบเขา ป่าลุ่มต่ำ ป่าพรุ และพื้นที่ชุ่มน้ำ ชาวพื้นเมืองถูกนายทุนรุกไล่ฮุบที่ดินไปเป็นของบริษัท และเจ้าของต้องมาเป็นลูกจ้าง ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย ทั้งดินที่เสื่อมคุณภาพเพราะปุ๋ยและสารเคมี ที่ยังถูกชะล้างลงไปในแม่น้ำสายเดียวที่ชาวบ้านใช้หล่อเลี้ยงชีวิต ทำให้ทุกวันนี้อาชีพประมงหายไป เพราะไม่เหลือปลาตามธรรมชาติอีกแล้ว
หลังจากผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าว TCIJ เดินทางไปยังประเทศอินโดนีเซีย เพื่อตรวจสอบพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันขนาดใหญ่ ที่เมืองปอนติอานัก จังหวัดกาลิมันตันตะวันตก พบว่ามีพื้นที่ปลูกปาล์มจำนวนมหาศาล โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอินโดนีเซีย เพื่อขายให้กับบริษัทน้ำมันหลายแห่งทั่วโลก และมีแผนขยายพื้นที่ออกไปอีกหลายล้านไร่ ก่อให้เกิดการทำลายพื้นที่ป่าฝนเขตร้อนที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งเป็นการทำลายระบบยนิเวศน์ที่ยิ่งใหญ่ของโลก และก่อมลพิษด้านต่าง ๆ จำนวนมากด้วย
‘คาปูอัส’ สายน้ำบนความเปลี่ยนแปลง
ความคืบหน้าเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการเดินทางล่องไปตามแม่น้ำคาปูอัส ซึ่งเป็นเส้นเลือดสายสำคัญของกาลิมันตันตะวันตก ล่องไหลจากหัวใจของบอร์เนียว สู่ท้องทะเลผ่านการเดินทาง 1,143 กิโลเมตร เมื่อแผ่นดินสองฝั่งแปรเปลี่ยนเป็นสวนปาล์ม สุขภาพของแม่น้ำสุ่มเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บที่ยากรักษา
ปัจจุบันบริเวณตอนต้นและตอนกลางของแม่น้ำ ได้รับผลกระทบจากสวนปาล์มค่อนข้างชัดเจน อันเป็นผลจากการสูญเสียพื้นที่ป่าให้กับสวนปาล์ม กล่าวถึงปริมาณน้ำ ยังไม่มีข้อมูลความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ชัดเจนในขณะนี้ แต่หากสันนิษฐานจากการลดลงของพื้นที่ป่า และความต้องการน้ำปริมาณมากของสวนปาล์ม ประเด็นนี้คงต้องติดตามดูต่อไปในอนาคต
แต่ผลกระทบที่ชัดเจนที่สุดคือ ตะกอนดินที่น้ำฝนพัดพาลงสู่แม่น้ำ เนื่องจากไม่มีผืนป่าคอยรักษาหน้าดิน ทำให้แม่น้ำคาปูอัสขุ่นข้นกว่าในอดีต ทว่า สิ่งที่น้ำฝนพาลงแม่น้ำมิใช่ดินเพียงอย่างเดียว แต่ปุ๋ยและสารเคมีที่ใช้ในการปลูกปาล์ม ในปริมาณที่ไม่มีใครตรวจสอบได้ ยังถูกชะล้างลงไปกับดินลงสู่แม่น้ำด้วย ส่งผลร้ายแรงต่อระบบนิเวศและสัตว์ที่อาศัยอยู่ร่วมกับแม่น้ำ เกิดการสะสมสารเคมีในห่วงโซ่อาหาร ยังไม่นับรวมของเสียจากการผลิตน้ำมันปาล์ม ที่ทุกๆ 1 ตัน จะปล่อยของเสีย 2.5 ตัน
การปนเปื้อนปุ๋ยและยาฆ่าแมลงส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำ เช่น ปลาอะโรวานาแดง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จากการถูกจับไปขาย เนื่องจากมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 340 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือประมาณ 17,000 บาท ปลา Toman ที่มีราคาถึงกิโลกรัมละ 17 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือ 850 บาท ในตลาดมาเลเซีย นอกจากนี้ พืชน้ำที่เติบโตในทะเลสาบเซนทารัม ยังเป็นที่อยู่อาศัยของผึ้ง และน้ำผึ้งก็เป็นแหล่งรายได้หนึ่งของชุมชนในท้องถิ่นด้วย
เปิดพื้นที่ปลูกปาล์มกระทบต่อระบบนิเวศทุกรูปแบบ
แม่น้ำคาปูอัสคือแม่น้ำสายหลักของพื้นที่ลุ่มน้ำคาปูอัส ไหลไปออกทะเลชวาทางด้านทิศตะวันตกของเกาะบอร์เนียว พื้นที่ลุ่มน้ำคาปูอัสแบ่งเป็น 3 ระบบ คือ แม่น้ำคาปูอัสตอนบน ประกอบด้วยระบบนิเวศ 3 ระบบ ได้แก่ ป่าดิบเขา (Montane Forest), ป่าพรุ (Peat Swamp Forest) และ ป่าลุ่มต่ำ (Lowland Forest) ซึ่งมีความสำคัญต่อการควบคุมพื้นที่ลุ่มน้ำจากน้ำท่วม การพังทลายของหน้าดิน และรักษาระดับน้ำให้คงที่ การเปิดพื้นที่ส่วนนี้เป็นสวนปาล์มไม่ส่งผลดีต่อลุ่มน้ำคาปูอัส
ระบบที่ 2 คือแม่น้ำคาปูอัสตอนกลาง เป็นพื้นที่ป่าที่ขึ้นบนหินทรายและโคลน หากเกิดการทำลายป่าบริเวณนี้จะก่อให้เกิดการชะล้างของหน้าดินจำนวนมากลงสู่แม่น้ำ และส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อผู้คนและระบบนิเวศของแม่น้ำตอนล่าง
ระบบสุดท้ายคือ แม่น้ำคาปูอัสตอนล่าง ครอบคลุมพื้นที่ป่าลุ่มต่ำ และพื้นที่ชุ่มน้ำ จนถึงบริเวณชายฝั่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น การพัฒนาใดๆ ในพื้นที่ส่วนนี้ จึงจำเป็นต้องผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้าน ปัจจุบันสวนปาล์มส่วนใหญ่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ของแม่น้ำคาปูอัสตอนกลาง
Sumantri จาก WALHI หรือ Friends of Earth Indonesia เปิดเผยว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำในแม่น้ำคาปูอัสลดลงทั้งตอนเหนือและตอนล่าง ในหน้าแล้งระดับน้ำจะลดลงจนเห็นได้ชัด นอกจากเป็นผลจากการทำลายป่าแล้ว ส่วนหนึ่งเพราะบริษัทปาล์มจะขุดคลองจากแม่น้ำหรือลูกแม่น้ำ เข้าสู่พื้นที่ของตัวเอง ประกอบกับดินที่ผ่านการใช้งานกรำปุ๋ยกรำสารเคมีทำให้ดินแข็ง ผืนดินจึงไม่สามารถกักเก็บน้ำเอาไว้ได้
จากการสำรวจพื้นที่สัมปทานปลูกปาล์มของกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ในอำเภอ Kapuas Hulu ซึ่งอยู่ทางต้นแม่น้ำคาปูอัส พบว่า พื้นที่ปลูกปาล์มเกือบทั้งหมด มีแม่น้ำทั้งสายเล็กและใหญ่ไหลผ่านพื้นที่ Sumantri ยังบอกด้วยว่า นับจากปี 2000 สวนปาล์มเริ่มขยายพื้นที่มาทางปลายน้ำมากขึ้น
ทำไมต้องเป็นบริษัท PT.MAR
กฎหมายอินโดนีเซียจำกัดพื้นที่ปลูกปาล์มไว้บริษัทละ 20,000 เฮกตาร์ หรือ 125,000 ไร่ หลายบริษัทจึงตั้งบริษัทลูก เพื่อขอสัมปทานเพิ่มขึ้น เช่น Sinar Mar Group ยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของอินโดนีเซีย แน่นอนว่า หากเปรียบ Sinar Mar Group กับ PT Mitra Aneka ReZeki หรือ PT.MAR แล้ว PT.MAR เป็นเพียงบริษัทเล็ก ๆ ในธุรกิจปาล์มน้ำมัน แต่ในวงจรปัญหา PT.MAR ก็มีที่ทางของตนบนสังเวียนความขัดแย้งกับชาวบ้านในพื้นที่
ปตท.ทุ่มเกือบพันล้าน จดทะเบียนปตท.กรีนในสิงคโปร์
ระหว่างปี 2007-2008 ราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทั่วโลกต่างเสาะแสวงหาแหล่งพลังงานทดแทนที่มีราคาถูกกว่า นั่นคือโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) ยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมพลังงานของไทย ภายใต้การนำของ ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ขณะนั้น ไม่ยอมพลาดโอกาส กันยายน 2007 ปตท. ก่อตั้งบริษัท ปตท.กรีน เอ็นเนอร์ยี่ หรือ PTT.GE ขึ้น โดยจดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์ เพื่อเป็นตัวแทนลงทุนในต่างประเทศในโครงการพัฒนาธุรกิจปาล์มและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชีย เพื่อรองรับความต้องการของตลาดโลก โดยมีทุนจดทะเบียน ณ ขณะนั้น 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 942.5 ล้านบาท
ซื้อกิจการ PT.MAR อีกเกือบ 500 ล้านบาท
ปีเดียวกัน ปตท.กรีน ประเดิมธุรกิจใหม่ด้วยการเข้าซื้อกิจการของ PT.MAR ด้วยเงิน 14.725 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 490 ล้านบาท ครอบครองหุ้น 95 เปอร์เซ็นต์
ภาสกร ศรีศาสตรา ผู้จัดการฝ่ายบริหารกลยุทธ์และงบประมาณ บริษัท ปตท.กรีน จำกัด เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์ของปตท.คือ การสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแก่ประเทศไทย การหาพลังงานทดแทนน้ำมันจึงมีความสำคัญในอนาคต ปาล์มคือพืชพลังงานที่มีความเหมาะสม
“ปตท.มองว่าธุรกิจนี้จะเป็นธุรกิจที่สำคัญในอนาคต ถ้าไม่เข้าไปเริ่มวันนี้ เดี๋ยวจะสายเกินไป เพราะมันจำเป็นต้องใช้เวลาปลูก และเมื่อได้น้ำมันปาล์มดิบ ก็ยังต้องมีกระบวนการอื่นๆ อีก ถ้าเราไม่มีประสบการณ์มาก่อน จะไม่ทัน เราจึงไปเริ่มเพื่อให้มีประสบการณ์และเตรียมความพร้อมไว้ก่อน”
การเลือกอินโดนีเซีย และ PT.MAR ภาสกรให้เหตุผลว่า ช่วงปีสองปีหลัง อินโดนีเซียก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของโลก ในฐานะผู้ผลิตปาล์มน้ำมัน เนื่องจากมีศักยภาพการผลิต มีพื้นที่ปลูกจำนวนมาก มีสภาพภูมิอากาศเหมาะสม รัฐบาลอินโดนีเซียก็ให้การสนับสนุน จึงคาดว่าน่าจะมีต้นทุนการปลูกไม่สูงนัก
“ที่เลือก PT.MAR ของอินโดฯ ผมมองว่า หนึ่ง-ตอนนั้นเราต้องการหุ้นส่วนที่ค่อนข้างมีประสบการณ์ ผมคิดว่าตอนที่ปตท.เข้าไปคุย เห็นว่า PT.MAR ค่อนข้างมีศักยภาพในพื้นที่ที่สามารถเป็นพี่เลี้ยงให้เราได้ในช่วงเริ่มต้น ถ้าเรามีประสบการณ์เมื่อไหร่ ก็จะสามารถดำเนินการได้เอง ผมมองว่า PT.MAR เป็นผู้มีประสบการณ์ เชี่ยวชาญ และมีศักยภาพด้านพื้นที่”
วางแผนปลูกปาล์มให้ครบ 1 ล้านไร่
ภาสกรให้ข้อมูลว่า เฉพาะที่กาลิมันตัน ปัจจุบัน ปตท.กรีน มีพื้นที่ที่มีศักยภาพ และคาดว่าจะได้ใบอนุญาตครองสิทธิ์ครบประมาณ 160,000 เฮกตาร์ หรือ 1 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ที่ปลูกปาล์มแล้ว 22,000 เฮกตาร์ หรือ 137,500 ไร่ อยู่ในปอนติอานัก 14,000 เฮกตาร์ หรือ 87,500 ไร่ ภายใต้การดูแลของ PT.MAR
อย่างไรก็ตาม จากฐานข้อมูลของ Walhi Friend of Earth Indonesia ระบุว่า พื้นที่ปลูกปาล์มของ PT.MAR ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำคาปูอัส ในเขตอำเภอ Kubu Raya ซึ่งอยู่ทางใต้ติดกับปอนติอานัก กินพื้นที่ 18,199 เฮกตาร์ หรือ 113,743.75 ไร่ ทอดตัวไปตามลำน้ำเป็นระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร มีหมู่บ้านอยู่ในพื้นที่นี้ 6 หมู่บ้าน
เมื่อเดินทางพร้อมเอ็นจีโอจาก Link-AR Borneo Circle of Advocacy and Research ล่องตามลำน้ำคาปูอัสไปยังหมู่บ้าน Pinang Dalam Denni ชี้ให้ดูทางฝั่งขวาของแม่น้ำพร้อมกับบอกว่า แนวต้นไม้ตามธรรมชาติ ที่ขึ้นตามริมฝั่งช่วยหลบเร้นแนวต้นปาล์มสุดลูกหูลูกตาของ PT.MAR เอาไว้เบืองหลัง
‘ดิน-น้ำ’ การต่อรองบนอำนาจที่ไม่เท่าเทียม
ภาสกรอธิบายว่า ก่อนเข้าซื้อที่ดินต้องตรวจดูศักยภาพของพื้นที่ เก็บตัวอย่างดินไปตรวจสอบ ว่าเหมาะกับปาล์มหรือไม่ เป็นดินชนิดใด ประกอบกับการใช้ภาพถ่ายดาวเทียม ตรวจดูความลาดชันของพื้นที่ การคัดเลือกพื้นที่จึงเป็นเรื่องสำคัญ พื้นที่ใดลงทุนต่ำ บริษัทจะปลูกในพื้นที่นั้นก่อน หลังจากพิจารณาศักยภาพพื้นที่ จึงตรวจดูผลผลิตต่อพื้นที่ว่าได้มาตรฐานหรือไม่ หากดูแลตามมาตรฐาน ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามเงื่อนไข ทางบริษัทจึงจะเข้าซื้อ
“เมื่อซื้อแล้ว เราก็จะดูรายละเอียด ทำระบบน้ำ ต้องดูรายละเอียดการเตรียมพื้นที่ก่อนปลูก พื้นที่ที่ใช้เพาะต้นกล้าควรอยู่ใกล้น้ำ เพราะน้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญ ปาล์มต้องการน้ำที่เพียงพอ ที่อินโดฯ มีสภาพภูมิประเทศที่เหมาะ มีปริมาณน้ำฝนเพียงพอ” คือการวางแผนอันยุ่งยากของธุรกิจสวนปาล์มที่ภาสกรอธิบายให้ฟัง
ดูเหมือนว่าทรัพยากรสำคัญที่ PT.MAR และชาวบ้าน 6 หมู่บ้านต้องใช้ร่วมกันคือดินกับน้ำ แต่การใช้ทรัพยากรร่วมกัน บนฐานอำนาจการต่อรองที่แตกต่างกันอย่างมหาศาล ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ชาวบ้านถูกนายทุนรุกไล่ฮุบที่ดิน
จากการลงพื้นที่หมู่บ้าน Pinang Dalam และ Kampung Baru ความขัดแย้งที่คุกรุ่นระหว่างชาวบ้านกับ PT.MAR คือ ประเด็นการแย่งยึดที่ดินเป็นหลัก Denni บอกว่า การครอบครองที่ดินของอินโดนีเซียยังไม่มีระบบที่ชัดเจน ใครที่ถือครองและทำประโยชน์ในที่ดินเกิน 5 ปี ถือว่าเป็นผู้ครอบครองที่ดินผืนนั้นโดยปริยาย แต่ไม่มีการออกเอกสารสิทธิ์ เพื่อยืนยันสิทธิของชาวบ้านในที่ดิน จึงมีช่องว่างอันกว้างใหญ่ ที่ทำให้ที่ดินหลุดจากมือชาวบ้าน โดยเฉพาะที่ Kampung Baru พื้นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน กลายเป็นของ PT.MAR โดยที่ชาวบ้านไม่ได้ยินยอมยกให้ ความขัดแย้งนี้จึงยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2009 ถึงปัจจุบัน
Syarif Bujang Asegat อดีตผู้ใหญ่บ้าน วัย 62 ยกตัวอย่างว่า “คนของ PT.MAR ที่เป็นชาวอินโดนีเซียจะส่งข่าวไปบริษัทในเมืองไทยว่า ชาวบ้านยกที่ดิน 1,000 เฮกตาร์ หรือ 6,250 ไร่ ให้แก่บริษัท และขอให้โอนเงินมาเพื่อซื้อที่ดิน ทั้งที่ชาวบ้านไม่ได้ยินยอม ซึ่งกรณีนี้ผมไม่สามารถหาหลักฐานยืนยันได้ว่า ปตท.กรีน รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นหรือไม่ ขณะที่ผลกระทบต่อสายน้ำ ยังเป็นสิ่งที่ห่างไกลความสนใจของชาวบ้าน แต่ใช่ว่าไม่มีและใช่ว่าชาวบ้านจะไม่สังเกตเห็น”
นอกจากนี้ปริมาณน้ำในแม่น้ำคาปูอัสลดลง จากการขุดคลองเข้าสวนปาล์มของบริษัท และการหายไปของพื้นที่ป่า ผืนดินที่เคยมีชีวิตกลายสภาพเป็นดินแข็ง ๆ ไร้ศักยภาพในการกักเก็บน้ำ น้ำฝนไหลผ่านสวนปาล์มอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีป่าไม้คอยดูดซับจึงพัดพาหน้าดินไปด้วย
ที่หมู่บ้าน Pinang Dalam และ Kumpung Baru มีการขุดคลองรับน้ำจากแม่น้ำเข้าสู่หมู่บ้าน สำหรับใช้อุปโภคบริโภค Jumain มีอาชีพประมงและเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 ที่ Pinang Dalam ภรรยาของเขาทำงานกับ PT.MAR เล่าว่า พื้นที่สวนปาล์มของ PT.MAR ที่เข้าในพื้นที่เมื่อ 5 ปีก่อน เดิมทีเป็นพื้นที่ป่าของชุมชน
“ระยะหลังน้ำท่วมมากขึ้นเพราะไม่มีป่า ปาล์มไม่กักน้ำ เมื่อฝนตกน้ำก็ชะดินมาด้วย ทำให้คลองตื้นเขิน ถ้าไม่มีการขุดลอกจะทำให้คลองของหมู่บ้านตายในที่สุด”
เขายังเล่าอีกว่า อาชีพก่อนหน้าของชาวบ้านคือ การทำสวนและประมง กระทั่ง PT.MAR เข้ามา ชาวบ้านจำนวนมากจึงไปทำงานกับ PT.MAR ด้วยความจำเป็น เพราะที่ดินที่เคยเป็นสวนกลายเป็นของบริษัทไปแล้ว โดยไม่ได้รับเงินชดเชยใดๆ
ถูกบีบให้ทำงานกับบริษัท เพราะที่ดินทำกินหายไป
ด้าน Uurlaila Nurlaila คนงานของ PT.MAR มีหน้าที่ดูแลต้นไม้และถางหญ้า ทำงานตั้งแต่ 06.00-10.00 น. ได้ค่าจ้างวันละ 36,000 รูเปี๊ยะห์ เธอบอกตรงกับ Jumain ว่า สวนปาล์มของ PT.MAR เป็นพื้นที่ป่ามาก่อน แต่เธอคิดว่า PT.MAR คือผู้หยิบยื่นงานและรายได้ให้แก่หมู่บ้าน และไม่มีผลกระทบใดๆ เกิดขึ้น
“ดีด้วยซ้ำ ตั้งแต่ PT.MAR มาที่นี่ ชาวบ้านฐานะดีขึ้น มีงานทำ มีมอร์เตอร์ไซค์ขับบ้านละคันสองคัน ที่ทำงานมาก็โอเค ไม่ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ ไม่มีความขัดแย้งอะไร ไม่รู้ว่าอะไรคือปัญหา”
Uurlaila Nurlaila ยังให้ข้อมูลว่า เธอแค่ถางหญ้ากับดูแลต้นปาล์มเท่านั้น ไม่ต้องรดน้ำ เนื่องจากน้ำไปถึง ประเด็นนี้สอดคล้องกับที่ภาสกรบอกกับผมว่า
“เราไม่ต้องเอามารดเลย เพราะที่ดินที่เราครอบครอง ส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำฝนเพียงพออยู่แล้ว ลองนึกภาพว่า ถ้าเราเอาน้ำไปรดทั้งหมดก็มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง เราไม่สามารถผลิตแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่เพื่อรองรับน้ำได้ ดังนั้นพื้นฐานของพื้นที่คือให้ฝนตกลงมาในดินที่มีความอุ้มน้ำเหมาะสม มีระดับน้ำเฉลี่ยต่อปีพอเหมาะอยู่แล้ว”
ระหว่างที่ Uurlaila Nurlaila พูดเรื่องนี้ Denni บอกว่า บริษัทขุดคลองจากแม่น้ำเข้าไปในพื้นที่ลักษณะเป็นรูปตารางหมากรุก แต่ละช่องกินพื้นที่ประมาณ 1 เฮกตาร์ เพื่อป้อนน้ำให้แก่ปาล์ม
ปลาหายไปเมื่อแม่น้ำเต็มไปด้วยปุ๋ยและสารเคมี
เมื่อถาม Uurlaila Nurlaila ว่า มีการใส่ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงแก่ต้นปาล์มหรือไม่ เธอตอบว่า มี แต่ไม่รู้ปริมาณและความถี่ ประเด็นนี้ ภาสกรเคยอธิบายเช่นกันว่า การให้ปุ๋ยต้นปาล์มจะมีมาตรฐานว่า ต้นหนึ่งต้องการปุ๋ย 8 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพดิน ซึ่งเป็นรายละเอียดเฉพาะของแต่ละพื้นที่ ส่วนศัตรูพืชโดยธรรมชาติมีอยู่แล้ว แต่การลงทุนกับยากำจัดศัตรูพืชเป็นเรื่องลำบากเพราะพื้นที่มีขนาดใหญ่ ส่วนมากจะใช้ระบบควบคุมโดยธรรมชาติ แต่ศัตรูพืชไม่ใช่ปัญหาหลัก
แต่เมื่อสิ่งที่ติดไปกับดินด้วยคือ ปุ๋ยและสารเคมี หากดูจากแผนที่จะพบว่า ในบริเวณนั้น สวนปาล์มของ PT.MAR ติดกับแม่น้ำคาปูอัสมากกว่าสวนปาล์มของบริษัทอื่น อย่างไรก็ตาม คงไม่เป็นธรรมนัก หากจะกล่าวว่า ปุ๋ยและสารเคมีที่ไหลลงสู่แม่น้ำคาปูอัสคือความรับผิดชอบของ PT.MAR เพียงแห่งเดียว
เมื่อแม่น้ำป่วยไข้ สิ่งมีชีวิตที่ในแม่น้ำคงยากที่จะมีสุขภาพดี Jumain บอกว่า ตอนนี้คนที่ทำอาชีพประมงในหมู่บ้านลดลงแล้ว หันไปทำงานกับ PT.MAR ไม่เพียงเท่านั้น ปลาในแม่น้ำยังลดลงกว่าแต่ก่อนด้วย เขาเชื่อว่าเป็นเพราะปุ๋ยและสารเคมีที่ไหลลงสู่แม่น้ำคาปูอัส
“ก่อนบริษัทเข้ามา ได้จับปลามีกิน มีขาย แต่พอบริษัทเข้ามา แค่จับกินยังไม่ได้ ตอนนี้ไม่มีปลาจะขาย”
ความขัดแย้งระหว่างสิ่งที่ได้รับกับมลพิษอะไรคุ้มกว่ากัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างชาวบ้านแห่ง Kampung Baru สภาพปัญหาค่อนข้างแตกต่าง และเข้าใกล้ตัวชาวบ้านมากกว่าที่ Pinang Dalam สำหรับ Saudin MZ หากยกกรณีการแย่งยึดที่ดินชาวบ้านออกไป เขามอง PT.MAR ในแง่ดีว่า ช่วยทำให้หมู่บ้านพัฒนาขึ้นกว่าเมื่อก่อน ทั้งยืนยันว่า ไม่มีผลกระทบใด ๆ จากปุ๋ยและสารเคมีต่อแม่น้ำหรือคลองในหมู่บ้าน เพราะสวนปาล์มอยู่ไกลจากแม่น้ำมาก ซึ่งประเด็นเรื่องระยะทางนี้ จากการนั่งรถของชาวบ้านไปยังบริเวณสวนปาล์มของ PT.MAR พบว่า ห่างจากแม่น้ำเพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ความไกล-ใกล้คงเป็นมุมมองเฉพาะตนที่แล้วแต่ใครจะมอง
Hefni ผู้ใหญ่บ้าน Kampung Baru ออกไปทำธุระส่วนตัว ขณะที่พวกเราไปถึง จึงต้องรออยู่ครู่ใหญ่ ชาวบ้านคนหนึ่งที่รู้ว่าเรามาทำอะไร แอบบอกว่า ผู้ใหญ่บ้านเป็นคนหนึ่งที่สนับสนุน PT.MAR ซึ่งเมื่อเทียบกับคำตอบของผู้ใหญ่บ้านค่อนข้างทำให้เราแปลกใจ
หากจุดยืนของ Hefni เป็นดังที่ชาวบ้านผู้นั้นบอก ไม่แปลกที่ Hefni บอกกับเราว่า ชาวบ้าน Kampung Baru ให้การสนับสนุน PT.MAR และตั้งแต่ PT.MAR เข้ามา ก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่พอเราถามเกี่ยวกับปุ๋ยและสารเคมี คำตอบกลับเปลี่ยนไป Hefni บอกว่า บริษัทใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ย เมื่อฝนชะดินลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้ชาวบ้านที่ใช้น้ำในคลองของหมู่บ้านอาบน้ำมีอาการคันและอักเสบ
“สรุปได้ว่ามาจากสารเคมี เพราะที่นี่ไม่มีอะไรที่จะปล่อยสารเคมีได้ ก่อนที่จะมี PT.MAR ไม่เคยมีอาการคัน เคยไปหาหมอ หมอบอกเกิดจากสารเคมีในแม่น้ำ” Hefni ยืนยัน
ทุกวันนี้ชาวบ้าน Kampung Baru ยังคงใช้น้ำจากแม่น้ำคาปูอัสดื่มกิน เราถามว่า รู้แบบนี้แล้วไม่กลัวสารเคมีหรือ Hefni ตอบว่าไม่กลัว เพราะน้ำในแม่น้ำไหลเชี่ยว เขาและชาวบ้านจึงคิดว่า สารเคมีคงถูกพัดไปตามกระแสน้ำ ก่อนที่จะได้ตักมาใช้ แต่นอกเหนือจากเหตุผลเรื่องความเชี่ยวกรากของสายน้ำแล้ว คำตอบสุดท้ายของ Hefni กลับสะท้อนความเป็นจริงในชีวิตมากกว่า Hefni ตอบในทำนองว่า จะทำอะไรได้ ในเมื่อพวกเขา...
คำนวนปาล์ม 1 แสนต้นใช้ปุ๋ยปีละ 8,000 ตัน
เมื่อถามว่า แล้วมีอะไรที่เขาเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสายน้ำคาปูอัสหรือไม่ คำตอบที่ได้จากการสังเกตของเขาคือ ฤดูฝนมีน้ำมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน เขาให้เหตุผลว่า เพราะป่าถูกตัดทำให้น้ำไหลลงมามากขึ้น
ภายหลังการพูดคุยกับ Hefni ชาวบ้านคนหนึ่งอาสาพาพวกเราไปดูพื้นที่ปลูกปาล์มของ PT.MAR ด้านซ้ายของเราเป็นที่ดินโล่งๆ กับกล้าปาล์มจำนวนมาก ขณะที่ด้านขวา หากไม่นับพื้นที่ส่วนของสำนักงาน PT.MAR กับถนนแล้ว ที่เหลือคือต้นปาล์มสุดลูกหูลูกตา จนไม่สามารถคำนวณได้ว่า พื้นที่ 18,199 เฮกตาร์จะสามารถปลูกปาล์มได้กี่ต้น สมมติว่า ถ้ามีต้นปาล์ม 100,000 ต้น แต่ละต้นใช้ปุ๋ยโดยเฉลี่ย 8 กิโลกรัมต่อต้นต่อปีตามที่ภาสกรบอก หมายความว่า 1 ปี ต้องใช้ปุ๋ยถึง 8,000 ตัน ยังไม่นับสารเคมีที่ต้องใช้ประกอบว่ามีมากน้อยเพียงใด นั่นเท่ากับว่า ผืนดินที่ต้องแบกรับปุ๋ย 8,000 ตันต่อปี จะเป็นเช่นไรคงไม่จำเป็นต้องเอ่ยถึง ผลเสียจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปอยู่แล้ว คำถามคือจะมีปุ๋ยกี่เปอร์เซ็นต์ที่ถูกชะล้างลงสู่แม่น้ำ
|
คนไทยก้อเป็นแบบที่เป็น ลืมง่าย แค้นสั้น หลงกระแส ชอบแห่ทำตามๆกัน เชื่อตามๆกัน คิดตามๆกัน ชอบดูละครน้ำเน่า ชอบดูตลก ชอบดูเกมโชว์ ...
วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2558
ชำแหละปตท.ทุ่มหมื่นล.ปลูกปาล์มอินโดฯ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น