วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วันทักษิณมหาราษฎร์ กับ รัฐไทยใหม่

- หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ - 26 กรกฎาคม 2554

อาจเป็นเพราะเพิ่งผ่านชัยชนะอย่างถล่มทลายจากศึกเลือกตั้งมาหมาดๆ ทำให้เกิดความคิดแบบ “เหิมเกริม” หลุดโลก จนเหมือนกับเป็นการขาดสติ สำคัญผิดไปว่าเสียงฉันทานุมัติที่ชาวบ้านมอบให้นั้นสามารถไปทำอะไรได้ตามอำเภอใจ

ความเหิมเกริมแบบนี้ก็มักเกิดขึ้นเสมอ นับตั้งแต่ที่ ทักษิณ ชินวัตร ใช้เล่ห์เหลี่ยมชูนโยบาย “ประชานิยม” ขายฝันจนทำให้พรรคไทยรักไทยในยุคนั้นชนะการเลือกตั้งจนควบคุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ เมื่อปี 2544 ที่ผ่านมา แต่ในที่สุดทุกอย่างก็พังทลายลงตามมาอย่างไม่น่าเชื่อเช่นเดียวกัน

ล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา อารมณ์ความเหิมเกริมในลักษณะเดิมๆ ก็เริ่มหวนกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่เปลี่ยนมาเป็นพรรคเพื่อไทย และ “น้องสาว” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายอีกรอบ

ความคิดเหิมเกริมดังกล่าวได้หวนกลับมาในลักษณะซ้ำรอยเดิมก่อนปี 2549 ก่อนที่ถูกรัฐประหาร ซึ่งในตอนนั้นตัว ทักษิณ และลิ่วล้อรอบตัวต่างเหิมเกริมกันอย่างหนักถึงขั้นเคลื่อนไหวในลักษณะทำให้เข้าใจว่าเป็นการเดินเครื่องชน “สถาบัน” อย่างเต็มตัว เว็บไซต์ “จาบจ้วง” ผุดขึ้นมาราวดอกเห็ด ความเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกันนี้ ทั้งนาย-บ่าว ล้วนแสดงออกไม่ได้แตกต่างกัน

อารมณ์ความรู้สึกดังกล่าวหลายคนวิเคราะห์ว่าน่าจะมาจากความเข้าใจผิดว่าตัวเองได้รับการเลือกตั้งมาด้วยเสียงท้วมท้น ชาวบ้านให้ความนิยมยกย่อง คิดจะทำอะไรก็ได้ตามใจปรารถนา จนสามารถเข้าไปแทรกแซงระบบราชการ องค์กรอิสระแทบทั้งหมด อย่างไรก็ดีด้วยอาการของความ “ลืมตัว” แบบนี้อีกมุมหนึ่งมันก็ทำให้เกิดกระแส “หมั่นไส้” มี “ชมรมคนรู้ทัน” เกิดขึ้นมากมายเป็นเงาตามตัวเหมือนกัน มีการต่อต้านขยายวงออกไป โดยเฉพาะในช่วงท้ายๆที่ ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี และในที่สุดก็เป็นเงื่อนไขให้ทหารออกมารัฐประหารโค่นล้มลง

อย่างไรก็ดี แม้จะต้องคดีคอร์รัปชันมากมายและต้องหลบหนีในต่างประเทศมานานหลายปี และเครือข่ายแวดล้อมรอบตัว โดยเฉพาะ “พวกฝ่ายซ้าย” ที่ต่อต้านสถาบันมานานและหาประโยชน์ร่วมกันกับเขาก็ยังจับมือกันเคลื่อนไหวไม่หยุด โดยเฉพาะใน “โลกไซเบอร์” รวมไปถึงยังเคลื่อนไหวด้านมวลชนอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมาพวกเขาก็กลับมาอีกครั้ง

หลายคนประเมินตรงกันว่า มาเที่ยวนี้พวกเครือข่ายทักษิณ คงจะมีการ “สรุปบทเรียน” โดยเฉพาะคงไม่ไปแตะต้องยุ่งเกี่ยว หรือกระทำการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นชนวนให้เกิดอารมณ์เกลียดชังขึ้นมาในใจของชาวบ้านทั่วไป ซึ่งไม่เว้นแม้แต่คนเสื้อแดงไม่น้อยที่เชื่อว่าพวกเขาหลงไหลได้ปลื้มก็แต่เฉพาะนโยบายประชานิยมเท่านั้น ไม่ใช่ไห้ “เลยเถิด” ถึงเรื่อง “ขบวนการล้มเจ้า” ไปทั้งหมด

การจัดงาน “วัน 62 ปี ทักษิณมหาราษฎร์” แม้ว่าจะมีการออกมาปฏิเสธอย่างรวดเร็วของ ทักษิณ ชินวัตร ผ่านทาง นพดล ปัทมะ ทนายความส่วนตัวว่าไม่เกี่ยวข้อง และอ้างว่าไม่มีประโยชน์ที่จะทำเรื่องแบบนี้ รวมไปถึงคนเสื้อแดงก็ไม่ได้ เพราะสร้างแรงกระเพื่อมโดยไม่จำเป็นนั้นมันก็มองได้สองมุม มุมหนึ่งเป็นเพราะอารมณ์เหิมเกริมของบรรดาลิ่วล้อที่คึกคะนองเลยเถิดและมีความคิดแบบนี้จริงๆ แต่ระงับอารมณ์ไม่อยู่จึงต้องรีบแสดงออกมาโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ อีกมุมหนึ่งมองได้ว่าการรีบออกมาสลัดออกมาอย่างรวดเร็วของ ทักษิณ เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลกระทบในวงกว้างเกิดความเสี่ยง ก่อนที่อำนาจรัฐจะอยู่ในมือ หลังจากประเมินแล้วว่า “พลาด” จึงต้องรีบ “ตัดเกม” เอาไว้ก่อน

ขณะเดียวกัน ในความเป็นจริงก็มองแบบนั้นได้ เนื่องจากเวลานี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ได้รับรอง ส.ส.ครบ 95 เปอร์เซ็นต์ ยังเปิดสภาไม่ได้ นั่นก็หมายความว่ายังโหวตเลือก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ยังค้างเติ่ง แม้ว่าดูแนวโน้มแล้วไม่น่ามีปัญหา แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ มันก็ไม่สมควรเพิ่มความเสี่ยง และสร้างความเกลียดชังโดยไม่จำเป็น

ที่สำคัญแม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้รับการเลือกตั้งมากมาย แต่ก็ต้องยอมรับเช่นเดียวกันว่าบรรยากาศไม่เหมือนเดิม เพราะมีคนรู้ทันคอยจ้องอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในโยบายประชานิยมประเภทสัญญาว่าจะให้สารพัดรอการปฏิบัติ และเที่ยวนี้มันน่าจะเป็น “งานหิน” กว่าครั้งก่อน เพราะต้องไปเกี่ยวข้องกับภาคเอกชน จะไปบังคับหักด้ามพร้าด้วยเข่าไม่ได้ สิ่งเหล่านี้กำลังเป็นระเบิดเวลาย้อนกลับมาหาตัว คำว่า “ดีแต่พูด” ดีไม่ดีคนที่ต้องรับไปเต็มๆอาจเป็น ยิ่งลักษณ์ กับ ทักษิณ ก็เป็นได้ หลังจากประกาศหราว่า “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ถ้าทำไม่ได้ หรือไม่ได้อย่างที่พูดมันก็ต้องกระอักแน่

ดังนั้น ถ้าให้สรุปอีกทีก็ต้องบอกว่าสาเหตุที่ ทักษิณต้องรีบตัดเกมโดยส่งลิ่วล้อออกมาเคลียร์ตัวเองให้สะอาด แสดงให้เห็นว่าแรงกระแทกกลับมานั้นทำท่าแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่เช่นนั้นโอกาสพังก่อนกำหนดมีความเสี่ยงสูงยิ่ง!!

วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ผิดไปแล้ว ... ขอจงอภัย (คนไม่รู้ยอมไม่ผิด แต่รู้ว่าผิดยังทำจะให้อภัยได้อย่างไรกัน)

“แม้ว” ตอบโจทย์หนุนปรองดอง เยียวยาเหยื่อความรุนแรง ฟุ้งเข้าใจปรัชญากฎหมายอย่างดี ต้องใช้หรืองดเว้นใช้กฎหมายบางกรณีเพื่อให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย เผยไม่อาฆาตแค้นใคร พร้อมเจรจาคนที่คิดว่าเป็นศัตรูกับตน ยืนยันตั้งแต่ถูกปฏิวัติยังไม่เคยพบหรือพูดคุยกับ “สนธิ”




พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์รายการ “ตอบโจทย์” ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ระบุว่า เรื่องเส้นทางการปรองดองตอนนี้ที่ทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ได้ประกาศไปว่าไม่ให้เป็นเรื่องของการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อยากให้เป็นเรื่องของคณะกรรมการที่เป็นกลาง คือ คอป.(คณะกรรมการหาข้อเท็จจริงเพื่อการปรองดอง) ได้ทำงานต่อ โดยพรรคเพื่อไทยให้การสนับสนุนเพื่อให้ได้ความจริงกระจ่างขึ้น ให้มีแนวทางปรองดองได้ โดยต้องดูกระบวนการใช้กฎหมาย ต้องใช้หลักนิติธรรมสากล ซึ่งอยู่ในกฎบัตรสหประชาชาติ เราต้องทำตาม แต่หลังจากการปฏิวัติสิ่งนี้ก็หายไป ต้องมาช่วยกันคิดทำให้กลับมาสู่มาตรฐานเดียว ต้องดูว่าเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งเป็นอย่างไร กติกาจะต้องเป็นกลาง กรรมการก็ต้องเป็นกลาง คณะกรรมการต้องแสวงหาข้อเท็จจริง

จากเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ การที่มีผู้โชคร้าย ตาย บาดเจ็บ ติดคุก ก็ต้องเยียวยา ไม่ต้องชี้ว่าใครผิดใครถูกต้องได้รับการเยียวยา ซึ่งรัฐบาลก็ต้องคุยกับคณะกรรมการอีกครั้งหนึ่งหลังจากได้เป็นรัฐบาลแล้ว ซึ่งเราเคารพความเป็นกลางของคณะกรรมการ

พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า ถ้าคนเรียนปรัชญาของกฎหมาย จิตวิทยาของกฎหมาย จะเข้าใจว่ากฎหมายมีไว้ใช้รักษาความสงบเรียบร้อย อย่างบางคดีถ้าหยุดคดีได้เพื่อให้บ้านเมืองเกิดความความสงบเรียบร้อย ยึดหลักเป็นกลาง เป็นธรรม อย่างเช่นนโยบาย 66/23 ได้หยุดใช้กฎหมายหมด เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะต้องไม่เข้าไปก้าวก่าย ให้มีการทำหน้าที่อย่างเป็นกลางเป็นธรรม

“ใจต้องเป็นธรรม อย่ามองอีกฝ่ายเป็นศัตรูตลอดเวลา ถ้าอย่างนั้นก็แก้ปัญหาไม่ได้ ต้องให้อภัย ไม่แก้แค้น ไปแก้ไข เพราะไม่มีประโยชน์ ไม่กี่วันก็ตายจากกัน ทำเพื่อลูกหลานในอนาคตคตดีกว่า วันนี้เด็กไม่สามารถมองว่าดีคืออะไร ชั่วคืออะไร อะไรผิด อะไรถูก เพราะละเลงกันจนเละ การเมืองละเลงกันมากเกินไป ฝ่ายการเมืองต้องถอย ต้องหยุดด่าทอสักระยะ ทุกฝ่ายต้องหยุด ให้กรรมการทำงานไป แล้วแก้ปัญหาไปด้วยกัน หลังจากนั้นค่อยแข่งกันใหม่”

“ผมเป็นคนไม่อาฆาตแค้นคนมาตั้งแต่เด็ก เป็นคนพุทธ คนเมืองเหนือ ไม่อาฆาตแค้นใคร จบก็จบ ไม่มีการตามล้างตามผลาญ ถ้ามีความแค้น มีความเครียด อายุจะสั้น ปล่อยวางดีกว่า ต้องรู้จักปล่อยวาง ท่านพุทธทาสภิกขุบอกว่า จิตวุ่นปัญญาหาย จิตว่างปัญญามี หมายความว่า ถ้าจิตวุ่นมีความโกรธ ความหลงก็จะคิดอะไรไม่ออก เพราะสติปัญญาโง่”

“วันนี้ใครที่คิดว่าเป็นศัตรูกับผม บินมา(ที่ดูไบ)เลย เดี๋ยวผมเลี้ยงข้าว ผมให้อภัยทุกคน แต่จะทำงานด้วยได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อาจไม่ทำงานร่วมกัน เพราะเรารู้นิสัยแล้วว่าถ้าทำงานร่วมกันไม่ได้ก็ไม่ทำ แต่การจะไปแค้น อาฆาต ตามเช็กบิลไม่มี ถ้าพบเจอกันก็ทักทายกัน คนไหนที่ไม่เชื่อมาเลย สมมติว่า สนธิทั้งสองคน (พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และนายสนธิ ลิ้มทองกุล) อยากจะแวะมากินกาแฟกับผม ผมยินดีต้อนรับ”

ส่วนข่าวที่มีการพบกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า “ยังไม่เคยเจอกับสนธิ ตั้งแต่ตอนที่ผมเป็นนายกฯ ก่อนถูกปฏิวัติ เขาประท้วงในตอนนั้น ยังไม่ได้เจอกันเลย ไม่ได้คุยกัน ถ้าวันนี้มาเจอกันก็ยินดีต้อนรับ”

พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า วันนี้คนถูกกระทำต้องเสนอก่อน ไม่อย่างนั้นปรองดองไม่ได้ ตนต้องเสนอปรองดองก่อน ไม่ติดยึด ไม่ถือสาว่าจะมาอาฆาตแค้นกัน

“รอให้ผมกลับบ้าน ผมพร้อมไปนั่งคุยด้วยทุกคน ใครที่ไม่พอใจผม บอกผมหน่อยว่าไม่พอใจเรื่องอะไร ผมจะได้รู้ บางคนผมไปเหยียบเท้าเขา เขาถือสาผมไม่รู้ เพราะผมถูกเหยียบเท้าผมไม่ถือ ใครจะรู้อายุจะเหลืออีกยาวเท่าไร อยู่ในเวลาที่เหลือให้มีความสุขดีกว่า อย่าอยู่ให้ทุกข์เลย”

เรื่องความขัดแย้งกัน พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า บางทีคนไทยถือสากันมากไป แข่งดีแข่งเด่น ไม่คำนึงถึงกติกา ต้องเคารพกติกา อย่างที่นายเนลสัน แมนเดลา ใช้กีฬาเข้ามาพัฒนา ตนก็เห็นด้วย อย่างของไทยเราก็ตั้งเป้าบอลไทยไปบอลโลก ฟิตตั้งแต่เด็กๆ เพราะกีฬาสอนให้รู้กติกา มีกรรมการเป็นกลาง รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย เคารพกติกา บ้านเมืองก็ไม่วุ่นวาย ตนได้พบนายเนลสันรู้สึกชื่นชมแนวทางปรองดอง การให้อภัย ท่านให้อภัยทุกคน เป็นคนที่ใจกว้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี

ต่อข้อถามที่ว่า นายเนลสันติดคุกก่อนจะออกจากคุกมาเป็นรัฐบุรุษ ทำไม พ.ต.ท.ทักษิณไม่กลับมาติดคุกก่อนเพื่ออกมาเป็นรัฐบุรุษ พ.ต.ท.ทักษิณหัวเราะ ก่อนจะตอบว่าทำไมเป็นรัฐบุรุษต้องติดคุก สิ่งไหนที่ไม่เป็นธรรม ตนเรียนเรื่องกระบวนการยุติธรรมด้านอาญา เรียนรู้หลักนิติธรรม กระบวนการกฎหมายที่เป็นธรรม ตนรู้ว่าอะไรเป็นธรรม อะไรไม่เป็นธรรม ตนเรียนทฤษฎีความยุติธรรม ปรัชญาความเป็นธรรม เมื่อมีความไม่เป็นธรรม ตนต้องต่อสู้ให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมไทย ไม่ใช่แค่ไทย แต่ต้องร่วมกันสู้ทั้งโลก

“เรื่องคดีที่ดินรัชดาฯ ไม่เป็นธรรมตั้งแต่ต้น ใช้ปฏิปักษ์ทางการเมืองมาสอบสวนก็จบละ ใช้คนในคณะปฏิวัติมา ผมยืนอยู่กับสิ่งที่เป็นความยุติธรรม อะไรที่ไม่ยุติธรรมผมรับไม่ได้ ผมไม่ได้รับความเป็นธรรม วันนี้ผมโดน ผมถูกลงโทษอยู่แล้ว ลี้ภัยอยู่ 5 ปี ได้รับการลงโทษอยู่แล้ว”

พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า การเมืองมีการกล่าวหากันไปมามันไม่จบ ขอให้เริ่มต้นใหม่ ขอให้ปรองดอง เลิกวุ่นวายได้ไหม นักการเมืองเลิกวุ่นวาย คืนสันติสุข ให้บ้านเมือง นักการเมืองต้องหันมาปรองดอง เป็นกลาง ให้ถูกต้องดีกว่า สำหรับคนที่เกลียดตน คนที่แค้น คนที่เป็นศัตรู อยากบอกว่าตนไม่เป็นภัยกับใครแน่นอน ไม่มีใครสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกคนล้วนมีข้อตำหนิ ไม่มีใครถูกหมด ไม่มีใครผิดหมด

“ผมก็ขออภัยกับสิ่งที่ทำผิดพลาดไม่ถูกใจ แต่ผมไม่มีพื้นฐานของความชั่ว เพียงแต่บางครั้งไม่มีโอกาส ไม่มีเวลา ผมบ้างาน ลืม ไม่ได้ดูแล บางอย่าง ผมขออภัยถ้าไม่ถูกใจ คนที่ลงโทษผม ผมถือว่าจบแล้วก็จบกัน อยากให้ได้ข้อยุติ”

สำหรับความผิดพลาดที่สำคัญ พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า คนเรามีผิดพลาดได้ ถ้าทำงานมากๆ มีความเครียด มีการเร่งเร้า เช่น นักการเมืองต้องมีเวลาสื่อสารกับประชาชนผ่านสื่อมวลชน ตนเองมีเวลากินข้าวกับสื่อมวลชนน้อยมาก ต้องเดินทางไปต่างประเทศมาก ต้องรับแขกต่างชาติมาก พบปะสื่อมวลชนน้อยเกินไป จุดอ่อนของคนไทยคือเมื่ออยู่ห่างกัน จะเกิดความสงสัยในทางลบมากขึ้น ตนดูแลลูกน้องไม่ทั่วถึง ลูกน้องรายงานแต่เรื่องดีๆ บางทีมีเรื่องไม่ดีกว่าจะรู้ก็เกิดขึ้นแล้ว

พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า จุดอ่อนของเขาคือ เริ่มใช้อำนาจมากไป ตามหลักรัฐศาสตร์ มีมือที่เป็นกำปั้นเหล็ก และมือกำมะหยี่ คือ กฎหมายจะต้องใช้เท่าที่จำเป็นเพื่อความสงบเรียบร้อย ซึ่งจะโยงไปถึงเรื่องภาคใต้ ตนอยากบอกชาวมุสลิมภาคใต้ว่าตนทำเรื่องราวต่างๆ อย่างเข้าใจ แต่ที่เกิดขึ้นเพราะเห็นความรุนแรง มีการใช้อาวุธ ตนจึงใช้ความรุนแรงตอบ “ตอนนี้ผมอยากจะขอให้ลืมทุกอย่าง ผมถูกกระทำ ผมยังลืม วันนี้ขอให้ลืมทุกอย่าง”

ผ่า!แผนที่'เขตปลอดทหาร' ของศาลโลกไทยสะเทือน

ผ่า!แผนที่'เขตปลอดทหาร'ไทยสะเทือน

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ทหารประเมิน คำสั่งศาลโลกแผนที่"เขตปลอดทหาร"ไทยเสียเปรียบ ล้ำผามออีแดง-คลุมฐานทหารไทย จุดตั้งยิงของปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน รวมทั้งอาวุธหนัก หลายฝ่ายอาจจะมองว่าทั้งไทยและกัมพูชา น่าจะพอใจจากคำตัดสินของศาลโลก"ไม่มีใครได้หรือใครเสีย" เพราะขณะที่กัมพูชาอาจจะขัดใจไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ แต่อย่างน้อยก็มีความสะดวกมากขึ้นในการพัฒนาพัฒนาพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร

แต่ในมุมของฝ่ายการทหารกลับมองตรงกันข้าม...เพราะนี้คือความ"เสียเปรียบ"ของฝ่ายไทย เหตุเพราะการตีเขตปลอดทหาร ใน4 จุดนั้น ได้ล้ำเข้ามาในเขตที่ตั้งของฐานทัพไทย และบางส่วนเป็นผามออีแดง


อาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ไม่ได้แถลงตามกำหนดการเดิมเมื่อวานนี้ เพราะยังไม่ชัดเจนเรื่องพื้นที่ ทำให้วันนี้นายกรัฐมนตรี เรียก พล.ท.นพดล โชติมงคล เจ้ากรมแผนที่ทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย เข้าหารือเป็นการด่วนที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อนำแผนที่ "เขตปลอดทหาร" ที่ตรวจสอบพิกัดเรียบร้อยแล้วไปให้พิจารณาและตีความว่ากินลึกเข้ามาในเขตไทยมากน้อยแค่ไหน ก่อนจะแถลงข่าวอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่งวันนี้

ย้อนกลับไปดูคำสั่ง ศาลโลกวานนี้องค์คณะผู้พิพากษาศาลโลกได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยที่กัมพูชายื่นคำร้องขอให้ศาลออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร โดยผู้พิพากษาฮิซาชิ โอวาดะ ประธานศาลโลก ระบุว่า ศาลมีมติ 4 ข้อ คือ

คำสั่งที่ 1.ศาลมีมติ 5 ต่อ 9 ปฏิเสธคำข้อเสนอของไทยที่ขอให้จำหน่ายคำร้องของกัมพูชาออกจากสารบบ

คำสั่งที่ 2.ศาลมีมติ 11 ต่อ 5 ให้ทั้งสองฝ่ายถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่พิพาท และห้ามทำกิจกรรมทางทหารใดๆ ในพื้นที่ที่ศาลกำหนด หรือเรียกว่าเขตปลอดทหาร(Provisional Demilitarized Zone ) ใน 4 จุด

จากแผนที่เขตปลอดทหารทั้ง 4จุดศาลโลกระบุว่า จุด A ละติจูด 14 องศา 23 ลิปดาเหนือ ลองติจูด 104 องศา 41 ลิปดาตะวันออก จุด B ละติจูด 14 องศา 24 ลิปดาเหนือ ลองติจูด 104 องศา 38 ลิปดาตะวันออก จุด C ละติจูด 14 องศา 25 ลิปดาเหนือ ลองติจูด 104 องศา 38 ลิปดาตะวันออก จุด D ละติจูด 14 องศา 25 ลิปดาเหนือ ลองติจูด 104 องศา 42 ลิปดาตะวันออก

ทั้งนี้พิกัด จุด A, B, C, D เป็นรูปสี่เหลี่ยม (ตามแผนที่) เป็นพื้นที่ประมาณ 2 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมตัวปราสาทพระวิหาร ภูมะเขือ และถนนที่กัมพูชาสร้างขึ้นตัวปราสาททางด้านตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่ทับกับพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ของไทย


คำสั่งที่ 3.ศาลมีมติ 15 ต่อ 1 ไทยต้องไม่ปิดกั้นทางขึ้น-ลงปราสาท และขัดขวางการเข้าพื้นที่ปราสาทเพื่อนำอาหารและน้ำไปให้แก่ผู้ที่ไม่ใช่ทหารกัมพูชา และไทยจะยังต่อให้ความร่วมมือกับอาเซียน และอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์จากอาเซียนเข้าไปสังเกตการณ์ในเขตปลอดทหาร

คำสั่งที่4.ศาลมีมติ 15 ต่อ 1 ให้ทั้งสองฝ่ายรายงานการปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวของศาลเป็นระยะๆ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาเรื่องการตีความคำพิพากษาเมื่อปี 2505

แหล่งข่าวระดับสูงจากกองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) ซึ่งเชี่ยวชาญด้านแผนที่ เปิดเผย "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ได้นำแผนที่แนบท้ายคำสั่งศาลโลกที่กำหนดเขตปลอดทหารมาหาพิกัดเบื้องต้นแล้ว พบว่ากินพื้นที่ลึกเข้ามาในเขตไทยเกือบ 4 กิโลเมตร บางส่วนเป็นผามออีแดง ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารของไทย และบางส่วนยังเป็นจุดตั้งยิงของปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน รวมทั้งอาวุธหนักที่ใช้ยิงสนับสนุนเวลาเกิดการปะทะกันตามแนวชายแดนด้วย

"เขตปลอดทหารที่ศาลโลกกำหนดให้ทั้งสองฝ่ายถอนทหารออกไปนั้น จริงๆ แล้วมีผลกระทบต่อไทยอย่างรุนแรง และกินพื้นที่ประเทศไทยมาก" แหล่งข่าวระบุ


ทหารยังไม่ถอน..รอรัฐบาลใหม่
ส่วนมุมมองของพล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 เห็นว่า ขณะนี้กำลังพลก็ยังคงปฏิบัติภารกิจในการดูแลรักษาอธิปไตยตามปกติยังไม่ได้มีการเคลื่อนไหวใด ๆ ทั้งสิ้น การจะเคลื่อนย้ายกำลัง หรือ การถอนกำลังทหารออกนอกพื้นที่บริเวณปราสาทเขาพระวิหารต้องได้รับคำสั่งจากรัฐบาลว่าจะให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร แต่ขณะนี้กำลังพลยังคงตรึงกำลังอยู่ตามแนวปกติที่เคยปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ยังไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ เพียงได้กำชับให้ดูแลอธิปไตยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้เรื่องทั้งหมดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล

เมื่อถามว่า กองทัพจะถอนกำลังทหารทันทีเลยหรือไม่ หลังจากที่ศาลโลกมีมติให้ถอนกำลังทหารไทย-กัมพูชา ออกพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหาร พล.ท.ธวัชชัย กล่าวว่า ไม่ต้องทำอะไรเลย กำลังพลยังคงปฏิบัติภารกิจในการดูแลรักษาอธิปไตยตามปกติ เราต้องฟังคำสั่งตามนโยบายของผู้บังคับบัญชา โดยเฉพาะรัฐบาล ส่วนกำลังของทหารกัมพูชาก็ไม่ได้มีการถอนออกแม้ว่าศาลโลกจะมีคำสั่งให้ถอนก็ตาม เพราะเขาก็ต้องฟังนายเขาเหมือนกัน การพิจารณาของศาลโลกเป็นเพียงข้อหารือเรื่องความยุติธรรมเท่านั้น ศาลโลกสั่งได้ แต่การปฏิบัติอยู่ที่คู่กรณีจะต้องคุยกันเองอีกครั้งเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้

วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ผิดซ้ำซาก ก้อจะคิดผิดๆ ได้อีก - มาร์ค เขมร กับมาตรการของศาลโลก



ผิดซ้ำซาก ก้อจะคิดผิดๆ ได้อีก - มาร์ค” เรียกถกความมั่นคงด่วนอังคา​รนี้ พิจารณารายละเอียดผลคำพิพาก​ษาศาลโลก ยันไทยไม่ถอนทหารจนกว่า 2 ฝ่ายถกในกรอบจีบีซี ลั่นไทยยังไม่เสียดินแดน พร้อมบอกพอใจคำตัดสินศาลโลก​ เชื่อเจตนาดีมุ่งลดการเผชิญ​หน้า หวัง รบ.ใหม่ต่อสู้คดีหลักจนถึงท​ี่สุด จัดการด้วยความระมัดระวัง ... ที่ทำไม ไม่ให้เขมร ลงเขาไปทั้งหมดก่อน จะถอนทหารไทย ฯ

“มาร์ค” เรียกถกความมั่นคงด่วนอังคารนี้ พิจารณารายละเอียดผลคำพิพากษาศาลโลก ยันไทยไม่ถอนทหารจนกว่า 2 ฝ่ายถกในกรอบจีบีซี ลั่นไทยยังไม่เสียดินแดน พร้อมบอกพอใจคำตัดสินศาลโลก เชื่อเจตนาดีมุ่งลดการเผชิญหน้า หวัง รบ.ใหม่ต่อสู้คดีหลักจนถึงที่สุด จัดการด้วยความระมัดระวัง


วันที่ 18 ก.ค. เมื่อเวลา 18.45 น.ที่โรงแรมโอเรียนเต็ล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดสัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังศาลโลกมีมติให้ไทยและกัมพูชาถอนทหารออกจากพื้นที่ปราสาทเขาวิหารว่า เบื้องต้นขอเรียนว่า ได้รับทราบคำสั่งชั่วคราวของศาลโลกที่ได้มีการตัดสินเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 18 ก.ค.ตามเวลาประเทศไทย ขอทบทวนให้ทราบประเด็นแรกตรงนี้เป็นเรื่องของมาตรการชั่วคราวไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีหลัก และไม่มีผลในเรื่องของอธิปไตย ประการที่สองคำขอที่เป็นมาตรการชั่วคราว เป็นคำขอของฝ่ายกัมพูชาที่ต้องการให้ศาลสั่งให้ประเทศไทยถอนทหารจากบริเวณรอบๆ ปราสาท ซึ่งคำสั่งของศาลชัดเจนว่า ไม่ได้เป็นไปตามคำร้องของกัมพูชา แต่มุ่งในการที่จะลดการเผชิญหน้าหรือความตึงเครียดในบริเวณดังกล่าว จึงมีคำสั่งออกมาในลักษณะที่ให้ทั้ง 2 ฝ่ายถอนทหารออกจากพื้นที่ที่ศาลเป็นผู้กำหนด ซึ่งหลายท่านอาจได้เห็นตัวแผนที่แล้ว จะเป็นลักษณะของพื้นที่ที่ค่อมสันปันน้ำอยู่ พูดง่ายๆ คือ เมื่อเรายึดสันปันน้ำพื้นที่ที่ให้มีการถอนทหารคือ พื้นที่ทั้งฝั่งไทยและฝั่งกัมพูชาพร้อมๆ กันไป และทหารของกัมพูชาเองก็ต้องถอนออกจากตัวปราสาท วัดแจ้ง และบริเวณที่อยู่บนเขา ซึ่งทั้งหมดนี้เนื่องจากเกิดจากผูกพัน ทั้ง 2 ฝ่าย และการปฏิบัติในการถอนทหารของทั้ง 2 ฝ่าย คงต้องมีกลไกในการมาบริหารจัดการ และคงเป็นไปไม่ได้ที่ต่างฝ่ายต่างไปดำเนินการ

“ดังนั้นในวันพรุ่งนี้เวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ผมจึงได้เชิญทั้งฝ่ายความมั่นคง รัฐมนตรีกลาโหม ผบ.ทบ. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนของทหาร กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งจะมีปลัดกระทรวง กรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศ สภาความมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิการครม. เลขากฤษฎีกา เพื่อมาดูรายละเอียดของคำสั่งว่า มีผลกระทบเชิงกฎหมายภายในประเทศหรือไม่อย่างไรในแง่ขั้นตอนการปฏิบัติ และดูความเป็นไปได้ในการที่จะหาแนวทางลดความตึงเครียดในพื้นที่ดังกล่าว ข้อเสนอเบื้องต้นในขณะนี้น่าจะให้จีบีซีเป็นผู้ไปพูดคุยกันว่า จะดำเนินการอย่างไร ผมอยากเรียนว่า แนวคิดที่จะให้มีการถอนทหารออกจากพื้นที่ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราเคยเสนอในเรื่องของการที่จะให้มีการส่งผู้สังเกตการณ์ฝ่ายของประธานอาเซียนเข้ามา ฉะนั้นชั้นนี้ถือว่าเราได้รับทราบคำสั่งของศาล และจะมีการประชุมกันต่อไป ซึ่งกลไกที่จะเดินต่อไปหนีไม่พ้นการพูดคุยกับฝ่ายกัมพูชา เรื่องการบริหารจัดการเพื่อการปฏิบัติต่อไป” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากหารือฝ่ายความมั่นคงแล้ว ต้องมีการประชุมครม.ด้วยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อันนี้จะเป็นประเด็นหนึ่ง ที่จะมีการสอบถามในที่ประชุมความมั่นคงอังคารนี้ ว่าจะต้องประชุมครม.หรือไม่ และในเชิงกฎหมายขั้นตอนที่จะดำเนินการจะเกี่ยวข้องกับใครอย่างไรบ้าง และช่วงนี้เป็นช่วงรอยต่อรัฐบาลด้วย หลังการประชุมเมื่อมีความชัดเจน คงจะมีโอกาสแถลงอย่างเป็นทางการกับพี่น้องประชาชนให้เป็นที่เข้าใจ

เมื่อถามว่า ในมาตรการคุ้มครองชั่วคราวมีการระบุให้อาเซียนเข้ามาเป็นกลไกตรงนี้หมายถึงเดินหน้าเรื่องผู้สังเกตการณ์หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สนับสนุนแนวทางที่อาเซียนเคยเสนอตัวเข้ามาในเรื่องของผู้สังเกตการณ์ ซึ่งจะสอดคล้องกับสิ่งที่เราเคยยื่นเป็นเงื่อนไขว่า อยากให้มีการถอนทหารออกจากพื้นที่ดังกล่าว

เมื่อถามว่า ผลผูกพันจะเป็นอย่างไร ถ้าไทยปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราว นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ไม่มีผลผูกพันใดๆ ทั้งสิ้นในเรื่องของอธิปไตย เพราะตัวคดีหลักต้องไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการชั่วคราว อันนี้ค่อยข้างชัดเจนในคำสั่งที่มีออกมา

ผู้สื่อข่าวถามว่า ศาลโลกระบุว่า ให้ไทยอำนวยความสะดวกให้กับฝ่ายกัมพูชา นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ครับเฉพาะตัวที่จะเข้าไปตัวปราสาท ซึ่งยังไม่ทราบว่า ความจำเป็นจะมีอะไรบ้าง มันไม่ได้เกี่ยวกับพื้นที่อื่นๆ เมื่อถามว่า การถอนทหารจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการเจรจาจีบีซีกันเรียบร้อยแล้วใช้ไหม นายอภิสิทธิ์ กล่าววา ต้องคุยกับทางกัมพูชา เพราะทางกัมพูชาต้องถอนทหาร ฉะนั้นในชั้นนี้ 2 ฝ่ายต้องพูดกันก่อน ซึ่งในระหว่างนี้จะยังไม่มีการถอนทหาร เพราะเป็นเรื่องที่สองฝ่ายต้องคุยกัน เพราะไม่อย่างนั้นถ้าปฏิบัติไปจะวุ่นวาย

เมื่อถามว่า ตอนนี้กลไกคุยกันของ 2 ฝ่ายไม่เดินหน้าเท่าที่ควร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คิดว่าเวทีจีบีซีเป็นเวทีที่เหมาะสมที่จะให้ 2 ฝ่ายมาพูดคุยกันว่า จะทำกันอย่างไร เมื่อถามว่า ผลที่ออกมาอย่างนี้คิดว่า ไทยเสียเปรียบหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนเองไม่คิดว่าเสียเปรียบ เพราะประการแรกพื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่ค่อมสันปันน้ำอยู่ แต่ตนยังไม่เห็นรายละเอียดในการที่จะเอาตัวพื้นที่ตรงนี้มาทาบลงกับข้อมูลอีกหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายความมั่นคง แต่เบื้องต้นที่ได้คุยกับผบ.ทบ. ท่านบอกว่า ไม่ได้ทำให้เราเสียเปรียบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่บางจุดกินมาในพื้นที่ภูมะเขือ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กำลังดูตรงนี้ทั้งหมด เมื่อถามว่า จีบีซีจะสามารถคุยได้ในช่วงนี้หรือไม่ หรือต้องรอให้รัฐบาลชุดใหม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คิดว่าการคุยคงคุยได้ ส่วนการตัดสินใจอะไรก็ต้องดูข้อกฎหมายอีกทีหนึ่งว่า ต้องเป็นอำนาจของใคร เมื่อถามว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศเคยคิดว่า ทางศาลไม่น่าจะพิจารณาเรื่องนี้ และไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องดินแดน แต่ตอนนี้คำพิพากษาในลักษณะนี้ เท่ากับเขามาพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องเขตแดนด้วยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยัง เพราะในตัวคำสั่งเขียนชัดว่า ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องดินแดน เพียงแต่บอกว่า เมื่อทางกัมพูชายื่นให้มีการตีความ คำวินิจฉัยเมื่อ 2505 และพื้นที่ตรงนี้เกี่ยวข้องอยู่ เขาก็ออกเป็นคำสั่งมาตรการชั่วคราว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการกระทบกระทั้งกันระหว่างนี้

เมื่อถามว่า เรื่องการถอนทหารเป็นที่เข้าใจว่า ไทยต้องการ แต่กรณีที่ศาลสั่งไม่ให้เราขัดขวางทางขึ้นปราสาทพระวิหาร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มันเป็นหลักเฉยๆ เพราะปราสาทถูกตัดสินให้เป็นของกัมพูชา ฉะนั้นเขาต้องมีสิทธิไปที่ปราสาท แต่ถ้ามาผ่านดินแดนเราก็เป็นเรื่องของเรา เมื่อถามว่า แต่ทางขึ้นอยู่กับไทย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ทางขึ้นๆได้หลายทาง แต่เขาไมได้ระบุวิธีไหนที่จะขึ้น เมื่อถามว่า ถ้าผ่านไทยต้องขออนุญาตไทยก่อน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนคิดว่ามีวิธีการบริหารจัดการ ไม่ใช่ที่จะบอกว่าใครไปทำอะไรก็ได้ ไม่อย่างนั้นจะยุ่งวุ่นวายไปกันใหญ่ และเขาพูดถึงเฉพาะตัวปราสาท ซึ่งเราไม่ทราบเหมือนกันว่า มันมีความจำเป็นอะไรที่จะต้องลำเลียงของขึ้นไปยังปราสาท

ผู้สื่อข่าวถามว่า เขาอาจอ้างการซ่อมแซมบูรณะตัวปราสาทได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เวลานี้ยังไม่ได้ไปดูแล หรือคิดว่าอะไรเป็นอะไร แต่เบื้องต้นกัมพูชาต้องถอนทหารออกจากตรงนั้นก่อน เมื่อถามว่า ตรงนี้อาจเป็นจุดที่ทำให้กัมพูชาไม่พอใจ จนมีปัญหาอีกรอบหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กัมพูชาเป็นฝ่ายเอาเรื่องไปที่ศาล เมื่อถามว่า เวลานี้ตามแนวชายแดนได้มีการกำชับอะไรไปหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางกองทัพอยู่กับที่ เมื่อถามว่า คำพิพากษาออกมาแบบนี้ส่งผลอะไรต่อชายแดนหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ความมุ่งหมายของศาลเพื่อลดความตึงเครียดเพื่อไม่ให้เกิดการเผชิญหน้า เมื่อถามว่า คิดว่าความตึงเครียดจะลดหรือจะเพิ่มมากขึ้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อยู่ที่การปฏิบัติ ตนจึงเสนอว่า จำเป็นต้องพูดคุยบริหารจัดการกัน

เมื่อถามว่า คำพิพากษาออกมาจะทำให้กัมพูชาฮึกเหิมหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คงไม่จะฮึกเหิมได้อย่างไร เพราะทหารของเขาเองก็ต้องถอนออกจากปราสาท และพื้นที่อีกฝั่งหนึ่งของสันปันน้ำด้วย ผู้สื่อข่าวถามว่า ตอนนี้ยังไม่แน่ใจว่า จะถอนทหารออกไปไกลขนาดไหนใช่ไหม นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มี ศาลได้ขีดเส้นไว้ แต่ขั้นตอนการถอนทหารไม่เหมือนกับการเดินเล่น ซึ่งอยู่ที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องพูดคุยกัน และกำหนดให้ชัดว่า ถ้าจะทำตามนี้ ใครจะออกเวลาไหนอย่างไร และเราต้องมีวิธีการป้องกันไม่ให้มีการเอาคนที่เป็นทหารแล้วแฝงตัวว่า ไม่เป็นทหารเข้าไปอีก อย่างไรก็ตามคิดว่า กลไกการปฏิบัติเป็นเรื่องสำคัญ ฉะนั้นขณะนี้ต้องพูดคุยกันว่า แนวทางเป็นอย่างไร เวลานี้เราเห็นแต่ตัวแผนที่ยังไม่ได้ทาบลงกับหลายข้อมูลที่เราจะต้องดู

ผู้สื่อข่าวถามว่า คาดหวังรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาดูเรื่องนี้อย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องเข้ามาต่อสู้คดีหลักจนถึงที่สุด และบริหารจัดการด้วยความระมัดระวัง ส่วนคำตัดสินของศาลพอใจในหน้าที่ไม่ได้เป็นไปตามคำขอของกัมพูชา 2 ประเด็นที่คิดว่า น่าพอใจคือ ไม่ได้เป็นไปตามคำขอของกัมพูชา เพราะกัมพูชาต้องถอนทหาร และพื้นที่ที่กำหนดค่อมสันปันน้ำ เมื่อถามว่า ผลผูกพันตรงนี้จะไปใช้ในเวทีมรดกโลกอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้ไปไกลถึงขนาดนั้นคงต้องวิเคราะห์แนวทางกันก่อน ซึ่งแนวทางต่อไป 2 ฝ่ายต้องคุยกัน ไม่อย่างนั้นจะสับสน ขณะเดียวกันกระทรวงการต่างประเทศยังไม่ได้ประเมินปฏิกิริยาของทางกัมพูชาว่า จะออกมาในรูปแบบไหน และคำของศาลโลกวันนี้เป็นคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือมาตรการชั่วคราว

วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เขาพระวิหาร ศาลโลก คนไทยใครจงใจขายแผ่นดิน หรือไม่อย่างไร !?


รูปเชิงประจักษ์ ที่ทำไมพื้นที่ประเทศเขมรลอยขึ้นไปอยู่บนชะง้อนหน้าผาได้

ศาลโลกอาจมีคำสั่งในวันที่ 18 ก.ค. เป็นได้ 3 แนวทาง ศาลมีคำสั่งระบุมาตรการคุ้มครองชั่วคราว หรือยกคำร้องกัมพูชาในส่วนมาตรการคุ้มครองชั่วคราว สุดท้ายศาลยกคำร้องกัมพูชาทั้งหมด ไม่ต้องตอบว่า ประเทศไทยอยากให้ศาลโลก มีคำพิพากษาออกมาในทิศทางใด นั่นคือแนวทางที่ 3 แต่จะเป็นอย่างที่ทุกคนคาดหวังกันหรือไม่ วันพรุ่งนี้ก็จะได้รู้กัน...

กรณีการแย่งกันอ้างสิทธิ์ เหนือประสาทพระวิหารและพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. ระหว่างไทย-กัมพูชา ที่ต่อเนี่องยาวนาน มาตั้งแต่ ปี 2505 ถึงขนาดเกิดความขัดแย้งบานปลาย กลายเป็นการปะทะกันตามแนวชายแดน ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่อาศัยตามแนวชายแดนของทั้ง 2ประเทศ รวมถึงสร้างความตึงเครียดให้กับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งหมดเกิดขึ้น หลังจากความพยายามของกัมพูชาประสบความสำเร็จ ในการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงผู้เดียว ในปี 2551

ต้องยอมรับว่า ฝ่ายไทยในสมัย นายนพดล ปัทมะ ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ยินยอมให้กัมพูชา ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว นับเป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชารอบใหม่ ที่ชัดเจนที่สุด

เนื่องจากภายหลังไทยไม่ยอมรับการทำหนังสือของนายนพดล โดยศาลไทยได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการทำข้อตกลงฉบับนี้ เพราะไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ผิดกฎหมาย รธน.มาตรา 190 ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาเป็นอย่างมาก และคงดึงดันที่จะเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารแต่เพียงผู้เดียว ทำให้ไทยที่ถือตัวว่าเป็นเจ้าของพื้นที่ทับซ้อน จำนวน 4.6 ตร.กม. เสี่ยงที่จะสูญเสียอธิปไตยของชาติ ความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา จึงปะทุขึ้นและลุกลามใหญ่โต จนถึงปัจจุบัน

การที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) รับขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกที่กัมพูชาเสนอ และมีการพิจารณาแผนบริหารจัดการพื้นที่ประสาทพระวิหาร โดยไม่ฟังการทัดทานจากไทยนั้น ทำให้ นายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย ต้องตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยว ประกาศถอนตัวจากสมาชิกมรดกโลกไป เพื่อเป็นการประท้วงที่องค์การยูเนสโก ไม่รับฟังคำร้องจากไทย ที่ทำให้ประเทศมีความเสี่ยงจากการสูญเสียพื้นที่ ทั้งหมดคือความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

ขณะที่ประเด็นสำคัญ ที่ต้องจับตาของการตัดสินของศาลโลกในวันจันทร์ที่ 18 ก.ค. นี้ คือเรื่อง "เขตแดน" ที่แฝงมาในคำขอของกัมพูชา ว่าศาลโลกจะแสดงจุดยืนในเรื่อง "เขตแดน" และ "ขอบเขต" อย่างไร ?

ทั้งนี้เป็นได้ 3 แนวทาง ทางแรก ศาลอาจปฏิเสธคำขอข้อแรกโดยสิ้นเชิง จะด้วยเหตุผลว่า ศาลไม่มีอำนาจวินิจฉัยเรื่องเขตแดนหรือด้วยเหตุผลอื่นที่ฝ่ายไทยอ้าง เช่น ประเด็นเขตแดนในปัจจุบัน ต้องว่าไปตาม MOU พ.ศ. 2543

การที่ศาลโลกได้ดำเนินการให้เจ้าหน้าที่แก้ไขคำแปลผิด จากคำว่า "boundary" (เขตแดน) มาเป็น "limit" (ขอบเขต) นี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดี ว่าศาลให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวที่ไทยต่อสู้ไว้

ทางที่สอง ศาลอาจมีคำสั่งเป็นการทั่วไปตามที่กัมพูชาขอ โดยอาจสั่งโดยไม่อธิบายว่า "พื้นที่ในบริเวณปราสาทพระวิหาร" ที่อยู่ในดินแดนของกัมพูชา คือพื้นที่ใด ซึ่งแม้จะไม่ชัดเจน แต่ก็เป็นความคลุมเครือ ที่กัมพูชาอาจนำมาใช้อ้างต่อได้

ทางที่สาม เป็นซึ่งน่ากังวลที่สุด และไม่น่าจะเป็น คือ ศาลอาจอ้างถึงข้อเท็จจริงหรือเอกสารบางอย่าง เช่น MOU พ.ศ. 2543 และกล่าวโดยตรงหรือโดยอ้อมในทำนองว่า "พื้นที่ในบริเวณปราสาทพระวิหาร" ที่อยู่ในดินแดนของกัมพูชา อาจเกี่ยวข้องกับเอกสารหรือแผนที่ดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นการตีความกฎหมายที่สุ่มเสี่ยงเรื่องเขตแดน

ส่วนศาลโลกอาจมีคำสั่งในวันที่ 18 ก.ค. เป็นได้ 3 แนวทาง ทางแรกศาลมีคำสั่งระบุมาตรการคุ้มครองชั่วคราว (อาจสั่งทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนตามที่กัมพูชาร้องขอ) ซึ่งไทยต้องปฏิบัติตามคำสั่งทันที และศาลยังพิจารณาต่อไปในส่วนคำร้องที่กัมพูชาขอให้ศาลตีความคำพิพากษา ซึ่งไทยอาจต้องใช้เวลาสู้คดีต่อไปถึง พ.ศ. 2555

ทางที่สอง ศาลยกคำร้องกัมพูชาในส่วนมาตรการคุ้มครองชั่วคราว คือ ศาลปฏิเสธคำขอให้ระบุมาตรการคุ้มครองชั่วคราวทั้งสามข้อ แต่ศาลยังดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปในส่วนการตีความคำพิพากษา ซึ่งอาจดำเนินต่อไปถึง พ.ศ. 2555 เช่นกัน

และทางที่สาม ศาลยกคำร้องกัมพูชาทั้งหมด คือปฏิเสธคำขอทั้งสามข้อ พร้อมทั้งมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีที่กัมพูชาขอให้ศาลตีความคำพิพากษาทั้งคดี หมายความว่าไทยประสบความสำเร็จ ส่งผลให้ไทยและกัมพูชาต้องกลับเข้าสู่กระบวนการเจรจาต่อไป

คงไม่ต้องตอบว่า ประเทศไทยอยากให้ศาลโลกมีคำพิพากษาออกมาในทิศทางใด นั่นคือแนวทางที่ 3 แต่จะเป็นอย่างที่ทุกคนคาดหวังกันหรือไม่ วันพรุ่งนี้ก็จะได้รู้กัน...

ไทยรัฐออนไลน์

  • โดย ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์
  • 17 กรกฎาคม 2554, 09:30 น.

นายฮิซาชิ โอวาดะ ประธานศาลระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก ในภาพวันที่ 30 พ.ค.2554 ขณะออกนั่งบัลลังก์เปิดการไต่สวนตามคำร้องของกัมพูชาที่ให้ไทยถอนทหารจากพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรโดยรอบปราสาทพระวิหาร และให้ไทยยุติกิจกรรมทางทหารทุกอย่างในทันที สำนักข่าวฝรั่งเศสรายงานว่า ในวันจันทร์ 18 ก.ค.นี้ ศาลโลกกำลังจะมีคำสั่งตามนั้น.

-- AFP PHOTO/Valerie Kuypers.

กรุงเฮก (เอเอฟพี) - ศาลสูงสุดของสหประชาชาติจะออกคำสั่งในวันจันทร์ (18 ก.ค.) นี้ ตามคำร้องขอของกัมพูชาให้ไทยถอนทหารจากบริเวณพิพาทชายแดนรอบๆ ปราสาทพระวิหารที่เกิดการปะทะกัน

คาดว่าประธานศาลระหว่างประเทศ นายฮิซาชิ โอวาดะ จะอ่านคำสั่งของศาลในเวลา 10.00 น. ที่พระราชวังแห่งสันติภาพ กรุงเฮก ที่ตั้งของศาลระหว่างประเทศ (International Court of Justice)

ศาลจะมีคำสั่งในวันจันทร์ตามคำร้องของของกัมพูชาที่ให้ไทยถอนทหารและยุติกิจกรรมทางทหารทุกอย่างผู้สังเกตการณ์ที่ใกล้ชิดกับ ICJ บอกกับเอเอฟพี และยังเปิดเผยอีกว่า นายโอวาดะจะขึ้นนั่งบัลลังก์พร้อมผู้พิพากษาทั้ง 14 คน กับผู้พิพากษาสมทบอีก 2 คน

กัมพูชาได้นำกรณีทางกฎหมายนี้เข้าสู่ศาลโลกในเดือน เม.ย. โดยเรียกร้องให้ตีความคำพิพากษาเมื่อปี 2505 เกี่ยวกับปราสาทพระวิหารอายุ 900 ปี ขณะเดียวกัน กัมพูชาได้ขอให้ผู้พิพากษาออกมาตรการเฉพาะหน้า รวมทั้งให้ไทยถอนทหารในทันทีและให้ยุติกิจกรรมทางทหารที่นั่น

แม้ว่าไทยจะไม่โต้แย้งการเป็นเจ้าของปราสาทพระวิหารของกัมพูชาตามคำพิพากษาปี 2505 แต่ทั้งกัมพูชาและไทยต่างกล่าวอ้างเป็นเจ้าของพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร รอบๆ บริเวณปราสาท

สองฝ่ายเข้าให้การต่อศาลในสิ้นเดือน พ.ค. รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา นายฮอร์ นัมฮง ได้ขอให้มีการ ถอนทหารไทยในทันทีและโดยไม่มีเงื่อนไขออกจากดินแดนของกัมพูชาส่วนที่อยู่ในบริเวณปราสาทพระวิหาร

ทางการพนมเปญยังขอให้ไทย ยุติการกระทำการใดๆ ที่จะแทรกแซงสิทธิของกัมพูชาหรือทำให้ความขัดแย้งในปัจจุบันขยายตัวออกไป

เอกอัครราชทูตไทยประจำเนเธอร์แลนด์ นายวีรชัย พลาศรัย ได้ตอบโต้โดยขอให้ศาลโลกยกเลิกกรณีของกัมพูชาออกจากการพิจารณาของศาล

กระตุกต่อม"ระทึกขวัญ" ลุ้น! คำตัดสินศาลโลกวันนี้

คนไทยเกิดอาการใจตุ๊มๆต่อมๆกันเป็นทิวแถว เมื่อปรากฎกระแสข่าวว่า คณะผู้พิพากษาทั้ง 15 คน กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ อาจจะตัดสินในไทยต้องถอนทหารจากปราสาทพระวิหารและพื้นที่รอบปราสาท ในช่วงบ่ายๆของวันนี้ ประมาณ 15.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย


ในคดีที่กัมพูชา ยื่นให้ศาลโลกตีความขอบเขตของคำพิพากษาปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 หากผลปรากฎออกมาว่า คำพิพากษาเป็นไปตามที่สำนักข่าวบางสำนักในต่างประเทศรายงานข่าวออกมาจริง ก็ไม่อยากคิดว่า สถานการณ์ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ด้าน อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ เรื่อยไปถึง จ.สุรินทร์ จะเกิดตึงเครียดขึ้นหรือไม่ รวมถึงไทยเองจะมีนโยบายดำเนินการอย่างไรต่อไปกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา

ทั้งนี้จะกลายเป็นงานเข้า สำหรับรัฐบาลรักษาการของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ทิ้งท้ายทันที ก่อนจะอำลาตำแหน่งอย่างเป็นทางการ และมีการส่งมอบให้กับ รัฐบาลปู1 นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิง คนแรกของไทย เพราะประชาชนไทยคงไม่ยอมรับกับคำตัดสินของศาลโลกแน่ ถึงแม้ต้องปฏิบัติก็ตาม หากปรากฎผลออกมาเป็นอย่างที่สำนักข่าวต่างประเทศอ้าง เพราะนั่นหมายถึงการสูญเสียดินแดน 4.6 ตร.กม.ของประเทศไปตลอดกาล

ขณะรัฐบาลที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่ง ของ นส.ยิ่งลักษณ์ ขณะนี้รอ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองการเป็นส.ส. อยู่ก็"งานเข้า"เช่นกัน เพราะเมื่อเข้าทำงานปุ๊ป! ก็ต้องพิสูจน์ฝีมือ ตามแก้ปัญหาใหญ่ระดับประเทศทันที

แม้มีการมองกันว่า รัฐบาลชุดใหม่เพื่อไทย มีสายสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้การเจรจาน่าจะง่ายกว่ารัฐบาลชุดเก่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องทำตามคำต้องการของกัมพูชา เพราะที่สำคัญที่สุดคือ ต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศ โดยเฉพาะนส.ยิ่งลักษณ์น้องสาวของพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเอง ยิ่งจะต้องระมัดระวัง เพราะกรณีข้อพิพาท ความขัดแย้งระหว่าง ไทย-กัมพูชา เกี่ยวพันกับข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ในอ่าวไทย ของพี่ชายสมัยดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีโดยตรง


เพราะเมื่อประมาณอาทิตย์ที่แล้ว เว็บไซต์หนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ รายงาน เอกสารลับทางการทูตใน เว็บไซต์จอมแฉ "วิกิลีกส์" นำมาเผยแพร่ กล่าวถึงรายละเอียดการไปเยือนกรุงพนมเปญของสภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน และร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงกัมพูชาว่า ผู้แทนยักษ์ใหญ่บ.เอกชน ด้านพลังงาน ได้เรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชา หาทางคลี่คลายข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย เพราะบริษัทฯ ถือสัญญาสำรวจพื้นที่ดังกล่าวเป็นเวลาเกือบสิบปี

ระหว่างการประชุมครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ระดับสูงกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ได้แจ้งต่อบริษัทฯว่า รัฐบาลไทยกับกัมพูชาเกือบได้ข้อยุติในเรื่องนี้ ไม่นานนักก่อนรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะถูกยึดอำนาจเมื่อปี 2549 โดยทั้งสองเห็นพ้องกัน ในหลักการแบ่งรายได้ในพื้นที่ใกล้ไทยมากที่สุด สัดส่วนไทย 80% กัมพูชา 20% ส่วนพื้นที่ตรงกลางแบ่ง 50-50 และสัดส่วนไทย 20% กัมพูชา 80% สำหรับพื้นที่ใกล้ฝั่งกัมพูชา


เอกสารที่รั่วอีกฉบับ ซึ่งให้รายละเอียดการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกัมพูชากับผู้บริหารระดับสูงของ บ.น้ำมันยักษ์ใหญ่เช่นกัน เอกสารระบุว่า บริษัทที่ขุดเจาะและสำรวจบ่อน้ำมันส่วนที่เรียกว่า "บล็อค เอ" นอกชายฝั่งของกัมพูชา มีความสนใจอย่างมากในการได้รับสิทธิในการสำรวจบ่อน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อน โดยผู้บริหาร บ.น้ำมันดังกล่าว ระบุว่า พื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยนั้น เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ดีที่สุดในโลกสำหรับการสำรวจ และอาจเปลี่ยนแปลงกัมพูชาแบบพลิกโฉม ส่วน"บล็อค เอ"นั้น ไม่มีความสำคัญพอที่จะสำรวจและทำกำไรได้โดยลำพัง

หลัง พ.ต.ท.ทักษิณถูกโค่นอำนาจ กรณีพิพาทน่านน้ำทับซ้อนแทบไม่มีความคืบหน้า ประกอบกับการตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจของกัมพูชาเมื่อปี 2552 ยิ่งสร้างปัญหามากขึ้น เมื่อคณะรัฐมนตรีไทยได้ยกเลิกบันทึกความเข้าใจฉบับหนึ่งที่ลงนามในปี 2544 โดยอ้างว่าบทบาทใหม่ของอดีตนายกฯทักษิณ ทำให้สถานะการเจรจาของไทยเสียเปรียบ

เอกสารสถานทูตอีกฉบับ ยังกล่าวอย่างชัดเจนในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณกับกัมพูชาระบุว่า "การไปเยือนพนมเปญของทักษิณฯ ถูกนักสังเกตการณ์ส่วนใหญ่ มองว่า เป็นความต่อเนื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณและสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในการใช้กันและกันเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว"

เมื่อมีข่าวลักษณะนี้ออกมา นส.ยิ่งลักษณ์ ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิง ที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่ง ยิ่งต้องดำเนินการให้เห็นว่า กระทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของชาติ และไม่ได้อยู่ใต้เงาหรือคำบงการของ"นายห้างตราดูไบห่่อ" แต่ถ้าศาลโลกตัดสินออกมาแนวทางเป็นคุณกับไทยเรื่องก็จบ"ยิ่งลักษณ์"ก็ลำบากใจน้อยลง เพราะมีข่าวอีกกระแสระบุว่า ศาลโลกจะตัดสินคุ้มครองชั่วคราว เฉพาะตัวปราสาท แต่จะไม่เข้าไปยุ่งในส่วนพื้นที่ทับซ้อนเจ้าปัญหา 4.6 ตร.กม.แต่อย่างใด

ผลประโยชน์มหาศาลทางทะเล เกี่ยวพันถึงเส้นเขตแดนของประเทศ นำมาซึ่งการอ้างเป็นเจ้าของพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.ระหว่างไทย-กัมพูชา และการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว เกิดปะทะกันตามแนวชายแดนนำมาซึ่งสูญเสียทั้ง 2ฝ่าย และทำให้ไทยต้องสุ่มเสี่ยงสูญเสียอธิปไตย ผลกำลังจะปรากฎออกมาในช่วงบ่ายของวันนี้ นับถอยหลัง...แล้วรอลุ้นระทึก!กันได้เลย...

ไทยรัฐออนไลน์

  • โดย ไทยรัฐออนไลน์
  • 18 กรกฎาคม 2554, 05:30 น.

วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

แล้วก็ถึงวันที่"นารีขี่ม้าขาว" ... เปลว สีเงิน 4 กรกฎาคม 2554


ประชาชนให้ "คำตอบประเทศไทย" ออกมาแล้วครับ ตกลง...ยกประเทศให้ "ทักษิณ ชินวัตร" ในนามพรรคเพื่อไทยเป็นผู้นำฝ่ายบริหาร ก็ขอแสดงความยินดีกับเพื่อไทย และขบวนการ นปช. "เสื้อแดง" ทุกคน เมื่อได้ ส.ส.เกินครึ่ง คือกว่า ๒๖๐ เฉียด ๓๐๐ คน เช่นนี้ ก็ชอบธรรมด้วยประการทั้งปวงที่จะเป็นฝ่ายยึดครองอำนาจบริหารประเทศในฐานะรัฐบาล
จะเอาใครเป็นนายกฯ และจะเอาใครเป็นรัฐมนตรี ไม่ว่าจตุพร ณัฐวุฒิ เหวง อริสมันต์ ตั้งเลยครับ เพราะการชนะชนิดที่เรียกว่า "สิ้นข้อสงสัย" เช่นนี้
อยากทำอะไร...ทำเลย!
นี่ผมพูดจริงๆ เพราะในจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งประเทศ กว่า ๔๖ ล้านคน และกว่า ๕๐% ที่ออกมาใช้สิทธิ์ เขาสะท้อนความต้องการเช่นนั้น ผ่านการเลือก ส.ส.ทั้งระบบเขต และทั้งระบบพรรคของเพื่อไทย ชนิด...พรรคเดียวตั้งรัฐบาลได้
มันชัดเจนตามเจตนารมณ์ประชาธิปไตย ของประชาชน-โดยประชาชน-เพื่อประชาชน ในเมื่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ "เลือกแล้ว" เลือกให้เพื่อไทยเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ เลือกให้เป็นผู้กำหนดชะตาอนาคตประเทศ
ท่านก็จงทำ!
จะแดง-จะดำทั้งแผ่นดิน แบบไหน-อย่างไร ถ้าอยู่ในกรอบกฎหมาย หรือท่านแก้กฎหมายให้เป็นไปตามกรอบของท่านได้สำเร็จ ก็จงทำตามนั้น
เพราะนั่นคือ ประชาชนที่เลือกท่าน...เขาต้องการ!
และถ้าทักษิณพอใจ-ต้องการให้โคลนนิง "นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ปาร์ตี้ลิสต์ หมายเลข ๑ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหญิง "คนแรกของประเทศ" ดังประสงค์จริงๆ ละก็!
ประกาศให้ชัดเจนเลยครับ เพื่อจะได้ไม่ว่อกแว่กเรื่องฟอร์มรัฐบาล เพราะเมื่อแน่นอนเรื่องตัวนายกฯ แล้ว จะได้เอาเวลาไปคัดตัวรัฐมนตรีให้มันไวขึ้น อย่างช้า...ซักต้นหรือกลางๆ สิงหา บ้านเมืองจะได้มีนายกฯ ใหม่-รัฐบาลใหม่บริหารประเทศไงล่ะ
ผมคิดว่า ใครก็ไม่มีเหตุผล หรือข้อเกี่ยงงอนใดที่จะโต้แย้งเจตนารมณ์ประชาชนด้วยการขัดขวางการจัดตั้งรัฐบาลของเพื่อไทย คณะรัฐมนตรีของเพื่อไทย และการขึ้นเป็นนายกฯ ของนางสาวยิ่งลักษณ์ เพราะนี่คือ
อาณัติจากประชาชน!
ผมว่าการเลือกตั้ง ๓ ก.ค.๕๔ นี้ ประชาชนเลือกได้ "ถูกต้อง" แล้ว ถูกต้องในความหมายคือ ท่ามกลางความขัดแย้งในชาติที่หาทางไปไม่เจอ ในเมื่อประเทศชาติเป็นของประชาชน-ประชาชนเป็นของประเทศชาติ ก็ให้ "ประชาชน" นั่นแหละเป็นผู้ตัดสิน "เลือกทางไป" ของสังคมชาติ
เลือกขั้วใด-ขั้วหนึ่งให้ "ขาด" ไปเลย.....
และเมื่อเลือกเพื่อไทย-เพื่อทักษิณเป็นทางไป...ขาดไปเลยเช่นนี้ ก็โอเค!
ไปก็ไปกัน ไม่ไป-ไม่รู้ ถ้าทางนี้เป็นทาง "สู่ความพ้นทุกข์" ผมก็อนุโมทนาด้วย แต่ถ้ามันกลายเป็นเส้นทาง "สู่ความเพิ่มทุกข์" ถ้าเป็นอย่างนั้น นั่นก็ไม่เป็นไร....
ระบอบประชาธิปไตย "มีทางออก" ทุก ๔ ปี!
คำตอบโจทย์ประชาธิปไตย ไม่ได้อยู่ที่ "ผิด-ถูก" หากแต่อยู่ที่ "เสียงข้างมาก" และเสียงข้างมากนั้น ก็ไม่ใช่บทสรุปของความผิด-ความถูก หากแต่เป็นบทสรุปของ "ความต้องการ"
ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการสิ...
แล้วจะได้อยู่เหนือ "ความผิด-ความถูก"!
การชนะเลือกตั้งของเพื่อไทยครั้งนี้ ว่าไปแล้วก็ไม่นอกเหนือความคาดหมาย ที่นอกเหนือก็ตรง "ชนะเกินครึ่ง" ชนิดทิ้งห่างประชาธิปัตย์เกือบเท่าตัวเท่านั้น
การเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด ๔๖,๙๐๔,๘๒๓ คน ออกมาใช้สิทธิ์ ๓๐,๙๘๗,๘๐๑ คน คิดเป็น ๗๔%
ดูตัวเลขรวมแฟนๆ ประชาธิปัตย์อาจใจหาย แต่ถ้าลงรายละเอียดถึงพื้นที่ "ฐานคะแนน" ของแต่ละพรรคแล้ว ไม่แปลก และไม่น่าใจหายที่เพื่อไทยนำห่างและชนะขาดประชาธิปัตย์ในภาวะกระแส "แดงครองเมือง"
เพราะแค่อีสานกับเหนือเป็น "ฐานหลัก" ของเพื่อไทย ในจำนวนเต็ม ส.ส.๓๗๕ คน เป็นภาคอีสาน ๑๒๒ คน ภาคเหนือ ๖๘ คน ๒ ภาครวมแล้วมี ส.ส.๑๙๐ คน แค่นี้ก็ตุนอยู่ในกระเป๋ากว่า ๘๐-๙๐% แล้ว
เนี่ย...ดูคร่าวๆ ตอนเปิดหีบ อีสาน-เพื่อไทยพรวดก็ ๙๙ คนแล้ว เหนืออีก ๔๗ ไม่ต้องไปดู-ไปลุ้นจากภาคอื่น แค่ ๒ ภาคนี้เกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนเต็มของ ส.ส.๓๗๕ คนแล้ว!
ยิ่งมาได้ภาคกลาง ซึ่งมี ส.ส.รวม ๙๙ คน ไปอีก ๔๐ กว่าคน ทุกอย่างก็...จบ พรรคเพื่อไทยขึ้นสู่ความเป็น "พรรคเดียว-ชนะขาด" ไม่หนี ๒๕๐-๒๖๐ คนขึ้น
แต่ถ้าเจาะลงไปถึงจังหวัดภาคกลางที่เพื่อไทยได้ และมี ส.ส.ได้หลายคนก็สิ้นสงสัย เพราะจังหวัดเหล่านั้น "ฐานแดง" ชัดเจนอยู่แล้ว เช่น อยุธยา-นนทบุรี-ปทุมธานี-สมุทรปราการ เป็นต้น
ที่น่าพอใจก็คือที่ กทม.ศูนย์กลางประเทศ เพราะผลออกมา "ตรงข้าม" จากเอ็กซิตโพล ที่ทุกสำนักฟันธงว่าเพื่อไทยชนะขาดประชาธิปัตย์ แต่ปรากฏว่าเพื่อไทยแพ้ขาดประชาธิปัตย์!
หมายความว่าประชาธิปัตย์ยังรักษาฐานที่มั่นของพรรคไว้ได้ ทั้งภาคใต้ที่กวาดมาเกือบหมด และกทม.๒๓ เขต ในจำนวน ๓๓ เขต เพียงแต่ในภาคที่เป็นฐานของตนมีจำนวน ส.ส.น้อยกว่าภาคอีสานและเหนือเท่านั้น
สรุปคร่าวๆ จากหัวค่ำนะครับ รวม ส.ส.เขตและ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อไทยจะมี ๒๖๒ ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ ๑๖๐ ที่นั่ง ภูมิใจไทย ๓๕ ที่นั่ง ชาติไทยพัฒนา ๑๙ ที่นั่ง ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ๙ พลังชล ๗ รักประเทศไทย ๔ มาตุภูมิ ๒ รักษ์สันติ ๑ กิจสังคม ๑
ตัวเลขขั้นต้นนะครับ เอามาเนาๆ ให้เห็นภาพว่าชนะขาดกันอย่างไร และพรรคไหนได้กันเท่าไรบ้างเท่านั้น ก็แน่นอนว่าจากตัวเลขนี้ คนที่มีความสุขที่สุดในโลกขณะนี้มีคนเดียวที่ชื่อ "ทักษิณ ชินวัตร"
และรัฐบาลคงไม่ได้ตั้งที่พรรคเพื่อไทย แต่ตั้งทั้งทางโทรศัพท์ ทั้งมีคนบินไปจากเมืองไทยไปดูไบ และจากดูไบถึงกรุงเทพฯ จากตัวเลข ๒๖๒ "เกินครึ่ง" พรรคเดียวตั้งรัฐบาลได้ก็จริง แต่ทักษิณต้องการให้ทุกพรรคมาร่วมเป็นรัฐบาลกับเขา มากกว่าจะปล่อยให้ไปเป็นฝ่ายค้านกับประชาธิปัตย์
ที่แน่ๆ ที่ฟอร์มตัวขั้นต้น รัฐบาลใหม่จะประกอบด้วย เพื่อไทย ๒๖๒+ชาติไทยพัฒนา ๑๙+ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ๙ = ๒๙๐ เสียง
ที่เหลือจะเป็นฝ่ายค้าน ๒๑๐ เสียง!
มองดูก็ "ห่างกัน" ไม่เห็นฝุ่น แต่ผมคิดว่าทักษิณไม่พอใจแค่นี้ จะต้องเอามาร่วมให้ได้ ๓๐๐ เสียงขึ้น เหตุผลก็คือ เป้าหมายซ่อนเร้นทักษิณแก้รัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายนิรโทษกรรม เอา ๔๖,๐๐๐ ล้านคืนมิใช่หรือ?
การทำอย่างนั้นได้ ต้องอาศัยเสียง ส.ส.และ ส.ว.ที่เรียกว่า "สมาชิกรัฐสภา" รวมกันเกินครึ่ง ฉะนั้น เพื่อกันพลาด และไม่ต้องหวังพึ่ง ส.ว.มากนัก กวาดต้อนพรรคเล็ก-พรรคน้อยมาไว้ใต้กระโปรงนายกฯ ยิ่งลักษณ์ไว้ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ก่อน ไม่ชัวร์กว่าหรือ?
จำไว้อย่าง อะไรที่ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ และคนเพื่อไทยบอกว่า "ไม่ทำ" ตอนหาเสียง นั่นแหละ พอได้อำนาจบริหาร-อำนาจนิติบัญญัติไว้ในมือแล้ว
จะทำทุกอย่าง!
เพราะคนพรรคเพื่อไทย รวมทั้งตัวนายกฯ และรัฐมนตรี คิดอะไรเองไม่เป็นหรอก "ทักษิณ-คิด" ทั้งนั้น ส่วนพรรคเพื่อไทยเป็นเพียงหุ่นยนต์ที่คอยทำตามเท่านั้น ก็เห็นมั้ยล่ะ เขาติดป้ายบอกทั่วประเทศ
"ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ"!
ประชาชนก็ตัดสินใจให้ "เพื่อไทย-ทำ" แล้ว จะสังคายนาพระพุทธศาสนา จะถมทะเลสร้างเมืองใหม่ จะเปลี่ยนเป็นแดงทั้งแผ่นดิน จะทำอะไรๆ อย่างที่แสดงวิสัยทัศน์ประเทศไทย ๒๐๒๐ ไว้น่ะ ก็จงรีบทำ หรือจะรีบไปจูบปากกับฮุน เซน ยกพื้นที่ ๔.๖ ตารางกิโลเมตรให้ขึ้นทะเบียนมรดกโลก ก็จงทำ
แล้วพวกผม...ประชาชนคนไทย จะคอยดูว่าที่ "ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ" นั้น ใครได้?
ประเทศไทย-คนไทย
หรือ...
กลุ่มตระกูลไหน-คนไหน...ได้?
วันนี้ ยังคุยอะไรไม่สะดวกนะครับ เพราะตัวเลขที่เป็นฐานในการมองยังออกมาไม่ครบ เอาที่แน่ๆ ก็คือ เพื่อไทยชนะ ได้เป็นรัฐบาล ยิ่งลักษณ์เป็น "ว่าที่นายกฯ หญิง" ประชาธิปัตย์แพ้ เป็นฝ่ายค้าน ส่วนอภิสิทธิ์ที่นับจากวันนี้จะกลายเป็น "อดีตนายกฯ" จะทบทวนตัวเอง หรือเตรียมแผนสู้ใหม่หลังกลางปี ๒๕๕๕
ประชาชนกำลังรอฟัง!



เปิดโผ 125 ปาร์ตี้ลิสต์ พท.แกนนำแดง-เมียโผล่เพียบ “จุฤทธิ์” เสียบแทน “สุวโรช” “ปุระชัย-สนธิ” เข้าวิน “ประดิษฐ์” ปิ๋ว “ชูวิทย์” ควงพวกอีก 3 เข้าสภา ประชาธิปไตยใหม่-มหาชน สุดพลิกล็อก!! ได้พรรคละ 1 ที่

วันนี้ (4 ก.ค.) หลังจากที่คณะกรรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้รายงานผลการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างไม่เป็นทางการที่มีการนับคะแนนแล้วเสร็จเกือบ 100% โดยพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ ส.ส.แบบเขตและบัญชีรายชื่อ รวม 265 ที่นั่ง ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้ 159 ที่นั่ง ผู้สื่อข่าวได้สรุปรายชื่อว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้ง 125 คน จาก 11 พรรค ซึ่งมีดังนี้

พรรคเพื่อไทย ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 60 ที่นั่ง ประกอบด้วย
1.นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
2.นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ
3.ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง
4.นายเสนาะ เทียนทอง
5.พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก
6.นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์
7.นายปลอดประสพ สุรัสวดี
8.นายจตุพร พรหมพันธุ์
9.นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
10.นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช
11.พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก
12.นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ
13.นายบัญฑูรย์ สุภัควณิช
14.พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย
15.นายสันติ พร้อมพัฒน์
16.พล.ต.อ.วิรุฬห์ ฟื้นแสน
17.พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์
18.นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์
19.นายเหวง โตจิราการ
20.นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล
21.นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล
22.นายวัฒนา เมืองสุข
23.พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา
24.นายนิติภูมิ นวรัตน์
25.น.ส.ภูวนิดา คุณผลิน
26.นายสุนัย จุลพงศธร
27.นางรพิพรรณ พงศ์เรืองรอง
28.นายคณวัฒน์ วศินสังวร
29.นายอัสนี เชิดชัย
30.น.ส.สุณีย์ เหลืองวิจิตร
31.พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย
32.นายวิรัช รัตนเศรษฐ
33.นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ
34.นายนภินทร ศรีสรรพางค์
35.นายถาวร ตรีรัตน์ณรงค์
36.นางวราภรณ์ ตั้งภากรณ์
37.น.ส.สุนทรี ชัยวิรัตนะ
38.น.ส.ตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร
39.นายสมพล เกยุราพันธุ์
40.นายพงศกร อรรณนพพร
41.นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์
42.น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล
43.นายธนเทพ ทิมสุวรรณ
44.น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์
45.นายเกียรติชัย ติรณศักดิ์กุล
46.นายวิภูแถลง พัฒนาภูมิไท
47.นางเยาวนิตย์ เพียงเกษ
48.นายพายัพ ปั้นเกตุ
49.นางรังสิมา เจริญศิริ
50.รศ.เชิดชัย ตันติรินทร์
51.นายกานต์ กัลป์ตินันท์
52.นายธนิก มาศรีพิทักษ์
53.นายพิชิต ชื่นบาน
54.นายก่อแก้ว พิกุลทอง
55.นายนิยม วรปัญญา
56.น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก
57.นายอรรถกร ศิริลัทธยากร
58.นายเวียง วรเชษฐ์
59.นายอดิศักดิ์ โภคกุลกานนท์
60.นายวิเชียร ขาวขำ

พรรคประชาธิปัตย์ ได้แบบบัญชีรายชื่อ 45 ที่นั่ง ได้แก่
1.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
2. นายชวน หลีกภัย
3.นายบัญญัติ บรรทัดฐาน
4.นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์
5.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
6.นายกรณ์ จาติกวณิช
7.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช
8.นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน
9.นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี
10.นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์
11.นายไพฑูรย์ แก้วทอง
12.นายอิสสระ สมชัย
13.นายเจริญ คันธวงศ์
14.นายอลงกรณ์ พลบุตร
15.นายอาคม เอ่งฉ้วน
16.นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์
17.นายสุทัศน์ เงินหมื่น
18.นายองอาจ คล้ามไพบูลย์
19.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
20.นายวิฑูรย์ นามบุตร
21.นายถวิล ไพรสณฑ์
22.นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู
23.พ.อ.วินัย สมพงษ์
...
25.นางผุสดี ตามไท
26.นายปัญญวัฒน์ บุญมี
27.นายสามารถ ราชพลสิทธิ์
28.นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์
29.นายภุชงค์ รุ่งโรจน์
30.นายนิพนธ์ บุญญามณี
31.นางอานิก อัมระนันทน์
32.นายโกวิทย์ ธารณา
33.นายอัศวิน วิภูศิริ
34.นายธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ
35.นายเกียรติ สิทธีอมร
36.นายบุญยอด สุขถิ่นไทย
37.นายกนก วงษ์ตระหง่าน
38.พล.อ.พิชาญเมธ ม่วงมณี
39.นายสุกิจ ก้องธรนินทร์
40.นายประกอบ จิรกิติ
41.นายพีระยศ ราฮิมมูลา
42.นายกษิต ภิรมย์
43.นายวีระชัย วีระเมธีกุล
44.นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท
45.นายวัชระ เพชรทอง
46.นายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฏ์
*หมายเหตุ นายสุวโรช พะลัง ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 24 เสียชีวิต

พรรคภูมิใจไทย ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 5 ที่นั่ง ได้แก่
1.นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล
2.นายชัย ชิดชอบ
3.นายเรืองศักดิ์ งามสมภาค
4.นางนาที รัชกิจประการ
5.นายศุภชัย ใจสมุทร

พรรคชาติไทยพัฒนา ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 4 ที่นั่ง ได้แก่
1.นายชุมพล ศิลปอาชา
2.พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์
3.นายนิติวัฒน์ จันทร์สว่าง
4.นายยุทธพล อังกินันทน์

พรรครักประเทศไทย ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 4 ที่นั่ง ได้แก่
1.ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์
2.ชัยวัฒน์ ไกรฤกษ์
3.โปรดปราน โต๊ะราหนี
4.พงษ์ศักดิ์ เรือนเงิน

พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 2 ที่นั่ง ได้แก่
1.ร.ต.ประพาส ลิมปะพันธุ์
2.นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง

พรรคพลังชล ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่ง ได้แก่
1.นายสันต์ศักดิ์ งามพิเชษฐ์

พรรคมาตุภูมิ ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่ง ได้แก่
1.พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน

พรรคประชาธิปไตยใหม่ ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่ง ได้แก่
2.พัชรินทร์ มั่นปาน

หมายเหตุ : นายสุรทิน พิจารณ์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 คุณสมบัติไม่ครบ

พรรครักษ์สันติ ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่ง ได้แก่
1.ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์

พรรคมหาชน ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่ง ได้แก่
1.นายอภิรัต ศิรินาวิน