วันพุธที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2558

แปะข้างฝา! เปิดรายชื่อ 79 สปช. หนุนเปิดสัมปทานรอบ 21 "เจิมศักดิ์-พ่อตั๊น กปปส.-ปราโมทย์-ดำรงค์ พิเดช-ประมนต์” ติดโผ




(แถวบน จากซ้ายไปขวา) นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี, นายประมนต์ สุธีวงศ์ (แถวล่าง จากซ้ายไปขวา) นายปราโมทย์ ไม้กลัด, นายเกริกไกร จีระแพทย์, นางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด, นายดำรงค์ พิเดช
        ASTVผู้จัดการ - เปิดรายชื่อ 79 สปช. ลงมติหนุนเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ปรากฎรายชื่อ เกริกไกร-เจิมศักดิ์-จุตินันท์ พ่อตั๊น-ดำรงค์ พิเดช-ปราโมทย์ ไม้กลัด-ผู้บริหารเดลินิวส์ อยู่ด้วย ขณะที่ “ปู่ชัย” บิดานายเนวิน ชิดชอบ ลงมติไม่เห็นด้วย
       
       ในการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติวานนี้ (13 ม.ค.) ในญัตติขอให้ที่ประชุมลงมติเห็นชอบกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปเสียงข้างมาก เรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และรายงานเรื่อง การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และแนวทางการบริหารจัดการพลังงานปิโตรเลียมอย่างยั่งยืน โดยมี น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช. คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม ซึ่งมีการลงมติเมื่อเวลา 19.32น. จากจำนวนผู้เข้าประชุม 230 คน มีผู้แสดงความไม่เห็นด้วย 130 คน งดออกเสียง 21 คน และ เห็นด้วย 79 คน สำนักรายงานการประชุมและชวเลข สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เผยแพร่ข้อมูลผลการลงคะแนนของสมาชิก สปช.ทั้ง 230 คนไว้ผ่าน เว็บไซต์ระบบฐานข้อมูลรายงานและบันทึกการประชุมให้กับสาธารณชนได้รับทราบ
       
       จากข้อมูลดังกล่าวปรากฎว่ามีรายชื่อ สปช. ที่เป็นที่รู้จัก และลงมติเห็นด้วยกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 อย่างเช่น นายเกริกไกร จีระแพทย์ อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์และ รมว.พาณิชย์สมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์, นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ผู้บริหารกลุ่มเบียร์สิงห์ และบิดา น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร หรือ ตั๊น แกนนำกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.), นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง แนวร่วม กปปส., นายดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชและที่ปรึกษาฝ่ายสังคมจิตวิทยา ในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ, นางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด ผู้บริหารสื่อในกลุ่มเดลินิวส์,นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน, นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีด ส.ว.กรุงเทพ และอธิบดีกรมชลประทาน, นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินของประเทศไทย อดีตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และอดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, นายมนู เลียวไพโรจน์ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม,พลเอก วิชิต ยาทิพย์ คนสนิท พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นต้น ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า นายชัย ชิดชอบ อดีต ส.ส.พรรคภูมิใจไทย บิดานายเนวิน ชิดชอบ และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรกลับลงมติไม่เห็นด้วย
       
       สำหรับรายชื่อ สปช. ผู้ลงมติเห็นด้วยทั้ง 79 คน มีดังนี้
      
       1.นายกาศพล แก้วประพาฬ
       2.นายกิตติ โกสินสกุล
       3.นายงกฤช หิรัญกิจ
       4.นายกมล รอดคล้าย
       5.นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์
       6.กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์
       7.นางกูไซหม๊ะวันชาฟีหน๊ะ มนูญทวี
       8.นายเกริกไกร จีระแพทย์
       9.นายเกษมสันต์ จิณณวาโส
       10.นายไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติ
      
       11.นายขจัดภัย บุรุษพัฒน์
       12.พลตำรวจตรี ขจร สัยวัตร์
       13.นายเข็มชัย ชุติวงศ์
       14.พลอากาศเอก คณิต สุวรรณเนตร
       15.นายคุรุจิต นาครทรรพ
       16.พันตำรวจโท จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์
       17.นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี
       18.นายเจน นำชัยศิริ
       19.นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
       20.นางชัชนาถ เทพธรานนท์
      
       21.นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ
       22.นายชาติชาย ณ เชียงใหม่
       23.นายชิงชัย หาญเจนลักษณ์
       24.นายฐิติ วุฑฒิโกวิทย์
       25.พลโท ฐิติวัจน์ กำลังเอก
       26.นายดำรงค์ พิเดช
       27.นายดุสิต ลีลาภัทรพันธุ์
       28.นางเตือนใจ สินธุวณิก
       29.นายทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์
       30.นายธรรมรักษ์ การพิศิษฎ์
      
       31.นายธวัชชัย ยงกิตติกุล
       32.นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์
       33.นายนิคม มากรุ่งแจ้ง
       34.นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์
       35.นายบุญถิ่น มั่นเกษวิทย์
       36.นายเบญจวรรณ สร่างนทร
       37.นางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด
       38.นางประภาศรี สุฉันทบุตร
       39.นายประมนต์ สุธีวงศ์
       40.พลเอก ประสูตร รัศมีแพทย์
      
       41.นายปราโมทย์ ไม้กลัด
       42.นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ
       43.นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช
       44.นางพรรณวีรินทร์ รัตนวานิช
       45.นายพรายพล คุ้มทรัพย์
       46.พลเอก พลพล มณีรินทร์
       47.นายไพบูลย์ นลินทรางกูร
       48.นายไพโรจน์ พรหมสาส์น
       49.นางภัทรียา สุมะโน
       50.พลเอก ภูดิศ ทัตติยโชติ
      
       51.นายมนู เลียวไพโรจน์
       52.นายมนูญ ศิริวรรณ
       53.พันตำรวจตรี ยงยุทธ สาระสมบัติ
       54.พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช
       55.นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา
       56.พลเอก วัฒนา สรรพานิช
       57.พลเอก วิชิต ยาทิพย์
       58.นายวิบูลย์ คูหิรัญ
       59.นายไวกูณฑ์ ทองอร่าม
       60.นายศานิตย์ นาคสุขศรี
      
       61.นายศักรินทร์ ภูมิรัตน
       62.นายศิริ จิระพงษ์พันธ์
       63.พลเรือเอก ศุภกร บูรณดิลก
       64.นายสมเดช นิลพันธุ์
       65.นายสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์
       66.นางสีลาภรณ์ บัวสาย
       67.นางสุกัญญา สุดบรรทัด
       68.นายสุทัศน์ เศรษฐ์บุญสร้าง
       69.นายสุธรรม ลิ้มสุวรรณเกษม
       70.นายสุพร สุวรรณโชติ
      
       71.นายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์
       72.นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ
       73.นายอนันตชัย คุณานันทกุล
       74.นายอนุสรณ์ แสงนิ่มสวล
       75.พลเรือเอก อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ
       76.นายอมรวิชช์ นาครทรรพ
       77.นางสาวอ่อนอุษา ลำเลียงพล
       78.นางอัญชลี ชวนิชย์
       79.พลเอก เอกชัย ศรีวิลาศ
 










คำต่อคำ "เจิมศักดิ์" อ้างความเห็นชาวบ้านเรื่องพลังงานแค่ความรู้สึก กรณีเปิดสัมปทานรอบ 21 [ชมคลิป]


นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
        ASTVผู้จัดการ - ย้อนฟังคำต่อคำ "สปช.เจิมศักดิ์" จ้อกลางที่ประชุม ชี้เรื่องเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 นำความเห็นของประชาชนนำไปเทียบกับผลศึกษาของกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานไม่ได้ ก่อนลงมติเห็นด้วยกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ตาม กมธ.ปฏิรูปพลังงานเสนอ
      
       การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติวานนี้ (13 ม.ค.) ในญัตติการพิจารณาเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 หรือไม่ตามที่ นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิก สปช.ได้เสนอให้ที่ประชุมลงมติในข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานเสียงข้างมาก ASTVผู้จัดการ ได้นำบันทึกการประชุมตอนหนึ่งที่นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สมาชิก สปช.ด้านสังคม ได้ลุกขึ้นประท้วงนางทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช.ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมมาให้ได้ฟังและอ่านแบบคำต่อคำ
      
       

      
       "คือเราให้คณะกรรมาธิการฯ (ปฏิรูปพลังงาน) เขาไปศึกษา ส่วนกรรมาธิการการมีส่วนร่วมไปฟังความเห็นประชาชน ซึ่งความเห็นของประชาชนมีมาอย่างไร เราส่งไปผมเห็นด้วย แต่จะมาบอกว่าเราเห็นด้วยกับความเห็นของประชาชนไม่ได้ เพราะว่าความเห็นของประชาชนเป็นความรู้สึก เป็นสิ่งที่ไม่ได้มาบอกเราว่าทำไมจึงเห็นเช่นนั้น มีข้อมูลมาให้ดูว่า เขาเห็นอย่างนั้นเนี่ยเราเห็นด้วยกับเขาหรือไม่ ไม่ใช่ว่าประชาชนพูดอะไรมามันก็ถูกหมดมันก็ไม่ใช่อีก 
      
       "แต่ว่าเราไปให้กรรมาธิการชุดนี้เขาไปศึกษา และเขาก็ศึกษามาและมีข้อเสนออยู่ 2 ข้อ ข้อหนึ่ง เขาบอกว่าให้เปิดสัมปทานรอบที่ 21 ในระบบสัมปทาน เราเห็นด้วยกับเขาหรือไม่ ถ้าเราเห็นด้วยก็ลงมติเห็นด้วย ถ้าไม่เห็นด้วยก็ไม่เห็นด้วย และข้อสอง เขาบอกว่าให้กระทรวงพลังงานดำเนินการศึกษาและเตรียมระบบโปรดักชัน แชริง คอนแทร็ก (Production Sharing Contract; PSC) เราเห็นด้วยหรือไม่ ก็เป็นอย่างนั้น แต่จะเอารายงานของกรรมาธิการฯ ไปเห็นด้วยกับรายงานของกรรมาธิการฯ หรือเห็นด้วยกับไปฟังประชาชนมา ผมว่ามันเทียบกันไม่ได้ มันเทียบกัน 2 ตัวเนี่ยจะให้ผมไปโหวตอย่างไรละครับ ผมเห็นด้วยที่ประชาชนส่งเสียงมาและก็ส่งไป แต่ผมอยากจะโหวตว่าผมจะเห็นด้วยกับกรรมาธิการฯ มั้ย หรือจะไม่เห็นด้วยก็ได้ ผมว่าอย่างนั้นดีกว่าไหมครับ เขาเสนอมา 2 ข้อ ก็โหวต 2 ข้อ ถ้าใครคิดว่าไม่เห็นด้วยกับระบบสัมปทานก็โหวตไม่เห็นด้วย ก็เท่ากับชะลอเราก็เห็นว่ายังไม่เห็นด้วย ส่วนการตัดสินใจก็อยู่ที่รัฐบาล ใช่ไหมครับ"

คำต่อคำ เจิมศักดิ์ อ้างความเห็นชาวบ้านเรื่องพลังงานแค่ความรู้สึก กรณีเปิดสัมปทานรอบ 21 [ชมคลิป]
ข้อมูลการลงคะแนนในญัตติขอให้ที่ประชุมลงมติเห็นชอบกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปเสียงข้างมาก เรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และรายงานเรื่อง การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และแนวทางการบริหารจัดการพลังงานปิโตรเลียมอย่างยั่งยืนของนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
       
ชมคลิปรายการ News Hour ช่วงที่1 การประชุม สปช.พิจารณาสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21
       

       

ก.พลังงานเมินเสียงค้าน สปช. ยันเดินหน้าสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21



กระทรวงพลังงานรอ “สปช.” ส่งรายงานอย่างเป็นทางการพร้อมรับฟังแต่หลักการยังคงเดินหน้าเปิดให้ยื่นสิทธิ์สำรวจตามเดิมภายใน 18 ก.พ.นี้ ยืนยันไม่ได้รีบเหตุแผนงานดังกล่าวได้วางไว้ตั้งแต่ปี 2553 เหตุสำรองก๊าซฯ ในไทยเริ่มถดถอย ย้ำผลประโยชน์สัมปทานไม่ต่างจากระบบแบ่งปัน
       
       นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงานและสมาชิกสภาปฏิรูปด้านพลังงาน หรือ สปช. เปิดเผยว่า ได้หารือและรายงานถึงกรณีมติ สปช. 130 ต่อ 79 คะแนนที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สปช.เสียงข้างมาก ให้เดินหน้าสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ต่อนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน ในช่วงเช้าวันนี้ (14 ม.ค.) ซึ่ง รมว.ยังไม่มีนโยบายเปลี่ยนแปลงใด กระทรวงพลังงานจึงพร้อมที่จะเดินหน้าตามกรอบเดิม
       
       “คงต้องรอให้ สปช.ส่งรายงานผลสรุปอย่างเป็นทางการมาก่อนหลังจากนั้นจะดูข้อเสนอต่างๆ แต่หลักการปัจจุบันยังไม่เปลี่ยนแปลงใดๆ เพราะกระทรวงพลังงานมีหน้าที่บริหารและมีหน้าที่รับฟังจาก สปช. ทางกระทรวงพลังงานพร้อมเดินหน้าตามรัฐบาล โดยการศึกษาเรื่องนี้เป็นไปตามที่รัฐบาลส่งมาให้ สปช.ศึกษาหลังประกาศปิดสัมปทานรอบ 21 ไปเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 57 และเห็นว่าสัมปทานรอบ 21 ควรเปิดตามที่ประกาศไปแล้วเพราะเป็นเรื่องจำเป็น” นายคุรุจิตกล่าว
       
       นายคุรุจิตกล่าวว่า ทาง สปช.พลังงานศึกษา 3 ประเด็น คือ 1. ให้เปิดสัมปทานรอบ 21 ใช้ระบบสัมปทานประเทศระบบที่ 3 หรือไทยแลนด์ทรี 2. ยกเลิกสัมปทาน 21 แล้วให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต หรือพีเอสซี และ 3. เปิดสัมปทานรอบ 21 ใช้ระบบสัมปทานไทยแลนด์ทรีพลัส หรือระบบที่ 3 พิเศษ และให้ศึกษาระบบพีเอสซีว่าสมควรจะใช้ในการประกาศเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบต่อไปหรือไม่ ซึ่ง สปช.พลังงานได้เลือกข้อสรุปที่ 3 ส่งต่อให้รัฐบาล
       
       นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ขณะนี้การเปิดสัมปทานรอบ 21 ก็ยังเป็นไปตามมติ ครม. โดยจะปิดรับข้อเสนอในวันที่ 18 ก.พ. 2558 เช่นเดิม โดยมีผู้สนใจมาขอดูข้อมูลทั้งรายเก่าและรายใหม่นับสิบราย ซึ่งจะมีการยื่นขอมากน้อยแค่ไหนคงจะต้องรอดูช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนปิดรับข้อเสนอ
       
       ทั้งนี้ ยืนยันว่าการดำเนินการทั้งหมดไม่ได้เป็นการเร่งรีบเพราะได้เตรียมการเปิดมาตั้งแต่ปี 2553 ด้วยเหตุที่ไทยต้องการก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นแต่การจัดหาในประเทศเริ่มน้อยลง ดังนั้นการเปิดสัมปทานฯ ครั้งนี้จึงเป็นการเพิ่มปริมาณสำรองก๊าซฯ ภายในประเทศเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศที่ปัจจุบันไทยก็ต้องพึ่งพิงการนำเข้าพลังงานกว่า 50% ของความต้องการใช้ภาพรวมหรือคิดเป็นมูลค่าปีละกว่า 1.44 ล้านล้านบาท
       
       นอกจากนี้ ระบบสัมปทานรอบ 21 ผลประโยชน์ของรัฐไม่น้อยกว่าพีเอสซี โดยแบ่งปันผลประโยชน์ของรัฐและเอกชนในสัดส่วน 72% ต่อ 28% หลังหักจากค่าใช้จ่ายไปแล้ว และการดำเนินการไม่ซ้ำซ้อน โปร่งใสกว่าเพราะทุกอย่างเป็นไปตามที่รัฐประกาศ แต่พีเอสซีต้องแก้กฎหมายตั้งองค์กรใหม่มาเจรจารายสัญญากับเอกชน หลังอนุมัติโครงการแล้วทุกสัญญาของเอกชนที่จะไปว่าจ้างต่อต้องขอความเห็นชอบจากองค์กรใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น ซึ่งทำให้การทำงานล่าช้าและอาจเป็นช่องโหว่ของการแสวงหาผลประโยชน์ได้

“วิษณุ” รับรัฐเมินมติ สปช.ลุยสัมปทานปิโตรเลียมได้ แต่โดยมารยาทควรให้เกียรติ



รองนายกฯ รับตาม รธน.ชั่วคราว รัฐบาลเมินเสียง สปช. เดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบ 21 ได้ แต่โดยมารยาทควรให้เกียรติ อ้าง ปธ.ต่อต้านคอร์รัปชัน ระบุ สปช.ไม่ได้ตีตกทั้งหมด แค่ท้วงติงบางส่วน หากปรับวิธีการ เดินหน้าต่อคงไม่มีปัญหา โยน ก.พลังงานแก้ไข ส่วน รธน.ใหม่ให้สิทธิ ปชช.ฟ้องศาล รธน. เชื่อไม่ทำให้วุ่น แนะเพิ่มจำนวนตุลาการศาลฯ บอก 9 คนน้อยไป ปัดวิจารณ์อำนาจถอดถอน สนช. ชี้เรื่องไปไกลแล้ว 
       
       นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สปช. ในการพิจารณาเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ว่า เรื่องนี้นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ในฐานะสมาชิก สปช.ได้ชี้แจงในระหว่างการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ร่วมกับนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่ามติของ สปช.ไม่ถึงขนาดตีตกทั้งหมด เพียงแต่เป็นการท้วงติงในเรื่องวิธีการเท่านั้น หากมีการปรับวิธีการคาดว่าจะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด รายละเอียดในส่วนนี้คงต้องให้กระทรวงพลังงานเป็นผู้ชี้แจง ทั้งนี้ ในวันที่ 15 ม.ค.นี้ ตนได้มีนัดหารือกับทางประธานคณะกรรมาธิการ 18 คณะของ สปช.เกี่ยวกับการประสานงานกับรัฐบาลอยู่แล้วก็จะได้มีการพูดคุยในเรื่องนี้ด้วย
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อ สปช.มีมติในลักษณะนี้ รัฐบาลจำเป็นจะต้องชะลอหรือทบทวนโครงการหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ขอตั้งหลักก่อน เพราะยังไม่เห็นรายละเอียดของมติและข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปพลังงาน ทาง สปช.จะต้องส่งมติไปให้กระทรวงพลังงานในฐานะผู้รับผิดชอบเสียก่อน
       
       ต่อข้อถามว่า รัฐบาลสามารถตัดสินใจดำเนินโครงการต่อไปได้โดยไม่ต้องฟังมติ สปช.หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตรงนี้คือหลักการตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ระบุว่า รัฐบาลมีความรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อ สปช.มีข้อเสนอแนะมา รัฐบาลก็สามารถที่จะพิจารณาได้ว่าจะรับทำหรือไม่ ยกตัวอย่าง สปช.เสนอให้ออกกฎหมาย หากรัฐบาลเห็นว่าไม่จำเป็นก็อาจจะไม่เสนอ ซึ่งกรณีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 นั้น นางจุรี วิจิตรวาทการ สมาชิก สปช.เองก็บอกว่า เมื่อข้อเสนอแนะของ สปช.เป็นเช่นนี้ แต่ที่สุดแล้วอยู่ที่รัฐบาลจะทำอย่างไร จะไม่ทำตามก็ได้ เพราะมองว่า สปช.อาจจะขาดข้อมูลบางอย่าง หรือไม่ทราบว่ารัฐบาลได้เริ่มดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง หากจะยกเลิกหรือทบทวนก็อาจจะทำไม่ได้แล้ว ซึ่งส่วนตัวไม่ทราบรายละเอียดเรื่องนี้ ต้องสอบถามนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน โดยตรง
       
       “โดยมารยาทรัฐบาลควรจะให้เกียรติ รับฟังข้อเสนอของ สปช. ทำได้ก็ทำ ทำได้บางส่วนก็ทำบางส่วน หรือจะไม่ทำตามก็ต้องชี้แจงกลับไปว่า ขอบคุณสำหรับคำแนะนำ แต่ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้เพราะอะไร และเปิดเผยให้สาธารณชนรู้ด้วย อันนี้เป็นการพูดตามกฎหมาย ไม่ใช่จะไปต่อล้อต่อเถียงกับ สปช.”

กมธ.พลังงานเสียงข้างมากหงายเงิบ! สปช.130เสียงไม่เอา เปิดสัมปทานรอบที่21





ASTVผู้จัดการรายวัน- สปช. ถกเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เสียงข้างมาก 139 เสียงโหวตให้ลงมติด่วน "คุรุจิต" แจงอ้างไทยแลนด์ทรีไม่ล้าสมัย สมาชิกโวย กมธ. เร่งรัดเอาใจรัฐบาล เสนอเลื่อนลงมติแต่เอาไม่อยู่ กางผลรับฟังความเห็น ปชช. ให้ชะลอเปิดสัมปทานรอบ 21 จี้แก้ไข กม. ปิโตรฯ-ตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติ “รสนา” ชี้อีสานวุ่นแน่ ที่ผ่านมาไร้เยียวยา คดีกองศาลปกครอง ห่วงจะผูกพันชั่วลูกชั่วหลาน “คำนูณ” กังขาลงมติหนุนสัมปทานปฏิรูปตรงไหน ล่าสุดที่ประชุมสปช.มีมติ 130 ต่อ 79 เสียง ไม่เห็นด้วยเปิดสัมปทานปิโตรฯรอบที่ 21 ตามที่กมธ.พลังงานเสียงข้างมากเสนอ

       
       วานนี้ (13ม.ค.) มีการประชุมสภาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้พิจารณารายงานเรื่อง “การเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21”ของคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน โดย นายทองฉัตร หงส์ลดารมย์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน ได้ รายงานผลการศึกษาว่า จากที่ได้เชิญหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับกิจารพลังงานทั่วประเทศ มาให้ความเห็น ประเด็นหลักที่นำมาพิจารณาคือ 1. ผลที่คาดว่าจะได้จากการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ตามแผน 2. การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เป็นการ ดำเนินการที่เร่งรีบเกินไปหรือไม่ และ 3. ผลกระทบหากจะยกเลิกการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพื่อรอให้มีการศึกษาและเตรียมพร้อมของระบบ แบ่งปันผลประโยชน์ก่อน แล้วจึงนำมาใช้ในการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยตามระบบสัมปทานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งผลการพิจารณาสรุปได้ทางเลือก 3 แนวทาง
       
       1. ให้กระทรวงพลังงานดำเนินการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ตามระบบ ไทยแลนด์ทรี พลัส ตามแผนงานที่มีในปัจจุบัน
       
       2. ยกเลิกระบบในการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 และนำระบบแบ่งปันผลผลิตมาใช้ (PSC)
       
       3. ให้ดำเนินการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ระบบตามแผนงานปัจจุบัน และให้กระทรวงพลังงานศึกษาเตรีมการให้มีระบบแบ่งปันผลผลิตที่เหมาะสมกับศักยภาพการปิโตรเลียมให้พร้อมไว้ เพื่อเป็นทางเลือกให้รัฐบาลตัดสินใจในการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในครั้งต่อๆไป โดยคณะกรรมาธิการ พิจารณาแล้ว เห็นพ้องต้องกัน โดยเสนอ ทางเลือกที่ 3 ต่อสภา เพื่อพิจารณาก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
       
       **กมธ.แจงเหตุต้องเปิดสัมปทานรอบ21 
       
       นายคุรุจิต นาครทรรพ รองประธานกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ความจำเป็นที่ต้องเปิดให้มีสัมปทานรอบที่ 21 เนื่องจากปีที่ผ่านมา ไทยมีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติสูงมาก เพิ่มขึ้น 9 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มเป็น1,000% ก๊าซธรรมชาติกลายเป็นสายเลือกสำคัญในการหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของประเทศ 70% นำไปใช้ผลิตไฟฟ้า 25% นำไปผลิตก๊าซหุงต้ม LPG และหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และ15% นำไปเป็นเชื้อเพลิงภาคอุตสาหกรรมโรงงาน และ 7% ใช้ในยานยนต์ หรือ NGV
       
       แต่จากการพยากรณ์จะมีการใช้ก๊าซเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่แหล่งที่พบในประเทศมีปริมาณสำรองไม่เพียงพอต่อ ความต้องการที่คาดว่าจะสูงเป็น 6-6.5 พันล้านลูกบาศก์ฟุต ใน10 ปีข้างหน้า ซึ่งปัจจุบันก๊าซที่มีในประเทศสามารถป้องความต้องการได้แค่ 80% เท่านั้น ประมาณ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุต จะมาจากแหล่งผลิตร่วมไทย-มาเลย์ ส่วนใหญ่เกือบ 20% ต้องนำเข้าจากพม่า 2 ปีที่ผ่านมาไทยเริ่มนำเข้าธรรมชาติเหลว หรือ LNG จากตะวันออกกลาง การคาดการณ์อุปสงค์ภายในไม่ถึง 7-8 ปี จะเกิดภาวะขาดแคลน ไม่สามารถแสวงหาแหล่งก๊าซเพิ่มเติมทั้งในละนอกประเทศได้ ตอนนี้ก็คาดว่า จะต้องนำเข้าก๊าซเหลว LNG ที่ราคาแพงมาก ค่าไฟฟ้าในประเทศจะ เพิ่มขึ้นเป็น 5-7 บาท ก็ได้
       
       นอกจากนี้ ปริมาณสำรองปิโตรเลียมจากการสำรวจ 40 กว่าปี พบก๊าซธรรมชาติมากกว่าน้ำมัน ทำให้น้ำมันไม่เพียงพอต้องนำเข้า 80% ส่วนปริมาณก๊าซธรรมชาติที่สำรองอยู่ ที่ผลิตในไทยอย่างเดียว ในส่วนที่มั่นใจว่าผลิตได้แน่นอน 90% จะมีใช้ไม่ถึง 7 ปี แต่ถ้านำที่มั่นใจได้แค่ 50% ก็จะมีใช้ประมาณ 12 ปี ถ้าเราไม่ลงทุนและทำการสำรวจเพิ่ม ก็จะมีความมั่นใจให้เหลือใช้ไม่เกิน 7 ปี
       
       **อ้างไทยแลนด์ทรีไม่ล้าสมัย เอื้อต่อการพัฒนา 
       
       นายคุรุจิต กล่าวว่า ประเด็นที่ถกเถียงในสังคมว่า ระบบไทยแลนด์ ทรีพลัส มีความเหมาะสมให้ประโยชน์ได้ดีแล้วหรือยัง ธุรกิจปิโตรเลียม มีการให้ผลประโยชน์กับรัฐสูงกว่าธุรกิจอื่นๆ โดยจ่ายให้รัฐ 3 ทาง คือ ค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ยอดขายจำหน่ายรายได้ 5-15% ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่สูงกว่าภาษีนิติบุคคล คือ 50 % ของกำไรสุทธิ และ ในการออก พ.ร.บ.ปิโตรเลียมปี 32 มีการเรียกเก็บผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษรายปี และรายแปลงสำรวจ ในอัตราเริ่มต้นที่ 0-75% ของกำไรปิโตรเลียมประจำปี และรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม จากการขายก๊าซส่งผ่านผู้ซื้อเป็นทอดๆ และผู้รับสัมปทานอาจยื่นขอผลประโยชน์เพิ่มเติม ในรูปของทุนการศึกษา เงินบริจาคท้องถิ่น เงินให้เปล่าเข้ากระทรวงการคลัง
       
       ดังนั้น ผลประโยชน์ของรัฐจากระบบไทยแลนด์ ทรี ใช้มาตั้งแต่ปี 32 ซึ่งกระทรวงพลังงาน ได้ว่าจ้างนักวิชาการจากหลายสถาบันให้ทำการศึกษา และปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย โดยที่ปรึกษาเห็นว่ามีความทันสมัยแล้ว และแหล่งปิโตรเลียมที่จะพบ น่าจะเป็นแหล่งขนาดเล็ก ดังนั้นระบบไทยแลนด์ ทรี จึงมีความเหมาะสมที่สุด เอื้อให้เกิดการพัฒนา สำรวจ ลงทุน การหาแหล่งปิโตรเลียมเพิ่มเติม
       
       ส่วนข้อวิจารณ์ว่าระบบไทยแลนด์ ทรี เป็นระบบที่นิ่ง ถ้าบังเอิญไปพบแหล่งใหญ่ราคาน้ำมันเพิ่มสูง จะเป็นการเก็บผลประโยชน์เข้ารัฐแบบถดถอย ไม่เป็นความจริง ระบบดังกล่าวประกอบด้วย 3 ส่วน ค่าภาคหลวง เป็นอัตราก้าวหน้าแน่นอน และเก็บเป็นรายแปลงสำรวจ ส่วนภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ก็เป็นหลักสากล เก็บอันตราเดียว 50% ของกำไรสุทธิ แต่แยกว่าผู้รับสัมปทานตามกฎหมายเก่า ไม่ให้เอาตามกฎหมายเก่า แต่ต้องทำตามกฎหมายใหม่ แต่หากข้ามแปลงได้ถูกต้อง และผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ เก็บเมื่อมีกำไรเกินสมควร โดยรวมเป็นการเก็บผลประโยชน์เข้ารัฐแบบก้าวหน้าอย่างแน่นอน
       
       จากการเตรียมการเป็นเวลา 3 ปี ที่ผ่านมา กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้เสนอรัฐบาลชุดที่แล้ว ตั้งแต่เดือน มีนาคม 2555 ที่จะให้มีการเปิดสัมปทานเพราะ เราเปิดครั้งที่ 20 ในรัฐบาล คมช. ( มี.ค.50 ) ขณะนี้เกือบ 8 ปีแล้ว เราพบแหล่งปิโตรเลียมใหม่น้อยมาก ที่น่าห่วงคือ ปริมาณสำรองลดลงอย่างมาก แต่รัฐบาลขณะนั้นไม่กล้าตัดสินใจ เพราะมีเสียงคัดค้าน จึงได้จัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นหลายสิบเวที และคณะกรรมาธิการพลังงานทั้งสองสภาได้เชิญไปชี้แจงและเห็นตรงกัน ให้เดินหน้าต่อไป เพราะเป็นประโยชน์ต่อพลังงานของประเทศ
       
       แต่จากการรับฟังในเวทีต่างๆ มีข้อท้วงติงว่า เราอาจจะเก็บผลประโยชน์น้อยเกินไปหรือไม่ จึงเป็นที่มาของกระทรวงพลังงาน เสนอให้ใช้ระบบ ไทยแลนด์ ทรีพลัส คือ การเรียกผลประโยชน์เพิ่มเติมเพิ่มขึ้น ในลักษณะที่มีการประมูลผลประโยชน์ด้วย โดยต้องเสนอเป็นเงื่อนไขบังคับเรื่องเงินให้เปล่า ในการลงนามสัมปทาน เงินสนับสนุนการศึกษา เพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างน้อยช่วงสำรวจต้องบริจาค 1 ล้านบาท ในเรื่องการศึกษาในท้องถิ่น หากมีการผลิตถึงระดับหนึ่งต้องมีจ่ายโบนัส ที่สำคัญต้องเปิดโอกาสให้บริษัทคนไทยเข้าร่วมทุนในแหล่งที่ค้นพบแล้ว
       
       **ชี้ระบบสัมปทาน รบ.ได้ส่วนแบ่งถึง72% 
       
       ด้านนายพรายพล คุ้มทรัพย์ กรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน อภิปรายเสริมว่า ข้อดี และข้อเสีย ของระบบสัมปทานและแบ่งปันผลผลิตมีพอๆ กัน ระบบสัมปทานมีความโปร่งใส แต่อำนาจรัฐแทรกแซรงได้น้อยมาก ในขณะที่ระบบแบ่งปันผลผลิตนั้น รัฐบาลสามารถเข้าไปกำกับดูแลได้ ถึงขนาดให้บริษัทของรัฐเข้าไปร่วมลงทุนได้ แต่เชื่อว่าระบบสัมปทานยังมีความเหมาะสมที่จะใช้ต่อ เพราะรัฐได้ส่วนแบ่งถึง 72 % ของรายได้สุทธิของผู้รับสัมปทาน ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงกว่าระบบในต่างประเทศ ที่อยู่แค่ 60 % กว่าๆ ส่วนระบบแบ่งปันผลผลิตนั้น อาจยังไม่เหมาะ เพราะ แหล่งปิโตรเลียมของประเทศไทย มีไม่มาก หลุมเล็ก ต้นทุนขุดเจาะสูง **โวยกมธ.เร่งรัดเอาใจรัฐบาลเสนอญัตติเลื่อนลงมติ
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากตัวแทนกรรมาธิการได้ชี้แจงจบ น.พ.อำพล จินดาวัฒนะ สปช. ได้เสนอญัตติให้สมาชิกอภิปรายแสดงความเห็นให้จบภายในวันนี้ แต่ให้เลื่อนการลงมติไปในการประชุมสัปดาห์หน้า เพราะเรื่องนี้สำคัญ และเป็นประเด็นแหลมคม และมีความเห็นรอบด้าน ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปและการนำเสนอรัฐธรรมนูญ แต่สมาชิกเพิ่งได้รับเอกสารจำนวนมาก โดยกรรมาธิการเพิ่งสรุปเสร็จเมื่อ 6 โมงเย็น เมื่อวันที่ 12ม.ค. สมาชิกอ่านไม่ทัน และที่บอกว่าจะเกี่ยวพันกับฝ่ายบริหาร ที่จะมีการสัมปทานในเดือนหน้า รัฐบาลมีการหารือไม่เป็นทางการ แต่ในรายงานไม่มีการพูดถึงเรื่องดังกล่าว
       
       "เราต้องมีอิสระในการพิจารณาอย่างสูง จะใช้ความเร่งด่วนไม่ได้ เกรงจะมีปัญหาเรื่องบรรทัดฐานและความสง่างาม ผมเสนอว่า วันนี้ให้สมาชิกแสดงความเห็นเต็มที่ แต่ควรเลื่อนการลงมติไป ในการประชุมคราวถัดไป เพื่อให้สมาชิกกลับไปอ่านศึกษาให้รอบด้าน"
       
       ด้านนายประมณฑ์ สุธีวงศ์ สปช. แสดงความเห็นว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการปฏิรูป แต่เป็นการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร และเรามีการทำสัมปทานมาแล้ว 20 ครั้ง สปช. ต้องดูว่าอะไรคือการปฏิรูป อะไรคือ การบริหาร เรื่องการให้สัมปทาน มีความขัดแย้งและละเอียดอ่อน ตนเห็นด้วยที่ข้อมูลที่ให้มาหากจะให้ศึกษาจริงๆต้องใช้เวลามาก แต่หากกรรมาธิการจะสรุปความเห็นและควบคู่ไปกับความเห็นต่างของเสียงส่วนน้อยไปให้กับผู้บริหารก็จะเป็นการดี เราไม่ควรต้องเป็นผู้ที่เข้าไปเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เพียงแต่รับทราบรายงานและส่งต่อรัฐบาลก็พอ
       
       ด้านนายสุธรรม ลิ้มสุวรรณเกษม สปช. ได้เสนอญัตติขอให้พิจารณารายงานของกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน เสนอข้อมูลมาตนฟังแล้วคิดว่าตัดสินใจได้แล้ว จึงขอให้ดำเนินการต่อไป
       
       **เสียงข้างมากหนุนเดินหน้าลงมติโดยด่วน 
       
       ทั้งนี้ สมาชิกหลายคนได้อภิปรายสนับสนุนญัตติของ นายสุธรรม เพราะเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน เห็นควรให้ดำเนินการต่อไป อาทิ นายชิงชัย หาญเจนลักษณ์ สปช. กล่าวว่า เท่าที่ศึกษาและพูดคุยกับกรรมาธิการบางคน คิดว่าเรื่องที่เสนอมาน่าจะให้เบื้องหลัง และข้อเท็จจริงได้เพียงพอแล้ว รัฐบาลจะเอาระบบไหน ขึ้นอยู่กับนโยบาย ปัญหาอยู่ที่ระยะเวลาเร่งรีบ เพราะกระเทือนถึงเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศด้วย ที่ตอนนี้เป็นขาลง จึงจำเป็นต้องมีรายได้เพิ่ม ถ้าเดินหน้าได้ตนก็อยากสนับสนุนมติกรรมาธิการ
       
       ในที่สุดที่ประชุมได้มีมติ 139 ต่อ 81 เสียง เห็นควรให้ดำเนินการให้อภิปราย และลงมติภายในวันนี้ เพื่อที่จะส่งต่อให้รัฐบาลต่อไป
       
       **ความเห็นปชช.ให้ชะลอสัมปทานรอบ 21
       
       ต่อมานายประชา เตรัตน์ สปช.ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมขององค์กรที่สำคัญ ได้รายงานผลการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากเครือข่ายต่างๆ ทางสังคมในประเด็นการเปิดสัมปทานการขุดเจาะปิโตรเลียมรอบที่ 21 โดยระบุว่า ประชาชนจากทุกภาคไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพราะสร้างผลกระทบสังคมมากมาย อาทิ ในภาคอีสานจะมีผลกระทบกับประชาชนในด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม การเกษตร สังคม เพราะการขออนุญาตสำรวจและขุดเจาะที่ดำเนินการในส่วนกลาง คนในพื้นที่ไมได้รับรู้ถึงขั้นตอนวิธีการ ไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย ขาดการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสุขภาพอนามัย รวมทั้งบริษัทที่ขุดเจาะเป็นของต่างชาติ จึงไม่เข้าใจสภาพวิถีชีวิต ชุมชนท้องถิ่น เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน และสิทธิชุมชน โดยไม่มีผู้รับผิดชอบ อย่างเช่น ที่ อ.เมืองฯ จ.กาฬสินธุ์ พบว่ามีการลากสาย และวางระเบิดกว่า 13,000 ลูก ทำให้เกิดก๊าซไข่เน่า ประชาชนเจ็บป่วยด้านระบบประสาท ทางเดินหายใจ บางพื้นที่น้ำจากบ่อบาดาลไม่สามารถใช้อุปโภค บริโภคได้ ดังนั้น รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลการสำรวจให้ประชาชนรับทราบ
       
       **จี้แก้ไข กม.ปิโตรฯ-ตั้งบ.น้ำมันแห่งชาติ
       
       ทั้งนี้ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นควรให้ชะลอการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 แยกการสำรวจ และการผลิตออกจากรัฐ โดยรัฐอาจเป็นผู้ทำการสำรวจเสียก่อน และให้รัฐใช้ระบบการแบ่งปันผลผลิต มากกว่าจะใช้ระบบสัมปทาน เหมือนกับทุกประเทศใน เออีซี เพราะจะสร้างความมั่นคงทางพลังงานได้มากกว่า และมี การกำหนดให้ทรัพยากรปิโตรเลียมเป็นสมบัติของแผ่นดินและชาวไทย แก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 โดยยกเลิกระบบสัมปทาน โดยใช้การแบ่งปันผลผลิต และระบบอื่นๆ แทน จัดตั้งสำนักจัดเก็บภาษีปิโตรเลียมเป็นการเฉพาะ ให้มีการตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นโดยโอนทรัพย์สินในด้านการจัดการพลังงาน เช่นท่อก๊าซทั้งบนบก ในทะเล มาเป็นของบริษัท จัดตั้งสภาพลังงานประชาชน และกองทุนพัฒนาปิโตรเลียม เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางตรงในการกำหนดนโยบายผลประโยชน์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับปิโตรเลียมและทรัพยากรพลังงาน
       
       ****ชี้เปิดสัมปทานรอบ 21 อีสานวุ่นแน่ 
       
       ด้านน.ส.รสนา โตสิตระกูล สปช. ในฐานะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานเสียงข้างน้อย กล่าวว่า กรรมาธิการเสียงข้างน้อยในกรรมาธิการพลังงาน กล่าวว่า ในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว แม้จะมีการเชิญนักวิชาการด้านพลังงานมาให้ข้อมูล แต่ในกรรมาธิการหลายคนเป็นข้าราชการในกระทรวงพลังงาน บอร์ด ที่ปรึกษารัฐมนตรี ทำให้แนวทางกรรมาธิการมุ่งไปในทางที่จะเปิดสัมปทานพลังงานรอบ 21 มีคำกล่าวว่า การเปิดสัมปทานรอบนี้ ไม่เกี่ยวกับการปฏิรูปนั้นไม่จริง เพราะการเปิดสัมปทานรอบ 21 จะผูกพันประเทศไปอย่างน้อย 29 ปี เนื่องจากจะการสำรวจมีระยะเวลา 9 ปี บวกระยะเวลาผลิตอีก 20 ปี และสามารถต่อได้อีก 10 ปี ฉะนั้น ถ้าให้สัมปทาน ก็ผูกพันลูกหลานไปอย่างน้อย 20-39 ปี ซึ่งอย่าลืมว่าตามกฎหมาย พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 กำหนดว่า เมื่อให้สัมปทาน เอกชนจะได้เป็นเจ้าของปิโตรเลียมทั้งหมด โดยเอกชนจ่ายค่าตอบแทนรัฐ เป็นค่าภาคหลวง ภาษี และอาจมีผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ เช่น โบนัส แต่ปัญหาคือในระบบสัมปทาน อุปกรณ์การผลิตทั้งหลายเป็นของเอกชน เมื่อรัฐให้สัมปทานไป 29 ปี สมมุติว่าอีก 10 ปี ที่เหลือ จะเปลี่ยนแปลงก็ทำได้ยาก เพราะอุปกรณ์เป็นของเอกชนหมด และถ้าจะให้รายใหม่เข้ามาทำ ก็ไม่คุ้ม
       
       น.ส.รสนา ยังกล่าวอีกประเด็นใหญ่คือ 29 แปลงในสัมปทานรอบ 21 ครอบคลุมพื้นที่บนบกในภาคอีสาน 16 จังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาในการให้สัมปทานรอบที่ 19 และ 20 ก็กินพื้นที่เกือบทั้งหมดของภาคอีสาน ประชาชนได้รับผลกระทบมาก แต่กลับไม่ได้รับการเยียวยา มีการฟ้องร้องกันอยู่ในศาลปกครอง ดังนั้น ถ้ามีการเปิดสัมปทานรอบ 21 การขุดเจาะสำรวจก็จะเต็มพื้นที่ในภาคอีสาน การละเมิดสิทธิที่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพประชาชนก็จะทวีความรุนแรงขึ้นแล้วก็จะเกิดความวุ่นวาย
       
       **ชี้ชะลออนาคตก็ไม่เหลือพื้นที่ให้ปฏิรูปพลังงานแล้ว 
       
       นอกจากนี้ยังกล่าวด้วยว่า ที่มีการอ้างว่าหากมีการเปลี่ยนจากระบบการให้สัมปทาน มาเป็นระบบการแบ่งปันผลผลิต จะทำให้เสียเวลากระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานนั้น ตนเห็นว่า หากจะเปลี่ยนแปลงก็ทำได้ ไม่หยุดชะงัก โดยรัฐอาจเลือกแปลงสำรวจขุดเจาะไปก่อน หากว่าแปลงไหนมีประสิทธิภาพก็สามารถเปิดเป็นแบบแบ่งปันผลผลิต โดยการแบ่งส่วนผลประโยชน์รัฐกับเอกชน ก็ให้ทำแบบขั้นบันได ขณะเดียวกันก็ดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 เพื่อยกเลิกระบบสัมปทานแล้วมาใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปอย่างแท้จริง โดยในขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการจะแก้ไขกฎหมายเพราะเป็นช่วงปฏิรูปที่รัฐบาลมาจากการรัฐประหาร
       
       “กระบวนการที่จะปฏิรูปในขณะนี้เราต้องตอบสนองความต้องการของประชาชน ถ้าเราบอกว่าให้เปิดสัมปทานรอบนี้ไปก่อน ก็เห็นว่าอนาคตมันไม่เหลืออะไรให้เราปฏิรูปพลังงานอีกแล้ว และ ถ้าเราเปิดโดยไม่ดูเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน เท่ากับเราทอดทิ้งประชาชน
       
       ****ข้องใจสัมปทานรอบ 21 ปฏิรูปพลังงานตรงไหน 
       
       นายคำนูญ สิทธิสมาน สปช. อภิปรายว่า การพิจารณาเรื่องนี้มีความสำคัญและจะมีผลกระทบอย่างแน่นอนต่อ สปช. ซึ่งเดิม ตนเข้าใจว่าในวันนี้จะมีการลงมติใน 3 ทางเลือกให้กับรัฐบาล แต่คณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน กลับปรับให้เอาทางเลือกที่ 3 ซึ่งไม่ต่างกับทางเลือกที่ 1 เพราะเมื่อเปิดสัมปทานรอบที่ 21 แล้วจะใช้เวลาสัมปทานตามกรอบ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2518 ไม่ต่ำกว่า 29 ปี การเปิดสัมปทาน คือ การเปิดพื้นที่จำนวนมาก แม้จะมีการระบุไว้งดงามว่าให้ศึกษาระบบแบ่งปันผลิต ก็ไม่ได้กำหนดว่าจะใช้เวลานานเท่าไหร่ และศึกษาแล้วจะต้องไปดำเนินการแก้ไขอะไร หรือไม่ อย่างไร ซึ่งต้องเป็นภารกิจของรัฐบาลปกติ แต่ภารกิจของสปช. ที่เกิดขึ้นโดยอำนาจพิเศษ คือ การปฏิรูป 11 ด้าน ซึ่งด้านพลังงานเป็นหนึ่งในนั้น จากการเรียกร้องของประชาชนให้มีการปฏิรูป พลังงาน ที่มีพลังค่อนข้างสูง การจะมีมติให้รัฐบาลดำเนินการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ตามแผนเดิม ตนไม่เข้าใจเป็นการปฏิรูปตรงไหนนอกจากบริหารแผ่นดินตามปกติ หรือ สปช. เห็นพ้องว่า เกณฑ์การผลิตปิโตรเลียมตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ถูกต้องสมบูรณ์แบบไม่ต้องปฏิรูปเลย
       
       “การเสนอและลงมติทางเลือกที่ 3 ไปยังรัฐบาล ไม่ใช่การปฏิรูป แต่เป็นการเร่งรัด ให้ดำเนินการเปิดสัมปทาน อันที่จริงควรเปิดมาในรัฐบาลปกติไม่ต่ำกว่า 2-3 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมามีเสียงคัดค้านจากประชานจำนวนมาก แม้รัฐบาลในสถานการณ์ปกติที่มีอำนาจเด็ดขาดในสภา ยังต้องรับฟัง แต่ในสถานการณ์พิเศษ เราเสนอให้ดำเนินการไปภายใต้สภาวะที่ประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเหมือนที่ผ่านมา โดย มีกฎอัยการศึกอยู่ ผมเห็นว่า สมาชิกทุกคน ต้องคิดให้ดี ผมเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทำตามความเห็นของกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน หนึ่งในมาตรา ที่จะบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ คือ “ทรัพยากรธรรมชาติเป็นของชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะ การสงวนการจัดการ การใช้ประโยชน์ การอนุรักษ์ บำรุงรักษาต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของรัฐ ประชาชน และชุมชนทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น” ผมจะร่างอย่างไร ถ้าวันนี้สปช. ลงมติทำตามมติของกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานเสียงข้างมาก" นายคำนูณ กล่าว
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการอภิปรายของสมาชิกมีทั้งสนับสนุน และคัดค้านมติของกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ ขณะที่บางคนได้ท้วงติงถึงเร่งรีบให้สปช.ลงมติเร็วเกินไป ทั้งที่รัฐบาลไม่ได้ทำหนังสือขอให้ สปช. พิจารณาอย่างเป็นทางการ แต่เป็นการพูดผ่านอากาศ จากการให้สัมภาษณ์กับสื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เหมือนบอกผ่านมายัง สปช. ให้ช่วยนำไปหารือ แสดงความเห็นว่าเป็นอย่างไรเท่านั้น แต่กลับรีบรับมาทำอย่างเร่งรีบเพื่อให้มีมติไปสนับสนุนความต้องการของรัฐบาลหรือไม่
       
       ***มติสปช.130 เสียงไม่เอาด้วยเปิดสัมปทานรอบ21
       
       อย่างไรก็ตาม เมื่อเวล 19.32 น. ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ครั้งที่ 4/2557 โดยมีวาระพิจารณาศึกษาเรื่องการเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานเสียงข้างมากเป็นผู้เสนอ ซึ่งดำเนินการประชุมมาตั้งแต่เวลา 10.00 น. หลังมีการอภิปรายมาอย่างยาวนานนั้น ได้มีการลงคะแนน โดยมี น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช. คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม
       
       โดยผลการลงมตินั้น มีมติไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สปช. เสียงข้างมาก ที่จะให้มีการเดินหน้าสัมปทานพลังงานรอบที่ 21 ด้วยคะแนน 79 ต่อ 130 คะแนน งดออกเสียง 21 เสียง จากจำนวนผู้เข้าประชุม 230 คน
       
       ส่วนการเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เรื่องจะทำอย่างไร ให้ประเทศไทยมีกลไกป้องกันและขจัดความทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่มีประสิทธิภาพ ยกไว้พิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป ก่อนที่ น.ส.ทัศนา สั่งปิดประชุมในเวลา 19.33 น.
       
       **ปตท.สผ.ลั่นน้ำมันดิบร่วงต่อเนื่อง
       
       นางสาวเพ็ญจันทร์ จริเกษม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการเงินและการบัญชี บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)(ปตท.สผ.) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทฯยังคงผลิตปิโตรเลียมทุกแหล่งตามปกติแม้ว่าราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่องต่ำ 45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หากราคาน้ำมันดิบลงต่ำกว่านี้ ก็คงต้องรอดูสถานการณ์ไประยะหนึ่งว่า แนวโน้มราคาน้ำมันจะมิทิศทางอย่างไร ก่อนตัดสินใจว่าโครงการปิโตรเลียมต่างๆอย่างไร แต่ยืนยันว่าจะยังคงรักษาปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติไม่กระทบต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ