วันนี้...ประเทศไทยตัดสินใจถอนตัวจากการ
เป็นสมาชิกคณะกรรมการ มรดกโลกเพราะเงื่อนปมแผนบริการจัดการปราสาทพระวิหารของกัมพูชา ที่ผูกโยงกับพื้นที่ที่อยู่ในอธิปไตยไทย 4.6 ตารางกิโลเมตร
ให้ย้อน ถึงวันวาน...วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ซึ่งผลที่ตามมา สยามมิเพียงเฉือนดินแดนบางส่วนไปอย่างเจ็บปวด แต่ยังต้องเสียเงินสดๆ จำนวน 3 ล้านฟรังก์ให้ฝรั่งเศสไปภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อรักษาอธิปไตยเอาไว้
เหตุการณ์ ร.ศ.112 นั้น ตรงกับวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2436 ผ่านมาแล้ว 118 ปี เป็นเวลากว่า 100 ปีที่บางบรรทัดประวัติศาสตร์แห่งยุทธนาวีบันทึกไว้ว่า เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสเสมือนหนึ่งสุนัขป่าเจ้าเล่ห์ ต้องการไล่ต้อนกัดกินลูกแกะสยาม
ผู้ไล่ล่าเต็มไปด้วยแสนยานุภาพ ทั้งเขี้ยวเล็บทางทหารอันแหลมคม เกรียงไกร ผู้ถูกล่าตั้งรับอยู่ในบ้านเมืองที่อยู่กันมาอย่างสงบงาม เหมือนลูกแกะที่เพลินอยู่กับยอดหญ้าอันเขียวขจี ท่ามกลางทรัพยากรธรรมชาติอันสมบูรณ์ แต่ก่อนที่คมเขี้ยวหมาป่าจะขยุ้มคออย่างสามหาว ลูกแกะน้อยก็ยังได้ไหวตัวและตั้งรับอย่างเต็มกำลังสามารถ
เย็นวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2436 ปรากฏเรือฝรั่งเศส 3 ลำ เข้ามาปิดปากอ่าวสยาม บริเวณปากน้ำเจ้าพระยา ภาพเหตุการณ์วันนั้น ไกรฤกษ์ นานา สอบค้นและบันทึกไว้ว่า...เวลา 18.05 น. หมู่เรือรบฝรั่งเศสผ่านเข้ามาในปากน้ำเจ้าพระยา โดยมีเรือ เจ.เบ.เซ. แล่นนำหน้า ตามด้วยเรือรบติดอาวุธมีเรือ แองกองสตอง และเรือโกแมตเรียงเป็นกระบวนเข้ามา
ระหว่างนั้น “ปืนใหญ่อาร์มสตรองบนป้อมพระจุลฯ ยิงด้วยนัดดินเปล่าไม่บรรจุกระสุนสองนัด เป็นสัญญาณเตือนมิให้เข้ามาแต่ไม่ได้ผล นัดที่ 3 และ 4 จึงถูกยิงออกไป ...”
ยุทธนาวีไทยได้ปกป้องอธิปไตยอย่างเหี้ยมหาญ กระสุนปืนใหญ่ หรือปืนเสือหมอบกระหน่ำออกมาอย่างไม่ระย่อ ภายใต้การบัญชาการของพระยาชลยุทธโยธิน ผู้บัญชาการรบฝ่ายไทยชาวเดนมาร์ก และยังมีปืนชนิดเดียวกันประจำการอยู่ที่ป้อมปืนผีเสื้อสมุทร ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก แต่แรงต้านของสยามหาได้หยุดนักล่าอาณานิคมจากแดนไกลไม่
สิ้นเสียงปืน ทหารไทยพลีชีพไป 8 นาย บาดเจ็บ 40 นาย ส่วนทหารฝรั่งเศสตาย 3 นาย บาดเจ็บอีก 3 นาย การต่อสู้นี้ แม้สยามจะทำเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติ และยิงเตือนผู้รุกรานไปก่อนตามกติกาสากล แต่ลูกแกะสยามอย่างไรก็เป็นลูกแกะผู้เสียเปรียบอยู่วันยังค่ำ จึงต้องเป็นฝ่ายชดใช้ค่าปรับสงคราม
ฝรั่งเศสเรียกร้องค่าเสียหาย ด้วยอ้างว่าฝ่ายสยามเป็นผู้เปิดศึกก่อน ไม่ว่าจะเจรจาความกันอย่างไรสยามก็ต้องเสียเปรียบอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง ต้องเสียเงินให้กับฝรั่งเศสไป 3 ล้านฟรังก์ ภายใน 48 ชั่วโมง
สยาม ไม่มีเงินเพียงพอ ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประชุมเสนาบดีเจ้ากระทรวงต่างๆ ทั้งหมด เพื่อหาทางที่พระที่นั่งจักรีฯ เป็นการด่วน เนื่องจากเงินสยามไม่ได้มีมากมายในท้อง พระคลัง ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้นำเงินถุงแดงออกมาให้ฝรั่งเศส
คำ ว่าเงินถุงแดง อาจเรียกตามถุงที่เก็บเงินไว้ เป็นพระราชทรัพย์ที่เก็บไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ชนิดของเงินชาวบ้านสมัยนั้นเรียกว่า เงินเหรียญนก เป็นเงินของประเทศเม็กซิโก เงินของสยามแม้จะมี แต่ไม่ได้รับการยอมรับในตลาดค้าขายต่างประเทศ สยามจึงหันไปใช้เงินเหรียญนกของเม็กซิโกเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนซื้อขาย กับชาวต่างประเทศ
แน่นอนว่า ฝรั่งเศสไม่รับเงินพดด้วง หรือเงินไทยแน่ๆ
ความ เป็นมาของเงินถุงแดง มีเรื่องเล่าว่า สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงรับสั่งให้เก็บเงินไว้ในถุงแดง มีเจ้านายคนหนึ่งถามว่า จะเก็บเงินส่วนนี้ไว้ทำอะไร ทรงมีพระราชดำรัสเล่นๆ ว่า “จะเก็บเอาไว้ไถ่บ้านไถ่เมือง” ไม่คาดฝันว่า ในที่สุดก็ได้นำมาไถ่บ้านไถ่เมืองจริงๆ
เมื่อโปรดเกล้าฯให้เอาออกมานับ ปรากฏว่าได้ถึง 3 หมื่นชั่ง หรือประมาณ 2,400,000 ฟรังก์เท่านั้น ส่วนที่ยังขาดอยู่ จำเป็นต้องหามาเพิ่มเติม ถ้าหามาไม่ได้ทันเวลาที่กำหนด บ้านเมืองสยามยามนั้น ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า หมาป่าเจ้าเล่ห์จะตะครุบอะไรสวาปามเข้าไปอีก
เมื่อประชุมกันแล้ว ทางออกก็คือ รวบรวมเอาจากพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการฝ่ายใน กลางสถานการณ์คับขัน บ้านเมืองตกอยู่ในมรสุมอันบ้าคลั่ง ทุกคนต่างช่วยผ่อนคลายได้ดี ในที่สุดเงิน 3 ล้านฟรังก์ก็ได้ครบจำนวน
เงินนี้ “ต้องใช้รถม้าบรรทุกกันออกมาจากพระบรมราชวังเป็นขบวนยาวเหยียด ผ่านฝูงชนที่มามุงดูกันที่ประตูวังแน่นขนัด ต่างพากันส่งเสียงร้องไห้กันระงม เซ็งแซ่ ล้อรถม้าบดเป็นทางยาวไปบนหินปูนบนถนนในวังเป็นรอยล้อรถที่ขนเงินจำนวนมาก มหาศาลไปครั้งนั้น ซึ่งหนักมากเพราะเป็นเงินแท้ๆ หลายร้อยถุง”
รอยล้อรถม้าที่บดหินแตกด้วยความหนักของเงิน ไหนเลยจะเท่าความปวดร้าวของใจชาวสยามยามเมื่อ พ.ศ.2436 นั้น แม้เราจะสูญเสียอย่างหนักหน่วง แต่ฝรั่งเศสกลับหาได้เอมอิ่มกับน้ำตาของสยามไม่ ในหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส ยังตัดพ้อขุนนางสยามด้วยว่า นำเงินใส่กระสอบป่านคุณภาพไม่ดีเอาไปให้ ทำให้ฝรั่งเศสต้องลำบากในการขนย้าย
ดังปรากฏว่าข้อในหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส ฉบับวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ.1893 ว่า...
“เรือลูแตงของเราได้ขนย้ายเงินอันเป็นสินไหม ค่าปรับในการของเราที่ปากน้ำเป็นเหรียญเงินเม็กซิโกจำนวน 801,282 เหรียญ โดยมีน้ำหนักเหรียญละ 27 กรัม รวมทั้งสิ้น 23 ตัน แล้วในที่สุดเงินก็ถูกขนออกมาจากบางกอกโดยเรือเพียงลำเดียว...
“เมื่อมาถึงนั้น เรือเพียบหนักจนกราบเรือปริ่มน้ำหมด ทุกห้องในเรือใช้บรรทุกกระสอบใส่เงินกองเป็นภูเขาเลากา เสนาบดีคลังของสยามนี้น่าถูกตำหนิที่สุด ได้ใช้กระสอบป่านคุณภาพเลวใส่เหรียญจำนวนมากนี้ทำให้กระสอบขาดชำรุดใน ระหว่างเดินทางมา คนของเรานำขึ้นมาจากเรือไม่ได้ ต้องนำถังตวงนับร้อยใบลงเรือไปขนขึ้นมา”
หลังเหตุการณ์ ร.ศ.112 สยามต้องเสียเงินไป 3 ล้านฟรังก์ ด้วยน้ำตาที่ร่ำไห้ด้วยความเจ็บแค้น เนื่องจากฮึดฮัดอะไรออกมา ก็ต้องเสียเปรียบทุก ประตู ไล่เลียงจากการเสียเงินค่าปรับสงครามเป็นต้นมา สยามต้องเสียการดูแลในลาว เขมรส่วนนอก อันหมายถึงบริเวณพนมเปญเรื่อยไปจดเวียดนาม
ต่อมาก็เสียการดูแล เขมรส่วนใน อันหมายถึง พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ตามสนธิสัญญาที่ตามมาคือ สนธิสัญญา ค.ศ.1904 และ ค.ศ.1907
ปราสาท พระวิหารถูกฝรั่งเศสขีดเส้นไป เมื่อทำแผนที่สยามกับอินโดจีนฝรั่งเศส หลังสนธิสัญญา ค.ศ.1907 แต่เนื่องจากอยู่ในป่ารกเรื้อ ทั้งสยามและเขมรต่างไม่ได้เข้าไปดูแล สืบมาสยามเข้าไปดูแลก่อน และได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของไทยไว้
ต่อมาปี พ.ศ.2502 เจ้านโรดมสีหนุได้ฟ้องศาลโลก ให้สยามที่เป็นไทยไปแล้วคืนปราสาทพระวิหารให้กับกัมพูชา ในที่สุดศาลโลกตัดสินให้ไทยคืนปราสาทพระวิหารให้กัมพูชาไปเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2505 เป็นที่ชัดเจนว่า ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาไปแล้ว ตามคำตัดสินของศาลโลก นับแต่บัดนั้น
แต่ปัญหาเรื่องเขตแดนระหว่างไทย กับกัมพูชายังดำรงอยู่ เพราะแนวเขตแดนยังมีอยู่หลายจุดที่ยังตกลงกันไม่ได้ ทำให้เกิดปัญหากระทบกระทั่งระหว่างกันเรื่อยมา
อาจกล่าวอย่างรวบรัด ได้ว่า เราต่างมีแผลใจที่นักล่าอาณานิคมเปิดไว้ให้ แผลจะขยายออกหรือสมานเป็นเนื้อเดียวกัน ย่อมขึ้นอยู่กับผู้นำทั้งสองประเทศจะนำพาไปทางไหน
ผู้นำเราเข้าใจประวัติศาสตร์และรู้เท่าทันหรือไม่ สงครามระหว่างไทยกับกัมพูชาที่ควันปืนยังไม่ทันจาง ย่อมเป็นคำตอบได้ดี.