วันอังคารที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2556

'การปฏิวัตินกหวีด' มองเชื่อมโยงกับปัญหาอนาคตการเมืองไทย



'ธีรยุทธ'มองอนาคตหลังปฏิวัตินกหวีด



ธีรยุทธ : 'การปฏิวัตินกหวีด' มองเชื่อมโยงกับปัญหาอนาคตการเมืองไทย

             "...การต่อสู้ครั้งนี้อาจไม่บรรลุชัยชนะ หรือเราอาจผิดหวังกับผลงานของผู้ที่จะทำงานให้กับประชาชนในอนาคต แต่ที่สำคัญที่สุดคือได้เกิดประสบการณ์การใช้สิทธิอำนาจของประชาชน พลังที่แท้จริงของภาคประชาชน อำนาจต่อรองกับอำนาจการเมืองอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก ซึ่งคุ้มค่าแก่ความเหนื่อยยากทั้งปวงอยู่แล้ว .."
             1. คนไทยจะปฏิรูปประเทศไทยอย่างรอบด้านได้ไหม? ประเทศไทยเลยเวลาที่จะปฏิรูปมาเนิ่นนานแล้ว เพราะ
             • ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 ประชาธิปไตยเลือกตั้งมีการใช้เงินและผลประโยชน์ซื้อเสียงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงขั้นการใช้นโยบายประชานิยม แจกเงินโดยตรงแก่ประชาชน
             • การคอร์รัปชั่นพัฒนาไปทุกรูปแบบ เป็นคอร์รัปชั่นด้วยนโยบาย เช่น การจำนำข้าว การเปิดเสรีรัฐวิสาหกิจ ฯ นักการเมืองกินเพิ่มขึ้นเป็น 30-40% การส่งส่วยของตำรวจจากผู้น้อยไปสู่ผู้ใหญ่มีทุกระดับ การใช้เงิน การรับใช้ทางการเมืองหรือเรื่องสกปรกแลกตำแหน่งมีทุกวงการ หลังสุดถึงขั้นว่าเมื่อส่วนกลางจัดงบประมาณให้หน่วยงานต่างจังหวัด หน่วยงานจะต้องส่งคืนกลับ 10-20% ให้ผู้บังคับบัญชาที่อนุมัติ
             • ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายเสื่อมทรามลงไปเรื่อยๆ คนทุกกลุ่มเลิกสนใจคุณธรรมหน้าที่ต่อบ้านเมือง มีการสมคบร่วมกันแย่งทึ้งประเทศชาติ เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะได้เปรียบไม่เสียเปรียบคนอื่นในทุกวงการ อย่างที่โบราณว่าไว้ว่า “ฝูงแร้งสมจร ฝูงแร้งด้วยกัน” ทั้งนี้เพราะพฤติกรรมที่ผ่านมาบ่งว่าเราอยู่ใต้ระบบสมจรของทักษิณ ใต้รัฐบาลสมจรหุ่นของทักษิณ และสภาก็คือขี้ข้าทักษิณมาสมจรกัน
             • การใช้อำนาจของนักการเมืองมีลักษณะเหิมเกริม ไร้ความละอายมากขึ้นเรื่อยๆ
             • ข้าราชการสมคบสยบยอมนักการเมืองเปิดเผยชัดเจนเกือบทั้งหมด
             • นโยบายจำนำข้าวเป็นดัชนีที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจประเทศล้มเหลวและเกิดปัญหาร้ายแรงในที่สุด
             ทั้ง 6 ปัจจัยนี้จะทำให้ประเทศและสังคมไทยแตกวิ่นเป็นกลุ่มแสวงหาผลประโยชน์กลุ่มเล็กและใหญ่กระจายไปทั่ว และจะแตกวิ่นในลักษณะภูมิภาค ท้องถิ่น ชนชั้น กลุ่มอาชีพ ฯลฯ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติมีชะตากรรมที่เลวร้ายที่สุดตั้งแต่เคยเป็นมา ทั้ง 6 ปัจจัยเป็นเหตุผลให้ควรเร่งแก้วิกฤติการเมืองไทยอย่างจริงจัง ไม่ทำแบบขอไปที
             2. ทำไมประเทศไทยไม่เคยปฏิรูปสำเร็จ ที่ปฏิรูปไม่สำเร็จเพราะมีไทยเฉยเยอะ ที่เป็นไทยเฉยมี 5 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
             1) ชาวบ้านในเมือง รากหญ้าในชนบท เฉย ไม่ใช่เพราะโง่เง่าหรือขาดการศึกษา แต่เพราะต้องดิ้นรนทำกิน และปัจจุบันก็ตื่นตัวในเรื่องข้อมูลข่าวสาร สิทธิของตนเองมากขึ้น ทั้งในแนวเสื้อแดง เสื้อเหลือง หรือในขบวนการนกหวีด
             2) ชนชั้นกลางเฉยเพราะต้องตั้งเนื้อตั้งตัว แต่ก็ดีขึ้น เช่น กลุ่มธุรกิจสีลม อโศก รัชดา กลุ่มอาชีพต่างๆ
             3) ผู้ดี ราชครูปุโรหิตทำหน้าที่สรรเสริญพระเจ้าอยู่หัวเฉยๆ แต่ไม่กล้าหาญพอจะปฏิบัติหน้าที่ให้บรรลุ ในการรักษ์ความยุติธรรม ป้องกันการโกง การสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง และความอยู่ดีมีสุขของประชาชนแทนพระองค์
             4) ข้าราชการ เสนาอำมาตย์ เฉย ไม่นำพาต่อการโกงกินบ้านเมือง แม้คนเป็น 1-2 ล้านออกมาเรียกร้องก็ไม่นำพา กลับเริ่มเสวยสุขกับนักการเมืองโกงกินทั้งหลาย
             5) เจ้าสัวเฉย ไม่ยอมลงทุนเพื่อสร้างสรรค์การเมือง มีแต่ลงทุนเฉพาะทางธุรกิจเพื่อให้ครอบครัวร่ำรวย และออกมาคร่ำครวญเดือดร้อนอย่างน่าเห็นใจทุกคนเมื่อมีวิกฤติการเมือง
             3. มองพลังประชาชนอย่างมีความหวัง ขบวนนกหวีดที่เริ่มขึ้นเล็กๆ จากกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) ที่อุรุพงษ์ กลุ่มกองทัพธรรมที่ผ่านฟ้า กลุ่มคัดค้านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่สามเสนและราชดำเนิน จนเกิดเป็น กปปส. ทำให้การปฏิรูปประเทศไทยอย่างรอบด้านมีโอกาสเป็นจริงขึ้นได้ เราสามารถอธิบายได้ว่าการแข็งขืนของ กปปส. หรือ “ขบวนนกหวีด” ครั้งนี้ โดยแก่นแท้ไม่ใช่ปัญหาว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ไม่ใช่เป็นการไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่หรือเป็นขบถ
             แต่เป็นทั้งการใช้ “สิทธิและการปฏิบัติหน้าที่อันจำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้” สิทธิและหน้าที่ที่ว่าก็คือ การต่อต้านล้มล้างรัฐบาลที่ฉ้อฉลหรือเป็นทรราช (tyrannicide) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีและปรัชญาการเมืองประชาธิปไตย และมีการกระทำที่เป็นจริงมาตั้งแต่สมัยประชาธิปไตยของกรีก โรมัน งานของนักคิดสำคัญๆ จำนวนมาก เช่น Juan de Mariana, Hugo Grotius, John Locke ซึ่งเป็นบิดาของการปฏิวัติประชาธิปไตยของอังกฤษ ล้วนยืนยันสิทธิในการขับไล่ล้มล้างรัฐบาลฉ้อฉลทั้งสิ้น เช่น Locke มองว่าสิทธิในการปฏิวัติของประชาชนเป็นการป้องกันให้พ้นจากระบบทรราช
             และถือว่าเมื่อมีการละเมิดผลประโยชน์ของประชาชนภายใต้สัญญาประชาคม ประชาชนมีสิทธิปลุกระดมเพื่อก่อการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนเป็นรัฐบาลที่รับใช้ผลประโยชน์ของประชาชน (ดูงาน Mariana, De rege et regis institutione (1598), Locke, Two Treatise of Government (1689), Grotius, Truth of the Christian Religion (1627) และ The Rights of War and Peace, including the Law of Nature and of Nations (1901))
             โทมัส เจฟเฟอร์สัน, เบนจามิน แฟรงคลิน ต่างใช้สิทธิและหน้าที่นี้ในการต่อสู้กับจักรวรรดิอังกฤษ ดังแฟรงคลินได้เสนอแบบเหรียญมหาลัญจกรของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีข้อความการขับไล่ทรราชเป็นพันธกิจศักดิ์สิทธิ์ต่อพระเจ้าในคำประกาศอิสรภาพของอเมริกาที่เขียนไว้ว่า “เมื่อการใช้อำนาจไม่ชอบ การฉกฉวยดำเนินไปต่อเนื่องไม่ผันแปร ... จะเป็นระบบทรราชแบบสมบูรณ์
             จึงเป็นสิทธิเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะล้มล้างรัฐบาลเช่นนั้นเสีย” ในคำปรารภรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสปี 1793 ก็มีกำหนดไว้หลายมาตรา เช่น มาตรา 27 “... เมื่อรัฐบาลละเมิดสิทธิของประชาชน ประชาชนย่อมต้องลุกฮือขึ้นต่อต้าน โดยถือว่าเป็นสิทธิที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด และเป็นหน้าที่ที่จักขาดเสียไม่ได้มากที่สุด” และยังมีคำยืนยันสิทธินี้ในรัฐธรรมนูญอีกหลายประเทศ และยังมีกำหนดไว้โดยนัยยะในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนด้วยเช่นกัน
             การใช้สิทธิดังกล่าวส่วนใหญ่ต้องมีการยกเลิกกฎหมายหรือละเมิดกฎหมายบางข้อ แต่ก็มีการอ้างได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อประโยชนสูงสุดของประเทศชาติ เช่น โทมัส เจฟเฟอร์สัน กล่าวว่า “การเคารพกฎหมายอย่างเคร่งครัดเป็นหน้าที่ที่สูงส่งอย่างไม่ต้องสงสัยของพลเมืองที่ดี แต่การรักษาประเทศของเราจากอันตรายเป็นพันธกิจที่สูงกว่า การสูญเสียประเทศของเราโดยการติดยึดกับกฎหมายที่ตราไว้โดยสำนึกทางศีลธรรมของเรา จะเท่ากับเป็นการสูญเสียระบบกฎหมายทั้งหมด ชีวิต เสรีภาพและทรัพย์สินทั้งหมดของเรา จึงเท่ากับเป็นการเสียสละเป้าหมาย (ประเทศและชีวิต) เพื่อรักษาเครื่องมือ (คือตัวบทกฎหมายบางข้อ – ผู้เขียน) ไว้อย่างไร้เหตุไร้ผลโดยสิ้นเชิง”
             อย่างไรก็ตาม ศาลมักเตือนว่าการใช้สิทธิดังกล่าว รัฐธรรมนูญ กฎบัตรต่างๆ มักพิจารณาให้ใช้ในสภาวะที่เป็นความจำเป็นที่เกิดขึ้นจริงๆ เป็นมาตรการสุดท้าย โดยการไตร่ตรองด้วยเหตุผลและสามัญสำนึก ไม่ใช่การโน้มน้าวจูงใจด้วยอารมณ์หรือความเคียดแค้นชิงชัง
             4. “การปฏิวัตินกหวีด” หรือ “ประชาภิวัฒน์” กปปส. ปฏิเสธการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทางเลือกของ กปปส. จึงเหลือเพียง 2 ทาง ทางแรกคือการกดดันให้เกิด “สุญญากาศ” ทางการเมือง เพื่อใช้มาตรา 3 มาตรา 7 แต่คาดว่าพรรคเพื่อไทยคงไม่ยินยอม และหนทางดังกล่าวจะทำให้เกิดความอึดอัดไม่สบายใจของฝ่ายต่างๆ ที่จะตีความรัฐธรรมนูญหรือปฏิบัติตามแนวคิดดังกล่าว
             อีกหนทางไม่เคยเกิดในประเทศไทย คือการปฏิวัติของประชาชน ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนแปลง 2475 เป็นการปฏิวัติของทหารร่วมกับพลเรือน เพื่อล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ประชาชนมีส่วนเฉพาะการโค่นล้มระบอบเผด็จการ
             แต่ไม่มีส่วนในการออกแบบระบอบการเมืองที่ใช้กันต่อมา เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 การปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน ประชาภิวัฒน์หรือ “การปฏิวัตินกหวีด” จึงอาจถือเป็นการ “ปฏิวัติประชาชน” ครั้งแรก เพราะเรียกร้องสภาที่ประชาชนมีอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่เนื่องจากระบอบการเมืองที่ถูกล้มไป
             มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญที่ชอบธรรม [หมายเหตุ การปฏิวัติกับประชาธิปไตยเป็นคนละสิ่งกัน การปฏิวัติไม่เคยเกิดจากประชาชนหมดทั้งประเทศออกมาใช้สิทธิแบบการเลือกตั้ง ไม่ว่าการปฏิวัติประชาธิปไตยของอังกฤษ (1688) การปฏิวัติฝรั่งเศส (1789) การประกาศอิสรภาพของอเมริกา (1776) การปฏิวัติกำมะหยี่ (1989) ของเชกโกสโลวาเกีย การปฏิวัติสีส้ม (2004) ของยูเครน
             ล้วนเป็นประชาชนจำนวนหนึ่งซึ่งอ้างเจตนารมณ์ร่วม (General Will) ของประชาชนทั้งสิ้น อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญของประเทศทั่วโลกก็มาจากตัวแทนของฝ่ายต่างๆ ซึ่งแต่งตั้งโดยผู้ทำการปฏิวัติทั้งสิ้น]
             จึงอธิบายได้ว่าประชาชนทำปฏิวัติได้ เพียงแต่ต้องทำให้คนเชื่อมั่นว่า “การปฏิวัติประชาชน” ครั้งนี้จะทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมาก มีสิทธิเสรีภาพที่ดีขึ้นกว่าเก่า มีความเคารพซึ่งกันและกันมากขึ้น ทำให้ประเทศมีสภาพที่ดีขึ้น และแก้ปัญหาเลวร้ายที่เรียกว่าระบอบทักษิณได้จริงหรือไม่ บ่อยครั้งการอ้างความเป็นตัวแทนของประชาชนก็ไม่เป็นจริง แม้ในสหรัฐเองตัวแทนจากหลายรัฐก็มาจากอภิสิทธิ์ชนเกือบทั้งหมด สวิสเซอร์แลนด์อาจเป็นข้อยกเว้นประเทศเดียว (ดู R.R.Palmer, The Age of the Democracy Revolution vol.I,II (1989)) ประเด็นสำคัญคือเนื้อหาและการปฏิบัติให้เป็นจริงมากกว่า
             5. ความยากลำบากที่สุดของการนำพาให้การปฏิวัติประชาชนสำเร็จ และไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ในเมืองไทย การปฏิวัติประชาชนเกิดขึ้นได้ยากอย่างยิ่ง โดยเฉพาะของประเทศไทยในครั้งนี้ซึ่งอาศัยเพียงนกหวีดเป็นอาวุธ และโดยประเพณีในการเมืองไทยต้องประกอบไปด้วยปัจจัย
             ก. การรับรองจากประมุขของประเทศ
             ข. การยอมรับจากกองทัพ ตำรวจ ข้าราชการ
             ค. ในปัจจุบันประชาชนซึ่งตื่นตัวในสิทธิประชาธิปไตยมีมากขึ้น การยอมรับของประชาชนทุกส่วนและภาคเอกชนก็เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่ง
             ผู้เขียนสนับสนุนแนวทางการปฏิวัติของประชาชน เพราะเป็นพัฒนาการอีกขั้นของการตระหนักถึงสิทธิอำนาจของประชาชน อยากให้ประสบความสำเร็จ ให้มวลมหาประชาชนกว่า 2 ล้านคนได้สมหวัง จึงขอออกแรงในทางความคิดเสนออย่างจริงจังและตั้งใจจริง ดังนี้
             กปปส. ควรตระหนักว่า การประกาศทวงอำนาจสูงสุดคืออำนาจอธิปไตยคืนเป็นของประชาชน ซึ่งโดยนัยยะมี กปปส. เป็นตัวแทนถืออำนาจนั้น เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่สำคัญมาก ไม่เคยปรากฏมาก่อนในบ้านเรา เพราะมันหมายถึงการยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือครองอำนาจในการจัดการสิทธิเสรีภาพในชีวิต ทรัพย์สิน ของแต่ละคน รวมทั้งทิศทางทั้งหมดของประเทศได้ จึงมีความจำเป็นที่ กปปส. ต้องตระหนักดังนี้
             ก. การเร่งรัดให้คนกลุ่มอาชีพต่างๆ ยอมรับการตัดสินใจของ กปปส. โดยไวเกินไป ยิ่งทำให้คนลังเล การใช้เวลาให้คนส่วนใหญ่ได้ครุ่นคิด ตริตรอง ทำความเข้าใจ และมีโอกาสได้ไต่ถามพูดคุยกับ กปปส. กระบวนการเกิดนโยบายหรือการจัดตั้งสภาประชาภิวัฒน์เพื่อร่างรัฐธรรมนูญ ควรต้องเป็นการปรึกษาหารือเพื่อสร้างฉันทามติอย่างกว้างขวางจริงใจ จากนั้นอาจต้องผ่านประชามติและเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยจริงๆ โดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชน กปปส. ควรแสดง
             1) การมีเจตจำนงการเมืองที่แน่วแน่ (Political Will) ที่จะบรรลุภารกิจที่ตัวเองประกาศไว้ นั่นคือการแก้ไขการขยายตัวของการคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นตัวฉุดดึงทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงของชาติ ให้ล่มสลายตามไปด้วย ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการกฎหมายที่เข้มงวด มีการสร้างหน่วยงานปราบคอร์รัปชั่นที่มีอำนาจสูง การปฏิรูประบบยุติธรรม เช่น ตำรวจ อัยการ ให้ทำงานสอดคล้องกัน พิสูจน์ลงโทษให้เห็นชัดเจน
             2) ต้องมีคำประกาศอุดมการณ์การเมืองที่ชัดเจน ผูกมัดตัวเอง ผูกมัดสังคมที่จะเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิเสรีภาพของประชาคมและชุมชน ท้องถิ่น จริงจัง ต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงโดยไว
             3) ต้องมีอุดมการณ์เศรษฐกิจที่ชัดเจน ซึ่งควรเป็นเสรีนิยมที่เป็นธรรม ไม่ใช่เป็นประชานิยมเอียงซ้าย หรือชาตินิยมแบบอเมริกาใต้ ซึ่งนำความเสื่อมโทรมมาสู่เศรษฐกิจชาติอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความเป็นธรรม อำนาจในการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากร ความมั่งคั่งที่กระจายอย่างยุติธรรมมากขึ้น
             4) ควรเน้นเนื้อหาการกระจายอำนาจสู่ภูมิภาค เน้นการเคารพการตัดสินใจในการดูแลผลประโยชน์ของท้องถิ่น
             5) เคารพภูมิปัญญา วัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเอาใจใส่เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน
             6) พัฒนาแลกเปลี่ยนระดับความรู้ของทุกภูมิภาคให้เท่าเทียมกัน ทั้งในด้านการศึกษา วิจัย การพัฒนา
             7) ดังที่ได้ย้ำหลายหนว่า การปฏิวัติเพื่อสถาปนารัฐธรรมนูญที่มีการอ้าง “อำนาจประชาชน” หรือเจตจำนงของประชาชน โดยไม่เคยเป็นประชาธิปไตย 100% ทุกที่ แต่ก็ต้องให้สภาประชาภิวัฒน์หรืออื่นๆ มีลักษณะเป็นระบบตัวแทนที่กว้างขวางที่สุด
             ข. กปปส. มีความสามารถในการโน้มน้าวจูงใจ แจกแจงเหตุผลให้กับมวลชนจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งก็คือลักษณะของขบวนการต่อต้านคัดค้านรัฐบาล (protest movement) เป็นทุนหรือเป็นพลังทางการเมืองที่สำคัญ แต่แม้จะเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมอีกก็ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้
             แต่การจะได้มาซึ่งอำนาจอธิปัตย์โดยเฉพาะการยอมรับจากประมุขประเทศ และการสนับสนุนถึงขั้นให้ข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน มารายงานตัว ยังต้องอาศัยการยอมรับ ความไว้วางใจในเจตจำนงทางการเมือง อุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง บุคลิกท่วงทำนองประชาธิปไตย การเคารพซึ่งกันและกัน การอดทนต่อความแตกต่าง บุคคลเข้าร่วมหรือพร้อมจะเข้าร่วมที่มีคุณวุฒิ มีความสามารถด้านต่างๆ มาประกอบ ถ้าจะเปรียบเทียบก็คือ กปปส. และมวลมหาประชาชนเป็นเสมือนฐานราก ยังจำเป็นต้องมีส่วนอื่นๆ คือ เสา ฝา หลังคา รั้ว เพื่อประกอบเป็นโครงสร้างหน้าที่ที่สมบูรณ์
             ถ้าใช้ศัพท์การเมืองก็คือการมีองค์กรแนวร่วม (united front) ที่ประกอบด้วยบุคคลที่เสมือนเป็นทุนทางสังคม ทุนทางสัญลักษณ์ ทุนทางศรัทธา ความน่าเชื่อถือ ความสามารถและมีประสบการณ์ ซึ่งที่จริง กปปส. สามารถที่จะแสวงหาทรัพยากรเหล่านี้ได้ไม่ยาก
             ทั้งจากผู้เข้าร่วมชุมนุมอยู่แล้ว และจากพรรคประชาธิปัตย์ จากองค์กรภาคธุรกิจเอกชน 7 องค์กรที่ประกาศพร้อมจะเป็นคนกลาง บุคคลผู้อาวุโสในสังคม เทคโนแครตบางส่วน การเน้นคนเหล่านี้อาจถูกหาว่าเป็นอภิชนนิยม การเปิดทางให้ชนชั้นสูงเป็นใหญ่ (elitism แต่ถ้าเน้นเฉพาะหลักการให้การเลือกตั้งเป็นตัวสินในทุกสถานการณ์ ก็เป็นแนวธนานิยม moneyism คือแนวโน้มการให้อำนาจเงินเป็นใหญ่ไปอีกทาง) จึงควรมีองค์ประกอบจากตัวแทนรากหญ้า ผู้นำปัญญาชนการเมืองท้องถิ่นทุกจังหวัดด้วย
โครงสร้างแนวร่วมประชาภิวัฒน์ที่ควรจะเป็น
             การต่อสู้ครั้งนี้อาจไม่บรรลุชัยชนะ หรือเราอาจผิดหวังกับผลงานของผู้ที่จะทำงานให้กับประชาชนในอนาคต แต่ที่สำคัญที่สุดคือได้เกิดประสบการณ์การใช้สิทธิอำนาจของประชาชน พลังที่แท้จริงของภาคประชาชน อำนาจต่อรองกับอำนาจการเมืองอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก ซึ่งคุ้มค่าแก่ความเหนื่อยยากทั้งปวงอยู่แล้ว และถ้ารักษาพลังนี้ได้เราก็อาจได้แนวร่วมของขบวนการตรวจสอบภาคการเมืองต่อต้านคอร์รัปชั่นที่เข้มแข็งของประเทศในอนาคตได้
ธีรยุทธ บุญมี
แถลงที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
10 ธันวาคม 2556 วันรัฐธรรมนูญ