วันอังคารที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เปิดประวัติผู้ทรงคุณวุฒิ 'ซุปเปอร์บอร์ด รสก.' เป็นใครมาจากไหน?


โดย ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ 27 มิ.ย. 2557 18:50

เปิดประวัติผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ หรือซุปเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ ภายหลัง คสช.ได้มีคำสั่งแต่งตั้งจำนวน 17 คน โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นประธาน....
ส่วนกรรมการอื่นๆ ประกอบด้วย รองหัวหน้าและหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจของ คสช. รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
นอกจากนี้ ยังมีชื่อกรรมการที่น่าสนใจ ได้แก่ นายบัณฑูร ล่ำซำ นายบรรยง พงษ์พานิช นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล นายรพี สุจริตกุล นายวิรไท สันติประภพ และนายทวีศักดิ์ กออนันตกูล เข้ามาทำหน้าที่ซุปเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะมีหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์การบริหารรัฐวิสาหกิจ มีโครงสร้างคล้ายกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีอำนาจในการดูแลแต่งตั้งคนเข้ามาเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจให้มีความเหมาะสม พิจารณาอนุมัติการลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้มีความเชื่อมโยงกัน และไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อน และตรวจสอบโครงการต่างๆ ของรัฐวิสาหกิจ ที่มีมูลค่า 100 ล้านบาทขึ้นไป ก่อนการอนุมัติดำเนินการ
สำหรับ นายบัณฑูร ล่ำซำ อายุ 61 ปี ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในอดีตเคยมีความเห็นเรื่องนโยบายเศรษฐกิจไม่ตรงกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี จนถึงขั้นปะทะคารมกันมาแล้วจนเป็นที่ฮือฮา และยังรับรางวัลนักการเงินแห่งปีถึง 3 ครั้ง ในปี 2537 2542 และ 2552 

นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ริเริ่มนำคำว่า รื้อปรับระบบองค์กร (Re-engineering) มาใช้กับประเทศไทย ภายหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ และนำมาสู่การเปลี่ยนโลโก้ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งใช้มาจนปัจจุบัน และจากการที่คนในตระกูลล่ำซำมีสัมพันธ์กับพรรคประชาธิปัตย์มาเนิ่นนาน จนมีกระแสข่าวเมื่อปี 2547 ว่า นายบัณฑูร ถูกทาบทามให้มานั่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ได้มีการปฏิเสธไป เพราะไม่มีความสนใจที่จะก้าวสู่แวดวงการเมือง อีกทั้งงานแบงก์ และกิจกรรมสังคมมีมากจนแทบไม่มีเวลา และขอเวลาทุ่มให้แก่การเขียนนิยายรักดีกว่า ซึ่งที่ผ่านมาปี 2556 มีผลงานเขียนหนังสือจินตนิยายอิงประวัติศาสตร์ เรื่อง "สิเนหามนตาแห่งลานนา" แบ่งเป็น 2 ภาค ภาคแจ้ง คือ เรื่องราวในปัจจุบัน ที่หญิงสาว และชายหนุ่มอีก 2 คน ได้ไปเที่ยวจังหวัดน่านเมื่อเดือน ม.ค. 2556 ระยะเวลา 7 วัน และภาคเงา ที่เป็นเรื่องราวในอดีต 600-700 ปี ซึ่งทั้ง 2 ภาค มีความสัมพันธ์ และเชื่อมโยงกัน
ส่วนบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิ ในซุปเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจอีกคน ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุลอายุ 61 ปี ปัจจุบันเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ 22 ของประเทศ ต่อจากนางธาริษา วัฒนเกส และถือเป็นลูกหม้อแบงก์กสิกรฯ เป็นอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกสิกรไทย นอกจากนั้นยังเคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
นอกจากนั้น ยังเคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญในสังคมอีกหลายตำแหน่ง เช่น คณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน กระทรวงการคลัง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ ที่ปรึกษา คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย อีกทั้งได้รับการเสนอชื่อและได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสมาคม ธนาคารไทย (TBA) ทำให้มีประสบการณ์ครอบคลุมอย่างกว้างขวางในธุรกิจธนาคารและตลาดการเงิน
ที่ผ่านมาในช่วงที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาการส่งออก เนื่องจากค่าเงินบาทแข็ง ปรากฏความขัดแย้งระหว่าง ดร.ประสาร กับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น ปะทุขึ้นอีกครั้ง จากความเห็นที่แตกต่างในการดำเนินนโยบายดอกเบี้ย จนเกิดกระแสการปลดออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ โดยนายกิตติรัตน์ ส่งสัญญาณชัดเจนว่า ต้องการให้แบงก์ชาติประกาศลดดอกเบี้ย เพื่อสกัดกั้นเงินทุนไหลเข้า ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ค่าเงินบาทแข็ง และส่งผลกระทบต่อการส่งออก แต่ ดร.ประสาร ไม่ยอมตอบสนอง โดยระบุว่า เงินทุนที่ไหลเข้า ไม่ได้เกิดจากอัตราดอกเบี้ยเพียงองค์ประกอบเดียว และการลดดอกเบี้ยก็ต้องพิจารณาผลข้างเคียงอื่นด้วย โดยเฉพาะเงินเฟ้อ นำไปสู่ฟองสบู่ในระบบเศรษฐกิจ
ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มาจากวงการตลาดทุน นายบรรยง พงษ์พานิช อายุ 60 ปี นักบริหารการเงินชื่อดัง มากประสบการณ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) เคยเป็นอดีตประธานกรรมการ บริษัท หลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) และอดีตบอร์ดการบินไทย นายบรรยง ถือเป็นโบรกเกอร์รุ่นเก่าแก่ที่อยู่คู่ตลาดทุนมานาน และเป็นอดีตเทรดเดอร์คนสำคัญตั้งแต่ยุคเคาะกระดาน
ที่ผ่านมา นายบรรยงเคยมีวิสัยทัศน์ผ่านทางข้อเขียนเกี่ยวกับพลังงานไทยที่ต้องปรับปรุง โดยเฉพาะการขายหุ้น ปตท. เมื่อปี 2544 ให้กับรายย่อยที่มีผู้คนสนใจมาเข้าคิว แต่หุ้นถูกกันเอาไว้ให้กับลูกค้าของขาใหญ่หมดภายในไม่ถึง 2 นาที จึงมองว่า เป็นการฉ้อฉลเอาเปรียบ ทำไม่ถูก มีการตั้งข้อครหาว่าแปรรูปผลประโยชน์ไปให้เอกชนที่มาถือหุ้น    
    
คนต่อมา ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล อายุ 60 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อปี 2556 ได้ออกมาต่อต้านการบริหารงานของนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในขณะนั้น พร้อมกับเจ้าหน้าที่และพนักงานในสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยยืนยันจะปกป้องเกียรติของ สวทช.ไม่ให้ถูกนักการเมืองย่ำยี
สำหรับ ดร.ทวีศักดิ์ ในอดีตเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) นอกจากนี้ ยังเคยเป็นผู้ช่วยผู้จัดรายการสถานีวิทยุบีบีซี ภาคภาษาไทย กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ปี 2524, อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปี 2526 เป็นต้น
ขณะที่ผู้ทรงคุณวุฒิอีกคน ถือว่ามีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย นายรพี สุจริตกุลปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย (มหาชน) เคยเป็นตัวเต็งที่จะขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกสิกรไทย แทน ดร.ประสาร ที่ไปดำรงตำแหน่งผู้ว่า แบงก์ชาติ ในอดีตเคยเป็นนิติกรฝ่ายกฎหมาย ธนาคารแห่งประเทศไทยมาก่อน เนื่องจากเป็นนักเรียนทุนธนาคารแห่งประเทศไทย จบปริญญาโท ด้านกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยบริสตอล ประเทศอังกฤษ จากนั้นมาดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นั่งตำแหน่งสำคัญเป็นผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
สุดท้าย ดร.วิรไท สันติประภพ อายุ 44 ปี นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ที่ทำงานในระดับนานาชาติ บุตรชาย พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ดีกรี ปริญญาโท-ปริญญาเอก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เคยเป็นที่ปรึกษาช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งให้กับนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จากพรรคประชาธิปัตย์ และประสบการณ์ทำงานจากภาคเอกชนมาโชกโชน เคยดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการ สายงานพัฒนาและวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทเอกชนบางแห่งและที่ทีดีอาร์ไอ
นอกจากนี้ ยังทำงานเพื่อสังคม ให้กับมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น