“ต้นทุน” ชีวิตของคนไทยพุ่งขึ้นตลอดช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีสาเหตุชัดเจนมาจาก ปัญหา “ราคาน้ำมันแพงกระฉูด” ชนิดหยุดไม่อยู่
แต่ไม่สำคัญเท่ากับว่า ขณะที่ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่เดือดร้อนอย่างหนัก และบริษัทส่วนใหญ่ต่างต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจจากราคาน้ำมันแพง ภาวะเงินเฟ้อ ปตท. ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานที่เคยเป็นความหวังของคนไทย กลับเติบโตสวนวิกฤต ยิ่งคนไทยต้องจ่ายแพงน้ำมันมากขึ้นเท่าไหร่ “ตัวเลขกำไร” ปตท. ยิ่งเพิ่มมากขึ้นทุกไตรมาสในทุกปี
ผู้ใช้น้ำมันเบนซิน 91 สำหรับรถยนต์ เคยจ่ายลิตรละ 12.99 บาท เมื่อ 6 มกราคม 2543 ผ่านมาไม่กี่ปี วันที่ 15 มิถุนายน 2551 ต้องจ่าย 40.99 บาท น้ำมันดีเซลที่เคยจ่าย 11.02 บาท มาวันนี้ต้องจ่าย 41.84 บาท เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า สูงกว่าเบนซินอย่างไม่ไม่น่าจะเป็นไปได้ โดยเฉพาะดีเซล ซึ่งเป็นน้ำมันที่ใช้ในรถปิกอัพสำหรับขนส่ง จึงเดือดร้อนกันถ้วนหน้า กระทบไปทั้งภาคธุรกิจ ขนส่ง อุตสาหกรรม ประชาชนทั่วไป ที่ต้องแบกรับต้นทุนน้ำมันเพิ่มขึ้น จนต้องขึ้นค่าขนส่งและราคาสินค้า ไม่เว้นแม้แต่ “มาม่า”
การผูกขาดธุรกิจพลังงานอย่างครบวงจร ยังทำให้เกิดสิ่งที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในรอบ 10 ปี คือการต่อคิวเพื่อเติม “ก๊าซ LPG” (Liquefied Petroleum Gas) หลังจากรัฐบาลประกาศเตรียมลอยตัวราคาแอลพีจีที่ใช้กับรถยนต์ และราคาก๊าซแอลพีจีในตลาดโลกสูงกว่าในไทย
ภาวะความวุ่นวายในกลุ่มผู้ค้าและลูกค้าของ “LPG” เป็นสัญญาณเตือนสำหรับลูกค้า NGV (Natural Gas for Vehicles) ของ ปตท. ในอนาคต อาจต้องประสบกับเหตุการณ์นี้เช่นกัน เพราะ NGV เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ ปตท. ผูกขาด ทั้งการผลิต และเป็นเจ้าของปั๊มทั้งหมด ที่สำคัญยังโยงใยกับทุนการเมืองในเครือข่ายของ “ทักษิณ”
ในทางตรงกันข้าม ขณะที่ชาวบ้านกำลังเดือดร้อน แต่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ที่กำลังขึ้นปีที่ 30 กลับมีรายได้ กำไร และเงินปันผลสูง จนหุ้น ปตท. ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (ดูตารางประกอบ) ตลอดเกือบ 6 ปี่ผ่านมา มีผู้ที่เคยได้หุ้นไอพีโอ และซื้อขายหุ้น ปตท. ในตลาดหลักทรัพย์ฯ รับกำไรมาแล้วหลายรอบ จนมีการคาดการณ์จากบรรดานักวิเคราะห์ว่าราคาหุ้นเป้าหมายของ ปตท. ในปี 2551 ทะลุ 400 บาทอย่างแน่นอน
ด้านผลประกอบการ ปี 2540-2544 ปตท. มีกำไรปีละประมาณ 22,000 ล้านบาท แต่หลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ 3 ปี ในปี 2547 ปตท. มีรายได้ 680,650.03 ล้านบาท หรือเกือบ 7 แสนล้านบาท กำไรสุทธิ 62,666.47 ล้านบาท สิ้นปี 2550 รายได้เพิ่มขึ้นกว่า 150% อยู่ที่ 1,553,053.06 ล้านบาท หรือกว่า 1.5 ล้านล้านบาท พอๆ กับงบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศ และกำไรเกือบ 1 แสนล้านบาท หรือที่ 97,803.59 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นเพิ่งได้รับปันผลล่าสุดหุ้นละ 11.50 บาท ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ปันผลสูงสุดรวมถึง 32,000 ล้านบาท
ตัวเลขกำไรของบริษัท เป็นสิ่งธรรมดาของธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องทำตัวเลขให้มากที่สุดเพื่อผู้ถือหุ้น
แต่เป็นเรื่องไม่ธรรมดาที่กำไรเหล่านั้นมาจากการคำนวณ เพื่อนำไปสู่ตัวเลขกำไรสูงสุด ทำให้คนทั้งประเทศเดือดร้อน ยิ่งไม่ธรรมดาเมื่อผู้บริหาร ปตท. ร่ำรวยทั้งจากหุ้น เงินเดือน และโบนัสในแต่ละปี โดยเป็นผู้บริหารกลุ่มเดียวที่มีตำแหน่ง หัวโขน ทั้งเป็นผู้กำกับดูแลกิจการ และราคาพลังงานของประเทศ มาเป็นบอร์ดของ ปตท.
ปตท. ยังผูกขาดธุรกิจก๊าซ ทั้ง NGV และ LPG โดยพร้อมทุ่มลงทุนเต็มที่ 5 ปีนับจากนี้ ด้วยงบกว่า 1.7 แสนล้านบาท และยังออกแรงดันเต็มที่กับ “ไบโอดีเซล” และ “เอทานอล” ไม่ว่าจะเป็น E20 และ E85 ที่ ปตท. มีสิทธิผูกขาดรับซื้อจากผู้ผลิตแอลกอฮอล์เพียงรายเดียว โดยมีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ทั้งค่ายซีพี และค่ายแอลกอฮอล์ยักษ์ใหญ่อย่างไทยเบฟเวอเรจ เบียร์ช้าง, ตระกูลภิรมย์ภักดี ร่วมกับบุคคลและธุรกิจในเครือข่ายของอดีตนายกรัฐมนตรี อย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และค่ายน้ำตาลมิตรผล และเทมาเส็ก ทุนจากสิงคโปร์ก็พร้อมโดดเข้ามาตลาดนี้เต็มที่
ความหอมหวานของธุรกิจพลังงานยังเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับสาเหตุที่ไทยต้องเสียดินแดนเขาพระวิหารเพื่อแลกกับเกาะกง ที่เชื่อกันว่าเป็นพลังงานแหล่งใหม่ในเขมร ที่ผู้นำเขมรออกมายอมรับว่าพ.ต.ท.ทักษิณพร้อมเข้าไปลงทุนธุรกิจพลังงานในเขมร
มีการเปิดโปงข้อมูลว่า การซื้อเกาะกงของทักษิณ ทำในนาม “นิติบุคคล” หาใช่ในนามของรัฐ นั่นหมายความว่า นิติบุคคล หรือบริษัทที่ทักษิณจัดตั้งขึ้น จะได้รับการยกเว้นภาษี เนื่องจากเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ รายได้ไม่เข้ารัฐ
เกาะกง ยังได้รับสิทธิ์เป็นเขตปกครองพิเศษ นอกเหนืออธิปไตยของไทย ย่อมหมายถึงว่า นิติบุคคลที่ทักษิณเป็นเจ้าของจะมีอำนาจอย่างเต็มขั้น โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้กติกาของใคร
สิ่งที่ทักษิณมุ่งหวังตลอดเวลา คือ การสร้าง “การเมืองใหม่” ต้องใช้ทุนมหาศาล เป็นการเมืองที่อิงกับทุนนิยม คนมีเงินคือผู้มีอำนาจ รายได้จากธุรกิจพลังงานจะทำให้ความหวังเป็นจริง
นั่นคือ ปริศนาว่า ทำไม ปตท. – ทักษิณ – เกาะกง – เขมร จึงเป็น จิ๊กซอว์ ที่ต่อเชื่อมกันอย่างแยกไม่ออก
เป็นทฤษฎีทำลายล้างที่บ่งบอกว่า แท้ที่จริงแล้ว ปตท. เป็นแหล่งพลังงานเพื่อใคร ?
แม้จะมีคำถามมากมายกับธุรกิจพลังงาน และ “ปตท.” แต่ก็ต้องยอมรับว่า “ปตท.” สามารถสร้างภาพลักษณ์จนเป็นองค์กรที่ดูน่าเชื่อถือในสายตาของคนทั่วไป ได้รับรางวัลมากมายจากสถาบันและสื่อต่างชาติ เช่น นิตยสารฟอร์บส์ จัดอันดับให้ตั้งแต่ปี 2004 -2007 เป็น 1 ใน 500 บริษัทมหาชนขนาดใหญ่ของโลก อับดับดีขึ้นเรื่อยๆ จนปีล่าสุดอยู่ที่ 354 และฟอร์จูนอยู่ในอันดับที่ 207 และรางวัลด้านบริหารจัดการอื่นๆ อีกหลายรางวัล
คำถามสุดท้ายตามมาว่า กระบวนการสร้าง “ปตท.” อย่างที่เห็น มีเจตนาเพียงเพื่อสร้างธุรกิจที่มีกำไร เป็น “พลังไทย เพื่อไทย” เพื่อความแข็งแกร่งของพลังงานในประเทศ หรือ เพื่อใคร
โครงสร้างรายได้ ปตท. ปี 2550 : น้ำมันทำยอดกว่า 70%
------------------------------------------------------------------------------------------------
ผลิตภัณฑ์ จำนวนธุรกิจ/บริษัทในเครือ มูลค่า (ล้านบาท) สัดส่วนของรายได้ทั้งหมด (%)
1. น้ำมัน 8 1,116,461.56 71.89
2. ก๊าซ 4 243,403.02 15.67
3. ปิโตรเคมี 5 124,393.92 8.01
4. สาธารณูปโภค 4 5,459.20 0.35
5. รายได้จากการให้บริการ 8 6,088.52 0.39
6. อื่นๆ - 26,166.60 1.69
7. ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้ส่วนเสีย -31,080.23 2.00
8. รวมรายได้ - 1,553,053.05 100.00
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ที่มา : รายงานประจำปี ปตท. 2550
แผนการลงทุน ปตท. ปี 2551-2555 ประมาณ 2.4 แสนล้านบาท เน้นลงทุนก๊าซกว่า 1.7 แสนล้าน
หน่วย : ล้านบาท
ธุรกิจ ปี 2551 ปี 2552 ปี 2553 ปี 2554 ปี 2555 รวม
ก๊าซธรรมชาติ 39,933 54,555 43,510 22,140 13,016 173,154
น้ำมัน 4,118 1,816 1,885 1,533 1,58710,939
บริษัทร่วมทุน
- ก๊าซฯ 15,426 9,355 9,234 3,593 1,026 38,634
- น้ำมัน 3,887 1,437 1,662 1,309 1,3639,658
- ปิโตรเคมีและการกลั่น 1,880 2,609 1,692 - - 6,181
- สำนักงานใหญ่ 1,134 203 60 68 731,538
สำนักงานใหญ่ และอื่นๆ 919 486 345 354 358 2,462
รวม 65,563 71,905 58,390 28,663 16,690241,211
ที่มา : ปตท. แบบ 56-1 ประจำปี 2550
ปตท. มีแผนการลงทุนภายในปี 2551-2555 หรือช่วง 5 ปี มูลค่ารวม 241,211 ล้านบาท โดยมีแผนลงทุนโครงการก๊าซธรรมชาติสูงสุด ทั้งการวางระบบท่อก๊าซ โครงการโรงแยกก๊าซ โดยคาดมีผลตอบแทนการลงทุนไม่ต่ำกว่า 15%
การทุ่มเทเงินกว่า 1.7 แสนล้านบาท เพื่อลงทุนโครงการเกี่ยวกับก๊าซ ทั้งแอลพีจีและเอ็นจีวี เพื่อให้ตอบสนองความต้องการบริโภคที่ต้องเลี่ยงจากการใช้น้ำมันที่มีราคาจำหน่ายสูงกว่า
Timeline ปตท.
ปี 2521 -ก่อตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจรับมือภาวะขาดแคลนน้ำมันทั่วโลก และเน้นให้ ปตท. หาแหล่งปิโตรเลียมในประเทศ
ปี 2526-2530 – สร้างคลังก๊าซแอลพีจี 6 แห่ง
ปี 2536 –เริ่มใช้เอ็นจีวีในรถเมล์
ปี 2544
- 1 ตุลาคม 2544 แปลงสภาพเป็นบริษัท จำกัด (มหาชน) รับโอนอำนาจ สิทธิ และพนักงานทั้งหมด ตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นหลังประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และรัฐบาลมีแผนแปรรูปขายหุ้นรัฐวิสาหกิจ
-6 ธันวาคม 2544 เข้าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีราคาไอพีโอที่ 35 บาท หลังถูกจองหมดภายในไม่ถึง 2 นาที หรือบางคนจับเวลาได้ว่า 77 วินาที 35 บาท เป็นการประเมินต่ำกว่าเป็นจริง เพราะมีการอ้างเรื่องหนี้สินที่ ปตท. มีอยู่เดิมนับแสนล้านบาท โดยหุ้น ปตท. ที่ถูกจองหมดภายในไม่ถึง 2 นาทีนั้น มีรายชื่อญาตินักการเมืองในยุครัฐบาลทักษิณได้หุ้นจำนวนมาก เช่น “ทวีฉัตร จุฬางกูร” หลาน “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในขณะนั้น ได้ 2.2 ล้านหุ้น มูลค่า 77 ล้านบาท
ปี 2546 - เมษายน ปตท. ร่วมทุนกับ กฟผ. และ กฟน. ตั้งบริษัทผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น ให้บริการระบบไฟฟ้าและความเย็นในสนามบินสุวรรณภูมิ
-26 กรกฎาคม 2546 คณะรัฐมนตรี (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) มีมติให้ ปตท. และบริษัทลูกได้รับสิทธิส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ และมีมติไม่ให้นำคำสั่ง ข้อบังคับที่ใช้กับรัฐวิสาหกิจอื่นมาบังคับกับ ปตท. หลังจากนั้น ปตท. มีโครงการวางท่อก๊าซอย่างต่อเนื่อง และทำให้หุ้นของ ปตท. ราคาสูงขึ้น จากก่อนหน้านี้ราคาหุ้น ปตท. มีจุดเปลี่ยนจากการที่รัฐตั้งกองทุนน้ำมัน เพื่อไปชดเชยให้โรงกลั่นที่ ปตท. เป็นเจ้าของ และการมีมติ ครม.ให้ยกเลิกแผนการแยกท่อก๊าซออกจากบัญชีทรัพย์สินของ ปตท. จากที่เคยกำหนดไว้ก่อนแปรรูปว่าให้แยกภายใน 1 ปีหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
ปี 2548 -1 มิถุนายน 2548 ลงนามในการเข้าถือหุ้นในบริษัททีพีไอ และภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นไออาร์พีซี
ปี 2549 -16 มีนาคม 2549 คณะกรรมการ ปตท. มีมติลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท เพื่อเข้าถือหุ้นใหญ่ในบริษัทบางจากปิโตรเลียม
ปี 2550
– 14 ธันวาคม2550 ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้ ปตท. คืนทรัพย์สินส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และสิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ และแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของ ปตท.
-เริ่มใช้เอ็นจีวีกันแพร่หลายมากขึ้น
-เมษายน 2550 เทกโอเวอร์ปั๊มเจ็ท ของกลุ่มบริษัทโคโนโค สหรัฐอเมริกา มูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท
ส่วนแบ่งการตลาดการจำหน่ายน้ำมัน (หน้าปั๊ม) ปี 2550 จากปริมาณรวม 42,016.351 ล้านลิตร
--------------------------------------------------------------------------------
แบรนด์ ปริมาณทุกประเภท (ล้านลิตร) สัดส่วน %
---------------------------------------------------------------------------------
ปตท. 14,277.771 34
เชลล์ 5,001.122 11.9
เอสโซ่ 5,246.883 12.5
เชฟรอน(คาลเท็กซ์) 4,752.680 11.3
บางจาก 3,010.880 7.2
อื่นๆ 9,727.014 23.2
---------------------------------------------------------------------
ที่มา : กรมธุรกิจพลังงาน
ฐานะการเงิน ปตท. (หน่วย : ล้านบาท)
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
รายการ ปี 2547 ปี 2548 ปี 2549 ปี 2550
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สินทรัพย์รวม 487,226.24 649,806.66 751,453.47 892,351.46
หนี้สินรวม 302,311.27 371,373.72 397,131.47 493,699.95
รายได้รวม 680,650.03 960,260.60 1,265,476.93 1,553,053.06
กำไรสุทธิ 62,666.4 85,521.29 95,260.60 97,803.59
กำไรต่อหุ้น (บาท) 22.40 30.57 34.02 34.82
มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแค็ป) 483,923.51 632,177.53 589,034.38 1,059,182.84
---------------------------------------------------------------------------------
ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
หมายเหตุ : ดูตารางเพิ่มเติมใน Photo