ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในขณะที่ประเทศไทยเราได้จัดเวทีถาม-ตอบปฏิรูปพลังงานซึ่งสร้างความสนใจให้กับประชาชนได้มากพอสมควร แต่ในต่างประเทศก็มีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับพลังงานด้วยเหมือนกัน บางเหตุการณ์มีความสำคัญมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลกเลยทีเดียวผมจะนำมาเล่าพร้อมด้วยภาพสวยๆ ในที่นี้ครับ แต่ก่อนจะไปตรงนั้น ผมขออนุญาตออกความเห็นเกี่ยวกับเวทีถาม-ตอบของเราคนไทยสักนิดครับ สิ่งแรกคือการออกแบบเวที เนื่องจากเรื่องพลังงานเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเกี่ยวพันกันหลายมิติตั้งแต่ระดับปรัชญาหรือแนวคิดไปจนถึงระดับข้อมูล ข้อเท็จ-จริงเชิงตัวเลข ดังนั้นการถาม-ตอบเป็นข้อๆ ในเวลาอันสั้นจึงเป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจได้อย่างรอบด้านและครบถ้วน เรื่องพลังงานไม่ได้เป็นเรื่องเดียวโดดๆ แต่มันเกี่ยวข้องกับเรื่องสำคัญใหญ่ๆ ของมนุษย์ 5 เรื่องด้วยกันอย่างแยกจากกันไม่ได้เลยทีเดียว คือ หนึ่ง เป็นประเด็นด้านประชาธิปไตยที่มีหัวใจอยู่ที่การกระจายอำนาจแต่ไม่ว่าถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ (ที่ยกมาเสวนากันบนเวทีนั้น) เป็นพลังงานที่มาจากการผูกขาดที่คนจำนวนน้อยในโลกและในประเทศเท่านั้น ที่สามารถเข้าไปเอามาใช้และกำหนดราคาได้ตามอัธยาศัยดังนั้น จึงเป็นแหล่งพลังงานที่เป็นเผด็จการโดยอัตโนมัติ ในขณะที่พลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานที่กระจายอยู่ทั่วไป อยู่บนหลังคาบ้านเราทุกคน เป็นพลังของคนท้องถิ่น พลังงานของชุมชนดังนั้น จึงเป็นแหล่งพลังงานที่เป็นประชาธิปไตยโดยอัตโนมัติ สอง เป็นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ทั้งระดับท้องถิ่นใกล้แหล่งผลิตจนถึงระดับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศโลกซึ่งเป็นประเด็นที่ภาคประชาชนทั่วโลกได้ลุกขึ้นมาเตือนผู้นำโลก (ตามที่ผมจะเล่าให้ฟัง) ผมเองได้มีโอกาสเยี่ยมชาวบ้านใกล้หลุมเจาะสำรวจปิโตรเลียมในภาคอีสานหลายหมู่บ้าน ชาวบ้านหลายคนล้มป่วย ปากเบี้ยว เป็นลม เป็นผื่นคัน แขนขาอ่อนแรงจากก๊าซพิษ ยังไม่นับชาวบ้านแม่เมาะหลายร้อยคนทั้งที่เสียชีวิตไปแล้วและกำลังทรมานจากพิษโรงไฟฟ้าถ่านหิน นอกจากนี้ อย่างที่เราทราบกันดีแล้วว่า การเผาพลังงานฟอสซิลเป็นต้นเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิด “โลกร้อน” ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติมากขึ้นทั่วโลก ซึ่ง “แม้คนจะไม่ชอบ แต่ยุงและโรคระบาดชอบมาก” สาม เป็นประเด็นการพัฒนาซึ่งในระยะหลังๆ ได้ถูกลากจูงไปให้เน้นที่การใช้พลังงานฟอสซิลที่พ่อค้าผูกขาดเป็นส่วนประกอบหลัก แทนที่จะเน้นที่การพัฒนาทางจิตวิญญาณและวัฒนธรรมที่ใช้พลังงานน้อยแต่นำมนุษย์ไปสู่ความสุขที่ยั่งยืนได้ การพัฒนาในลักษณะนี้ได้ทำให้พ่อค้าพลังงานสามารถกอบโกยกำไรมหาศาล พร้อมกับกีดกันเชิงนโยบายต่อพลังงานหมุนเวียน ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่กว้างมากขึ้นๆ ความเหลื่อมล้ำยิ่งมากขึ้น ยิ่งทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันของมนุษย์น้อยลง สี่ เป็นประเด็นสิทธิมนุษยชนพลันที่พ่อค้าสามารถสร้างนโยบายพลังงานของรัฐได้แล้วพวกเขาก็ใช้กลไกและเครื่องมือของรัฐที่เป็นช่องโหว่เพื่อกีดกันผู้ได้รับผลกระทบออกจากกระบวนการ เช่น หลอกชาวบ้านให้เซ็นชื่อเพื่อรับกระเป๋า แล้วนำเอกสารไปอ้างว่าเห็นด้วยกับโครงการ ปล่อยน้ำเสียลงคลองสาธารณะซึ่งเป็นแหล่งหากินของชาวบ้าน ล่าสุดมีการนำของเสียไปทิ้งชายหาดซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ เป็นต้น ซึ่งหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบกลับมองไม่เห็น สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส (องค์ปัจจุบัน) ตรัสว่า “สิทธิมนุษยชนไม่ได้ถูกละเมิดโดยการก่อการร้าย การข่มขู่และการลอบสังหารเท่านั้น แต่เป็นการละเมิดทางโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่ยุติธรรม ซึ่งนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำอย่างมหาศาลด้วย” ห้าเป็น ประเด็นการก่อสงครามในขณะที่ชาวโลกลุกขึ้นมาเรียกร้องให้ผู้นำประเทศทั่วโลกหันมาแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนอย่างจริงจังได้ไม่กี่ชั่วโมง สหรัฐฯ ก็ยิงขีปนาวุธเข้าไปในประเทศซีเรียด้วยข้ออ้างที่ว่า “ต่อต้านการก่อการร้าย” ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เรายังไม่ทราบชัด แต่ในกรณีสงครามอิรักซึ่งรัฐบาลอเมริกันอ้างว่าเป็นผู้สะสมอาวุธนิวเคลียร์ร้ายแรงแต่ชาวอเมริกันระดับประธานกองทุนกลางของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาเอง (Alan Greenspan) ได้เปิดเผยในภายหลังว่า “สงครามอิรักเป็นเรื่องของน้ำมัน” (‘Iraq war is largely about oil’) นอกจากนี้ ข้อมูลประจักษ์ชัดว่า หลังการก่อสงครามแต่ละครั้งพ่อค้าน้ำมันจะได้กำไรมหาศาลทุกครั้งจากราคาน้ำมันดิบที่พุ่งสูงขึ้น มันเป็นการสมคบคิดของคนที่เป็นผู้นำโลกและพ่อค้าน้ำมันซึ่งสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ในขณะที่ค่าใช้จ่ายจากสงครามเป็นเงินภาษีของประชาชน บางท่านอาจจะรู้สึกว่าผมนำเรื่องไกลตัวมาพูด แต่ผมยืนยันว่าเป็นเรื่องที่กระทบต่อราคาพลังงานอย่างชัดเจน ที่พ่อค้าน้ำมันทั้งที่เป็นบริษัทต่างชาติที่ได้รับสัมปทาน (ซึ่งเป็นระบบเมืองขึ้น) ได้โกยกำไรมหาศาลรวมทั้งบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ด้วย จากข้อมูลในรายงานของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเอง เราสามารถคำนวณเองได้ว่า (รายงานไม่ได้คำนวณให้ เพราะต้องการจะหลอกให้คนไทยหลง) ในปี 2555 บริษัทรับสัมปทานปิโตรเลียมในประเทศไทยได้กำไรสุทธิ (หลังจากหักทุกอย่างออกไปแล้ว) ถึงร้อยละ 117 ของเงินลงทุนในปีนั้น คิดเป็นยอดกำไรสุทธิประมาณ 1.9แสนล้านบาทมันไม่มากเกินไปหน่อยเหรอ? เสียดายที่ความจริงเรื่องนี้ไม่ได้มีการเปิดเผยบนเวทีถาม-ตอบ ทั้งๆ ที่ผมเองได้เขียนเรื่องนี้มาเมื่อประมาณ 2 เดือนก่อนหน้านี้แล้ว แต่คนไม่สนใจ ผมอยากจะนำประโยคสำคัญของ ดร.เฮอร์มันน์ เชียร์ นักเคลื่อนไหวและนักการเมืองชาวเยอรมันว่า “การถกเถียงเรื่องพลังงานโดยการแยกส่วนตามลำพังคือการลวงทางปัญญา” เพราะเรื่องพลังงานเกี่ยวพันกับปัญหาสิ่งแวดล้อม น้ำเสีย อากาศเสีย ปัญหาสุขภาพ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ดังที่กล่าวแล้ว รวมไปถึงปัญหาการคอร์รัปชันที่เติบโตอย่างรวดเร็วมากในประเทศไทยด้วย คราวนี้มาถึงเรื่องดีๆ จากต่างประเทศ ผมมี 3 เรื่องที่จะนำเสนออย่างสั้นๆ ผมทราบดีครับว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่ชอบอ่านอะไรยาวๆ ยากๆ แต่ผมก็จะพยายามหลีกเลี่ยงเท่าที่จะทำได้ เรื่องที่หนึ่ง การเดินขบวนของประชาชนเพื่อหยุดสภาวะโลกร้อน โดยใช้ชื่อว่า “People’s Climate March” ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ผู้จัดอ้างว่ามีผู้เข้าร่วมมากว่าทุกครั้งที่เคยจัดงานมาคือประมาณ 4 แสนคนจากทั่วโลก 162 ประเทศ วัตถุประสงค์ของผู้จัดก็เพื่อเตือนให้ผู้นำประเทศทั่วโลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยการหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน พร้อมกับย้ำว่า “เราต้องการการกระทำ ไม่ใช่แค่ดีแต่พูด” กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของโลกได้ออกมาเตือนชาวโลกเมื่อประมาณปี 2550 ว่า ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ (ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเผาพลังงานฟอสซิล) ที่พอจะปลอดภัยต่อโลกนั้นควรจะไม่เกิน 350 พีพีเอ็ม (ส่วนในล้านส่วน) ในวันที่นักวิทยาศาสตร์ออกมาเตือนนั้นระดับคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ระดับ 385 พีพีเอ็ม จึงขอให้ชาวโลกช่วยกันปรับลดไปสู่ระดับที่ปลอดภัย แต่นอกจากจะลดลงไม่ได้แล้วระดับดังกล่าวกลับเพิ่มขึ้นไปถึง 400 พีพีเอ็มในปีนี้ ผมพยายามหารูปสวยๆ มีความหมายดีๆ มานำเสนอ แต่ผมไปพบที่ออสเตรเลียเป็นการเดินขบวนของชาวเมลเบิร์นที่มีผู้มาชุมนุมประมาณ 3 หมื่นคน ผมชอบความหมายของข้อความในโปสเตอร์มากๆ ครับ จึงนำมาให้ดูกันครับ | |||
สรุปว่า ประชาชนทั่วโลกต้องเชื่อมต่อและเสริมพลังกัน เราจะฝากความหวังไว้กับผู้นำประเทศไม่ได้เพราะคนเหล่านั้นมักจะเป็นพวกที่ (1) ดีแต่ปาก (2) ชอบแก้ตัว และ (3) ขาดความกล้าหาญ เรื่องที่สอง การนัดกันชุมนุมของชาวออสเตรเลียทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2557 ภาพซ้ายมือเป็นโปสเตอร์เชิญชวนให้คนมาร่วมรณรงค์ ส่วนขวามือเป็นภาพที่กำลังรณรงค์ | |||
ปัจจุบันชาวออสเตรเลียได้ติดโซลาร์เซลล์และพลังงานความร้อนกว่า 1.2 ล้านหลังแล้ว ในรัฐออสเตรเลียใต้ติดตั้งไปแล้วเป็นสัดส่วนมากที่สุด คือ1 หลังในทุกๆ 4 หลัง ทั่วประเทศเป็น 1 ใน 7 หลัง ถ้าติดระบบโซลาร์เซลล์ขนาด 3.0 กิโลวัตต์ ปกติราคา $9,000 ภายใต้โครงการดังกล่าวรัฐบาลจะจ่ายเงินสนับสนุนให้ $4,000 ในหนึ่งปี ถ้าติดตั้งที่เมืองเพิร์ท ออสเตรเลียตะวันตก จะผลิตไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 4,700 หน่วย (ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยหน่วยละ 8.41 บาท) ดังนั้นผู้ติดตั้งจะได้ทุนคืนภายในประมาณ 4 ปี แต่ถ้ารัฐบาลไม่สนับสนุนเลย ผู้ติดตั้งจะได้ทุนคืนประมาณ 7 ปี (คิดคร่าวๆ จากข้อมูลที่ค้นได้จากเว็บไซต์) รัฐบาลกลางอ้างว่า เป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่เอาเงินภาษีของคนจากบ้านที่ไม่ได้ติดไปอุดหนุนบ้านคนที่ติดตั้งซึ่งฟังเผินๆ ก็ดูดีและมีเหตุผลดี แต่ผู้คัดค้านนโยบายตัดการสนับสนุนของรัฐบาลให้แย้งว่า “การอุดหนุนของรัฐบาลจะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นในช่วงแรกเท่านั้น แต่ในระยะกลางและระยะยาวตลอด 25 ปีแล้ว ค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินและอื่นๆ ก็จะมีราคาแพงกว่าที่ผลิตจากแสงอาทิตย์บ้านคนที่ไม่ได้ติดก็จะได้ประโยชน์” นอกจากนี้ผู้สนับสนุนโซลาร์เซลล์อ้างว่า “โซลาร์เซลล์ทำให้รัฐบาลไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าในช่วงพีคหรือช่วงที่ใช้ไฟฟ้าสูงสุดซึ่งเกิดขึ้นในตอนเที่ยงวันหรือบ่ายๆ และยังทำให้ระบบไฟฟ้ามีความเสถียรด้วย” อ้าว! ใครจะเถียงแทนรัฐบาลออสเตรเลียก็ว่ามาเลยครับ ผมเองก็อยากรู้เหมือนกันเพราะเป็นประเด็นทางเทคนิคมาก ถ้ามีปัญหาจริงแล้วทำไมออสเตรเลียและเยอรมนีจึงสามารถแก้ปัญหาได้ เรื่องที่สามเป็นเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า ก่อนอื่นดูรูปกันก่อนคงจะดูไม่ยากครับ | |||
สรุป สถานการณ์ของประเทศไทยในวันนี้ไม่ต่างอะไรกับสงคราม แต่เป็นสงครามที่ไม่ได้ใช้อาวุธ ไม่ใช้ระเบิด เป็นสงครามระหว่างพ่อค้าพลังงานที่มีข้าราชการและนักการเมืองเป็นตัวแทนกับคนไทยทั้งประเทศ โดยกลุ่มที่มีอำนาจในตำแหน่ง เป็นผู้กำหนดและสร้างนโยบายพลังงานที่มีลักษณะ 2 ด้าน ด้านหนึ่งเพื่อแย่งชิงทรัพยากรปิโตรเลียมมาใช้ให้หมดโดยเร็ว โดยไม่สนใจปัจจัยอื่นๆ อีก 5 ด้านที่กล่าวมาแล้ว ผมได้อ่านจากบางสื่อ (แต่ไม่ได้ฟังเอง) ว่า บนเวทีถาม-ตอบปฏิรูปพลังงานครั้งที่เพิ่งผ่านมา มีอดีตข้าราชการคนหนึ่งแสดงความเห็นว่า ปิโตรเลียมถ้าไม่เอามาใช้อีกหน่อยก็จะไม่มีค่า นับเป็นเหตุผลที่ถ้าไม่ไร้เดียงสาก็ต้องถือว่าใจดำมากๆ อีกด้านหนึ่งก็กีดกันการใช้แหล่งพลังงานที่เป็นประชาธิปไตย ที่กระจายตัวอยู่ทั่วไปและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการเขียนนโยบาย เช่น การจำกัดโควตาการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งๆ ที่ประเทศเยอรมนีต้นแบบของความสำเร็จไม่มีการจำกัดโควตา นอกจากนี้ของไทยยังมีระเบียบหยุมหยิมให้รำคาญอีกต่างหาก สุดท้าย ขอสรุปว่า นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ประชาชนต้องพึ่งตนเอง พลังของประชาชนต้องได้มาด้วยการต่อสู้เช่นเดียวกับที่ชาวต่างประเทศอื่นๆ กำลังต่อสู้ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และท้ายสุด พลังของประชาชนย่อมยิ่งใหญ่กว่าพลังของคนที่อยู่ในตำแหน่งอย่างแน่นอนและเป็นพลังที่ยั่งยืนด้วย ขณะเดียวกันภาคประชาชนไทยเองต้องมีความใฝ่รู้และค้นหาความจริงให้มากกว่านี้ ทำไมกับเรื่องที่ไม่สำคัญคนไทยเรามักจะรู้ดีมาก รวมถึงการเชื่อมต่อประสานพลังกันให้เข้มแข็งมากกว่านี้ เชื่อมั่นครับว่าคนไทยเราต้องทำได้ พลังประชาชนยิ่งใหญ่กว่าอย่างแน่นอน |
คนไทยก้อเป็นแบบที่เป็น ลืมง่าย แค้นสั้น หลงกระแส ชอบแห่ทำตามๆกัน เชื่อตามๆกัน คิดตามๆกัน ชอบดูละครน้ำเน่า ชอบดูตลก ชอบดูเกมโชว์ ...
วันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2557
ตัวอย่างดีๆ จากต่างประเทศ แล้วย้อนดูการปฏิรูปพลังงานไทย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น