การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นโมฆะ |
|
ความขัดแย้งในทางการเมืองระหว่างรัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้านและกลุ่มคนเสื้อแดง รัฐบาลได้ใช้นโยบายการปรองดองโดยแสดงออกที่จะให้ความช่วยเหลือให้คนเสื้อแดงได้รับการประกันตัว เพื่อให้เกิดการปรองดองระหว่างรัฐบาลกับพรรคการเมืองฝ่ายค้านและคนเสื้อแดงเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งผลที่สุดแกนนำและคนเสื้อแดงที่ได้ทำการรุนแรงเผาบ้านเรือน อาคารร้านค้าของประชาชน และถูกตั้งข้อหาร้ายแรงเป็นผู้ก่อการร้ายหมิ่นสถาบัน หลายคนก็ได้รับการประกันตัวออกมากดดันรัฐบาลเพื่อให้ยุบสภาอีกเป็นครั้งคราว โดยการชุมนุมในที่สาธารณะตามเวลาและโอกาสที่จะอ้างเพื่อการชุมนุม ซึ่งผลที่สุดรัฐบาลก็ได้ยุบสภาและจะมีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ทั้งๆที่มิได้มีความปรองดองระหว่างพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านกับคนเสื้อแดงแต่อย่างใดเลย
ในระหว่างที่รัฐบาลมีปัญหากับการต่อต้านของฝ่ายค้านและกลุ่มคนเสื้อแดง ในการดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลเอง ก็เกิดปัญหาการแคลงใจของประชาชนอีกกลุ่มคนหนึ่งคือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ พธม. เพราะมีการกระทำของรัฐบาลไทยอันเป็นการกระทำที่เคลือบแคลงว่าเป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้แก่กัมพูชา และจะทำให้ไทยต้องเสียอำนาจอธิปไตยในดินแดนให้กับกัมพูชา จึงได้เกิดจากชุมนุมกันขึ้นมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 เป็นต้นมา โดยพันธมิตรฯมีข้อเรียกร้อง 3 ประการให้รัฐบาลปฏิบัติ เพื่อไม่ให้ไทยต้องเสี่ยงกับการเสียอำนาจอธิปไตยในดินแดนคือ ( 1) ยกเลิก MOU’43 ( 2 ) ยกเลิกการเป็นสมาชิกองค์กรมรดกโลก และ( 3) หาทางกดกันให้ทหารและประชาชนชาวกัมพูชาออกไปจากดินแดนอาณาเขตประเทศไทย การชุมนุมของพันธมิตรฯที่มีข้อเรียกร้องที่ชัดเจน จึงเป็นการชุมนุมที่มิได้มีลักษณะเป็นข้อเรียกร้องเพราะไม่ได้รับความเป็นธรรมเป็นการส่วนตัวจากรัฐบาล แต่เป็นการชุมนุมที่มีลักษณะเป็นการแสดงบทบาทการมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรม ในกรณีที่รัฐบาลยังคงใช้ MOU’43 ทั้งๆที่กัมพูชาละเมิด MOU’43 ตลอดมา และยินยอมให้กัมพูชานำปราสาทพระวิหารไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นการชุมนุมเพื่อทำหน้าที่ในฐานะเป็นชนชาวไทยในการป้องกันประเทศรักษาผลประโยชน์ของชาติ ( ร.ธ.น.มาตรา 70,71 ) อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ และในระหว่างการชุมนุมก็ได้มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามมา ซึ่งกัมพูชาได้นำเรื่องยื่นต่อศาลโลกและต้องไปต่อสู้คดีกันที่ศาลโลก ผู้ชุมนุมก็ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลยอมรับอำนาจของศาลโลก เพราะไทยได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกและไม่จำต้องยอมรับเขตอำนาจศาลโลกได้ ทั้งไทยได้สงวนสิทธิของความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารโดยโต้แย้งคำพิพากษาศาลโลกไว้ที่องค์การสหประชาติ กับไม่ยอมรับหรือเห็นด้วยที่จะไปจ้างทนายความชาวฝรั่งเศส เนื่องจากเป็นฝรั่งเศสเป็นเจ้าอาณานิคมของกัมพูชามาก่อน ปัญหาเขตแดนเป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากข้อพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในอดีต จึงไม่น่าไว้วางใจทนายความดังกล่าว การชุมนุมได้ยืดเยื้อมาเป็นเวลาหลายเดือน โดยรัฐบาลไม่ได้ให้เหตุผลถึงข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมให้เป็นที่ประจักษ์ตามสิทธิที่ประชาชนได้ใช้สิทธิตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด ( ร.ธ.น. มาตรา 62 วรรคแรก) เมื่อมีการรุกรานทางทหารของกัมพูชาโดยการใช้อาวุธปืนยิงเข้ามาในเขตประเทศไทย ก็ได้มีการสั่งการเพื่อการตั้งรับการรุกรานของกัมพูชาแทนการขับไล่กัมพูชาให้ออกนอกเขตประเทศไทย พฤติการณ์ที่ปฏิบัติต่อกันในการรักษาอธิปไตยมีข้อสงสัยว่า เป็นการสมรู้ร่วมคิดกันที่จะยกดินแดนไทยบางส่วนให้กับกัมพูชาหรือไม่ เพราะกัมพูชาได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรซึ่งเป็นเขตอุทยานแห่งชาติของไทยไปแล้ว และมีการรุกรานแนวชายแดนหลายแห่งจนเป็นข่าวมาเป็นระยะๆ รัฐบาลแก้ปัญหาระหว่างประเทศอย่างอ่อนด้อยนำพาประเทศไปสู่ความสูญสิ้นซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งความเป็นรัฎฐาธิปัตย์ในเวทีโลกอย่างไม่น่าเชื่อ จนมีข้อกังขาว่าเป็นการขายชาติหรือทรยศต่อแผ่นดินหรือไม่ จนมีประชาชนฟ้องคดีต่อศาล และแจ้งความดำเนินคดีหลายคดี ปัญหาภายในประเทศก็หย่อนยานในการใช้หลักนิติรัฐในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองที่ต้องถือว่า สิ่งที่เกี่ยวกับสาธารณประโยชน์ ย่อมเป็นกฎหมายสูงสุดมิใช่มุ่งหวังเอาการปรองดองระหว่างพรรคการเมืองด้วยกันเองเป็นที่ตั้ง ปล่อยประชาชนให้โหยหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินโดยลำพังและเดียวดายจากการชุมนุมที่จัดเป็นมหกรรมทางการเมืองขึ้นเป็นครั้งคราวของนักการเมืองฝ่ายค้านและคนเสื้อแดง เสมือนหนึ่งประชาชนและธุรกิจของประชาชนเป็นเพียงตัวประกันในการต่อรองการแย่งชิงอำนาจรัฐกันในทางการเมือง โดยเรียกร้องและมีข้อตกลงกันที่จะยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ รัฐบาลได้ปฏิเสธการใช้อำนาจรัฐในการคุ้มครองประชาชนและพลเมืองของชาติโดยสิ้นเชิง ทั้งในเรื่องผู้ค้าที่ราชประสงค์และกรณีนายวีระและนางสาวราตรีที่ถูกจับดำเนินคดีที่กัมพูชา เป็นการบริหารราชการแผ่นดินโดยละทิ้งประชาชน บริหารราชการโดยขาดหลักดุลยภาพของการมีส่วนรวมของประชาชนในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามวิถีทางการปกครองในระบบรัฐสภา บริหารราชการโดยมีข้อครหาว่า มีการทุจริตคอร์ปชั่นกันอย่างมโหฬารก่อนการยุบสภา การยุบสภาของนายยกรัฐมนตรีในขณะที่กำลังมีปัญหาที่วิกฤติของประเทศซึ่งกำลังอยู่ในเวทีโลก และกำลังจะนำประเทศเข้าสู่อำนาจของศาลโลก ซึ่งกลุ่มพันธมิตรฯได้ตรวจสอบอยู่อย่างกระชั้นชิดและเกาะติดสถานการณ์นำมาเปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลไม่มีแผนในการดำเนินการของรัฐบาลที่ทำความเข้าใจต่อประชาชนแต่อย่างใดพฤติการณ์ของการยุบสภาจึงเป็นการยุบสภาเพื่อหนีการถูกตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของรัฐบาล และแอบแฝงการใช้อำนาจรัฐในระหว่างการยุบสภานำพาประเทศไปสู่ศาลโลก โดยสามารถอ้างถึงความจำเป็นที่ไม่ต้องผ่านรัฐสภาเพราะอยู่ในเวลาที่สภาถูกยุบได้
ในการรับสมัครเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2554 ประชาชนจึงเห็นภาพและรายชื่อของผู้ที่สมัครรับเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงที่ได้ก่อเหตุร้ายขึ้นในบ้านเมืองและถูกดำเนินคดีอาญา ซึ่งคดีอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีทั้งสิ้น แต่บุคคลดังกล่าวก็กลับมาอยู่บนเส้นทางการนำไปสู่การเป็นผู้ปกครองประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐอีกครั้งหนึ่ง โดยพรรคการเมืองเสนอให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อ ในขณะเดียวกันพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลก็เป็นบุคคลที่ได้บริหารราชการแผ่นดินที่ล้มเหลวในสายตามของประชาชนนั้นมาสู่บนถนนการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งด้วยเช่นกัน
ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจึงได้เห็นภาพของนักการเมืองและพรรคการเมืองออกประกาศนโยบายการปรองดอง นโยบายการไม่แก้แค้นแต่ต้องการแก้ไข นโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำความผิด นโยบายการรื้อระบบศาล รื้อองค์กรอิสระ นโยบายการใช้ระบบประชานิยมโดยมีการให้แจกฟรีแก่ประชาชน ในทุกรูปแบบ รวมทั้งนโยบายให้คณะรัฐมนตรีหยุดโกงครึ่งปีฯลฯ ประชาชนได้เห็นข่าวออกสู่สาธารณะของการข่มขู่ข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ อธิบดี ดีเอสไอเป็นต้น ได้เห็นข่าวการยิงนักการเมืองและหัวคะแนนนักการเมือง ข่าวการประกาศการให้รางวัลล่าจับมือปืนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ข่าวที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งขอให้ตำรวจอารักขาจำนวนกว่าร้อยราย ได้เห็นข่าวของผู้ที่เป็นหัวหน้าพรรคและไม่ใช่เป็นหัวหน้าพรรครวมทั้งอดีตหัวหน้าพรรคที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเจรจาเพื่อร่วมกันหรือไม่ร่วมกันที่จะมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งหนึ่งอย่างเอิกเกริกและเมามัน
การที่พรรคการเมืองนำสมาชิกพรรคการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งอันเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเพราะมีการยุบสภา ( ร.ธ.น. ม.106 (1) และม.107 ) เมื่อมีการเลือกตั้งสส.กันใหม่ บุคคลสองประเภทที่จะต้องตกอยู่ภายใต้การบังคับใช้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญคือ “ ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสส. ” และ “ บุคคลผู้ใช้สิทธิหรือมีสิทธิเลือกตั้งสส. ” โดยบุคคลทั้งสองประเภทจะต้องถูกกฎหมายรัฐธรรมนูญบังคับใช้ในเรื่อง “ คุณสมบัติของสถานภาพ ” ( Status ) และ “ คุณลักษณะในความไม่สามารถในการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งและการไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ” ( Incapability ) ตามรัฐธรรมนูญ ม.99 , ม.100 และ ม.101 ,ม.102 ทันที โดยรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติถึง “ คุณสมบัติในทางคุณภาพ ” ( quality , eligibility ) “ คุณสมบัติในความเป็นคน ” ( Being human ) “ คุณสมบัติความสมบูรณ์ของความเป็นคน ” ( Ideal person ) “ คุณสมบัติของความเป็นคนที่มีศีลธรรม ”
( Virtuous person ) “ คุณสมบัติของการเป็นคนที่มีคุณแก่ส่วนรวม ” ( Social benefactor ) ฯลฯ และคุณสมบัติอื่นๆที่เป็นพื้นฐานทางจริยธรรม มโนธรรมของบุคคลที่เป็นผู้ปกครองคนและประเทศชาติ และบุคคลที่มีส่วนในการเลือกผู้ปกครองคนในชาติคือ “ ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ” และ “ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ” ไว้แต่อย่างใดไม่ และสาเหตุที่ไม่ได้บัญญัติคุณสมบัติในทางคุณภาพของบุคคลทั้งสองจำพวกไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่เป็นแม่แบบของการปกครองประเทศ ( Organic and fundamental law of nation or state ) จึงไม่อาจบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญได้ เพราะอาจมีผลกระทบถึงความไม่เท่าเทียมกัน( unequality ) และสุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นการแบ่งแยก แบ่งชั้นชนชาติกันได้ ( Discrimination ) ทั้งการกำหนดคุณสมบัติในทางคุณภาพจะต้องแก้ไขได้และต้องแก้ไขได้ง่ายตามสภาพของสังคม จึงเป็นเรื่องที่จะนำมาบัญญัติในรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่แก้ไขได้ยาก ( Rigid constitution ) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐธรรมนูญเปิดช่องให้คนเลว คนชั่ว คนไม่มีคุณธรรม คนทำผิดกฎหมาย หรือคนไม่มีคุณภาพเข้ามาเป็นผู้ปกครองประเทศได้แต่อย่างใด
การกำหนดคุณสมบัติในทางคุณภาพของความเป็นคนที่มีคุณภาพและมีศีลธรรมที่จะขึ้นมาเป็นผู้ปกครองคนในชาติในแบบรัฐสภานั้น เป็นพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าขาดการกำหนดคุณสมบัติในทางคุณภาพของความเป็นคนในกรณีดังกล่าวแล้ว การเลือกตั้งก็จะขัดต่อพื้นฐานการปกครองประเทศตามระบอบประชาธิปไตยทันที อันเป็นหลักสากลที่ทราบกันเป็นอย่างดี เพราะเป็นการบังคับให้มีการเลือกคนที่มาปกครองตนเองโดยปราศจากซึ่งหลักประกันขั้นพื้นฐานของการคัดเลือกผู้ปกครองของ “ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง” ซึ่งก็จะกลายเป็นการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรมของ “ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง” และของประชาชนในชาติทุกคน การเลือกตั้งก็อาจจะได้โจร ได้คนชั่ว ได้มือปืน ได้คนทำผิดกฎหมาย ได้คนโกงมาปกครองประเทศโดยวิถีทางการเลือกตั้ง กติกาของการเลือกตั้งที่ยอมรับในการนับคะแนนเลือกตั้งนั้น “ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง” จะต้องได้รับความเป็นธรรมที่ต้องมีโอกาสสูงสุดในการเลือกตั้งคนที่มีคุณภาพมาปกครองตนเอง
แต่เมื่อการเลือกตั้งเป็นระบบพรรคการเมือง ตามหลักการในระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งระบบพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเลือกตั้งโดย “ การลงคะแนนเลือกตั้ง” หรือ “ โดยแบบบัญชีรายชื่อ ” ซึ่ง “ ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ” จะต้องเลือกพรรคการเมืองนั้นแล้ว พรรคการเมืองจะต้องเป็นผู้มีหน้าที่เลือกบุคคล “ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ” ที่ดีที่สุดมาเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเสียก่อน อันเป็นหลักสำคัญในระบอบประชาธิปไตย แต่หากพรรคการเมืองไม่คัดสรรผู้สมัครรับเลือกตั้งในเบื้องต้นให้เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติในคุณภาพและมีศีลธรรมที่ดีที่สุดแล้ว การเลือกตั้งนั้นก็จะไร้ซึ่งความสุจริตและเที่ยงธรรมสำหรับ “ ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ” และประชาชนที่ยังไม่มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศมาตั้งแต่แรกเริ่ม และขัดต่อหลักการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา เพราะรัฐธรรมนูญต้องคุ้มครองสิทธิของ “ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง” และ “ ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง” รวมทั้ง “ ประชาชนที่ยังไม่มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศ ” อย่างมีดุลยภาพในการได้คนดีมาปกครอง คุณสมบัติในทางคุณภาพของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งที่ดี จึงเป็นรากฐานในความสุจริตและเที่ยงธรรมของการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย
เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญจึงได้บัญญัติให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไว้ถึง 4 ฉบับ โดยให้ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือประธานกกต.เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง อันเป็นการที่รัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจ “ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.” มีอำนาจในการออกกฎหมายได้ด้วยองค์กรของกกต.เองโดยออกเป็นประกาศ หรือระเบียบ ซึ่งมีศักดิ์เป็นกฎหมายและใช้บังคับได้ทันที (ไม่ต้องผ่านสภาและต้องสอดคล้องกับร.ธ.น.และกฎหมาย ) เพื่อควบคุมการดำเนินการใดๆของพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้การเลือกตั้งและการดำเนินกิจการในทางการเมืองของพรรคการเมืองให้เป็นโดยสุจริตและเที่ยงธรรม [ ร.ธ.น.มาตรา 236 (1) ] ความสุจริตและเที่ยงธรรมจะต้องเกิดขึ้นกับทั้ง “ พรรคการเมือง ” “ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ” “ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ” และ “ ประชาชนทั้งประเทศ ” ตามหลักประชาธิปไตยที่มีการปกครองแบบรัฐสภา หาใช่จะมีความสุจริตและเที่ยงธรรมเฉพาะแต่ “พรรคการเมือง” และ “ ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง” แต่เพียงฝ่ายเดียวได้แต่อย่างใดไม่ การคัดเลือก “ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ” จึงไม่ได้อยู่ในอำนาจของ “ พรรคการเมือง” เท่านั้น แต่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ “ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. “ โดยอำนาจทางกฎหมายด้วย การกำหนดคุณสมบัติในทางคุณภาพของความเป็นคนและมีศีลธรรมของผู้สมัครรับเลือกตั้ง จึงต้องบัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและต้องออกเป็นประกาศ หรือระเบียบของกกต. ตามอำนาจหน้าที่ของกกต.ที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญและพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองและว่าด้วยกรรมการการเลือกตั้ง
ในทำนองเดียวกัน การกำหนดคุณสมบัติในทางคุณภาพของความเป็นคนที่มีคุณภาพและมีศีลธรรมของ “ ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง “ ก็มีผลต่อความสุจริตและเที่ยงธรรมต่อชาติและต่อประชาชนทั้งประเทศที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้งได้ เพราะ “ ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง” เป็นผู้มีอำนาจในการเลือกคนไปเป็นผู้ปกครองคนทั้งประเทศ กกต.จึงมีอำนาจและหน้าที่ในการออกประกาศ หรือระเบียบเกี่ยวกับคุณสมบัติในคุณภาพและความมีศีลธรรมของ “ ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ” เพื่อป้องกันการขายเสียงและการซื้อเสียง การประพฤติตนเป็นนายหน้าจัดการซื้อหรือขายเสียง ซึ่งเรียกว่าหัวคะแนน หรือมือปืนหัวคะแนนซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพของสังคมในขณะนั้นๆได้เช่นกัน[ ร.ธ.น.มาตรา 235 , 236 (1) ]
ดังนั้นกกต.จึงเป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จะต้องออกกฎหมาย โดยออกเป็นระเบียบกำหนดเพื่อควบคุมเกี่ยวกับการดำเนินใดๆของพรรคการเมือง ของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และของผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างมีดุลยภาพเพื่อให้เกิดความสุจริตและเที่ยงธรรม และเป็นไปตามการปกครองแบบรัฐสภาและในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ดังนั้นการออกระเบียบเพื่อควบคุมให้พรรคการเมืองสรรหา หรือคัดสรรสมาชิกผู้สมัครรับเลือกตั้งให้มีคุณสมบัติในทางคุณภาพและมีศีลธรรมตามมาตรฐานของความเป็นผู้ปกครองประเทศนั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างที่สุด เพราะหากมีการคัดเลือก “ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ” ไม่ดีหรือไม่มีการคัดเลือกแล้ว ก็จะมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งได้โดยตรง “ ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ” ก็จะเกิดสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะต่อต้านคัดค้านการเลือกตั้งได้ เพราะเป็นการเลือกตั้งซึ่งถือได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ( ตามนัย ร.ธ.น.มาตรา 68 วรรคหนึ่ง , 235 , 236 )ซึ่งก็ปรากฏให้เห็นการรณรงค์ของภาคประชาชน “ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง” ไม่ให้เลือกผู้ใดเข้าสภาขึ้นแล้วในปัจจุบัน
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 มาตรา 9 และ 10 ได้บัญญัติคุณสมบัติในคุณภาพและความมีศีลธรรมของพรรคการเมืองไว้โดยบัญญัติให้ พรรคการเมืองต้องมี “ นโยบาย ” และ “ ข้อบังคับพรรคการเมือง ” ซึ่งมีลักษณะที่ไม่ก่อให้เกิดความแตกแยกในเรื่องเชื้อชาติ หรือศาสนาในระหว่างชนในชาติ ไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร และไม่ขัดต่อกฎหมาย หรือ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ( พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ม.9 ) และพรรคการเมืองจะต้องมี “ ข้อบังคับพรรคการเมือง” ให้สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยกำหนดรายการที่ต้องมีข้อบังคับอย่างน้อยไว้ในกฎหมายเช่น (1) การเข้ารับเป็นสมาชิกและการให้ออกจากการเป็นสมาชิก ( 2 ) วินัยและจรรยาบรรณของสมาชิก กรรมการบริหารพรรคการเมือง และกรรมการสาขาพรรคการเมือง ( 3 ) หลักการและวิธีการเลือกสมาชิกเพื่อส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อฯลฯ [ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ม. 10 (7 )(10) ( 11 ) ] “ นโยบายพรรคการเมือง” และ “ ข้อบังคับพรรคการเมือง ” มิได้มีผลแต่เฉพาะนักการเมืองด้วยกันเอง แต่ “ นโยบายพรรคการเมือง ” และ “ ข้อบังคับพรรคการเมือง ” มีผลถึงสิทธิในการเลือกตั้งของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งและของประชาชนโดยทั่วไปที่จะต้องได้ผู้ปกครองที่มีคุณภาพทั้งทางนโยบายและคุณภาพของบุคคลผู้ปกครองซึ่งต้องกอร์ปด้วยคุณธรรมและจริยธรรมเยี่ยงผู้ปกครองประเทศแล้ว จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของกกต.ที่จะต้องควบคุมให้การดำเนินการจดทะเบียนนโยบายพรรคการเมืองให้เป็นไปตามหลักการของพรรคการเมือง กกต.จึงมีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องออกประกาศ หรือระเบียบอันจำเป็นที่จะกำหนดกรอบให้พรรคการเมืองต้องกำหนด “ นโยบายพรรคการเมือง ” เพื่อให้พรรคการเมืองและสมาชิกพรรคการเมืองต้องปฏิบัติตาม “ นโยบายพรรคการเมือง ” แต่ละพรรค โดยผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งและประชาชนสามารถทราบ “ นโยบายพรรคการเมือง ” แต่ละพรรคอย่างเป็นรูปธรรมได้ ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญกฎหมายพรรคการเมืองและสภาพสังคมในช่วงนั้นๆ กกต.มีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่จะต้องออกประกาศหรือระเบียบเพื่อให้พรรคการเมืองมีวินัย ( Discipline) และจรรยาบรรณ ( Ethics ) โดยต้องกำหนดคุณสมบัติในคุณภาพ ( quality ) ของสมาชิก กรรมการบริหารพรรคการเมือง และกรรมการสาขาพรรคการเมือง และต้องออกประกาศหรือระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้พรรคการเมืองเลือกสมาชิกเพื่อส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้ง กกต.ไม่สามารถปล่อยให้พรรคการเมืองจะกำหนดหรือไม่กำหนดนโยบายพรรคการเมืองตามอำเภอใจหาไม่ได้ จะปล่อยปละละเลยให้พรรคการเมืองจะกำหนดวินัยและจรรยาบรรณ หรือไม่กำหนดวินัยและจรรยาบรรณตามอำเภอใจไม่ได้ กกต.จะปล่อยปละละเลยให้พรรคการเมืองเลือกสมาชิกที่ไม่มีคุณสมบัติในทางคุณภาพ ไร้ซึ่งวินัย และไร้ซึ่งจรรยาบรรณ ขาดไร้ซึ่งศีลธรรม หรือเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายอาญาร้ายแรงที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักรและถูกดำเนินคดีอยู่ หรือเป็นผู้กระทำผิดคดีอาญาร้ายแรงอื่นใดมาลงสมัครรับเลือกตั้งตามอำเภอใจหาไม่ได้ เพราะปัญหาดังกล่าวกระทบต่อสิทธิในการเลือกตั้ง และสิทธิในการมีผู้ปกครองที่ดี มีความสามารถ มีวินัย มีคุณธรรมและจรรยาบรรณของ “ ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ” และของประชาชนโดยทั่วไปที่ยังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยตามระบบรัฐสภา เพราะมิฉนั้นแล้วจะมีผลทำให้การเลือกตั้งไม่ใช่เป็นการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งยังเป็นการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตเที่ยงธรรม และขัดต่อรัฐธรรมนูญอีกด้วย
การให้พรรคการเมืองออก ”นโยบายพรรคการเมือง “ และ ” ออกข้อบังคับ “ เกี่ยวกับวินัยและจรรยาบรรณตามอำเภอใจของพรรคการเมืองและสมาชิกพรรคการเมือง โดยไม่มีระเบียบของกกต.ควบคุมไว้ ก็จะไม่มีผลบังคับทางกฎหมายที่จะบังคับให้พรรคการเมืองและสมาชิกพรรคการเมืองต้องปฏิบัติตามนโยบายและข้อบังคับของตนเองได้แต่อย่างใดไม่ จึงเป็นที่เห็นได้ว่าพรรคการเมือง ( บางพรรค ) มีข้อบังคับโดยข้อบังคับนั้นไม่มีนโยบาย วินัย จรรยาบรรณ และคุณสมบัติสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อให้พรรคการเมืองเลือกสมาชิกส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้งไว้แต่อย่างใดเลย หรือมี แต่ไม่ผูกพันที่พรรคการเมืองจะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของตน เพราะกกต.ไม่ได้ออกประกาศหรือระเบียบออกบังคับใช้ในกรณีดังกล่าว “ นโยบายพรรคการเมือง” และ “ ข้อบังคับพรรคการเมืองเกี่ยวกับวินัยและจรรยาบรรณ และหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกสมาชิกเพื่อส่งสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ” นั้น มีผลกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งและประชาชนทั้งประเทศซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้อย่างรุนแรง ทั้งในขณะเลือกตั้งและจะเกี่ยวข้องกับสิทธิของประชาชนตลอดไปจนสิ้นระยะเวลาของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ( เพราะได้รับการเลือกตั้งแล้ว ) การที่กกต.ไม่ได้ออกประกาศหรือระเบียบออกใช้บังคับเพื่อควบคุมกำหนด “ นโยบายพรรคการเมือง ” และ “ ข้อบังคับพรรคการเมือง ” ในส่วนที่เกี่ยวข้องหรือมีผลต่อประชาชนและ “ ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ” โดยตรงแล้ว ก็จะเป็นกรณีที่กกต.ไม่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ในการ “ควบคุมระบบการเลือกตั้ง” ให้เป็นไปตามการปกครองแบบรัฐสภาและในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแต่อย่างใด และเป็นเหตุทำให้ “ระบบการเลือกตั้ง” ไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมและขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมนั้นจะต้องสุจริตและเที่ยงธรรมต่อประชาชน “ ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ” และประชาชนที่ยังไม่มีสิทธิที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นสำคัญด้วย
ดังจะเห็นตัวอย่างการจดทะเบียนพรรคการเมืองที่จดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองไว้แล้ว บางพรรคได้ออกข้อบังคับโดยไม่มีนโยบาย วินัย จรรยาบรรณ รวมทั้งคุณสมบัติของบุคคลที่พรรคจะต้องคัดเลือกส่งลงสมัครรับเลือกตั้งไว้อย่างเป็นรูปธรรมที่จะต้องปฏิบัติตามนโยบายและข้อบังคับนั้นได้เลย พรรคการเมืองจึงสามารถส่งบุคคลผู้ไม่มีคุณภาพ ไม่มีวินัยและไม่มีจรรยาบรรณลงสมัครรับเลือกตั้งได้ เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 102 กำหนดไม่ให้ผู้ติดยาเสพติดให้โทษมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ ถ้าอาศัยเพียงบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญโดยกกต.ไม่ได้ออกระเบียบ กำหนดกรอบเกี่ยวกับนโยบายพรรค วินัย จรรยาบรรณ และคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งไว้ พรรคการเมืองก็สามารถส่งผู้ค้ายาเสพติดให้โทษ , มือปืน , เจ้าของบ่อนการพนัน , เจ้าของซ่องโสเภณี , ผู้กระทำความผิดอาญาทุกประเภททุกชนิดและอยู่ในระหว่างการดำเนินคดี รวมทั้งจะส่งใครก็ได้ที่ยอมเป็น “นอมินีของผู้มีอิทธิพลในพรรค” หรือ “ นอมินีจากต่างชาติ” ลงสมัครรับเลือกตั้งก็ได้ทั้งสิ้น หรือพรรคการเมืองบางพรรคออกข้อบังคับของพรรคโดยมีข้อบังคับเกี่ยวกับวินัยและจรรยาบรรณไว้ดีเลิศว่า “ สมาชิกไม่กระทำการใดๆอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือผิดศีลธรรม หรือเป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีและเป็นที่ครหาของบุคคลทั่วไป “ แต่พรรคการเมืองนั้นก็มิได้เลือกบุคคลที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของพรรคลงรับสมัครรับเลือกตั้งแต่อย่างใด แต่กลับนำเอาบุคคลที่ได้กระทำผิดกฎหมายและกำลังถูกดำเนินคดีมาลงสมัครรับเลือกตั้ง อันเป็นการคัดเลือกบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้งโดยขัดต่อข้อบังคับของพรรคเอง และยังคัดเลือกบุคคลที่ได้มีการกระทำความผิดอันเข้าข่ายเกี่ยวกับความเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 9 และเข้าข่ายของการยุบพรรคมาตรา 94 มาเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งอีกด้วย ซึ่งก็จะมีผลกระทบทำให้การเลือกตั้งที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้นั้น เป็นการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรมต่อ ” ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง” และต่อประชาชนแต่อย่างใด ทั้งไม่เป็นไปตามการปกครองแบบรัฐสภาและตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งเป็นการขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
การที่กกต.ไม่ออกประกาศหรือระเบียบเกี่ยวกับการจัดตั้งพรรคการเมืองในการกำหนด
“ นโยบายพรรคการเมือง” โดยไม่ปรากฏคำจำกัดความของคำว่า “ นโยบายพรรคการเมือง” คืออะไร ทำให้ประชาชนทั่วไปและผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งไม่อาจเห็นถึงศักยภาพหรือความสามารถของพรรคการเมืองในการมีความคิดหรือจุดประสงค์ในการพัฒนาประเทศไปในแนวที่ดีทางใดและจะพัฒนาอย่างไร แต่ “ ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ” และประชาชนโดยทั่วไปจะเห็น การโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งมีแต่โฆษณาอุปนิสัย หรือ ความต้องการเฉพาะกิจของหัวหน้าพรรครวมทั้งมี “ คำเสนอจะให้ ” โดยการให้นั้นจะใช้ทรัพยากรของชาติมาให้ หรือจะใช้อำนาจในการที่ตนเองจะได้รับจากการเลือกตั้งเป็นผู้ปกครองนั้นมาดำเนินการให้ตามข้อเสนอ ซึ่งก็ไม่ต่างกับการเสนอให้สินบนเพื่อให้ประชาชนเลือกตั้งตนเข้ามาเป็นผู้ปกครองเท่านั้น การโฆษณาหาเสียงดังกล่าวก็จะไม่ถูกตรวจสอบโดยกกต.ว่า เป็นไปตามนโยบายของพรรคการเมืองหรือไม่ เพราะกกต.ไม่ได้ออกระเบียบมาควบคุมนโยบายพรรคการเมืองดังกล่าว
กกต.ไม่ได้ออกประกาศ หรือระเบียบในการที่พรรคการเมืองจัดทำข้อบังคับพรรคการเมือง โดยไม่มีหลักเกณฑ์และวิธีการให้พรรคการเมืองต้องเลือกสมาชิกพรรคอย่างไรในการมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง , กกต.ไม่มีประกาศหรือระเบียบที่จะมีหลักเกณฑ์และวิธีการอย่างไร ที่จะไม่ให้หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวในพรรคการเมืองและดำเนินการในพรรคการเมืองเสมือนหนึ่งเป็นเจ้าของพรรคการเมืองจนทำให้เห็นได้ว่าพรรคการเมืองไม่ใช่เป็นคณะบุคคลที่รวมตัวกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง ( ม.4 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ) แต่พรรคการเมืองมีสถานะเป็นเพียงกลุ่มนายทุนที่ใช้พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือของกลุ่มใดเป็นการเฉพาะเท่านั้น , กกต.ไม่มีวิธีการใดๆที่จะกำหนดห้ามไม่ให้พรรคการเมืองจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของอดีตหัวหน้าหรือผู้บริหารพรรคการเมืองที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปแล้ว , กกต.ไม่มีมาตรการใดๆ ที่จะขจัดเกี่ยวกับตัวแทนเชิด หรือนอมินีของนักการเมืองและพรรคการเมืองไว้ ทำให้การดำเนินการทางการเมืองไม่สุจริตและเที่ยงธรรมต่อ “ ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ” ในการใช้ตัวแทนเชิด หรือ นอมินีมาลงสมัครรับเลือกตั้ง , กกต.ไม่ได้มีระเบียบใดๆ หรือมาตรการใดๆรองรับสถานะความเป็นผู้เสียหายของประธานกกต.ที่จะต้องดำเนินคดีกับพรรคการเมือง ผู้บริหารพรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง ในกรณีที่ไม่ได้ดำเนินการในฐานะเป็นพรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมืองให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย นโยบายพรรคการเมือง ข้อบังคับพรรคการเมือง แทนประชาชนและแผ่นดิน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ อันเป็นเหตุทำให้พรรคการเมือง หรือ สมาชิกพรรคการเมืองสามารถซ่องสุมผู้คน อาวุธ ก่อการจลาจล ก่อการร้ายได้ โดยไม่มีการป้องปรามมิให้เกิดเหตุขึ้น หรือดำเนินการเอาผิดกับพรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมืองดังกล่าวได้เลย ทั้งๆที่ประธานกกต.เป็นผู้เสียหายในการกระทำความผิดของพรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านได้แต่อย่างใด ( ตามที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ฯ มาตรา 17 , 18 และตามนัยมาตรา 31 ) , กกต.ไม่มีประกาศหรือระเบียบเกี่ยวกับดุลยภาพตามวิถีการปกครองแบบรัฐสภาระหว่างสมาชิกพรรคการเมืองกับ “ ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง” ในกรณีมีสมาชิกพรรคทำการย้ายพรรค ซึ่งเกิดการซื้อตัว และการขายตัวของพรรคการเมือง และสมาชิกพรรคการเมือง, กกต.ไม่มีประกาศหรือระเบียบใดๆที่จะควบคุมการบริหารการเงินของพรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง เพื่อป้องกันการใช้เงินซื้อเสียงในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้ง ฯลฯ มาตรการที่กกต.จะต้องออกระเบียบหรือประกาศตามตัวอย่างดังกล่าวข้างต้นล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับวิถีการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย และมีผลเกี่ยวกับความสุจริตและเที่ยงธรรมระหว่าง “ ผู้มีสิทธิรับเลือกตั้ง ” และ “ ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง “ ทั้งมีผลกระทบต่อการเลือกตั้งทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรมต่อประชาชนและสังคมประเทศชาติโดยรวมทั้งสิ้น
การที่กกต.ไม่ได้ออกกฎหมายที่เป็นประกาศหรือออกระเบียบออกบังคับใช้ในเรื่องเกี่ยวกับพรรคการเมือง การเลือกตั้ง และการดำเนินการใดๆของพรรคการเมือง ฯลฯ จึงทำให้กกต.เป็นยักษ์ไม่มีกระบอง ไม่มีเขี้ยว และไม่กล้าดำเนินการใดๆกับพรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง โดยกกต.อาจเข้าใจว่า กกต.มีอำนาจดูแลการเลือกตั้งเฉพาะในเวลาที่มีการเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งแท้จริงแล้ว กกต.มีอำนาจหน้าที่เป็นผู้ควบคุม “ระบบการเลือกตั้ง” มิใช่ควบคุมวิธีการเลือกตั้งเฉพาะกิจเท่านั้น และ “การควบคุมการเลือกตั้งทั้งระบบ” ย่อมหมายถึงการกระทำใดๆที่มีผลมาจากการเลือกตั้ง หรือเกิดผลของการเลือกตั้งด้วย ดังจะเห็นได้ว่ากฎหมายได้บัญญัติให้ประธานกกต.ในฐานะเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่น ( พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา 7 วรรคสอง ) ซึ่งหมายความว่า ความเสียหายใดๆที่เกิดขึ้นกับประชาชนและแผ่นดิน โดยการกระทำของพรรคการเมือง หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง รวมทั้งสมาชิกพรรคการเมือง ภายหลังที่ได้รับการเลือกตั้งแล้ว และไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายค้านหรือรัฐบาลก็ตาม ประธานกกต.ในฐานะนายทะเบียนเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายในทุกกรณี ซึ่งประธานกกต.มีอำนาจและหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการทางคดีให้ และได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง รวมทั้งกกต.มีอำนาจออกประกาศหรือระเบียบที่จะใช้มาตรการทางการปกครอง เพื่อควบคุมระบบการเลือกตั้งให้มีประสิทธิภาพได้ด้วย
ดังนั้นเมื่อปรากฏว่า พรรคการเมืองหรือสมาชิกพรรคการเมืองกระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร หรือขัดต่อกฎหมาย หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือกระทำการอันเป็นปรปักษ์ต่อการปกครองประเทศระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ กระทำการอันเป็นการดูหมิ่นต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งเข้าข่ายที่จะต้องถูกดำเนินคดีอาญาและถูกยุบพรรคโดยศาลรัฐธรรมนูญได้ ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา 94 ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้น ประธานกกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองซึ่งเป็นผู้เสียหายจะต้องดำเนินการขอต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรครวมทั้งดำเนินคดีอาญาได้ ไม่ว่าจะมีผู้ใดมาร้องขอหรือไม่ก็ตาม แต่เนื่องจากกกต.ไม่ได้ออกกฎหมายหรือระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินการหรือกระบวนการดำเนินการของกกต. โดยต้องทำการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริง อันเป็นการดำเนินการทางปกครองเสียก่อน เพื่อให้ประธานกกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองสามารถดำเนินการยุบพรรคและดำเนินคดีอาญาต่อไปได้ เมื่อกกต.ไม่ได้ออกระเบียบมาใช้บังคับจึงไม่มีการดำเนินการยุบพรรคการเมืองหรือดำเนินคดีอาญากับสมาชิกพรรคการเมืองที่ได้กระทำความผิด ขึ้นครั้งแล้ว ครั้งเล่า ปรากฏให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วในขณะนี้
การที่ไม่ออกกฎหมายระเบียบหรือประกาศของกกต.ออกใช้บังคับ จึงเกิดความวุ่นวาย การจลาจลในบ้านเมือง ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้ว การปกครองประเทศจึงไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นการปกครองประเทศที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แม้จะมีการเลือกตั้งมาแล้วก็ตาม เพราะกกต.ไม่มีเครื่องมือโดยไม่ได้ออกระเบียบและประกาศตามมาตรฐานทางวิชาการที่เป็นสากลมาใช้บังคับตามอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆของพรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งให้สอดคล้องหรือสนับสนุนกับกฎหมายที่มีอยู่ เพื่อให้ “ระบบการเลือกตั้ง” “ วิธีการเลือกตั้ง” เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยที่มีความสุจริตและเที่ยงธรรมแต่อย่างใด การปกครองประเทศจึงมีคณะกรรมการเลือกตั้งไว้เป็นเพียงสัญลักษณ์จอมปลอมเพื่อให้นานาอารยประเทศเห็นว่าประเทศไทยเป็นระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว การปกครองประเทศหาได้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย แม้จะมีการเลือกตั้งตลอดระยะเวลาที่ผ่านแล้วก็ตาม
การเลือกตั้งครั้งนี้ตามหลักวิชาการแล้วเป็นการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ และเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมหรือไม่ ขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นไปตามเจตนารมณ์ ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ จะเป็นปัญหาตามมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด !
รัฐนาวาแห่งสยามประเทศกำลังปริ่มน้ำ เพราะความล้มเหลวในการเลือกตั้งที่ผ่านมา และกำลังจะมีขึ้นเร็ววันนี้ หากพรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมืองมุ่งเอาการเลือกตั้งและการได้อำนาจรัฐมาแสวงหาแต่ประโยชน์สำหรับตนหรือพวกตนโดยไม่ลืมหูลืมตา แกล้งโง่กับปัญหาที่ตนเองเป็นผู้ก่อขึ้นทั้งในอดีตและปัจจุบัน ทั้งในและนอกประเทศ ทั้งจากคนต่างชาติและคนในชาติ หากทุกฝ่ายไม่ร่วมกันหาทางแก้ไขในขณะนี้แล้ว รัฐนาวาก็จะค่อยๆจมลงสู่ก้นมหาสมุทร ซึ่งก็คือสยามประเทศก็จะไม่ใช่เป็นประเทศที่เคยให้ความสุขแก่เราดังเช่นที่เคยเป็นมาในอดีตอีกต่อไป
ใครต้องรับผิดชอบในกรณีดังกล่าว ?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น