สาเหตุที่ ปตท.ต้องการมีกำไรมหาศาล !!!
เพื่อเปิดช่องฉ้อฉล กับการลงทุนที่ไร้การตรวจสอบดูแล จากหน่วยงานใดๆ นั่นเอง!
(อย่าลืมว่า..กำไรของ ปตท.มาจากน้ำตา ปชช.)
บริษัท ปตท.นอกจากมีบริษัทลูกหลานในเกาะเคย์แมนถึง 30-32 บริษัทแล้ว ยังมีการเปิดบริษัทในที่อื่นๆ ได้แก่ เกาะไซปรัส เกาะมอร์ริเชียส เกาะบาฮามาส และเกาะเบอร์มิวด้า ซึ่งรายชื่อเหล่านี้ล้วนเป็นแหล่งทางการเงินโพ้นทะเลซึ่งถูกระบุไว้ในรายงานของสหประชาชาติว่าเป็นแหล่งฟอกเงิน แหล่งที่มาของรูปแบบการฉ้อฉลทางการเงินระดับสูงและแหล่งหลีกเลี่ยงภาษีทั่วโลก http://www.manager.co.th/AstvWeekend/ViewNews.aspx?NewsID=9570000090578
รายงานพิเศษ
การออกมาโกหกคำโตของ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ซีอีโอ ปตท.ที่ให้สัมภาษณ์แทบลอยด์ไทยโพสต์ เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ถึงเรื่องการไปตั้งบริษัทที่เกาะเคย์แมนและเงินเดือนค่าตอบแทนในตำแหน่งซีอีโอ โดยแขวะคนที่ตั้งคำถามตรวจสอบ ปตท.และบริษัทในเครือว่าเป็นพวกที่ชอบโกหกบ่อยๆ จนตัวเองเชื่อว่าเป็นความจริง สุดท้ายซีอีโอปตท.ก็เจอ “งานเข้า” ทำเอาบริษัทลูกหลานในเครือเดือดร้อน ต้องรีบชิงปิดกิจการบนเกาะสวรรค์ดินแดนแห่งการฟอกเงิน ก่อนที่เรื่องราวจะลุกลามบานปลายถูกตรวจสอบไปมากกว่านี้
ถึงนาทีนี้ การที่ ปตท.จะใช้อำนาจเงินและอำนาจการเมืองมาปิดฟ้าด้วยฝ่ามืออย่างที่เคยทำกันมาดูท่าจะยาก ยิ่งปิด ยิ่งบิดเบือน ก็ยิ่งถูกขุดคุ้ย และกลุ่มที่เป็นหัวหอกในการตรวจสอบ ปตท. คราวนี้ ได้เคยพิสูจน์ตัวเองมาแล้วจากคดีทุจริตจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ ที่ทำให้นายรักเกียรติ สุขธนะ ซึ่งเป็นนักการเมืองระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ติดคุกมาแล้ว กรณีของปตท.อาจจะไม่ถึงขั้นนั้น แต่ประเมินได้ว่าอยู่ไม่เป็นสุขแน่ถ้าหากปตท.ยังมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ผูกขาดตัดตอน ขูดรีดประชาชนเกินควร แต่กลับสร้างภาพฉาบหน้าด้วยธรรมาภิบาลระดับโลก
สำหรับกรณีล่าสุดที่ นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตส.ว.กรุงเทพมหานคร ตามเช็กบิลจับโกหกซีอีโอปตท. ก็คือเรื่องที่นายไพรินทร์ ให้สัมภาษณ์ไทยโพสต์ โดยผู้สื่อข่าวถามว่า "ปตท.มีการไปตั้งบริษัทหรือทำบัญชีอะไรที่เกาะเคย์แมนและเรื่องเงินเดือนนายไพรินทร์ที่ได้" นายไพรินทร์ตอบว่า "ปตท.มีบริษัทในเคย์แมนหนึ่งบริษัท ซึ่งเป็นเพราะเราไปซื้อบริษัทในฟิลิปปินส์เมื่อหลายปีที่แล้ว เราก็จะปิดบริษัทนี้ก็จะจบเรื่องนี้ .......ต้องถามสังคมว่าทำไมสังคม social network ยังยอมให้คนพวกนี้อยู่ต่อได้ พวกที่โกหกคำโต โกหกบ่อยๆ โกหกจนตัวเองก็เชื่อว่าเป็นความจริง"
เมื่อถูกดิสเครดิตกล่าวหาว่าโกหกคำโต แม้นายไพรินทร์จะไม่ได้ออกชื่อเสียงเรียงนาม แต่ก็พอจะรู้ๆ กันว่าซีอีโอปตท.หมายถึงใคร ด้วยเหตุฉะนี้ นางสาวรสนา ไม่รอช้าที่จะขุดรายงานของผู้ตรวจสอบบัญชีและงบการเงินของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2556 ออกมาแฉต่อสาธารณชน โดยสิ่งที่เธอค้นพบ ปรากฏว่า มีบริษัทลูกของปตท. ที่จดทะเบียนในเกาะเคย์แมนถึง 32 บริษัท แต่ยกเลิกไป 2 บริษัทในปี 2556
“สาธารณชนคงเห็นแล้วว่า ใครกันแน่ที่ชอบโกหกคำโตและนึกว่าคนอื่นจะเชื่อไปด้วย ขนาดมีเอกสารงบการเงินของบริษัทให้ตรวจสอบได้ทั่วไป ยังกล้าให้ข้อมูลเท็จ แล้วข้อมูลอื่นที่สังคมเข้าไม่ถึง จะเชื่อได้ละหรือ?” อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ ตอกกลับซีอีโอ ปตท.
นางสาวรสนา ตั้งคำถามว่า ปตท.เปิดบริษัทในหมู่เกาะเคย์แมน (Cayman) ถึง 30 บริษัท ทำไมต้องปิดบัง ทำไมต้องอ้อมแอ้มก็เพราะว่าหมู่เกาะเคย์แมน เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นหนึ่งในเกาะฟอกเงิน ในทะเลแคริบเบียน เช่นเดียวกับ หมู่เกาะบริติช เวอร์จิ้น (British Virgin Island) เกาะฟอกเงินเหล่านี้ เป็นดินแดนพิเศษที่มีออกแบบกฎหมายภายในเกี่ยวกับภาษีที่เอื้อต่อการโยกย้าย จึงเป็นที่นิยมของกลุ่มทุนข้ามชาติที่นำเงินมาเก็บซ่อนจากการถูกตรวจสอบ หรือกลุ่มธุรกิจการเมืองผิดกฎหมายสามารถนำเงินจากการทุจริตคอร์รัปชั่นมาเก็บและฟอกเงินได้ หรือบริษัทธุรกิจที่เปิดบัญชีเพื่อทำธุรกรรมทางการเงินเพื่อหลีกเลี่ยงภาระภาษีระหว่างประเทศ หรือธุรกิจมิจฉาชีพที่ได้เงินมาจากการค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์และการค้าของเถื่อนอื่นๆ จนถูกเรียกว่าเป็นเกาะสวรรค์สำหรับนักหลีกเลี่ยงภาษี (Tax Havens)
ปัจจุบันมีบริษัทที่จัดตั้งบนหมู่เกาะแห่งนี้กว่า 20,000 บริษัท โดยบริษัทเหล่านั้นจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ ไม่มีข้อผูกมัดให้ต้องมีการประชุมคณะกรรมการ หรือการประชุมผู้ถือหุ้นที่นั่นแปลว่า บริษัทดังกล่าวไม่จำเป็นต้องมีตัวตนเป็นเพียงบริษัทกระดาษ (Paper Company) ก็ได้
“เกาะฟอกเงินเหล่านี้ในสมัยพ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เคยด่าออกสื่อมวลชนว่า "บริษัทใดที่เอาเงินไปฝากในเกาะฟอกเงินเหล่านี้เป็นพวกคนไม่รักชาติ" เพราะเป็นที่หลีกเลี่ยงภาษี และเป็นที่ฟอกเงินทุจริตผิดกฎหมาย และเป็นที่ผ่องถ่ายกำไรออกไปให้กับกลุ่มการเมือง...... บริษัทปตท.เป็นบริษัทที่รัฐถือหุ้น 51%ถือเป็นรัฐวิสาหกิจตามระบบงบประมาณ และเป็นบริษัทที่ได้รับรางวัลธรรมาภิบาลมากมาย คนที่ให้รางวัลธรรมาภิบาลเขาดูคุณสมบัติอะไรกันบ้าง การที่ปตท. มีบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในเกาะฟอกเงินถึง 30 บริษัท มีธรรมาภิบาลได้อย่างไร? ปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจ เหตุใดจึงได้รับอนุญาตให้ไปเปิดบัญชีในเกาะฟอกเงินที่เคย์แมนได้ถึง 30 บริษัท โดยหน่วยงานตรวจสอบของภาครัฐไม่หือไม่อือกันเลยเรอะ?”
"ส่วนที่นายไพรินทร์ บอกว่าจะแก้ปัญหา ปตท.มีบัญชีในเกาะเคย์แมนด้วยการปิดบัญชีนั้น ก็แสดงว่าเขารู้มาโดยตลอดว่าเกาะแห่งนั้นไม่ใช่ที่ที่บริษัทดีๆ จะไปเปิดบัญชีที่นั่น ขอถามว่า ทำไมจึงปล่อยบัญชีของปตท.นั้นไว้หลายปีโดยไม่ปิดมาก่อนหน้าที่คนเขาจับได้ และเมื่อใดจะปิดบัญชีมืดนั้นสักที แต่เครื่องหมายคำถามตัวโตๆ ในที่นี้ก็คือ ซีอีโอคนนี้ไม่เคยรู้เลยหรือว่าปตท.มีบัญชีซุกอยู่ในเกาะเคย์แมนถึง 30 บริษัท ถ้ารู้แล้วทำไมจึงไม่บอกความจริงในการสัมภาษณ์ไทยโพสต์ครั้งนั้น
“แต่ถ้าท่านเพิ่งรู้จากดิฉันในวันนี้ว่า ปตท.ไม่ได้มีแค่บริษัทเดียวในเกาะฟอกเงินที่บังเอิญติดมาจากการไปซื้อบริษัทที่ฟิลิปปินส์เมื่อหลายปีก่อน แต่มีบริษัทลูกและหลานของปตท.ที่ไปจดทะเบียนอยู่ในเกาะฟอกเงินถึง30 บริษัท แล้วจะทำอย่างไรกับบัญชีมืดเหล่านั้นต่อไป ใคร่ขอคำตอบ”
อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ ยังเชื่อมั่นว่า ถึงสื่อกระแสหลักทั่วไปไม่สนใจติดตามความจริงเรื่องนี้ ได้แต่เชื่อตามที่เขาหลอก แต่ประชาชนนับล้านผู้เป็นเจ้าของปตท.ตัวจริง ย่อมสนใจเจาะความจริงเรื่องนี้แน่ๆ อย่าสมคบคิดกันแปรรูปปตท.รอบสอง เพื่อหนีการตรวจสอบจากประชาชนโดยเด็ดขาด ขอให้รู้ไว้เถิดว่าสมบัติของแผ่นดินนั้นตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้
“การที่ซีอีโอของ ปตท.ให้ข้อมูลต่อสาธารณชนว่ามีบริษัทบนเกาะสีเทาแห่งนั้นแค่บริษัทเดียว จะเพราะว่าเป็นซีอีโอที่ไม่ได้สนใจดูงบการเงินของตัวเอง หรือว่าจงใจให้ข้อมูลเท็จต่อสาธารณชนกันแน่? อย่างนี้ควรเรียกว่าเป็นการโกหกคำโต โดยใช้สื่อกระแสหลักแบบฮิตเลอร์ ดังที่กล่าวหาผู้อื่นหรือไม่?” อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ ตั้งคำถามกับผู้บริหารระดับสูงของ ปตท.
ไม่ใช่แค่ ปตท. เท่านั้น ที่ต้องถูกตรวจสอบและทำเรื่องนี้ให้กระจ่างแจ้งต่อสังคม หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบธรรมาภิบาลขององค์กรรัฐวิสาหกิจ อย่างเช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ต้องเข้ามาตรวจสอบด้วยเช่นกัน
โดยนางสาวรสนา ได้ตั้งคำถามว่า เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าการเปิดบริษัทบนเกาะฟอกเงินอย่างเคย์แมน เพื่อหลบเลี่ยงภาษี ฟอกเงิน และเป็นการดูดเงินออกจากการควบคุมภายในระบบ และตรวจสอบไม่ได้ การที่บริษัทในเครือปตท.มีบริษัทบนเกาะเคย์แมน 30 - 32 บริษัท สตง. เคยตรวจสอบไหม? กระทรวงการคลังที่ถือหุ้น 51% ไม่หือไม่อือเลยหรืออย่างไร? กรรมการบอร์ดแต่ละคนที่มานั่งเป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นภาครัฐ 51% รับโบนัสปีละหลายล้านบาท ไม่มีใครมีคำถาม หรือตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลเหล่านี้กันเลยหรือ? ป.ป.ช. ว่าอย่างไรบ้าง? ไม่สนใจตรวจสอบบ้างหรือไร?
“คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ (กลต.) ว่าอย่างไรบ้างที่บริษัทชั้นดีในตลาดหลักทรัพย์อย่างเครือบริษัท ปตท.ไปเปิดบัญชีบนเกาะฟอกเงิน ไม่ขัดหลักบรรษัทภิบาลของตลาดหลักทรัพย์หรืออย่างไร? ปตท. ช่วยตอบชัดๆ หน่อยว่านี่คือการหลบเลี่ยงภาษีหรือไม่? การเปิดบริษัทจำนวนมากบนเกาะฟอกเงินเช่นนี้เป็นการดำเนินงานอย่างมีบรรษัทภิบาลต่อผู้ถือหุ้นแล้วละหรือ? มีใครเป็นผู้ตรวจสอบการใช้จ่าย และผลกำไรขาดทุนของบริษัทเหล่านั้นบ้าง ? ขอถามดังๆ ไปถึงองค์กรตรวจสอบทั้งหลายในบ้านเมืองนี้ ว่าเหตุใดไม่มีใครตรวจสอบเรื่องใหญ่ขนาดนี้? หวังว่าคำถามนี้จะไม่หายไปกับสายลม...”
นอกจากออกมาแฉการลงทุนของเครือ ปตท.ที่เกาะเคย์แมนแล้ว นางสาวรสนา ยังเปิดโปงอีกว่า เครือ ปตท.หอบเงินไปเปิด 3 บริษัทในไซปรัส เกาะฟอกเงินที่เคยเจอวิกฤตเกือบล้มละลายมาแล้ว โดยเธอโพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2557ในหัวข้อ “ปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน หรือคือการแปรรูปขายสมบัติชาติเพื่อความมั่นคงของกลุ่มทุน?” ดังนี้
“บริษัท ปตท.นอกจากมีบริษัทลูกหลานในเกาะเคย์แมนถึง 30-32 บริษัทแล้ว ยังมีการเปิดบริษัทในที่อื่นๆ ได้แก่ เกาะไซปรัส เกาะมอร์ริเชียส เกาะบาฮามาส และเกาะเบอร์มิวด้า ซึ่งรายชื่อเหล่านี้ล้วนเป็นแหล่งทางการเงินโพ้นทะเลซึ่งถูกระบุไว้ในรายงานของสหประชาชาติว่าเป็นแหล่งฟอกเงิน แหล่งที่มาของรูปแบบการฉ้อฉลทางการเงินระดับสูงและแหล่งหลีกเลี่ยงภาษีทั่วโลก
บริษัท ปตท.ได้แจกแจงกำไรในปี 2555 และ 2556 ว่านำไปลงทุนอะไรบ้าง ในปี 2555 กำไรสุทธิของ ปตท.104,700 ล้านบาท นำมาปันผลให้ผู้ถือหุ้นเพียง 35% เท่ากับ 37,100 ล้านบาท และนำกำไรอีก 65% ไปลงทุนในกิจการต่างๆ และในจำนวนเงินที่นำไปลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาท นำไปซื้อแหล่งสัมปทานในประเทศโมซัมบิกด้วยการประมูลซื้อกิจการบริษัท Cove Energy
ปรากฏในรายงานการเงินของ ปตท.ว่ามีการไปเปิดบริษัท Cove Energy ในไซปรัส 3 บริษัท ทั้งๆ ที่โมซัมบิกอยู่ในแอฟริกา เหตุใดเลือกไปเปิดบริษัท Cove Energy ในไซปรัสซึ่งเป็นเกาะฟอกเงินในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และวิกฤตการณ์ด้านการเงินในไซปรัสเมื่อปี 2556 เกือบทำให้ไซปรัสต้องหลุดจากยูโรโซน และล้มละลาย เป็นความปลอดภัยแล้วหรือที่นำเงินกำไรของรัฐและผู้ถือหุ้นไปเปิดบริษัทในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงทางด้านการเงินแบบนี้?
นอกจากนี้ การเปิดบริษัทท่อส่งก๊าซในเบอร์มิวดา โดยบริษัทลูกหลาน ปตท.มีหุ้นอยู่ 25% เปิดบริษัทท่อส่งก๊าซ 2 บริษัทในเคย์แมนที่ถือหุ้น 19.3178% และอีกบริษัท 80% ส่วนบริษัทที่เปิดที่เกาะบาฮามาส เป็นธุรกิจให้เช่าเรือถือหุ้นเพียง 13.11%
เป็นเรื่องน่าสังเกตว่า หุ้นที่เหลือใครเป็นผู้ถือบ้าง มีนักการเมือง ข้าราชการ หรือกรรมการ ปตท.ไปถือหุ้นด้วยหรือไม่? หรือการถือหุ้นแบบนี้เป็นเพียงเรื่องอุปโลกน์ขึ้นมาเพราะเป็นเพียงบริษัทกระดาษอย่างที่นิยมทำกัน มีรายละเอียดให้ตรวจสอบได้หรือไม่? เพราะเงินทุนที่นำไปลงทุนมาจากกำไรของผู้ถือหุ้นที่ถูกแบ่งเอาไปลงทุนมากว่าที่เอามาปันผล และอาจเป็นการ “ถ่ายเทผลประโยชน์” เพื่อนำไปขาดทุนแบบเดียวกับที่เอาไปขาดทุนในการปลูกปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซียหรือไม่?
นางสาวรสนา เรียกร้องอีกครั้งให้องค์ตรวจสอบทั้งหลายทั้ง สตง., ป.ป.ช., ก.ล.ต.,กระทรวงการคลัง ต้องออกมาตอบคำถามสังคมว่า จะปล่อยให้บริษัท ปตท.ที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐถือหุ้น 51% มีเสรีภาพในการถ่ายเทผลประโยชน์จากกำไรของรัฐและผู้ถือหุ้นไปยังเกาะฟอกเงินเหล่านี้ต่อไป โดยไม่ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจังหรืออย่างไร?
“ดิฉันเชื่อว่าประชาชนต้องการได้ยินคำตอบดังๆ จากท่านทั้งหลายว่าจะดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างไร? อย่าปล่อยให้ต้องขาดทุนแบบกรณีที่เกิดที่อินโดนีเซียเสียก่อน ค่อยมาตรวจสอบไล่เบี้ยกัน และเพราะต้องการหนีการตรวจสอบใช่ไหม? ที่เป็นเหตุให้บอร์ดชุดนี้ต้องการเร่งรีบจะแปรรูป ปตท.ให้สิ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจโดยเร็วโดยใช้อำนาจของ คสช.ดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง โดยอ้างวาทกรรมว่าต้องการหนีนักการเมืองล้วงลูก และเข้าสู่การแข่งขันเสรี ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้น กลุ่มนักการเมือง กับกลุ่มทุนที่ชอบขายสมบัติชาติ มักใช้กลุ่มข้าราชการเดิมๆ แสวงหาประโยชน์จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่มีลักษณะผูกขาดทำกำไรงามแก่ผู้ถือหุ้นเอกชนรายใหญ่
พร้อมกันนั้น อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ ยังตั้งคำถามด้วยว่า การแปรรูป ปตท.รอบสองเท่ากับเป็นการต่อยอดให้กับการแปรรูปในยุครัฐบาลทักษิณซึ่งแสดงเจตนาชัดเจนในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ถ้าขาย ปตท.ให้เอกชนทั้งหมดได้ ต่อไปก็คงขาย กฟผ.ทั้งหมดให้เอกชนได้เช่นกัน อันเป็นการสืบทอดนโยบายขายสมบัติชาติของทักษิณนั่นเอง ใช่หรือไม่? ที่แท้นั้น การปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนก็มีความหมายเพียงการขาย ปตท.ทั้งหมดให้เอกชนแบบชุบมือเปิบ ทั้งที่แต่เดิม ปตท.เคยเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาชนและเป็นสมบัติแผ่นดิน
“ขอถามว่าการขายสมบัติชาติรอบสองนี้ ทำไปเพื่อประโยชน์ของใคร? เพื่อความยั่งยืนทางพลังงานของประชาชน หรือเพื่อกำไรอันยั่งยืน (บนหลังของประชาชน) ของผู้ถือหุ้นเอกชน และเพื่อต้องการหนีการตรวจสอบของประชาชนที่ยังเป็นเจ้าของ ปตท.อยู่ครึ่งหนึ่ง ใช่หรือไม่?”
เมื่อถูกจับโกหกคำโตและตั้งคำถามรุกไล่แถมยังเรียกร้องให้หน่วยงานตรวจสอบเข้ามาจัดการ ทำให้ผู้บริหารเครือ ปตท.ต้องออกมาชี้แจงแถลงไขต่อสาธารณชน โดยนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) เปิดเผยว่า ตามที่กระแสข่าวระบุกลุ่ม ปตท.มีบริษัทย่อยในเคย์แมน์ประมาณ 30 บริษัทนั้น ปตท.สผ.ขอชี้แจงว่าบริษัทในเคย์แมนส่วนใหญ่เป็นบริษัทในเครือ ปตท.สผ. และเป็นของ ปตท.เพียง 1 บริษัท ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะฟอกเงินหรือหลบเลี่ยงภาษี แต่เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการลงทุน และลดความเสี่ยงของการลงทุนในต่างประเทศ
ขณะนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างและมีแผนที่จะปิดบริษัทที่จดทะเบียนในเคย์แมนเพิ่มอีก 5-10 บริษัทหากพบว่าบริษัทใดไม่มีความจำเป็น จากเดิมที่ได้ปิดไปแล้ว 4 บริษัท เนื่องจากมีการคืนแปลงสัมปทานปิโตรเลียมให้กับรัฐหลังจากไม่ประสบความสำเร็จในการสำรวจฯ ที่อียิปต์ อิหร่าน และบาห์เรน เป็นต้น และ ปตท.สผ.จะพยายามที่จะไม่เปิดบริษัทย่อยใหม่ในเคย์แมนเพิ่มเติมด้วย
“การมีบริษัทย่อยในเคย์แมน เกาะไซปรัส และที่อื่นๆ บางครั้งไม่สามารถเลี่ยงได้ เนื่องจากการซื้อกิจการแปลงปิโตรเลียมในต่างประเทศได้มีการจดทะเบียนตั้งบริษัทในเกาะเคย์แมนหรือเกาะไซปรัสมาก่อนอยู่แล้ว เช่น การซื้อโคฟ เอนเนอร์ยี ก็มีการตั้งบริษัทย่อยในไซปรัสถึง 3 บริษัท บางครั้งการยกเลิกบริษัทย่อยเหล่านี้ทำได้ยุ่งยากเพราะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลที่บริษัทได้ไปลงทุนก่อน และไม่เห็นว่าประเทศเหล่านี้จะมีผลเสียอะไร เพราะบริษัทน้ำมันข้ามชาติก็เปิดบริษัทในประเทศเหล่านี้อยู่แล้ว โดยบริษัทไม่ได้มุ่งหวังที่จะจดทะเบียนบริษัทในประเทศเหล่านี้เพื่อให้ไกลหูไกลตา ลักลอบทำโน่นทำนี่”
นายเทวินทร์ อธิบายว่า แม้ว่าเคย์แมนมีกฎหมายการจัดตั้งบริษัท การเพิ่มทุน การลดทุน และการปิดบริษัทที่ไม่ยุ่งยาก รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายในการจัดการที่ต่ำ ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติทั่วไปของบริษัทน้ำมันนานาชาติรายใหญ่ทั่วโลก โดย ปตท.สผ.มีการเสียภาษีทั้งในประเทศไทยและประเทศที่ลงทุนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
สำหรับด้านธุรกรรมการเงิน ปตท.สผ.ไม่มีการเปิดบัญชีธนาคารในเคย์แมน โดยบัญชีของบริษัทในเคย์แมนเป็นบัญชีที่เปิดในประเทศไทยหรือในประเทศที่บริษัทไปลงทุน ซึ่งขั้นตอนการเปิดบัญชีและธุรกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นเป็นไปตามข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ โดยมี ปตท.สผ. สำนักงานใหญ่เป็นผู้บริหารจัดการและดูแลบัญชีดังกล่าว และมีคณะกรรมการบริษัทเป็นผู้กำกับดูแลเพื่อความถูกต้องและโปร่งใส รวมทั้งมีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้การตรวจสอบและรับรองงบการเงินของบริษัทในเคย์แมนทุกบริษัท เว้นบริษัท Taninthayi Pipeline Company LLC ซึ่งเป็นกิจการที่ควบคุมร่วมกัน โดย ปตท.สผ. ถือหุ้น 19.3178% และมีบริษัท Ernst & Young เป็นผู้ตรวจสอบบัญชี
ทั้งนี้ ปตท.สผ.ได้มีการจดทะเบียนตั้งบริษัทย่อยที่เคย์แมนเมื่อปี 2541 เป็นครั้งแรก เนื่องจากได้มีการเข้าไปร่วมลงทุนในพม่า ซึ่งพาร์ตเนอร์ก็มีการจดทะเบียนบริษัทที่นั่นเช่นกัน
ถึงแม้จะออกมาชี้แจงต่อสาธารณชน แต่นางสาวรสนา ก็ยังรุกไล่ต่อโดยตั้งข้อสังเกตว่า “การรีบร้อนปิดบริษัทในเกาะเคย์แมนที่ถูกค้นพบ มีคนตั้งข้อสังเกตว่าคือการทำลายหลักฐานเพื่อไปหาที่ซ่อนเงินไกลตาใหม่หรือเปล่า? ไหนว่ามีธรรมาภิบาลเป็นเลิศ และที่พูดเองเออเองว่าโปร่งใสนั้น ที่จริงต้องให้คนที่ไม่มีผลประโยชน์ตรวจสอบ และการันตีให้จึงจะถูกต้องไม่ใช่รีบมาออกตัวเอาเองว่าตัวเองโปร่งใส ถ้าอยากพิสูจน์ว่าตัวเองโปร่งใส ก็แค่เอาbook bank ที่ไปเปิดบัญชีที่เคย์แมนมาวางให้สื่อและทุกฝ่ายตรวจสอบ อุปมาคนมีพิรุธว่าขโมยของในห้าง หากถูกจับได้ก็ต้องขอตรวจค้นกระเป๋าก่อนออกจากห้าง ไม่ใช่เดินลอยหน้าลอยตาออกไปเฉยๆ”
เปิดศึกแลกกันหมัดต่อหมัดขนาดนี้ ดูเหมือนการพยายามสร้างภาพพจน์ให้ ปตท.กลับมาเป็นที่รักของประชาชนอีกครั้ง ตามความตั้งใจของนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ประธานบอร์ด ปตท. คงจะยังอีกยาวไกล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น