มีความเห็นจากหลายส่วนว่า การเรียนฟรี ไม่ใช่เป็นการเพิ่มมาตรฐานการศึกษา ภาคประชาชน แม้จะเป็นการเพิ่มโอกาส ในการเข้าถึง ที่ไม่ต่างกับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งต่างคนก้อต่างจับแนวคิดของตนเป็นหลัก ... จะทำอะไร นโยบายแบบไหน ถ้าเป็นแค่ไฟไหม้ฟาง จะไม่ใช่ การจัดการปัญหาแบบลูกโซ่ที่นับวันยิ่งจะโยงใยสับสนมากขึ้น นโยบายเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งควรจะนำมาปฏิบัติให้เกิดผลอย่างจริงจัง จะเป็นดังเสาเข็มที่ตอกยึดให้สังคมมีความเข้มแข็งและยั่งยืน
เหมือนปรเทศไทยซึ่งเป็นเกษตรสังคม แต่เราทิ้งผลผลิตให้เสียหาย มากถึง 25-35% เพราะขาดการบริหารจัดการ หรือไม่มีนโยบายที่ต่อเนื่อง ผมเคยจำลองระบบโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ ซึ่งเรามีเกือบครบแต่ ต้องลงทุนเพิ่มในส่วนคลังสินค้า ที่จะทำอย่างไรให้ ผลผลิตเสียหายน้อยที่สุด เพราะประชากรบนโลกใบนี้ ยังคงอยู่ในสภาวะขาดแคลนอาหาร - http://www.boonchoo.org/foryou/tapl.ppsx
December 17, 2010
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ว่าโครงการระดมสมอง “คิดนอกกฎ บริหารนอกกรอบ” ที่รัฐบาลเริ่มมาตั้งแต่เดือนตุลาคม เป็นระยะเวลา 5 สัปดาห์ จะสิ้นสุดในวันที่ 17 ธันวาคมนี้ โดยนายกรัฐมนตรีจะแถลงปิดโครงการ และประกาศเป็นนโยบายของรัฐบาลช่วงต้นปีหน้า
นายกรณ์เลือกใช้คำอธิบายโครงการนี้ว่า “โครงการปฏิรูปการประชาภิวัฒน์” แทนคำว่า “ประชานิยม” ที่มักมีภาพไปผูกกับนโยบายของพรรคไทยรักไทยเดิม
โครงการนี้แบ่งออกเป็น 5 ด้าน
นโยบายทั้ง 5 ด้านประกอบด้วย
- การกระจายที่ดินทำกินและโฉนดชุมชน
- ลดภาระค่าครองชีพของคนที่มีรายได้น้อย
- แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบ
- ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
- ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
ในส่วนที่นายกรณ์ดูแลคือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบ ประกอบด้วย 3 เรื่องย่อย คือ
- การขยายระบบสวัสดิการเพื่อแรงงานนอกระบบ
- มาตราการสนับสนุนอาชีพอิสระ เช่น แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ หาบเร่
- การจัดระบบสถาบันการเงินเพื่อพัฒนาชุมชน
จากคำสัมภาษณ์ของนายกรณ์บอกว่าจะสร้างประโยชน์ให้ประชาชน 10 ล้านคน มีเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้น 10,000 ล้านบาท ส่วนแนวทาง “คิดนอกกฎ บริหารนอกกรอบ” นำแนวคิดมาจากรัฐมนตรีคลังของมาเลเซีย
ที่มา – ไทยรัฐ
หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เผยข้อมูลจากแหล่งข่าวในกระทรวงการคลังว่า สำหรับนโยบายรัฐสวัสดิการของรัฐบาลอภิสิทธิ์ หากมองโดยภาพรวม ๆ แล้วแทบจะไม่ค่อยมีอะไรที่แตกต่างนโยบายประชานิยมของอดีตรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพราะส่วนใหญ่จะเป็นมาตรการที่หวังผลสัมฤทธิ์ในระยะสั้น และเน้นทุ่มเม็ดเงินลงไปที่กลุ่มคนในระดับฐานราก นอกจากนี้มีหลายมาตรการที่เป็นการสานต่อนโยบายของรัฐบาลชุดก่อน
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ว่า รัฐบาลมีเหตุผลความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องมีมาตรการเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจในปีนี้โตกว่า 7% และไม่ได้มีปัญหาเรื่องการหดตัวของเศรษฐกิจ
นายอารีพงศ์ ตอบว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยไม่ได้มีปัญหาเรื่องการเจริญเติบโต แต่ประชาชนที่จะได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจยังมีน้อยอยู่ โดยเฉพาะเศรษฐกิจในระดับฐานรากซึ่งยังมีช่องว่างอยู่มาก ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเข้าไปดูแลและแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้การกระจายรายได้มีความเป็นธรรมมากขึ้น แต่ก็ยอมรับว่าการดำเนินมาตรการต่าง ๆ สุดท้ายแล้วจะกลับมาเป็นภาระงบประมาณ ขณะนี้ทางกระทรวงการคลังได้ร่วมมือกับสำนักงบประมาณ ตั้งเป้าหมายที่จะทำงบประมาณแบบสมดุลให้ได้ภายใน 5 ปี
ดร.ตีรณ พงษ์มฆพัฒน์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มาตรการช่วยลดค่าครองชีพเป็นมาตรการช่วยเหลือเฉพาะหน้าเป็นการชั่วคราว แก้ไขปัญหาค่าครองชีพสูงและภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ตอนนี้ผ่านช่วงนั้นมาแล้วก็ไม่ควรจะต่ออายุออกไปอีก โดยเฉพาะ 4 มาตรการแรกดูแล้วไม่ค่อยได้ผลเท่าไร น่าจะนำเงินส่วนที่ชดเชยนี้ไปปรับปรุงคุณภาพและบริการให้จะดีกว่า เพื่อให้ประชาชนหันมาใช้บริการสาธารณะมากกว่ารถยนต์ส่วนตัว
“มาตรการ ลดค่าครองชีพส่วนใหญ่น่าจะหมดอายุขัยแล้ว แต่ในส่วนของก๊าซหุงต้มสำหรับครัวเรือน อาจยังพอชะลอช่วยพยุงราคาต่อไปอีก แต่สุดท้ายแล้วก็จะต้องยกเลิกให้หมด”
ด้านนายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจายรายได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เห็นสอดคล้องกันว่าไม่ควรต่ออายุออกไปอีก เพราะจะยิ่งเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด ทำให้การใช้ทรัพยากรดังกล่าวผิดปริมาณไป และเม็ดเงินที่ใช้สำหรับอุดหนุนมาตรการค่าครองชีพเหล่านี้ก็ควรนำไปจัดทำ สวัสดิการอื่น ๆ อย่างจริงจังน่าจะได้ประโยชน์มากกว่า
“หากจะทำรัฐสวัสดิการ น่าจะทำเรื่องสวัสดิการแบบตรง ๆ ให้ดี มีประสิทธิภาพจริง ๆ เช่น การศึกษาฟรี ก็ต้องฟรีจริง ๆ หรือไปทำสวัสดิการเกี่ยวกับประกันการว่างงาน หรือการฝึกอบรมอาชีพ เพราะถ้าสวัสดิการพื้นฐานดีแล้ว คนจนหรือผู้มีรายได้ น้อยก็จะดูแลตัวเองได้” ดร.สมชัยกล่าว
ที่มา – ประชาชาติธุรกิจ
คมชัดลึก : ศัพท์ใหม่ "ประชาวิวัฒน์" ประชาวิวัฒน์นั้นคือการขยายผลของอภิมหาประชานิยมภายใต้ รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ว่าจะเป็นราคาหมู ไก่ ไข่ ไปจนถึงการกระชับพื้นที่หาบเร่ ช่วยเหลือมอเตอร์ไซค์ ล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้กรอบของประชานิยมยี่ห้ออภิสิทธิ์ ที่เรียกว่าประชาวิวัฒน์ทั้งสิ้น คุณกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีคลัง บอกว่า รัฐบาลเตรียมจะออกโครงการปฏิบัติการประชาวิวัฒน์ "คิดนอกกฎ บริหารนอกกรอบ" เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชน
17 ธันวาคม นี้ นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะรับฟังข้อสรุปของทีมนักวิชาการและหน่วยงานกว่า 30 แห่ง ก่อนจะประกาศใช้วันที่ 8 หรือ 9 มกราคม 2554
คุณกรณ์บอกว่า โครงการนี้จะช่วยเหลือคนที่อยู่นอกระบบกว่า 10 ล้านคน เช่น กลุ่มคนขับรถแท็กซี่ รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หาบเร่ แผงลอย ให้มีสิทธิ์ประกันสังคมเข้าถึงแหล่งทุนลดค่าครองชีพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร เรื่องส่วย หรือหัวคิวรายเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ และนั่นยังไม่รวมถึงมาตรการลดค่าครองชีพที่จะเน้นไปที่โครงสร้างราคาอาหาร เช่น ไข่ไก่ ไก่ สุกร รวมไปถึงพลังงาน ทั้งแก๊สแอลพีจี และค่าไฟฟ้า
ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีคลังก็จะเสนอคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า ต่ออายุมาตรการรถเมล์ และรถไฟฟรี รวมถึงค่าไฟฟ้าออกไป 1-2 เดือน จากเดิมสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2553 ทั้งสิ้นทั้งปวงนี้ถ้าออกมาในลักษณะช่วยเหลือคนยากคนจน คนไร้โอกาส ถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาล
แต่ขณะเดียวกัน ถ้าออกมาเป็นชุดอย่างนี้ใกล้กับการเลือกตั้งอย่างนี้ หนีไม่พ้นว่าจะถูกมองว่าเป็นอภิมหาประชานิยม เอาภาษีประชาชนไปเอาใจคนบางกลุ่ม เพื่อคะแนนเสียงของพรรคตัวเองหรือไม่
ฉะนั้นเส้นแบ่งระหว่างการหาเสียงกับการทำเพื่อคนไร้โอกาส คนด้อยโอกาสนั้นเบาบาง ต้องพิสูจน์กันตรงที่ว่าทำด้วยความจริงใจและจะลงไปถึงมือของประชาชนมากน้อยแค่ไหน อีกทั้งจะต้องไม่เป็นภาระกับสถานะทางการเงินการคลังของบ้านเมือง
นั่นก็แปลว่าการกระทำนี้จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า นี่เป็นการทำเพื่อคนที่เขาต้องการความช่วยเหลือ มิใช่ยื่นไปเพื่อจะสร้างให้เกิดความรู้สึกต้องพึ่งพารัฐบาลตลอดไป ไม่สามารถสร้างพลังของสังคมให้ช่วยเหลือตัวเองเพื่อพัฒนาให้เป็นอำนาจของประชาชนอย่างยั่งยืนที่แท้จริง
นักการเมืองต้องพิสูจน์ว่า ไม่ใช่เพียงเพื่อเสียงของการเลือกตั้งคราวหน้า แต่เพื่อสร้างประชาชนให้แข็งแกร่งสามารถต่อรองกับนักการเมืองได้อย่างแท้จริง
สุทธิชัย หยุ่น
"ประชาวิวัฒน์"คิดนอกกฎ บริหารนอกกรอบ คือนโยบายใหม่ของรัฐบาล ภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งวันนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะมารับมอบข้อเสนอของ 5 กลุ่ม เพื่อนำไปกลั่นกรองและสรุป ก่อนประกาศออกมาเป็นนโยบายของรัฐบาล ที่คาดว่าจะประกาศในวันที่ 9 ม.ค. 2554 ซึ่งคาดว่านโยบายดังกล่าวจะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ประมาณ 10 ล้านคนคิดเป็นมูลค่าทางการเงินที่เพิ่มขึ้นหลักหมื่นล้านบาท
"ประชาวิวัฒน์ มีความคิดขึ้นมาหลังจากได้เจอกับเพื่อนสมัยเรียนและเขาทำงานกับรัฐมนตรีคลังมาเลเซียและยังได้แลกเปลี่ยนกับรมว.คลังมาเลเซียด้วย ซึ่งเขามี 12 ยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้นเราเองน่าจะมีแผนพัฒนา ช่วยเหลือที่ชัดเจน จึงมาปรึกษาท่านนายกฯซึ่งก็เห็นด้วย จึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาเป็นระยะเวลา 5 สัปดาห์แล้วก่อนจะส่งมอบให้นายกฯ วันนี้" นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าว
ส่งมอบประชาวิวัฒน์ให้นายกฯ วันนี้
โดยวานนี้ นายกรณ์ นำคณะสื่อมวลชนร่วมดูการทำงานของกลุ่มงานต่างๆ ตามนโยบาย ประชาวิวัฒน์ คิดนอกกฎ บริหารนอกกรอบ ที่ศูนย์ราชการ ซึ่งนายกรณ์ กล่าวว่า หลังจากทำงานร่วมกันกว่า 5 สัปดาห์ในวันนี้ (17 ธ.ค.) นายอภิสิทธิ์ จะมารับมอบข้อเสนอของ 5 กลุ่ม เพื่อนำไปกลั่นกรองและสรุป ก่อนประกาศออกมาเป็นนโยบายของรัฐบาล ที่คาดว่าจะประกาศในวันที่ 9 ม.ค.2554
ประชาวิวัฒน์ 5 กลุ่ม
นายกรณ์ กล่าวว่า ประชาวิวัฒน์ คิดนอกกฎ บริหารนอกกรอบ เป็นวาระเร่งด่วนเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปประเทศไทย แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม
1.การกระจายที่ดินทำกินและโฉนดชุมชน แนวทางดำเนินการ จะเร่งรัดกระบวนการออกโฉนดชุมชนให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ กระจายการถือครองที่ดินโดยเร่งรัดการใช้พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและมาตรการอื่นๆ
2. ลดภาระภาษีค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อย มีทั้งการขยายการเข้าถึงบริการสาธารณะของรัฐ ลดรายจ่ายพื้นฐานของผู้มีรายได้น้อย เช่น ค่าน้ำ ไฟ และค่าเดินทาง และจัดระบบสนับสนุนปัจจัยสี่ที่เหมาะสม
ตั้งวงเงินปล่อยกู้นอกระบบมากกว่า5พันล้าน
3.เศรษฐกิจนอกระบบ ได้แก่การขยายระบบสวัสดิการเพื่อแรงงานนอกระบบ มาตรการสนับสนุนอาชีพอิสระ เช่น แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ และหาบเร่แผงลอย และการจัดระบบสถาบันการเงินเพื่อพัฒนาชุมชน และองค์กรการเงินชุมชน
"เศรษฐกิจนอกระบบเราหวังให้เขามีหลักประกันที่ดี ลดรายจ่ายที่ไม่ควรจ่าย และเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น และที่สำคัญคนขับแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และแม่ค้า พ่อค้า จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินจากสถาบันการเงินของรัฐ ที่ไม่ได้จำกัดว่าจะแค่ 5 พันล้านบาท แบงก์รัฐพร้อมสนับสนุนมากกว่าอยู่แล้ว"นายกรณ์ กล่าว
กลุ่มที่ 4 การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ปรับระเบียบและกลไกต่อต้านการทุจริตของรัฐ เปิดเผยข้อมูลสำคัญของรัฐผ่านอินเทอร์เน็ต และสร้างความมีส่วนร่วมเอกชนและประชาสังคม เพื่อสร้างเครือข่ายต่อต้านการทุจริต
กลุ่มที่ 5 การดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยจะกวดขัน และการปรับใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงอย่างเป็นระบบ และพัฒนากลไกการเฝ้าระวังภาคประชาชนผ่านเครือข่ายสื่อชุมชน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และระบบโทรทัศน์วงจรปิด
นายกรณ์ กล่าวว่า ในส่วนของตนเองในฐานะเลขาของคณะทำงานชุดนี้ จะรับผิดชอบ 3 มาตรการ คือลดค่าครองชีพ คือ อาหาร ไข่ หมู ไก่ พลังงาน ได้แก่เชื้อเพลิง ไฟฟ้า เศรษฐกิจนอบระบบ และการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ส่วนอีก 2 มาตรการ ที่ดินทำกิน และการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ดำเนินการโดยนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ยันไม่ใช่งบประมาณ
นายกรณ์ กล่าวว่า ประชาวิวัฒน์ คิดนอกกฎ บริหารนอกกรอบ เป็นการปฏิรูปการทำงานและแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนและรวมศูนย์ ความจำเป็นในการใช้งบประมาณจึงไม่มี อาจจะมีเพียงเล็กน้อยที่ต้องจัดสรรงบประมาณให้กรุงเทพมหานคร ในการจัดหาสถานที่ค้าขายให้แก่พ่อค้าและแม่ค้า รวมถึงการตีเส้นเหลือให้เป็นจุดจำหน่ายสินค้าได้ ส่วนสินเชื่อที่ให้แก่แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ และพ่อค้านั้น ธนาคารของรัฐจะเป็นหน่วยงานสนับสนุนทางการเงิน
"แบงก์รัฐทุกแห่งได้เข้าแลปส์กับเราด้วยตลอด 5 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องเงินไม่มีปัญหา แต่จะทำอย่างไรให้เงินถึงมือผู้ต้องการเร็วขึ้น โดยมองเป้าหมายเป็นตัวตั้ง และมาแก้อุปสรรคทีหลัง อะไรที่จำเป็นต้องแก้ระเบียบ แก้กฎ หรือแก้กฎหมาย ก็ต้องทำเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย"นายกรณ์ กล่าว
นายกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลคาดหวังว่า มาตรการทั้งหมดที่จะประกาศเป็นแผนปฏิบัติการนั้น จะมีประชาชนได้รับประโยชน์มากกว่า 10 ล้านคน และคิดเป็นมูลค่าทางการเงินในหลักหมื่นล้านบาท
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น