วันเสาร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2557

"ณรงค์ชัย"ระบุเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่21 ภายในปีนี้

เปิดแผนพลังงานปี 2558 "ณรงค์ชัย"ระบุเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่21 ภายในปีนี้ พร้อมเจรจาพลังงาน"พม่า-กัมพูชา"


กระทรวงพลังงานเปิดแผนสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ทั้งด้านการพัฒนาแหล่งพลังงาน การผลิตไฟฟ้า และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2558 ตามระยะเวลาการบริหารประเทศของรัฐบาล โดยเฉพาะการเจรจากับกัมพูชาพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล เพื่อพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม
นายณรงค์ชัย อัครเศรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในการมอบนโยบายทางด้านพลังงานในปีงบประมาณ2558 แก่ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงานในโอกาสงานครบรอบ 12 ปีการก่อตั้งกระทรวงพลังงาน ว่าการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยกระทรวงพลังงานจะเร่งจัดหาและพัฒนาแหล่งพลังงานเพื่อนำมาใช้ในประเทศ
นายณรงค์ชัย กล่าวว่ากระทรวงพลังงานจะมีการเร่งเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่รอบที่ 21 ให้ได้ภายในสิ้นปี 2557 นี้ รวมไปถึงการบริหารจัดการในแปลงสัมปทานที่จะหมดอายุ
นอกจากนี้ จะมีการเจรจาพัฒนาความร่วมมือด้านพลังงานกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะเน้นที่ประเทศพม่าและกัมพูชาเป็นหลัก โดยในวันที่ 9-10 ต.ค.นี้ ที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปประเทศพม่า เพื่อหารือการพัฒนาศักยภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าร่วมกันในอนาคต รวมทั้งความร่วมมือในการปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมัน เนื่องจากไทยมีหน่วยงานที่มีศักยภาพเช่น บริษัท ปตท. ซึ่งมีความรู้ความสามารถในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี
นายณรงค์ชัย กล่าวว่าความร่วมมือกับประเทศกัมพูชา จะมีการเจรจาเรื่องการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลให้แล้วเสร็จ เพื่อพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในทะเลต่อไป โดยจะมีการตั้งคณะทำงานด้านพลังงาน ร่วมกันระหว่างกระทรวงพลังงานของไทยและกัมพูชา
สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มตามแผนพีดีพี
นายณรงค์ชัย กล่าวถึงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ฉบับใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะต้องมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ต่ำในขณะที่เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ที่พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเรื่องของสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้จะพยายามผลักดันให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในส่วนความรับผิดชอบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่จ.กระบี่สามารถเริ่มต้นภายในปี 2558 หรือภายในรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มีระยะเวลาการทำงาน 1 ปี 
เสนอกพช.ปรับโครงสร้างราคารอบใหม่
นายณรงค์ชัย กล่าวถึงการปรับโครงสร้างราคาพลังงานว่าจะพิจารณาทั้งในส่วนของน้ำมัน แอลพีจี และเอ็นจีวี เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 ต.ค.นี้
ส่วนด้านพลังงานทดแทนนั้น จะเกิดความชัดเจนด้านแนวทางการส่งเสริมพลังงานทดแทนในปี 2557 เช่นกัน โดยจะพิจารณาการรับซื้อไฟฟ้าเฉพาะบริเวณที่มีสายรับส่งไฟฟ้าที่แน่นอน ทำให้สามารถบริหารการเพิ่มพลังงานทดแทนได้อย่างชัดเจนต่อไป
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่าจะพิจารณาปรับลดเป้าหมายการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) ที่จากเดิมศึกษาไว้ว่า จะต้องปรับขึ้นราคาแอลพีจีไปสะท้อนต้นทุนหน้าโรงแยกก๊าซอยู่ที่ 24.82 บาทต่อกิโลกรัม แต่ปัจจุบันพบว่าราคาแอลพีจีตลาดโลกปรับลดลงมาก โดยปัจจุบันอยู่ที่ 747 ดอลลาร์ต่อตัน ลดลงจาก 800-900 ดอลลาร์ต่อตัน ในช่วงต้นปี 2557
ดังนั้น การปรับขึ้นราคาแอลพีจี ทั้งในส่วนของภาคขนส่งและภาคครัวเรือน อาจจะปรับขึ้นไม่ถึง 24.82 บาทต่อกิโลกรัม ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ส่วนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตดีเซล และปรับลดภาษีสรรพสามิตเบนซิน ให้มีอัตราที่เท่ากันนั้น จะมีการดำเนินการหลังจากที่กองทุนน้ำมันมีฐานะเป็นบวก ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงต้นปี 2558
ฐานะล่าสุดของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 7 ก.ย. 2557 ติดลบ 5,982 ล้านบาท ลดลงจากเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2557 ที่ติดลบ 6,130 ล้านบาท
ต่ออายุ'ไอพีพี-เอสพีพี'ภายในปีนี้
ด้านนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า แผนงานสำคัญของกระทรวงพลังงานภายใต้ปีงบประมาณ 2558 ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล นั้น กระทรวงมีงบประมาณในการดำเนินการรวม 1,976 ล้านบาท โดยในเรื่องของความมั่นคงทางด้านพลังงาน นั้นจะมีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ ครั้งที่ 21 การจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ และนโยบายการต่ออายุ โรงไฟฟ้าไอพีพี และเอสพีพี ที่จะหมดอายุ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2557 นี้
ส่วนในสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุในปี 2565 นั้น จะมีการจ้างบริษัทที่ปรึกษามาประเมินสินทรัพย์ของแปลงสัมปทานดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิ.ย. 2558 และดำเนินการให้เกิดความชัดเจนภายในเดือนต.ค. 2558
ในขณะที่การลงนามเอ็มโอยูซื้อไฟฟ้าจากประเทศพม่าและกัมพูชา จะดำเนินการภายในเดือนมี.ค. 2558
นายอารีพงศ์ กล่าวว่าแผนการส่งเสริมพลังงานทดแทนนั้น จะจัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกหรือแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี (พ.ศ.2555-2564) หรือ AEDP ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี2557 โดยจะเน้นการส่งเสริมโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะ เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งจะมีการแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค รวมทั้งการเร่งรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ฟาร์ม ให้ครบตามเป้าหมาย2,000 เมกะวัตต์
สำหรับแผนอนุรักษ์พลังงานงาน 20 ปี (พ.ศ. 2554 - 2573) หรือ EE นั้นจะมีการจัดทำให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2557 และผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมในปี2558 ซึ่งจะมีความชัดเจนว่าจะสามารถลดการใช้พลังงานลงได้จริงเท่าไหร่ ส่วนการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน จะดำเนินการให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงทั้งในส่วนของแอลพีจี เอ็นจีวี และน้ำมันดีเซล ที่จะค่อยๆปรับขึ้นราคาตลอดทั้งปีงบประมาณ 2558 
ล้มผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์
นายจำเนียร นนทะวงษ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจเศรษฐกิจแนวคิดใหม่ในอาเซียน อ.ศรีไศล จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่าขณะนี้กลุ่มเกษตรกรจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนหนัก จากการยกเลิกสัญญารับซื้อหญ้าเนเปียร์ โดยบริษัท ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ยูเอซี ซึ่งอ้างว่ารัฐยกเลิกโครงการนำร่องโรงไฟฟ้าหญ้าเนเปียร์ 10 โครงการ ซึ่งโครงการของยูเอซีเป็น 1 ในนั้น ทำให้ไม่สามารถรับซื้อหญ้าจากเกษตรกรได้ แต่เกษตรกรได้ปลูกไปแล้วเมื่อ 5 เดือนที่ผ่านมา ปัจจุบันไม่มีผู้รับซื้อ ทำให้เกษตรกรที่เปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวมาปลูกหญ้าเนเปียร์ ได้รับความเดือดร้อน
ที่ผ่านมา กลุ่มฯได้เข้าพบตัวแทนกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) แต่ก็ได้รับคำตอบเช่นเดิมว่า รัฐยกเลิกโครงการไปแล้ว ทำให้กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกหญ้าเนเปียร์ตามนโยบายของภาครัฐ และทำตามคำแนะนำของ พพ.และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต้องเป็นผู้รับความเสียหายทั้งหมด โดยที่รัฐไม่ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยแต่อย่างใด เพียงแต่ตอบว่ายกเลิกโครงการไปแล้วเท่านั้น แล้วเกษตรกรที่ต้องสูญเสียรายได้ เพราะหากปลูกข้าวก็คงมีรายได้พออยู่พอกิน แต่ต้องมาเดือดร้อนเพราะนโยบายของภาครัฐ
“ยูเอซี ทำสัญญารับซื้อหญ้าเนเปียจากกลุ่มเกษตรกร อำเภอศรีไศล จำนวน 500-600 ไร่ เพื่อส่งไปยังโรงไฟฟ้าหญ้าเนเปียร์ในพื้นที่ใกล้เคียง ตอนนี้เกษตรกรปลูกไปแล้วเกือบ 100 ไร่ ราคารับซื้อท่อนพันธุ์ประมาณ 3 พันบาทต่อตัน จากนั้นก็มีสัญญาเพื่อขยายพื้นที่ให้ได้ตามแผน โดยราคารับซื้อท่อนพันธุ์จะแพงเพราะใช้ระยะนานแต่ก็เป็นราคาที่ตกลงก่อนหน้านี้ แต่ปัจจุบันเมื่อยกเลิกโครงการ ผมในฐานะประธานกลุ่มฯถูกชาวบ้านร้องเรียน และไม่เชื่อมั่น เพราะคิดว่าผมหลอก ดังนั้นจึงต้องการความชัดเจนจากทางภาครัฐโดยเร็วที่สุด”นายจำเนียร กล่าว
อย่างไรก็ตาม กลุ่มฯได้เดินทางไปหารือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อขอให้หาแนวทางช่วยเหลือ เบื้องต้นทางกระทรวงวิทย์ฯพร้อมเป็นที่ปรึกษาโครงการโรงไฟฟ้าหญ้าเนเปียให้ หากกลุ่มฯได้รับเงินสนับสนุนโครงการจากทางกระทรวงพลังงาน ที่จะจ่ายให้กับเอกชนก็มาสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน 20 ล้านบาทแทน โดยจะนำมาทำเองไม่ต้องผ่านเอกชน ซึ่งจะมีการรับรองโครงการและควบคุมโครงการโดยกระทรวงวิทย์ฯ ส่วนชาวบ้านมีความรู้เรื่องปลูกหญ้าเนเปีย ก็จะร่วมกันทำ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับชุมชนมากกว่านำเงินให้เอกชนลงทุน เพราะเมื่อได้เงิน 20 ล้านบาท แต่เมื่อโครงการล่มก็ลอยแพเกษตรกร
โดยในเดือนตุลาคมนี้ กลุ่มฯจะทำหนังสือร้องเรียนไปยังกระทรวงพลังงาน เพื่อเร่งหาแนวทางช่วยเหลือ รวมทั้งจะเสนอทำโครงการดังกล่าวต่อไป โดยจะมีรายละเอียด แบบโครงการ และผลตอบแทน ซึ่งทางกระทรวงวิทย์ฯจะเป็นผู้ออกแบบ และให้รายละเอียดดังกล่าว เพื่อเสนอไปยังกระทรวงพลังงาน
เผยโครงการถูกคตร.สั่งยกเลิก
นายกิตติ ชีวะเกตุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลส์ หรือยูเอซี กล่าวว่า หลังจากโครงการดังกล่าวถูก คณะกรรมการตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) ยกเลิก ทางบริษัทได้บอกยกเลิกสัญญารับซื้อหญ้าเนเปียร์จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน อ.ศรีไศล จ.ศรีสะเกษ เพราะไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 1 เมกะวัตต์ได้ตามแผน ซึ่งบริษัทเองก็เสียใจ แต่ขอให้เกษตรกรรอดูทิศทางของกระทรวงพลังงานก่อนว่าสุดท้ายแล้วจะยังคงส่งเสริมโครงการนำร่องต่อไปหรือไม่
อย่างไรก็ตาม บริษัททำสัญญารับซื้อหญ้าเนเปียร์จำนวน 500-600 ไร่ ภายในปี 2558 ภายหลังจากโรงไฟฟ้าสร้างเสร็จตามแผน แต่เมื่อโครงการดังกล่าวยกเลิกไป บริษัทก็มีความเสียหายเช่นกัน เนื่องจากได้จ่ายเงินมัดจำพื้นที่ปลูกและพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าไปแล้วจำนวนหนึ่ง รวมทั้งจ่ายเงินค่าแบบก่อสร้างไปแล้ว ขณะเดียวกัน เกษตรกรก็ต้องเดือดร้อน เพราะมีการลงมือเพาะปลูกท่อนพันธุ์ไปแล้วเช่นกัน ดังนั้นต้องการให้กระทรวงพลังงานสร้างความชัดเจนนโยบายนี้ พร้อมทั้งออกมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรดังกล่าวด้วย
“ที่ผ่านมาบริษัทได้ทำหนังสืออุทธรณ์ไปยังกระทรวงพลังงานเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2557 ว่าไม่ควรยกเลิกโครงการดังกล่าว เพราะมีการเดินหน้าโครงการไปบางส่วนแล้ว แต่ทางกระทรวงฯก็มีหนังสือตอบกลับมาแล้วว่าเป็นการยกเลิกของกองทุนอนุรักษ์ ซึ่งบริษัทเองก็ไม่สบายใจแต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะเป็นคำสั่งของภาครัฐ อย่างไรก็ตามรัฐควรมีมาตรการเยียวยาเกษตรกรต่อไป”นายกิตติ กล่าว
ชี้เอกชนทำได้ แต่ไม่ได้รับเงินอุดหนุน
นายอารีพงศ์ กล่าวว่า โครงการนำร่องโรงไฟฟ้าหญ้าเนปียร์จำนวน 10 โครงการของกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ต้องยุติไปตามคำสั่งคตร. ยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและเกษตรกรที่เดินหน้าโครงการไปบางส่วนแล้ว แต่กระทรวงฯไม่ได้ห้ามและยกเลิกส่งเสริมหญ้าเนเปียร์ เพียงแต่ยุติโครงการนำร่องดังกล่าวเท่านั้น
ดังนั้น ผู้ประกอบการก็ยังสามารถเดินหน้าโรงไฟฟ้าหญ้าเนเปียร์ได้ แต่จะไม่ได้รับการอุดหนุนค่าไฟฟ้าจากภาครัฐ
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเนเปียร์ ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก จำนวน3,000 เมกะวัตต์ ภายในปี2564 และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ลงนามร่วมกับเอกชน 10 บริษัท ใน 3 พื้นที่ทั้งแล้งน้ำ ชุ่มน้ำ และปลูกข้าวไม่ได้ ในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเดินหน้าโครงการโครงการศึกษา วิจัย ต้นแบบวิสาหกิจชุมชนพลังงานสีเขียวจากพืชพลังงาน โดยบริษัทฯ ทั้งหมดจะได้รับงบสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานรายละไม่เกิน 20 ล้านบาทเพื่อผลิตไฟรายละ 1 เมกะวัตต์
โดย 10 บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประกอบด้วย 1. บริษัท เอ็น พี พาวเวอร์ จำกัด จ.เพชรบูรณ์ 2. บริษัท ไทยพีเอสเมกะพาวเวอร์ จำกัด จ.พิจิตร 3. บริษัท พรีไซซ์ พาวเวอร์ โปรดิวเซอร์ จำกัด จ.เพชรบูรณ์ 4. บริษัท ไทยไบโอก๊าซ เทคโนโลยี จำกัด จ.ลำปาง 5. บริษัท ลานไบโอก๊าซ จำกัด จ.หนองคาย 6. บริษัท บิเทโก (ประเทศไทย) จำกัด จ.อุบลราชธานี 7. บริษัท กรีนเอนเนอร์จี จำกัด จ.ขอนแก่น 8. บริษัท เอส เอ็ม ซี พาวเวอร์ จำกัด(มหาชน) จ.ร้อยเอ็ด 9. บริษัท สีคิ้ว ไบโอแก๊ส จำกัด จ.นครราชสีมา และ 10. บริษัท ยูเอซีเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด จ.ศรีสะเกษ
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/business/20141004/609103/%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%8B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B9%E0%B8%8A%E0%B8%B2.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น