วันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2557

น้ำมันดิบโลกลดลงอย่างมหาศาลวิกฤติ ของ บริษัทน้ำมัน !!!

เปิดสาเหตุราคาน้ำมันตกต่ำ ทำคนขายอ่วมแต่เอเชียกลับได้ประโยชน์

โดย ไทยรัฐออนไลน์ 12 ธ.ค. 2557 05:30


โลกกำลังเผชิญวิกฤติราคาน้ำมันลดลงอย่างมหาศาลในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จากราคาสูงกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เมื่อเดือนมิ.ย. เหลือเพียงราวๆ 62.5 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เมื่อวันพุธ (10 ธ.ค.) ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี
สาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันร่วงหนักเช่นนี้ มาจากการหลายปัจจัย แต่ปัจจัยที่เกิดขึ้นล่าสุดคือ การที่ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ซึ่งมีสมาชิก 12 ประเทศ รวมทั้งผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกอย่าง ซาอุดีอาระเบีย, อิหร่าน และเวเนซูเอลา ตัดสินใจคงกำลังการผลิตน้ำมันดิบเอาไว้ที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวันตามเดิม ที่การประชุม ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อวันที่ 27 พ.ย.
การประชุมที่เกิดขึ้นนั้น เรียกได้ว่าเป็นการหารือครั้งสำคัญที่สุดในรอบหลายปีของโอเปก เพราะเกิดขึ้นท่ามกลางการลดลงอย่างหนักของราคาน้ำมันดิบ ทั่วโลกต่างต้องการรู้ว่าชาติ โอเปก ซึ่งผลิตน้ำมันดิบคิดเป็น 40% ของกำลังผลิตทั่วโลก จะใช้มาตรการอะไรเพื่อหยุดยั้งการตกต่ำนี้ แต่พวกเขาตัดสินใจไม่ทำอะไรเลย เชื่อว่าพวกเขาต้องการดูทิศทางลมไปก่อน ทำให้ราคาน้ำมันลดฮวบทันทีในวันนั้น
รัฐมนตรีชาติโอเปกให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว ก่อนการประชุมที่กรุงเวียนนาเมื่อ 27 พ.ย.
ขณะที่สาเหตุยระยะยาวที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกลดลง ประกอบด้วย 3 ปัจจัยใหญ่ๆ 1. คือความเฟื่องฟูของการผลิตน้ำมันในสหรัฐอเมริกาและที่อื่นๆของโลก ส่งผลให้มีน้ำมันเข้าสู่ตลาดมากขึ้นผลักดันราคาให้ตกต่ำลง โดยในขณะที่ชาติสมาชิกโอเปกผลิตน้ำมันในปริมาณที่สม่ำเสมอ ที่อื่นๆกลับผลิตมากขึ้น และสหรัฐฯนำเป็นอันดับ 1
การผลิตน้ำมันที่เพ่ิมขึ้นอย่างใหญ่หลวงของสหรัฐฯในช่วงที่ผ่านมา ได้อานิสงส์จากการปฏิวัติการขุดเจาะน้ำมันจากชั้นหินดินดาน ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น การขุดเจาะตามแนวนอน ซึ่งทำให้สามารถเข้าถึงไฮโดรคาร์บอนที่อยู่ใต้พื้นผิวโลกได้ ส่งผลให้สหรัฐฯผลิตน้ำมันดิบต่อวันได้มากกว่าช่วงกลางทศวรรษที่ (20) 00 เกือบเท่าตัว
นอกจากสหรัฐฯ การผลิตน้ำมันในประเทศอื่นๆก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน เช่น ที่แคนาดา เพิ่มกำลังผลิตจากประมาณ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวันเพียงในปี 2009 เป็นมากกว่า 3.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2013 รัสเซียเพิ่มการผลิตจากราว 9.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2009 เป็น มากกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2013 ส่วนลิเบีย กำลังเพิ่มระดับการผลิตน้ำมันดิบให้กลับสู่ภาวะปกติ หลังจากต้องเผชิญสงครามกลางเมืองในปี 2011
ปัจจัยที่ 2 คือ อุปสงค์หรือความต้องการซื้อน้ำมันที่ลดลงในหลายประเทศ เช่นญี่ปุ่นและหลายชาติในทวีปยุโรป โดยมีข้อเท็จจริงที่ว่า ในขณะที่สหรัฐฯฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นมาเรื่อยๆ แต่อีกหลายประเทศไม่เป็นเช่นนั้น พวกเขากำลังประสบปัญหา ซึ่งนั่นกระทบต่อความต้องการน้ำมัน
ยกตัวอย่างเช่นใน ยุโรป ซึ่งเคยบริโภคน้ำมันเฉลี่ยต่อวันมากกว่า 15.3 ล้านบาร์เรล ในปี 2009 กลับลดลงเหลือต่ำกว่า 14.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2013 และลดลงเรื่อยๆตั้งแต่นั้น สถานการณ์เช่นนี้ยังเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นด้วย
ส่วนปัจจัยที่ 3 คือ ความก้าวหน้าของประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิงของยานพาหนะ ปัจจุบันรถยนต์ในสหรัฐฯใช้เชื้อเพลิงน้อยลงกว่าเมื่อก่อน เพราะรถยนต์มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในปี 2014 รถยนต์สหรัฐมีอัตราการใช้น้ำมันเฉลี่ย 25.3 ไมล์ต่อแกลลอน ดีขึ้นกว่าในปี 2008 ที่น้ำมัน 1 แกลลอนสามารถทำให้รถวิ่งได้เพียง 20.8 ไมล์
ราคาน้ำมันดิบที่ลดลงทำให้เกิดความยากลำบากทางเศรษฐกิจในชาติสมาชิกโอเปกบางประเทศ เนื่องจากทำให้รายได้ลดลง ส่งผลต่อการจัดสรรงบประมาณ และเริ่มมีการพิจารณาหาทางลดการใช้จ่ายของรัฐบาลแล้ว เช่นที่เวเนซูเอลา ประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโล ประกาศหลังการประชุมเอเปก ว่าเขาจะตัดเงินเดือนตัวเองและเจ้าหน้าที่รัฐบาล เป็นส่วนหนึ่งของการลดงบประมาณประเทศ
ส่วนที่รัสเซีย อีกหนึ่งผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกของโอเปก กระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจ คาดการณ์เมื่อสัปดาหห์ก่อนว่า เศรษฐกิจของประเทศจะหดตัวลง 8-10% ในปี 2015 เพราะการส่งออกน้ำมันสำคัญต่อรัสเซียมาก วิกฤติราคาน้ำมันในปัจจุบันทำให้มูลค่าเงินรูเบิลของรัสเซียหายไปประมาณ 40% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
เหล่าผู้สังเกตการณ์ต่างกล่าวโทษว่า การลดลงของค่าเงินรัสเซีย เป็นผลมาจากกำไรของการส่งออกน้ำมันที่ลดลง และการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก ที่ต้องการลงโทษรัสเซียกรณีเข้าไปแทรกแซงสถานการณ์ในประเทศยูเครน
วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม แม้ชาติผู้ส่งออกน้ำมันจะกำลังลำบากเพราะวิกฤติราคาตกต่ำ แต่ แอนดรูว์ โคลคูฮวน นักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันจัดอับดับความน่าเชื่อถือ 'ฟิตช์ เรตติง' สาขาฮ่องกง มองว่า การลดลงของราคาน้ำมันดิบกำลังช่วยเหลือเศรษฐกิจของทวีปเอเชีย
โคลคูฮวน ระบุว่า ประเทศเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่ เป็นผู้นำเข้าน้ำมัน ดังนั้น การลดลงของราคาน้ำมันเท่ากับเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่พวกเขา และผลกระทบใดๆก็ขึ้นอยู่กับว่า พวกเขาจะเก็บหรือใช้จ่ายรายได้นั้นหรือไม่
ในรายงานของฟิตช์ที่เพิ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อไม่กี่วันก่อน ระบุว่าจีนและชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของเอเชียส่วนใหญ่ จะมีเงินได้มากขึ้นจากการลดลงอย่างมากของราคาน้ำมัน โดยเฉพาะไทย ที่ใช้รายได้ของประเทศกว่า 15% ไปกับนำเข้าน้ำมัน มากที่สุดในภูมิภาค และเห็นได้ว่า ไทย, มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย เริ่มลดการสนับสนุนหรืออุดหนุนราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นมักเป็นรายจ่ายก้อนโตของรัฐบาลกันแล้ว
แต่ถึงกระนั้น ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนระบุว่า ขึ้นอยู่กับเวลาเท่านั้นก่อนที่ราคาน้ำมันจะฟื้นฟูกลับมาอีกครั้ง โดย แจ็ค เจอราร์ด ประธาน สถาบันปิโตรเลียมอเมริกัน กล่าวว่า ปริมาณความต้องการน้ำมันจะเพิ่มสูงขึ้น และราคาจะหาจุดสมดุลของมันเองได้ในที่สุด