กระทรวงพลังงานรอ “สปช.” ส่งรายงานอย่างเป็นทางการพร้อมรับฟังแต่หลักการยังคงเดินหน้าเปิดให้ยื่นสิทธิ์สำรวจตามเดิมภายใน 18 ก.พ.นี้ ยืนยันไม่ได้รีบเหตุแผนงานดังกล่าวได้วางไว้ตั้งแต่ปี 2553 เหตุสำรองก๊าซฯ ในไทยเริ่มถดถอย ย้ำผลประโยชน์สัมปทานไม่ต่างจากระบบแบ่งปัน
นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงานและสมาชิกสภาปฏิรูปด้านพลังงาน หรือ สปช. เปิดเผยว่า ได้หารือและรายงานถึงกรณีมติ สปช. 130 ต่อ 79 คะแนนที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สปช.เสียงข้างมาก ให้เดินหน้าสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ต่อนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน ในช่วงเช้าวันนี้ (14 ม.ค.) ซึ่ง รมว.ยังไม่มีนโยบายเปลี่ยนแปลงใด กระทรวงพลังงานจึงพร้อมที่จะเดินหน้าตามกรอบเดิม
“คงต้องรอให้ สปช.ส่งรายงานผลสรุปอย่างเป็นทางการมาก่อนหลังจากนั้นจะดูข้อเสนอต่างๆ แต่หลักการปัจจุบันยังไม่เปลี่ยนแปลงใดๆ เพราะกระทรวงพลังงานมีหน้าที่บริหารและมีหน้าที่รับฟังจาก สปช. ทางกระทรวงพลังงานพร้อมเดินหน้าตามรัฐบาล โดยการศึกษาเรื่องนี้เป็นไปตามที่รัฐบาลส่งมาให้ สปช.ศึกษาหลังประกาศปิดสัมปทานรอบ 21 ไปเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 57 และเห็นว่าสัมปทานรอบ 21 ควรเปิดตามที่ประกาศไปแล้วเพราะเป็นเรื่องจำเป็น” นายคุรุจิตกล่าว
นายคุรุจิตกล่าวว่า ทาง สปช.พลังงานศึกษา 3 ประเด็น คือ 1. ให้เปิดสัมปทานรอบ 21 ใช้ระบบสัมปทานประเทศระบบที่ 3 หรือไทยแลนด์ทรี 2. ยกเลิกสัมปทาน 21 แล้วให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต หรือพีเอสซี และ 3. เปิดสัมปทานรอบ 21 ใช้ระบบสัมปทานไทยแลนด์ทรีพลัส หรือระบบที่ 3 พิเศษ และให้ศึกษาระบบพีเอสซีว่าสมควรจะใช้ในการประกาศเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบต่อไปหรือไม่ ซึ่ง สปช.พลังงานได้เลือกข้อสรุปที่ 3 ส่งต่อให้รัฐบาล
นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ขณะนี้การเปิดสัมปทานรอบ 21 ก็ยังเป็นไปตามมติ ครม. โดยจะปิดรับข้อเสนอในวันที่ 18 ก.พ. 2558 เช่นเดิม โดยมีผู้สนใจมาขอดูข้อมูลทั้งรายเก่าและรายใหม่นับสิบราย ซึ่งจะมีการยื่นขอมากน้อยแค่ไหนคงจะต้องรอดูช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนปิดรับข้อเสนอ
ทั้งนี้ ยืนยันว่าการดำเนินการทั้งหมดไม่ได้เป็นการเร่งรีบเพราะได้เตรียมการเปิดมาตั้งแต่ปี 2553 ด้วยเหตุที่ไทยต้องการก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นแต่การจัดหาในประเทศเริ่มน้อยลง ดังนั้นการเปิดสัมปทานฯ ครั้งนี้จึงเป็นการเพิ่มปริมาณสำรองก๊าซฯ ภายในประเทศเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศที่ปัจจุบันไทยก็ต้องพึ่งพิงการนำเข้าพลังงานกว่า 50% ของความต้องการใช้ภาพรวมหรือคิดเป็นมูลค่าปีละกว่า 1.44 ล้านล้านบาท
นอกจากนี้ ระบบสัมปทานรอบ 21 ผลประโยชน์ของรัฐไม่น้อยกว่าพีเอสซี โดยแบ่งปันผลประโยชน์ของรัฐและเอกชนในสัดส่วน 72% ต่อ 28% หลังหักจากค่าใช้จ่ายไปแล้ว และการดำเนินการไม่ซ้ำซ้อน โปร่งใสกว่าเพราะทุกอย่างเป็นไปตามที่รัฐประกาศ แต่พีเอสซีต้องแก้กฎหมายตั้งองค์กรใหม่มาเจรจารายสัญญากับเอกชน หลังอนุมัติโครงการแล้วทุกสัญญาของเอกชนที่จะไปว่าจ้างต่อต้องขอความเห็นชอบจากองค์กรใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น ซึ่งทำให้การทำงานล่าช้าและอาจเป็นช่องโหว่ของการแสวงหาผลประโยชน์ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น