วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2558

นโยบายพลังงานฉ้อฉล!!!

คนไทยต้องใช้น้ำมันแพงเป็นอันดับต้นๆของโลก เมื่อเทียบกับรายได้ ทั้งที่เรามีน้ำมัน เป็นคำตอบได้ว่า การบริหารจัดการของผู้มีอำนาจ มีปัญหาแน่นอนล้านเปอร์เซนต์
และเมื่อได้ตรวจสอบ ก็พบว่า สาเหตุที่คนไทยต้องใช้น้ำมันแพง เพราะถูกขูดรีดผ่านนโยบายที่ไม่ชอบธรรม
ก็ขอเรียบเรียงให้อ่านแบบภาษาชาวบ้าน เข้าใจง่ายๆ
1. เราขุดน้ำมันได้เองส่วนหนึ่ง และนำเข้าส่วนหนึ่ง การกำหนดราคาให้คนไทยใช้ ตามเหตุผลที่ถูกต้อง ชอบธรรม ก็ต้องเอาในส่วนที่เราขุดได้เอง คือ ขุดได้เท่าไหร่ ต้นทุนขุดเจาะจริงเท่าไหร่ ก็เอาไปหารเฉลี่ยกับราคาในส่วนที่ต้องนำเข้ามา
แต่คนไทยกลับถูกเหมารวมให้ใช้ราคาตลาดโลก(อิงสิงคโปร์)
2. เรามีน้ำมัน แทนที่เราจะขุดขึ้นมาใช้เอง ให้คนไทยใช้ราคาตามต้นทุนจริง แต่กลับให้สัมปทานต่างชาติขุดเอาไป แล้วเราซื้อน้ำมันของเราจากต่างชาติกลับเข้ามาในราคาตลาดโลก(อันนี้ปัญญาอ่อนสุดขีด)
3. บวกค่าใช้จ่ายในการขนส่งจากสิงค์โปร์มาไทย ค่าประกันภัย ค่าสูญเสียระหว่างทาง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะน้ำมันกลั่นในประเทศ แถมเหลือใช้จนสามารถส่งออก
น้ำมันดิบที่นำเข้าก็บวกค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าสูญเสียระหว่างทางไปแล้ว พอมากลั่นในเมืองไทย ก็มาบวกค่าใช้จ่ายเทียมเหล่านี้เข้ามาในราคาน้ำมันสำเร็จรูปอีกรอบ
4. ปตท.ถือหุ้นใหญ่ในโรงกลั่นน้ำมัน 5 โรง จากจำนวน 6 โรง ซึ่งมีกำลังการกลั่นถึง 85% ของที่กลั่นได้ในประเทศ ปตท.จึงสามารถตั้งกรรมการของตนเข้าไปควบคุมนโยบายโรงกลั่นได้ทั้ง 5 โรงกลั่น
จึงทำให้โรงกลั่นไม่เกิดการแข่งขันกันตามกลไกตลาดเสรี เท่ากับเป็นการผูกขาดการกำหนดราคาน้ำมันโดยปริยาย คือกำหนดราคาค่ากลั่นได้ตามใจชอบ ค่ากลั่นน้ำมันของเรา จึงแพงกว่าเพื่อนบ้าน
5. น้ำมัน เป็นสินค้าจำเป็น จะถูก จะแพง ส่งผลกับค่าครองชีพของประชาชน ตามเหตุผล น้ำมันจึงควรเป็นสินค้าที่ต้องได้รับการยกเว้นภาษี เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน
แต่กลับเป็นว่า ถูกเก็บภาษีซ้ำซ้อน แถมเอาน้ำมันไปจัดอยู่ในหมวดสินค้าฟุ่มเฟือยเช่นเดียวกับ เหล้า บุหรี่ ต้องเสียภาษีสรรพสามิต
ที่น่าเจ็บใจคือ ขูดรีดภาษีกับประชาชน แต่ส่งออกให้ต่างชาติ กลับยกเว้นภาษี ขายในบ้านตัวเองแพงกว่าส่งออกให้คนอื่น ตรงนี้ทุเรศสิ้นดี
6. เก็บเงินกองทุนน้ำมัน จากการใช้น้ำมันของประชาชน คือ ราคาน้ำมันที่เราเติมตามปั๊มทั่วไป จะถูกบวกเงินกองทุนน้ำมันเข้าไปด้วย ส่วนหนึ่งเพื่อเอาไปชดเชยการนำเข้า LPG ของปตท. ทั้งที่ปัญหาการนำเข้าเกิดจาก ภาคปิโตรเคมี ของกลุ่มปตท.เอง
************************************************************
ทั้งหมดตรงนี้ เป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยต้องใช้น้ำมันแพง
ซึ่งถ้าเราคิดโครงสร้างราคาตามต้นทุนจริง ขุดบ้านเรา คิดราคาบ้านเรา ไม่ให้สัมปทานใคร ขุดเอามาใช้เอง เลิกบวกค่าใช้จ่ายเทียม เลิกผูกขาดโรงกลั่น ยกเลิกภาษีน้ำมัน ยกเลิกภาษีสรรพสามิต เลิกเก็บกองทุนน้ำมัน
คนไทยได้ใช้น้ำมันลิตรละแค่ประมาณ 10 บาท

วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2558

รู้ทัน ปตท.

ยังมีคนไทยอีกมาก ที่ไม่ได้ติดตามเรื่องพลังงาน ทำให้ไม่รู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แท้จริงแล้วมีจุดยืนอย่างไร ................ลองอ่านดูนะครับ
หลังจากยึดอำนาจเข้ามา ก็ตั้งพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ที่เป็นกรรมการปตท. มาคุมพลังงาน
ตั้งนาย บรรยง พงษ์พานิช คนกลุ่มทุนพลังงาน ที่สนับสนุนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็น 100% เข้ามาดูแลรัฐวิสาหกิจ
http://www.thairath.co.th/content/432393
ตั้งนาย คุรุจิต นาครทรรพ คนกลุ่มทุนพลังงาน เข้ามาเป็นกรรมการปตท. และต่อมาได้เป็นรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน
http://news.thaipbs.or.th/…/%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%…
ตั้ง นาย ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ตัวพ่อกลุ่มทุนพลังงาน เป็นกรรมการปตท. และได้เป็นประธานบอร์ดปตท.ในเวลาต่อมา สวนกระแสคัดค้านของประชาชน
http://www.manager.co.th/AstvWeekend/ViewNews.aspx…
ตั้งนาย ณรงค์ชัย อัครเสณี อดีตขุนพลเศรษฐกิจของทักษิณ มาเป็นรมว.กระทรวงพลังงาน
http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx…&
ตั้้ง นาย บรรพต หงษ์ทอง นาย ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ นาย พละ สุขเวช และ นาย วิเศษ จูภิบาล คนของทักษิณ 4 คน เข้ามาเป็นคณะกรรมการสรรหา สมาชิกสภาปฏิรูป(สปช.) ด้านพลังงาน จากคณะกรรมการทั้งสิ้น 7 คน
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx…
จนสุดท้ายได้คนของกลุ่มทุนพลังงาน เข้ามาเป็นสปช.ด้านพลังงานถึง 13 คน จากทั้งสิ้น 14 คน โดยมีแค่คุณ รสนา โตสิตระกูลคนเดียวเท่านั้น ที่ยืนอยู่ข้างประชาชน
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx…
ปตท.ฉ้อฉล สารพัด ภาคประชาชนแฉไว้มากมาย แต่คสช.ไม่เคยคิดตรวจสอบ แต่พอปตท.เสนอแผนอะไร กลับรีบดำเนินการตามทันที
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีมติขายท่อก๊าซไปเมื่อ เดือน สิงหาคม ปีที่แล้ว
http://www.thairath.co.th/content/443580
และตอนนี้กำลังเดินหน้าขายบางจาก
เงินกองทุนน้ำมันดีเซล เดิมก่อนคสช.เข้ามา เก็บอยู่ 25 สตางค์ต่อลิตร ถึงตอนนี้เก็บเพิ่มเป็น 4 บาทกว่า
เงินกองทุนน้ำมันรวม ที่ขูดรีดจากประชาชนที่ใช้น้ำมัน จากเดิมเก็บอยู่ปีละ 30,000 ล้านบาท ก็เก็บเพิ่มเป็นปีละ 1.23 แสนล้านบาท
https://www.facebook.com/rosana.tsk/posts/873935379317635
ราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงกว่าครึ่ง คสช.ไม่ลดราคา พอคนด่า ถึงลด แต่ก็ลดน้อย ไม่ตรงกับความเป็นจริง แถมลดแต่เบนซิน ที่คนใช้น้อย แต่ดีเซล ที่คนใช้มาก ไม่ลด แถมพยายามเดินหน้าขึ้นอีกต่างหาก
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1422850638
LPG ที่คนใช้มาก ก็ไม่ลด ทั้งที่กลั่นมาจากน้ำมัน ซ้ำร้าย ยังเดินหน้าขึ้นอีกด้วย
ปีที่แล้วขึ้น LPG ภาคครัวเรือน และ ขนส่งไปแล้ว ประมาณ 3-4 บาท/กก. ล่าสุดเมื่อต้นปี ขึ้นอีกรวดเดียว 5 บาท/กก. ไปที่ราคาตลาดโลก ทั้งที่เราผลิตได้เองถึง 80% และนำเข้าเพียง 20%
http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx…
ปีที่แล้วขึ้น NGV ไปแล้ว 2-3 บาท/กก. เมื่อปลายเดือน มค. ขึ้นอีก 50 สตางค์ ล่าสุด จะขึ้นอีก7-8 บาท /กก. จะให้คนไทยใช้ที่ราคา 20 บาท/กก. ทั้งที่ต้นทุนก๊าซธรรมชาติตลาดโลกแค่ 3 บาท/กก.
http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx…
เราผลิตปิโตรเลียมได้ไม่พอใช้ แทนที่เราจะขุดขึ้นมาใช้เอง แต่คสช.พยายามเหลือเกินที่จะให้สัมปทาน แถมเป็นระบบสัมปทานเดิม ที่รัฐเสียประโยชน์ ประชาชนคัดค้านก็ไม่ฟัง สปช.เสียงส่วนมากคัดค้าน ก็ไม่ฟัง
http://news.thaipbs.or.th/…/%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%…
ล่าสุดออกทีวีรายการคืนความสุขให้คนไทยเมื่อวันศุกร์ที่ 6 กพ. โกหกคนไทยว่า การที่น้ำมันดิบโลกราคาลง แต่ก๊าซบ้านเราขึ้น เพราะมันคนละส่วนกัน
http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx…
แต่ความจริงแล้ว ก๊าซกับน้ำมัน ก็ขุดขึ้นมาจากหลุมเดียวกัน และโดยเฉพาะ LPG ส่วนหนึ่งก็ได้มาจากการกลั่นน้ำมันดิบนั่นเอง
http://th.wikipedia.org/…/%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%8A%E0%B8…

ทั้งหมดตรงนี้ คงเพียงพอที่จะสรุปได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ยืนอยู่ข้างประชาชน แต่ยืนอยู่ข้างกลุ่มทุนพลังงาน ร่วมกันขูดรีดประชาชนและขายสมบัติชาติ

วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2558

สุดฉาว!เครือ ปตท.พัวพันสินบน สัมปทานปิโตรเลียมพม่า

เมียนมาร์ไทม์ส สื่อกึ่งทางการของพม่าตีพิมพ์ข่าวการโยกย้ายรมว.และรมช.กระทรวงพลังงานของพม่าที่ลงนามโดยประธานาธิบดีเต็งเส่ง พร้อมระบุว่ามีความเกี่ยวพันกับบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ (ปตท.สผ.)

ความวัว น้ำมันดิบรั่วยังไม่ทันหาย ความควายพัวพันสินบนสัมปทาน ปิโตรเลียมพม่าก็เข้ามาแทรก ฉุดภาพลักษณ์บิ๊กเบิ้มพลังงานแห่งอาเซียน บรรษัทภิบาลดีเด่นระดับโลกให้ตกต่ำสุดขีด จนไม่รู้จะเอาหน้าไปซุกไว้ที่ไหน แต่สไตล์เครือปตท.ก็รู้อยู่แล้วว่าจะต้องยืนกระต่ายขาเดียวยืนยันไม่มีปัญหา ไม่มีเรื่องอื้อฉาวอย่างที่เป็นข่าวครึกโครม ย้ำอีกครั้งจากซีอีโอปตท.สผ.ไม่มีเรื่องไม่โปร่งใสแน่นอน


http://www.manager.co.th/AstvWeekend/ViewNews.aspx?NewsID=9560000102294
       
       หากเป็นประเทศไทยแล้ว ไม่มีทางที่จะมีข่าวฉาวโฉ่ของเครือปตท.เกี่ยวข้องพัวพันกับเรื่องการให้สินบน เพราะเครือปตท.เขาให้การสนับสนุน อุปการคุณผู้คนและองค์กรทุกวงการทุกระดับชั้น ไล่มาตั้งแต่นักการเมืองรัฐมนตรี อธิบดี ข้าราชการระดับสูง ที่อยู่ในคณะกรรมการต่างๆ ทั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบาย อนุญาต อนุมัติ กำกับตรวจสอบ และยังเข้าไปเป็นคณะกรรมการต่างๆ ในบริษัทในเครือปตท.ที่มีอยู่มากมายมหาศาล รับเบี้ยเลี้ยง โบนัส กันเพลิดเพลินจนไม่รู้จักแยกแยะ ถูกผิด ก่อนหลัง อะไรคือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน อะไรคือผลประโยชน์ของบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เน้นทำกำไรสูงสุด
       
       ขณะที่สื่อ สถาบันการศึกษา ชุมชน ฯลฯ เครือปตท.ก็มีงบจัดสรรให้การอุดหนุนนับพันล้านต่อปี ซึ่งค่าใช้จ่ายเพื่อให้สงบปากสงบคำกันถ้วนหน้านี้ ถือว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับความมั่งคั่งของปตท.สผ. ที่สามารถทำกำไรอย่างงดงามกว่า 57,316 ล้านบาทเมื่อปี 55 เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 54 ที่มีกำไร 44,748 ล้านบาท
       
       แต่นี่คือประเทศเมียนมาร์หรือพม่า ที่เพิ่งเปิดประเทศต้อนรับนักลงทุนใหม่อีกครั้งหลังถูกแซงก์ชั่นจากมหาอำนาจอเมริกาและปิดตัวเองมานานหลายสิบปี จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้นำสูงสุดของประเทศพม่าขณะนี้ คือ พล.อ.เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีพม่า จะต้องแสดงบทบาทในการกำราบบรรดารัฐมนตรีที่ออกนอกลู่นอกทาง หรือมีสัมพันธ์กับนักลงทุนชาติชาติหนึ่งเกินงาม เพื่อสร้างภาพเรื่องหลักธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศที่ต้องมีความโปร่งใสเป็นที่ตั้ง
       
       คำสั่งโยกย้ายที่ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ลงนามย้ายรมว.และรมช.กระทรวงพลังงานของพม่าเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 56 แต่เพิ่งปรากฏเป็นข่าวผ่าน เมียนมาร์ไทม์ส สื่อกึ่งทางการของพม่า เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 56 ที่ผ่านมานั้น จึงกลายเป็นรายการเชือดไก่ให้ลิงดู โดยมี บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ (ปตท.สผ.) บรรษัทพลังงานข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของไทย ตกเป็นจำเลยของสังคมพม่าและไทยไปด้วย 
       
       เว็บไซต์เมียนมาร์ไทมส์ รายงานว่า ความกังวลเรื่องความโปร่งใสในการให้สัมปทานแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ กับ ปตท.สผ.จากประเทศไทยนั้น เป็นสาเหตุที่ทำให้นาย อู ถั่น เต รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของพม่า และนาย อู ติน อ่อง รัฐมนตรีช่วยกระทรวงพลังงานของพม่า ต้องลงจากตำแหน่งอย่างกะทันหัน โดยนายอู ถั่น เต ถูกย้ายไปรับตำแหน่งรมว.กระทรวงรถไฟ สลับเก้าอี้กับนายอู ซี ยาร์ รมว.กระทรวงรถไฟที่มารับตำแหน่งรมว.กระทรวงพลังงานแทน ขณะที่รัฐมนตรีช่วยพลังงานนั้น ถูกย้ายไปประจำตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงแรงงาน การจ้างงาน และความปลอดภัยสังคม โดยที่ยังไม่มีการประกาศตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่แต่อย่างใด
       
       เมียนมาร์ไทมส์ อ้างแหล่งข่าวจากหลายแหล่งว่า การเปลี่ยนแปลงในกระทรวงพลังงานครั้งนี้ มีสาเหตุจากการอนุมัติสัมปทานแปลงสำรวจขุดเจาะน้ำมันและก๊าซที่รู้จักกันในชื่อ MD-7 กับ MD-8 ให้แก่บริษัท ปตท.สำรวจและผลิต (PTTEP) ของไทยเมื่อตอนต้นปี และยังอ้างการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานที่มีประสบการณ์มากกว่า 30 ปี ด้วยว่า รัฐมนตรีพลังงานทั้ง 2 คนถูกโยกย้ายเป็นผลเนื่องจากการให้ใบอนุญาตสำรวจและผลิตดังกล่าว ซึ่งทั้งสองแปลงถือว่าเป็นแปลงที่ดีที่สุดในอ่าวเมาะตะมะ ซึ่งปตท.สผ.ได้รับสัมปทานไปทั้งๆ ที่ไม่ได้ประกวดราคาด้วยซ้ำ การตัดสินใจของรัฐมนตรีทั้งสองก่อให้เกิดการโต้แย้งวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
       
       ทั้งนี้ พื้นที่ทั้ง 2 แปลง ไม่ได้รวมอยู่ในพื้นที่ 30 แปลงนอกชายฝั่งที่รัฐมนตรีได้เปิดประมูลในวันที่ 30 เม.ย. 56 หลังจากที่ ปตท.สผ. ได้ประกาศเมื่อช่วงกลางเดือน ม.ค. 56 ว่าได้รับอนุมัติสัมปทานแปลงสำรวจขุดเจาะน้ำมันและ ก๊าซ 2 แห่งแล้ว "ผมได้ยินมาว่าท่านรัฐมนตรีจะประกาศว่า ได้อนุมัติสัมปทานแปลงสำรวจขุดเจาะน้ำมันและก๊าซเอ็มดี-7 และเอ็มอี-8 ให้กับ ปตท.สผ. เมื่อตอนที่ประกาศผู้ได้รับสัมปทานทั้ง 30 แปลง เพื่อให้เห็นว่ากระบวนการดังกล่าวมีความโปร่งใส" ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานของพม่า แฉพฤติกรรมของเจ้ากระทรวงพลังงานของพม่า
       
       งานนี้ ไม่ใช่แค่ระดับรัฐมนตรีเท่านั้นที่กระเด็นจากเก้าอี้ แต่ยังลามมาถึงระดับอธิบดีกรมวางแผนพลังงานที่ถูกเด้งไปอยู่ที่กระทรวงเหมืองแร่ด้วย โดยนายซอออง อธิบดีกรมวางแผนพลังงาน นั้นก่อนนี้มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนของรัฐวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซพม่า (Myanmar Oil and Gas Enterprise) หรือ MOGE และยังกำกับดูแลคณะกรรมการของกระทรวงฯ ที่ทำหน้าที่พิจารณาต่อสัญญาการแบ่งปันการผลิต (Production Sharing Contracts -PSC) ที่มีอยู่ รวมทั้งการออกใบอนุญาตสำรวจและผลิตให้แก่บริษัทน้ำมันทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย
       
       ถ้าจะพูดกันชัดๆ อธิบดีคนนี้คงเป็น “มือชง” ให้กับรัฐมนตรี ผลก็เลยถูกเด้งพ้นวงโคจร เพราะความไม่โปร่งใสที่เกิดขึ้นในกระทรวงพลังงานของพม่านั้น ไม่ใช่แค่กรณีการให้สิทธิการสำรวจและผลิตแก่บริษัทพลังงานของไทยเท่านั้นที่มีปัญหา แต่ยังมีเรื่องการเจรจาต่อสัญญาให้แก่บริษัท MPRL E&P ในแหล่งบนบกทางตอนกลางของพม่าอีกกรณีหนึ่งด้วยที่มีความคลุมเครือไม่โปร่งใส เช่นเดียวกับที่มีการกล่าวหาเกี่ยวกับการรับสินบนที่เกี่ยวข้องกับโครงการพลังงานอื่นๆ รวมทั้งการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันด้วย เรียกว่าแตะไปตรงจุดไหนก็มีปัญหาเลยต้องล้างบางกันยกใหญ่
       
       หลังจากปรากฏข่าวสินบนข้ามชาติอันอื้อฉาวเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของเมียนมาร์ไทมส์ นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTEP ยืนยันว่า ปตท.สผ. ไม่มีทางให้สินบนใครได้ เพราะเป็นบริษัทมหาชนที่มีกระบวนการตรวจสอบ และอีกสถานะหนึ่งยังเป็นรัฐวิสาหกิจที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีการตรวจสอบงบการเงินอย่างเข้มงวด
       
       เว็บไซต์ของปตท.สผ. ได้ชี้แจงถึงกรณีที่มีข่าวปรากฏในสื่อมวลชนเกี่ยวกับแปลงสำรวจ MD-7 และ MD-8 ในอ่าวเมาะตะมะ สหภาพเมียนมาร์ โดยมีรายละเอียดว่า
       
       “ปตท.สผ.ขอปฎิเสธเกี่ยวกับความไม่โปร่งใส และยืนยันว่า ไม่มีการให้สินบนเกี่ยวกับการได้สิทธิในแปลงสำรวจดังกล่าว และขอชี้แจงว่าทางบริษัทฯได้มีการเจรจาเกี่ยวกับแปลงสำรวจ MD-7 และ MD-8 มาตั้งแต่ต้นปี 2553 และเมื่อต้นปี 2556 คณะรัฐมนตรีของสหภาพเมียนมาร์ได้อนุมัติสิทธิการสำรวจในแปลงดังกล่าวให้กับ ปตท.สผ. ก่อนที่สหภาพเมียนมาร์จะมีการเปิดประมูลสิทธิการสำรวจปิโตรเลียมในทะเลในกลางปี 2556 ซึ่งทั้งสองแปลงตั้งอยู่ในทะเลลึก และเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับแปลงสำรวจอื่น ๆ ในทะเลอันดามันฝั่งไทยที่ ปตท.สผ.มีการสำรวจอยู่แล้ว ซึ่งสามารถประสานการดำเนินการร่วมกันได้ ทั้งนี้ แปลงสำรวจ MD-7 และ MD-8 ยังไม่เคยมีการสำรวจมาก่อน จึงยังไม่ทราบว่ามีปริมาณน้ำมันและก๊าซฯ อยู่หรือไม่ หรือมากน้อยเพียงใด
       
       “ตลอดการดำเนินธุรกิจด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในสหภาพเมียนมาร์กว่า 20 ปี และในฐานะที่เป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติ ปตท.สผ. มีแนวทางการบริหารงานตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี สอดคล้องกับกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และต้องได้รับการตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน”
       
       จะว่าไปแล้ว ปตท.สผ.ไม่ใช่นักลงทุนหน้าใหม่ แต่เป็นหนึ่งในขาใหญ่ด้านพลังงานในพม่ามานาน ทั้งที่ผ่านมาและในอนาคต ปตท.สผ. เล็งพม่าเป็นขุมทรัพย์หลายแสนล้านที่ต้องเข้าไปตักตวง พร้อมทั้งวางแผนลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างเช่น โรงแยกก๊าซฯ ปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ อีกด้วย โดยที่ผ่านมา เครือปตท. มีนายหน้ากิตติศักดิ์ที่มีชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกแรงช่วยอย่างแข็งขัน นับจากการไปเยือนพม่าของพี่น้องชินวัตรในช่วงปลายปี 2554 และปี 2555 เรื่อยมาจนบัดนี้เป็นการสืบสานสัมพันธ์ที่มีทั้งการเจรจาความเมืองและเจรจาด้านธุรกิจการลงทุน และกล่าวสำหรับพ.ต.ท.ทักษิณ แล้ว คลิปเสียงคนคล้ายที่หลุดออกสู่สาธารณะก็ตอกย้ำว่า ซี๊ปึกกับคณะผู้นำพม่าขนาดไหน 
       
       ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากจะพบว่า ในช่วงของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ปตท.สผ.สามารถเจรจาตกลงทางธุรกิจกับพม่า เรียกว่าอยู่ในระดับ “บิ๊กดีล” เลยทีเดียว เพราะไม่เพียงแต่แปลงสัมปทานใหม่ที่เซ็นสัญญากันในต้นปี 2555 ตามที่ พิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.กระทรวงพลังงาน (ขณะนั้น) และ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ที่ได้รับแจ้งจาก ปตท.สผ. ว่าชนะประมูล โดยเมื่อวันที่ 5 - 6 ม.ค. 55 มีการลงนามในสัมปทานแปลง M3 ซึ่งเป็นแปลงที่ 2 ต่อเนื่องจากแปลง M9 เท่านั้น ก๊าซที่ค้นพบในแปลง M3 ยังเป็น wet gas สามารถนำมาเข้าสู่โรงแยกก๊าซฯ และใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งเครือปตท.ได้แสดงความสนใจที่จะเข้าไปสร้างโรงแยกก๊าซฯ และปิโตรเคมีต่อเนื่อง
       
       การขยายการลงทุนของเครือปตท.ในพม่า สอดคล้องกับแผนลงทุนก่อนหน้านี้ที่นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ขณะดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริษัทการเงิน บริษัท ปตท. ระบุว่า ตามแผนการลงทุน 5 ปี (2555-2559) ปตท.จะเพิ่มงบลงทุนเป็น 4 แสนล้าน เพื่อรองรับการลงทุนในโครงการใหม่ๆ โดยยังไม่นับรวมโครงการลงทุนในพม่า ซึ่งปตท.สนใจลงทุนโรงแยกก๊าซฯ หลังจาก ปตท.สผ.มีแปลงสำรวจปิโตรเลียมในพม่า 10 แปลง
       
       นอกจากนั้น ในช่วงเตรียมออกหุ้นกู้ของบริษัทเมื่อเดือนเม.ย. 56 ที่ผ่านมานั้น ซีอีโอของ ปตท.สผ. ระบุว่า บริษัทมีความสนใจยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียมใหม่ที่รัฐบาลพม่าเปิดให้สัมปทานทั้งบนบกและทะเล โดยจะร่วมทุนกับพันธมิตร นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้รับอนุญาตให้เข้าไปศึกษาปริมาณสำรองปิโตรเลียมในแปลง MD7 และ MD8 ของพม่า เนื่องจากแปลงดังกล่าวอยู่ใกล้กับแปลงน้ำลึกทะเลอันดามันของ ปตท.สผ.อยู่แล้ว ซึ่งมีศักยภาพที่จะพบปิโตรเลียมได้
       
       ส่วนแปลง M9 หรือซอติก้า ที่พม่านั้น บริษัทฯ คาดว่าจะดำเนินการผลิตก๊าซฯ เชิงพาณิชย์ได้เร็วกว่ากำหนดจากเดิมปลาย มี.ค. 57 เป็นปลาย ธ.ค. 56 หรือ ม.ค. 57 ซึ่งการพัฒนาแหล่ง M9 จะมีการก่อสร้างท่อส่งก๊าซฯ ระยะทางประมาณ 300 กม. มาเชื่อมต่อท่อก๊าซฯ ที่บ้านอีต่อง จ.กาญจนบุรี ซึ่งปัจจุบันมีท่อส่งก๊าซจากแหล่งยาดานาและเยตากุน อยู่แล้ว ส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้นในแหล่งนี้ ปตท.สผ. ถือหุ้น 80% ส่วนอีก 20% เป็น บริษัท เมียนมาร์ ออยล์ แอนด์ แก๊ส เอนเตอร์ไพรซ์
       
       เวลานี้ ปตท.สผ. มีโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพม่า ได้แก่ โครงการยาดานา เยตากุน โครงการซอติก้าหรือแปลง M9 และโครงการ M3, M11 รวมทั้งแปลงสัมปทาน MD7 และ MD8 ที่กำลังตกเป็นข่าวฉาวนี้ด้วย ซึ่ง ปตท.สผ.เพิ่งเปิดฐานที่จ.ระนอง เพื่อเป็นฐานสนับสนุนกิจกรรมการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียมทางทะเลฝั่งอันดามัน และในอ่าวเมาะตะมะ โดยโครงการลงทุนด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของปตท.สผ. ทั้งหมดมีมากกว่า 40 โครงการ ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา ออสเตรเลีย และอเมริกาเหนือ
       
       ความยิ่งใหญ่ของปตท.สผ.ที่มาพร้อมๆ กับความอื้อฉาวเรื่องสินบนคราวนี้ มิใช่ปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนม.ค. 56 เว็บไซต์หนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ของอินโดนีเซีย รายงานว่า ปตท.สผ.ออสตราเลเซีย ของไทย ปฏิเสธข้อกล่าวหาของกลุ่มสิ่งแวดล้อมอินโดนีเซียเรื่องติดสินบนนักวิชาการและเจ้าหน้าที่อินโดนีเซียให้ปกปิดผลกระทบจากเหตุน้ำมันรั่วที่บ่อมอนทาราในทะเลติมอร์ เมื่อปี 2552 โดยจ่ายสินบนให้มหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งของอินโดนีเซีย จัดทำรายงานว่า ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าเหตุน้ำมันรั่วที่บ่อมอนทานา ทำให้น่านน้ำอินโดนีเซียเกิดความเสื่อมโทรม
       
       นอกจากนั้น การลงบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงสิ่งแวดล้อมและกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียกับปตท.สผ.ออสตราเลเซีย เมื่อปี 2554 กลุ่มสิ่งแวดล้อมอินโดนีเซียถือว่า เป็นการติดสินบนอย่างหนึ่งเพราะบันทึกดังกล่าวกำหนดไว้ว่าไม่มีฝ่ายใดในอินโดนีเซียสามารถยื่นฟ้อง ปตท.สผ.ออสตราเลเซียเรื่องเหตุน้ำมันรั่วที่บ่อมอนทานาได้ ถือเป็นการละเมิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ให้สิทธิชาวอินโดนีเซียยื่นฟ้องผู้ก่อมลภาวะได้
       
       สินบนข้ามชาติปตท.สผ.กับปัญหาน้ำมันรั่วในโครงการมอนทาราเงียบหายไป พร้อมกับการเริ่มผลิตน้ำมันดิบในแหล่งดังกล่าวได้แล้วตั้งแต่เดือนพ.ค. 56 ที่ผ่านมา ขณะที่ประเด็นปัญหาสินบนสัมปทานปิโตรเลียมกับพม่าของปตท.สผ.กำลังเริ่มต้นขึ้น
       
       ในสายตาของนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านพม่า เช่น นายดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สะท้อนผ่านการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรานั้น ชัดเจนว่า คนพม่ามองภาพลักษณ์ของปตท.สผ.ในด้านลบ จึงอยากเตือนปตท.ว่า รัฐบาลชุดใหม่ของพม่ารู้จักไทยดี จึงมีความหวาดระแวงไทยว่าจะมาเอาเปรียบมาขูดรีดทรัพยากรของเขา การทำธุรกิจสัมปทานจำเป็นต้องเข้าขั้วอำนาจให้ถูก หากไปขัดผลประโยชน์ของผู้ที่มีอำนาจมากกว่าอาจจะเกิดเหตุไม่คาดฝันถึงขั้นถูกยึดทรัพย์ยึดสัมปทานก็เป็นได้
       
       ชะตาอนาคตของปตท.สผ.ในพม่าจะดำเนินไปเช่นใด ก็ต้องรอดูว่านายหน้ากิตติมศักดิ์ ที่คุยโวโอ้อวดว่าซี้ปึ๊กผู้นำพม่าเหลือประมาณนั้นจะช่วยได้หรือไม่ หรือว่าเป็นแค่ราคาคุยเท่านั้น

ตลาดหลักทรัพย์ละเว้น แต่ไม่ใช่ ปตท.ไม่มีความผิดแจงเท็จตลาดหลักทรัพย์ คดีมันก็ใช่หมดอายุความนะครับ!!!



ปตท. อย่าแค่ข่มขู่ รีบฟ้องทันที อย่าช้า !


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์  
22 ตุลาคม 2556 11:29 น.

        การออกมาข่มขู่ ฟ้องร้อง เพื่อปิดปากสื่ออย่าง “ASTV ผู้จัดการ” ของกลุ่มปตท.บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศ เพื่อไม่ให้นำเสนอข่าวคราวความไม่ชอบมาพากล ไม่โปร่งใส ที่กลุ่มปตท.ปกปิดซ่อนเร้นเอาไว้ภายใต้ภาพลักษณ์อันสวยหรูคู่รางวัลธรรมาภิบาลดีเด่นระดับโลก ต้องขอบอกว่าวิธีการข่มขู่ ปิดปากแบบนี้ใช้ไม่ได้ผลกับสื่อ “ASTV ผู้จัดการ” เป็นอันขาด !! 
       
       กลุ่มปตท.ที่สังคมตั้งข้อกังขามาตลอดว่ามีอิทธิพลเหนือรัฐ ได้แสดงอำนาจบาตรใหญ่ในการควบคุมสื่ออีกครั้ง โดยการมอบหมายให้นายไตรรงค์ ตันทสุข ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) บริษัท พีทีทีอีพี ออสตราเลเซีย (แอชมอร์คาร์เทียร์) พีทีวาย จำกัด หรือ PTTEPAA ส่งหนังสือข่มขู่ ฟ้องร้องเอาผิดทั้งแพ่งและอาญา หลังจาก “ASTVผู้จัดการ” นำเสนอข่าวเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของกลุ่มปตท.
       
       โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วสู่ท้องทะเลจ.ระยอง เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 56 ที่ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตชาวประมง ฯลฯ กระทั่งเกิดการตื่นตัวลงชื่อรณรงค์เรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบยักษ์ใหญ่พลังงานแห่งนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน รวมไปถึงการนำเสนอข่าวความอื้อฉาวของกลุ่มปตท.ที่เข้าไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่กลุ่มปตท.รับความจริงที่มีข้อครหาถึงธรรมาภิบาลจอมปลอมไม่ได้
       
       เนื้อความในหนังสือที่นายไตรรงค์ ส่งมายังกองบรรณาธิการ ASTVผู้จัดการ ได้อ้างการนำเสนอข่าวของ “ASTVผู้จัดการ” ในช่วงที่ผ่านมา นับตั้งแต่การเสนอข่าว 1) แฉสัมปทาน “ปตท.” ชนวนเด้ง รมต.พม่า 2) รัฐอุ้ม PTTGC หนีความผิด แบไต๋ส่อไม่ฟ้อง 3) สุดฉาว! เครือปตท.พัวพันสินบนสัมปทานปิโตรเลียมพม่า 4) 3 หมื่นชื่อจี้รัฐ ตั้ง กก.อิสระสอบ ติดตามน้ำมันปตท.รั่ว 5) ตามน้ำมันรั่ว ยื่น 3.2 หมื่นชื่อ 6) คราบน้ำมันที่ “เสม็ด” บทพิสูจน์ความสามารถในการจัดการสิ่งแวดล้อม
       
       โดยระบุว่า ตามที่ “ASTVผู้จัดการ” ได้เผยแพร่ข่าวรัฐบาลออสเตรเลียได้เรียกร้องค่าเสียหายจาก บริษัท พีทีทีอีพี ออสตราเลเซีย เป็นจำนวนเงินกว่า 9 พันล้านบาท และค่าปรับเป็นจำนวนเงินถึง 8,946 ล้านบาท จากเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่มอนทาราโดยปริมาณน้ำมันรั่วถึง 34 ล้านลิตร จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศน์ทางทะเลของประเทศอินโดนีเซีย แต่กลับปฏิเสธความรับผิดชอบจากผลกระทบที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้สินบนในลักษณะให้เงินสนับสนุนผลงานทางวิชาการแก่นักวิชาการและเจ้าหน้าที่ของประเทศอินโดนีเซีย และเจ้าหน้าที่ของประเทศอินโดนีเซีย เพื่อเป็นการปกปิดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าว
       
       นอกจากนี้ ยังนำเสนอข่าวอีกว่า บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้สินบนรัฐมนตรีและข้าราชการของประเทศพม่า เพื่อให้ได้มาซึ่งสัญญาสัมปทานแหล่งน้ำมันและก๊าชธรรมชาติของประเทศพม่า ซึ่งต่อมา ปตท.สผ. ก็ได้มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำนวนเงินค่าปรับที่ถูกต้อง เป็นเงินจำนวนเพียง 510,000 เหรียญออสเตรเลียหรือ 15.3 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าปรับด้านความปลอดภัยไม่ใช่ค่าปรับด้านสิ่งแวดล้อม และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อหาติดสนบนนักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ของประเทศอินโดนีเซีย ตลอดจน ปตท.สผ.ได้รับสัมปทานจากประเทศพม่าอย่างถูกต้องและตามกฎหมาย
       
       ดังนั้น การเสนอข่าวที่ 1-6 ดังกล่าวส่งผลทำให้บริษัท พีทีทีอีพี ออสตราเลเซีย และ ปตท.สผ.ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียงที่ได้รับการดูถูก ดูหมิ่น และถูกเกลียดชังจากประชาชนผู้เข้าถึงข้อมูลดังกล่าว นายไตรรงค์ ในฐานะทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก ปตท.สผ.และ PTTEP AA จึงขอให้ “ASTVผู้จัดการ” ระงับการเผยแพร่ข่าวที่อ้างถึง 1-6 และดำเนินการเผยแพร่ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องครบถ้วน ภายในกำหนด 7 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ และหากเพิกเฉยจำเป็นจะต้องดำเนินคดีตามกฎหมายต่อ “ASTVผู้จัดการ” ทั้งทางแพ่ง และทางอาญาต่อไป
       
       ความจริงแล้ว ข่าว “แฉสัมปทาน “ปตท.” ชนวนเด้ง รมต.พม่า” และข่าว “สุดฉาว! เครือปตท.พัวพันสินบนสัมปทานปิโตรเลียมพม่า” นั้นเป็นการรายงานข่าวที่อ้างอิงแหล่งที่มาจาก “เมียนมาร์ไทม์ส” สื่อกึ่งทางการของพม่า ลองคิดตรองดูถ้าหากเรื่องนี้ไม่มีมูลความจริงสื่อของพม่าที่อยู่ภายใต้กฎหมายเซ็นเซอร์อย่างเข้มงวด จะกล้านำเสนอข่าวเช่นนี้หรือไม่ อีกทั้งในข่าวเดียวกัน “ASTV” ก็ได้นำเสนอคำชี้แจงของปตท.สผ.ที่ปฏิเสธถึงการให้สินบนเพื่อให้ได้สิทธิในแปลงสำรวจ MD-7 และ MD-8 ในอ่าวเมาะตะมะ สหภาพเมียนมาร์ ไว้อย่างครบถ้วนด้วยแล้ว
       
       ส่วนประเด็นเรื่องการติดสินบนที่อินโดนีเซีย เป็นการอ้างอิงจากรายงานข่าวของเว็บไซต์หนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ของอินโดนีเซีย ที่รายงานว่า ปตท.สผ.ออสตราเลเซีย ของไทย ปฏิเสธข้อกล่าวหาของกลุ่มสิ่งแวดล้อมอินโดนีเซียเรื่องติดสินบนนักวิชาการและเจ้าหน้าที่อินโดนีเซียให้ปกปิดผลกระทบจากเหตุน้ำมันรั่วที่บ่อมอนทาราในทะเลติมอร์ เมื่อปี 2552 โดยจ่ายสินบนให้มหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งของอินโดนีเซีย จัดทำรายงานว่า ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าเหตุน้ำมันรั่วที่บ่อมอนทานา ทำให้น่านน้ำอินโดนีเซียเกิดความเสื่อมโทรม
       
       ชัดเจนว่าไม่ใช่เรื่องที่ “ASTVผู้จัดการ” จะบิดเบือนเสแสร้งแกล้งปั้นแต่งเรื่องขึ้นมาเอง เหตุไฉน ปตท.สผ. จึงร้อนรน ส่งหนังสือข่มขู่ ปิดปาก ไม่ให้สื่อขุ้ยแคะไปมากกว่านี้ เพราะกลัวสังคมไทยจะรู้ว่า วีรเวรวีรกรรมที่เกิดขึ้นจากกรณีน้ำมันรั่วของ ปตท.สผ. ที่แหล่งมอนทารา ประเทศออสเตรเลีย มันเป็นเรื่องงามหน้าระดับโลกสำหรับกลุ่มปตท.เจ้าของรางวัลธรรมาภิบาลดีเด่นที่มากมายจนล้นเข่ง ใช่หรือไม่ ?
       
       ย้อนกลับไปหลังเหตุการณ์ที่ มอนทารา ปตท.สผ. แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อย่างรวบรัดว่า เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 55 บริษัท พีทีทีอีพี ออสตราเลเซียฯ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของปตท.สผ. ได้เข้ารับฟังและยอมรับผิดตามข้อกล่าวหาของหน่วยงานกำกับดูแลด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมของออสเตรเลีย ในเรื่องการปฏิบัติงานในโครงการมอนทาราที่ไม่เป็นไปตามกฎข้อบังคับใน 4 ประเด็น ที่ศาลเมืองดาร์วิน ประเทศออสเตรเลีย โดยศาลได้ตัดสินในวันที่ 31 ส.ค.2555 ให้ PTTEPAA ชำระค่าปรับตามกฎหมาย เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 510,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ซึ่งอยู่ภายในวงเงินสำรองที่ได้ถูกบันทึกแล้วในงบการเงินปี 2552 และ PTTEPAA ได้ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐบาลออสเตรเลียอย่างใกล้ชิด และเสนอเพื่อรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขจัดคราบน้ำมัน นอกจากนี้ PTTEPAA ยังได้ให้การสนับสนุนเงินทุนในการศึกษาวิจัย และเฝ้าระวังผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาวในทะเลติมอร์ด้วย โดยคาดว่าแหล่งมอนทารา จะสามารถกลับมาเริ่มการผลิตได้ในปลายปี 2555
       
       การชี้แจงของ ปตท.สผ.ข้างต้น ไม่ชัดเจนว่าแท้จริงแล้ว ปตท.สผ. ต้องจ่ายค่าความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่มอนทารารวมทั้งหมดแล้วเท่าไหร่กันแน่เพราะไม่ใช่มีแค่ค่าปรับที่ศาลสั่งเท่านั้น ที่ผ่านมา ปตท.สผ. และทนายความที่ออกหน้ามาข่มขู่ “ASTVผู้จัดการ” ครั้งนี้ ต่างเน้นย้ำว่า น้ำมันรั่วที่มอนทารา ปตท.สผ. เสียเงินค่าปรับตามคำสั่งศาลแค่ 510,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือ 15.3 ล้านบาท เป็นค่าปรับด้านความปลอดภัย ไม่ใช่ค่าปรับด้านสิ่งแวดล้อม ถามต่อว่าแล้วค่าใช้จ่ายด้านการขจัดคราบน้ำมัน ค่าการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ค่าสนับสนุนการศึกษาวิจัย เฝ้าระวังผลกระทบในระยะยาว อีกเท่าไหร่? และความผิดใน 4 ประเด็นหลักที่ PTTEPAA ต้องยอมรับผิดคืออะไร เป็นเรื่องที่ ปตท.สผ.ไม่อยากให้สาธารณะได้รับรู้
       
       ทำไม ปตท.สผ.จึงปกปิด บิดเบือน หรือพูดความจริงเพียงครึ่งเดียว หากไม่ใช่เพราะต้องการให้สาธารณชนทั่วไปเข้าใจว่า น้ำมันรั่วที่มอนทารานั้นมีปัญหาแค่เล็กน้อย ดูจากที่เสียค่าปรับแค่ไม่กี่ตังค์ และที่ระยองก็เป็นเช่นเดียวกัน จะมาเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบอีกทำไม ชาวประมงและกลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบที่ได้ค่าชดเชยไปแล้วก็ควรจบเพียงเท่านั้น
       
       ทั้งที่ความจริง กรณีเกิดเหตุระเบิดที่แท่นขุดเจาะน้ำมันในแหล่งมอนทารา ทางเหนือของประเทศออสเตรเลีย วันที่ 21 ส.ค. 52 ส่งผลให้น้ำมันรั่วนานกว่า 10 สัปดาห์ ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 200 กม. เป็นอุบัติเหตุน้ำมันรั่วที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ออสเตรเลีย และรายงานของคณะกรรมการสอบสวนเหตุการณ์มอนทารา ชี้ว่า เป็นความผิดพลาดและบกพร่องอย่างใหญ่หลวงของ PTTEPAA
       
       กรณีดังกล่าว ทำให้ ปตท.สผ. ต้องจ่ายค่าความเสียหายเกือบหมื่นล้านบาทแล้ว ดังที่เวปไซต์ THAI PUBLICA ระบุไว้ในเรื่องบทเรียนมอนทารา ที่อ้างถึงรายงานประจำปีของ ปตท.สผ. นับตั้งแต่ปี 2552 - 2555 ว่า ปตท.สผ.จ่ายค่าความเสียหายเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่มอนทาราไปแล้ว รวมวงเงิน 9,724 ล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายในการควบคุมสถานการณ์และค่าใช้จ่ายในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนค่าชดเชยความเสียหายนั้น บริษัทได้ซื้อประกันภัยไว้ 9,000 ล้านบาท และที่ผ่านมาได้รับรู้ค่าสินไหมทดแทนแล้วในไตรมาส 4 ปี 52 จำนวน 1,341 ล้านบาท และไตรมาส 3 ปี 2553 อีก 1,369 ล้านบาท และยังอยู่ระหว่างเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อนำมาชดเชยความเสียหายเพิ่ม
       
       นายมาร์ติน เฟอร์ฟิวสัน รมว.ทรัพยากรและพลังงานของออสเตรเลีย ให้สัมภาษณ์กับไฟแนนซ์เชียล ไทมส์ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 53 ว่าค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดและหยุดเหตุรั่วไหลของน้ำมัน จนถึงขณะนั้นคือ 319 ล้านเหรียญออสเตรเลีย หรือประมาณ 9,000 กว่าล้านบาท
       
       การปกปิด บิดเบือน เฉไฉ ไม่ยอมรับผิด เป็นพฤติกรรมด้านมืดคู่องค์กรซ่อนเงื่อนแห่งนี้ ซึ่งใครที่ติดตามการดำเนินธุรกิจของกลุ่มปตท.ก็รู้ทันกันดี และพฤติกรรมเช่นนี้ก็เป็นวัฒนธรรมองค์กรที่โดดเด่น ดังเช่นที่ปรากฏในรายงานของคณะกรรมการสอบสวนเหตุการณ์มอนทารา ที่ฉีกหน้ากลุ่มปตท.เป็นริ้วๆ ให้ได้อับอายกันทั่วโลก
       
       เรื่องนี้ สฤณี อาชวานันทกุล นักวิเคราะห์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เขียนไว้ในคอลัมน์ รู้ทันตลาดทุน ตีพิมพ์ใน “กรุงเทพธุรกิจ” ฉบับวันจันทร์ที่ 13 ธ.ค. 53 เรื่อง “ความจริงและความโปร่งใส : กรณี ปตท.สผ. ในออสเตรเลีย” ว่าในรายงานของคณะกรรมการฯ ตอนหนึ่ง ระบุว่า “คณะกรรมการยังพบหลักฐานว่าบริษัทพร้อมที่จะให้ข้อมูลก็ต่อเมื่อข้อมูลนั้นเป็นประโยชน์ต่อบริษัท และปิดบังข้อมูลด้วยเหตุผลเดียวกัน (Finding 99) .... และข้อค้นพบข้อสุดท้ายของคณะกรรมการสรุปอย่างชัดเจนว่า “ตลอดระยะเวลาการทำงานของคณะกรรมการ พีทีทีอีพี เอเอ “โดยมากมีท่าทีต่อล้อต่อเถียงและชี้นิ้วปรักปรำผู้อื่น บริษัทยอมรับลักษณะและขอบเขตข้อบกพร่องของบริษัทก็ต่อเมื่อบริษัทไม่มีทางเลือกอื่นใดแล้วนอกจากยอมรับทั้งในเชิงปฏิบัติและในทางกฎหมาย”
       
       การรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ของ PTTEPAA ที่เป็นเพียงข้อความสั้นๆ ที่ไม่ได้ระบุสาระสำคัญใดๆ ของรายงานเลย ไม่มีทางที่นักลงทุนจะรู้ว่าคณะกรรมการมีข้อค้นพบที่สำคัญอะไรบ้าง การปกปิดข้อมูลที่สำคัญ เธอเห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่แย่และละเมิดต่อประกาศของตลท.ที่กำหนดให้เนื้อหาของสารสนเทศจะต้องตรงไปตรงมา ข้อวิจารณ์ของเธอ ทำให้ปตท.สผ. แก้เกี้ยวว่าเป็นเพราะข่าวส่วนใหญ่ออกมาว่ารายงานดังกล่าวชี้ข้อบกพร่อง PTTEPAA แต่แทบไม่มีเรื่องการพิจารณาใบอนุญาตและการดำเนินการแก้ไขปรับปรุงของ PTTEPAA ดังนั้น ปตท.สผ.จึงอยากให้ข้อมูลด้านดีต่อนักลงทุนเพื่อให้เกิดความสมดุลและเสมอภาคในการได้รับข่าวสารของสาธารณชน
       
       การต่อล้อต่อเถียง ชี้นิ้วปรักปรำผู้อื่น หรือข่มขู่ ปิดปากอย่างที่กลุ่มปตท. กำลังทำกับสื่อเครือ “ASTVผู้จัดการ” นั้น ไม่ใช่วิธีการที่ฉลาดสำหรับองค์กรที่มีศักดิ์ศรีระดับยักษ์ใหญ่พลังงานอันดับหนึ่งของประเทศ มีแต่ต้องพร้อมให้ตรวจสอบ จริงจังและจริงใจในการแก้ไขปัญหาและความผิดพลาดเท่านั้นที่จะทำให้กลุ่มปตท.ได้รับความไว้วางใจจากสังคม เอาง่ายๆ แรกสุดกลุ่มปตท.ควรเป็นผู้สนับสนุนอย่างแข็งขันในการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบอิสระกรณีน้ำมันรั่วที่ระยองก่อนเป็นอันดับแรก