วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

อดีตราคาน้ำมัน ... ปตท.ทำเจ็บ


ราคาน้ำมัน .....ปตท.ทำเจ็บ



Chart แสดงราคาน้ำมันดิบช่วงสองปีที่ผ่านมา   น่าสนใจเพราะchart ดูแล้วเข้าใจง่าย

ไม่ต้องฉลาดแค่ไหนก็มองออกว่า ราคาน้ำมันในวันนี้มีราคาเท่ากับราคาน้ำมันดิบเมื่อเดือนกันยายน 2550 น้ำมันดิบวันนี้ราคาประมาณ $ 70 ถอยหลังไปอีกปีเศษ น้ำมันดิบเมื่อประมาณเดือนกันยายน ปี2550 ก็ราคาประมาณ $ 70 เช่นกัน

ดูราคาน้ำมันดิบแล้ว ก็ต้องหวนกลับมาดูราคาที่เราควักกระเป๋าจ่ายค่าน้ำมันรถคันโปรดของเรากันหน่อย

            ตัวเลขด้านล่างนี้เป็นราคาหน้าปั้มเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วครับ

Gasoline
1 กันยายน  2550
เบนซิน 95
28.79
เบนซิน 91
27.99
ก๊าซโซฮอลล์ 95
25.29
ก๊าซโซฮอลล์ 91
24.49
Diesel
1 กันยายน  2550
ดีเซล
25.74
ดีเซล  บี5
25.04
ผู้ค้าน้ำมันไม่ได้รับเงินครบตามราคาที่กำหนดไว้หรอกครับ  เพราะราคาที่ท่านผู้อ่านดูอยู่นี้เป็นราคาที่รวมภาษีสรรพสามิตไว้ด้วย (รัฐบาลคุณสมัครได้ยกเลิกการเก็บภาษีสรรพสามิตเป็นเวลา ๖ เดือน ) ถ้าอยากทราบว่าผู้ค้าน้ำมันได้รับสุทธิเท่าไหร่ต้องนำค่าภาษีสรรพสามิตมาหักออกไป (ขออนุญาตไม่นำตัวเลขเงินกองทุนน้ำมันรวมเข้าไปด้วย เพื่อไม่ให้สับสนมากเกินไป )

Gasoline
1 กันยายน  2550
หักภาษีสรรพสามิต
Net
เบนซิน 95
28.7928.79 – 028.79
เบนซิน 91
27.9927.99 – 3.8324.16
ก๊าซโซฮอลล์ 95
25.2925.29 – 3.8821.41
ก๊าซโซฮอลล์ 91
24.4924.49 – 3.8320.66
Diesel
1 กันยายน  2550
หักภาษีสรรพสามิต
Net
ดีเซล
25.7425.74 –  2.7123.03
ดีเซล  บี5
25.0425.04 – 2.4722.57

Net คือ ราคาหน้าปั้มที่ไม่รวมภาษีสรรพสามิต เมื่อน้ำมันดิบในตลาดโลกราคาประมาณ $70 ต่อบาเรล ช่วงเดือนกันยายน 2550

จึงมีคำถามว่าเมื่อราคาน้ำมันดิบในวันนี้ลดต่ำลงจนใกล้เคียงกับราคาเมื่อเดือนกันยายน ปี 2550 แล้ว ราคาหน้าปั้มตอนนี้มันเท่าไหร่กัน และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับราคา Net ของเมื่อเดือนกันยายนปี 2550 แล้ว ผลเป็นอย่างไร

            คำตอบเป็นอย่างนี้ครับ

Gasoline
Net(1 กันยายน2550)
ปตท (15 ตุลาคม 2551)
ลดได้อีก
เบนซิน 95
28.79------
เบนซิน 91
24.1631.997.83
ก๊าซโซฮอลล์ 95
21.4125.494.08
ก๊าซโซฮอลล์ 91
20.6624.694.03
Diesel
Net(1 กันยายน2550)
ปตท (15 ตุลาคม 2551)
ลดได้อีก
ดีเซล
23.0325.742.71
ดีเซล  บี5
22.5725.042.47
รัฐบาลในอดีตได้ออกนโยบายให้การค้าขายน้ำมันเป็นไปอย่างเสรี  รัฐบาลในขณะนั้นเข้าใจว่าเรามี ปตท. ที่เราเป็นเจ้าของ  ปตท. มีหน้าที่ในการเข้าแทรกแซงราคาเมื่อมีความจำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทฝรั่งข้ามชาติที่เข้ามาค้าขายน้ำมันเอาเปรียบผู้บริโภคคนไทย เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการฮั้วราคาและไม่มีการแข่งขันอย่างแท้จริง

นโยบายดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จครับ ดูได้จากราคาน้ำมันที่เท่ากันเกือบจะทุกปั้มทุกยี่ห้อ  ไม่มีการแข่งขันเรื่องราคา จะมีก็เพียงแค่แข่งกันแจกน้ำดื่ม  เป็นของแถมเท่านั้น  เป็นการค้าเสรีแบบจอมปลอมที่สุด ไม่ค่อยจะต่างกับการแข่งขันอย่างเสรีของสถาบันการเงินเท่าไหร่นัก

ที่เจ็บใจในวันนี้เพราะปตท.ทำนิ่งเฉย  ลดราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันของตนเองอย่างเชื่องช้า    ไม่สอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบที่ลดลงอย่างรวดเร็ว  แทนที่จะเป็นตัวเร่ง ให้ผู้ค้ารายอื่นต้องลดราคาลง  กลายเป็นเหมือนเป็นผู้จัดฮั้วเสียเอง ปตท.ฉวยโอกาสในขณะที่บ้านเมืองวุ่นวาย รัฐมนตรีที่กำกับปตท. ก็มือใหม่ ปล่อยให้ผู้ค้าเพิ่มค่าการตลาดจากเดิมไม่ถึง บาท เป็น บาท ต่อลิตร ทำกำไรกันจนหน้ามืดเพราะความไม่เอาไหนของรัฐบาล 

ขณะที่สังคมกำลังมีความขัดแย้ง แตกแยก คนในบ้านเมืองขาดความสามัคคี รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคพลังประชาชน และพรรคร่วมรัฐบาล ไม่มีสมาธิพอที่จะทำงานให้กับประชาชน    เพราะห่วงแต่สถานะภาพของตนเอง ขณะที่ประชาชนก็ถูกปล่อยให้เดียวดาย

ตัวเลขที่ผมแสดงไว้ เป็นประมาณการ ถ้าจะบวก ลบ ค่าส่งเงินเข้ากองทุน ก็จะไม่ต่างไปมากนัก  ประเด็นคือ วันนี้ เบนซิน 91 ต้องลดได้อีก 6-7 บาทต่อลิตร  ก๊าซโซฮอลล์ต้องลดได้อีก 3 บาทต่อลิตร ถ้าไม่ต้องการลดตรงๆ อยากจะเล่นแร่แปรธาติ โดยใช้เงินกองทุน เพื่อให้มีการใช้น้ำมันทดแทนมากขึ้น หรือเก็บภาษีสรรพสามิตใหม่ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับรัฐ ก็ย่อมทำได้ 

ในสภาพวิกฤตปัจจุบัน รัฐบาลที่ดี ต้องทำงานรวดเร็ว ฉับไว ต้องสั่งการให้ตัวแทนของรัฐบาลที่นั่งเป็นประธานกรรมการ  เป็นกรรมการ ของคณะกรรมการปตท. กำชับให้ผู้บริหารดำเนินการลดราคาน้ำมันทันที น้ำมันลด  ค่าขนส่งลด  สินค้าอุปโภค บริโภคก็จะมีการปรับลดราคาลงในที่สุด 

ทำดีไว้สักนิดก่อนจากไปไม่ได้หรือครับ.

โดย กอร์ปศักดิ์


นักการเมืองไทย นิยมแห่ตั้งนอมินี..ไปเปิดบริษัทเมืองนอก เพื่อเข้ามาซื้อหุ้นไทย

เปิดพอร์ต จดทะเบียนตั้งบริษัทเมืองนอกไว้เป็นนอมินีเพื่อตนเอง 'นอมินีต่างชาติ' 3แสนล้านฮุบหุ้นบลูชิพ (ฝรั่งหัวดำ คือ ไปจดเปิดบริษัทตั้งขึ้นเป็นชื่อภาษาอังกฤษ หรือไปตั้งบริษัทที่เมืองนอก  แต่เจ้าของบริษัทเป็นคนไทย)








(19ก.พ.)ก.ล.ต.คุมเข้มสั่งโบรกเกอร์ตรวจสอบลูกค้าใกล้ชิด เน้นความมีตัวตนที่แท้จริง เตรียมออกเป็นกฎบังคับใช้กลางปีนี้ หวังป้องกันใช้ตลาดหุ้นฟอกเงิน โบรกเกอร์ให้จับตานักการเมือง-นักธุรกิจไทย แฝงตัวเข้ามาในนอมินีต่างชาติ พบ STATE STREET ทุ่มมูลค่าสูงสุด 8.2 หมื่นล้านบาท ถือหุ้นบลูชิพ 22 บริษัท ขณะที่ HSBC ถือหุ้น 24 บริษัท มูลค่าพอร์ต 5.4 หมื่นล้านบาท 

นักการเมืองไทยนิยมตั้งนอมินี 

"นอมินี" (NOMINEES) หมายถึงตัวแทนการถือหุ้น คนในสังคมไทยเริ่มรู้จักและกล่าวถึงมากขึ้น หลังเกิดดีลประวัติศาสตร์ กลุ่มเทมาเส็ก จากสิงคโปร์ เข้ามาซื้อหุ้นชินคอร์ป จากผู้ถือหุ้นใหญ่ ตระกูลชินวัตร และดามาพงศ์ นำมาซึ่งโจทย์ใหญ่ระดับประเทศ ณ วันนี้ ที่เป็นภารกิจที่รัฐบาลต้องขบคิดปิดช่องโหว่ทางกฎหมาย เพื่อไม่ให้ "ต่างชาติ" เข้ามากุมกิจการของไทยโดยใช้วิธีการ "นอมินี" 

นอกรูปแบบนอมินี ที่คนไทยรู้จักผ่านดีลชินคอร์ปแล้ว นอมินีที่คู่มากับตลาดหุ้นไทย และมีบทบาทสำคัญอย่างมากในวันนี้ คือ นอมินีที่เข้ามาในรูปแบบของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ แต่หากเจาะลึกอย่างแท้จริงแล้ว จะพบว่านอมินีดังกล่าว "บริหารเงินให้นักการเมืองและนักธุรกิจไทย" ซึ่งกำลังนิยมปฏิบัติกันอย่างมาก โดยเฉพาะนอมินีจากประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากปกปิดบัญชีลูกค้า ไม่แตกต่างกับหมู่เกาะบริติช เวอร์จิน อีกทั้งไทยกับสิงคโปร์ มีอนุสัญญาภาษีซ้ำซ้อน สามารถลดต้นทุนทางภาษีได้อีกทางหนึ่งด้วย 

จากการรวบรวมข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้นล่าสุด ของบริษัทจดทะเบียนที่มีมูลค่าตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) ใหญ่สุด 30 อันดับแรก ซึ่งมีรายชื่อสถาบันลงทุนที่เปิดเผยระบุการเป็นนอมินีของกลุ่มนักลงทุนต่างชาตินั้น จากข้อมูลพบว่า มีกลุ่มนอมินีที่เข้ามาลงทุนประมาณ 17 แห่ง คิดเป็นมูลค่ารวม 3 แสนล้านบาท 

ที่สำคัญ แม้จะไม่มีหลักฐาน "เอกสาร" ที่ชัดเจน แต่ในแวดวงการเงินต่างทราบกันดีว่า นอมินีที่เข้ามาอยู่ในรูปของลงทุนต่างชาติและเข้ามาลงทุนในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยนั้น "แท้จริงแล้วเป็นเม็ดเงินของกลุ่มคนไทย" ร่วมอยู่จำนวนมาก หรือที่รู้จักดีว่า "ฝรั่งหัวดำ" 

แหล่งข่าวโบรกเกอร์รายหนึ่งเปิดเผยว่า ในตลาดหุ้นไทยมีการใช้นอมินีเข้ามาลงทุนหลายประเภท มีทั้งนอมินีที่เป็นสถาบันต่างชาติ และเป็นนอมินีบุคคล 

นักการเมืองไทยนิยมตั้งนอมินี 

"ปัจจุบันมีนักการเมืองไทยบางคน ได้จัดตั้งบริษัทนอมินีในต่างประเทศ และใช้นอมินีที่จัดตั้งขึ้นมากลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งหากจะตรวจสอบว่าเป็นนอมินีใคร สามารถทำได้ แต่ขึ้นอยู่กับทางการจะตรวจสอบอย่างจริงจังหรือไม่ และนอมินีที่นักการเมืองจัดตั้งขึ้นนั้น จะเป็นนิติบุคคลที่มีชื่อแปลกๆ เพราะตรวจสอบได้ยาก ส่วนนอมินีที่เป็นสถาบันต่างชาติที่มีชื่อเสียง มักมีหลักฐานและสามารถตรวจสอบได้ง่าย นักการเมืองไทยจึงไม่นิยมให้ดูแลเงินตัวเอง" แหล่งข่าวกล่าว 



ใครถือหุ้นบ้าง ชาวบ้านคงสืบเสาะอะไรๆ ยาก

ดังนั้นปรากฏการณ์ นอมินี ที่เกิดขึ้นวันนี้ บอกให้ทราบว่าสัดส่วนหุ้นที่ระบุว่าต่างชาติถือหุ้นอยู่ในบริษัทจดทะเบียน บางรายนั้น ในความจริง อาจจะเป็น "คนไทย" ที่แฝงเข้ามาในรูปนอมินี และอาจจะบอกได้อีกอย่างหนึ่งว่า บางบริษัทที่สาธารณชนกำลังเข้าใจว่า "ตระกูล" ตัวเองได้ขายหุ้นออกหมดแล้วนั้น "ความจริง" อาจจะไม่ใช่ เพราะยังถือหุ้นบริษัทผ่านนอมินีต่างชาติอยู่อีกจำนวนหนึ่ง 

รายงานข่าวแจ้งว่า รูปแบบที่นักการเมืองหรือนักธุรกิจไทยนำเงินออกไปต่างประเทศ เพื่อจัดตั้งนอมินีนั้น ส่วนใหญ่จะใช้วิธีขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำเงินออกไปซื้อสินทรัพย์ ในต่างประเทศ เช่นบ้านหรืออาคารต่างๆ หลังจากนั้นระยะหนึ่ง จะขายออกมา แล้วนำเงินดังกล่าว มาตั้งนอมินี เพื่อลงทุนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทย ซึ่งจะปรากฏในชื่อของนักลงทุนต่างประเทศ โดยในบางนอมินีตั้งขึ้นมา เพื่อพยุงหุ้นบริษัทตัวเอง หรือสร้างราคาในหุ้นบางตัวได้ หลอกรายย่อย" หลงผิด" คิดว่าต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุน สามารถที่จะทำกำไรจากหุ้นดังกล่าวได้ 

สำรวจพบ 17 นอมินีถือหุ้นบลูชิพ 

ทั้งนี้ จากการสำรวจของ "กรุงเทพธุรกิจ" เฉพาะหุ้นบลูชิพ 30 อันดับแรก พบว่า มีกลุ่มนอมินีที่เข้ามาลงทุนประมาณ 17 แห่ง ประกอบด้วย 
1.HSBC (SINGAPORE) NOMINEES PTE LTD 
2.NORTRUST NOMINEES LTD.
3.CHASE NOMINEES 
4.THE BANK OF NEW YORK (NOMINEES)LIMITED 
5.STATE STREET BANK AND TRUST COMPANY 
6.LITTLEDOWN NOMINEES LIMITED 
7.BOSTON SAFE (NOMINEES) LIMITED 
8.CLEARSTREAM NOMINEES 
9.CITIBANK NOMINEES SINGAPORE 
10.UBS AG,SINGAPORE BRANCH-FOR A/C AMPLE RI 
11.UBS AG, LONDON BRANCH-ASIA EQUITY 
12.UBS AG SINGAPORE,BRANCH-PB SECURITIES 
13.SOMERS (U.K.) 
14.UBS AG HONG KONG BRANCH 
15.CHASE MANHATTAN (SINGAPORE) NOMINEES PTE 
16.ALBOUYS NOMINEES LIMITED 
17.RAFFLES NOMINEES (PTE) LIMITED 

'STATE STREET'ลงทุนมากสุด 

ทั้งนี้ 17 บริษัทมีมูลค่าเงินลงทุนอยู่ที่ 3.11 แสนล้านบาท โดยบริษัทที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุดคือ STATE STREET BANK AND TRUST COMPANY มีมูลค่าเงินลงทุน 8.20 หมื่นล้านบาท ลงทุนใน 22 บริษัท โดยมีมูลค่าเงินลงทุนในหุ้นปตท.(PTT) มากสุด มูลค่า 2.01 หมื่นล้านบาท รองลงมาเป็นหุ้นปตท.สผ.(PTTEP) มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท และหุ้นธนาคารกรุงเทพ (BBL) มูลค่า 1.34 หมื่นล้าน บาท 

รองลงมาเป็น HSBC (SINGAPORE) NOMINEES PTE LTD มีมูลค่าเงินลงทุน 5.49 ล้านบาท ลงทุนใน 24 บริษัท มูลค่าเงินลงทุนสูงสุดอยู่ที่หุ้น ปตท.มูลค่า 8.20 พันล้านบาท รองลงมา หุ้นแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) มูลค่า 5.71 พันล้านบาท และธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มูลค่า 3.82 พันล้านบาท 

บริษัท CHASE NOMINEES มีมูลค่าเงินลงทุน 4.94 หมื่นล้านบาท ลงทุน 19 บริษัท มูลค่าการลงทุนมากสุดอยู่ที่หุ้นปูนซิเมนต์ไทย (SCC) มูลค่า 9.95 พันล้านบาท หุ้นกสิกรไทย 8.53 พันล้านบาท และหุ้นแอดวานซ์ มูลค่า 5.55 พันล้านบาท 

บริษัท THE BANK OF NEW YORK (NOMINEES)LIMITED มูลค่าเงินลงทุน 3.02 หมื่นล้านบาทใน 16 บริษัท และมูลค่าเงินลงทุนมากสุดที่หุ้นปตท.สผ. 6.43 พันล้านบาท หุ้นธนาคารกรุงเทพ 5.03 พันล้านบาท และปตท.4.02 พันล้านบาท 

บริษัท NORTRUST NOMINEES LTD. มูลค่ารวม 2.39 หมื่นล้านบาทใน 13 บริษัท และมีเงินลงทุนมากที่สุดในหุ้นปตท.6.75 พันล้านบาท หุ้นธนาคารกรุงเทพ 3.46 พันล้านบาท และแอดวานซ์ มูลค่า 3.27 พันล้านบาท 

บริษัท LITTLEDOWN NOMINEES LIMITED มูลค่าเงินลงทุน 2.25 หมื่นล้านบาท ลงทุนใน 11 บริษัท บริษัท BOSTON SAFE (NOMINEES) LIMITED มูลค่าเงินลงทุน 1.28 หมื่นล้านบาท ลงทุนใน 8 บริษัท 

บริษัท CLEARSTREAM NOMINEES มูลค่า 5.39 พันล้านบาท ใน 7 บริษัท บริษัท CITIBANK NOMINEES SINGAPORE มูลค่าเงินลงทุน 2.86 พันล้านบาท ใน 5 บริษัท 

ขณะที่ UBS AG,SINGAPORE BRANCH-FOR A/C AMPLE RICH ซึ่งเป็นบริษัทของตระกูล ชินวัตรนั้น มีมูลค่าเงินลงทุน 1.58 พันล้านบาท ใน 1 บริษัท ส่วนบริษัท UBS AG SINGAPORE,BRANCH-PB SECURITIES ที่เกี่ยวโยงกับแอมเพิล ริช มีมูลค่าเงินลงทุน 2.98 พันล้านบาท ลงทุนใน 1 บริษัท 

ก.ล.ต.ผุดเกณฑ์ใหม่คุมโบรกฯ 

นายประเวช องอาจสิทธิกุล ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า กฎเกณฑ์ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลนอมินีนั้น ก.ล.ต.ยังไม่ได้ร่างกฎหมายขึ้นมาอย่างที่บางฝ่ายเข้าใจ แต่สิ่งที่ก.ล.ต.อยู่ระหว่างร่างกฎเกณฑ์ควบคุมเพิ่มเติม และอาจจะเกี่ยวข้องอยู่บ้าง คือในเรื่องการตรวจสอบ "ความมีตัวตนที่แท้จริงของนักลงทุน" ที่มาขอเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นกับโบรกเกอร์ ซึ่งร่างกฎเกณฑ์ใหม่นี้คาดว่าจะสรุปและสามารถนำมาปฏิบัติใช้กับโบรกเกอร์ทุกแห่งได้ภายในกลางปีนี้ 

ทั้งนี้สาเหตุที่ ก.ล.ต. ต้องหยิบยกประเด็นดังกล่าวนำมาร่างเป็นกฎเกณฑ์เพิ่มเติมใหม่นั้น สืบเนื่องจากทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ต้องการยกระดับการทำงานให้เทียบชั้นกับสากลมากขึ้น ทาง ปปง.จึงได้กำชับมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนทุกแห่ง โดยขอให้ตรวจสอบโบรกเกอร์ โดยเฉพาะในเรื่องความมีตัวตนของลูกค้ามากขึ้น เพราะหาก ปปง.พบว่าลูกค้ารายใดที่เข้าข่ายกระทำผิดฐานฟอกเงินหรือทุจริตในด้านต่างๆ แล้ว ทาง ปปง.จะดำเนินการลงโทษถึงที่สุด และโบรกเกอร์ที่ให้บริการอาจมีความผิดตามไปด้วย

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : http://www.bangkokbiznews.com/2006/special/shincorp/news.php?news=news59.html

วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

มหากาพย์พลังงานไทยโกงไทย (1) ตอนรบเถิดประชาชน

นับจากนี้เหตุการณ์ประชาชนรวมกันคัดค้านบริษัทสำรวจ-หรือขุดเจาะน้ำมัน-แก๊สธรรมชาติอย่างที่สมุย-เกาะเต่า สุราษฎร์ธานีหรือที่บ้านกลาย ท่าศาลา นครศรีธรรมราชจะต้องเกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอนด้วยพล็อตเรื่องที่ซ้ำ ๆ จำเจเพียงแต่เปลี่ยนฉากเปลี่ยนตัวละครบริษัทน้ำมันชื่อต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ เนื่องจากประเทศไทยพบแหล่งก๊าซและน้ำมันดิบแหล่งใหม่มากขึ้นกว่าทศวรรษที่แล้วมากมายและก็มีสัมปทานแบบที่เป็นอยู่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
      
       เมื่อปี 2524 ในยุค พล.อ.เปรมที่เราเจอแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งแรกเราประกาศว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุค “โชติช่วงชัชวาล” แต่ในทางปฏิบัติจริงของการพลังงานไทยเมื่อ 30 ปีก่อนยังทำได้แค่เชื่อมท่อก๊าซเข้าสู่โรงผลิตไฟฟ้า ใช้ก๊าซแทนน้ำมันเตาที่แพงกว่ากัน หาได้ใช้ก๊าซพื่อประโยชน์ด้านอื่นอย่างคุ้มค่าและครบวงจรแต่อย่างใด
      
       แม้กระทั่งเมื่อ 10 ปีก่อน-หลังจากเราประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มคิดเรื่องการผลักดันให้ใช้ก๊าซ NGV เพื่อการขนส่งโดยตรงทำให้ 10 ปีหลังมีรถ NGV วิ่งบนถนนมากมายแม้รถยนต์ของเรายังไม่ได้เป็น FFV (Flexible-fuel vehicle) เหมือนต่างประเทศที่สามารถเลือกเติมเชื้อเพลิงแบบไหนก็ได้ลงไป(ตามแต่สถานการณ์และราคาแล้วเจ้าเครื่องอัจฉริยะจะแยกแยะนำไปใช้เอง) เอาแค่ NGV กับ LPG รถติดก๊าซก็ได้เป็นหนึ่งในทางเลือกของพลังงานเพื่อการขนส่งไปแล้วเต็มตัว
      
       เราเคยมีความคิดแบบดั้งเดิมว่า ก๊าซธรรมชาติหรือจะสู้น้ำมันดิบที่ทั้งราคาแพง และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่าต่อให้เราเป็นเจ้าแห่งก๊าซธรรมชาติก็คงสู้ประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบไม่ได้ ฐานคิดดังกล่าวควรจะปรับปรุงใหม่เพราะด้วยพลานุภาพของเทคโนโลยีในปัจจุบันจะเป็นน้ำมัน เป็นก๊าซหรือเป็นไฟฟ้าล้วนแต่สามารถแปลงมาใช้ประโยชน์ในฐานะ “พลังงานในชีวิตประจำวัน” ของคนระดับชาวบ้านทั่ว ๆ ไปได้ไม่แตกต่างกัน
      
       พี่น้องคนไทยทราบหรือไม่ว่าเทคโนโลยีปัจจุบันมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดเล็กแค่มีท่อก๊าซเสียบเข้าไปก็ปั่นไฟฟ้าใช้ได้ในชุมชนได้เลย ภาพจินตนาการสวย ๆ ที่ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากพลังงานของเราเองอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการรื้อปรับนโยบายพลังงานของประเทศกันเสียก่อน
      
       ปริมาณที่เพิ่มขึ้นของบริษัทน้ำมันที่พาเหรดเข้ามาสัมปทานขุดเจาะสำรวจและผลิตน้ำมัน-ก๊าซทั้งบนบกและในน้ำยืนยันความล้ำค่าของทรัพยากรน้ำมัน-ก๊าซที่ประเทศไทยมีอยู่เป็นอย่างดี...ถ้าทำแล้วขายไม่ได้ไม่มีคนต้องการมีหรือที่บริษัทเหล่านี้จะพาเหรดเข้ามาแบบหัวกะไดไม่แห้งอย่างที่เป็นอยู่
      
       ถ้ายังจำกรณีที่บริษัทขุดเจาะสำรวจน้ำมันยุคแรกอย่างยูโนแคลประกาศขายกิจการซึ่งครอบคลุมพื้นที่ไทยพม่าและเอเชียอาคเนย์มีบริษัทจีนมาซื้อที่สุดอเมริกาไม่ยอมขายถึงขั้นต้องเอาเข้าสภาคองเกรสและให้เชฟรอนมาซื้อกิจการนี้แทนจนเชฟรอนกลายเป็นยักษ์ใหญ่ในอ่าวไทยที่กำลังมีปัญหากับคนสมุย-คนบ้านกลายในเวลานี้
      
       นอกเหนือจากยุทธศาสตร์พลังงานในเอเชียอาคเนย์ที่เป็นเหตุผลต้องซื้อยูโนแคลแล้ว อเมริกายังทราบเรื่องปริมาณน้ำมันและก๊าซสำรองของไทยเป็นอย่างดี ข้อมูลของอเมริกานี่เองที่บอกว่าปริมาณพลังงานของไทยนั้นติดอันดับโลก เอาเฉพาะหมวดก๊าซธรรมชาติยังเหนือกว่าประเทศในกลุ่มโอเปคบางประเทศเสียอีก
      
       มาดูตารางของสถาบัน Energy Information Administration - EIA ของสหรัฐอเมริกา ตารางนี้ผุ้เชี่ยวชาญที่เกาะติดสถานการณ์น้ำมันชาวไทยท่านหนึ่งที่ไม่อยากเปิดเผยตัวปรับมาเป็นภาษาไทยเพื่อให้ง่ายต่อการเปรียบเทียบและทำความเข้าใจนำมาจากสถาบัน EIAสหรัฐอเมริกาเพื่อบอกว่า อเมริการู้ดีว่าประเทศไทยมีก๊าซธรรมชาติเป็นลำดับ 27 ของโลก อยู่ท่ามกลางประเทศกลุ่มโอเปคและประเทศที่เราเชื่อว่ามีทรัพยากรเยอะ(ที่วงกลมไว้) ไม่เฉพาะก๊าซธรรมชาติเท่านั้นแม้กระทั่งการผลิตน้ำมันดิบก็อยู่ลำดับ 33 ของโลกเหนือกว่าบรูไนหรืออดีตโอเปคอย่างกาบองเสียอีก
มหากาพย์พลังงานไทยโกงไทย (1) ตอนรบเถิดประชาชน
       
มหากาพย์พลังงานไทยโกงไทย (1) ตอนรบเถิดประชาชน
(ที่มา-ปรับปรุงจากhttp://www.eia.doe.gov/)
        นี่จึงเป็นเครื่องยืนยันเชิงตัวเลขที่มาของการเปิดแปลงสัมปทานขุดเจาะและผลิตน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติอย่างคึกคักทั้งบนบกและในอ่าวไทยไม่แพ้อเมริกายุคตื่นทองและนี่จึงเป็นที่มาของเหตุการณ์คนสมุยออกมาจับมือล้อมเกาะ รวมทั้งคนบ้านกลายและคนนครศรีธรรมราชออกมาคัดค้านโครงการกลุ่มเชฟรอนอย่างที่เห็นกันอยู่ในหน้าข่าวหนังสือพิมพ์
      
       ทรัพยากรพลังงานของไทยแม้จะไม่มากเท่ากับยักษ์ใหญ่ซาอุดิอาระเบีย รัสเซีย หรือประเทศตะวันออกกลางอื่น ๆ แต่มันก็มากเพียงพอจะให้ไทยอยู่ในแผนที่พลังงานโลกไม่ว่าจะด้วยปริมาณสำรองหรือด้านภูมิรัฐศาสตร์
      
       สิ่งที่ต้องย้ำเป็นหลักคิดพื้นฐานจากภาวการณ์นี้ก็คือประชาชนคนไทยมีสิทธิ์เต็ม 100% ในทรัพยากรพลังงานเหล่านี้ น้ำมันและก๊าซเหล่านี้ไม่ใช่เป็นของรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ผู้บริหารปตท. หรือกระทั่งนายทุนจมูกไว
      
       หลักคิดที่สอง-ทรัพยากรพลังงานที่เรามีอยู่จะต้องสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศชาติและประชาชน
      
       หลักคิดข้อสุดท้ายก็คือเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเป็นประเทศที่ถูกจัดในแผนที่แหล่งพลังงานโลก จะดีร้ายยังไงเราก็ต้องเจอกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพลังงานไม่ทางใดทางหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ดังนั้นน่าจะเปลี่ยนกรอบคิดในทำนอง “มึงมาข้าเผา” หรือปฏิเสธไม่เอาสถานเดียว เพราะเทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถวางใจได้มากกว่ายุคก่อนหน้าแต่สิ่งที่ต้องเร่งกระทำก็คือการทำความเข้าใจกับสิ่งเปลี่ยนแปลงในบ้านของเราอย่างลึกซึ้งและรอบด้าน เลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดให้กับบ้านเมืองและชุมชนของเราเอง อย่างน้อย ๆ ไม่ใช่แค่ค่าภาคหลวงให้อบต.ปีละไม่กี่สตางค์เมื่อเทียบกับกำไรที่เขาสูบได้ไป
      
       ฐานคิดของประชาชนจึงไม่ควรคิดแต่ผลกระทบกับเราเท่านั้น เพราะทุกอย่างที่มีทั้งบวกลบ อย่างเช่นเทคนิคการขุดเจาะสำรวจแบบน้ำตื้นย่อมวางใจได้มากกว่าแบบที่ BP ทำในอ่าวเม็กซิโก หรือแม้แต่ระบบท่อแก๊ซมาตรฐานโลกก็สามารถวางใจได้ในทางทฤษฎีมิฉะนั้นเขาไม่มีการวางท่อแก๊ซเหมือนท่อประปาไปตามบ้านเรือนในหลายประเทศ
      
       เรื่องเหล่านี้จะเป็นเรื่องใกล้ตัวคนไทยมากขึ้น ๆ ที่สุดแล้วเรายังสามารถไว้วางใจเทคโนโลยีและระบบที่ดีได้เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นของตาย.. แต่ที่ไม่ควรวางใจนั่นคือคน-โดยเฉพาะคนไทยด้วยกันเอง !
      
       ท่านทราบหรือไม่ว่าในขณะที่ประเทศไทยเริ่มกลายเป็นเป้าหมายในแผนที่พลังงานโลก และคนไทยเป็นเจ้าของทรัพยากรที่คนทั้งโลกต่างต้องใช้แต่ไทยยังเก็บภาษีขุดเจาะน้ำมันและพลังงานเพียงเฉลี่ย 10-11% เท่านั้น ขณะที่บางประเทศเขาต่อรองกับบริษัทน้ำมันรัฐบาลเก็บไป 80% บริษัทน้ำมัน 20% และโดยส่วนใหญ่หลาย ๆ ประเทศเขาแบ่งผลประโยชน์กันครึ่ง ๆ
      
       คนที่อื่นเขาได้ 50-80% แต่คนไทยเจ้าของน้ำมันได้แค่เฉลี่ย 10% เท่านั้น ! 
      
       ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยเก็บภาษีขุดเจาะน้ำมันและก๊าซที่อัตรา 12.58% อัตราดังกล่าวกำหนดในยุคที่ประเทศไทยเราไม่มีเทคโนโลยีและทักษะเรื่องการขุดเจาะมากเพียงพอต้องอาศัยการลงทุนจากภายนอกทั้งหมด อัตราดังกล่าวจึงตั้งขึ้นให้จูงใจดึงคนมาลงทุนสำรวจและลงทุนขุดเจาะนำมาใช้ แต่พอถึงยุคปลายรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรต่อเนื่อง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้แก้กฎหมายใหม่อ้างสวยหรูว่าเป็นอัตราภาษีก้าวหน้า อยู่ในช่วง 5-15% ตามแต่ปริมาณการขุดขึ้นมา
      
       อัตราก้าวหน้าจึงทำให้เราเก็บภาษีน้ำมันได้เฉลี่ยแค่ 10% กว่า ๆ ลดจากเดิมลงไปอีก !!!
      
       น่าแค้นใจไหมคนไทยเจ้าของบ่อก๊าซบ่อน้ำมัน .. ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่เราปรับภาษีขุดเจาะน้ำมันให้ไทยได้รับน้อยลง ประธานาธิบดีฮูโก้ ชาเวซ ของเวเนซุเอล่ากลับเป็นเป้าหมายสนใจของคนทั้งโลกเพราะปฏิวัติระบบรายได้ส่วนแบ่งน้ำมันจากบริษัทต่างชาติให้ประเทศชาติและประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด
      
       อยากให้พี่น้องคนไทยอ่านงานของกมล กมลตระกูลเรื่อง ฮูโก ชาเวซ : เส้นทางสู่การเมืองภาคประชาชน ว่าเขามีแนวทางทำให้ทรัพยากรธรรมชาติยังประโยชน์ให้กับประชาชนเจ้าของทรัพยากรอย่างไร เอาแค่ตัวอย่างเดียวก่อนหน้านี้เวเนซูเอล่าถูกสูบน้ำมันโดยนักการเมืองร่วมกับทุนต่างชาติ โดยผ่านองค์กรรัฐวิสาหกิจชื่อPDVSA (Petroleos de Venezuela, S.A.) แต่ผลกำไรของบริษัทที่ตั้งขึ้นตกอยู่ในกลุ่มพวกพ้องทั้งสิ้นแทบไม่เหลือกลับเข้าประเทศเลย
      
       กรณีประเทศเขา PDVSA ที่ไม่แยแสประชาชนไปสนแต่นักลงทุนเหตุไฉนจึงเหมือนกับ ปตท.บ้านเราได้ถึงเพียงนี้
      
       มีหลักฐานมากมายหลายประการยืนยันว่านโยบายการพลังงานที่เอื้อต่อทุนไม่สนประชาชน การแปรรูปปตท.และการทำมาหากินในเครือข่ายขุนนางพลังงานกับทุน การพาเหรดเข้ามาของต่างชาติบนพื้นฐานนโยบายไม่แยแสประชาชน ฯลฯ ล้วนเป็นเรื่องเดียวกันทั้งสิ้นนั่นก็คือปัญหาโครงสร้างการพลังงานไทยที่อัปลักษณ์ ไม่วางบนผลประโยชน์ชาติและประชาชนจริง ๆ
      
       ในฐานะเจ้าของทรัพยากรแทบไม่ได้อะไร
      
       ในฐานะผู้บริโภคยังถูกเปรียบในทุกขั้นตอน
      
       ถ้านโยบายและการปฏิบัติในเรื่องพลังงานยังไม่ได้ยืนบนประโยชน์ประชาชนจริง ๆ ก็รบเถิดประชาชน !! นี่ไม่ใช่เป็นการยุเอามันแบบมึงมาข้าเผา หากแต่ต้องการให้ประชาชนคนไทยรบเพื่อเรียกร้องสิทธิพื้นฐานและสิทธิของความเป็นเจ้าของทรัพยากรมากขึ้น
      
       ระหว่างที่พี่น้องสมุยออกมาเคลื่อนไหว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเทคโนโลยีขุดเจาะไม่เป็นอันตรายไม่เหมือนอ่าวเม็กซิโกอย่างแน่นอน ส่วนกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติซึ่งมีหน้าที่ให้สัมปทานและกำกับดูแลสัมปทานต่าง ๆ ก็ออกมาแถลงแบบเดียวกันไม่เพียงเท่านั้นยังซื้อหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์รายวันโฆษณาความปลอดภัยในประเด็นดังกล่าว
      
       ทั้งนักการเมืองและข้าราชการ รวมทั้งขุนนางพลังงานเทคโนแครตทั้งหลายคงจะคิดว่าประชาชนไม่เข้าใจข้อมูลตื่นกลัวไปเอง.. ฐานคิดคือ “ประชาชนไม่รู้ข้อมูล !!?”
      
       แต่ขอโทษเถิดอยากจะใช้คำแรง ๆ เช่นบัดซบหรืออะไรก็ได้ที่ใกล้เคียงกันมาประกอบนั่นเพราะว่ารัฐที่หมายถึงนักการเมืองและขุนนางพลังงานต่างหากที่ปิดบังข้อมูลอันเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน
      
       แค่เริ่มต้นกระบวนการแรกก็ละเมิดสิทธิ์ประชาชนแล้ว -จะไม่ให้ประกาศรบยังไงไหว !!
      
       พรบ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ 2540 กำหนดว่า สัญญาในการดำเนินการต่าง ๆ ของรัฐย่อมไม่เป็นความลับ มาตรา 9(6) จึงกำหนดให้หน่วยงานจัดสัญญาดังต่อไปนี้ให้ประชาชนตรวจดู นั่นคือ ก.สัญญาสัมปทาน ข.สัญญาผูกขาดตัดตอน ค.สัญญาร่วมทุนกับเอกชนในการจัดทำบริการสาธารณะ
      
       แต่กระทรวงพลังงานโดยเฉพาะกรมเชื้อเพลิงพลังงานไม่ได้เปิดสัมปทานสำรวจ-ขุดเจาะน้ำมันใด ๆ ออกสู่สาธารณะ เรื่องนี้เป็นที่รับรู้กันในแวดวงผู้สนใจปัญหาพลังงานมานานแล้ว
      
       และเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคมเวลาบ่ายผมทดสอบเพื่อยืนยันเรื่องนี้อีกครั้งโดยได้โทรฯไปที่เบอร์ซึ่งเว็บไซต์กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติระบุให้โทรฯไปสอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านสัมปทานปิโตรเลียม มติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับสัมปทานปิโตรเลียม และมติคณะกรรมการปิโตรเลียม
      
       ผมไม่ทะเลาะกับเจ้าหน้าที่หรอก พูดดีด้วยสุภาพเพราะรู้ว่าคนผิดคือฝ่ายนโยบายและข้าราชการระดับสูงเพียงแต่ได้รับการยืนยันว่าให้ไปหาข้อมูลแปลงสัมปทานต่าง ๆ ได้ในรายงานประจำปี ซึ่งเมื่อไปดูแล้วมันเป็นคนละเรื่องกับสัญญาสัมปทานที่กฎหมายกำหนดให้หน่วยงานต้องเปิดให้คนทั่วไปเข้าดูได้ทันที
      
       สัญญาสัมปทานสำรวจน้ำมันหรือก๊าซเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนต้องรู้และเข้าถึงได้ทันที แต่เพราะว่ามันมีผลประโยชน์ในระหว่างทุน-ขุนนางพลังงานและนักการเมืองร่วมกันกำอยู่ดังนั้นเรื่องพื้น ๆ ดังกล่าวจึงกลายเป็นความลับงี่เง่าประจานตัวเองรัฐบาลไทย
      
       ปากหนึ่งบอกประชาชนไม่ศึกษาข้อมูล แต่อีกทางหนึ่งก็ปิดข้อมูลพื้นฐานเอาไว้ !! 
      
       ตัวอย่างสัมปทานที่เอกชนไม่ทำ..ปล่อยคาราคาซังไม่ทำตามสัญญาถ้าเป็นประเทศที่เขาโปร่งใสประชาชนจะไม่ยอมให้บริษัทดังกล่าวได้สัญญาอีก แต่เชื่อไหมว่าต่อมาได้มีพลังลึกลับอุ้มชูบริษัทดังกล่าวเข้ามาฮุบพื้นที่แปลงสัมปทานทั่วอ่าวไทยก็คือ กรณี “Harrods Energy” ที่ต่อมาแปลงร่างเป็น “Pearl Oil”
      
       เพื่อนพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรที่ชื่อโมฮัมหมัด อัล ฟาเยดตั้งบริษัท แฮร์รอดส์ เอ็นเนอร์ยี่ (Harrods Energy) ก็ได้สิทธิสำรวจน้ำมันใน 4 แปลงขุดเจาะในอ่าวไทยอีกบริษัทหนึ่งไปสำรวจแหล่งแร่ที่ชายฝั่งพังงาซึ่งคนในวงการรู้ว่าไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ต่อมาแฮรอดส์ก็ไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็น “Pearl Oil” เมื่อ 2547 คราวนี้มีเป้าหมายใหม่ใหญ่กว่าเดิมเพราะต้องการแปลงสัมปทานในประเทศไทยมากขึ้นจนกลายเป็นยักษ์ใหญ่คู่กับ เชฟรอน-ปตท.
      
       เรื่องแฮรอดส์-เพิร์ลออยล์มีรายละเอียดเยอะจะค้างไว้วันหลังเพียงรอบนี้อยากบอกว่าเงื่อนไขสัมปทานทั้งหลายแหล่นั้นไม่ได้มีไว้เพื่อการประกอบการพิจารณาให้สัมปทานใหม่หรือเพื่อรักษาผลประโยชน์ชาติ จึงเป็นช่องให้ทุนบางรายมีไว้เพื่อรักษาสิทธิ์และทำมาหากินได้ต่อไป
      
       และถ้าหากเปิดสัญญาสัมปทานดูดี ๆ ไม่แน่จะพบบริษัทน้ำมันที่จดทะเบียนที่เกาะเคย์แมน หรือเกาะฟอกเงินอื่น ๆ ก็ได้เพราะครั้งหนึ่งบริษัทในกลุ่มเพิร์ลออยล์ก็เคยจดทะเบียนที่เกาะฟอกเงินนี้มาแล้ว -นี่กระมังที่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ขุนนางพลังงานไม่อยากเปิดข้อมูลส่วนนี้ให้คนไทยรับรู้
      
       นโยบายการพลังงานไทยปัจจุบันยังเป็นกรอบนโยบายที่ถูกกำหนดโดยขุนนางพลังงานร่วมกับทุนใหญ่ โดยมีปตท.ผู้สวมหมวกสองใบเอกชนก็เป็นรัฐวิสาหกิจก็ใช่เป็นกลไกควบคุม มหากาพย์เรื่องการพลังงานหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องกล่าวถึงปัญหาของปตท. ที่เดินห่างจากคำว่าผลประโยชน์ชาติและประชาชนมากขึ้นทุกขณะ เอาง่าย ๆ ราคาขายปลีกน้ำมันที่ขายให้คนไทยห่างจากราคาน้ำมันดิบมาตรฐานมากขึ้นเรื่อย ๆ นับจากปี 2544 เป็นต้นมา
      
       ยกตัวอย่างราคาขายปลีกหน้าปั๊มน้ำมันเบนซิน 91 เมื่อปี 2546 ปตท.คิดเพิ่มจากราคาน้ำมันดิบดูไบแค่ลิตรละ 10 บาทโดยเฉลี่ย มาปีนี้การคิดบวกเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 20 บาท จะเอากำไรมากมายไปทำไมคำตอบก็คือเขาต้องกำไรเพราะเข้าตลาดหุ้น ต้องปันผลและต้องสร้างผลงาน นี่เป็นตัวอย่างเล็ก ๆ ตัวอย่างหนึ่งในหลายร้อยตัวอย่างที่บ่งบอกว่า ปตท. ไม่ได้ยืนบนผลประโยชน์ประชาชนตามความคาดหวัง
      
       จะเรื่องสมุย เรื่องเชฟรอนที่บ้านกลาย หรือเรื่อง ปตท. ล้วนแต่เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะนี่เป็นปัญหาทั้งใหม่และใหญ่ที่กำลังเผชิญหน้าคนไทย
      
       เชื่อเถอะครับนโยบายพลังงานที่มองเห็นหัวประชาชนสามารถเติมเงินในกระเป๋าคนไทยได้จริงแต่ปรากฏว่ามีคนกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากความมั่งคั่งดังกล่าวมิหนำซ้ำยังสูบเงินจากกระเป๋าคผู้บริโภคคนไทยไปอีก
      
       ทั้งนักการเมือง ทั้งทุน และทั้งขุนนางพลังงานที่เบาะ ๆก็รับเงินค่าตำแหน่งเพิ่มปีละ 5 ล้าน 10 ล้านล้วนแต่ปกปิดกีดกันประโยชน์ดังกล่าวนี้
      
       การปกป้องสิทธิ์ของตัวเองทั้งในฐานะเจ้าของทรัพยากรและในฐานะผู้บริโภค- อันดับแรกชาวสมุยและชาวนครศรีฯ ควรจะทวงสิทธิ์การรับรู้ข่าวสารพื้นฐานจากกระทรวงพลังงานซึ่งดีแต่โฆษณาในมุมเดียว หลังจากนั้นถึงคราวคนไทยต้องมาทวงสิทธิ์รับรู้ขั้นตอนการทำกำไรเกินควรจากผู้บริโภคพลังงาน และที่สุดคือสิทธิ์ที่จะร่วมคิดร่วมจัดการทรัพยากรของประเทศซึ่งที่สุดแล้วคนไทยทุกคนมีสิทธิ์ในทรัพยากรนั้นอย่างเท่าเทียม
      
       เรื่องพลังงานไทยโกงไทยมีอีกหลายประเด็น นี่แค่ตอนแรกเป็นบทเกริ่น เชื่อเถอะครับว่าทุกประเด็นเป็นประโยชน์กับประชาชนเจ้าของประเทศอย่างแน่นอน !
      
       (หมายเหตุ-พื้นที่ตรงนี้จะทยอยนำเสนอ มหากาพย์พลังงานไทยโกงไทย ในตอนต่อ ๆ ไป ผู้สนใจติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสามารถติดต่อได้ที่ bunnaroth@gmail.com) 

มหากาพย์พลังงานไทยโกงไทย (2) เงื่อนงำกระจายหุ้น ปตท.

จาก http://www.parent-youth.net/index.php?lay=show&ac=article&Id=539153054
ถ้าทุนทักษิณและพวกแปรรูปปตท.เมื่อปี 2544 แบบเนียน ๆ ไม่โลภเกินเหตุ กระแสข้อสงสัยคลางแคลงใจต่อการเข้ามาแบ่งผลประโยชน์มหาศาลในกิจการพลังงานคงไม่เกิดอย่างกว้างขวางและต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันทั้ง ๆ ที่เวลาได้ผ่านไปร่วม 9 ปีแล้ว

       
        ถ้าพวกเขาฮุบหุ้นแบบเนียน ๆ ผ่านกองทุนต่างประเทศ และผ่านโบรกเกอร์ไม่หน้ามืดตามัวไปแย่งเอาจากส่วนจัดสรรของประชาชนรายย่อยที่มีสัดส่วนน้อยกว่าเยอะ การค้นหาหลักฐานบ่งชี้ว่ามี “ผู้มีอำนาจเหนือระบบ” กำหนดและบงการการจัดสรรหุ้นคงจะยากขึ้นอีกมากเพราะเป็นหุ้นที่ผ่านกองทุนต่างประเทศ
       
       ความโลภเกินพิกัดตัวเดียวนี่เองที่ทำให้เกิดหลักฐานผูกมัดปรากฏในประวัติศาสตร์การพลังงานไทยให้จดจำชั่วลูกหลานว่าการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เป็นบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เมื่อพ.ศ.2544 นั้นสกปรกโสมมที่สุดอีกครั้งหนึ่ง และต้องบันทึกว่าการแปรรูป ปตท.เนื้อแท้มาจากทุนและอำนาจทางการเมืองหวังผลประโยชน์และความมั่งคั่งจากกลไกควบคุมพลังงานของไทย
       
        ปตท. แปลงร่างเป็น Super Enterprise ปากหนึ่งบอกว่าการแปรรูปเดินตามปรัชญาการแข่งขันเสรี ทำให้เป็นเอกชนปราศจากการครอบงำของรัฐซึ่งฐานของปรัชญานี้เชื่อว่าทำให้การประกอบการมีประสิทธิภาพขึ้น แต่อีกทางหนึ่งเจ้าบริษัทมหาชนแห่งนี้ก็คงอำนาจหน้าที่ของความเป็นรัฐวิสาหกิจเอาไว้คงเดิม
       
        ปตท.กระจายหุ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2544 รวม 800 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 35 บาท(ปัจจุบันประมาณ 260 บาท) แบ่งเป็น 4 กลุ่มซึ่งแต่ละกลุ่มล้วนมีปัญหาทั้งสิ้น
       
        กลุ่มแรก-หุ้นผู้มีอุปการะคุณ 25 ล้านหุ้น ซึ่งกรรมการปตท.สามารถตัดสินใจที่จะให้ใครก็ได้ในนามของผู้มีอุปการะคุณคำถามตัวโต ๆ ก็คือหุ้นปตท.ตีค่าเป็นทรัพย์สินของส่วนรวมไม่ใช่หุ้นบริษัทเอกชนที่เจ้าของนึกพิศวาสใครก็ยกให้ได้ในราคาถูก ถ้าปตท.ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจจะไม่มีคำครหาใด ๆ สำหรับประเด็นนี้ มูลค่าส่วนต่างของผู้ที่ได้หุ้นกลุ่มนี้ ถ้าคิดจาก 260-35= 225 บาท/หุ้น จะเป็นเม็ดเงินถึง 5,625 ล้านบาทซึ่งบรรดาผู้มีอุปการะคุณใครก็ไม่รู้ได้ไปสบาย ๆ จากกิจการที่เป็นทรัพย์สมบัติชาติ
       
        นี่เป็นความไม่ชอบประการแรกในการกระจายหุ้นครั้งนั้น และที่สำคัญสังคมไทยยังไม่เคยทราบข้อมูลจากปตท.เลยว่าบรรดาผู้มีอุปการะคุณที่ได้รับแจกหุ้นไปมีใครบ้างและได้ไปคนละเท่าไหร่ ทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้เป็นธรรมาภิบาลพื้นฐาน
       
        กลุ่มที่สอง-หุ้นขายให้ผู้ลงทุนต่างประเทศ 320 ล้านหุ้น มูลค่าส่วนต่างประมาณ 7.2 หมื่นล้านบาทไม่นับรวมเงินปันผลและสิทธิอื่น ๆ หุ้นกลุ่มนี้เชื่อว่ามีฝรั่งหัวดำที่เป็นคนไทยและทุนไทยโดยเฉพาะทุนการเมืองคว้าไปโดยจนบัดนี้ก็ไม่เคยปรากฏจะสืบสาวได้ต่อ
       
        กลุ่มที่สาม-เป็นหุ้นสำหรับบุคคลทั่วไปในประเทศ 235 ล้านหุ้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเล่นหุ้นที่มีบัญชีกับโบรกเกอร์อยู่แล้ว
       
        และกลุ่มสุดท้าย-คือหุ้นที่จัดสรรให้ผู้จองซื้อรายย่อยในประเทศ 220 ล้านหุ้น กลุ่มนี้เขาบอกว่าเป็นประชาชนทั่วไปที่พอมีเงินเก็บอยากลงทุนระยะยาว อยู่ตามต่างจังหวัด และเป็นหุ้นแต่งหน้าเค้ก- ก็คือกระจายให้ทั่ว ๆ ลงไปสู่ประชาชนจริง ๆ ให้เกิดภาพลักษณ์ที่สวยงามว่าการแปรรูปครั้งนี้กว้างขวางและลึกไปถึงมือคนไทยอย่างหลากหลาย
       
        อย่างที่บอก-คนที่มีเงินมีอำนาจ สามารถจะหาช่องเก็บหุ้นจาก 3 ส่วนแรกได้สบาย ๆ แค่ 600 ล้านหุ้นก็เป็นสัดส่วนที่โขอยู่ หากต้องการเพิ่มค่อยตามไล่เก็บในตลาดหุ้นภายหลังก็น่าจะไหวอยู่เพราะรายย่อยนั้นพอมีกำไรนิดหน่อยก็คงปล่อยแล้ว
       
        แต่นั่นเองคนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต การจัดสรรให้รายย่อยคุณป้าคุณอาอาซิ้มอาซ้อก็ยังมีปัญหา !
       
        หุ้นที่จัดสรรให้กับรายย่อย 220 ล้านหุ้น(ซึ่งที่จริงในครั้งนั้นกระทรวงการคลังจะเจียดเพิ่มให้อีก 120 ล้านหุ้นรวมแล้วที่จัดสรรผ่านรายย่อยจำนวน 340 ล้านหุ้น)ต้องไปจองซื้อผ่านธนาคารพาณิชย์ 5 แห่งโดยมีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นแม่ข่ายศูนย์ข้อมูลรับจองซื้อหุ้นจากสาขาธนาคารต่าง ๆ ทั่วประเทศ
       
        การขายหุ้นครั้งประวัติศาสตร์เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2544 หมดเกลี้ยงในพริบตา
       
        หุ้นล็อตแรก 220 ล้านหุ้นหมดใน 1.25 นาที !!
       
        หุ้นเพิ่มเติมที่กระทรวงการคลังตัดมาให้อีก 120 ล้านหุ้นก็หมดไปด้วยรวมแล้ว 340 ล้านหุ้นรวมแล้วขายหมดเกลี้ยงในเวลาเพียง 4.4 นาทีเท่านั้น
       
        ถึงขนาดว่าบางธนาคารผู้ลงทุนรายย่อยบางคนยังไม่ทันกรอกรายละเอียดในใบจองเลยหุ้นก็หมดแล้ว
       
        ข่าวสารที่ออกไปก่อนหน้าเขาบอกประชาชนรายย่อยซื้อได้ไม่เกินแสนหุ้น แต่ปรากฏว่ามีคนได้เป็นหลายแสนถึงล้านหุ้นก็มี
       
        หลักฐานหนังสือชี้ชวนเขียนไว้ชัดเจนว่า “ผู้จองซื้อรายย่อยจะต้องจองซื้อขั้นต่ำจำนวน 1,000 หุ้น และจะต้องเป็นทวีคูณของ 100 หุ้นแต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 100,000 หุ้นต่อใบจองซื้อ”
       
        และหากไม่ชัดเจนให้ดูข่าวเก่าที่นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ให้ข่าวกับสื่อมวลชน 5 วันก่อนหน้าวันขายหุ้นเพื่อยืนยันกันอีกครั้งว่าการกระจายหุ้นรอบนี้มีเป้าหมายกระจายให้ชาวบ้านมาประกอบว่ามีเป้าหมายจัดสรรไม่เกินคนละแสนหุ้น
       
       

ปตท.เลื่อนรับใบจองหุ้น / 9 พ.ย. 44
ผู้จัดการรายวัน - นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการประเมินผลหลังจากการเดินสายชี้แจงข้อมูลบริษัทให้แก่นักลงทุนในภูมิภาครวม 5 จังหวัดที่เสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ผลปรากฏว่า นักลงทุนรายย่อยและผู้ที่มีเงินออม ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ให้ความสนใจสูงมาก นอกจากนั้นผลสำรวจความต้องการหุ้นของ นักลงทุนสถาบันก็มีสูงมากเช่นกัน อีกทั้งเพื่อให้สามารถกระจายหุ้นไปสู่ประชาชนผู้สนใจได้จำนวนมาก จึงได้มีการ ปรับลดยอดการสั่งจองหุ้นต่อ 1 ใบจองจากเดิม สามารถจองได้ตั้งแต่ 1,000 หุ้น สูงสุดไม่เกิน 500,000 หุ้น มาเป็นตั้งแต่ 1,000 หุ้น สูงสุดไม่เกิน 100,000 หุ้น ดังนั้น เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการในการสั่งจองหุ้น ปตท.ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด บริษัทฯ จึงได้วางมาตรการอย่างรัดกุมให้การแจกใบจองหุ้นพร้อมเอกสารและขั้นตอนการจองหุ้นมี ความสมบูรณ์ ครบถ้วนและพร้อมเพรียงกันทุกสาขาธนาคารทั่วประเทศ มาตรการดังกล่าวส่งผล ให้บริษัทจำเป็นต้องเลื่อนการเปิดให้ประชาชนมา รับใบจองหุ้นจากเดิมวันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2544 เป็นวันที่ 14 พฤศจิกายน 2544

        
       เรื่องนี้เป็นข่าววิพากษ์วิจารณ์คึกโครมเพราะมีข่าวว่ามีแต่นักการเมือง ญาติมิตรพวกพ้องและคนรวยเท่านั้นที่ได้หุ้นปตท.ไป เสียงวิจารณ์มากขึ้นเพราะมีผู้ครองหุ้นเป็นล้านหุ้น ในตอนนั้นฝ่ายประชาสัมพันธ์ของปตท.จะพยายามแก้ต่างว่ารายชื่อญาติพี่น้องนักการเมืองที่ปรากฏตามสื่อเขาได้หุ้นจากหลายแหล่งทั้งหุ้นอุปการะคุณหุ้นซื้อจากโบรกเกอร์มารวมกันทำให้มีจำนวนมาก
       
       ปตท.ให้ข่าวได้ถูก-แต่ถูกเพียงส่วนเดียวเพราะไม่ได้บอกว่า หากจะหยิบเอามาเฉพาะกลุ่มที่จองซื้อจากธนาคารซึ่งเป็นสัดส่วนรายย่อยล้วน ๆ ก็มีบุคคลที่กวาดหุ้นเป็นล้านหรือหลายแสนหุ้นเช่นเดียวกัน
       
        เสียงวิจารณ์ที่ดังไม่หยุดเพราะคนไทยไม่ได้โง่ขนาดที่ไม่รู้ว่าขาย 220 ล้านหุ้นในเวลาแค่ 1.25 นาที(75วินาที) มันผิดปกติอย่างแน่นอนจนที่สุด ก.ล.ต. ในฐานะในฐานะองค์กรผู้รักษากติกาและธรรมาภิบาลตลาดทุนอยู่ไม่ติดได้มีการสอบตรวจสอบการขายหุ้นครั้งนั้นซึ่งดูเผิน ๆ เหมือนจะทำให้เรื่องจบลงแบบง่าย ๆ
       
        ก.ล.ต.ตรวจสอบการกระจายหุ้นซึ่งมีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) เป็นแม่ข่ายคอมพิวเตอร์ร่วมกับธนาคารอีก 4 แห่งในที่สุดผลการตรวจสอบก็ออกมาเมื่อมกราคม 2545 ผลสอบระบุว่า การจัดสรรหุ้นครั้งนั้น “ผิดปกติจริง” เพราะธนาคารไทยพาณิชย์ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า web server ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขข้อชี้ชวน
       
        พูดเป็นภาษาชาวบ้านง่าย ๆ คือธนาคารแห่งนี้และลูกค้าในกลุ่มนี้เอาเปรียบชาวบ้านเขา เล่นกรอกรายการล่วงหน้าแล้วกดปุ่มรอบเดียว ชื่อที่ล็อกไว้ก็จะเข้าไปในบัญชีรายการจองได้เร็วกว่าคนอื่น นำมาสู่มติของก.ล.ต.ที่ลงโทษธนาคารไทยพาณิชย์ด้วยการพักการเป็นตัวแทนจำหน่ายหุ้นในประเทศเป็นเวลา 6 เดือน
       
        การสั่งสอบของ ก.ล.ต.ดูเผิน ๆ เหมือนจะธำรงความยุติธรรมให้กับสังคมโดยเฉพาะประชาชนรายย่อยแต่แท้จริงแล้วกลับไม่มีผลใด ๆ เลยเพราะมีแค่ลงโทษด้วยการไม่ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ไม่ต้องขายหุ้นในประเทศแค่ 6 เดือน ส่วนหุ้นที่ได้มาโดยเอาเปรียบชาวบ้านเขาผลสอบบอกว่ามีสัดส่วนน้อยมากไม่มีผลกระทบต่อภาพรวม กลุ่มที่ได้มาแบบไม่ปกติก็ยังคงได้สิทธิ์นั้นต่อไป
       
        เรื่องจึงเหมือนเจ๊า ๆ กันไป...กลายเป็นน้ำกระทบฝั่ง คนที่รวยหุ้นปตท. ก็รวยไปเพราะหลังจากนั้น ปตท.ก็โตเอา ๆ ทำกำไรหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ราคาหุ้นทะลุ 300 บาทจากราคาที่ซื้อมาตอนแรก 35 บาทร่ำรวยกันใหญ่โต ทั้งกลุ่มที่ได้มาโดยจองได้จริง และกลุ่มที่ได้โดยการโกงชาวบ้านมา !
       
       ข้อแคลงใจ-ผู้สอบกับผู้ถูกสอบเป็นพี่น้องกัน ?
       
       



       
       ที่มาของภาพ : คุณหญิง ชฎา วัฒนศิริธรรมจากเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยhttp://www.set.or.th และศาสตราจารย์กิตติคุณ เติมศักดิ์ กฤษณามระ จากเว็บไซต์สมาคมศิษย์เก่าจุฬาลงกรณ์ฯ http://www.shicu.com
       อธิบายภาพ : คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการ ใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (ในเวลานั้น) ซึ่งถูกชี้ว่ากระจายหุ้นโดยขัดข้อชี้ชวนและถูกก.ล.ต.สั่งลงโทษ กับ ศ.กิตติคุณเติมศักดิ์ กฤษณามระ ตำแหน่งผู้สอบบัญชี รับอนุญาตบริษัทดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด ซึ่งก.ล.ต.ให้เข้ามาตรวจสอบการขายหุ้นที่ผิดปกติ(เป็นพี่น้องกัน ทั้งสองท่านเป็นพี่น้องกัน โดยต่างเป็นบุตรของพระยาไชยยศสมบัติ(เสริม กฤษณามระ) และคุณหญิงดารา ไชยยศสมบัติ
       
        การตรวจสอบการจองและจัดสรรหุ้นปตท. โดยก.ล.ต.ได้ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือนมกราคม 2545 จนเมื่อเดือนเมษายน 2553 ที่ผ่านมากองบรรณาธิการเอเอสทีวีผู้จัดการรายวันรื้อฟื้น-ศึกษากรณีการขายหุ้นปตท.ขึ้นมาดูอีกรอบ
       
       เอกสารรายงานการตรวจสอบดังกล่าวจากก.ล.ต. ซึ่งเป็นชุดที่เผยแพร่ให้นักลงทุนทราบมีจำนวน21 หน้าและได้เอกสารบัญชีผู้ได้รับการจัดสรรหุ้นปตท.ในครั้งนั้นอีกปึกใหญ่
       
       เอกสารผลการตรวจสอบระบุว่า ก.ล.ต.ได้อ้างอิงการตรวจสอบที่เรียกว่า “รายงานการสอบทานระบบที่ใช้ในการรับจองซื้อหุ้น” โดยบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัสสุ ไชยยศ จำกัด
       
       เอกสารชิ้นนี้อธิบายวิธีการตรวจสอบในขั้นตอนต่าง ๆ จนได้ข้อสรุปสุดท้ายว่า.. “เกิดจากการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงการรับจองซื้อหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ทำให้สิทธิของผู้จองซื้อหุ้นที่จะได้รับการจัดสรรไม่เท่าเทียมกันและไม่เป็นไปตามเจตนาของหนังสือชี้ชวน”
       
       ถ้าตัดเฉพาะถ้อยคำนี้เหมือนจะชัดเจนตรงตัวว่า การกระทำความผิดย่อมไม่สามารถจะปิดบังได้เพราะยังไงหลักฐานที่ปรากฏมันชัดเจนว่าธนาคารไทยพาณิชย์ในฐานะแม่ข่ายคอมพิวเตอร์ใช้เทคนิคทำให้คนบางกลุ่มได้เปรียบ
       
       แต่เมื่ออ่านบรรทัดต่อมา.....ที่ระบุว่า
       
       “อย่างไรก็ดีรายการจองซื้อที่เข้าข่ายว่ามีความผิดปกติดังกล่าวมีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับรายการทั้งหมด........จึงเห็นว่าความผิดปกติดังกล่าวไม่มีผลกระทบกับภาพรวมของการเสนอขายหุ้นของ บมจ.ปตท.ในครั้งนี้จนทำให้ต้องมีการเปิดรับจองใหม่”
       
       เอกสารบอกว่ารายการที่ผิดปกติที่ดีลอยท์ ทู้ช โธมัสสุ ไชยยศตรวจพบมีจำนวน 859 รายการหรือคิดเป็น 7.73% ของจำนวนรายการที่ได้รับการจัดสรร
       
       และจึงเป็นที่มาของการที่ก.ล.ต.สั่งลงโทษธนาคารไทยพาณิชย์ ไม่ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายหุ้นในประเทศ 6 เดือน (แต่ไม่ทำอย่างอื่นใดนอกเหนือจากเรื่องนี้รวมถึงเรื่องหุ้นผิดปกติที่ตรวจพบ 859 รายการ)
       
       การที่ได้เอกสารชิ้นดังกล่าวมาศึกษาอีกครั้งทำให้พบเงื่อนงำที่น่าสนใจอย่างหนึ่งนั่นคือ ผู้บริหารของกิจการตรวจสอบ กับ ผู้บริหารของกิจการที่ถูกสอบมีความสัมพันธ์เป็นพี่น้องกันโดยทั้งสองท่านต่างเป็นบุตรของพระยาไชยยศสมบัติ(เสริม กฤษณามระ) และคุณหญิงดารา ไชยยศสมบัติ ผู้มีคุณูปการต่อวงการบัญชีไทยอย่างเอกอุ โดยศ.เติมศักดิ์ นั้นเป็นพี่ชายคนโต
       
       นี่เป็นความบังเอิญที่ ก.ล.ต. หรือ ปตท. กำหนดสคริปต์ไว้ก่อนหรือไม่ ? ไม่สามารถตอบได้แต่แน่นอนว่าความบังเอิญนี้ก่อให้เกิดความคลางแคลงใจตามมา
       
       ผมไม่บังอาจตั้งข้อกล่าวหาใด ๆ กับทั้งท่านศ.เติมศักดิ์ กฤษณามระ และทั้งท่านคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม เพราะทั้งสอนท่านต่างเป็นผู้มีชื่อเสียงได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางในความเป็นมืออาชีพ
       
       หากมองในมุมบวก-ผลการตรวจสอบของดีลอยท์ฯ ได้ชี้ความผิดปกติที่ธนาคารไทยพาณิชย์กระทำจนกระทั่งถูกลงโทษเอาแค่ประเด็นนี้ก็ยากจะลุกขึ้นกล่าวหาว่า ดีลอยท์ฯ หรือผู้บริหารท่านใดไม่เป็นมืออาชีพได้อย่างเต็มปาก
       
       แต่อย่างไรความแคลงใจมันห้ามกันไม่ได้..เพราะตามปกติของระบบราชการไทยทั่วไป การตั้งเรื่องสอบแล้วเอาพวกเดียวกันมาสอบนั้นเป็นวิชามารของระบบราชการไทยที่เป็นที่ทราบกันดี
       
       เรื่องร้ายแรงที่ไม่สามารถปิดฟ้าด้วยฝ่ามือก็ทำให้เบาลงเสีย
       
       จากลงโทษหนัก ก็มาเป็นลงโทษเบา ๆ จนแทบไม่ต้องเปลี่ยนแปลงผลใด ๆ
       
       ความคลางแคลงใจในเรื่องผลการตรวจสอบการกระจายหุ้นในครั้งนั้นจึงไม่สามารถจะปัดเป่าได้ด้วยการสั่งลงโทษพักงาน 6 เดือนแล้วจบไป
       
        ด้วยเหตุดังกล่าวกองบรรณาธิการเอเอสทีวีผู้จัดการรายวันจึงทำหนังสือขอข้อมูลข่าวสารตามพรบ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ 2540 ไปยังคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อจะขอเอกสารหลักฐานการตรวจสอบครั้งดังกล่าวฉบับสมบูรณ์ ที่มิใช่เอกสารสรุป 21 หน้าที่เผยแพร่ทั่วไป ทั้งเพื่อเพื่อจะพิสูจน์เพื่อลบความคลางแคลงใจทั้งมวลที่มีอยู่
       
        ความคลางแคลงใจต่อเอกสารผลการตรวจสอบจำนวน 21 หน้าที่ก.ล.ต.พยายามชี้แจงต่อสังคมและเพื่อ “ปิดคดี” ยังมีอยู่มากมายหลายประเด็น
       
       1. ก.ล.ต.ตั้งประเด็นสอบเฉพาะระบบและเทคนิคการจัดสรรหุ้น และก็ได้ผลสรุปออกมาว่าใช้เทคนิคที่ผิดจากข้อตกลงทำให้มีการเอาเปรียบชาวบ้านจริงพร้อม ๆ กันนั้นก็ข้ามประเด็นปัญหาการจัดสรรหุ้นเกินโควตา 1 แสนหุ้นที่ปรากฏในหนังสือชี้ชวน โดยก.ล.ต.ยกประโยชน์ให้กับถ้อยคำที่คลุมเครือตีความได้หลายแบบ ทำให้บางรายยื่นจองหลายฉบับและได้รับจัดสรรหลายแสนหรือเป็นล้านหุ้น หากมีการสอบลึกลงไปถึงมติคณะกรรมการเตรียมการจัดสรรหุ้น และเป้าหมายของการจัดสรรให้รายย่อยดั่งที่นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนนั่นแสดงว่าการจัดสรรหุ้นครั้งนี้ผิดจากเป้าหมายเดิม สมควรจะถูกยกเลิกและจัดสรรใหม่
       
       2. ก.ล.ต.เปิดเผยข้อมูลเพียง 21 หน้ากระดาษที่เน้นไปที่การอธิบายภาพรวมของระบบจองและจัดสรรในเอกสารอ้างอิงผลการตรวจสอบของบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัสสุ ไชยยศ จำกัด ซึ่งมีหน้าที่ทำรายงานการสอบทานระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการรับจองหุ้นรายงานเป็นหลัก แต่ไม่ได้พยายามตรวจสอบความผิดปกติอื่น ๆ ที่ปรากฏโดยเฉพาะการสอบย้อนเส้นทางการจองและได้รับจัดสรรของผู้ได้รับจัดสรรเกิน 3 แสน-1 ล้านหุ้น เพราะบางรายใช้ธนาคารคนและแห่ง และคนละสาขาแยกใบจองแต่ได้รับการจัดสรรมากมายอย่างน่าทึ่ง ขณะที่ชาวบ้านซึ่งจองคนละไม่เกิน 1 แสนหุ้นถูกปฏิเสธไปมากกว่า นี่เป็นความผิดปกติที่ชัดเจนที่สุดแต่ไม่ได้ถูกกล่าวถึงเหมือนจะจงใจละเลยประเด็นความผิดปกตินี้
       
       3. ในเอกสารการตรวจสอบระบุว่าธนาคารอีก 4 แห่งปฏิเสธจะลงนามในข้อตกลงการรับจองซื้อหุ้นสามัญของบริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) แม้กระทั่งวันเปิดจองหุ้นธนาคารอีก 4 แห่งก็ยังไม่ลงนาม..นี่จึงเป็นไปได้หรือไม่ที่มีข่าวที่นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ออกมาแถลงว่าต้องเลื่อนวันจองออกไป แต่ที่สุดธนาคารที่เหลือก็ไม่ลงนาม นี่เป็นความผิดปกติที่ก.ล.ต.ไม่พยายามจะหารายละเอียดข้อปัญหา แต่สรุปไปเลยว่า ธนาคารทุกแห่งเข้าใจระบบตรงกันดี
       
       4. รายงานฉบับเต็มสมควรมีรายชื่อผู้ได้รับการจัดสรรหุ้นที่ระบุในรายงานว่ามีความผิดปกติ หรือพูดง่าย ๆ โกงเพื่อนมาจำนวน 859 รายการนั้นเป็นใครบ้าง ?
       
       5. จากรายงานที่สรุปออกมา 21 หน้า แสดงให้เห็นว่า ก.ล.ต.น่าจะมีรายงานฉบับเต็มและมีข้อมูลการตรวจสอบฉบับเต็ม ซึ่งควรจะเป็นเอกสารที่เปิดเผยต่อสาธารณะได้เพื่อแสดงความโปร่งใสของระบบตลาดทุนไทย และเพื่อความโปร่งใสของการขายสมบัติแผ่นดินในนามของการแปรรูป
       
       ด้วยเหตุนี้กองบรรณาธิการเอเอสทีวีผู้จัดการรายวันจึงได้ยื่นหนังสือขอข้อมูลข่าวสารจากคณะกรรมการก.ล.ต.ไปแต่ทว่าเวลาผ่านไป 3 เดือนยังไม่ได้คำตอบใด ๆ จากก.ล.ต. ทำให้กองบรรณาธิการเอเอสทีวีผู้จัดการรายวันได้ยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการไปแล้ว เรื่องนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาและพิสูจน์ว่าสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนในประเทศนี้มีจริงแท้แค่ไหน-เพียงไร ?
       
       ปัญหาการกระจายหุ้นป.ต.ท.ในครั้งนั้นยังคงเป็นปมปริศนาอีกมากมาย นักลงทุนรายใหญ่มาก ๆ ระดับนักการเมืองนั้นไม่ใช้วิธีไล่ซื้อแข่งกับรายย่อยในประเทศหรอกเพราะมีหุ้นที่กระจายผ่านโบรกเกอร์ต่างประเทศถึง 320 ล้านหุ้น แต่เท่าที่ปรากฏเป็นหลักฐานต่อสาธารณะการมีหุ้นอุปการะคุณมันก็น่าเกลียดเกินบรรยายแล้ว จนบัดนี้ปตท.ก็ยังไม่กล้าเปิดข้อมูลคนกลุ่มนี้ออกมา และที่น่าเกลียดหนักไปกว่านั้นก็คือยังมีช่องทางซิกแซ็กแย่งหุ้นจากประชาชนรายย่อยอีก
       
        ปัญหาการกระจายหุ้นรายย่อยแม้เป็นเพียงส่วนยอดภูเขาน้ำแข็งที่เพิ่งโผล่แพลมขึ้นมาเหนือผิวน้ำ แต่ก็สามารถบ่งบอกว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ทำกำไรปีละแสนสองแสนล้านแห่งนี้ไม่ได้เป็นไปตามธรรมาภิบาลดั่งที่ประกาศไว้ทั้งหมด
       
       หมายเหตุก่อนปิดเรื่อง – มีผู้ทักท้วงความผิดพลาดในข้อเขียนตอนที่ 1 เกี่ยวกับอัตราภาษีน้ำมันที่ผู้เขียนระบุว่าเก็บเฉลี่ยเพียง 10% จึงขออธิบายความว่าเป็นความไม่รอบคอบของผู้เขียนที่ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ ขอยืนยันว่าการทำงานเรื่องนี้จะไม่ตะแบง ไม่บิดเบือนใด ๆ กอดยึดหลักการเดียวคือสิทธิของประชาชนและสิทธิของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ขออธิบายว่าภาษี 10%ที่กล่าวถึงมีภาษาทางการว่า ค่าภาคหลวงเป็นไปตาม พรบ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ส่วนที่ไม่ได้กล่าวถึงก็คือ ภาษีรายได้น้ำมันตามพรบ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 2514 ที่กำหนดให้เก็บ 50% แต่ไม่เกิน 60%
       
       อย่างไรก็ตามมีผู้อ้างว่าเมื่อรวมภาษีทั้ง 2 ตัวแล้วทำให้ไทยเก็บภาษีปิโตรเลียมถึง 60% ไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติแต่อย่างใด เพราะว่าภาษีรายได้น้ำมันกำหนดให้คำนวณเก็บตามกำไรสุทธิที่หักค่าใช้จ่ายแล้ว ค่าใช้จ่ายที่หักยังครอบคลุมไปถึงค่าภาคหลวงที่บริษัทน้ำมันจ่ายไปก่อนล่วงหน้า และยังมีปัญหาเทคนิคการคำนวณราคาปิโตรเลียมที่ขุดเจาะได้ เมื่อปี 2552 ที่น้ำมันโลกแพงมาก หากคิดเฉลี่ยต่ำสุด ๆ น้ำมันดิบดูไบที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐแต่น้ำมันดิบที่ตีราคา ณ แท่นขุดเจาะบ้านเรากลับไม่ถึงตามนั้น (ไม่รู้ว่าด้วยสาเหตุใด)
       
       ผมนั้นไม่ใช่ผู้รู้หรือผู้ชำนาญการ..แต่ที่สามารถหยิบมาเขียนเล่าเรื่องเพราะเข้าไปร่วมวงศึกษา นั่งฟังบรรดาผู้เชี่ยวชาญบรรยายสรุปอยู่หลายรอบจึงนำความรู้นั้นมาเรียบเรียงใหม่ มีผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งคำนวณว่ารวมภาษีทุกชนิดแล้วประเทศไทยเก็บจากบริษัทน้ำมันจริง ๆ ได้สูงสุดแค่ประมาณ 30% ของมูลค่าและปริมาณน้ำมันที่ได้ไป
       
       ปัญหาของการพลังงานของไทยจึงไม่ใช่การนั่งงอมืองอเท้าคร่ำครวญว่ายังไง ๆ เราก็ขุดเองได้ 30-40% ที่เหลือต้องนำเข้า เขามาลงทุนให้ก็บุญโขแล้ว อุปมาอุปไมยกรอบคิดใหม่ของคนไทยเหมือนต้องนำเข้าข้าวทั้งหมดซื้อในราคาต่างประเทศ วันดีคืนดีก็ปลูกได้เอง 40% ของที่เคยกิน แต่คนไทยไม่รู้เรื่องราวของข้าวที่เราปลูกได้เองเลยว่า มีคุณภาพแบบไหน ปลูกเสร็จมีคนผูกขาดเอาไปสีแล้วจำหน่ายราคาเดียวกับที่เราเคยซื้อๆ มา แล้วโรงสีก็รวยเอา ๆ ในนามของความมั่นคงอาหารไทยหรือไม่?
       
       มีเรื่องเล่าในวงการพลังงานว่าคุณภาพของน้ำมันและก๊าซไทยสูงมาก ราคาดี ปรากฏมีมือดีเอาน้ำมันและก๊าซคุณภาพสูงจากแท่นไปขายทำกำไรรอบแรก จากนั้นก็นำเข้าของคุณภาพต่ำมากลั่นขายคนไทย คิดกำไรทุกขั้นตอนตั้งแต่การขนส่งยันจำหน่าย ความโปร่งใสเหล่านี้เรายังไม่เห็นจริงในวงการพลังงานไทย มีแต่ธรรมาภิบาลครึ่งๆ กลาง ๆ เท่านั้น
       
       หมายเหตุ 2- ท่านที่สนใจรายงานการตรวจสอบการเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) มกราคม 2545 สามารถติดต่อถามได้จากศูนย์สารสนเทศตลาดทุน สนง.คณะกรรมการ ก.ล.ต.